43 สรรพคุณและประโยชน์ของว่านสบู่เลือด ! (กระท่อมเลือด)

ว่านสบู่เลือด

ว่านสบู่เลือด ชื่อวิทยาศาสตร์ Stephania venosa Spreng. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Clypea venosa Blume) จัดอยู่ในวงศ์บอระเพ็ด (MENISPERMACEAE)

สมุนไพรว่านสบู่เลือด มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า เป้าเลือด เปล้าเลือด เปล้าเลือดเครือ ชอเกอโท (ภาคเหนือ), กระท่อมเลือด (ภาคอีสาน), กลิ้งกลางดง (ภาคตะวันตกเฉียงใต้), บอระเพ็ดยางแดง (ชายฝั่งทะเลภาคใต้), ฮ่อง (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี), ท่อมเลือด เป้าเลือดโห ยาปู่หย่อง เป็นต้น[1],[2],[5],[8]

ว่านสบู่เลือดเถา แบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่ สบู่เลือดตัวผู้และสบู่เลือดตัวเมีย โดยสบู่เลือดตัวผู้เมื่อนำก้านมาเด็ดดูจะพบว่ามีน้ำยางสีแดงคล้ายเลือดสด นอกจากนี้ว่านสบู่เลือดยังมักมีการเรียกชื่อปนกันกับว่านสมุนไพรชนิดอื่น ๆ เช่น บอระเพ็ดพุงช้าง กลิ้งกลางดง สบู่แดง ฯลฯ เพียงแต่มีชื่อเรียกที่เหมือนกันว่า “สบู่เลือด[7] โดยผู้เขียนขออธิบายดังนี้

  • บอระเพ็ดพุงช้าง หรือ กลิ้งกลางดง คือ สบู่เลือดเถาตัวเมีย ซึ่งผู้เขียนเข้าใจว่ามีชื่อวิทยาศาสตร์เหมือนสบู่เลือดเถาตัวผู้ คือ Stephania venosa (Blume) Spreng. ซึ่งสามารถพิสูจน์ได้ง่าย ด้วยการเด็ดใบเพื่อดูสีของน้ำยาง ถ้ายางไม่เป็นสีแดงจะเรียกว่า “บอระเพ็ดพุงช้าง[7]
  • สบู่แดง ก็มีชื่อเรียกท้องถิ่นทางปัตตานีว่า “สบู่เลือด” เช่นกัน โดยสบู่แดงชนิดนี้จะมีชื่อวิทยาศาสตร์ Jatropha gossypiifolia L. ซึ่งจัดอยู่ในวงศ์ยางพารา (EUPHORBIACEAE)

หัวว่านสบู่เลือด
หัวว่านสบู่เลือด

ลักษณะของว่านสบู่เลือด

  • สบู่เลือดมีอยู่ด้วย 2 ชนิด คือ
    • สบู่เลือดเถาตัวผู้ ใบมีสีเขียวอมแดง ส่วนก้านและเถาอ่อนมีสีม่วงแดง หัวมีลักษณะกลมโต ผิวขรุขระ มียางสีแดงเข้มคล้ายกับเลือด เนื้อในหัวมีสีเหลืองเข้ม เมื่อนำไปตากแห้งจะเปลี่ยนเป็นสีแดง[4]
    • สบู่เลือดเถาตัวเมีย ใบมีสีเขียว ก้านและเถามีสีเขียว ดอกมีสีเขียวอมขาว และยางแดงจาง ๆ คล้ายน้ำเหลือง ลักษณะของหัวจะกลมเล็ก เนื้อในหัวมีสีเหลืองอ่อน ๆ และผิวเรียบ[4] ชนิดนี้จะไม่มีเลือด และผู้เขียนเข้าใจว่ามันคือ “บอระเพ็ดพุงช้าง[7] โดยหัวตัวเมียจะนิยมนำมาทำเป็นยาบำรุงร่างกาย บำรุงเลือด บำรุงกำหนัด ด้วยการนำมาเคี้ยวแบบสด ๆ หรือนำมาต้มกิน หรือดองกินก็ได้[8]

ต้นสบู่เลือดหัวกระท่อมเลือด
  • ต้นว่านสบู่เลือด จัดเป็นไม้เลื้อย กิ่งและก้านมีน้ำยางสีแดงคล้ายเลือด เถาเกลี้ยง มีลำต้นอยู่บนดิน มีอายุราวหนึ่งปี โดยลำต้นงอกมาจากหัวขนาดใหญ่ที่อยู่ใต้ดิน หัวมีลักษณะกลมแป้น โดยทั่วไปแล้วจะมีขนาดเท่าลูกฟุตบอล หากมีอายุหลายปีอาจมีขนาดใหญ่เท่าโอ่งมังกร เปลือกหัวมีสีน้ำตาล เนื้อในมีสีขาวนวล มีรสชาติมันและเฝื่อนเล็กน้อย เป็นไม้ที่เจริญเติบโตได้ดีในช่วงฤดูฝน และมักจะตายหรือทรุดโทรมในช่วงฤดูแล้ง เมื่อถึงหน้าฝนจะแทงต้นขึ้นมาใหม่ พบขึ้นในป่าทั่วไป โดยเฉพาะป่าเบญจพรรณและป่าดิบแล้ง ขยายพันธุ์ด้วยหัวและเมล็ด[1],[2],[3],[4],[5],[7],[8]

ว่านสบู่เลือด

ว่านสบู่เลือดเถา

  • ใบว่านสบู่เลือด มีใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับกัน ลักษณะของใบเป็นรูปแกมสามเหลี่ยมกว้างหรือเป็นรูปไข่แกมหัวใจ โคนใบเป็นรูปตัดหรือเว้าเล็กน้อย ปลายใบแหลมหรือมีติ่งเล็กน้อย ขอบใบเว้าเล็กน้อยทำให้ใบมีลักษณะเป็นรูปค่อนข้างสามเหลี่ยม และขอบใบหรือแผ่นใบเป็นคลื่นเล็กน้อย ใบกว้างประมาณ 7-12 เซนติเมตร และยาวประมาณ 6-11 เซนติเมตร ผิวใบด้านล่างมีขนละเอียดอยู่เล็กน้อย และเป็นมันวาวเล็กน้อย มักเห็นเส้นใบได้ชัดเจน ส่วนก้านใบยาวประมาณ 5-15 เซนติเมตร[1],[2],[3],[5]

สมุนไพรว่านสบู่เลือดใบกระท่อมเลือด
  • ดอกว่านสบู่เลือด ออกดอกเป็นช่อ ดอกเป็นแบบแยกเพศอยู่ต่างต้นกัน ช่อดอกตัวผู้เป็นช่อแบบซี่ร่ม มีความยาวประมาณ 4-16 เซนติเมตร มีช่อย่อยเป็นกระจุก ก้านดอกย่อยยาวประมาณ 1-2 มิลลิเมตร ส่วนกลีบเลี้ยงด้านนอกมี 6 กลีบ ยาวประมาณ 2-2.5 มิลลิเมตร ส่วนกลีบเลี้ยงด้านในเป็นรูปไข่กลับหรือรูปสามเหลี่ยมกลับมีอยู่ 3 กลีบ ยาวประมาณ 1.25 มิลลิเมตร โดยเกสรตัวผู้จะติดรวมกันอยู่ที่ก้าน มีลักษณะเป็นวงแหวน ก้านชูเกสรยาวประมาณ 1-1.75 มิลลิเมตร ส่วนช่อดอกเพศเมียมักจะหนาแน่นกว่า บางช่อค่อนข้างจะติดกัน ก้านดอกสั้นมาก มีกลีบเลี้ยง 1 กลีบเป็นรูปรี ยาวประมาณ 0.75 มิลลิเมตร กลีบดอกคล้ายรูปไต ยาวประมาณ 0.75 มิลลิเมตร มีรังไข่ค่อนข้างเป็นรูปรี มีความยาวประมาณ 1.5 มิลลิเมตร กลีบของดอกมีสีส้ม[1],[2],[5]
  • ผลว่านสบู่เลือด ผลสด ผลเป็นแบบเมล็ดเดียวเปลือกเมล็ดแข็ง ลักษณะของผลเป็นรูปไข่กลับ ยาวประมาณ 7 มิลลิเมตร[1],[2],[5]

เมล็ดว่านสบู่เลือด
เมล็ดว่านสบู่เลือด

สรรพคุณของว่านสบู่เลือด

  1. หัวว่านสบู่เลือด นำมาดองกับเหล้ากินเป็นยาบำรุงกำลัง ช่วยทำให้กระชุ่มกระชวย สุขภาพแข็งแรง (หัว[1],[4],[6], หัว[9])
  2. หัวมีสรรพคุณเป็นยาบำรุงกำหนัด (หัว)[1],[4],[6],[9]
  3. ช่วยบำรุงธาตุไฟในร่างกาย (ใบ)[9]
  4. หัวนำมาตากแห้งแล้วบดเป็นผงปั้นเป็นลูกกลอนไว้กินเป็นยาอายุวัฒนะ (หัว)[1],[6]
  5. รากช่วยบำรุงประสาท บำรุงเส้นประสาท ป้องกันโรคความจำเสื่อม (ราก, ใบ)[1],[6],[9]
  6. ช่วยแก้อาการปวดศีรษะ แก้ไมเกรน (หัว)[6],[7]
  7. หัวใช้ผสมกับยาสมุนไพรอื่น ๆ (ไม่ระบุ) มีฤทธิ์ทำให้ง่วงนอน (หัว)[8]
  8. มีการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาใช้เป็นยาป้องกันโรคอัลไซเมอร์ เนื่องจากกระท่อมเลือดมีสารที่มีคุณสมบัติช่วยยับยั้งเอนไซม์ Acetylcholine esterase ทั้งยังพัฒนาเพื่อใช้เป็นยาต้านมะเร็งอีกด้วย (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[8]
  9. ช่วยทำให้เจริญอาหาร (หัว)[1]
  10. ช่วยลดไขมันในเส้นเลือด (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[9]
  1. ช่วยรักษาอาการผอมแห้ง (หัว)[4] ด้วยการใช้หัวนำมาต้มอาบหรือต้มกินเป็นยาบำรุงของสตรี แก้อาการผอมแห้ง หน้าตาซีดเซียวไม่มีน้ำมีนวล ไม่ค่อยมีเรี่ยวแรงได้ แต่การใช้สมุนไพรชนิดนี้ต้องระมัดระวังสักหน่อยหากนำมาใช้กับสตรี (หัว)[8]
  2. ช่วยรักษาโรคมะเร็งต่าง ๆ (หัว)[6])
  3. ช่วยรักษาโรคหัวใจ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[4]
  4. ช่วยรักษาโรคเบาหวาน (หัว)[6],[8]
  5. ช่วยรักษาโรคโลหิตจาง คนเลือดจางหรือเลือดน้อยให้ใช้หัวนำมาต้มกิน (หัว)[6],[7]
  6. ช่วยแก้เลือดลม ช่วยลดความดันโลหิต (หัว)[8]
  7. ช่วยแก้ปอดพิการ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[4]
  8. ช่วยกระจายลมที่แน่นในอก (เถา, ต้น)[6],[9]
  9. ช่วยรักษาโรคลมชักหรือลมบ้าหมู โดยในตำราพระเทพระบุว่าให้ใช้สมุนไพรสบู่เลือดที่มีสีแดงเรื่อ ๆ (สีขาวไม่ใช้) ประมาณ 3 กิโลกรัมขึ้นไปเพื่อความเข้มข้นของยา นำหัวมาหั่นเป็นแว่น ๆ แล้วนำไปตากแดดให้แห้ง หลังจากนั้นนำมาบดให้ละเอียดผสมกับน้ำผึ้ง ปั้นเป็นยาลูกกลอนขนาดเท่าเม็ดพุทรา ใช้กินก่อนอาหารเช้า เที่ยง และเย็น กินไปประมาณ 4-6 ปีอาการจะหายขาด (หัว)[4]
  10. หัวใช้ต้มน้ำดื่ม ช่วยแก้ไข้ ลดไข้ของเด็กได้ (หัว, ราก)[3],[9]
  11. เปลือกและใบใช้ต้มน้ำดื่ม ช่วยแก้ไข้มาลาเรียได้ (เปลือก, ใบ)[5]
  12. ช่วยแก้หอบหืด ด้วยการใช้หัวนำมาต้มกับน้ำดื่ม (หัว, ราก)[3],[9]
  13. หัวใช้ดองกับเหล้ากินช่วยขับเสมหะ (หัว)[6] ส่วนหนามของว่านสบู่เลือดช่วยแก้เสมหะในคอและทรวงอก (ต้น, หนาม)[9]
  14. ช่วยแก้บิด (หัว, ราก)[9]
  15. ช่วยขับผายลม (หัว)[6],[9]
  16. ช่วยในการย่อยอาหาร (ดอก[6], ผล[9])
  17. ช่วยทำให้อุจจาระละเอียด (ดอก)[9]
  18. เถานำมาต้มกินเป็นยาขับพยาธิในลำไส้ (เถา)[1],[4],[6],[9]
  19. ดอกว่านสบู่เลือดช่วยฆ่าแม่พยาธิอันเกิดจากโรคเรื้อนและกุฏฐัง (ดอก)[9]
  20. หนามของว่านสบู่เลือดช่วยแก้โลหิตอันเน่าในท้องในตกใน (หนาม)[9]
  21. เถาใช้ปรุงเป็นยาขับโลหิตระดูของสตรีได้ (เถา)[4],[6],[9]
  22. ช่วยแก้อาการตกเลือดของสตรี แก้มุตกิดระดูขาวหรือตกขาวได้อย่างชะงัด ด้วยการใช้หัวสบู่เลือดสด ๆ นำมาหั่นเป็นชิ้นบาง ๆ สัก 3-4 แว่นตำละเอียด ผสมรวมกับน้ำซาวข้าวหรือเหล้าขาว 40 ดีกรี แล้วคั้นเอาเฉพาะน้ำมากิน 1 ถ้วยชา ในช่วงเช้า เย็น และก่อนนอน (หัว)[4]
  23. หัวใช้ต้มกิน ช่วยแก้ประจำเดือนมาไม่ปกติของสตรีได้ (หัว)[7]
  24. ใบสามารถนำมาใช้รักษาแผลสดและแผลเรื้อรังได้ (ใบ)[1],[2],[6],[9]
  25. ใบใช้ผสมกับสมุนไพรอื่น ต้มอบไอน้ำ ช่วยรักษาโรคผิวหนัง ผื่นคันตามตัวได้ (ใบ)[5]
  26. ช่วยแก้โรคผิวหนังมีผื่นคัน (ดอก)[6],[9]
  27. ช่วยแก้มะเร็งคุดทะราด แก้กลากเกลื้อนและหิด (ดอก, ใบ, ต้น, ราก)[9]
  28. ช่วยแก้โรคเรื้อนใหญ่ เรื้อนน้อย (ใบ, ต้น, ราก)[9]
  29. ช่วยแก้โรคมือเท้าไม่มีกำลังได้ (ต้น)[9]
  30. เถาและก้านนำมาใช้ดองกับสุรากิน จะช่วยทำให้ผิวหนังชา ผิวอยู่ยงคงกระพันเฆี่ยนตีไม่แตก นักเลงสมัยโบราณนิยมกันมากทั้งนำมากินและนำมาทา (เถา, ก้าน)[4],[8]
  31. น้ำยางสีแดงสามารถนำมาใช้เป็นหมึกเพื่อใช้สักยันต์ตามตัวเพื่อทำให้หนังเหนียวได้ (น้ำยางสีแดง)[8]
  32. ช่วยแก้อาการปวดเมื่อยตามร่างกาย ด้วยการใช้หัวสบู่เลือดฝานบาง ๆ ประมาณ 2 กำมือ นำมาดองกับเหล้าขาว 1 ขวด แล้วเติมน้ำผึ้งพอประมาณ ดองทิ้งไว้ประมาณ 1 คืน ใช้ดื่มครั้งละ 1 แก้วเป๊ก ก่อนอาหาร 3 มื้อและช่วงก่อนนอน (หัว)[4]

ประโยชน์ของว่านสบู่เลือด

  • ใช้แก้สิว แก้ฝ้า (ดอก, ใบ, ต้น, ราก)[9]
เอกสารอ้างอิง
  1. อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.  “กระท่อมเลือด“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.pharmacy.mahidol.ac.th.  [11 พ.ย. 2013].
  2. ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.  “กระท่อมเลือด“.  อ้างอิงใน: หนังสือสยามไภษัชยพฤกษ์. [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.qsbg.org.  [11 พ.ย. 2013].
  3. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์การมหาชน).  “Stephania venosa (Blume.) Spreng“.  อ้างอิงใน: หนังสือพืชอาหารและสมุนไพรท้องถิ่นบนพื้นที่สูง.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th.  [11 พ.ย. 2013].
  4. จำรัส เซ็นนิล.  “สบู่เลือด แก้ลมชัก-ไตพิการ“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.jamrat.net.  [10 พ.ย. 2013].
  5. ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.  “เปล้าเลือด“.  อ้างอิงใน: หนังสือชุดพรรณไม้เมืองไทย พืชสมุนไพร 1.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.qsbg.org.  [11 พ.ย. 2013].
  6. ฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.  “กลิ้งกลางดง“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: clgc.rdi.ku.ac.th.  [11 พ.ย. 2013].
  7. หนังสือสมุนไพรกำจัดโรค.  (คีตะธารา).
  8. กลุ่มรักษ์เขาใหญ่ .  “กระท่อมเลือด…แดงปลั่ง ให้กำลังหญิงชาย”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.rakkhaoyai.com.  [11 พ.ย. 2013].
  9. PP Miracle Herb.  “สมุนไพรว่านสบู่เลือด“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.ppmiracleherb.com.  [11 พ.ย. 2013].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by MOBBS | モブス | Greenish Grocery), เว็บไซต์ thaiforestherb.blogspot.com

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด