32 สรรพคุณและประโยชน์ของว่านกาบหอย ! (ต้นกาบหอยแครง)

32 สรรพคุณและประโยชน์ของว่านกาบหอย ! (ต้นกาบหอยแครง)

ว่านกาบหอย

ว่านกาบหอย ชื่อสามัญ Boat-lily, Oyster Lily, Oyster plant, White flowered tradescantia[3]

ว่านกาบหอย ชื่อวิทยาศาสตร์ Tradescantia spathacea Sw. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Rhoeo discolor (L’Hér.) Hance, Rhoeo spathacea (Sw.) Stearn, Tradescantia discolor L’Hér., Tradescantia versicolor Salisb.) จัดอยู่ในวงศ์ผักปลาบ (COMMELINACEAE)[1],[2],[3],[6]

สมุนไพรว่านกาบหอย มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า กาบหอยแครง ว่านหอยแครง (กรุงเทพฯ), อั่งเต็ก ฮ่ำหลั่งเฮี๊ยะ (จีนแต้จิ๋ว), ปั้งหลานฮวา ปั้งฮัว (จีนกลาง) เป็นต้น[1],[3],[4]

ลักษณะของว่านกาบหอย

  • ต้นว่านกาบหอย มีถิ่นกำเนิดในแถบเม็กซิโก คิวบา และอเมริกากลาง มีเขตการกระจายพันธุ์ไปยังประเทศต่าง ๆ รวมทั้งทวีปเอเชียด้วย โดยจัดเป็นพรรณไม้ล้มลุกมีอายุได้หลายปี มักขึ้นเป็นกอ ๆ ไม่มีการแตกกิ่งก้าน ลำต้นอวบใหญ่ มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.5-5 เซนติเมตร มีความสูงของต้นประมาณ 30-50 เซนติเมตร[1],[3] ขยายพันธุ์ด้วยไหลหรือยอด[5] หรือปักชำในพื้นที่ปลูกในช่วงฤดูฝน หรือปักชำในถุงเพาะชำในโรงเรือนนอกฤดูฝน เจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่ที่มีแสงแดดส่องถึงครึ่งวัน[6]

กาบหอยแครง

ว่านหอยแครง

  • ใบว่านกาบหอย ใบออกจากลำต้น ออกเรียงเป็นวงซ้อนกันหลายชั้น ใบเป็นใบเดี่ยว ลักษณะของใบเป็นรูปหอกยาวหรือรูปแกมขอบขนานปลายแหลม ปลายใบแหลม โคนใบตัดและโอบลำต้น ส่วนขอบใบเรียบ แผ่นใบหนาและตั้งตรง ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-6 เซนติเมตร และยาวประมาณ 10-30 เซนติเมตร หน้าใบเป็นสีเขียวเข้ม ส่วนหลังใบเป็นสีม่วงแดง เส้นใบขนาน มองเห็นไม่ชัด และไม่มีก้านใบ[1],[3]

ใบว่านกาบหอย

  • ดอกว่านกาบหอย ออกดอกเป็นช่อที่โคนใบหรือตามซอกใบ ช่อดอกมีทั้งช่อเดี่ยวและหลายช่อ ในแต่ละช่อประกอบไปด้วยใบประดับที่เป็นมีลักษณะเป็นกาบ 2 กาบ สีม่วงแซมเขียว ลักษณะเป็นรูปหัวใจโค้ง มีขนาดกว้างประมาณ 3-6 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3-4 เซนติเมตร โคนกาบทั้งสองประกบเกยซ้อนและโอบหุ้มดอกขนาดเล็กสีขาวที่อยู่รวมกันเป็นกระจุก ก้านช่อดอกยาวประมาณ 1-5 เซนติเมตร ที่โคนก้านช่อดอกมีใบประดับ 1 ใบ สีม่วงแซมเขียว ลักษณะเป็นรูปไข่กลีบ มีก้านดอกยาวประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร โคนก้านดอกมีใบประดับสีม่วงอ่อนเป็นเยื่อบาง ๆ ลักษะเป็นรูปไข่ ยาวได้ประมาณ 1 เซนติเมตร ดอกมีกลีบสีขาวเลี้ยง 3 กลีบ ลักษณะเป็นรูปไข่แกมรูปขอบขนาน ยาวได้ประมาณ 3-6 มิลลิเมตร มีลักษณะบางและใส ส่วนกลีบดอกมี 3 กลีบ กลีบเป็นสีขาว ลักษณะเป็นรูปไข่ มีขนาดกว้างประมาณ 4-6 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 5-8 มิลลิเมตร แผ่นกลีบดอกหนา ตรงใจกลางดอกมีเกสรเพศผู้เป็นขนฝอย 6 อัน ก้านชูอับเรณูเป็นสีขาว รูปเรียว มีขนยาว ส่วนปลายก้านแผ่แบนเป็นสีเหลือง อับเรณูเป็นสีแดง รังไข่ผนังเรียบ ภายในมีช่อง 3 ช่อง ในแต่ละช่องจะมีออวุล 1 เม็ด โดยจะออกดอกในช่วงฤดูร้อน[1],[3],[4]

ดอกว่านกาบหอย

ดอกว่านหอยแครง

  • ผลว่านกาบหอย ผลเป็นผลแห้งเมื่อแตกจะแยกเป็นแฉก 2-3 แฉก ลักษณะของผลเป็นรูปกระสวย ผลมีขนาดกว้างประมาณ 2.5-3 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 3.5 มิลลิเมตร มีขนเล็กน้อย ภายในมีเมล็ดขนาดเล็ก[1],[3]

สรรพคุณของว่านกาบหอย

  1. ใบและดอกมีรสจืดชุ่ม เป็นยาเย็น ออกฤทธิ์ต่อตับละปอด ใบใช้เป็นยาทำให้เลือดเย็น แก้อาการร้อนในกระหายน้ำ โดยใช้ใบสด 3 ใบ นำมาต้มผสมกับน้ำตาลกรวดเล็กน้อยดื่มเป็นยา (ใบ)[1],[2],[3]
  2. ใช้แก้เลือดกำเดาไหล ด้วยการใช้ดอกว่านกาบหอย 10 กรัม หรือดอกประมาณ 20-30 ดอก นำมาต้มกับน้ำรับประทาน (ดอก)[1],[3]
  3. หากมีไข้ตัวร้อน ให้ใช้ใบแก่ประมาณ 10-15 ใบ นำมาต้มกับน้ำจนเดือดแล้วตักใบออก เติมน้ำตาลกรวด ใช้ดื่นกินเป็นประจำเป็นยาแก้ไข้ (ใบ) (ข้อมูลจาก Pantip.com โดย : ตาเชย)
  4. ตำรายาไทยใช้ใบสดเป็นยาแก้เจ็บคอ แก้ไอ โดยใช้ใบสด 3 ใบ นำมาต้มผสมกับน้ำตาลกรวดเล็กน้อยดื่มเป็นยา (ใบ)sup>[2],[3]
  5. ตำรายาแก้ไอร้อนในปอด แก้อาการไอเป็นเลือด ให้ใช้ใบว่านกาบหอย 10 กรัม นำมาต้มกับฟัก ใส่น้ำตาลกรวดเล็กน้อย ใช้รับประทาน (ใบ)[1]
  1. ใช้แก้หวัด แก้ไอ แก้ไอเนื่องจากหวัด ให้ใช้ดอกประมาณ 20-30 ดอก นำมาต้มกับน้ำรับประทาน (ดอก)[1],[3]
  2. ช่วยแก้เสมหะมีเลือด ด้วยการใช้ดอกว่านกาบหอยประมาณ 20-30 ดอก นำมาต้มกับน้ำรับประทาน (ดอก)[1],[3]
  3. ดอกมีรสชุ่มเย็น ใช้ต้มกับเนื้อหมูรับประทานเป็นยาช่วยขับเสมหะ แก้ไอแห้ง ๆ (ดอก)[3]
  4. แก้อาเจียนเป็นเลือด ให้ใช้ใบสด 3 ใบ นำมาต้มผสมกับน้ำตาลกรวดเล็กน้อยดื่มเป็นยา (ใบ,ดอก)[3]
  5. ใบและรากหากใช้ในปริมาณมากจะเป็นยาทำให้อาเจียนได้ (ใบและราก)[4]
  6. ช่วยแก้บิด ถ่ายเป็นเลือด (ใบ,ดอก)[1],[3] ตำรายาแก้บิดระบุให้ใช้ยาสด 120 กรัม (เข้าใจว่าคือส่วนของดอก) แลน้ำตาล 30 กรัม นำมาต้มกับน้ำกินตอนอุ่น ๆ โดยทั่วไปกิน 1 ชุด ก็จะเห็นผลแล้ว และเมื่อกินติดต่อกันไปอีก 3-4 ชุด จะหายขาด และไม่มีผลข้างเคียงแต่อย่างใด (ดอก)[4]
  7. ช่วยแก้บิดจากแบคทีเรีย ให้ใช้ดอกแห้ง 20-30 ดอก นำมาต้มกับน้ำดื่ม (ดอก)[1],[3]
  8. ใช้แก้กรดไหลย้อน โดยใช้ใบว่านกาบหอยแครงและใบเตยสด อย่างละเท่ากัน นำมาต้มกับน้ำจนเดือด ใช้ดื่มต่างน้ำทั้งวัน วันละ 3-4 ครั้ง ครั้งละครึ่งแก้ว ผสมกับน้ำผึ้ง 1 ช้อนชา น้ำมะนาว 1 ช้อนชา และเกลือป่นอีกเล็กน้อย แล้วอาการของกรดไหลย้อนจะค่อย ๆ ดีขึ้น ถ้าต้องการให้หายขาดก็ให้ดื่มติดต่อกันเป็นเวลา 3-6 เดือน แต่มีข้อแม้ว่าห้ามกินแล้วนอนอย่างเด็ดขาด และหลังกินอาหารต้องออกกำลังกายเบา ๆ ด้วยทุกครั้ง (ใบ)[5]
  9. ใบและรากหากใช้ในปริมาณมากจะมีสรรพคุณเป็นยาถ่าย (ใบและราก)[4]
  10. ตำรายาจีนจะใช้ดอกของว่านกาบหอยเป็นยาแก้อาการตกเลือดในลำไส้ (ดอก)[3]
  11. ช่วยแก้ปัสสาวะเป็นเลือด (ใบ,ดอก)[1],[3]
  12. ในอินโดจีน จะใช้ต้นนำมาต้มเอาไอรมแก้ริดสีดวงทวาร (ต้น)[4]
  13. รากนำมาใช้เป็นยาบำรุงตับและม้ามพิการได้ดี (ราก)[4]
  14. ในประเทศอินเดีย จะใช้ว่านกาบหอยผสมกับน้ำมันงา ใช้เป็นยาพอกแก้ต่อมน้ำเหลืองบวม (ใบ)[4]
  15. ใช้เป็นยาห้ามเลือด (ดอก)[1],[3]
  16. ในไต้หวันจะใช้เป็นยาพอกแผล มีดบาด และแก้บวม (ดอก)[3]
  17. ตำรายาแก้โรคผิวหนัง ผื่นคัน อันเกิดจากการทำนา ให้ใช้น้ำคั้นจากใบว่านกาบหอยมาทาบริเวณมือและเท้า และปล่อยให้แห้งแล้วค่อยลงไปทำนา โดยการทาน้ำคั้นจากใบของต้นว่านกาบหอย 1 ครั้ง ก่อนลงและหลังลงไปทำนา จะช่วยป้องกันมือและเท้าเน่าเปื่อยได้ดี หากมือและเท้าเน่าเปื่อยแล้ว ก็ให้ทาเพื่อรักษาได้เช่นกัน ซึ่งจากการทดสอบ 2,000 ราย พบว่าได้ผลดี (ใบ)[4]
  18. ในประเทศอินเดียจะใช้ว่านกาบหอยผสมกับน้ำมันงา ใช้เป็นยาพอกรักษาโรคผิวหนัง และโรคเท้าช้าง (ใบ)[4]
  19. ส่วนในประเทศมาเลเซียจะใช้ใบเป็นยาแก้คุดทะราด และในชวาจะใช้เป็นยาแก้กลาก (ใบ)[4]
  20. ช่วยแก้อาการฟกช้ำ แก้ฟกช้ำภายใน เนื่องจกการพลัดตกจากที่สูง หรือเกิดจากการหกล้มฟาดถูกของแข็ง ให้ใช้ใบสด 3 ใบ นำมาต้มกับน้ำตาลกรวดเล็กน้อยใช้ดื่มเป็นยา (ใบ)[1],[2]

หมายเหตุ : ให้ใช้ใบสดหรือใบที่ตากแห้งแล้วเก็บไว้ใช้ ส่วนดอกให้เก็บดอกที่โตเต็มที่ แล้วนำมาตากแห้งหรืออบด้วยไอน้ำ 10 นาที แล้วจึงนำไปตากแห้งเก็บไว้ใช้ และวิธีการใช้ตาม [1] และ [3] ให้ใช้ใบแห้งครั้งละ 15-35 กรัม นำมาต้มกับน้ำดื่ม ถ้าใช้ภายนอกให้ใช้ใบสดนำมาตำแล้วพอก ส่วนดอก ถ้าเป็นดอกแห้งให้ใช้ครั้งละ 10-15 กรัม แต่ถ้าเป็นดอกสดให้ใช้ครั้งละ 30-60 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน หรือใช้เข้าตำกับตำรายาอื่น[1],[3]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของว่านกาบหอย

  • สารที่พบได้ในดอกและใบ คือสารจำพวก Flavonoid glycoside, และพบสาร Carboxylic acid, วิตามินซี นอกจากนี้ใบยังพบสาร Latax เป็นต้น[1]
  • มีรายงานว่าส่วนที่สกัดจากทั้งต้นของว่านกาบหอยมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อสแตฟีย์โลคอคคัสเอาเรียส (Skphylococcus aureus) และเชื้ออีโคไล (Escherichia coll) ได้[4]

ข้อห้ามในการใช้ว่านกาบหอย

  • สตรีมีครรภ์หรือผู้ที่มีร่างกายอ่อนเอ ห้ามรับประทานสมุนไพรชนิดนี้[1]

ประโยชน์ของว่านกาบหอย

  1. ในประเทศอินเดียและชวาจะใช้ใบอ่อนมาปรุงเป็นอาหาร[4]
  2. ใช้ทำน้ำดื่มหรือทำไวน์ โดยวิธีการทำน้ำว่านกาบหอยแครง ให้เตรียมส่วนผสม ดังนี้ ใบว่านกาบหอย 5-15 ใบ, น้ำตาลทราย 1/3 ถ้วย และน้ำสะอาด 2 1/2 ถ้วย ขั้นตอนแรกให้นำว่านกาบหอยแครงสดมาล้างน้ำให้สะอาด โดยแช่ด่างทับทิมประมาณ 10-20 นาที เสร็จแล้วนะมาหั่นตามขวางให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วใส่ลงไปในหม้อน้ำเดือน ต้มให้เดือดประมาณ 3-7 นาที แล้วเติมน้ำทรายให้พอหวาน กรองเอาแต่กากออก ก็จะได้น้ำว่านกาบหอยแครงสีชมพูอ่อนดูน่ารับประทาน แล้วให้กรองใส่ขวดนึ่งประมาณ 20-30 นาที เมื่อเย็นแล้วให้เก็บใส่ตู้เย็น เพื่อเก็บไว้ดื่มได้หลายวัน[6]
  3. ใบนำมาปิ้งให้แห้ง แล้วบดให้เป็นผงผสมกับน้ำมัน หรือใช้น้ำคั้นจากต้นที่เคี่ยวกับน้ำมันมะพร้าว หรือน้ำมันงา นำมาทาศีรษะจะช่วยทำให้ผมดกดำ และช่วยแก้ผมหงอกก่อนวัยได้ (ต้น,ใบ)[4]
  4. ในประเทศอินเดียจะใช้น้ำคั้นจากต้นว่านกาบหอยผสมในหมึกสัก[4]
  5. ส่วนในประเทศใช้จะใช้พืชชนิดนี้ร่วมกับผลมะเกลือย้อมผ้า จะทำให้ผ้าสีติดทนดี[4]
  6. นิยมใช้ปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไปตามสวน สนาม สวนยา ตามโคนต้นไม้ขนาดใหญ่ ปลูกคลุมดิน หรือปลูกใส่กระถางไว้ทำยาตามบ้านเรือน พันธุ์ไม้ชนิดนี้มีอายุหลายปี ไม่ต้องดูแลรักษามาก ใบไม่ค่อยร่วง และออกดอกสวยงามได้ตลอดปี (ส่วนพันธุ์แคระจะไม่ออกดอก)[3],[6]
  7. นอกจากจะใช้เป็นยารักษาในคนแล้ว ยังใช้กับสัตว์ได้ด้วย เช่น ถ้าสัตว์เลี้ยงมีบาดแผลเลือดออก ฟกช้ำ ก็ให้ใช้ต้นสดนำมาตำแล้วพอกบริเวณที่เป็น หรือหากวัวปัสสาวะเป็นเลือด ก็ให้ใช้ต้นแห้งร่วมกับผักกาดน้ำ อย่างละประมาณ 60-120 กรัม ต้มกับน้ำให้วัวกิน หรือถ้าวัวถ่ายอุจจาระเป็นเลือด ก็ให้ใช้ต้นว่านกาบหอยสด ๆ รวมกับพลูคาวสด และก้านบัวหลวงแห้ง อย่างละประมาณ 120-240 กรัม ผสมกับน้ำตาลทรายลงไปต้มให้วัวกิน เป็นต้น[4]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย.  (วิทยา บุญวรพัฒน์).  “ว่านกาบหอย”.  หน้า 506.
  2. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ.  (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “ว่านกาบหอยใหญ่”.  หน้า 179.
  3. สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “ว่านกาบหอย”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/herbs/. [02 มิ.ย. 2014].
  4. มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 7 คอลัมน์: สมุนไพรน่ารู้.  (ภก.ชัยโย ชัยชาญทิพยุทธ).  “ว่านกาบหอย”.  อ้างอิงใน: หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรจีน ของประเทศจีน.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.doctor.or.th.  [02 มิ.ย. 2014].
  5. ไทยรัฐออนไลน์.  (นายเกษตร).  “ว่านกาบหอยแครง ใบสวยมีสรรพคุณ”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.thairath.co.th.  [02 มิ.ย. 2014].
  6. ฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.  “กาบหอยแครง”.  (นพพล เกตุประสาท).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: clgc.rdi.ku.ac.th.  [02 มิ.ย. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Russell Cumming, shadowshador, Karl Gercens, Johannes Smit, Sushi_Girl1995, Florida Palm Lady)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด