สร้อยทองทราย สรรพคุณของต้นสร้อยทองทราย 7 ข้อ !

สร้อยทองทราย

สร้อยทองทราย ชื่อวิทยาศาสตร์ Polycarpaea corymbosa (L.) Lam. จัดอยู่ในวงศ์ CARYOPHYLLACEAE[1]

สมุนไพรสร้อยทองทราย มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า หญ้าปุยขาว (ขอนแก่น) ส่วนภาคกลางเรียก “สร้อยทองทราย” เป็นต้น[1]

ลักษณะของสร้อยทองทราย

  • ต้นสร้อยทองทราย จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุก อายุปีเดียว ลำต้นมีลักษณะตั้งตรง แตกแขนงที่โคนต้น มีความสูงได้ประมาณ 10-30 เซนติเมตร แตกกิ่งก้านสาขามาก ตามลำต้นและกิ่งก้านมีขนนุ่มขึ้นปกคลุมอยู่ ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด จัดเป็นพรรณไม้กลางแจ้ง ซึ่งเป็นวัชพืชชนิดหนึ่งที่มักขึ้นอยู่ริมสองข้างทาง ตามไร่สวน และตามป่าเต็งรัง มีเขตการกระจายพันธุ์อยู่ในเอเชียเขตร้อน แอฟริกา ออสเตรเลีย และอเมริกา[1]

รูปสร้อยทองทราย

ต้นสร้อยทองทราย

  • ใบสร้อยทองทราย ใบเป็นใบเดี่ยวและมีขนาดเล็กมาก ออกเรียงตรงข้ามหรือเรียงรอบข้อ โดยจะแตกใบออกตามข้อของลำต้นรวมกันเป็นกระจุก ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนานแคบหรือรูปแถบ ปลายใบแหลม ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1-2 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 0.5-2 เซนติเมตร แผ่นใบบางแห้งและเป็นสีเขียว[1]

ใบสร้อยทองทราย

  • ดอกสร้อยทองทราย ออกดอกเป็นช่อแบบช่อเชิงเลิดตรงส่วนยอดของลำต้น เป็นดอกแบบสมบูรณ์เพศ ดอกจะอยู่รวมกันหนาแน่น สีเงิน มีเนื้อบาง ซึ่งอาจจะมีขนปกคลุมอยู่ ดอกมีกลีบดอก 5 กลีบ ปลายกลีบมนหรือเว้าเป็นแอ่ง และมีกลีบรองดอกอีก 5 กลีบห่อหุ้มอยู่ ดอกมีเกสรเพศผู้ 5 อัน[1]

ดอกสร้อยทองทราย

  • ผลสร้อยทองทราย ผลเป็นผลแห้ง มีพู 3 พู ภายในผลมีเมล็ดจำนวนมาก[1]

สรรพคุณของสร้อยทองทราย

  1. ตำรายาพื้นบ้านอีสานจะใช้ทั้งต้นนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาอายุวัฒนะ และเป็นยาบำรุงร่างกาย (ทั้งต้น)[2]
  2. ทั้งต้นใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ไข้ (ทั้งต้น)[2]
  3. ใบใช้ผสมกับน้ำตาลทำเป็นยารักษาโรคดีซ่าน (ใบ)[1]
  4. ทั้งต้นใช้เป็นยาทาภายนอกหรือใช้กินเป็นยารักษาเมื่อถูกงูพิษกัด (ทั้งต้น)[1]
  5. ดอกใช้เป็นยาสมาน (ดอก)[1]
  6. ใบนำมาตำใช้เป็นยาพอกรักษาฝี พอกแผลอักเสบบวม และแผลที่ถูกสัตว์กัด (ใบ)[1]
  7. ดอกมีสรรพคุณเป็นยาบรรเทาอาการปวด บวม (ดอก)[1]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  “สร้อยทองทราย”.  หน้า 758-759.
  2. มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ 1677 คอลัมน์ : สมุนไพร : สร้อยทองทราย Polycarpaea corymbosa (L.) Lam. CARYOPHYLLACEAE. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Russell Cumming)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด