ว่านน้ำ สรรพคุณและประโยชน์ของว่านน้ำ 50 ข้อ !

ว่านน้ำ

ว่านน้ำ ชื่อสามัญ Calamus, Calamus Flargoot, Flag Root, Mytle Grass, Myrtle sedge, Sweet Flag, Sweetflag, Sweet Sedge,[1],[2],[5],[7]

ว่านน้ำ ชื่อวิทยาศาสตร์ Acorus calamus L. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Acorus angustifolius Schott, Acorus aromaticus Gilib., Acorus calamus var. verus L., Acorus terrestris Spreng.)[1],[4],[7] ปัจจุบันจัดอยู่ในวงศ์ว่านน้ำ (ACORACEAE)[3],[7]

สมุนไพรว่านน้ำ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ว่านน้ำเล็ก ฮางคาวผา (เชียงใหม่), ตะไคร้น้ำ (เพชรบุรี), กะส้มชื่น คาเจี้ยงจี้ ผมผา ส้มชื่น ฮางคาวบ้าน ฮางคาวน้ำ (ภาคเหนือ), ทิสีปุตอ เหล่อโบ่สะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), แป๊ะอะ (ม้ง),ช่านโฟ้ว (เมี่ยน), สำบู่ (ปะหล่อง), จะเคออ้ม ตะไคร้น้ำ (ขมุ). แปะเชียง (จีนแต้จิ๋ว), สุ่ยชังฝู ไป๋ชัง (จีนกลาง) เป็นต้น[1],[3],[6],[9]

ลักษณะของว่านน้ำ

  • ต้นว่านน้ำ มีถิ่นกำเนิดในทวีปยุโรป จัดเป็นพรรณไม้ขนาดเล็ก มีความสูงของต้นประมาณ 50-80 เซนติเมตร และมีเหง้าเจริญไปตามยาวขนานกับพื้นดิน เหง้าเป็นรูปทรงกระบอกค่อนข้างแบน ลักษณะเป็นข้อ ๆ มองเห็นชัด ผิวนอกเป็นสีน้ำตาลอ่อนหรือสีน้ำตาลอมชมพู มีรากฝอยเป็นเส้นเล็กยาวติดอยู่ทั่วไป พันรุงรังไปตามข้อปล้องของเหง้า เนื้อภายในเป็นสีเนื้อแก่ มีกลิ่นหอม รสเผ็ดร้อนฉุนและขม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5-10 มิลลิเมตร ขยายพันธุ์โดยวิธีการแยกหน่อ มักพบขึ้นเองตามบริเวณริมหนองน้ำ สระ บ่อ คูคลอง ในที่ที่มีน้ำท่วมขัง หรือที่ชื้นแฉะหรือแหล่งน้ำตื้น[1],[2],[3],[4],[7]

ว่านน้ํา

รากว่านน้ำ

  • ใบว่านน้ำ ใบเป็นใบเดี่ยว เรียงสลับกันซ้ายขวาแบบทแยงกัน ใบแตกออกมาจากเหง้าเป็นเส้นตรงและยาว ลักษณะของใบเป็นรูปเรียวแหลม ปลายใบแหลม ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1-2 เซนติเมตร และยาวประมาณ 80-110 เซนติเมตร แผ่นใบเรียบ มองเห็นเส้นกลางใบได้ชัดเจน[1],[2],[3]

ต้นว่านน้ำ

ใบว่านน้ำ

  • ดอกว่านน้ำ ออกดอกเป็นช่อ แทงออกมาจากเหง้า ลักษณะของดอกเป็นแท่งทรงกระบอก เป็นสีเหลืองออกเขียว ดอกมีขนาดประมาณ 0.7-1.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร ซึ่งประกอบไปด้วยดอกย่อยเรียงตัวติดกันแน่น ส่วนกลีบเลี้ยงดอกมี 6 กลีบ ลักษณะเป็นรูปกลม ปลายกลีบโค้งงอ มีกายใบห่อหุ้ม 1 ใบ ก้านช่อดอกยาวประมาณ 50 เซนติเมตร และมีกาบใบหุ้ม ดอกเพศผู้และดอกเพศเมียอยู่ในช่อเดียวกัน เกสรเพศผู้มีประมาณ 6 อัน ก้านเกสรเพศเป็นสีขาว เป็นเส้นแบนยาว และมีอับเรณูเป็นสีเหลือง ส่วนก้านเกสรเพศเมียมี 1 อัน มีรังไข่ลักษณะกลมยาวหรือเป็นรูปกรวย[1],[2],[3]

ดอกว่านน้ำ

  • ผลว่านน้ำ ผลเป็นผลสดขนาดเล็ก ผลมี 2-3 เซลล์ ลักษณะคล้ายลูกข่างหรือปริซึม ปลายบนคล้ายพีรามิด ผลเมื่อสุกจะเป็นสีแดง ภายในมีเมล็ดจำนวนน้อย ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปรี[1],[2],[3],[7]

สรรพคุณของว่านน้ำ

  1. เหง้าว่านน้ำมีสรรพคุณเป็นยาบำรุงธาตุ ยาหอม แก้ธาตุพิการ บำรุงธาตุน้ำ โดยใช้เหง้าแห้งประมาณ 1-3 กรัม นำมาชงกับน้ำร้อนดื่มก่อนอาหารเย็น ติดต่อกันจนกว่าธาตุจะปกติ (ราก,เหง้า)[4],[5],[6]
  2. ใช้เป็นยาขมช่วยทำให้เจริญอาหาร โดยใช้เหง้าแห้งประมาณ 1-3 กรัม (ราก,เหง้า)[4],[5],[6]
  3. ช่วยบำรุงหัวใจ (ราก)[4],[5]
  4. ช่วยบำรุงกำลัง บำรุงประสาท หลอดลม (เหง้า)[4],[5]
  5. เหง้าใช้เป็นยาระงับประสาท สงบประสาท แก้อาการสะลึมสะลือ มึนงง รักษาอาการลืมง่าย ตกใจง่าย หรือมีอาการตื่นเต้นตกใจกลัวจนสั่น จิตใจปั่นป่วน ให้ใช้เหง้าว่านน้ำแห้ง 10 กรัม, เอี่ยงจี่ 10 กรัม, หกเหล้ง 10 กรัม, เหล่งกุก 10 กรัม, และกระดองส่วนท้องของเต่า 15 กรัม ใช้แบ่งกินครั้งละประมาณ 3-5 กรัม วันละ 3 เวลา (เหง้า)[1],[3]
  6. รากใช้เป็นยาแก้ Hysteria (โรคประสาทแบบฮีสทีเรีย) และ Neuralgia (อาการปวดตามเส้นประสาท) (ราก)[6]
  7. ใบสดนำมาตำให้ละเอียด แล้วผสมกับน้ำใช้สุมหัวเด็ก จะช่วยรักษาอาการปวดศีรษะได้ (ใบ)[1],[5] ส่วนรากก็มีสรรพคุณแก้ปวดศีรษะได้เช่นกัน (ราก)[6]
  8. ช่วยแก้อาการวิงเวียนศีรษะ (ราก,เหง้า)[3],[4]
  9. เหง้ามีรสขมเผ็ด ใช้แก้โรคลม (เหง้า)[4]
  10. ใช้รักษาอาการกระจกตาอักเสบ โดยใช้เหง้าแห้งนำมาใส่น้ำ ต้มให้เดือดโดยใช้ไฟอ่อน ๆ เสร็จแล้วเอากากออก เทมาปรับความเป็นกรดและด่าง ให้เป็นกลาง แล้วกรองให้ใส หรือจะใช้เหง้าที่แห้งใส่น้ำแล้วต้ม เทมาปรับความเป็นกรดและด่างให้เป็นกลางด้วยเอทิลแอลกอฮอล์ แล้วกรองให้ใส นำมาบรรจุใส่ภาชนะ แล้วนำไปนึ่งฆ่าเชื้อที่มีความดันสูง น้ำมาใช้เป็นยาหยอดตา หรือใช้ล้างตาวันละครั้ง (เหง้า)[1]
  1. ใช้แก้อาการปวดฟัน ด้วยการใช้เหง้าแห้งนำไปบดให้เป็นผง แล้วนำมาใช้ทา (ราก,เหง้า)[1],[4]
  2. ช่วยรักษาโรคเลือดออกตามไรฟัน ด้วยการใช้เหง้าแห้งนำไปบดให้เป็นผง แล้วนำมาใช้ทา (เหง้า)[1]
  3. เหง้านำมาต้มรวมกับขิงและไพลใช้กินเป็นยาแก้ไข้ (เหง้า)[4]
  4. ใช้เป็นยาแก้ไข้มาลาเรียหรือไข้จับสั่น (ราก,เหง้า)[4],[5]
  5. ชาวอินเดียจะฉีดรากเป็นชิ้นเล็ก ๆ นำมาเคี้ยวประมาณ 2-3 นาที เป็นยาแก้หวัดและเจ็บคอ (ราก)[4],[5],[6] ส่วนชาวกะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอน จะใช้ช่อดอกและยอดอ่อน นำมารับประทานสดเพื่อรักษาอาการหวัด (ยอดอ่อน,ดอก)[9]
  6. ใช้รักษาอาการไอ ด้วยการใช้ชิ้นเล็ก ๆ ของว่านน้ำแห้ง นำมาอมเป็นยาแก้ไอ อีกทั้งยังมีกลิ่นหอมระเหยเวลาหายใจอีกด้วย (ราก,เหง้า)[1],[3],[4],[6]
  7. รากมีสรรพคุณช่วยแก้หืด (ราก)[4],[5]
  8. เหง้ามีรสขมเผ็ด มีกลิ่นหอม เป็นยาร้อนเล็กน้อย ออกฤทธิ์ต่อหัวใจ ปอด และม้าม ใช้เป็นช่วยขับเสมหะ ละลายเสมหะ แก้เสมหะอุดตันในทางเดินหายใจ (ราก,เหง้า)[1],[2],[3],[4]
  9. ผงจากรากหรือเหง้าถ้ากินมากกว่าครั้งละ 2 กรัม จะทำให้อาเจียน อาจนำมาใช้ประโยชน์ในกรณีที่ผู้ป่วยกินสารพิษเข้าไป และต้องการจับสารพิษออกจากทางเดินอาหารด้วยการทำให้อาเจียน (เหง้า)[1],[2]
  10. ช่วยแก้หลอดลมอักเสบ หรือหวัดลงคอ (ราก,เหง้า)[3],[4],[5],[6]
  11. รากใช้ฝนกับเหล้าทาหน้าอกเด็กเพื่อเป็นยาดูดพิษ แก้หลอดลม และปอดอักเสบ (ราก)[4]
  12. ช่วยแก้ลมจุกแน่นในทรวงอก และแก้ลมที่อยู่ในท้องแต่อยู่นอกกระเพาะและลำไส้ (เหง้า)[4]
  13. ใช้เป็นยาขับลมในท้อง แก้ลมขึ้น แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ จุกเสียด อาหารไม่ย่อย ด้วยการใช้เหง้าประมาณ 3-10 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน หรือใช้เข้ากับตำรายาอื่น ด้วยการใช้เหง้าว่านน้ำแห้ง 10 กรัม, หัวแห้วหมู 15 กรัม, เมล็ดแก่ของหัวผักกาดขาว 10 กรัม และซิ่งเข็ก 10กรัม นำมาผสมกันแล้วนำไปต้มเป็นยากิน (ราก,เหง้า)[1],[2],[3],[4],[5] ส่วนชาวปะหล่องจะรากและเหง้า จิ้มกับเกลือใช้รับปะทานสดเพื่อรักษาอาการปวดท้อง หรือนำมาซอยบาง ๆ ตากแดดให้แห้ง บดเป็นผงใช้ร่วมกับปูเลย นำมากินแล้วดื่มน้ำตาม จะช่วยแก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อได้ (ราก,เหง้า)[9]
  14. รากมีสรรพคุณเป็นยาระบาย (ราก)[4],[5]
  15. ช่วยแก้โรคกระเพาะอาหาร (เหง้า)[4]
  16. ตำรายาไทยใช้เหง้าเป็นยาแก้ปวดท้อง ส่วนรากใช้รับประทานแต่น้อยเป็นยาแก้ปวดท้อง (ราก,เหง้า)[2],[3],[4],[6] แก้ลงท้อง (ท้องเดิน ท้องเสีย) (ราก)[4] ส่วนตำรับยาแก้โรคลงท้องปวดท้องของเด็ก ให้ใช้รากนำมาเผาให้เป็นถ่าน ทำเป็นผงรับประทานมื้อละ 0.5-1.5 กรัม (ราก)[6]
  17. ช่วยรักษาโรคบิด บิดในเด็ก (คือมูกเลือด) แก้ท้องเสีย ด้วยการใช้เหง้าแห้ง นำมาบดให้เป็นผง ใช้กินกับน้ำต้มสุก (ที่ทิ้งไว้จนเย็นแล้ว) วันละ 2 เวลา (ราก,เหง้า)[1],[3],[4],[6]
  18. ชาวม้งจะใช้ทั้งต้นนำมาต้มกับน้ำดื่มผสมกับหญ้าปันยอด และหญ้างวงช้าง เป็นยาแก้ปวดท้องที่เกิดจากอาหารเป็นพิษ ส่วนชาวปะหล่องจะนำรากและเหง้ามาซอยบาง ๆ ตากแดดให้แห้ง บดเป็นผงใช้ร่วมกับปูเลย นำมากินแล้วดื่มน้ำตาม ก็เป็นยาแก้ปวดท้องจากอาหารเป็นพิษได้เช่นกัน (ราก,เหง้า,ทั้งต้น)[9]
  19. ช่วยรักษาอาการลำไส้อักเสบ และโรคบิดแบคทีเรีย ด้วยการใช้รากสด นำมาหั่นให้เป็นแผ่น แล้วนำไปตากแห้ง บดให้เป็นผงและบรรจุแคปซูลประมาณ 0.3 กรัม ใช้กินกับน้ำอุ่น แต่ถ้าใช้ต้มกินจะมีอาการอึดอัดไม่สบายใจ มีอาการคลื่นไส้อาเจียน ระคายเคืองในกระเพาะอาหาร (ราก)[1],[3]
  20. ใช้เป็นยาขับพยาธิ ด้วยการใช้เหง้าแห้งประมาณ 3-6 กรัม นำมาต้มกับน้ำดื่ม หรือนำมาบดให้เป็นผงบรรจุในแคปซูลกิน (เหง้า)[1],[4]
  21. ช่วยขับปัสสาวะ (เหง้า)[4]
  22. ช่วยขับระดูของสตรี (เหง้า)[4]
  23. รากนำมาเผาให้เป็นถ่านใช้รับประทานเป็นยาถอนพิษสลอด โดยให้รับประทานมื้อละ 0.5-1.5 กรัม (ราก)[4],[6]
  24. ใช้รักษาแผลมีหนอง (เหง้า)[1]
  25. เหง้าใช้ภายนอกเป็นยาแก้โรคผิวหนัง กลากเกลื้อน ฝีหนอง (เหง้า)[3] เหง้าใช้ผสมกับชุมเห็ดเทศ ใช้ทาแก้โรคผิวหนัง (เหง้า)[4] ส่วนรากก็มีสรรพคุณแก้โรคผิวหนังได้เช่นกัน (ราก)[6]
  26. ใช้รักษาอาการอักเสบเรื้อรังอย่างได้ผล โดยใช้ผงจากรากประมาณ 0.3 กรัม นำมาบรรจุใส่ในแคปซูล ใช้กินครั้งละ 2 เม็ด วันละ 2-3 เวลา หรือจะใช้ฉีดเข้ากล้าม จะเห็นผลดีกว่าแบบกิน และในระยะยาวถ้าใช้ยากินร่วมกับยาอื่น ๆ อีก จะได้ผลที่ดีกว่า แต่เมื่อกินยาเข้าไปแล้วจะมีอาการข้างเคียง คือ รู้สึกอึดอัด ไม่สบายใจ คลื่นไส้อาเจียน มีอาการระคายเคืองในกระเพาะอาหารและลำไส้ ท้องไส้ปั่นป่วน แต่เมื่อหยุดใช้ยา อาการเหล่านี้ก็จะหายไป (ราก)[1]
  27. สำหรับเด็กที่เป็นผื่นคันตามซอกก้นและซอกขา ให้ใช้เหง้าแห้ง นำมาต้มเอาแต่น้ำอุ่น ๆ ใช้ชะล้างบริเวณที่เป็นผื่น (เหง้า)[1]
  28. ใช้เป็นยาพอกแก้อาการปวดตามข้อและตามกล้ามเนื้อ แก้ข้อกระดูกหักแพลง (ราก,เหง้า)[1],[4],[5] ส่วนใบก็ใช้เป็นยาพอกแก้ปวดกล้ามเนื้อและข้อได้เช่นกัน (ใบ)[5]
  29. ชาวขมุจะใช้ทั้งต้นนำต้มดื่มแก้อาการปวดเมื่อย (ทั้งต้น)[9]
  30. รากใช้เป็นยาแก้เส้นกระตุก (ราก)[4],[6] แก้ชัก (น้ำมันหอมระเหยจากต้น)[6]
  31. ชาวเมี่ยนจะใช้ใบนำมาต้มกับน้ำให้สตรีหลังคลอดที่อยู่ไฟอาบ (ใบ)[9]
  32. ตำรายาไทยแผนโบราณ ว่านน้ำจัดอยู่ใน “พิกัดจตุกาลธาตุ” ซึ่งเป็นตำรับยาที่ประกอบไปด้วยเหง้าว่านน้ำ รากแคแตร รากนมสวรรค์ และรากเจตมูลเพลิงแดง มีสรรพคุณเป็นยาบำรุงธาตุ แก้ธาตุพิการ แก้ไข้ แก้เสมหะ แก้ลม แก้โลหิตในท้อง แก้อาการจุกเสียด (เหง้า)[4]
  33. ในตำรับ “ยาประสะกานพลู” จะมีส่วนประกอบของเหง้าว่านน้ำอยู่ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ ในตำรับ มีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการปวดท้อง แก้อาการจุกเสียดแน่นเฟ้อจากอาหารไม่ย่อย เนื่องจากธาตุไม่ปกติ (เหง้า)[4]
  34. ว่านน้ำยังประกฎอยู่ในตำรับ “ยาประสะไพล” (ยารักษากลุ่มอาการทางสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา) ซึ่งมีเหง้าว่านน้ำเป็นส่วนประกอบร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ อีกในตำรับ มีสรรพคุณช่วยแก้ระดูที่มาไม่สม่ำเสมอ หรือมาน้อยกว่าปกติ และช่วยขับน้ำคาวปลาในสตรีหลังการคลอดบุตร (เหง้า)[4]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของว่านน้ำ

  • ในเหง้าว่านน้ำพบน้ำมันระเหยประมาณ 3.58-7.8% และในน้ำมันระเหยพบสาร เช่น Asarone, Asaryl aldehyde, Acorone, Acoroxide, Acorin, Azulene, Calamene, Calamendiol, Calamenone, Calamone, Calamol, Calameone, Camphor, Cis-methylisoeugenol, Cineole, Eugenol, Linalool, Methyl eugenol, Pinene, และยังพบสาร Calacone, Acorenone, Shyobunone, Tannin, แคลเซียม, โพแทสเซียม, และวิตามินซี เป็นต้น[3],[4] และยังมีสารในกลุ่ม Sesquiterpene ที่ประกอบไปด้วย Acoragermacrone, Acolamone, Isoacolamone[4]
  • เหง้าและรากมีน้ำมันหอมระเหยซึ่งมีกลิ่นเฉพาะ และมีสาร β-asarone ที่มีฤทธิ์ลดความดันโลหิต แต่มีรายงานว่าเป็นพิษต่อตับและทำให้เกิดมะเร็ง จึงมีควรศึกษาความเป็นพิษเพิ่มเติมต่อไป[2]
  • เหง้ามีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ทำลายสารสื่อประสาท (Acetylcholinesterase)[7]
  • ฤทธิ์สงบประสาท บรรเทาอาการปวด อาการชัก น้ำมันระเหยจากเหง้าว่านน้ำและน้ำสกัด มีฤทธิ์ลดการเคลื่อนไหวของหนูเล็กสีขาวทดลอง นอกจากนี้น้ำมันระเหยจากเหง้าว่านน้ำยังเสริมฤทธิ์ของรีเซอปีน ในการลดพิษของแอมเฟตตามีน (Amphetamine) ในหนูเล็กทดลองได้ และยังมีฤทธิ์บรรเทาอาการปวดและป้องกันอาการชักของหนูใหญ่ทดลอง ส่วนสารสกัดด้วยแอลกอฮอล์จากเหง้าก็มีฤทธิ์คล้ายกัน สามารถเพิ่มฤทธิ์ของยาชาเฉพาะได้ และสามารถช่วยลดพิษของแอมเฟตตามีน (Amphetamine) ในกลุ่มหนูเล็กทดลองได้[1]
  • ฤทธิ์ต่อระบบการหมุนเวียนของเลือด น้ำมันระเหยและสารสกัดด้วยแอลกอฮอล์ และด้วยน้ำจากเหง้า มีฤทธิ์ลดความดันเลือดของสัตว์ทดลองที่ทำให้สลบได้ อซาโรนและเบต้าอซาโรน มีฤทธิ์ลดความดันเลือดได้ในระดับปานกลาง นอจากนี้น้ำที่สกัดจากเหง้าว่านน้ำ อซาโรนและเบต้าอซาโรน จะลดการเต้นของหัวใจ น้ำมันระเหยสามารถลดอัตราการเต้นของหัวใจกบ และสุนัข และยังต้านฤทธิ์ของอะซีติลโคลีนและอะโคนิตีน ที่ทำให้เกิด Auricular fibrillation และการเต้นที่ไม่เป็นจังหวะของหัวใจ ที่เกิดจากการผูกเส้นเลือดเลี้ยงหัวใจของสุนัข และยังมีผลต่อหัวใจของแมว โดยจะมีคลื่นไฟฟ้าคล้ายกับที่เกิดเนื่องจากควินิดิน[1],[2]
  • ฤทธิ์แก้อาการไอและขับเสมหะ น้ำมันระเหยจากเหง้ามีฤทธิ์ระงับอาการไอที่เกิดจากการกระตุ้นด้วยซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในหนูใหญ่ทดลองอย่างได้ผล แสดงว่าน้ำมันระเหยนี้มีฤทธิ์ขับเสมหะด้วย[1] น้ำมันระเหยจากเหง้ามีฤทธิ์แก้ไอ ขับเสมหะ ยับยั้งอาการหอบหืดในสัตว์ทดลองได้[3]
  • ฤทธิ์ต่อระบบย่อยอาหาร น้ำคั้นจากเหง้าสด มีฤทธิ์เพิ่มการหลั่งของกรดในกระเพาะอาหารมากขึ้น และยังทำให้การย่อยอาหารดีขึ้น ทำให้รู้สึกอยากอาหาร ใช้เป็นยาเจริญอาหารได้ นอกจากนี้น้ำมันระเหยในขนาดน้อย ๆ ยังมีฤทธิ์ช่วยขับลมได้อีกด้วย[1],[3]
  • น้ำที่ต้มได้จากว่านน้ำมีฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อเรียบในกระเพาะและลำไส้ได้ จึงใช้เป็นยาแก้ปวดท้องได้ดี[3]
  • ฤทธิ์การรักษาอาการชัก น้ำมันระเหยและอซาโรนมีฤทธิ์ต่อลำไส้ที่แยกออกมาจากตัว มดลูก หลอดลม และหลอดเลือดของกระต่าย และยังมีผลในการยับยั้งการหดตัวที่เกิดจากฮีสตามีนและอะซีติลโคลีนได้ โดยจะมีฤทธิ์คล้ายกับปาปาเวอรีน ซึ่งจะมีผลทำให้กล้ามเนื้อคลายตัว แต่ฤทธิ์ดังกล่าวจะอ่อนกว่าปาปาเวอรีน[1]
  • เมื่อปี ค.ศ.2007 ที่ประเทศอินเดีย ได้ทำการทดลองหาสาร F-3 Fraction ในเหง้าว่านนน้ำ โดยทำการทดลองกับหนูที่ถูกกระตุ้นให้มีไขมันในเลือดสูง โดยให้สารสกัดจากว่านน้ำในขนาด 10, 20, 40 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม โดยการตรวจหา Aproprotein A1, B โดยใช้ Immunoturbidimetric ในการสังเคราะห์ ซึ่งสาร F-3 Fraction เป็นสารที่มีบทบาทต่อการสร้าง HMG-CoA reductase ซึ่งมีผลทำให้ระดับคอเลสเตอรอลสูง ผลจากการทดลองพบว่า ขนาดของสารสกัดจากว่านน้ำ ที่ 20 และ 40 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม มีผลทำให้ระดับไขมันในเอดลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ P[5]
  • สารสกัด β-asarone สามารถยับยั้งการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ 3T3-L1 preadipocyte ไปเป็นเซลล์ไขมันได้ และโปรตีนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ ได้แก่ C/EBPβ C/EBPα และ PPARs ก็มีการแสดงออกลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และสารสกัด β-asarone ในน้ำมันจากต้นว่านน้ำมีฤทธิ์ยับยั้งการสะสมเซลล์ไขมัน ซึ่งอาจนำไปประยุกต์ใช้ประโยชน์ในด้านการลดความอ้วนได้ต่อไป[8]
  • น้ำมันระเหยและสารสกัดด้วยน้ำ และแอลกอฮอล์ที่ได้จากเหง้าว่านน้ำ และอซาโรน มีฤทธิ์ลดอุณหภูมิของสัตว์ดลอง นอกจากนี้น้ำมันระเหยยังสามารถยับยั้งสาร monoamine oxidase ได้ด้วย และยังไปเสริมฤทธิ์ยับยั้งการเจริญของเชื้อโรคได้อีกหลายชนิด รวมไปถึงยับยั้งการเจริญของเชื้อวัณโรคได้ ส่วนสารที่สกัดด้วยแอลกอฮอล์จากเหง้าว่านน้ำจะสามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อราได้ และยังพบว่าสามารถใช้เป็นยาขับพยาธิและฆ่าพยาธิได้ด้วย[1]
  • สารสกัดที่ได้จากว่านน้ำมีฤทธิ์ต่อต้านเชื้อ Staphelo coccus, Strepto coccus และเชื้อในระบบทางเดินหายใจของปอด[3]
  • ส่วนฤทธิ์อื่น ๆ ที่พบ ได้แก่ ฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลาง กดหัวใจ ขยายหลอดลม แก้แพ้ ลดความดันโลหิต ลดระดับคอเลสเตอรอล ละลายไฟบริน ลดระดับน้ำตาลในเลือด ทำให้กล้ามเนื้อมดลูกคลายตัว ต้านเชื้อบิดมีตัว เชื้อรา ฆ่าแมลง ฆ่าพยาธิตัวกลม แก้ปวด ลดการอักเสบ ลดไข้ ลดอุณหภูมิในร่างกาย รักษาแผล เป็นพิษต่อตับ ก่อมะเร็ง เป็นพิษทั่วไป เป็นพิษต่อเลือด ยับยั้งการเกาะกลุ่มกันของเกล็ดเลือด[4],[5]
  • จากการทดสอบความเป็นพิษเฉียบพลันของสารสกัดจากรากว่านน้ำด้วยเอทานอล 50% โดยให้หนูทดลองกินในขนาด 10 กรัม ต่อ น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม (คิดเป็น 1,111 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับขนาดที่ใช้รักษาในคน) และให้โดยวิธีการฉีดเข้าใต้ผิวหนังในขนาด 10 กรัม ต่อ น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ตรวจไม่พบอาการเป็นพิษ[4] แต่ถ้าให้น้ำมันหอมระเหยทาภายนอก ในขนาดที่ทำให้หนูตายเป็นจำนวนครึ่งคือ มากกว่า 5 กรัมต่อกิโลกรัม ถ้าให้โดยการฉีดเข้าทางช่องท้อง 211 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ส่วนก้านป้อนทางปากคือ 777 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม[5]

ข้อควรระวังในการใช้สมุนไพรว่านน้ำ

  • สำหรับผู้ที่มีอาการเหงื่อออกบ่อย ๆ หรือเหงื่อออกง่ายไม่ควรใช้สมุนไพรชนิดนี้[1]
  • การรับประทานเหง้าว่านน้ำเกินขนาดจะทำให้อาเจียนได้ และมีรายงานว่าเหง้าว่านน้ำมีสาร β-asarone ซึ่งมีความเป็นพิษต่อตับและเป็นสารก่อมะเร็ง[4]

เหง้าว่านน้ำ

ประโยชน์ของว่านน้ำ

  1. ชาวเมี่ยนจะใช้ผลอ่อนนำมารับประทานร่วมกับลาบ[9]
  2. ช่อดอกอ่อน ๆ จะมีรสหวาน เด็กชอบกิน ส่วนรากอ่อนเด็กในประเทศเนเธอร์แลนด์จะชอบนำมาเคี้ยวเล่นเป็นหมากฝรั่ง[1]
  3. ชาวปะหล่องจะใช้รากนำมาเป่าคาถา แล้วนำไปถูกตัวผู้ที่โดนผีเข้า เพื่อไล่ผี และใช้เป็นยาประจำบ้านที่นิยมใช้กันทั่วไป[9]
  4. เหง้าว่านน้ำสามารถนำมาใช้ไล่ยุงและแมลง ช่วยป้องกันแมลงมากัดกินข้าว และเสื้อผ้าได้ และยังนำมาบดให้เป็นผงใช้โรยรอบ ๆ ต้นไม้ที่ปลูก เพื่อเป็นยาฆ่าปลวกที่ผิวดินและป้องกันต้นไม้ สำหรับสูตรไล่ยุง ให้ใช้เหง้าสดนำมาหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ โขลกผสมกับน้ำในอัตราส่วน 1 : 1 แล้วกรองเอาแต่ส่วนที่เป็นน้ำมาใช้ทาผิวหนัง[1] ส่วนรากใช้เป็นยาเบื่อแมลงต่าง ๆ เช่น แมลงวัน[6]
  5. เหง้าสดเมื่อนำมาสกัดน้ำมันหอมระเหยโดยการต้มกลั่นจะได้น้ำมันหอมระเหยร้อยละ 0.17% สามารถนำมาใช้แต่งกลิ่นเครื่องสำอางประเภทสบู่ ผงซักฟอก น้ำหอม ครีม และโลชั่นต่าง ๆ ได้[7]
  6. มีบ้างที่นำว่านน้ำปลูกไว้เป็นไม้ประดับ[1]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  “ว่านน้ำ”.  หน้า 715-718.
  2. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ.  (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “ว่านน้ํา”.  หน้า 35.
  3. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย.  (วิทยา บุญวรพัฒน์).  “ว่านน้ำ”.  หน้า 510.
  4. ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “ว่านน้ำ”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.thaicrudedrug.com.  [03 มิ.ย. 2014].
  5. หนังสือสมุนไพรลดไขมันในเลือด 140 ชนิด.  (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก).  “ว่านน้ํา”  หน้า 168-169.
  6. สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “ว่านน้ำ”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/herbs/. [03 มิ.ย. 2014].
  7. ฐานข้อมูลน้ำมันหอมระเหยไทย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.).  “ว่านน้ํา”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.tistr.or.th/essentialoils/.  [03 มิ.ย. 2014].
  8. หน่วยบริการฐานข้อมูลสมุนไพร สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.  “ฤทธิ์ยับยั้งการสะสมเซลล์ไขมันของสารประกอบในน้ำมันจากต้นว่านน้ำ (Acorus calamus)”.  เข้าถึงได้จาก: www.medplant.mahidol.ac.th.  [03 มิ.ย. 2014].
  9. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “คาเจี้ยงจี้, ว่านน้ำ , ว่านน้ำเล็ก”. อ้างอิงใน: หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิติ
    นันทน์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [03 มิ.ย. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by tola, Robert Klips, Eve, Robert Svensson, ERIK THE CAT, Roy Ellis)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด