สายน้ำผึ้ง
สายน้ำผึ้ง ชื่อสามัญ Japanese Honeysuckle, Honeysuckle, Lonicera, Woodbine[2],[3],[5]
สายน้ำผึ้ง ชื่อวิทยาศาสตร์ Lonicera japonica Thunb. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Lonicera brachypoda Siebold, Lonicera japonica var. japonica) จัดอยู่ในวงศ์สายน้ำผึ้ง (CAPRIFOLIACEAE)[1],[2],[3]
สมุนไพรสายน้ำผึ้ง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า กิมงิ่งฮวย หยิ่มตังติ้ง (จีนแต้จิ๋ว), เหยิ่นตงเถิง จินหยิงฮัว จินอิ๋นฮวา ซวงฮัว (จีนกลาง) เป็นต้น[3],[4]
ลักษณะของสายน้ำผึ้ง
- ต้นสายน้ำผึ้ง มีถิ่นกำเนิดในแถบเอเชีย เช่น ประเทศไทย จีน ญี่ปุ่น จัดเป็นไม้เถาเลื้อยพัน มีอายุหลายปี มีความยาวประมาณ 9 เมตร เถามีลักษณะกลมเป็นสีน้ำตาล ส่วนเนื้อในเถากลวง แตกกิ่งก้านสาขาออกมากมายเป็นทรงพุ่ม ตามกิ่งอ่อนมีขนสั้นนุ่มสีน้ำตาลปกคลุม ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการปักชำ ตอนกิ่ง และเพาะเมล็ด (แต่การปักชำเป็นวิธีที่ได้ผลดีที่สุด) โดยจัดเป็นพรรณไม้กลางแจ้ง ที่เจริญเติบโตได้ดีสวยในดินร่วนซุยและมีความชื้นปานกลาง มักพบขึ้นมากทางป่าแถบภูเขา[1],[2],[3],[4],[6]
- ใบสายน้ำผึ้ง ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามกันเป็นคู่ ก้านใบยาวประมาณ 4-10 มิลลิเมตร ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนานแกมรูปไข่ รูปไข่ รูปรี หรือรูปมนรี ปลายใบแหลมมีหางสั้น โคนใบมน หรือตัด หรือเว้าเข้าหากันคล้ายรูปหัวใจ ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1-4 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3-8.5 เซนติเมตร หลังใบเป็นสีเขียวเข้ม ส่วนท้องใบเป็นสีเทาอมเขียว เนื้อใบอ่อนนุ่มมีขนขึ้นปกคุลมเล็กน้อย[1],[4]
- ดอกสายน้ำผึ้ง ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบและปลายกิ่ง ช่อละ 2 ดอก ก้านใบชูช่อสั้นมีขนนุ่ม ลักษณะของดอกเป็นหลอดเล็ก ๆ ยาวประมาณ 3-5 เซนติเมตร ส่วนปลายแยกเป็นรูปปาก กลีบดอกเป็นสีครีม โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นรูปกรวยแหลมยาว ปลายแยกเป็นปาก 2 ปาก ล่างและบน ปากล่างมี 1 กลีบ ส่วนปากบน 4 กลีบ ดอกมีใบประดับคล้ายใบ 1 คู่ ส่วนนอกกลีบจะมีขนปกคลุมอยู่ กลีบรองดอกติดกัน ปลายแยกเป็นรูปสามเหลี่ยม ใจกลางดอกมีเกสรอยู่ 5 อันยื่นออกมา ดอกตูมหรือดอกที่เริ่มบานจะเป็นสีขาว พอต่อมาจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองส้มหรือสีเหลืองทองประมาณ 2-3 วัน สามารถออกดอกได้ตลอดปี แต่จะออกดอกมากในช่วงฤดูฝน และดอกจะมีกลิ่นหอมในช่วงเย็นใกล้มืดจนถึงเช้าก่อนแดดออก[1],[2],[3],[6]
- ผลสายน้ำผึ้ง ผลเป็นผลสด ลักษณะเป็นรูปทรงกลม มีขนาดประมาณ 6-7 มิลลิเมตร ผิวผลเกลี้ยง เรียบเป็นมันเงา ผลเมื่อสุกจะเป็นสีดำ[1],[2]
สรรพคุณของสายน้ำผึ้ง
- ดอกมีรสหวานเย็น ใช้ดอกสดหรือดอกแห้ง นำมาชงดื่มแทนชา จะมีสรรพคุณเป็นยาอายุวัฒนะ ทำให้กระปรี้กระเปร่าและอายุยืน (ดอก)[1]
- ดอกนำมาคั้นรับประทานเป็นยาช่วยเจริญอาหาร (ดอกตูม)[1],[5]
- ดอกมีสรรพคุณเป็นยาแก้ความดันโลหิตสูง (ดอก)[1]
- ช่วยแก้อาการมึนเมา (ทั้งต้น)[1]
- เถามีรสหวานชุ่ม เป็นยาสุขุม ออกฤทธิ์ต่อปอดและหัวใจ ใช้เป็นยาขับพิษร้อนถอนพิษไข้ ช่วยทะลวงลมปราณ รักษาไข้อันเกิดจากการกระทบจากปัจจัยภายนอก (เถา)[4]
- ดอกมีรสชุ่มและขมเล็กน้อย เป็นยาเย็นออกฤทธิ์ต่อปอดและกระเพาะอาหาร ใช้เป็นยาขับพิษร้อนถอนพิษไข้ แก้พิษ แก้อาการร้อนในกระหายน้ำ ไข้หวัดใหญ่ มีไข้ตัวร้อน ครั่นเนื้อครั่นตัว (ดอก)[4]
- ใช้เป็นยาแก้ไข้หวัด แก้คอแห้ง ให้ใช้ใบหรือเถา หรือดอกแห้ง 30 กรัม ถ้าเป็นสดให้ใช้ 90 กรัม นำมาต้มกับน้ำกินบ่อย ๆ (ใบหรือเถา,ดอก)[1],[3] ส่วนตำรับยาแก้ไข้หวัดอีกวิธี ระบุให้ใช้ดอกสายน้ำผึ้ง 15 กรัม, โหล่วกิง 20 กรัม, เหลี่ยงเคี้ยว 15 กรัม, ใบไผ่เขียว 15 กรัม, เต่าซี่แห้ง 10 กรัม, เก็งสุ่ย 6 กรัม, หงู่ผั่งจี้ 5 กรัม, กิ๊กแก้ 5 กรัม, ใบสะระแหน่ 3 กรัม, และชะเอม 3 กรัม นำมารวมกันต้มกับน้ำรับประทาน (ดอก)[4] (บางข้อมูลระบุว่าดอกใช้ร่วมกับใบหม่อนเป็นยาแก้ไอ และรักษาหอบหืดในระยะแรก)
- ช่วยแก้อาการเจ็บคอ (ทั้งต้น)[1]
- ช่วยแก้เหงือกอักเสบ (ต้น)[9]
- ช่วยรักษาปากนกกระจอก (ทั้งต้น)[1]
- บางข้อมูลระบุว่าดอกมีสรรพคุณเป็นยารักษาแผลในปาก (ดอก)
- ดอกใช้เป็นยารักษาระบบทางเดินหายใจติดเชื้อ (ดอก)[4]
- ช่วยแก้เต้านมอักเสบ (ดอก)[4]
- ทั้งต้นมีสรรพคุณเป็นยารักษาโรคลำไส้ (ทั้งต้น)[5]
- ช่วยรักษาโรคกระเพาะอาหาร แผลในกระเพาะอาหาร (ทั้งต้น)[6],[9]
- เถาสดนำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้ท้องเสีย (บิดไม่มีตัว) ท้องร่วง แก้บิด ถ่ายเป็นเลือด และลำไส้อักเสบ โดยมีการทดลองกับผู้ป่วยแล้วและพบว่ามีฤทธิ์แก้ท้องเสีย (เถา,เถาหรือใบ,ทั้งต้น)[1],[2],[3],[5] ส่วนดอกตูมก็มีสรรพคุณเป็นยาแก้ท้องเสีย และแก้ลำไส้อักเสบเช่นกัน (ดอกตูมจะมีสรรพคุณทางยาที่ดีกว่าดอกบาน) (ดอก)[3],[4] ตำรายาแก้ท้องร่วง ระบุให้ใช้เถาสด 100 กรัม นำมาสับเป็นท่อนเล็ก ๆ ใส่ลงในหม้อเคลือบ แล้วเติมน้ำลงไป 200 มิลลิลิตร แช่ทิ้งไว้ 12 ชั่วโมง แล้วต้มด้วยไฟอ่อน ๆ 3 ชั่วโมง แล้วเติมน้ำให้ได้ 100 มิลลิลิตร กรองเอาน้ำมากินวันละ 1.6-2.4 มิลลิลิตร ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม โดยให้เพิ่มหรือลดขนาดของยาไปตามอาการที่เป็น แต่โดยทั่วไปให้เริ่มต้นกินครั้งละ 20 มิลลิลิตร ทุก ๆ 4 ชั่วโมง เมื่ออาการดีขึ้นก็ให้กินครั้งละ 20 มิลลิลิตร ทุก ๆ 6 ชั่วโมง หลังจากนั้นถ้าอาการท้องร่วงหายไปแล้วก็ให้รับประทานต่อไปอีก 2 วัน (เถา)[5]
- แก้บิดติดเชื้อถ่ายเป็นเลือด บิดมูกเลือด ให้ใช้เถาแห้ง 10-30 กรัม (ถ้าเป็นเถาสดให้ใช้ 20-60 กรัม) หรือดอกแห้ง 10-30 กรัม นำมาต้มเคี่ยวกับน้ำให้ข้น แล้วนำมากิน (เถา,ดอก,ทั้งต้น)[1],[3],[4]
- ช่วยรักษาลำไส้ติดเชื้อ (ดอก)[4]
- ตำรายาจีนจะใช้เถาสดนำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาขับปัสสาวะ (เถา,เถาหรือใบ)[2],[3] ส่วนดอกและทั้งต้นก็มีสรรพคุณเป็นยาขับปัสสาวะเช่นกัน (ดอก,ทั้งต้น)[1],[5]
- ช่วยแก้ริดสีดวงทวาร (ทั้งต้น)[1] ส่วนดอกมีสรรพคุณช่วยรักษาริดสีดวงในลำไส้ (ดอก)[4]
- ปากมดลูกอักเสบเป็นหนอง ให้ใช้ดอกสายน้ําผึ้งแห้ง 1,000 กรัม นำมาบดให้เป็นผง แล้วนำไปแช่กับเหล้าขาว 40 ดีกรี ในปริมาณ 1,500 ซีซี โดยให้แช่ทิ้งไว้ 2 วัน จากนั้นให้กรองเอาแต่เหล้าประมาณ 400 ซีซี ใช้ทาบริเวณปากมดลูก โดยให้ทาติดต่อกันประมาณ 7-12 วัน (ดอก)[4]
- ช่วยรักษาไส้ติ่งอักเสบ (ดอก)[4]
- ช่วยรักษาตับอักเสบ (ทั้งต้น)[5] รักษาตับอักเสบชนิดเอ (เถาหรือใบ)[3] รักษาโรคติดเชื้อในตับ (เถา)[4]
- ช่วยรักษาโรคติดเชื้อบางชนิด (เถาหรือใบ)[3]
- สำหรับผู้ที่เป็นงูสวัดที่ดูเหมือนแผลจะหายดีแล้ว แต่ยังมีพิษของโรคงูสวัดตกค้างในร่างกาย คือมีอาการปวดแสบปวดร้อนและบวม ให้ใช้ดอกสายน้ำผึ้ง 10 กรัม, ใบโด่ไม่รู้ล้ม 10 กรัม, ข้าวเย็นเหนือ 30 กรัม, และข้าวเย็นใต้ 30 กรัม (แบบแห้งทั้งหมด) นำมาต้มรวมกันในน้ำ 1 ลิตร จนเดือด ใช้ดื่มในขณะอุ่นครั้งละครึ่งแก้ว วันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น โดยให้ดื่มไปเรื่อย ๆ จะช่วยขับพิษของโรคงูสวัดที่ตกค้างในร่างกายออกได้ และอาการจะค่อย ๆ ดีขึ้นและหายไปในที่สุด (ดอก)[9]
- ทั้งต้นมีสรรพคุณเป็นยาแก้แผลฝีต่าง ๆ แผลเปื่อย และโรคผิวหนังต่าง ๆ (เถาหรือใบ,ทั้งต้น)[1],[3],[5]
- ส่วนดอกใช้ภายนอกรักษาโรคผิวหนัง กลากเกลื้อน พิษฝีหนอง เชื้อไวรัสบริเวณผิวหนัง (ดอกตูม)[4],[5] (บางข้อมูลระบุว่าดอกสามารถใช้รักษาอาการคันผิวหนังได้ โดยใช้ดอกนำมาตำพอกบริเวณที่มีอาการคัน และยังใช้ได้กับรอยแผลจากการถูกขีดข่วนหรือถูกมีดบาดได้ด้วย)
- ช่วยรักษาฝีฝักบัว (เถาหรือใบ)[3]
- ดอกใช้เป็นยาแก้ฝีหนองอักเสบ ปวดบวม (ดอก)[4]
- หากเมาเห็ด ให้ใช้กิ่งและใบอ่อนจำนวนพอสมควร นำมาล้างให้สะอาด ใช้เคี้ยวให้ละเอียดกินเป็นยา (กิ่ง,ใบ)[8]
- ช่วยแก้อาการปวดเส้นปวดกระดูก (เถา)[4] ปวดเมื่อยตามข้อ (ทั้งต้น)[5]
- ช่วยแก้อาการปวดหลัง ปวดเมื่อยปวดข้อ ปวดเมื่อยตามตัวและแขนขา ด้วยการใช้ใบหรือเถา หรือดอกแห้งประมาณ 30 กรัม (ถ้าสดให้ใช้ประมาณ 90 กรัม) นำมาต้มกับน้ำกินบ่อย ๆ (ดอก)[1],[3]
- ส่วนสรรพคุณของกิมหงึ่งฮวย (ดอกสายน้ําผึ้ง) ตามตำราการแพทย์แผนจีนระบุว่ากิมหงึ่งฮวย (ดอกสายน้ำผึ้ง) มีรสอมหวานและเย็น มีฤทธิ์ผ่อนคลายและกระจายความร้อน แก้หวัดอันเกิดจากการกระทบลมร้อน ช่วยขับพิษ แก้บิด ถ่ายบิดเป็นมูกเลือด แก้แผลฝี แผลเปื่อย บวม ส่วนกิมหงึ่งฮวยถ่าน จะมีสรรพคุณแก้ถ่ายบิดเป็นมูกเลือด แก้สตรีที่มีอาการตกเลือด อาเจียนเป็นเลือด และมีเลือดกำเดาไหล สำหรับขนาดที่ใช้ ให้ใช้ในขนาด 6-15 กรัม นำมาต้มเอาแต่น้ำดื่ม และห้ามใช้ในผู้ป่วยที่มีภาวะเย็นพร่องของม้ามและกระเพาะอาหาร (ดอก)[7]
- นอกจากนี้ยังมีสรรพคุณอื่น ๆ ของสายน้ำผึ้งที่นอกเหนือจากที่กล่าวมาแล้วข้างต้นอีกเช่น ช่วยแก้อาการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ รักษาวัณโรคและอาการทางผิวหนังทีเกิดจากโรคซิฟิลิส รวมทั้งผื่นคันทีเกิดจากการติดเชื้อ ส่วนสารสกัดจากดอกยังมีสรรพคุณช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือดได้อีกด้วย ส่วนก้านดอกจะใช้เป็นยารักษาอาการไขข้ออักเสบ และคางทูม นอกจากนี้ก้านและดอกยังสามารถนำมาใช้ผสมกันเพื่อรักษาอาการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบนและโรคนิวมอเนียได้ด้วย และจากการศึกษาวิจัยในประเทศจีนยังพบด้วยว่าสายน้ําผึ้งอาจมีสรรพคุณเป็นยารักษามะเร็งบางชนิดได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมะเร็งทรวงอก อีกทั้งยังมีการนำไปทดลองใช้เพื่อรักษาเอดส์ด้วยเช่นกัน[10]
หมายเหตุ : การใช้ดอกตาม [1] ให้ใช้ดอกแห้งหรือดอกสดนำมาชงดื่มแทนชา[1] ส่วนการใช้ตาม [4] ถ้าเป็นดอกให้ใช้ดอกแห้งครั้งละ 10-15 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน หรือใช้ร่วมกับตัวยาอื่น ๆ ในตำรับยาตามต้องการ ถ้าใช้ภายนอก ให้นำมาต้มเอาน้ำล้างแผล หรือเอากากพอกแผลได้ตามต้องการ ส่วนเถาให้ใช้เถาแห้งครั้งละ 10-30 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน หรือใช้ร่วมกับตัวยาอื่น ๆ ในตำรับยาตามต้องการ ถ้าใช้ภายนอกให้นำมาต้มเอาน้ำใช้ล้างแผล หรือเอากากพอกแผลได้ตามต้องการ[4]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของสายน้ำผึ้ง
- ในดอกสายน้ำผึ้ง พบว่ามีสาร Luteolin-7-rhamnoglucoside, Luteolin, Lonicerin, Inositol, Saponin เป็นต้น ส่วนเถาพบสาร Loincerin, Loganin, Syringin, Luteolin-7-rhamnoglucoside เป็นต้น[4], ส่วนใบพบสาร Lonicerin และ Luteolin-7-rhamnoglucoside และผลมีสาร Cryptosanthin[5]
- เมื่อนำน้ำที่ต้มหรือแช่กับดอกสายน้ำผึ้ง มาให้กระต่ายทดลองกิน พบว่าน้ำดังกล่าว กับคอเลสเตอรอลในลำไส้กระต่ายเกิดปฏิกิริยาการรวมตัวทางเคมี ทำให้ลำไส้มีการดูดซึมคอเลสเตอรอลได้น้อยลง และยังช่วยทำให้คอเลสเตอรอลส่วนที่เหลือถูกขับถ่ายออกมาด้วย[4]
- จากการรักษาตับอักเสบชนิดเอ ด้วยการใช้เถาสด 60 กรัม เติมน้ำ 1,000 มิลลิลิตร แล้วต้มให้เหลือ 400 มิลลิลิตร ใช้แบ่งดื่มเช้าและเย็นเป็นระยะเวลา 15 นาที จากการรักษาผู้ป่วยจำนวน 22 ราย พบว่าการทำงานของตับเป็นปกติจำนวน 12 ราย ตับมีการทำงานดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจนจำนวน 6 ราย และไม่ดีขึ้น 4 ราย[8]
- จากการรักษาบิดไม่มีตัวและลำไส้อักเสบ โดยทำการรักษา 2 วิธี คือ วิธีแรกใช้เถาสายน้ำผึ้งสด 100 กรัม นำมาสับเป็นท่อนเล็ก ๆ ใส่ลงไปในหม้อดินเคลือบ เติมน้ำ 200 มิลลิลิตร แช่ทิ้งไว้ประมาณ 12 ชั่วโมง แล้วต้มโดยใช้ไฟอ่อน 3 ชั่วโมง จากนั้นเติมน้ำ 100 มิลลิลิตร เสร็จแล้วกรองเอาแต่น้ำมากินวันละ 1.6-2.4 มิลลิลิตรต่อกิโลกรัมน้ำหนักตัว โดยให้เพิ่มหรือลดขนาดของยาตามอาการ โดยให้เริ่มกินในขนาด 20 มิลลิลิตร ทุก ๆ 4 ชั่วโมง เมื่ออาการดีขึ้นให้กินครั้งละ 20 มิลลิลิตร ทุก ๆ 6 ชั่วโมง เมื่ออาการท้องร่วงหายไป ให้กินต่อไปอีก 2 วัน ซึ่งจากการรักษาด้วยวิธีนี้กับผู้ป่วยจำนวน 150 ราย แบ่งเป็นบิดไม่มีตัว 60 ราย และเป็นลำไส้อักเสบ 90 ราย พบว่าได้ผลดีมากกับผู้ป่วยจำนวน 146 คน ส่วนอีก 4 รายไม่ได้ผล และโดยเฉลี่ยอาการไข้และท้องร่วงจะลดลงภายใน 2 วัน อาการปวดมวนหายไปภายใน 2.5วัน และอาการปวดท้องหายภายไปใน 3 วัน อุจจาระเหลวจะหายไปภายใน 4.4 วัน และไม่พบว่ามีอาการข้างเคียง ส่วนอีกวิธีทดลองโดยการใช้เถาสด 45 กรัม นำมาต้มกับน้ำกินวันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น และในขณะเดียวกันก็ใช้เถาสด 15 กรัม นำมาต้มกับน้ำใช้สวนทวารอีกวันละครั้ง แบ่งการรักษาเป็นช่วง ช่วงละ 7 วัน ผลการรักษาด้วยวิธีนี้พบว่า ผู้ป่วยกลุ่มแรกจำนวน 167 ราย เมื่อรักษาเพียงช่วงแรกแล้วอาการหายไป 131 ราย และไม่ได้ผล 36 ราย โดยเฉลี่ยแล้วไข้ลดลงภายใน 2 วัน ถ่ายเป็นปกติภายใน 5.6 วัน อุจจาระหายเหลวภายใน 4.5 วัน และไม่พบเชื้อบิดในอุจจาระภายใน 4.9 วัน ส่วนผู้ป่วยกลุ่มที่สอง ซึ่งคนไข้เป็นบิดไม่มีตัวจำนวน 80 ราย พบว่ารักษาหายในช่วงแรกคิดเป็น 73.9% อาการไข้ลดลงภายใน 1.5 วัน ถ่ายเป็นปกติภายใน 5.5 วัน อุจจาระหายเหลวภายใน 4.6 วัน และไม่พบเชื้อบิดในอุจจาระภายใน 3.7 วัน[8]
- สาร Luteolin ที่ได้จากดอกมีฤทธิ์ลดการเกร็งของกล้ามเนื้อเรียบ โดยทดลองกับลำไส้เล็กของกระต่ายที่อยู่นอกร่างกาย แต่จะมีฤทธิ์อ่อนกว่า Papaverine และมีฤทธิ์ขับปัสสาวะอย่างอ่อนด้วย โดย Luteolin ที่ความเข้มข้น 1 : 2,000 จะทำให้ความแรงในการบีบตัวและอัตราการเต้นของหัวใจกบที่อยู่นอกร่างกายลดลงเล็กน้อย รวมทั้งยังทำให้ปริมาณของเลือดที่ฉีดออกมาในแต่ละครั้งลดลงด้วย แต่ถ้าใช้
- Luteolin ที่ความเข้มข้น 1 : 5,000 จะทำให้ความแรงในการบีบตัวและอัตราการเต้นของหัวใจหนูตะเภาที่อยู่นอกร่างกายเพิ่มขึ้น เมื่อกรอก Luteolin ให้กับหนูขาวที่มีอายุ 25-28 วัน พบว่าต่อมน้ำนมฝ่อ ซึ่งผลนี้อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำงานของต่อมใต้สมองและต่อมหมวกไต[8]
- น้ำที่ต้มได้จากดอกสายน้ำผึ้ง มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อ Stepto coccus, Staphelo coccus, Bacillus inuza, เชื้อไทฟอยด์ในลำไส้ และเชื้อวัณโรคได้ ซึ่งจากการทดลองดังกล่าวยังพบว่า น้ำที่ใช้แช่ดอกสายน้ําผึ้งจะมีประสิทธิภาพในการยับยั้งเชื้อมากกว่าน้ำที่ต้มกับดอกสายน้ำผึ้ง[4]
- สาร Luteolin ที่ความเข้มข้น 1 : 350,000 สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อ Bacillus subtilis และ Staphylococcus spp. ได้[8]
ประโยชน์ของสายน้ำผึ้ง
- ดอกสายน้ําผึ้งจะมีเกสรยื่นยาวออกมา เด็ก ๆ จะนำมาเล่นด้วยการดึงเอาเกสรออกมาจากดอกแล้วปล่อยให้น้ำหวานหยดลงบนลิ้นเพื่อดูดความหวานหอมของดอกไม้ชนิดนี้ สายน้ำผึ้งจึงถูกนำมาใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องดื่มและขนมหวานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นไวน์ น้ำเชื่อม ไอศกรีม แยม หรือเยลลี่ ส่วนช่อดอกสดจะนำมาใช้แต่งหน้าขนมเค้กหรือขนมหวานเพื่อเพิ่มความสวยงามทำให้ดูน่ารับประทาน[10]
- ชาวตะวันตกถือว่าสายน้ำผึ้งเป็นสัญลักษณ์ของความรักความผูกพัน ความสวยงาม และความอ่อนหวานไร้เดียงสา เชื่อว่ากลิ่นของสายน้ำผึ้งสามารถทำให้จิตใจร่าเริงเบิกบาน ขับไล่ความโศกเศร้าและความกลัวได้ ทำให้รู้สึกเป็นสุข อบอุ่น และปลอดภัย และด้วยรูปลักษณ์ของดอกที่ดูบอบบางน่าเอ็นดูและยังมีกลิ่นหอมหวานอันสดใส จึงทำให้ดอกน้ำผึ้งเป็นแรงบันดาลใจของกวีและศิลปินจำนวนมาก[10]
- Dr. Edward Bach แพทย์ชาวอังกฤษ เชื่อว่าสายน้ำผึ้งเหมาะกับผู้ป่วยทางจิตที่มักจมอยู่กับอดีตและปฏิเสธชีวิที่จะอยู่กับปัจจุบัน เช่น ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่เกิดจากการคิดถึงบ้าน เพราะสายน้ําผึ้งมีสรรพคุณช่วยปลอบประโลมจิตใจ ทำให้ปล่อยวางความเครียดหรือความวิตกกังวลที่คั่งค้างในใจ และหันมามีความสุขกับชีวิตในปัจจุบันได้ โดยเขาเชื่อว่าพลังจากดอกไม้ จะถ่ายทอดไปยังผู้ใช้และช่วยบำบัดรักษาอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ ได้[10]
- ในด้านของความเป็นน้ำหอม หัวน้ำมันดอกสายน้ำผึ้งแท้ 100% ถือว่าหาได้ยากมาก ในปัจจุบันแทบไม่พบว่ามีการใช้หัวน้ำมันดอกสายน้ำผึ้งแท้ในอุตสาหกรรมน้ำหอมหรือใช้ในทางสุคนธบำบัด (Aromatherapy) เลย แม้กระทั้งผลิตภัณฑ์ที่มีขายอยู่ทั่วไปที่บอกว่าเป็นน้ำมันหอมสายน้ําผึ้งแท้ ความจริงแล้วก็มักจะผสมขึ้นมาจากหัวน้ำมันดอกไม้ชนิดอื่น ๆ ที่หาได้ง่ายกว่า เพื่อนำมาปรุงแต่งกลิ่นให้ได้ความหอมใกล้เคียงกับกลิ่นของดอกสายน้ำผึ้ง[10]
- ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไป หรือปลูกให้ขึ้นพันกับต้นไม้หรือรั้วบ้าน เพราะเป็นพันธุ์ไม้หอมเลื้อยที่ดอกมีกลิ่นหอมและสามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปี และจากการทดลองให้กองอยู่กับพื้นและควบคุมขนาดทรงพุ่มอยู่ตลอดเวลา พบว่าสามารถให้ดอกได้ดีโดยไม่ต้องทำค้างให้เกาะ แต่ควรดูแลเรื่องน้ำและปุ๋ยมาเป็นอันดับแรก[6]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “สายน้ำผึ้ง (Sai Nam Phueng)”. หน้า 299.
- หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “สายน้ำผึ้ง Japanese Honey-suckle”. หน้า 134.
- หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “สายน้ําผึ้ง”. หน้า 781-782.
- หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “สายน้ำผึ้ง”. หน้า 554.
- สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “สายน้ําผึ้ง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/herbs/. [11 มิ.ย. 2014].
- ฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. (นพพล เกตุประสาท). “สายน้ำผึ้ง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: clgc.rdi.ku.ac.th. [11 มิ.ย. 2014].
- สถาบันการแพทย์ไทย-จีน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้. “กิมหงึ่งฮวย”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: tcm.dtam.moph.go.th. [11 มิ.ย. 2014].
- ไทยเกษตรศาสตร์. “สมุนไพรสายน้ำผึ้ง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaikasetsart.com. [11 มิ.ย. 2014].
- ไทยรัฐออนไลน์. (นายเกษตร). “สายน้ำผึ้ง กับสูตรแก้ปวดจากงูสวัด”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thairath.co.th. [11 มิ.ย. 2014].
- Sangkae’s Blog. “สายน้ำผึ้ง…ดอกไม้แห่งความสดใสร่าเริง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: sangkae.wordpress.com. [11 มิ.ย. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by 영철 이, 潘立傑 LiChieh Pan, judymonkey17, 石川 Shihchuan, david mow, ophis)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)