สาบแร้งสาบกา สรรพคุณและประโยชน์ของสาบแร้งสาบกา 27 ข้อ !

สาบแร้งสาบกา

สาบแร้งสาบกา ชื่อสามัญ Goat Weed[1]

สาบแร้งสาบกา ชื่อวิทยาศาสตร์ Ageratum conyzoides (L.) L. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Ageratum obtusifolium Lam., Cacalia mentrasto Vell. Conc.) จัดอยู่ในวงศ์ทานตะวัน (ASTERACEAE หรือ COMPOSITAE)[1]

สมุนไพรสาบแร้งสาบกา มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า หญ้าสาบแฮ้ง (เชียงใหม่), หญ้าสาบแร้ง (ราชบุรี), ตับเสือเล็ก (สิงห์บุรี) เทียมแม่ฮาง (เลย), เซ้งอั่งโซว (จีนแต้จิ๋ว), เซิ่งหงจี้ (จีนกลาง) เป็นต้น[1],[2]

ลักษณะของสาบแร้งสาบกา

  • ต้นสาบแร้งสาบกา จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุกและจัดเป็นวัชพืชอย่างหนึ่ง มีอายุเพียงปีเดียวก็ตาย ลำต้นมีลักษณะตรง แตกกิ่งก้านสาขา สูงได้ประมาณ 30-70 เซนติเมตร ทั้งต้นมีขนสีขาวปกคลุมอยู่ เมื่อเด็ดมาขยี้ดมจะมีกลิ่นเฉพาะตัว กิ่งก้านเป็นสีเขียวอมม่วงเล็กน้อย ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด เป็นพรรณไม้กลางแจ้ง ที่เจริญเติบโตได้ในดินทุกชนิด เป็นพรรณไม้พื้นเมืองของอเมริกาเขตร้อน แต่ในปัจจุบันพบขึ้นทั่วไปตามที่รกร้างว่างเปล่าหรือตามริมถนนทั่วไป ในประเทศไทยพบได้ตามชายป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ทุ่งหญ้า และริมทาง[1],[2]

ต้นสาบแร้งสาบกา

รากสาบแร้งสาบกา

  • ใบสาบแร้งสาบกา ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามกันเป็นคู่ ๆ แต่ส่วนยอดของใบจะเรียงสลับกัน ก้านใบยาวประมาณ 7-26 มิลลิเมตร ลักษณะของใบเป็นรูปกลมมนรี ปลายใบแหลม โคนใบกลมมนหรือเว้าเข้าหากันเป็นรูปหัวใจ ส่วนขอบใบเป็นจักฟันเลื่อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-5.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 5-13 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นสีเขียวและมีขนสั้น ๆ อ่อน ๆ ขึ้นปกคลุมอยู่ ยาวประมาณ 2-5 นิ้ว ก้านใบมีขนปกคลุมตลอดทั้งก้าน[1],[2]

ใบสาบแร้งสาบกา

  • ดอกสาบแร้งสาบกา ออกดอกเป็นช่อตามง่ามใบและบริเวณส่วนยอดของลำต้น ในช่อหนึ่งจะมีดอกขนาดเล็ก มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5-6 มิลลิเมตร และดอกย่อยอยู่อัดตัวกันแน่นเป็นจำนวนมาก ดอกเป็นสีฟ้า สีม่วงน้ำเงิน หรือสีขาว กลีบดอกมีขนาดเล็กเป็นหลอดเส้น ๆ ปลายแหลม เรียงซ้อนกัน 2-3 ชั้น หลังกลีบดอกมีขนเล็กน้อย ส่วนปลายมีรอยแยกเป็น 5 กลีบ ดอกมีเกสรเพศผู้ 5 อัน อยู่ที่ใจกลางดอก[1],[2]

รูปสาบแร้งสาบกา

ดอกสาบแร้งสาบกา

  • ผลสาบแร้งสาบกา ผลมีขนาดเล็กสีดำ ลักษณะของผลเป็นรูปคล้ายทรงกระบอกปลายแหลมเป็นเส้น มีร่อง 5 ร่อง[1],[2]

ผลสาบแร้งสาบกา

สรรพคุณของสาบแร้งสาบกา

  1. ทั้งต้นมีรสเผ็ดขม เป็นยาสุขุม ออกฤทธิ์ต่อปอดและหัวใจ ใช้เป็นยาขับพิษร้อนถอนพิษไข้ (ทั้งต้น)[2]
  2. ใช้เป็นยาแก้หวัดตัวร้อน ให้ใช้ต้นสดประมาณ 70 กรัม นำมาต้มกับน้ำดื่ม (ต้น)[2] ส่วนอีกวิธีใช้รักษาไข้หวัด ด้วยการใช้ใบสาบแร้งสาบกาสดประมาณ 60 กรัม นำมาต้มกับน้ำกิน ส่วนรากและทั้งต้นก็มีสรรพคุณเป็นยาแก้ไข้เช่นกัน (ใบ, ราก, ทั้งต้น)[1]
  3. ช่วยขับเสมหะ (ทั้งต้น)[3]
  4. ใบนำมาคั้นเอาน้ำดื่ม ช่วยทำให้อาเจียน (ใบ)[1],[3]
  5. ชาวเขาเผ่าอีก้อ แม้ว และมูเซอ จะใช้รากและใบนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้อาการปวดศีรษะ รวมทั้งเป็นยาแก้ไข้ด้วย (รากและใบ)[3]
  1. น้ำคั้นจากใบใช้เป็นยาหยอดตาแก้ตาเจ็บ (ใบ)[1],[3]
  2. ใช้รักษาหูชั้นกลางอักเสบ ด้วยการใช้ยอดสดนำมาคั้นเอาแต่น้ำแล้วนำมาใช้หยอดหู (ใบ)[1] แก้หูน้ำหนวก (ทั้งต้น)[2]
  3. หากปากเป็นแผล ให้ใช้ใบสด 120 กรัม และกากเมล็ดชา 15 กรัม นำมาผสมกันแล้วตำพอก (ใบ)[1]
  4. ใช้เป็นยาแก้คอเจ็บ คออักเสบปวดบวม ต่อมทอนซิลอักเสบ ทางเดินหายใจติดเชื้อ (ทั้งต้น)[2], ตำรายารักษาคออักเสบ ด้วยการใช้ใบสดประมาณ 30-60 กรัม นำมาล้างให้สะอาด แล้วคั้นเอาแต่น้ำผสมกับน้ำตาลกรวด ใช้รับประทานวันละ 3 ครั้ง (ใบ)[1]
  5. สาบแร้งสาบกาทั้งต้นมีสรรพคุณเป็นยาแก้ลม (ทั้งต้น)[1],[3]
  6. ใบใช้ทาภายนอก ช่วยแก้อาการท้องขึ้นอืดเฟ้อ (ใบ)[1]
  7. ตำรับยาแก้ปวดกระเพาะ ปวดท้อง กระเพาะลำไส้อักเสบ จุกเสียดแน่นท้อง ให้ใช้ยาแห้งนำมาคั่วให้เหลือง แล้วบดให้เป็นผง ใช้ครั้งละ 1.5-2 กรัม นำมาชงกับน้ำดื่ม (ทั้งต้น)[2]
  8. ส่วนชาวเขาเผ่าอีก้อ แม้ว และมูเซอ จะใช้รากและใบนำมาเคี้ยวกินหรือต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้อาการปวดท้อง อาหารเป็นพิษ อาหารไม่ย่อย รวมถึงโรคกระเพาะอาหาร (รากและใบ)[3]
  9. ใช้เป็นยาแก้บิด (ทั้งต้น)[1],[3]
  10. รากใช้เป็นยายับยั้งการเจริญเติบโตของก้อนนิ่ว (ราก)[1]
  11. ใช้เป็นยาขับนิ่วในไต นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ (ทั้งต้น)[2]
  12. ช่วยแก้ช่องท้องทวารหนักหย่อนยาน (ทั้งต้น)[1]
  13. ทั้งต้นมีสรรพคุณเป็นยาขับระดูของสตรี (ทั้งต้น)[1],[3]
  14. ใช้เป็นยาแก้สตรีตกเลือด (ทั้งต้น)[2]
  15. ใช้รักษาแผลฟกช้ำ แผลสด แผลถลอก มีเลือดออก ใช้เป็นยาห้ามเลือด ด้วยการใช้ยอดและใบนำมาตำแล้วพอกบริเวณที่เป็น (ใบ)[1],[3]
  16. ใช้รักษาแผลเรื้อรังที่เนื้อเยื่อเมือกบวมอักเสบ ด้วยการนำใบสดและยอดมาล้างน้ำให้สะอาด ผสมกับเกลือและข้าวหมัก ตำให้เข้ากัน ใช้พอกบริเวณที่เป็น (ใบ)[1]
  17. รากและใบใช้ตำพอกและคั้นเอาน้ำเป็นยาแก้อาการอักเสบจากพิษงู ตะขาบ แมงป่อง หรือแมลง (รากและใบ)[3]
  18. ใบใช้ตำพอกแก้อาการคัน ผดผื่นคัน (ใบ, ทั้งต้น)[1],[2]
  19. ใช้รักษาแผลเรื้อรังมีหนอง ฝี ด้วยการใช้ใบสดนำมาผสมกับน้ำตาลทรายแดงเล็กน้อย แล้วตำพอกบริเวณที่เป็น (ใบ)[1] ส่วนวิธีใช้รักษาฝีหนองภายนอกอีกวิธี ให้ใช้ต้นสาบแร้งสาบกาสด, ต้นแบเกาจี้, จุ๋ยฉังฉิก นำมารวมกัน ใช้ตำพอกแผลที่เป็น โดยให้เปลี่ยนยาที่พอกวันละ 1 ครั้ง (ต้น)[2]
  20. ช่วยรักษาตาปลาอักเสบ ด้วยการใช้ใบสดประมาณ 120 กรัม และกากเมล็ดชา 15 กรัม นำมาผสมกันแล้วตำพอก (ใบ)[1]
  21. ใบใช้ทาภายนอกเป็นยาแก้อาการปวดบวม (ใบ)[1]
  22. ช่วยแก้อาการปวดข้อ ปวดกระดูก ด้วยการใช้ใบสดนำมาตำพอกบริเวณที่เป็น (ใบ)[1]

ขนาดและวิธีใช้ : การใช้ตาม [2] ยาสดให้ใช้ครั้งละ 35-70 กรัม นำมาตำคั้นเอาน้ำรับประทาน หรือใช้ตำพอกรักษาแผลภายนอก ส่วนยาแห้งให้ใช้ครั้งละ 15-35 กรัม ถ้านำมาใช้ภายนอกให้นำมาบดเป็นผง ใช้โรยแผลตามต้องการ[2]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของสาบแร้งสาบกา

  • ทั้งต้นพบสารจำพวกน้ำมันระเหย Ageratochromene, มีกรดอินทรีย์, กรดอะมิโน, โพแทสเซียมคลอไรด์, อัลคาลอยด์, ฟลาโวนอยด์, coumarin, β-Sitosterol, friedelin, stigmasterol[1],[2]
  • สารสกัดจากทั้งต้นมีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อ Staphylococcus aureus[1],[2]
  • จากการทดลองในสัตว์ทดลองพบว่า สารสกัดแอลกอฮอล์และน้ำต้มจากทั้งต้นหรือรากมีฤทธิ์ระงับอาการปวด โดยมีความรุนแรงเท่ากับมอร์ฟีน แต่ควรมีการศึกษาวิจัยต่อไป[3]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  “สาบแร้งสาบกา”.  หน้า 777-779.
  2. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย.  (วิทยา บุญวรพัฒน์).  “สาบแร้งสาบกา”.  หน้า 522.
  3. หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา.  (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “สาบแร้งสาบกา”.  หน้า 33.

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Duy Thuong Ngo), www.prota4u.info, lucidcentral.org, www.pioneercatchment.org.au, www.oswaldasia.org

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด