สนุ่น
สนุ่น ชื่อสามัญ Willow, Indian willow, White willow[2],[4]
สนุ่น ชื่อวิทยาศาสตร์ Salix tetrasperma Roxb. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Pleiarina tetrasperma (Roxb.) N. Chao & G.T. Gong) จัดอยู่ในวงศ์สนุ่น (SALICACEAE)[1],[3]
สมุนไพรสนุ่น มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า สนุ่นน้ำ (นครราชสีมา), ตะหนุ่น (อยุธยา), ไคร้ใหญ่ (ยะลา), คล้าย (ปัตตานี), ไคร้นุ่น สนุ่นบก ตะไคร้บก (ภาคเหนือ), ไก๋นุ่น (ภาคอีสาน), กร่ยฮอ กะดึยเดะ (กะเหรี่ยงเชียงใหม่), ไม้ไคร้ (ไทใหญ่), ตะนุ่น, ไคร้บก, ไคร้นุ่ม เป็นต้น[1],[2],[3],[4]
ลักษณะของต้นสนุ่น
- ต้นสนุ่น จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ผลัดใบระยะสั้นก่อนออกดอก มีความสูงของต้นประมาณ 5-10 เมตร ลำต้นเดี่ยวตั้งตรง เนื้ออ่อน เปลือกต้นหนาเป็นสีน้ำตาลเทาหรือสีเทาเข้ม มีรอยแตกลึกตามยาว กิ่งก้านแตกเป็นพุ่มทรงกลม โปร่ง กิ่งก้านมีลักษณะชูตั้งขึ้น ปลายลู่ลงเล็กน้อย แต่จะไม่ห้อยลงเป็นกิ่งยาว ๆ ยอดอ่อนมีขนสีเงินขึ้นอยู่หนาแน่น สนุ่นมีเขตการกระจายพันธุ์กว้าง พบได้ตั้งแต่อินเดีย ปากีสถาน จีนตอนใต้ เวียดนาม พม่า มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ส่วนในประเทศไทยพบได้ทั่วทุกภาค โดยมักขึ้นตามที่ลุ่มชื้น ที่โล่งริมธารน้ำ แม่น้ำลำคลอง ป่าชายน้ำ ป่าผลัดใบและป่าไม่ผลัดใบ หรือภูเขาที่โล่ง ที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลจนถึง 1,900 เมตร[1],[3]
- ใบสนุ่น ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปรีหรือรูปใบหอก ปลายใบแหลม โคนใบมน เป็นรูปลิ่ม หรือเบี้ยว ส่วนขอบหยักเป็นซี่ฟันเล็ก ๆ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-3 เซนติเมตร และยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร ใบแก่หนาเกลี้ยงหรือมีขนหนาแน่น หลังใบเป็นสีเขียวแก่ ส่วนท้องใบเป็นสีขาวนวล เส้นใบข้างมีประมาณ 12-24 คู่ มีก้านใบสีแดงลักษณะเรียวเล็ก ยาวประมาณ 1-3 เซนติเมตร ส่วนหูใบยาวได้ถึง 4 มิลลิเมตร อาจมองเห็นได้ไม่ชัดเจนหรือไม่มี[1],[2],[3]
- ดอกสนุ่น ออกดอกเป็นช่อเล็ก ๆ โดยจะออกตามซอกใบหรือที่ปลายกิ่งข้างสั้น ๆ ช่อดอกห้อยลงแบบหางกระรอก ทรงกระบอก ปลายช่อมีใบอ่อน ช่อมีขนาดยาวประมาณ 5-15 เซนติเมตร ดอกเป็นสีขาวหรือสีเหลืองอ่อน ดอกเป็นแบบแยกเพศและอยู่คนละต้น ดอกย่อยไม่มีกลีบเลี้ยงและกลีบดอก มีก้านดอกเรียวเล็ก มีกาบรองดอกเป็นรูปไข่ ดอกเพศผู้มีเกสรประมาณ 4-10 อัน ยาวประมาณ 4-6 มิลลิเมตร ส่วนดอกเพศเมียมีต่อมน้ำหวานที่ฐาน 1 ต่อม ก้านเกสรสั้น ปลายแยกเป็น 2 พู รังไข่มีขนขึ้นหนาแน่น และมีก้านชูชัดเจน เกสรแตกกระจายรอบแกนดอก ออกดอกในช่วงประมาณเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมกราคม[1],[3]
- ผลสนุ่น ผลเป็นแห้งและแตกได้ ขนาดประมาณ 0.4 เซนติเมตร ผลเป็นสีน้ำตาลอ่อนหรือสีออกเทา แตกได้เป็น 2 พู ภายในมีเมล็ดขนาดเล็กประมาณ 4-6 เมล็ด ปลายด้านหนึ่งมีแผงขนสีขาวเป็นปุย สามารถปลิวไปตามลมเพื่อกระจายพันธุ์ได้ โดยจะติดผลในช่วงประมาณเดือนธันวาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์[1],[3]
สรรพคุณของสนุ่น
- รากมีรสขมเย็น ใช้ต้มดื่มเป็นยาช่วยทำให้เจริญอาหาร (ราก)[3]
- เปลือกต้นสนุ่นมีรสเมาเย็น มีสรรพคุณเป็นยาบำรุงหัวใจ ช่วยทำให้หัวใจเต้นแรง ชูเส้นชีพจร (เปลือกต้น)[1],[2],[3]
- เปลือกต้นนำมาต้มเอาน้ำอาบและรดศีรษะเด็ก ช่วยดับร้อน แก้เด็กตัวร้อน แก้ไข้ แก้หวัดคัดจมูก (เปลือกต้น)[1],[2],[3]
- ตำรายาไทยจะใช้เปลือกต้นสนุ่นเป็นยาแก้ไข้ แก้ตัวร้อน (เปลือกต้น)[1],[2],[3]
- เปลือกต้นนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยารักษาโรคเบาหวาน (เปลือกต้น)[4]
- ใช้รักษาโรคริดสีดวงจมูก (เปลือกต้น)[1],[3]
- รากใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาดับพิษร้อนทั้งปวง (ราก)[1],[3]
- รากใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ตับพิการ (ราก)[1],[3]
- ใบสนุ่นมีรสจืดเย็นเมา น้ำคั้นจากใบสด นำมาทา พอก หรือพ่น แก้พิษงูสวัด แก้เริม แก้แผลเปื่อย (ใบ)[1],[2],[3]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของสนุ่น
- เปลือกต้นพบสารไกลโคไซด์ salicin มีฤทธิ์ลดไข้ แก้ปวด เช่นเดียวกับแอสไพริน (aspirin)[2],[3]
ประโยชน์ของสนุ่น
- ดอกอ่อนของสนุ่นเรียก Ooyum สามารถนำมารับประทานได้[5]
- รากใช้ต้มกับน้ำดื่ม จะช่วยทำให้รู้รสอาหาร[1],[3]
- ยอดอ่อนใช้ใส่ในแกง จะช่วยแก้เมาพิษจากปลา เช่น ปลามุง ปลาสะแงะ เป็นต้น[4],[5]
- เนื้อไม้เบา สามารถนำมาใช้ทำฟืนได้[5]
- ต้นนิยมนำมาปลูกไว้ริมน้ำเพื่อยึดตลิ่งไม่ให้พังทลายได้ง่าย[4],[5]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ). “สนุ่น”. หน้า 140.
- หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “สนุ่น Willow”. หน้า 182.
- ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “สนุ่น”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.phargarden.com. [21 ต.ค. 2014].
- โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “สนุ่น, ไคร้นุ่น”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th. [21 ต.ค. 2014].
- หนังสือต้นไม้เมืองเหนือ : คู่มือศึกษาพรรณไม้ยืนต้นในป่าภาคเหนือ ประเทศไทย. (ไซมอน การ์ดเนอร์, พินดา สิทธิสุนทร, วิไลวรรณ อนุสารสุนทร). “สนุ่น”.
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Dinesh Valke, Tony Rodd, Prashant Awale), www..phargarden.com (by Sudarat Homhual), www.pharmacy.mahidol.ac.th, indiantreepix.blogspot.com, botany.csdl.tamu.edu
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)