ว่านกีบแรด สรรพคุณและประโยชน์ของว่านกีบแรด 26 ข้อ !

ว่านกีบแรด

ว่านกีบแรด ชื่อสามัญ Giant fern, Mule’s-foot fern[8]

ว่านกีบแรด ชื่อวิทยาศาสตร์ Angiopteris evecta (G. Forst.) Hoffm. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Polypodium evectum G. Forst.) จัดอยู่ในวงศ์ MARATTIACEAE[1]

สมุนไพรว่านกีบแรด มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า กีบแรด (แพร่), ปากูปีเละ ปียา (ปัตตานี), กีบม้าลม (ภาคเหนือ), ว่านกีบม้า (ภาคกลาง), ปากูดาฆิง (ภาคใต้), ดูกู (มลายู-ภาคใต้), โด่คเว่โข่ (กะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอน), เฟิร์นกีบแรด, กูดกีบม้า, ผักกูดยักษ์ เป็นต้น[1],[4],[6],[7]

ลักษณะของว่านกีบแรด

  • ต้นว่านกีบแรด จัดเป็นพรรณไม้จำพวกเฟิร์น มีความสูงได้ประมาณ 60-180 เซนติเมตร โคนต้นพอง อยู่ติดกับพื้นผิวดิน มีหัวลักษณะเป็นกีบอยู่ใต้ดิน[1] ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการแยกหน่อ พรรณไม้ชนิดนี้ปลูกเลี้ยงยาก มีเขตการกระจายพันธุ์กว้าง ตั้งแต่ไต้หวัน ภูมิภาคมาเลเซีย โพลีนีเซีย จนถึงออสเตรเลีย ในประเทศไทยพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศ มักพบขึ้นเองตามสภาพของเขา ตามป่าชื้น ป่าดิบเขาที่มีร่มเงาและมีความชื้นสูง ใกล้แหล่งน้ำ ตามที่รกร้างทั่วไป หรือภายในสวนพฤกษศาสตร์ โดยเฉพาะตามห้วยต่าง ๆ[5],[8]

ต้นว่านกีบแรด

เฟิร์นกีบแรด

  • หัวว่านกีบแรด หัวมีลักษณะคล้ายกับกีบเท้าของแรดหรือกระบือ หัวเป็นสีน้ำตาลแก่ เมื่อนำมาหักดูภายในจะเป็นสีเหลืองคล้ายขมิ้น และมีรสเย็นฝาด[3]

ว่านกีบแรด

  • ใบว่านกีบแรด ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก 2 ชั้น ใบรวมทั้งหมดยาวประมาณ 1.8-4.5 เมตร และกว้างได้ถึง 2 เมตร ใบย่อยมีลักษณะเป็นรูปขอบขนานหรือรูปใบหอก ปลายใบแหลม โคนใบมนไม่เท่ากันหรือเป็นรูปหัวใจตื้น ๆ และเบี้ยว ส่วนขอบใบจักมน จักเป็นฟันเลื่อย หรือจักถี่ ๆ ตลอดทั้งขอบใบ ใบย่อยมีขนาดกว้างประมาณ 1-4 เซนติเมตร และยาวประมาณ 10-30 เซนติเมตร หลังใบและท้องใบเรียบ เนื้อใบค่อนข้างหนา อวบน้ำ มีเมล็ดสีน้ำตาล หลังใบด้านบนเป็นสีเขียวเข้มเป็นมัน ส่วนด้านล่างเป็นสีเขียวอ่อน เส้นแขนงใบอิสระแยกสาขาเป็นคู่ จำนวนมาก ก้านใบย่อยบวม ยาวประมาณ 3-8 มิลลิเมตร ก้านใบร่วมมีขนาดใหญ่ ลักษณะอวบกลม ตามใบแก่จะมีอับสปอร์สีน้ำตาล เรียงติดกันเป็นแถวอยู่ใกล้กับขอบใบตรงด้านท้องใบ กลุ่มอับสปอร์จะอยู่ห่างจากขอบใบประมาณ 1 มิลลิเมตร ลักษณะเป็นรูปรี ประกอบด้วย 7-12 อับสปอร์ ผนังเชื่อมติดกัน ไม่มีเยื่อคลุมกลุ่มอับสปอร์[1],[8]

กูดกีบม้า

ใบว่านกีบแรด

สรรพคุณของว่านกีบแรด

  1. หัวว่านกีบแรดมีรสจืดเย็นฝาด มีสรรพคุณเป็นยาอายุวัฒนะ และบำรุงกำลัง (หัว)[1],[6],[8] คนเมืองจะใช้หัวว่านกีบแรดนำมาสับแล้วตากให้แห้ง นำมาบดผสมกับน้ำผึ้งเดือนห้า ดีปลี และพริกไทย ปั้นเป็นลูกกลอน กินเป็นยาบำรุงกำลัง (หัว)[4]
  2. ตำรับยาบำรุงเลือดและบำรุงกำลัง ระบุให้ใช้หัวว่านกีบแรดหั่นตากดองกับเหล้าหรือต้มกับน้ำกิน (หัว)[6]
  3. หมอยาพื้นบ้านในสามจังหวัดภาคใต้จะใช้สมุนไพรชนิดนี้เป็นยารักษาโรคมะเร็งและโรคหัวใจ ด้วยการใช้หัวว่านกีบแรดและหัวกระทือหั่นตากแห้ง นำมาต้มกับน้ำดื่ม ส่วนแบนุ หมอยาปัตตานี ก็ใช้หัวว่านกีบแรดเป็นยารักษาโรคมะเร็งเช่นเดียวกัน โดยจะใช้หัวนำมาต้มกับแก่นขี้เหล็ก แล้วนำน้ำที่ได้มาดื่มกินเป็นประจำ (หัว)[6]
  4. หมอยาภาคใต้จะใช้หัวตากแห้งใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นประจำจะช่วยควบคุมน้ำตาลในโรคเบาหวาน (หัว)[6]
  5. ใช้เป็นยาลดความดัน ด้วยการใช้หัวนำมาหั่นตากแห้ง ต้มกับน้ำกิน (หัว)[6]
  1. ตำรับยาแก้อาการนอนไม่หลับ ระบุให้ใช้ว่านกีบแรด รากหญ้าคา รากหญ้านาง และเนระพูสี อย่างละพอสมควร นำมาต้มให้เดือด ใช้ดื่มก่อนนอน 1 แก้ว จะช่วยทำให้หลับสบายดี (หัว)[9]
  2. หัวใช้ต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้ไข้ตัวร้อน แก้ไข้พิษ ไข้กาฬ (หัว)[1],[3]
  3. หัวใช้ปรุงเป็นยาแก้พิษตานซางในเด็ก (หัว)[1],[3]
  4. หัวใช้ต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้กำเดา (หัว)[1]
  5. ช่วยแก้อาการปวดศีรษะ (หัว)[1],[2]
  6. ช่วยแก้ตาเจ็บ (หัว)[1]
  7. หัวใช้ต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้แผลในปากและในคอ ด้วยการใช้หัวว่านกีบแรด นำมาฝนกับน้ำหรือต้มเคี่ยว ใช้เป็นยาทาหรืออมไว้ให้ตัวยาสัมผัสกับแผล (หัว)[1],[6]
  8. ช่วยแก้น้ำลายเหนียว แก้อาเจียน (หัว)[1],[2]
  9. ใบสดทั้งอ่อนและแก่ ใช้ต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้ไอ (ใบแก่)[1],[3],[8]
  10. หัวมีสรรพคุณเป็นยาฝาดสมาน ใช้ต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้ท้องร่วง (หัว)[1],[2],[3]
  11. หัวมีสรรพคุณเป็นยาขับปัสสาวะ (หัว)[1],[2],[6]
  12. รากว่านกีบแรดมีรสจืดเย็นฝาด มีสรรพคุณเป็นยาห้ามเลือด (ราก)[1],[2],[3]
  13. ใช้เป็นยาแก้ฝีหัวคว่ำ (หัว)[1]
  14. ใช้เป็นส่วนผสมอย่างหนึ่งในตำรับยา โดยใช้ทั้งต้นนำมาต้มหรือแช่กับน้ำไว้ครึ่งวัน ใช้อาบแก้ผื่นคัน (ทั้งต้น)[7]
  15. ชาวกะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอนจะใช้โคนก้านใบที่อยู่ใต้ดิน นำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้อาการตัวบวม (โคนก้านใบ)[4]
  16. ใบอ่อนนำมาทุบ แล้วนำไปต้ม ใช้ประคบหัวเข่า เป็นยาแก้อาการปวด (ใบอ่อน)[4]
  17. หมอยาจังหวัดเลย (ตาเพ็ง สุขนำ) จะใช้ว่านกีบแรดเป็นยาลดบวม แก้อาการปวดเมื่อย (หัว)[6]
  18. หัวนำมาหั่นตากดองกับเหล้าหรือต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้อาการปวดหลัง ปวดเอว (หัว)[6]
  19. ว่านกีบแรดจัดอยู่ในตำรับยา “ยาเขียวหอม” ซึ่งเป็นตำรับยาที่มีส่วนประกอบของว่านกีบแรดร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ อีกในตำรับ โดยมีสรรพคุณเป็นยาบรรเทาอาการไข้ ร้อนในกระหายน้ำ แก้พิษหัด พิษอีสุกอีใส (หัว)[10]

วิธีใช้ : การใช้หัวตาม [1] ให้นำมาต้มกับน้ำกินเป็นยา ส่วนมากจะใช้คู่กับว่านร่อนทอง (Globba malaccensis Ridl.)[1],[3]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของว่านกีบแรด

  • จากการศึกษาในห้องทดลองพบว่า สารในว่านกีบแรดมีฤทธิ์ในการยับยั้งมะเร็ง แต่มีฤทธิ์น้อย นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์ในการต้านเชื้อ HIV (HIV-1reverse transcriptase) อีกด้วย (สมจินตนา ทวีพานิชย์)[6]

ประโยชน์ของว่านกีบแรด

  • ใบมีรสเฝื่อน ใบอ่อนสามารถนำมารับประทานเป็นผักได้[1],[2] ด้วยการนำมาลวกกินกับน้ำพริก ลาบ ป่น แจ่ว[4],[7]
  • นิยมนำมาปลูกใส่กระถางเป็นไม้ประดับทั่วไป[5]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1.  (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์).  “ว่านกีบแรด (Wan Kip Raet)”.  หน้า 273.
  2. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ.  (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “ว่านกีบแรด”.  หน้า 51.
  3. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  “ว่านกีบแรด”.  หน้า 706-707.
  4. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน).  “ว่านกีบแรด, กีบม้าลม, เฟิร์นกีบแรด”.  อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์)., หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, พิมพ์ครั้งที่ 6.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th.  [25 ต.ค. 2014].
  5. ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.  “ว่านกีบแรด”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.qsbg.org.  [25 ต.ค. 2014].
  6. กลุ่มรักษ์เขาใหญ่.  “กูดกีบม้า…ยาม้าปนแรด”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.rakkhaoyai.com.  [25 ต.ค. 2014].
  7. ผักพื้นบ้านในประเทศไทย, กรมส่งเสริมการเกษตร.  “ผักกูดยักษ์”. อ้างอิงใน : หนังสือผักพื้นบ้านภาคอีสาน (สถาบันการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : 203.172.205.25/ftp/intranet/Research_AntioxidativeThaiVegetable/.  [25 ต.ค. 2014].
  8. สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “ว่านกลีบแรด”.  [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.dnp.go.th/botany/.  [25 ต.ค. 2014].
  9. สันยาสี.  (หมอเมือง สันยาสี).  “ตำรับยารักษาโรคเรื้อรัง“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.sanyasi.org.  [25 ต.ค. 2014].
  10. ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.  (รองศาสตราจารย์ รุ่งระวี เต็มศิริฤกษ์กุล).  “ยาเขียว ยาไทยใช้ได้ทั้งผู้ใหญ่และเด็ก...”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.pharmacy.mahidol.ac.th/siri/.  [25 ต.ค. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by umijin, tanetahi, Russell Cumming, Pete The Poet, Forest and Kim Starr)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด