สะเดา สรรพคุณและประโยชน์ของสะเดาไทย 86 ข้อ !

สะเดา สรรพคุณและประโยชน์ของสะเดาไทย 86 ข้อ !

สะเดา

สะเดา ชื่อสามัญ Neem, Neem tree, Nim, Margosa, Quinine, Holy tree, Indian margosa tree, Pride of china, Siamese neem tree

สะเดา ชื่อวิทยาศาสตร์ Azadirachta indica A.Juss. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Azadirachta indica var. siamensis Valeton, Melia azadirachta L.) วงศ์กระท้อน (MELIACEAE)[1],[2],[9]

สมุนไพรสะเดา มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า สะเดา สะเดาบ้าน (ภาคกลาง), สะเลียม (ภาคเหนือ), เดา กระเดา กะเดา (ภาคใต้), จะดัง จะตัง (ส่วย), ผักสะเลม (ไทลื้อ), ลำต๋าว (ลั้วะ), สะเรียม (ขมุ), ตะหม่าเหมาะ (กะเหรี่ยงแดง), ควินิน (ทั่วไป), สะเดาอินเดีย (กรุงเทพฯ), กาเดา, เดา, ไม้เดา เป็นต้น โดยสามารถพบขึ้นได้ทั่วไปตามป่าแล้งในประเทศอินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย พม่า ปากีสถาน ศรีลังกา และประเทศไทย สำหรับในประเทศไทยจะมีเขตการกระจายพันธุ์อยู่ตามธรรมชาติ ตามป่าเบญจพรรณแล้งและป่าแดงทั่วประเทศ[1],[2],[3]

ชนิดของสะเดา

สะเดา สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ชนิด[7] ได้แก่

  • สะเดาไทย (สะเดาบ้าน) ลักษณะของใบหยักเป็นฟันเลื่อย ปลายของฟันเลื่อยทู่ โคนใบเบี้ยวแต่กว้างกว่า ปลายใบแหลม[7] โดยสะเดาไทยแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่ ชนิดขมและชนิดมัน โดยจะสังเกตได้จากยอดอ่อน หากเป็นชนิดขมยอดอ่อนจะมีสีแดง แต่ถ้าเป็นชนิดมันยอดอ่อนจะมีสีขาว[6]
  • สะเดาอินเดีย ลักษณะของใบ ขอบใบเป็นหยักคล้ายฟันเลื่อย ปลายของฟันเลื่อยแหลม ปลายใบมีลักษณะแหลมเรียวแคบมาก ส่วนโคนใบเบี้ยว[7]
  • สะเดาช้าง (สะเดาเทียม) (Azadirachta excelsa (Jack) Jacobs) ชนิดนี้ลักษณะขอบใบจะเรียบหรือปัดขึ้นลงเล็กน้อย ปลายใบเป็นติ่งแหลม ขนาดของใบและผลจะใหญ่กว่า 2 ชนิดแรก[7]

โดยต้นสะเดาไทยและสะเดาอินเดียจะเป็นชนิดเดียวกันแต่ต่างสายพันธุ์ ส่วนสะเดาช้างจะจัดอยู่ในวงศ์เดียวกันกับสะเดาไทยและสะเดาอินเดีย แต่เป็นคนละชนิดหรือคนละสปีชีส์[7]

ลักษณะของสะเดา

  • ต้นสะเดา เป็นพันธุ์ไม้ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีความสูงประมาณ 20-25 เมตร ลักษณะของต้นเป็นทรงเรือนยอดเป็นพุ่มหนาทึบตลอดปี มีรากที่แข็งแรง กว้างขวาง และหยั่งลึก เปลือกของลำต้นค่อนข้างหนา มีสีน้ำตาลเทาหรือสีเทาปนดำ ผิวเปลือกแตกเป็นร่องตื้น ๆ หรือเป็นสะเก็ดยาว ๆ เยื้องสลับกันไปตามความยาวของละต้น ส่วนเปลือกของกิ่งมีลักษณะค่อนข้างเรียบ และเนื้อไม้มีสีแดงเข้มปนสีน้ำตาล เสี้ยนค่อนข้างสับสนเป็นริ้ว ๆ แคบ เนื้อหยาบ เป็นมันเลื่อม มีความแข็งแรงทนทาน ส่วนแกนไม้มีสีน้ำตาลแดง มีความแข็งแรงและทนทานมาก[1]

รูปต้นสะเดา

ต้นสะเดา

เนื้อไม้สะเดาเปลือกสะเดา
  • ใบสะเดา ใบมีสีเขียวเข้มหนาทึบ เมื่ออ่อนมีสีแดง ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ ยาวประมาณ 15-35 เซนติเมตร มีใบย่อยประมาณ 4-7 คู่ ใบย่อยติดตรงข้ามหรือกิ่งตรงข้าม ลักษณะใบเป็นรูปใบหอกกึ่งรูปเคียวโค้ง กว้างประมาณ 1.5-3.5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 5-9 เซนติเมตร โคนใบเบี้ยวเห็นชัดเจน ส่วนปลายใบแหลมหรือเรียวแหลม ขอบใบเป็นจักคล้ายฟันเลื่อย ค่อนข้างเกลี้ยง มีเส้นใบอยู่ประมาณ 15 คู่ ก้านใบย่อยยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร ใบที่อยู่ปลายช่อจะใหญ่สุด ส่วนก้านใบยาวประมาณ 3-7 เซนติเมตร ผิวก้านค่อนข้างเกลี้ยง มีต่อม 1 คู่ที่โคนก้านใบ[4] ในพื้นที่แล้งจัด ต้นจะทิ้งใบเฉพาะส่วนล่าง ๆ ในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม และใบใหม่จะผลิขึ้นมาในช่วงเดือนมีนาคมจนถึงเดือนเมษายน ซึ่งช่วงนี้ต้นสะเดาจะแทงยอดอ่อนพุ่งขึ้นมาอย่างรวดเร็ว[1]

ใบสะเดา

  • ดอกสะเดา ออกดอกเป็นช่อแยกแขนงขนาดใหญ่ตามง่ามใบหรือตามมุมที่ร่วงหลุดไปและที่ปลายกิ่ง ยาวได้ถึง 30 เซนติเมตร ดอกมีขนาดเล็กสีขาวหรือสีเทา ดอกมีกลิ่นหอมอ่อน ๆ แกนกลางของช่อมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.5 มิลลิเมตร ลักษณะค่อนข้างเกลี้ยง แตกกิ่งกางออกเป็น 2-3 ชั้น ที่ปลายเป็นช่อกระจุกอยู่ 1-3 ดอก มีขนคล้ายไหม มีใบประดับและใบประดับย่อยเป็นรูปใบหอก ยาวประมาณ 0.5-1 มิลลิเมตร มีขนนุ่มและสั้น ส่วนก้านดอกย่อยยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร มีขนนุ่มสั้นเช่นกัน ส่วนกลีบเลี้ยงเป็นรูปทรงแจกัน ยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร ปลายเป็นพู 5 พูกลม พูซ้อนเหลื่อมกัน กลีบดอกมี 5 กลีบแยกออกจากกัน ลักษณะเป็นรูปช้อนแคบ ยาวประมาณ 4-6 มิลลิเมตร มีขนนุ่มสั้นขึ้นทั้งสองด้าน ท่อเกสรตัวผู้เกลี้ยงหรือมีขนนุ่ม มีสัน 10 สัน ขอบบนเป็นพูกลม 10 พู มีอับเรณู 10 อัน ยาวประมาณ 0.8 มิลลิเมตร ลักษณะเป็นรูปรีแคบ ส่วนรังไข่เกลี้ยงหรือมีขนนุ่มสั้น[4] มักจะออกดอกในช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนมีนาคม[1] (ในช่อดอกมีสารจำพวกไกลโคไซด์ Nimbasterin 0.005% และมีน้ำมันหอมระเหยที่มีรสเผ็ดจัดอยู่ 0.5% นอกจากนี้ยังพบว่ามีสาร Nimbecetin, Nimbesterol, กรดไขมัน และสารที่มีรสขม)[2]

รูปสะเดา

ดอกสะเดา

  • ผลสะเดา ลักษณะของผลจะคล้ายผลองุ่น ผลมีลักษณะกลมรี ขนาดกว้างประมาณ 1 เซนติเมตรและยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร ผลอ่อนมีสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอมเขียว มีรสหวานเล็กน้อย ผลจะสุกในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนมิถุนายนขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่ เช่น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะสุกเร็วกว่าภาคกลาง เป็นต้น[1] (ผลมีสารขมที่ชื่อว่า Bakayanin)[2]

ผลสะเดา

  • เมล็ดสะเดา เมล็ดมีลักษณะกลมรี ผิวเมล็ดค่อนข้างเรียบหรือแตกเป็นร่องเล็ก ๆ ตามยาวสีเหลืองซีดหรือเป็นสีน้ำตาล ในน้ำหนัก 1 กิโลกรัม จะมีเมล็ดประมาณ 4,000 เมล็ด ซึ่งในเมล็ดจะมีน้ำมันอยู่ประมาณ 45%[1] (ในเมล็ดมีน้ำมันขม Margosic acid 45% หรือเรียกว่า Nim oil และมีสารขม Nimbin)[2]

เมล็ดสะเดา

สรรพคุณของสะเดา

  1. ช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย (ดอก, ใบ, ผล)[1],[2],[5]
  2. ช่วยบำรุงธาตุไฟ ขับน้ำย่อยอาหารทำให้กระเพาะย่อยอาหารได้ดีขึ้น (ใบ, แก่น)[5]
  3. ช่วยบำรุงโลหิต (ใบ, แก่น)[5]
  4. น้ำตาลที่ได้จากการหมักน้ำจากลำต้นมีแร่ธาตุ ใช้เป็นยาบำรุงร่างกาย (ลำต้น)[4]
  5. ช่วยบำรุงและรักษาสายตา โดยพบว่าผู้ที่รับประทานยอดสะเดาตั้งแต่เด็ก เมื่ออายุ 90 กว่า สายตายังดีมาก (ยอดอ่อน)[5]
  6. ใช้เป็นยาขมเจริญอาหาร ด้วยการใช้ช่อดอกนำมาลวกน้ำร้อน จิ้มน้ำปลาหวานหรือน้ำพริก หรือจะใช้เปลือกสดประมาณ 1 ฝ่ามือนำมาต้มกับน้ำ 2 ถ้วยแก้ว ใช้รับประทานครั้งละครึ่งถ้วยแก้ว (ผลอ่อน, ลำต้น, เปลือกต้น, เปลือกราก, ราก, ใบอ่อน, ดอก)[1],[2],[4],[5]
  7. ช่วยแก้กษัยหรือโรคซูบผอม ผอมแห้งแรงน้อย (เปลือกต้น)[5]
  8. ช่วยรักษาโรคแทรกซ้อนในผู้ป่วยเอดส์ เนื่องจากการรับประทานใบสะเดาเป็นอาหารจะช่วยทำให้เจริญอาหาร ลดอาการเบื่ออาหารหรือกินอาหารได้น้อยแล้วทำให้ซูบผอมจนทำให้เกิดโรคแทรกซ้อน (ใบ)[5]
  9. ช่วยลดความเครียด โดยมีผลการทดลองในหนู ระหว่างกลุ่มที่ได้รับน้ำใบสะเดาคั้นและกลุ่มที่รับยา Diazepam (valium) ซึ่งเป็นยาลดความกังวล ผลการทดลองพบว่าสะเดาส่งผลได้ดีเท่ากับหรือดีกว่ายา diazepam (valium) (ใบ)[5]
  10. ช่วยทำให้นอนหลับสบาย หรือหากนอนไม่หลับ ให้ใช้ใบและก้านสะเดาประมาณ 1 กำมือ ใส่น้ำพอท่วมยาแล้วต้มให้เดือดนาน 5-10 นาที ใช้กินครั้งละ 1 แก้ว วันละ 3-4 เวลา (ใบ, ก้านใบ)[5],[8]
  1. ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดเนื้องอกและมะเร็ง เนื่องจากในเปลือก ใบ และผลของสะเดา มีสาร Polysaccharides และ Limonoids ที่ช่วยลดความเสี่ยงดังกล่าว โดยไม่ส่งผลข้างเคียงต่อร่างกาย (ใบ, เปลือก, ผล)[5]
  2. ช่วยแก้โรคหัวใจ หัวใจเดินผิดปกติ หรือหัวใจเต้นผิดปกติ แก้ลมหทัยวาตหรือลมที่เกิดในหัวใจ (ผล)[1],[2],[5]
  3. ช่วยแก้ไข้ สร้างภูมิต้านทานให้กับร่างกาย (ลำต้น, เปลือกต้น, ราก, เปลือกราก, เปลือกรากแก้ว, ใบ, ก้านใบ)[1],[2],[4],[5],[8] แก้ไข้ตัวร้อน ไข้จับสั่น (แก่น)[5] หากเป็นไข้ตัวร้อน ปวดศีรษะ น้ำมูกไหล ให้ใช้ยอดอ่อนหรือดอกลวกจิ้มกินกับน้ำพริก อาการจะบรรเทาภายใน 24 ชั่วโมง หรือถ้าหากไปตากแดดตากฝนจนมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ครั่นเนื้อครั่นตัวคล้ายจะเป็นไข้ ก็ให้ใช้ยอดอ่อนและดอกลวกกินกับข้าว หรือจะใช้ใบทั้งก้านและดอกนำมาตากแดดจนแห้ง ต้มกับน้ำ 3 แก้วจนเหลือ 1 แก้ว ใช้กินก่อนอาหารขณะอุ่น ๆ ไม่เกิน 3 วัน ไข้จะหาย หรืออีกสูตรให้ใช้ก้านสะเดา 33 ก้าน ต้มกับน้ำ 3 แก้วจนเหลือ 1 แก้วแล้วดื่มให้หมด แล้วเอายาใหม่มาต้มกินอีกวันละ 3-4 ครั้ง หรือจะใช้รากสะเดาประมาณ 1 กำมือ ยาวหนึ่งฝ่ามือ ต้มกับน้ำจนเดือดนาน 10-15 นาที ใช้กินก่อนหรือหลังอาหารครั้งละครึ่งแก้ว ทุก ๆ 4 ชั่วโมง จะทำให้ความร้อนลดลง อาการไข้จะหาย หรือถ้าหากเป็นไข้ตัวร้อน กระหายน้ำด้วย ก็ให้ใช้ก้านและใบประมาณ 2-3 กำมือ ใส่น้ำพอท่วมยา ต้มจนเดือดประมาณ 5-10 นาที ใช้ดื่มต่างน้ำอาการจะดีขึ้น[5] หรือใช้ก้านใบผสมกับสมุนไพรชนิดอื่นเป็นยาแก้ไข้ก็ได้เช่นกัน (ก้านใบ)[1]
  4. ช่วยแก้ไข้มาลาเรียหรือไข้จับสั่น โดยใช้เปลือกต้นสะเดานำมาต้มกับน้ำแล้วเคี่ยวให้งวด ใช้ดื่มขณะยังอุ่น เมื่อดื่มแล้วให้นอนคลุมโปง จะทำให้เหงื่อออกมาก และกินซ้ำ 3-4 วัน อาการไข้จับสั่นจะค่อย ๆ หาย หรือให้กินน้ำต้มใบสะเดา หรือใช้ยอด ก้านใบ นำมาต้มเคี่ยวแล้วกิน หรืออีกสูตรของผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม ระบุในตัวยาว่ามีก้านสะเดา 33 ก้าน, สมอไทย 30 ลูก, ฝักคูน 3 ฝัก, ใบหนาด 10 ใบ และขมิ้นอ้อย 5 แว่น นำมาต้มใส่น้ำพอท่วมยา ต้มให้เดือดประมาณ 5-10 นาที ใช้กินก่อนอาหารครั้งละ 1 แก้ว วันละ 3-4 เวลา หรือทุก ๆ 3-4 ชั่วโมง โดยเติมน้ำต้มกินเรื่อย ๆ จนกว่ายาจะจืด (ผลอ่อน, ลำต้น, เปลือกต้น, ราก, เปลือกราก, ก้าน)[1],[2],[4],[5]
  5. ช่วยดับพิษร้อน ถอนพิษไข้ในร่างกาย (ยาง)[1],[2],[5]
  6. ช่วยแก้อาการไอ ด้วยการใช้รากสะเดา 1 กำมือ ใส่น้ำพอท่วม ต้มประมาณ 10-15 นาที ใช้กินก่อนอาหารครั้งละ 1 แก้ว วันละ 3 เวลา ติดต่อกัน 4 วัน อาการไอจะหาย (ราก)[5]
  7. ช่วยแก้อาการร้อนในกระหายน้ำ ด้วยการใช้ยอดสะเดาลวกกับน้ำร้อน 2-3 น้ำ ใช้กินกับข้าว นอกจากจะช่วยแก้ร้อนในแล้ว ยังช่วยรักษาแผลในช่องปาก ปากมีกลิ่นเหม็น และมีฤทธิ์ระบายอ่อน ๆ (ใบ)[5]
  8. ช่วยเพิ่มความอบอุ่นให้กับร่างกาย (เมื่อนำมาทำอาหาร เช่น แกงสะเดา)[8]
  9. น้ำตาลที่ได้จากการหมักน้ำจากลำต้น ช่วยแก้อาการกระหายน้ำ (ลำต้น)[4]
  10. ช่วยรักษาเบาหวาน ด้วยการใช้ใบสะเดาประมาณ 1 กำมือ ใส่น้ำ 3-4 แก้ว ต้มให้เดือดประมาณ 5-10 นาที ใช้กินก่อนอาหารครั้งละ 1 แก้ว วันละ 3 เวลา หรืออีกสูตรให้ใช้ใบสะเดาสด 1 กิโลกรัม, บอระเพ็ด 1 กิโลกรัม, ใบมะกรูด 1 กิโลกรัม ใส่น้ำท่วมยา แล้วต้มให้เดือดนาน 10-15 นาที ใช้กินต่างน้ำครั้งละ 1 แก้ว ทุก ๆ 4 ชั่วโมง (ใบ)[5]
  11. ช่วยแก้อาการคลื่นเหียนอาเจียน (แก่น)[1],[2],[5]
  12. ช่วยทำให้อาเจียน (เปลือกรากแก้ว)[1],[2]
  13. ช่วยแก้อาการเพ้อคลั่ง (กระพี้)[5]
  14. ช่วยแก้พิษโลหิตกำเดา (ดอก)[1],[2],[5]
  15. ช่วยแก้เลือดกำเดาไหล ด้วยการใช้ใบสะเดา ใบพริกขี้หนู และรากกระเทียม (อย่างละเท่ากัน) นำมาหั่นเป็นฝอยแล้วตากแห้ง ไว้มวนสูบ (ใบ)[5]
  16. กิ่งอ่อนใช้เคี้ยวสีฟัน ช่วยทำให้เหงือกและฟันสะอาด แข็งแรง โดยให้เลือกใช้กิ่งยาวขนาดนิ้วชี้ ใช้ฟันขบปลายให้แบนแตกเป็นเส้นเล็ก ๆ คล้ายกับแปรงเอามาใช้สีฟัน จนขนแปรงจากไม้สะเดาหลุด ก็ให้เคี้ยวขนที่หลุดให้ละเอียดแล้วกลืนลงไป สีไปขบไปเคี้ยวไปจนหมดกิ่ง ไม่มีอันตรายแต่อย่างใด แล้วจะพบว่าฟันลื่นสะอาด กลิ่นอาหารไม่มี ลำคอสะอาด และยังช่วยทำลายแบคทีเรียในช่องปากได้อีกด้วย (กิ่งอ่อน)[4],[5]
  17. หากฟันโยกคลอน เหงือกหรือปากเป็นแผล ให้ใช้เปลือกสะเดายาวประมาณ 2-3 นิ้ว นำมาขูดเอาเปลือกนอกดำ ๆ ออกให้หมด แล้วนำมาทุบปลายให้แตก พอให้ส่วนปลายอ่อน ๆ นำมาถูฟันเสร็จแล้วตัดออก หากจะใช้ครั้งต่อไปก็ทุบใหม่ ใช้แล้วจะช่วยทำให้ฟันที่โยกคลอนแข็งแรงขึ้น (เปลือก)[5]
  18. หากปากเปื่อยหรือริมฝีปากเป็นแผล มีอาการเจ็บแผลเมื่อกินรสจัด หรือกินอาหารไม่ค่อยได้ มีอาการเจ็บคอ ให้กินยอดสะเดาลวก 3 วัน จะหายเป็นปกติ (ยอด)[5]
  19. ช่วยรักษาโรครำมะนาด เหงือกอักเสบ ทำให้เคี้ยวอาหารได้ไม่สะดวกหรือไม่ละเอียด อาการจะหายเร็วขึ้นหากใช้เปลือกสะเดานำมาต้มกับเกลือประมาณ 10-15 นาที แล้วใช้อมวันละ 2-3 ครั้ง (เปลือก)[5]
  20. ช่วยแก้อาการเสียวฟัน โดยใช้ไม้สีฟันสะเดา จะพบว่าอาการเสียวฟันจะลดลงและหายไปในที่สุด ผู้ที่มีอาการเสียวฟันมากก็ใช้ได้ (กิ่งอ่อน)[5]
  21. ช่วยแก้โรคในลำคอ (ใบ)[5]
  22. ช่วยแก้อาการเจ็บคอ โดยใช้กิ่งสะเดาเคี้ยว ๆ อม ๆ แล้วค่อย ๆ กลืน อาการเจ็บคอจะทุเลาลงและหายในที่สุด (กิ่ง)[5]
  23. ช่วยแก้ลม (ราก, แก่น)[1],[5]
  24. ช่วยแก้เสมหะที่จุกคอและแน่นอยู่ในอก (ราก)[1],[2],[5]
  25. ช่วยขับเสมหะ (แก่น)[2] แก้กองเสมหะ (เปลือกต้น)[5] หรือหากคอมีเสมหะให้ใช้รากสะเดา 1 กำมือ ใส่น้ำพอท่วม แล้วต้มประมาณ 10-15 นาที ใช้กินก่อนอาหารครั้งละ 1 แก้ว วันละ 3 เวลา จะช่วยทำให้เสมหะที่ติดคอถูกขับออกมา น้ำลายจะหายเหนียว (ราก)[5]
  26. ช่วยแก้ริดสีดวงในลำคอ มีอาการคันเหมือนมีตัวไต่อยู่ในลำคอ (ดอก)[2],[5]
  27. ช่วยแก้อาการปวดท้อง (น้ำตาลที่ได้จากการหมักน้ำจากลำต้น)[4]
  28. ช่วยแก้อาการท้องเดิน (เปลือกต้น)[2]
  29. ช่วยแก้อาการท้องร่วง (เปลือกต้น)[5]
  30. ช่วยแก้อาการท้องผูก โดยใช้ใบสะเดาตากแดดจนแห้ง นำมาบดเป็นผงละลายกับน้ำร้อน ใช้กินก่อนอาหารครั้งละ 1 ช้อนโต๊ะ จะช่วยให้ถ่ายสบายขึ้น หรือจะกินสะเดาน้ำปลาหวานติดต่อกันประมาณ 1 อาทิตย์ จะช่วยทำให้ระบบขับถ่ายทำงานได้ดียิ่งขึ้น (ใบ)[5]
  31. ช่วยแก้บิด อาการบิดเป็นมูกเลือด โดยใช้เปลือกสะเดา 1 ชิ้น ขนาดเท่าฝ่ามือ ต้มกับน้ำ 2 แก้วให้เดือดประมาณ 10 นาที ใช้กินครั้งละครึ่งแก้ว วันละ 3 ครั้ง หรือจะใช้ยอดสะเดา 7 ยอดโขลกกับกระเทียม 3 กลีบ ใส่น้ำตาลอ้อยพอให้มีรสหวาน คลุกเคล้าจนเข้ากัน กินครั้งเดียวให้หมด โดยกินทุก 2 ชั่วโมง หากอาการทุเลาลงแล้วให้กินทุก 4 ชั่วโมง หรืออีกสูตรให้ใช้ใบสะเดาแก่ 1 กำมือ นำมาตำคั้นกับน้ำต้มสุก 1 แก้วแล้วกินให้หมด อาการถ่ายจะหยุด (ผล, เปลือกต้น, ใบ)[2],[5]
  32. ช่วยรักษาริดสีดวงในลำไส้ มีอาการปวดท้อง ปวดเจ็บในลำไส้ ถ่ายออกมาเป็นเลือด ให้ใช้รากสะเดานำมาฝนใส่น้ำมะพร้าว ใช้กินก่อนอาหารครั้งละ 1 แก้ว วันละ 3 เวลา (ราก)[5]
  33. ช่วยขับลม โดยใช้ยอดอ่อนนำมาต้มหรือเผาให้กรอบ จิ้มน้ำพริกกินกับข้าว ช่วยขับลมได้ดี (ยอด, ดอก)[2],[5]
  34. รากสะเดานำไปเข้ายารักษาโรคกระเพาะร่วมกับรากมะเฟือง รากหญ้าปันยอด และรากมะละกอตัวผู้ (ราก)[4]
  35. ช่วยในการย่อยอาหาร (ใบอ่อน, ดอก, ไม้สะเดาที่ใช้สีฟัน)[1],[5]
  36. ช่วยแก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อ (ไม้สะเดาที่ใช้สีฟัน)[5]
  37. ช่วยทำให้อุจจาระละเอียด (ใบ)[5]
  38. ใช้เป็นยาถ่ายพยาธิ แก้พยาธิทั้งปวง และเป็นยาระบาย (ผล, ผลอ่อน, ลำต้น, เปลือกต้น, ราก, ใบ)[1],[2],[4],[5]
  39. ช่วยแก้ปัสสาวะพิการ ปัสสาวะผิดปกติ (ผลอ่อน)[1],[2],[5]
  40. ช่วยรักษาโรคริดสีดวงทวาร (ผลอ่อน)[1],[2],[5]
  41. ช่วยบำรุงน้ำดี ขับน้ำดีให้ตกสู่ลำไส้มากขึ้น โดยน้ำดีจะช่วยในการย่อยไขมัน ทำให้อาหารพวกไขมันถูกย่อยมากขึ้น (ใบ, กระพี้)[5]
  42. ช่วยแก้น้ำดีพิการ (กระพี้)[1],[5]
  43. ช่วยแก้ถุงน้ำดีอักเสบ (กระพี้)[2]
  44. ช่วยรักษาแผลพุพองมีน้ำเหลืองไหล โดยใช้เปลือกสะเดา 1 กำมือ ใส่น้ำพอท่วม เคี่ยวพอน้ำงวดจนมีสีเปลือกสะเดาออกน้ำตาลอ่อน แล้วใช้สำลีชุบเช็ดทาบ่อย ๆ จะช่วยทำให้แผลแห้งไม่มีน้ำเหลืองไหล และหายภายในเวลา 4-5 วัน (เปลือก)[5]
  45. หากรองเท้ากัดจนเป็นแผล ให้ใช้ใบสะเดา 3 ใบ ผสมกับผงขมิ้น เติมน้ำแล้วบดผสมจนเข้ากันกลายเป็นครีม ใช้ทาบนแผลรองเท้ากัดจะช่วยลดอาการเจ็บลงได้มาก ทั้งยังช่วยทำให้แผลแห้งเร็วขึ้นอีกด้วย (ใบ)[8]
  46. เปลือกต้นนำมาต้มกับน้ำใช้ชะล้างแผลและเป็นยาฆ่าเชื้อโรคได้ (เปลือกต้น)[5]
  47. เปลือกต้น ใบ และเมล็ด ใช้ในรายที่ถูกงูกัดและถูกแมงป่องต่อย (เปลือกต้น, ใบ, เมล็ด)[4]
  48. ใบใช้เป็นยาพอกรักษาฝี แก้พิษฝี โดยใช้ใบสะเดานำมาตำแล้วพอกใช้ผ้าปิดทับ เปลี่ยนยาวันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น (ใบ)[1],[5]
  49. ใช้เป็นยาฝาดสมาน (เปลือกราก[2], เปลือกต้น[4], ใบ[4])
  50. ช่วยแก้โรคหิด โรคเรื้อน (เปลือก)[4] รักษาโรคเรื้อนกวาง สะเก็ดเงิน หิด (น้ำมันเมล็ดสะเดา)[8]
  51. ช่วยแก้หัด โดยใช้ก้านสะเดา 33 ก้านต้มกับน้ำ 10 ลิตร แล้วต้มจนเหลือน้ำ 5 ลิตร ยกลงทิ้งไว้รอให้เย็น ผสมกับน้ำเย็น 1 ขัน ใช้อาบให้ทั่วร่างกายวันละ 1-2 ครั้งจนกว่าจะหาย และต้องระวังอย่าอาบช่วงที่เม็ดหัดผุดขึ้นมาใหม่ ๆ แต่ให้อาบในช่วงที่เม็ดหัดออกเต็มที่แล้ว (ก้าน)[5]
  52. ช่วยรักษาโรคผิวหนัง (ใบ, ราก, เปลือกต้น, เปลือกรากแก้ว, น้ำมันจากเมล็ด)[1],[2],[4],[5] แก้น้ำเหลืองเสีย (ใบ)[5]
  53. ช่วยบรรเทาอาการผิวแห้ง (น้ำมันสะเดา)[8]
  54. ช่วยแก้ลมพิษ ด้วยการใช้ใบสะเดาทั้งก้านประมาณ 1 กิโลกรัม ใส่น้ำให้มากพอสำหรับอาบ ต้มจนเป็นสีเหลือง แล้วทิ้งไว้จนอุ่นแล้วนำมาใช้อาบ (ใบรวมก้าน)[5]
  55. หากมีผดผื่นคัน ให้ใช้ใบสะเดาต้มกับน้ำพอน้ำเดือด ตั้งไฟไว้พออุ่นแล้วนำมาใช้อาบทันที ผดผื่นคันจะหายไปภายใน 2-3 วัน (ใบ)[5]
  56. ช่วยแก้อาการคันในร่มผ้า โดยใช้ใบสะเดาแก่นำมาต้มให้งวดแล้วทิ้งไว้จนเย็น ใช้ชำระล้างส่วนที่มีอาการคัน 4-5 ครั้งติดต่อกัน (ใบแก่)[5]
  57. ใช้เป็นยาระงับอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ (ลำต้น, ราก, เปลือก)[4]
  58. ช่วยแก้ประดงเส้น ด้วยการใช้สะเดาทั้ง 5 ใส่น้ำพอท่วมยา แล้วต้มให้เดือดนาน 10-15 นาที ใช้กินก่อนอาหารครั้งละ 1-2 แก้ว วันละ 3 เวลา (ทั้งห้า)[5]
  59. ช่วยแก้ประดงเข้าข้อ ด้วยการใช้เปลือกสะเดาฝนกับน้ำใช้ทาภายนอก และให้ต้มใบสะเดาประมาณ 1 กำมือกินทุกวัน เช้าและเย็น (เปลือก, ใบ)[5]
  60. ใช้เป็นยากระตุ้น (ยางจากเปลือกต้น, ลำต้น, ราก, เปลือกต้น)[4]
  61. ใบและเมล็ดมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อและใช้เป็นยาฆ่าแมลง (ใบ, เมล็ด, น้ำมันจากเมล็ด, ผล)[1],[2]
  62. หากเด็กเป็นเหา ให้ใช้ใบแก่นำมาโขลกผสมกับน้ำแล้วนำไปทาให้ทั่วหัวเด็ก แล้วใช้ผ้าหรือถุงพลาสติกคลุมหัวไว้ด้วยและทิ้งไว้สักพัก จะทำให้ไข่เหาฝ่อ และฆ่าเหาให้ตายได้ (ใบแก่)[5]

ประโยชน์ของสะเดา

  1. ยอดอ่อนและดอกอ่อนใช้รับประทานเป็นผักสดหรือใช้ลวกกินกับน้ำพริกหรือลาบ (กะเหรี่ยงแดง), ยอดอ่อนใช้กินกับลาบ (ไทลื้อ) ส่วนช่อดอกใช้ลวกกินกับน้ำพริก (คนเมือง), หรือจะใช้ดอกรับประทานร่วมกับแกงหน่อไม้หรือลาบก็ได้ (คนเมือง), ส่วนแกนในยอดอ่อนใช้ประกอบอาหารได้ เช่น การนำมาทำเป็นแกง (ลั้วะ)[2],[4]
  2. น้ําปลาหวานสะเดา อีกหนึ่งเมนูอาหารที่ให้พลังงานค่อนข้างสูง ให้โปรตีนพอใช้ แต่ให้ไขมันต่ำ มีคุณค่าทางอาหารสูง ทั้งแร่ธาตุและวิตามิน ช่วยแก้ไข้หัวลม บรรเทาความร้อนในร่างกาย ช่วยปรับธาตุให้สมดุล ช่วยทำให้เจริญอาหาร ทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงและป้องกันโรคมะเร็งได้อีกด้วย[8]
  3. กล้วยตากของจังหวัดตากมีชื่อเสียงว่ารสชาติดี ไส้กล้วยไม่นิ่มแข็ง หนึบนอกนุ่มใน เพราะใช้ใบสะเดาในการบ่มกล้วย โดยวางกล้วยแก่จัดซ้อนกันไม่เกิน 3 ชิ้น แล้วคลุมด้วยใบสะเดาและห่อด้วยพลาสติกทิ้งไว้ 1 วัน แล้วนำมาผึ่งข้างนอกอีก 3-4 วัน จะได้กล้วยที่สุกงอมนำไปทำกล้วยตากได้ นอกจากนี้ยังช่วยป้องกันแมลงวันทองมาเจาะผลกล้วยได้ด้วย[5]
  4. สะเดาเป็นผักที่มีแคลเซียมสูงสุดเป็นอันดับ 3 มีธาตุเหล็กสูงสุดเป็นอันดับ 4 มีเส้นใยอาหารสูงเป็นอันดับ 3 และมีเบตาแคโรทีนสูงเป็นอันดับ 5 ในบรรดาผักทั้งหมด[8]
  5. หากสุนัขเป็นขี้เรื้อน ให้ใช้ใบสะเดานำมาตำให้ละเอียด แล้วใช้น้ำและกากมาชโลมให้ทั่วตัวสุนัข จะช่วยรักษาโรคขี้เรื้อนได้[5]
  6. ไม้สะเดา มีลักษณะคล้ายกับเนื้อไม้มะฮอกกานี ยิ่งมีอายุมากเนื้อไม้ยิ่งแกร่งเหมือนไม้แดง ไม้ประดู่ เหมาะสำหรับนำมาใช้ทำเฟอร์นิเจอร์หรือสิ่งก่อสร้าง ในบ้านเรานิยมใช้ในการก่อสร้างบ้านเรือน เช่น ทำเสาบ้าน ทำฝาบ้าน ไม้กระดานปูพื้น เครื่องบนที่รองรับน้ำหนักจากคาน ตง เป็นต้น แถมมอดยังไม่กินอีกด้วย หรือนำไปทำเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ เนื่องจากเนื้อไม้สะเดามีความทนทาน ขัดเงาได้ดี มีสีแดงสวย และยังสามารถนำมาใช้ทำเป็นเชื้อเพลิง ปลูกเป็นไม้ฟืนได้ดี เพราะเนื้อไม้หนักพอสมควร ให้ความร้อนจำเพาะสูง[1],[5]
  7. ต้นสะเดาเป็นต้นไม้ที่ปลูกได้ง่าย เติบโตเร็ว ทนทานต่อสภาพอากาศแห้งแล้งได้ดี และยังมีอายุยืนยาว อาจอยู่ได้นานถึง 200 ปี ใช้ปลูกเป็นแนวรั้วหรือปลูกเพื่อให้ร่มใบได้[5]
  8. สารสกัดสะเดาที่มีในเมล็ดและใบ ใช้เป็นสารป้องกันและกำจัดแมลงศัตรูพืช โดยสารสกัดจากสะเดาสามารถใช้กับแมลงได้หลายชนิด มีฤทธิ์ฆ่าแมลง ขับไล่แมลง ช่วยต่อต้านการดูดกิน ยับยั้งการเจริญเติบโต ทำให้หนอนหรือตัวอ่อนไม่ลอกคราบ และกำจัดแมลงได้หลายชนิด เช่น ด้วงเต๋า ตั๊กแตน เพลี้ยกระโดดสีเขียว เพลี้ยอ่อน เพลี้ยจั๊กจั่นสีเขียว มอดข้าวโพดผีเสื้อกิน มอดแป้ง แมลงหวี่ขาวยาสูบ แมลงวันผลไม้ ใบส้ม หนอนกอ หนอนกอสีครีม หนอนเจาะสมอฝ้าย หนอนใยกะหล่ำ หนอนใยผัก ฯลฯ และยังใช้กำจัดไส้เดือนฝอยในดินได้อีกด้วย[1],[5],[6] เนื่องจากสะเดามีสารสกัดที่ชื่อ “อาซาดิเรซติน” (Azadirachtin) ที่ใช้เป็นยาฆ่าแมลง โดยสูตรยาฆ่าแมลงที่นิยมใช้คือ ใช้ใบสะเดาสด 4 กิโลกรัม, ข่าแก่ 4 กิโลกรัม, และตะไคร้หอม 4 กิโลกรัม แล้วนำแต่ละอย่างมาตำให้ละเอียด หมักกับน้ำ 20 ลิตรทิ้งไว้ 1 คืน ใช้น้ำยาที่กรองได้มา 1 ลิตร ผสมกับน้ำ 200 ลิตร ใช้เป็นยาฉีดฆ่าแมลงในสวนผักผลไม้โดยไม่มีสารพิษตกค้าง ไม่เป็นอันตราย และไม่ทำลายศัตรูธรรมชาติ โดยน้ำยาที่ได้นี้สามารถเก็บไว้ได้นานหลายวัน แต่ต้องเก็บให้พ้นแสง หรือเก็บในขวดสีทึบหรือชา แดดส่องไม่ถึง และสูตรนี้หากใช้เมล็ดแทนใบได้จะสามารถกำจัดแมลงได้ทุกชนิด ยกเว้นด้วงและแมลงปีกแข็ง[2],[5] หรือจะใช้ใบนำมาแช่น้ำจนเน่าแล้วกรองน้ำที่ได้ไปใช้พ่นฆ่าแมลง ผสมกับต้นหัน หรือจะนำไปหมักใช้ทำน้ำหมักพ่นไล่แมลงก็ได้เช่นกัน[4]
  9. สำหรับสูตรไล่หอยและเพลี้ยไฟ ให้ใช้ยอดสะเดา ยูคาลิปตัส ข่าแก่ และบอระเพ็ดอย่างละ 2 กิโลกรัม จุลินทรีย์และกากน้ำตาลอย่างละ 1 แก้ว โดยนำยอดสะเดา ยูคาลิปตัส ข่าแก่ และบอระเพ็ด นำแต่ละอย่างมาแยกใส่ปี๊บแล้วใส่น้ำให้เต็ม ต้มจนเหลืออย่างละครึ่งปี๊บ ทิ้งไว้จนเย็น แล้วนำมาเทรวมกันในถังใหญ่ หลังจากนั้นให้ใส่จุลินทรีย์และกากน้ำตาลตามลงไป ปิดฝาให้สนิท ทิ้งไว้ประมาณ 3-5 วัน เมื่อนำมาใช้ให้ใช้เพียงครึ่งแก้วผสมกับน้ำ 20 ลิตร ใช้ฉีดพ่นในแปลงพืชผักหรือในนาข้าวจะช่วยป้องกันใบข้าวไหม้ได้[5]
  10. เศษที่เหลือของเมล็ดหลังจากการคั้นเอาน้ำมันและเนื้อหุ้มเมล็ดที่เน่าเปื่อยจะมีก๊าซมีเทนสูง สามารถนำมาใช้ทำปุ๋ยได้เป็นอย่างดี เพราะมีธาตุอาหารสูง และในส่วนของใบและกิ่งยังช่วยปรับปรุงดินได้ด้วย ซึ่งในประเทศอินเดียได้มีการนำต้นสะเดามาปลูกในพื้นที่แห้งแล้ง เพื่อช่วยในการปรับปรุงดินและได้ผลเป็นอย่างดี[1]
  11. ใช้ในอุตสาหกรรมเคมี โดยเปลือกของต้นสะเดาจะมีสารจำพวกน้ำฝาดอยู่ประมาณ 12-14% จากการศึกษาพบว่าน้ำฝาดที่ได้จากต้นสะเดาสามารถใช้ประโยชน์ได้ดีกว่าน้ำฝาดที่มาจากพืชชนิดอื่น[1]
  12. ประโยชน์สะเดา ใช้สกัดทำสีย้อมผ้า โดยเปลือกต้นสะเดาให้สีแดง ส่วนยางให้สีเหลือง[10]
  13. เมล็ดสะเดามีน้ำมันอยู่ประมาณ 40% สามารถนำมาใช้ทำเป็นน้ำมันเชื้อเพลิง น้ำมันหล่อลื่นเครื่องยนต์ได้ นอกจากนี้ยังใช้ทำสบู่ เครื่องสำอาง และใช้ผสมยารักษาโรคต่าง ๆ เช่น ยารักษาโรคผิวหนัง ยารักษาเส้นผม ยาสีฟัน ยารักษาสิว เนื่องจากมีคุณสมบัติช่วยต้านเชื้อก่อโรคฟันผุและช่วยต้านเชื้อก่อสิว[1],[8]
  14. คนไทยสมัยก่อนถือว่าต้นสะเดาเป็นไม้มงคล หากปลูกไว้ในบริเวณบ้านทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ โดยเชื่อว่าจะช่วยป้องกันโรคร้ายต่าง ๆ ส่วนในบางพื้นที่เชื่อกันว่ากิ่งและใบของต้นสะเดาจะช่วยป้องกันภูตผีปีศาจได้ และด้วยความเป็นมงคลนี่เอง ต้นสะเดาจึงได้รับการคัดเลือกให้เป็นพันธุ์ไม้ประจำจังหวัดอุทัยธานี ส่วนสะเดาช้างได้รับการคัดเลือกให้เป็นพันธุ์ประจำจังหวัดสงขลา[5],[8]

ไม้สะเดา
ชุดเฟอร์นิเจอร์ที่ทำจากไม้สะเดา

คุณค่าทางโภชนาการของยอดสะเดา ต่อ 100 กรัม

  • พลังงาน 76 กิโลแคลอรี
  • คาร์โบไฮเดรต 12.5 กรัม
  • โปรตีน 5.4 กรัมรูปดอกสะเดา
  • ไขมัน 0.5 กรัม
  • เส้นใยอาหาร 2.2 กรัม
  • น้ำ 77.9 กรัม
  • เบตาแคโรทีน 3,611 ไมโครกรัม
  • วิตามินบี 1 0.06 มิลลิกรัม
  • วิตามินบี 2 0.07 มิลลิกรัม
  • วิตามินซี 194 มิลลิกรัม
  • ธาตุแคลเซียม 354 มิลลิกรัม
  • ธาตุเหล็ก 4.6 มิลลิกรัม
  • ธาตุฟอสฟอรัส 26 มิลลิกรัม

แหล่งที่มา : กองโภชนาการ กรมอนามัย. ตารางแสดงคุณค่าอาหารไทยในส่วนที่กินได้ 100 กรัม.[6],[9]

ยอดสะเดา

ผักสะเดา

สะเดาน้ำปลาหวาน

สะเดาน้ำปลาหวาน

  1. วิธีทำสะเดาน้ำปลาหวาน อย่างแรกให้เตรียมวัตถุดิบดังนี้ ดอกสะเดาอ่อน 5-10 กำ / น้ำตาลปี๊บ 2 ถ้วย / น้ำมะขามเปียกข้น ๆ ครึ่งถ้วย / น้ำปลา ครึ่งถ้วย / กระเทียมเจียว 1/4 ถ้วย / หอมเจียว 1/4 ถ้วย / พริกแห้งหั่นบาง ๆ ทอดกรอบแล้ว 1/4 ถ้วย[6]
  2. นำสะเดามาล้างเบา ๆ ให้สะอาด อย่าให้ช้ำ ต้มน้ำให้เดือด เทใส่ในภาชนะที่ใส่สะเดาไว้จนท่วมแล้วปิดฝาไว้[6]
  3. ผสมน้ำตาล น้ำมะขาม และน้ำปลาเข้าด้วยกัน ตั้งไฟกลางค่อนข้างอ่อน เคี่ยวให้เหนียวพอเคลือบพายติดแล้วยกลง[6]
  4. จัดเสิร์ฟ ตักน้ำปลาหวานใส่ถ้วย โรยหน้าด้วยกระเทียมเจียว หอมเจียว พริกแห้งใส่ข้างบน[6]
  5. ใช้รับประทานร่วมกับสะเดา ผักชี กุ้งเผา และปลาดุกย่าง[6]
เอกสารอ้างอิง
  1. สวนพฤกษศาสตร์ ตามพระราชเสาวนีย์ฯ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช.  “สะเดา“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.dnp.go.th.  [14 พ.ย. 2013].
  2. สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “สะเดา (สะเดาไทย)“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th.  [14 พ.ย. 2013].
  3. หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย.  สวนพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิชาการป่าไม้ กรมป่าไม้.  (เต็ม สมิตินันทน์).
  4. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์การมหาชน).  “Siamese neem tree“.  อ้างอิงใน: หนังสือสมุนไพรไทย ตอนที่ 7.  (ก่องกานดา ชยามฤต).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th.  [14 พ.ย. 2013].
  5. KU eMagazine มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.  “สะเดามากคุณค่า เกินคาดเดา”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.ku.ac.th/e-magazine.  [14 พ.ย. 2013].
  6. ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร จังหวัดนครราชสีมา (พืชสวน).  “สะเดาไทย พืชสารพัดประโยชน์“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.aopdh06.doae.go.th.  [14 พ.ย. 2013].
  7. กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์.  “ชนิดของสะเดา“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.doae.go.th.  [14 พ.ย. 2013].
  8. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.thaihealth.or.th.  [14 พ.ย. 2013].
  9. นวัตกรรมการบริหารงานวิจัย การสร้างขุมความรู้เพื่อรองรับการวิจัยเชิงพื้นที่ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง.  “ผักพื้นบ้าน สะเดา“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: area-based.lpru.ac.th.  [14 พ.ย. 2013].
  10. โรงเรียนสองแคววิทยาคม จังหวัดเชียงใหม่.  “สะเดา“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.songkaew.ac.th.  [14 พ.ย. 2013].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by — Green Light Images –, Asian Ingredients, SierraSunrise, SleepOut Photos, tonrulkens, razorbenz, ravi_gogte, Richard Ooi Photography blog,  Tatters:), tonrulkens), เว็บไซต์ bloggang.com (by kuky)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด