สวาด
สวาด ชื่อสามัญ Nuckernut, Grey nickers[1], Bonduc nut, Gray nicker, Gray nicker bean, Grey nicker bean, Guilandina seed, Fever nut, Molucca nut, Nicker nut, Physic nut, Physic nut, Sea pearl, Wait-a-while, Yellow nicker (ENGLISH)[6]
สวาด ชื่อวิทยาศาสตร์ Caesalpinia bonduc (L.) Roxb. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Caesalpinia bonducella (L.) Fleming, Caesalpinia crista sensu auct., Guilandina bonduc Griseb., Guilandina bonducella L., Guillandina bonduc L., Guillandina bonducella (L.) Fleming)[6] จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยราชพฤกษ์ (CAESALPINIOIDEAE หรือ CAESALPINIACEAE)[2]
สมุนไพรสวาด มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า หวาด บ่าขี้แฮด (เชียงใหม่), หวาด ตามั้ด มะกาเลิง (ภาคใต้), สวาด (ภาคกลาง), มะกาเล็ง (เงี้ยว-เชียงใหม่), ดามั้ด (มลายู-สตูล) เป็นต้น[1],[2]
ลักษณะของต้นสวาด
- ต้นสวาด จัดเป็นไม้เถาเลื้อยพันกับต้นไม้อื่นโดยใช้หนามช่วยในการประคอง ตามลำต้น กิ่งก้าน และเส้นใบมีหนามโค้งแหลม ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด สามารถพบได้ทั่วไปในเขตร้อน มักขึ้นตามริมแม่น้ำลาธารในป่าเบญจพรรณ ป่าละเมาะใกล้ทะเล และป่าโปร่งทั่วไป แต่ในปัจจุบันจะพบได้น้อยมาก[1],[3]
- ใบสวาด ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกสองชั้น ขนาดใหญ่ ยาวประมาณ 30-50 เซนติเมตร ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปไข่ ปลายใบแหลมเล็กน้อย โคนใบไม่เท่ากัน ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1-2 เซนติเมตร และยาวประมาณ 2-4 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นสีเขียวเข้ม มีหูใบประกอบแบบขนนก[1],[2],[3]
- ดอกสวาด ออกดอกเป็นช่อ เป็นช่อยาวประมาณ 15-25 เซนติเมตร โดยจะออกที่กิ่งเหนือซอกใบเล็กน้อย เป็นช่อเดี่ยวหรือบางครั้งอาจจะแตกแขนงได้ ก้านช่อยาวและมีหนาม ดอกย่อยมีขนาดเล็ก คล้ายดอกกล้วยไม้สีเหลือง โดยมีกลีบดอกเป็นสีเหลือง มีใบประดับเป็นเส้นงอ ยาวประมาณ 5-12 มิลลิเมตร[1],[3]
- ผลสวาด ออกผลเป็นฝัก ลักษณะเป็นรูปรีหรือรูปขอบขนานแกมรูปรี มีหนามยาวแหลม หรือขนยาวแหลมแข็งคล้ายหนามตามเปลือก ภายในฝักมีเมล็ด 2 เมล็ด ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปกลมรีเท่าปลายนิ้วชี้ เปลือกเมล็ดแข็งเป็นสีม่วงเทา (สีสวาด) เมล็ดมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร[1],[2]
สรรพคุณของสวาด
- ผลมีสรรพคุณเป็นยาแก้กระษัย (ผล)[2] บ้างว่าใบก็มีสรรพคุณเป็นยาแก้กระษัยได้เช่นกัน (ใบ)[5]
- ยอดนำมาบดกรองเอาแต่น้ำใช้เป็นยาแก้ไข้ (ยอด)[4] ส่วนเมล็ดก็มีสรรพคุณเป็นยาแก้ไข้เช่นกัน (เมล็ด)[5]
- ใบและเมล็ดมีสรรพคุณเป็นยาแก้ไอ (ใบ,เมล็ด)[5]
- บางข้อมูลระบุว่าใช้ใบนำมาต้มกับน้ำอมกลั้วคอ จะช่วยรักษาแผลในลำคอ (ใบ)[5]
- ตำรายาไทยจะใช้ใบสวาดเป็นยาขับลม ขับผายลม แก้อาการจุกเสียดแน่น (ใบ)[1],[2]
- เมล็ดใช้เป็นยาแก้ท้องเสีย ปวดท้อง (เมล็ด)[5]
- รากนำมาดองกับเหล้าขาวใช้เป็นยาแก้พยาธิ (ราก)[4] ยอดมีสรรพคุณเป็นยาถ่ายพยาธิ (ยอด)[4], เมล็ดมีสรรพคุณเป็นยาถ่ายพยาธิ (เมล็ด)[5]
- ใบและผลมีสรรพคุณเป็นยาแก้ปัสสาวะพิการ (ใบ,ผล)[1],[2]
- ใบสวาดจัดเป็นส่วนผสมในตำรับยาอม “ยาอมมะแว้ง” ซึ่งเป็นยาสามัญประจำบ้านและยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ มีสรรพคุณเป็นยาช่วยบรรเทาอาการไอ ละลายและขับเสมหะ (ใบ)
ประโยชน์ของสวาด
- ในสมัยก่อนเด็ก ๆ จะนำเมล็ดสวาดมาใช้เล่นหมากเก็บ เพราะมีขนาดและรูปร่างที่เหมาะสม[3]
- ในวรรณคดีหลายเรื่องจะมีการกล่างถึงต้นสวาดในเชิงเปรียบเทียบกับความรัก ความพิศวาส ระหว่างหญิงชาย เพราะมีความพร้องเสียงกันนั่นเอง นอกจากนี้ตามธรรมเนียมไทยในการจัดขันหมากงานแต่งงานบางท้องที่ จะใช้ใบรักและใบสวาดรองก้นขันหมากโท ซึ่งใส่หมากพลู ส่วนขันหมากเงินทุนและสินสอด จะใส่ใบรักและใบสวาดลงไปรวมกับดอกไม้และสิ่งมลคลอื่น ๆ เช่น ดอกบานไม่รู้โรย ถั่วงา ใบเงิน ใบทอง เป็นต้น[3]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “สวาด Nickernut/Grey Nickers”. หน้า 68.
- สวนพฤกษศาสตร์สายยาไทย. “สวาด”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.saiyathai.com. [10 มิ.ย. 2014].
- ไม้ในวรรณคดีไทย. “สวาด (Caesalpinia Bonduc (L.) Roxb.)”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: ftp://smc.ssk.ac.th/thaienclycropedia/book23/b23p216.htm. [10 มิ.ย. 2014].
- หนังสือพรรณไม้ป่าชายหาด. (มัณฑนา นวลเจริญ). “สวาด”.
- พืชสมุนไพรโตนงาช้าง. “สวาด”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: paro6.dnp.go.th/web_km/พืชสมุนไพรโตนงาช้าง/. [10 มิ.ย. 2014].
- MULTILINGUAL MULTISCRIPT PLANT NAME DATABASE. “Sorting Caesalpinia names”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.plantnames.unimelb.edu.au. [10 มิ.ย. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Russell Cumming, Reinaldo Aguilar, 翁明毅, Raiwen, Foggy Forest, sjorgs)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)