8 สมุนไพรแก้ท้องเสีย ท้องร่วง แก้อาการถ่ายเหลวไม่หยุดอย่างได้ผล!

8 สมุนไพรแก้ท้องเสีย ท้องร่วง แก้อาการถ่ายเหลวไม่หยุดอย่างได้ผล!

อาการท้องเสีย

          ท้องเสีย ท้องร่วง หรือ อุจจาระร่วง (Diarrhea) คือ ภาวะที่มีการถ่ายอุจจาระเหลวหรือเป็นน้ำอย่างน้อย 3 ครั้งต่อวัน ส่วนใหญ่อาการมักหายได้เองภายใน 2-3 วัน และมักมีสาเหตุมาจากรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มที่ไม่ถูกสุขลักษณะหรือมีเชื้อโรคปนเปื้อน แต่การรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ล้างมือ ล้างภาชนะบรรจุอาหารและอุปกรณ์เครื่องใช้ให้สะอาดก็จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดอาการท้องเสียได้

          อย่างไรก็ตาม บางครั้งก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เมื่อคุณมีอาการท้องเสียเกิดขึ้น การใช้ยาสมุนไพรหรือสมุนไพรใกล้ตัวที่จะกล่าวถึงในบทความนี้ก็อาจเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการรักษาที่ดีสำหรับคุณ แต่ข้อสำคัญก็คือเมื่อร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่ มักจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ง่าย โดยเฉพาะในเด็กและผู้สูงอายุจะทำให้เกิดอาการอ่อนเพลีย มีไข้จากการสูญเสียน้ำ นอกจากการใช้ยาต่าง ๆ เพื่อรักษาแล้วคุณยังจำเป็นต้องทดแทนน้ำและเกลือแร่เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำด้วยการดื่มน้ำเกลือแร่ให้เพียงพอด้วย และในระหว่างท้องเสียก็ให้รับประทานเฉพาะอาหารอ่อนที่ย่อยได้ง่าย เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก แกงจืด (ไม่ควรงดอาหารและหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารรสเผ็ด) และหากพบว่ามีอาการอื่นร่วมด้วยนอกจากอาการท้องเสีย โดยเฉพาะอุจจาระมีมูกเลือดปนหรือมีไข้ร่วมด้วย กลิ่นอุจจาระมีกลิ่นเหม็นคล้ายของเน่า (เป็นอาการท้องเสียชนิดติดเชื้อ) ก็แนะนำให้คุณรีบไปโรงพยาบาลเพื่อรับการตรวจหาเชื้อและทำการรักษาโดยแพทย์แผนปัจจุบันต่อไป

ตำรับยาสมุนไพรแก้ท้องเสีย

          โดยปกติแล้วสมุนไพรแต่ละชนิดจะมีสรรพคุณทางยาที่หลากหลาย และสำหรับสมุนไพรที่ช่วยแก้อาการท้องเสียได้นั้นก็มีอยู่หลายชนิด หากนำสมุนไพรเหล่านั้นที่มีสรรพคุณเหมือนกันมาผสมผสานกันในอัตราส่วนที่เหมาะสม ตำรับยาสมุนไพรนั้นก็จะช่วยเสริมฤทธิ์กันและออกฤทธิ์ได้ดีกว่าการใช้สมุนไพรแบบเดี่ยว ๆ มาปรุงเป็นยา

สมุนไพรแก้ท้องเสีย

1. กฤษณา (Aquilaria crassna Pierre ex Lecomte.) สมุนไพรทางคุณค่ามากสรรพคุณ ส่วนที่นำมาใช้ทำยาจะเป็นส่วนของเนื้อไม้ที่มีสีน้ำตาลเข้มถึงดำ มีความแข็งและมีน้ำหนักมากกว่าน้ำ ซึ่งปัจจุบันค่อนข้างมีราคาแพงมาก ตามตำรายาไทยเราจะใช้ไม้คุณภาพเกรดนี้มาปรุงเป็นยาอายุวัฒนะ บำรุงธาตุ บำรุงกำลัง บำรุงหัวใจ แก้ท้องร่วง แก้ลมวิงเวียนศีรษะ แก้ไข้ต่าง ๆ ฯลฯ
          วิธีใช้ : มีการนำแก่นไม้กฤษณาไปใช้ในหลากหลายตำรับยา โดยเป็นตัวยาผสมกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ อีกหลายชนิดในตำรับเพื่อรักษาอาการของโรคต่าง ๆ เช่น ตำรับยากฤษณากลั่นแก้ท้องเสีย, ตำรับยาหอมเทพจิตรแก้ลมกองละเอียด หน้ามืด ตาลาย, ตำรับยาหอมทิพโอสถแก้ลมวิงเวียน, ตำรับยาหอมนวโกฐแก้ลมวิงเวียน, ตำรับยาขึ้ผึ้งบี้พระเส้นใช้คลายเส้น, ตำรับยาทรงทาพระนลาฎแก้เลือดกำเดา, ตำรับยามโหสถธิจันทน์แก้ไข้ตัวร้อน เป็นต้น

2. กานพลู (Syzygium aromaticum (L.) Merr.& L.M.Perry) ไม้ยืนต้นสูง 9-12 เมตร มีเรือนยอดเป็นรูปกรวยคว่ำ เปลือกเรียบสีเทา ใบเดี่ยวรูปหอก ช่อดอกเป็นแบบช่อเชิงหลั่นออกที่ปลายยอด สมุนไพรชนิดนี้มีสรรพคุณทางยามากมาย เกือบทุกส่วนของต้นสามารถนำมาใช้ทำยาได้ โดยเฉพาะในส่วนของดอกตูมที่จะมีสรรพคุณช่วยเรื่องระบบทางเดินอาหารหลายอย่าง ตั้งแต่สรรพคุณช่วยขับลม แก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อ ปวดท้อง มวนในลำไส้ แน่นจุกเสียด แก้อุจจาระพิการ แก้ท้องเสียในเด็ก เป็นต้น
          วิธีใช้ : สำหรับแก้อาการปวดท้อง ท้องอืดเฟ้อ และช่วยขับลม ให้ใช้ดอกตูม (ดอกกานพลูที่โตเต็มที่ แต่ยังไม่บาน) 4-6 ดอก นำมาทุบให้ช้ำ ชงกับน้ำดื่มครั้งละครึ่งถ้วยแก้ว หรือใช้ดอกแห้ง 5-8 ดอก นำมาต้มกับน้ำให้พอเดือด ดื่มแต่น้ำ หรือถ้าเป็นแบบบดผงให้ใช้ประมาณ 0.12-0.6 กรัม นำมาชงกับน้ำสุกดื่ม*

3. สมอพิเภก (Terminalia bellirica (Gaertn.) Roxb.) ไม้ยืนต้นผลัดใบสูง 15-35 เมตร ออกผลรวมกันเป็นพวงโต ๆ ผลมีลักษณะกลมหรือกลมรี แข็ง มีสัน 5 สัน ผิวภายนอกปกคลุมด้วยขนสีน้ำตาลหนาแน่น ในทางยาเรานิยมใช้ทั้งส่วนของผลอ่อนและผลแก่มาปรุงยา โดยผลอ่อนจะมีรสเปรี้ยว มีสรรพคุณเป็นยาแก้ไข้ แก้ลม ใช้เป็นยาถ่าย ยาระบาย ส่วนผลแก่จะมีรสฝาด มีสรรพคุณเป็นยาแก้ท้องร่วง ท้องเดิน รักษาโรคท้องมาน แก้ไข้ แก้โรคในตา แก้ริดสีดวงทวารหนัก และใช้บำรุงธาตุ
          วิธีใช้ : สำหรับแก้ท้องร่วง ท้องเดิน (ไม่ใช่บิด หรืออหิวาตกโรค) ให้ใช้ผลสมอพิเภกแก่ 2-3 ผล นำมาต้มกับน้ำ 2 ถ้วยแก้ว ใส่เกลือลงไปเล็กน้อย แล้วเคี่ยวจนเหลือ 1 ถ้วยแก้ว เสร็จแล้วนำมาดื่ม*

4. ฝาง (Caesalpinia sappan L.) ไม้พุ่มแตกกิ่งที่โคน สูง 5-8 เมตร ลำต้นมีหนามโค้งสั้น ๆ และแข็ง มีใบเป็นใบประกอบแบบขนนกสองชั้นออกเรียงสลับกัน ส่วนที่นำมาใช้ทำยาจะเป็นในส่วนของแก่นของไม้ที่มีสีแดง (ฝางแบ่งเป็น 2 ชนิด ชนิดแรกเป็นแก่นสีแดงเข้ม เรียกว่า “ฝากเสน” ส่วนอีกชนิดเป็นแก่นสีเหลือง เรียกว่า “ฝางส้ม”) โดยหลัก ๆ แล้วจะมีสรรพคุณเป็นยาแก้ท้องร่วง ท้องเดิน แก้ธาตุพิการ ใช้เป็นบำรุงโลหิตสตรี ยาขับประจำเดือน ยารักษาน้ำกัดเท้า ฯลฯ
          วิธีใช้ : สำหรับแก้ท้องร่วง ท้องเดิน ให้ใช้แก่นฝางหนัก 3-9 กรัม นำมาต้มกับน้ำ 2 ถ้วยแก้ว (500 มิลลิลิตร) แล้วเคี่ยวให้เหลือ 1 ถ้วยแก้ว นำมาดื่มรับประทานครั้งละครึ่งถ้วยแก้ว หรืออีกวิธีให้ใช้แก่นฝาง 1 ส่วน ต่อน้ำ 20 ส่วน นำมาต้มเคี่ยวประมาณ 15 นาที ใช้รับประทานครั้งละ 2-4 ช้อนโต๊ะ (ประมาณ 4-8 ช้อนแกง)*

สมุนไพรแก้อาการท้องเสีย
IMAGE SOURCE : 123RF

5. การบูร (Cinnamomum camphora (L.) J. Presl.) เป็นผลึกที่แทรกอยู่ในเนื้อไม้ของต้นการบูรซึ่งเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ที่เกิดอยู่ทั่วไปทั้งต้น โดยมักจะอยู่ตามรอยแตกของเนื้อไม้ แต่มีมากสุดในแก่นของราก รองลงมาคือแก่นของลำต้น ในตำรายาไทยนอกจากจะใช้การบูรเป็นยาทาถูนวดแก้ปวด ขัดยอก เคล็ดบวมต่าง ๆ แล้ว ยังมีการใช้การบูรเพื่อแก้อาการปวดท้อง ท้องร่วง ขับผายลม กระจายลมด้วย
          วิธีใช้ : มักมีปรากฎการใช้การบูรรวมกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ ในตำรับรักษาหลายกลุ่มอาการ เช่น ยากฤษณากลั่นแก้ท้องเสีย, ยาธาตุบรรจบแก้ท้องอืดเฟ้อ, ยาแก้ลมอัมพฤกษ์บรรเทาอาการปวดตามเส้นเอ็นกล้ามเนื้อ, ยาประสะไพลแก้ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ, ยาเลือดงามแก้อาการปวดประจำเดือน เป็นต้น

6. พระจันทร์ครึ่งซีก (Lobelia chinensis Lour.) ไม้ล้มลุกที่มีลำต้นขนาดเล็ก ตามข้อมีรากอ่อน ลำต้นมักทอดเลื้อยไปตามพื้นดินและชูส่วนยอดขึ้น มียางสีขาว มีใบเป็นใบเดี่ยวรูปหอกออกเรียงสลับ ส่วนดอกออกดอกเดี่ยวตามซอกใบ ดอกเป็นสีม่วงอ่อน มี 5 กลีบ ในทางยาจะใช้ทั้งต้นสด ๆ ขณะที่ดอกกำลังบานมาเป็นปรุงยาแก้อาการต่าง ๆ ตั้งแต่อาการท้องเสีย บิด อาการบวมน้ำ ท้องมาน ดีซ่าน ขัดเบา ทอนซิลอักเสบ อาเจียนเป็นเลือด ฯลฯ หรือใช้ภายนอกทำเป็นยาแก้ฝี แผลเปื่อย ผิวหนังอักเสบ เต้านมอักเสบ อาการเคล็ดขัดยอก เป็นต้น
          วิธีใช้ : สำหรับแก้อาการท้องเสีย ให้ใช้ต้นพระจันทร์ครึ่งซีกสด ๆ 15-30 กรัม (ประมาณ 1 กำมือ) นำมาต้มกับดื่ม (แต่ห้ามใช้สมุนไพรชนิดในคนที่มีอาการท้องอืด อาหารไม่ย่อย อุจจาระเหลว)*

7. พริกไทย (Piper nigrum L.) ตามตำรายาไทยจะใช้ส่วนของผลแห้งแก่จัดแต่ยังไม่สุกทั้งเปลือก หรือที่เรียกว่า “พริกไทยดำ” นำมาใช้เป็นยา ซึ่งสมุนไพรชนิดนี้ก็มีสรรพคุณทางยาหลากหลายมาก เอาเฉพาะเรื่องระบบทางเดินอาหารก็เช่น ช่วยรักษาอาการปวดกระเพาะอาหาร แก้ท้องเสีย ปวดท้อง ลดอาการท้องอืดท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย แน่นจุกเสียด ขับลมในลำไส้ให้ผายเรอ เป็นต้น
          วิธีใช้ : มักใช้เป็นส่วนประกอบในตำรับยาทั้งของไทย จีน และอินเดีย เช่น ยากฤษณากลั่นแก้ท้องเสีย, ยาประสะกานพลูแก้ปวดท้อง จุกเสียด แน่นเฟ้อ, พิกัดตรีกฎุก, พิกัดตัวยาเผ็ดร้อน 6 ชนิด เป็นต้น สำหรับการใช้แบบเดี่ยว ๆ มักใช้เพื่อลดอาการท้องอืดเฟ้อ ช่วยขับลม (เข้าใจสามารถช่วยแก้อาการท้องเสียได้เช่นกัน) โดยจะใช้ผลนำมาบดให้เป็นผง ปั้นเป็นลูกกลอน ใช้รับประทานครั้งละ 0.5-1 กรัม หรือจะใช้ผงชงกับน้ำดื่มรับประทานวันละ 3 ครั้งหลังอาหารก็ได้เช่นกัน*

8. หัวแห้วหมู (Cyperus rotundus L.) ในทางยาจะใช้ส่วนของหัวที่อยู่ใต้ดินของหญ้าแห้วหมูมาปรุงเป็นยา โดยลำตัวที่อยู่ใต้ดินนั้นจะมีลักษณะเป็นรูปกระสวย แข็งเหนียว ผิวไม่เรียบ สีน้ำตาลดำ เห็นเป็นข้อ ๆ เนื้อภายในมีสีเหลืองถึงสีน้ำตาลแดง มีกลิ่นหอมเฉพาะ รสเผ็ดปร่าและขม ตำรายาไทยจะใช้ส่วนของหัวนี้ปรุงเป็นยาแก้ท้องเสีย ปวดท้อง ขับลมในลำไส้ แก้ท้องอืดเฟ้อ แก้อาการปวดประจำเดือน ประจำเดือนผิดปกติ ใช้บำรุงธาตุ บำรุงหัวใจ บำรุงกำลัง ช่วยเจริญอาหาร ฯลฯ และยังมีปรากฏการใช้สมุนไพรชนิดนี้ในตำรับ “ยาเหลืองปิดสมุทร” ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ ด้วย ซึ่งเป็นตำรับยาที่ใช้บรรเทาอาการท้องเสียชนิดที่ไม่เกิดจากการติดเชื้อและท้องเสียชนิดที่ไม่มีไข้
          วิธีใช้ : ให้ใช้หัวแห้วหมูประมาณ 1 กำมือ (60-70 หัว หรือหนัก 15 กรัม) นำมาทุบให้แตก แล้วต้มเอาน้ำดื่ม หรือจะใช้หัวสด ๆ ครั้งละ 5 หัว นำมาโขลกให้เลียดผสมกับน้ำผึ้งรับประทานก็ได้เช่นกัน*

สมุนไพรแก้ท้องร่วง
IMAGE SOURCE : 123RF

หมายเหตุ* : คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการใช้และปริมาณที่ใช้สมุนไพรดังกล่าว คือปริมาณที่แนะนำให้ใช้ในผู้ใหญ่เท่านั้น (ไม่รวมเด็กและเด็กอ่อน)

ตัวอย่างยาสมุนไพรแก้ท้องเสีย

          ยากฤษณากลั่น เป็นยาน้ำสมุนไพรสำหรับใช้แก้อาการท้องเสีย ปวดท้อง จุกเสียด และขับลม สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป มีวิธีใช้โดยการนำมาผสมกับน้ำดื่ม

          โดยในสูตรตำรับยาจะประกอบด้วยสมุนไพรที่เป็นสารสำคัญได้แก่ กฤษณา (แก้ท้องเสีย), กานพลู (แก้ท้องเสีย ปวดท้อง ช่วยขับลม), การบูร (ขับลม แก้ท้องเสีย ปวดท้อง), พริกไทย (ขับลม แก้ท้องเสีย ปวดท้อง), ขี้อ้าย (แก้ท้องเสีย), เพกา (แก้ท้องเสีย ขับลม), เทียนขาว (ขับลม แก้ท้องเสีย), ไพล (ขับลม แก้ปวดท้อง), ขิง (ขับลม), ดีปลี (ขับลม), เทียนดำ (ขับลม), สลัดได (ยาแก้ลม แก้ธาตุพิการ) และโกฐสอ (ใช้เข้าตำรับยาแก้ปวดท้อง ขับลมต่าง ๆ) มีกรรมวิธีการปรุงคือนำยาสมุนไพรที่ว่านี้แบบแห้งนำมาบดให้ได้ในขนาดที่ต้องการ จากนั้นจึงนำไปชั่ง ล้าง และหมักในแอลกอฮอล์เพื่อให้ตัวน้ำมันละลายออกมก่อนที่จะนำไปบรรจุขวด

          จะสังเกตุว่า สมุนไพรเหล่านี้ต่างก็มีสรรพคุณบางอย่างที่เหมือนกัน ซึ่งในที่นี้ก็คือสรรพคุณแก้อาการท้องเสีย ปวดท้อง และช่วยขับลม ตรงนี้ก็เพื่อช่วยเสริมฤทธิ์ของสมุนไพรให้ออกฤทธิ์ได้ดียิ่งขึ้นนั่นเอง โดยเฉพาะการแก้อาการท้องเสีย

ยากฤษณากลั่น
ยากฤษณากลั่น ตรากิเลน
เอกสารอ้างอิง
  1. กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก. “หมอแนะพกยาสมุนไพรแก้ท้องเสียติดตัวช่วงหน้าร้อน”. (นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.facebook.com/dtam.moph/. [01 ก.ย. 2021].
  2. ข้อมูลพรรณไม้, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “กานพลู, สมอพิเภก, ฝาง, พระจันทร์ครึ่งซีก”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/herbs/. [01 ก.ย. 2021].
  3. ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “กฤษณา, กานพลู, สมอพิเภก, ฝาง, การบูร, พริกไทย, แห้วหมู”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaicrudedrug.com. [01 ก.ย. 2021].

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด