สมอดีงู
สมอดีงู ชื่อสามัญ Yellow myrobalan[3]
สมอดีงู ชื่อวิทยาศาสตร์ Terminalia citrina Roxb. ex Fleming (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Myrobalanus citrina Gaertn., Terminalia manii King) จัดอยู่ในวงศ์สมอ (COMBRETACEAE)[1],[3]
สมุนไพรสมอดีงู มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า สมอหมึก (พัทลุง), สมอเหลี่ยม (ชุมพร) เป็นต้น[1]
ลักษณะของสมอดีงู
- ต้นสมอดีงู จัดเป็นพรรณไม้ยืนต้นขนาดกลาง แตกกิ่งก้านสาขาที่เรือนยอดของต้นแผ่ออกกว้าง ต้นมีขนาดประมาณ 150-200 เซนติเมตร และสูงได้ประมาณ 20-30 เมตร โคนต้นเป็นพูพอนขนาดเล็ก เปลือกต้นเรียบเป็นสีน้ำตาลแกมเทา ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด จัดเป็นพรรณไม้กลางแจ้ง เจริญเติบโตได้ดีในดินที่มีความชื้น พบขึ้นทั่วไปในประเทศตามชายป่า ส่วนมากจะขึ้นอยู่ตามชายฝั่งทะเลทางภาคใต้ของไทย[1]
- ใบสมอดีงู ใบเป็นใบเดี่ยว ออกตรงข้ามกันเป็นคู่ ๆ ลักษณะของใบเป็นรูปมนรีหรือรูปรีแกมขอบขนาน ปลายใบแหลม โคนใบสอบหรือมน ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-6 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3-14 เซนติเมตร แผ่นใบค่อนข้างหนา ผิวใบเกลี้ยงเป็นสีเขียว ก้านใบยาวได้ประมาณ 0.5-2.5 เซนติเมตร มีต่อม 1-2 คู่ ใกล้โคนใบ[1]
- ดอกสมอดีงู ออกดอกเป็นช่อตามง่ามใบและบริเวณส่วนยอดของลำต้น ช่อดอกยาวได้ประมาณ 2-6 เซนติเมตร ส่วนดอกย่อยไม่มีก้าน ลักษณะของดอกย่อยที่โคนกลีบรองดอกจะเชื่อมติดกันเป็นหลอด ส่วนปลายแยกออกเป็นรูปถ้วยตื้น ๆ กลีบเป็นรูปสามเหลี่ยม มี 5 กลีบ ด้านนอกเกลี้ยง ส่วนด้านในมีขน ไม่มีกลีบดอก ดอกมีเกสร 10 อัน[1]
- ผลสมอดีงู ลักษณะของผลเป็นรูปมนรีหรือเป็นรูปกระสวย ผิวผลเกลี้ยง แต่จะมีสันตื้น ๆ อยู่ 5 สัน หัวท้ายแหลม ผลสดเป็นสีแดงเข้ม มีรสขมฝาด ขนาดเล็กเรียว ส่วนผลแห้งจะเป็นสีดำเข้ม ผลมีขนาดกว้างประมาณ 1-2 เซนติเมตร และยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร ภายในผลมีเมล็ดเป็นรูปรี ผิวเมล็ดขรุขระมีอยู่ 5 สัน เช่นกัน[1],[2]
สรรพคุณของสมอดีงู
- ผลมีรสฝาด มีสรรพคุณเป็นยาแก้โลหิตเป็นพิษ แก้พิษดี พิษเสมหะและโลหิต (ผล)[1],[2]
- ใช้เป็นยาแก้ไข้ (ผล)[1]
- ช่วยแก้อาการไอ แก้เจ็บคอ (ผล)[2]
- ผลมีสรรพคุณเป็นยาแก้ลม (ผล)[1]
- ผลพบสารในกลุ่มแทนนินมาก มีรสฝาดสมาน เป็นยาฝาดสมาน ใช้เป็นยารักษาโรคเกี่ยวกับช่องท้อง รักษาโรคท้องร่วงอย่างแรง ด้วยการใช้ผลดิบประมาณ 5-10 ผล นำมาทุบให้พอแตกต้มกับน้ำสะอาด 500 ซีซี ประมาณ 10 นาที แล้วกรองเอาแต่น้ำดื่มครั้งละ 1 แก้ว (ผล)[1],[2] (บางข้อมูลระบุว่าผลดิบมีสารแทนนินมาก จึงใช้เป็นยารักษาอาการท้องเสียเรื้อรังได้ด้วย)
- ผลใช้เป็นยาถ่ายอุจจาระธาตุ ระบายอุจจาระแรงกว่าสมอไทยและสมออื่น ๆ (ผล)[1],[2]
- นอกจากนี้ยังมีการใช้สมอดีงูร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ อีกในตำรับ โดยเป็นตำรับยารักษากลุ่มอาการทางระบบทางเดินอาหาร คือ “ยาถ่ายดีเกลือฝรั่ง” ซึ่งมีสรรพคุณเป็นยาแก้อาการท้องผูก โดยมักใช้ในกรณีที่ใช้ยาอื่นแล้วไม่ได้ผล (ผล)[2]
- ส่วนตำรับยาสมุนไพรล้านนา ก็มีการใช้สมอดีงูร่วมกับสมุนไพรอื่น ๆ อีก 3 ชนิด อย่างละเท่ากัน โดยใช้เป็นทั้งยากินและยาทารักษาโรคตะคริวที่ไม่มีไข้และไม่รู้สึกหนาว (ผล)[2]
ประโยชน์ของสมอดีงู
- ผลนอกจากจะใช้เป็นยาสมุนไพรแล้ว ยังใช้ฟอกหนังและย้อมสีได้อีกด้วย[1]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “สมอดีงู”. หน้า 752-753.
- ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “สมอดีงู”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.thaicrudedrug.com. [17 ต.ค. 2014].
- MULTILINGUAL MULTISCRIPT PLANT NAME DATABASE. “Terminalia citrina (Gaertn) Roxb. ex Fleming”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.plantnames.unimelb.edu.au. [17 ต.ค. 2014].
ภาพประกอบ : www.saiyathai.com, www.thaicrudedrug.com (by Sudarat Homhual)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)