9 สรรพคุณและประโยชน์ของต้นว่านแร้งคอดำ !

ว่านแร้งคอดำ

ว่านแร้งคอดำ ชื่อวิทยาศาสตร์ Crinum latifolium L. จัดอยู่ในวงศ์พลับพลึง (AMARYLLIDACEAE)[1]

สมุนไพรว่านแร้งคอดำ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า หว้านคอแดง หว้านแร้งคอดำ (กรุงเทพฯ), ว่านแร้งคอดำ (ภาคกลาง), ว่านคอแดง (ภาคใต้), ว้านกระทู้, ว่านพระยาแร้ง, ว่านพระยาแร้งคอดำ เป็นต้น[1],[2]

ข้อสังเกต : ว่านชนิดนี้เรียกกันอีกอย่างหนึ่งว่า “พระยาแร้งคอดำ” หรือ “พระยาแร้งคอแดง” ถ้าเป็นว่านตัวผู้จะมีสีแดงที่คอใบและก้านประมาณ 2 นิ้ว ถ้าดึงกาบออกจะเป็นใยบัว (ถ้าไม่มีใยบัวก็แสดงว่าเป็นว่านชนิดอื่น) ส่วนหัวมีลักษณะคล้ายกับหัวหอมผิวแดงเนื้อขาว ใบมีลักษณะแบนยาว แตกจากหัวเป็นกาบ ร่องกลางใบห่อเล็กน้อยไม่มีก้าน ลักษณะเหมือนว่านรางนาก หรือว่านรางทอง แต่ใบจะมีขนาดเล็กและยาวกว่า[3]

ลักษณะของว่านแร้งคอดำ

  • ต้นว่านแร้งคอดำ จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุก มีหัวอยู่ใต้ดิน หัวมีลักษณะกลมคล้ายกับหัวหอมใหญ่ ผิวหัวเป็นสีแดง เนื้อในสีขาว ตามลำต้นที่โผล่พ้นดินขึ้นมามีลายวงเป็นวงสีน้ำตาลแก่ ตั้งแต่กาบโคนต้นจนถึงกาบคอต้น โดยที่กาบคอต้นจะเป็นวงขนาดใหญ่กว่าโคนต้น และจะเป็นสีม่วงอมแดง พรรณไม้ชนิดนี้ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการแยกหน่อ เจริญเติบโตได้ดีในดินทรายที่ระบายน้ำได้ดีและเก็บความชื้นได้ดี ชอบแสงแดดแบบร่มรำไร มักขึ้นตามที่ชุ่มชื้นทั่วไป[1],[2]

ต้นว่านแร้งคอดำ

หัวว่านแร้งคอดำ

  • ใบว่านแร้งคอดำ ใบเป็นใบเดี่ยว ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนานยาวเรียว คล้ายใบของต้นพลับพลึงขนาดเล็ก ใบจะออกซ้อนกันเป็นกาบ เป็นลักษณะใบรีรูปขอบขนาน ปลายใบแหลม โคนใบสอบเรียว ส่วนขอบใบเป็นคลื่นบาง ๆ มีขนาดกว้างประมาณ 7-10 เซนติเมตร และยาวประมาณ 60-90 เซนติเมตร แผ่นใบบาง แนวเส้นกลางใบจะเป็นร่องลึก แตกใบอ่อนตรงส่วนยอดของลำต้นใต้ดิน เมื่อดึงกาบใบออกจะมีใยคล้ายใยบัว[1],[2]

ว่านแร้งคอดํา

  • ดอกว่านแร้งคอดำ ออกดอกเป็นช่อแบบซี่ร่ม ดอกมีลักษณะตูมเป็นรูปหอก มีกาบหุ้มยาวประมาณ 7-10 เซนติเมตร ปลายดอกเป็นกระจุกประมาณ 10-20 ดอก อยู่บนก้านสั้น ๆ ก้านดอกมีลักษณะอวบหนา มีความยาวประมาณ 60-90 เซนติเมตร กลีบดอกมี 6 กลีบ และมีความกว้างกว่าดอกพลับพลึง ก้านดอกสั้น ดอกเป็นสีขาวหรือแต้มด้วยสีแดงตรงกลางหรือทางด้านหลังของกลีบ มีเกสรเพศผู้ 6 อันอยู่ด้วย และมีอับเรณูลักษณะเป็นรูปโค้ง[1],[2]

แร้งคอดำ

ดอกแร้งคอดำ

  • ผลว่านแร้งคอดำ ผลมีลักษณะเป็นรูปค่อนข้างกลม[1]

ผลแร้งคอดำ

สรรพคุณว่านแร้งคอดำ

  1. หัวนำมาดองกับเหล้ากินเป็นยาแก้กษัย (หัว)[2]
  2. น้ำที่ได้จากใบใช้รักษาอาการปวดหูได้ (ใบ)[1] ส่วนอีกข้อมูลหนึ่งระบุว่า ให้นำหัวมาโขลกให้ละเอียด เอาน้ำมาหยอดหูเพื่อรักษาอาการปวดหู (หัว)[2]
  1. หัวว่านแร้งคอดำ นำมาเผาไฟใช้ทารักษาริดสีดวงทวาร หรือจะนำมาดองกับเหล้ากินก็แก้ริดสีดวงทวารได้เช่นกัน (หัว)[1],[2]
  2. หัวนำมาดองกับเหล้ากินเป็นยาชักมดลูก ช่วยแก้อาการมดลูกหย่อน ปีกมดลูกอักเสบ เหมาะสำหรับสตรีที่เพิ่งคลอดบุตรใหม่ ๆ ด้วยการนำหัวว่านแร้งคอดำมา 5 หัว นำมาดองกับเหล้าขาว 1 ขวดใหญ่ (หัว)[1],[2]
  3. หัวนำมาดองกับเหล้ายาแก้ไตพิการ (หัว)[2]
  4. หัวนำมาทุบเผาไฟ ใช้ทาเป็นยารักษาฝี (หัว)[1],[2]
  5. หัวใช้ฝนทารักษาอาการเคล็ดขัดยอก บวม (หัว)[1]
  6. หัวใช้เป็นยารักษาโรคเกี่ยวกับอาการปวดในข้อ ด้วยการนำหัวมาทุบเผาไฟ ใช้ทาแก้โรคปวดข้อ (หัว)[1]

หมายเหตุ : การใช้หัวนำมาดองกับเหล้า ให้นำหัวว่านมา 5 หัว ดองกับเหล้าขาว 1 ขวดใหญ่[2]

ประโยชน์ของว่านแร้งคอดำ

เนื้อในของหัวว่านแร้งคอดำ

  • ในด้านความเป็นมงคล ว่านชนิดนี้เป็นว่านคงกระพันชาตรี โดยใช้หัวพกติดตัวหรือกินหัวว่านก็ได้ การนำว่านแร้งคอดำมาปลูกในกระถาง ควรใช้กระถางใบเขื่องกว่าธรรมดา เพราะว่านนี้ขยายพันธุ์ได้ดีมาก และควรใช้อิฐมอญหักรองก้นกระถางด้วย เมื่อเอาหัวว่านลงกระถางแล้วให้ใช้ดินร่วนปนทรายกลบดินพอให้มิดหัวว่าน แล้วรดด้วยน้ำที่เสกด้วยคาถา “นะโม พุทธายะ” ทุกครั้ง (รดน้ำอย่าให้แฉะถึงขัง รดให้พอเปียกดินชุ่มทุกวันก็พอ) ถ้าหากนำมาใช้ในทางคงกระพันชาตรีก่อนจะกินหัวว่านก็ให้เสกด้วยคาถา “นะมะพะทะ นะโมพุทธายะ” ตามกำลังวัน (ถ้าวันอาทิตย์ก็ 1 จบ หากเป็นวันจันทร์ก็ 2 จบ) (ตามภาพคือเนื้อในของหัวว่านแร้งคอดำ)[2],[3]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  “ว่านแร้งคอดำ”.  หน้า 729-730.
  2. ว่านและสมุนไพรไทย, คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร.  “ว่านแร้งคอดำ”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : natres.skc.rmuti.ac.th/WAN/.  [20 ส.ค. 2014].
  3. ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม, กระทรวงวัฒนธรรม.  “ความเชื่อเกี่ยวกับว่านแร้งคอดำ”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : m-culture.in.th.  [20 ส.ค. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by imbala, Shubhada Nikharge, Dinesh Valke), natres.skc.rmuti.ac.th, pantip.com (by สาแหรกเขียว), www.kasetporpeang.com (by watcharam)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด