วุ้นตาเสื่อม (มองเห็นจุดดําลอยไปมา) อาการ, สาเหตุ, การรักษา ฯลฯ

วุ้นตาเสื่อม

วุ้นตาเสื่อม, วุ้นในตาเสื่อม, น้ำวุ้นตาเสื่อม, น้ำวุ้นลูกตาเสื่อม หรือ น้ำวุ้นลูกตาตกตะกอน (ภาษาอังกฤษ : Vitreous floaters, Eye floaters หรือ Floaters) เป็นภาวะที่พบได้บ่อยในคนทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออย่างเข้าสู่วัยกลางคน ซึ่งจะทำให้มองเห็นเงาดำคล้ายหยากไย่ ยุง ลูกน้ำ หรือแมลง หรือเห็นเป็นจุดเล็ก ๆ เส้น ๆ วง ๆ ลอยไปลอยมาในลูกตาข้างเดียวหรือทั้ง 2 ข้าง และเห็นได้ชัดในที่สว่าง โดยเฉพาะเวลาแหงนมองท้องที่สว่างใส มองไปที่ผนังสีขาว เป็นต้น ทำให้ผู้ป่วยนึกว่ามีหยากไย่อยู่ข้างนอกลูกตา เมื่อพยายามขยี้ตาแต่เงาดำก็ไม่หายไป สร้างความรำคาญ แต่พอนาน ๆ เข้าก็รู้สึกชินไปเอง

หมายเหตุ : วุ้นตา หรือ น้ำวุ้นตา (Vitreous body หรือ Vitreous humor) เป็นส่วนประกอบของลูกตาที่อยู่ภายในช่องตาส่วนหลัง (อยู่ที่หน้าต่อจอประสาทตาและแนบติดกับผิวของจอประสาทตา) มีลักษณะเป็นของเหลวใส ไม่มีสี ไม่มีตะกอน หนืด ๆ คล้ายเจลหรือไข่ขาว โดยมีน้ำเป็นส่วนประกอบหลักถึง 98-99% (ที่เหลือเป็นโปรตีน คอลลาเจน กรดไฮยาลูโรนิก ตลอดจนสารเกลือแร่ต่าง ๆ จึงทำวุ้นตามีลักษณะเป็นเจลใสหนืด ๆ)

ทั้งนี้วุ้นตาจะทำหน้าที่เป็นตัวกลางให้แสงผ่าน ช่วยพยุงลูกตาให้คงรูปเป็นทรงกลม และเป็นแหล่งอาหารแก่แก้วตา จอประสาทตา และเนื้อเยื่อซีเลียรีบอดี้ (Ciliary body) เมื่ออายุมากขึ้นวุ้นตาจะค่อย ๆ คลายความหนืดลง เมื่ออายุ 80 ปี มากกว่าครึ่งหนึ่งของวุ้นตาจะกลายเป็นน้ำใส ในผู้ป่วยสายตาสั้นวุ้นตาจะเริ่มเสื่อมเร็วกว่าคนทั่วไป การเสื่อมของวุ้นตาจะทำให้บริเวณที่เคยยึดติดกับจอประสาทตาที่ค่อนข้างแน่นหลุดออกจนอาจนำไปสู่ภาวะจอประสาทตาหลุดลอกได้

หยากไย่ในตา
IMAGE SOURCE : www.exetereye.co.uk

สาเหตุของวุ้นตาเสื่อม

  • ภาวะวุ้นตาเสื่อมและหดตัวเล็กลง (Vitreous degeneration หรือ Vitreous syneresis) เป็นสาเหตุที่พบได้เป็นส่วนใหญ่ มักพบในคนอายุมากกว่า 40 ปี (พบได้กว่า 50% ของผู้ที่มีอายุมากกว่า 70 ปี ของผู้ที่มีสายตาสั้นมาก ๆ และของผู้ที่เคยได้รับอุบัติเหตุทางดวงตา) ไม่มีอันตราย นอกจากสร้างความรำคาญ ไม่จำเป็นต้องรักษาใด ๆ และบางรายอาจค่อย ๆ จางหายไปได้อย่างช้า ๆ
    • ในช่วงแรกเกิดนั้นน้ำวุ้นจะมีลักษณะหนืดซึ่งเกิดจากการรวมตัวกันของโปรตีน คอลลาเจน กรดไฮยาลูโรนิก และสารอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ส่วนที่เป็นน้ำ แต่เป็นส่วนที่เป็นเส้นใยบาง ๆ ที่มีลักษณะเป็นโครงข่าย ซึ่งตอนปกติมันจะเป็นเส้นเล็ก ๆ ละเอียด ๆ และเรียงตัวกันเป็นระเบียบ จึงทำให้เราไม่สามารถมองเห็นเงาของเส้นใยเหล่านี้ได้ แต่เมื่ออายุมากขึ้น (วุ้นตาเสื่อม) เส้นใยเหล่านี้บางเส้นจะขาดเป็นท่อน ๆ บางเส้นใยจะจับตัวกันหนาขึ้น และเสียความใสไป ร่วมกับมีการหดตัวของวุ้นตาที่เหลือ จึงทำให้เศษเส้นใยดังกล่าวมีขนาดใหญ่และมองเห็นได้ชัดขึ้น (เนื่องจากเศษเส้นใยเหล่านี้ไปบังแสงที่ผ่านมาที่จอประสาทตา) ผู้ป่วยจึงมองเห็นเงาดำของเศษเส้นใยคล้ายเงาหยากไย่ลอยไปลอยมาตามการกลอกตา อย่างไรก็ตาม หากเศษเส้นใยเหล่านี้เกิดขึ้นและลอยอยู่บริเวณขอบของดวงตา ผู้ป่วยจะไม่มีอาการ แต่หากเส้นใยเหล่านี้มาอยู่บริเวณตรงกลางดวงตาที่แสงผ่านเข้าจอประสาทตา ผู้ป่วยจะมีอาการเกิดขึ้น
  • ภาวะวุ้นตาด้านหลังหลุดลอกออกจากจอประสาทตา (Posterior vitreous detachment : PVD) เป็นภาวะที่พบได้บ่อยในคนอายุมากกว่า 70 ปี พบได้น้อยในคนอายุต่ำกว่า 50 ปี โดยในภาวะปกติวุ้นตาจะเกาะกับจอประสาทตาแต่ละส่วนด้วยความแน่นไม่เท่ากัน จุดที่เกาะแน่นที่สุดจะอยู่ที่ด้านหน้า ๆ ของจอประสาทตาใกล้ ๆ กับบริเวณด้านหลังของเลนส์ ซึ่งเรียกบริเวณนี้ว่า “ฐานของวุ้นตา” (Vitreous base) และส่วนที่เกาะแน่นรองลงมา คือ รอบ ๆ ขั้วประสาทตา (Optic disc), บริเวณจุดรับภาพ (Macula) และตามแนวเส้นเลือดบนจอประสาทตา (Retinal vessels) ดังนั้น เมื่อวุ้นตาด้านหลังเสื่อมตัว วุ้นตาจะมีการหดตัวและมีความเข้มข้นมากกว่าเดิม ทำให้วุ้นตาหลุดลอกออกจากผิวจอประสาทตา (วุ้นตาจะค่อย ๆ ลอกตัวออกจากจอประสาทตาด้านหลังแถว ๆ ขั้วประสาทตากับจุดรับภาพก่อน แล้วเลื่อนตัวเข้ามาหาฐานของมันที่อยู่ด้านหน้า) ผู้ป่วยจึงมีอาากรมองเห็นเป็นเงาดำ อาจเป็นวง ๆ หรืออาจเห็นเป็นจุดเล็ก ๆ เส้น ๆ หรือเป็นเงาหยากไย่ลอยไปลอยมาในตา ทั้งนี้เป็นเพราะวุ้นตาที่อยู่บริเวณขอบของขั้วประสาทตาจะหนาตัวขึ้นเป็นเส้นแนววงกลม เมื่อวุ้นตาแยกตัวออกมาก็จะทำให้มองเห็นเงาเป็นวงเบี้ยว ๆ
    • ในขณะที่วุ้นตาลอกตัวจากจอประสาทตา อาจมีการดึงรั้งของวุ้นตาที่จอประสาทตาบางบริเวณที่ยึดติดกันแน่นและทำให้เกิดการฉีกขาดที่จอประสาทตาได้ ซึ่งมักจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการเห็นแสงวาบคล้ายแสงฟ้าแลบหรือแสงแฟลชถ่ายรูปร่วมด้วย โดยจะเห็นได้ชัดเจนในที่มืดหรือในเวลากลางคืน เพราะเมื่อกลอกตา จอรับภาพบริเวณที่ฉีกขาดออกมาจะเคลื่อนไหวมากกว่าปกติ (เพราะยังมีวุ้นตาซึ่งเลื่อนตัวง่ายเกาะติดอยู่) ซึ่งในกรณีนี้ถ้าปล่อยไว้ไม่ทำอะไร อาจเป็นไปได้ 2 กรณี คือ วุ้นตาแยกชั้นออกจากจอประสาทตาส่วนที่ฉีกขาดได้เอง ซึ่งในกรณีนี้ก็จบ ไม่ต้องทำอะไร ส่วนอีกกรณีที่เป็นอันตรายคือวุ้นตาดึงจอประสาทตามากขึ้นเรื่อย ๆ จนนำไปสู่ภาวะจอประสาทตาหลุดลอก (Retinal detachment) ซึ่งอาจทำให้สูญเสียการมองเห็นอย่างถาวรได้
  • ภาวะจอประสาทตาฉีกขาด (Retinal tear) / จอประสาทตาหลุดลอก (Retinal detachment) ดังที่กล่าวไปในข้อ 2 ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการมองเห็นเงาหยากไย่ที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันและมีจำนวนมาก ร่วมกับมีอาการมองเห็นแสงวาบคล้ายฟ้าแลบ (อาจถึง 50-60 ครั้งต่อวัน) และตามัว
  • ภาวะเลือดออกในวุ้นตา (Vitreous hemorrhage) ซึ่งเกิดจากหลอดเลือดที่ผิดปกติในผู้ป่วยเบาหวานขึ้นตา (Diabetic retinopathy) ในผู้ป่วยจอประสาทตาเสื่อม (Age-related macular degeneration) ภาวะเลือดออกง่าย หลอดเลือดดำจอประสาทตาอุดตัน การได้รับบาดเจ็บหรืออุบัติเหตุทางตา ฯลฯ ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการตามือมัวลงอย่างฉับพลัน ร่วมกับเห็นเงาหยากไย่ และจะมีอาการมากขึ้นเรื่อย ๆ บางรายอาจเห็นสีแดง (สีเลือด) บังอยู่ในตา หากสงสัยควรรีบไปโรงพยาบาลโดยเร็ว
  • อาจเกิดจากเซลล์ต่าง ๆ เช่น เม็ดเลือดขาวที่มาจากการอักเสบภายในดวงตาทั้งจากโรคม่านตาอักเสบ จากการอักเสบภายในดวงตา (Endophthalmitis) และจากการอักเสบจากอุบัติเหตุที่มีบาดแผลทำให้ดวงตาทะลุ นอกจากนี้อาจอณูสีเล็ก ๆ (Pigmented granule) ที่มาจากอณูสีในเนื้อเยื่อชั้นของจอประสาทตา หรือแม้แต่เซลล์มะเร็งที่หลุดมาจากโรคมะเร็งจอประสาทตาในเด็ก (Retinoblastoma) ฯลฯ
  • ผนังลูกตาชั้นกลางด้านหลังอักเสบ (Posterior uveitis) อาจเกิดจากการติดเชื้อ (เช่น เอดส์) หรือเกิดจากปฏิกิริยาภูมิต้านตนเอง ทำให้ผู้ป่วยมักมีอาการมองเห็นเงาหยากไย่จำนวนมากร่วมกับมีอาการตามัว
  • เป็นมาตั้งแต่กำเนิด ในการพัฒนาของการเกิดลูกตาของคนเราตั้งแต่อยู่ในครรภ์นั้น ภายในน้ำวุ้นตาจะมีหลอดเลือดที่เรียกว่า “Hyaloid artery” ซึ่งโดยปกติแล้วหลอดเลือดนี้จะต้องหดหายไปก่อนทารกคลอดออกมา แต่ในทารกบางราย การหดหายของหลอดเลือดอาจไม่สมบูรณ์และทำให้ทารกที่เกิดมามีติ่งของหลอดเลือดนี้หลงเหลืออยู่ ซึ่งภายในหลอดเลือดจะมีเม็ดเลือดแดง จึงอาจหลุดออกมาในวุ้ตาได้
  • การใช้ยาบางชนิด มีรายงานระบุว่ายาบางชนิดอาจก่อให้เกิดวุ้นตาเสื่อมได้ เช่น ยาโซวิแรกซ์ (Zovirax) ซึ่งเป็นยาต้านไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคเริม โรคงูสวัด และโรคอีสุกอีใส
  • การมีสารเคมีบางตัวที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของเส้นใย Synchysis scintillans ในน้ำวุ้นเกิดเป็นผลึกของแคลเซียม (Asteroid hyalosis) หรือของไขมันคอเลสเตอรอล (Cholesterol) ลอยไปลอยมาในน้ำวุ้นได้

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดวุ้นตาเสื่อม

  • ผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป
  • ผู้ที่มีสายตาสั้นมาก โดยเฉพาะสั้นกว่า 600 ก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้วุ้นตาเสื่อมเร็วกว่าปกติได้
  • ผู้ที่ได้รับอุบัติเหตุทางดวงตาหรือบริเวณศีรษะ หรือมีการอักเสบในลูกตา หรือเคยผ่าตัดในตามาก่อน เช่น การผ่าตัดกระจก เป็นต้น จะทำให้วุ้นตาเสื่อมเร็วกว่าปกติได้
  • ผู้เป็นโรคเบาหวานขึ้นตา
  • ผู้เป็นโรคของวุ้นตาบางโรคแล้วทำให้วุ้นตาเสื่อม เช่น Jansen disease, Wagner disease, Stickler syndrome เป็นต้น

อาการของวุ้นตาเสื่อม

ผู้ป่วยจะมีอาการมองเห็นเงาดำคล้ายหยากไย่ ยุง ลูกน้ำ หรือแมลง หรือเห็นเป็นจุดเล็ก ๆ เส้น ๆ หรืออาจมองเห็นเป็นวง ๆ ลอยไปลอยมาตามการกลอกตา (เนื่องจากมีเศษเส้นใยไปบังแสงที่ผ่านมาที่จอประสาทตา และเมื่อเรากลอกตาไปมา วุ้นตาจะเคลื่อนไหวไปตามการขยับของลูกตาด้วย) โดยเงาดำดังกล่าวนี้อาจเกิดขึ้นเพียงจุดเดียวหรือหลายจุดในตา อาจเป็นกับตาเพียงข้างเดียวหรือทั้ง 2 ข้างก็ได้ ผู้ป่วยจึงอาจนึกว่ามีหยากไย่อยู่ที่ข้างนอกลูกตาและพยายามขยี้ตาหรือล้างตาแต่เงาดำก็ไม่หายไป แต่โดยทั่วไปการมองเห็นเงาดำลอยไปลอยมานี้ไม่เป็นอันตรายและไม่ทำให้สายตามัวลง แต่อาจก่อให้เกิดความรำคาญมากกว่า แต่พอนาน ๆ เข้าผู้ป่วยจะรู้สึกชินไปเอง เพราะสมองจะเกิดการเรียนรู้และละเลยภาพเหล่านั้นไปเอง จึงทำให้ผู้ป่วยมองเงาดำเหล่านี้ลดลง

โดยทั่วไปมักจะไม่ถึงกับมองเห็นเงาดำเหล่านี้ได้ชัดเจนตลอดเวลา แต่จะรู้สึกและสังเกตเห็นได้ง่ายขึ้นเวลามองไปยังพื้นผิวที่เรียบ เป็นสีอ่อน และมีภาวะของแสงเหมาะสม เช่น ตอนอ่านหนังสือหรือมองกระดาษสีขาว, ตอนมองไปที่ผนังสีขาว, ตอนแหงนมองออกไปบนท้องฟ้าในวันที่ฟ้าสว่าง ๆ หรือตอนกลากตาไปซ้ายไปขวา (เพราะจะทำให้วุ้นตาเลื่อนตามไปมา จึงทำให้สังเกตเห็นง่ายหรือชัดเจนยิ่งขึ้น) เป็นต้น

ใยแมงมุมในตา
IMAGE SOURCE : www.eyesbydrg.com

มองเห็นจุดดําลอยไปมา
IMAGE SOURCE : www.cvilleeyecare.com

น้ำวุ้นลูกตาเสื่อม
IMAGE SOURCE : www.meadowsretina.com

เห็นจุดดำในตา
IMAGE SOURCE : www.johannes-keller.net

น้ำวุ้นตาเสื่อม
IMAGE SOURCE : www.naturalherbalmedizine.com

นอกจากนี้ เมื่อวุ้นตาเสื่อมและหดตัวก็อาจส่งผลให้เกิดแรงดึงรั้งที่ผิวของจอประสาทตาและกระตุ้นให้เกิดอาการมองเห็นแสงวาบคล้ายแสงฟ้าแลบหรือแสงแฟลชถ่ายรูปในตาร่วมด้วยได้ ซึ่งผู้ป่วยมักจะสังเกตเห็นแสงวาบนี้ได้อย่างชัดเจนขึ้นเมื่ออยู่ในที่มืดหรือในเวลากลางคืน ซึ่งอาการนี้จะลดลงและหายไปเมื่อวุ้นตาร่อนตัวออกจากจอประสาทตาอย่างสมบูรณ์ แต่ในบางรายแรงดึงรั้งที่เกิดขึ้นอาจทำให้จอประสาทตาฉีกขาด (Retinal tear) ได้ หากปล่อยไว้ไม่รักษาก็จะทำให้เกิดภาวะจอประสาทตาหลุดลอก (Retinal detachment) และสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวรได้

การวินิจฉัยวุ้นตาเสื่อม

ผู้ป่วยที่มีอาการดังกล่าวเกิดขึ้นจำเป็นต้องได้รับการตรวจวุ้นตาและจอประสาทตาอย่างละเอียด ซึ่งการตรวจจะเริ่มจากการตรวจส่วนหน้าของลูกตาก่อน หลังจากนั้นจะยาหยอดยาขยายรูม่านตา เพื่อที่จะสามารถตรวจดูวุ้นตาและจอประสาทตาให้ได้อย่างละเอียดทุกมุม เนื่องจากการมีวุ้นตาเสื่อมอาจเกิดร่วมหรือเป็นสาเหตุทำให้เกิดจอประสาทตาฉีกขาดได้ (อาจพบจอประสาทตาฉีกขาดได้ประมาณ 15% และ 75% หากเกิดร่วมกับการมีเม็ดเลือดแดงในวุ้นตา) จักษุแพทย์จึงต้องตรวจดูว่ามีการฉีกขาดของจอประสาทตาที่บริเวณใดด้วยหรือไม่

อนึ่ง หลังการหยอดยาขยายรูม่านตาแล้ว จะทำให้มีอาการตาพร่ามั่ว สู้แสงไม่ได้ และใช้สายตาในระยะใกล้ไม่ได้เป็นเวลาประมาณ 4-6 ชั่วโมง ผู้ที่มารับการตรวจจึงไม่ควรขับรถมาเอง และควรเตรียมแว่นกันแดดมาด้วยเพื่อช่วยอาการตาสู้แสงไม่ได้ ส่วนในผู้สูงอายุควรมีญาติมาเป็นเพื่อนด้วย

การรักษาวุ้นตาเสื่อม

เมื่อมีอาการของวุ้นตาเสื่อม ควรรีบไปพบจักษุแพทย์เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุและเพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสมในกรณีที่สาเหตุเกิดจากภาวะอันตรายที่จำเป็นต้องได้รับการรักษา เช่น จอประสาทตาฉีกขาด, เบาหวานขึ้นตา เป็นต้น

  • ในรายที่มีอาการมองเห็นเงาดำลอยไปลอยมาและไม่มีรอยฉีกขาดของจอประสาทตา ซึ่งเป็นกรณีที่พบได้เป็นส่วนใหญ่และมักจะก่อให้เกิดความรำคาญเท่านั้น แต่ไม่เป็นอันตรายและไม่ทำให้สายตามัวลง พอนาน ๆ เข้าผู้ป่วยอาจชินไปเองและสามารถปรับตัวได้ หรือเงาดำอาจหลบไปจากแนวสายตา หรือค่อย ๆ ลดลง หรือหายไปในที่สุดเอง จึงไม่จำเป็นต้องรักษาแต่อย่างใด แต่ทั้งนี้ผู้ป่วยยังต้องตรวจติดตามกับจักษุแพทย์เป็นระยะ ๆ ซึ่งจะนัดมาตรวจตามความเหมาะสมขึ้นอยู่กับความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะภาวะจอประสาทตาฉีกขาดในผู้ป่วยแต่ละราย และผู้ป่วยควรสังเกตการเปลี่ยนแปลงของอาการอย่างสม่ำเสมอ หากมีอาการผิดปกติดังต่อไปนี้เกิดขึ้น ควรรีบกลับไปพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจอย่างละเอียดทันทีแม้ว่าจะยังไม่ถึงวันนัดก็ตาม เนื่องจากอาจเกิดรอยฉีกขาดที่จอประสาทตาได้
    • เห็นเงาดำจุดใหม่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
    • มองเห็นแสงวาบคล้ายแสงฟ้าแลบหรือแสงแฟลชถ่ายรูป (Flash) ในตาเกิดขึ้น
    • มองเห็นเงาคล้ายมีม่านบังตาบางส่วนเป็นแถบ ๆ
    • สายตามัวลง
  • ในรายที่ตรวจพบรอยฉีกขาดที่จอประสาทตาร่วมด้วย (ผู้ป่วยจะมีอาการมองเห็นแสงวาบคล้ายแสงฟ้าแลบร่วมด้วย) ต้องรักษาด้วยวิธีการยิงเลเซอร์หรือจี้ความเย็น (Cryo therapy) เพื่อปิดรูรั่วจอประสาทตาที่ขาด เพื่อไม่ให้น้ำวุ้นเซาะไปตามที่รูที่ขาดอันจะทำให้เกิดจอประสาทตาหลุดลอกตามมา ซึ่งจะทำให้ตามัวและตาบอดได้
  • ในรายที่จอประสาทตาหลุดลอก จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดแก้ไข เพื่อปิดรูฉีกขาดของจอประสาทตาและทำให้จอประสาทตาที่หลุดกลับเข้าไปติดใหม่ สำหรับวิธีการผ่าตัดนั้นก็มีอยู่หลายวิธี (ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละราย) มีขั้นตอนยุ่งยาก ทรมาณผู้ป่วย และในบางรายอาจสร้างความเหน็ดเหนื่อยให้ทั้งหมอ ผู้ป่วย และญาติได้พอสมควร
  • รักษาหรือควบคุมโรคอื่น ๆ ที่เป็นสาเหตุ เช่น ถ้าเป็นเบาหวานขึ้นตา ควรรักษาโดยการควบคุมโรคเบาหวานร่วมกับการรักษาจอประสาทตาด้วยเลเซอร์, ถ้าเกิดจากการอักเสบภายในดวงตา ต้องรักษาด้วยยาปฏิชีวนะหรือในบางรายอาจต้องลงเอยด้วยการผ่าตัดน้ำวุ้นตา (Vitrectomy), ถ้าเป็นจากโรคจอประสาทตาเสื่อมที่เกิดจากหลอดเลือดเกิดใหม่ที่จอประสาทตา (Neovascu larization) ต้องขจัดหลอดเลือดที่ผิดปกติด้วยยาหรือด้วยเลเซอร์ เป็นต้น นอกจากนี้ผู้ป่วยยังต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของจักษุแพทย์อย่างเคร่งครัดด้วย

แม้ว่าโดยส่วนใหญ่แล้ววุ้นตาเสื่อมมักจะเกิดจากความเสื่อมตามวัยและไม่เป็นอันตรายก็ตาม แต่เมื่อเริ่มสังเกตเห็นถึงอาการผิดปกติดังกล่าวก็ควรรีบไปพบจักษุแพทย์เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุให้แน่ชัด และรับการรักษาอย่างเหมาะสมในกรณีที่สาเหตุเกิดจากภาวะอันตรายที่จำเป็นต้องได้รับการรักษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีอาการเห็นเงาดำจุดใหม่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เห็นแสงวาบคล้ายฟ้าแลบในตา เห็นเงาคล้ายม่านบังตาบางส่วน หรือสายตามัวลง ผู้ป่วยก็ควรรีบไปพบจักษุแพทย์ในทันที

การป้องกันวุ้นตาเสื่อม

ส่วนการป้องกันวุ้นตาเสื่อมน้ัน หากเกิดจากภาวะเสื่อมตามธรรมชาติแล้ว มักจะไม่มีวิธีป้องกัน แต่หากเกิดจากสาเหตุที่ป้องกันได้ก็จะมีวิธีป้องกันตามแต่สาเหตุนั้น ๆ เช่น การป้องกันหรือดูแลควบคุมโรคเบาหวาน เป็นต้น อย่างไรก็ตามการมีสุขภาพทั่วไปที่ดีก็อาจจะช่วยป้องกันหรือชะลอการเสื่อมของวุ้นตาลงได้บ้าง โดยมีคำแนะนำว่า

  1. ออกกำลังกายที่เหมาะสมกับสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ
  2. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ (ในปริมาณที่เหมาะสมที่ไม่ทำให้เกิดโรคอ้วนและมีน้ำหนักตัวเกิน) เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง
  3. ในรายที่สูบบุหรี่อยู่ ถ้าเป็นไปได้ควรงดหรือเลิกการสูบบุหรี่
  4. หลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดอุบัติเหตต่าง ๆ ที่อาจส่งผลถึงดวงตา
  5. มีบางรายงานแนะนำให้ใช้ยาประเภทบำรุงร่างกายซึ่งเป็นวิตามินหรืออาหารเสริมประเภทสารต้านอนุมูลอิสระต่าง ๆ แต่ก็ยังไม่มีข้อพิสูจน์ที่แน่ชัดว่าได้ผลจริงหรือไม่ และได้ผลมากน้อยเพียงใด
  6. เมื่อมีโรคทางกายเรื้อรัง โดยเฉพาะโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง จะต้องดูแลควบคุมโรคที่เป็นอยู่ให้ดี
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2.  “อาการเห็นเงาหยากไย่ (floaters)”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  หน้า 957.
  2. ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล.  “วุ้นตาเสื่อม (Vitreous Degeneration)”.  (อ.พญ.โสมนัส ถุงสุวรรณ).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.si.mahidol.ac.th.  [23 ก.ค. 2017].
  3. ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.  “น้ำวุ้นตาเสื่อมตะกอนในวุ้นตาแสงแว่บในตาจอประสาทตาฉีกขาดจอประสาทตาหลุดลอก”.  (นพ.ณวัฒน์ วัฒนชัย).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.med.cmu.ac.th.  [25 ก.ค. 2017].
  4. หาหมอดอทคอม.  “วุ้นตาเสื่อม (Vitreous Floater)”.  (ศ.เกียรติคุณ พญ.สกาวรัตน์ คุณาวิศรุต).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : haamor.com.  [27 ก.ค. 2017].

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด