สะบ้าลิง สรรพคุณและประโยชน์ของต้นสะบ้าลิง 7 ข้อ !

สะบ้าลิง

สะบ้าลิง ชื่อวิทยาศาสตร์ Mucuna macrocarpa Wall. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Mucuna colletii Lace) จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยถั่ว FABOIDEAE (PAPILIONOIDEAE หรือ PAPILIONACEAE)[2]

สมุนไพรสะบ้าลิง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า มะบ้าแมง (เชียงใหม่), หมาบ้า (น่าน), แฮนเฮาห้อม (เลย), ยางดำ (นครราชสีมา), หมักบ้าลืมดำ (สุโขทัย), เบ้งเก่ (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี) เป็นต้น[1]

หมายเหตุ : ต้นสะบ้าลิงที่กล่าวถึงในบทความนี้ เป็นพรรณไม้คนละชนิดกันกับต้นสะบ้าลิง (Entada glandulosa Gagnep.)

ลักษณะของสะบ้าลิง

  • ต้นสะบ้าลิง จัดเป็นพรรณไม้เลื้อยเนื้อแข็งขนาดใหญ่ มีความยาวได้ประมาณ 30-40 เมตร ตามกิ่งและลำต้นมีขนขึ้นหนาแน่น ขนกระจายหรือเกลี้ยง มีเขตการกระจายพันธุ์กว้าง พบได้ตั้งแต่เนปาล อินเดีย พม่า จีน ภูมิภาคอินโดจีน และญี่ปุ่นทางตอนใต้ ส่วนในประเทศไทยพบขึ้นทุกภาค ยกเว้นทางภาคใต้ โดยมักขึ้นทั่วไปในป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง ป่าดิบชื้น ป่าดิบเขา หรือริมแม่น้ำ ระดับความสูงตั้งแต่ 600-1,600 เมตร[1],[2]

ต้นสะบ้าลิง

รูปสะบ้าลิง

  • ใบสะบ้าลิง ใบเป็นใบประกอบ มีใบย่อย 3 ใบ เรียงสลับ ลักษณะของใบย่อยส่วนปลายมีลักษณะเป็นรูปรีหรือรูปไข่ มีขนาดยาวประมาณ 7-19 เซนติเมตร ใบข้างมีลักษณะเป็นรูปรี เบี้ยว ปลายใบแหลม โคนใบกลมหรือมน เส้นแขนงใบมีข้างละ 3-7 เส้น ไม่มีก้านใบ[2]

ใบสะบ้าลิง

  • ดอกสะบ้าลิง ดอกเป็นสีม่วงดำ มีกลิ่นเหม็นเอียน ออกดอกเป็นช่อกระจุกสั้น ๆ หนาแน่นตามลำต้น มีความยาวประมาณ 5-23 เซนติเมตร ช่อดอกจะห้อยย้อยลง ดอกย่อยนั้นมีจำนวนมาก แกนช่อดอกมีขนละเอียดและขนคันแข็งสีน้ำตาลขึ้นหนาแน่น ก้านดอกยาวประมาณ 0.8-1 เซนติเมตร ใบประดับและใบประดับย่อยมีลักษณะเป็นรูปไข่ ยาวประมาณ 2-5 มิลลิเมตร ส่วนกลีบเลี้ยงดอกจะมีขนเหมือนแกนช่อดอก หลอดกลีบเลี้ยงมีขนาดกว้างประมาณ 1.2-2 เซนติเมตร และยาวประมาณ 0.8-1.2 เซนติเมตร ปลายแยกเป็นแฉกกว้าง ตื้นๆ 4 กลีบ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน มีขนาดไม่เท่ากัน ลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยม กลีบล่างสุดมีความยาวได้ประมาณ 5-8 มิลลิเมตร ส่วนกลีบอื่น ๆ จะยาวได้ประมาณกึ่งหนึ่ง กลีบดอกกลีบกลางจะเป็นสีเขียวหรือชมพูอ่อน ยาวได้ประมาณ 3-4.5 เซนติเมตร ส่วนกลีบปีกจะเป็นสีม่วงเข้ม ยาวประมาณ 5-6.5 เซนติเมตร กลีบคู่ล่างเป็นสีม่วงอ่อนมีสีเหลืองแซม ยาวประมาณ 4-6 เซนติเมตร มีขนาดกว้างกว่ากลีบปีก และมีขนขึ้นตามขอบ[2]

ดอกสะบ้าลิง

  • ผลสะบ้าลิง ผลเป็นฝักแข็ง ลักษณะของฝักเป็นรูปขอบขนานยาวแบนคล้ายดาบ สันคอดไปตามกลักเมล็ด ฝักมีความยาวประมาณ 20-48 เซนติเมตร ผิวฝักมีขนสั้นนุ่มสีน้ำตาลหนาแน่น ส่วนมากย่น ภายในฝักมีเมล็ดประมาณ 6-15 เมล็ด เมล็ดเป็นสีน้ำตาลดำแบน เมล็ดแข็ง ผิวเมล็ดเป็นมัน มีขนาดกว้างประมาณ 1.8-2.8 เซนติเมตร และยาวประมาณ 2.2-3.2 เซนติเมตร[2]

ฝักสะบ้าลิง

เมล็ดสะบ้าลิง

สมุนไพรสะบ้าลิง

สรรพคุณของสะบ้าลิง

  • ยาพื้นบ้านล้านนาจะใช้ลำต้นสะบ้าลิงและเปลือกต้นสะบ้าลิง นำมาผสมกับเปลือกต้นสน เปลือกต้นราชพฤกษ์ ต้นขันทองพยาบาท ต้นสะค้าน เปลือกมะตูม เปลือกต้นมะคังแดง ต้นบอระเพ็ด รากมะเขือขื่น และหัวผักหนามปริมาณอย่างละเท่า ๆ กัน ตากแห้งแล้วบดให้เป็นผง ผสมกับน้ำอุ่นหรือเหล้าดื่มเป็นยาบำรุงกำลัง (ลำต้น, เปลือกต้น)[1]
  • คนเมืองจะใช้ลำต้นเป็นยาบำรุงร่างกาย บำรุงกำลังทางเพศ (ลำต้น)[3]
  • ลำต้น เปลือกต้น ใช้ต้มผสมกับเกลือ เป็นยาอมแก้ปวดฟัน (ลำต้น, เปลือกต้น)[1]
  • เมล็ดสะบ้าลิงนำมาผสมกับเมล็ดมะค่าโมง หอยกาบล้าน งาช้าง รากหรือต้นผักหวานบ้าน แก่นคูน แก่นขี้เหล็ก รากชิงชี่ แก่นขนุนเทศ ต้นขมิ้นเครือ ต้นคนทา ต้นแก้งขี้พระร่วง และต้นเหมือดคน ใช้ฝนใส่ข้าวเจ้ากินเป็นยาแก้มะเร็งคุด (เมล็ด)[1]
  • เมล็ดนำไปเผาแล้วบดให้เป็นผง ผสมกับน้ำมันมะพร้าว ใช้เป็นยาทาแก้คัน แก้หิด และโรคผิวหนัง (เมล็ด)[1]

ประโยชน์ของสะบ้าลิง

  • คนเมืองจะนำลำต้นหรือเครือมาหั่นเป็นแว่นตากแห้งขาย (กิโลกรัมละ 30 บาท)[3]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา.  (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “สะบ้าลิง”.  หน้า 154.
  2. สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “สะบ้าลิง”.  [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.dnp.go.th/botany/.  [13 ก.ค. 2015].
  3. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน).  “สะบ้าลิง”.  อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th.  [13 ก.ค. 2015].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by 翁明毅, chen kuntsan, 潘立傑 LiChieh Pan, ted762563)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด