อาการติดเหล้า
เหล้าหรือสุราเป็นสารเสพติดที่ทำลายสมองและร่างกายของผู้ดื่มในระยะยาว ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนมากมาย ทั้งโรคตับอักเสบ ตับแข็ง โรคจิตจากการติดสุรา ความดันโลหิตสูง ชักจากการเสพติดสุรา โรคเพ้อคลั่ง โรคเลือดออกในกระเพาะอาหาร นอกจากโรคเหล่านี้แล้ว ยังมีอาการแทรกซ้อนต่าง ๆ ทั้งสมองเสื่อม ความจำ ความคิด และการตัดสินใจช้ากว่าปกติ ซึ่งจากสถิติจะพบว่า ผู้ป่วยที่ติดสุรานั้นจะเป็นเพศชายมากกว่าเพศหญิง
อาการแทรกซ้อนเหล่านี้จะต้องใช้ระยะเวลาในการดูแล และฟื้นฟูสมรรถภาพต่าง ๆ ค่อนข้างนาน และที่สำคัญก็คือ ครอบครัวจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการบำบัดผู้ป่วยด้วย เพื่อให้ผู้ป่วยเกิดความเข้มแข็งและสามารถดูแลตัวเองได้อย่างต่อเนื่อง
การหยุดดื่มสุราโดยทันทีจะเหมาะสำหรับผู้ดื่มที่ไม่มีอาการลงแดง (หรือเรียกว่า อาการถอนพิษสุรา, อาการขาดสุรา) ในช่วงเช้าหลังตื่น เช่น มีอาการคลื่นไส้อาเจียน ใจสั่น มือสั่น เหงื่อแตก และไม่มีเคยมีอาการลงแดงที่รุนแรงหลังการหยุดดื่มสุราในอดีต เช่น มีอาการกระสับกระส่ายอย่างรุนแรง ประสาทหลอน สมองสับสน หูแว่ว มีอาการชัก เป็นต้น ทั้งนี้ก็เพราะความเสี่ยงต่อการลงแดงนั้นมีไม่มาก ผู้ที่หยุดดื่มในทันที ควรจะติดตามอาการข้างต้น โดยเฉพาะในช่วง 3 วันแรก หากมีอาการคลื่นไส้อาเจียนอย่างรุนแรง หงุดหงิดกระสับกระส่ายเพิ่มมากขึ้น ใจสั่น มือสั่น เหงื่อแตก คุณควรรีบไปปรึกษาแพทย์เพื่อช่วยบำบัดอาการ
คุณมีแนวโน้มที่จะติดสุราหรือไม่
คำถามทั้ง 4 ข้อจากแบบทดสอบ CAGE (แบบประเมินเพื่อการวินิจฉัยเบื้องต้น) สามารถช่วยคุณในการประเมินตนเองได้ว่ามีแนวโน้มที่จะติดสุราได้ หากคำตอบคือ “ใช่” ตั้งแต่ 2 ข้อขึ้นไป ถือว่าคุณมีแนวโน้มของการติดสุรา และควรปรึกษาแพทย์ในการช่วยประเมินและช่วยเหลือต่อไป
- “คุณเคยรู้สึกว่าคุณควรลดการดื่มสุราหรือไม่“
- “คุณเคยรู้สึกรำคาญเวลาผู้อื่นวิพากษ์วิจารณ์การดื่มสุราของคุณหรือไม่“
- “คุณเคยรู้สึกไม่ดีหรือรู้สึกผิดเกี่ยวกับการดื่มสุราของคุณหรือไม่“
- “คุณเคยต้องดื่มสุราเป็นสิ่งแรกหลังตื่นนอนเพื่อทำให้ไม่กระวนกระวายหรือลดอาการเมาค้างหรือไม่“
วิธีการเลิกเหล้า
- มีความตั้งใจจริง อันดับแรกต้องมีความตั้งใจจริง ข้อนี้สำคัญและมีผลต่อการเลิกเหล้ามาก ๆ ถ้าคุณมีความตั้งใจ ความสำเร็จย่อมไม่ไกลเกินเอื้อมอย่างแน่นอน
- ต้องตั้งเป้าหมาย คุณควรตั้งเป้าหมายให้ได้ว่าจะเลิกเหล้าเพื่อใคร เพราะเหตุใดทำไมถึงต้องเลิก และให้ทำตามเป้าหมายให้สำเร็จให้ได้ เช่น เลิกเหล้าเพื่อพ่อแม่ เพราะการดื่มเหล้าอาจทำให้พ่อแม่ไม่สบายใจ เลิกเหล้าเพื่อครอบครัวและลูก และนึกถึงภารกิจที่คุณมีต่อครอบครัวและอนาคตของคุณ เพราะจะทำให้มีเงินเก็บมากขึ้น ลดการทะเลาะวิวาทให้น้อยลง ครอบครัวจะได้มีความสุขมากขึ้นเวลาอยู่ด้วย
- หาที่พึ่งทางใจรวมถึงหากำลังใจจากคนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นบุคคลในครอบครัว พ่อแม่ คนรัก คนใกล้ชิด หรือเพื่อนสนิท บอกกับเขาเหล่านั้นไปว่าตนเองกำลังเลิกเหล้าและให้ช่วยเป็นกำลังใจให้ด้วย
- หาแรงบันดาลใจ การได้พูดคุยหรืออ่านประสบการณ์ของคนที่เลิกเหล้าสำเร็จ ก่อนเขาเหลานั้นจะประสบความสำเร็จมีชีวิตที่สวยงาม ย่อมช่วยสร้างกำลังใจให้กับคุณได้อย่างมหาศาลเลยทีเดียว
- กลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน เป็นกลุ่มที่ช่วยเหลือกันเอง มีกระบวนให้เกิดการสร้างความหวังและพลังใจให้กันและกัน ซึ่งถือว่ามีส่วนสำคัญในการป้องกันการกลับไปดื่มซ้ำมาก ในต่างประเทศได้รับความนิยมกันมาก อย่างในอเมริกาและอีกหลายประเทศทั่วโลก เพราะจะช่วยทำให้ผู้มีปัญหาการติดสุรา สามารถหยุดดื่มได้นานขึ้นและมีชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งในประเทศไทยกำลังมีความพยายามที่จะจัดตั้งกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อนให้มีจำนวนมากขึ้นเพื่อรองรับกับปัญหาที่มีอยู่ โดยมีทั้งแบบจัดตั้งกันเองและจากการผลักดันของภาครัฐ เช่น ชมรมจิตอาสา โรงพยาบาลจอมทอง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ (เป็นกลุ่มช่วยเหลือกันเองแบบไม่เป็นทางการ), กลุ่มผู้ติดสุรานิรนามตามหลัก 12 ขั้นตอน เป็นกลุ่มติดสุราเรื้อรังนิรนาม (Alcoholics Anonymous) หรือกลุ่มเอเอ เป็นกลุ่มชายและหญิงที่มาแบ่งประสบการณ์ ความหวัง ช่วยกันแก้ปัญหา และช่วยเหลือผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับสุรา ปัจจุบันมีสมาชิกมากกว่า 2 ล้านคน และมีกลุ่มประมาณหนึ่งแสนกว่ากลุ่มอยู่ตามประเทศต่าง ๆ มากกว่า 180 ประเทศทั่วโลก อย่างในประเทศไทยจะมีกลุ่มเอเอที่ดำเนินการอย่างสม่ำเสมอประมาณ 12 กลุ่ม เช่น กลุ่มเอเอในศูนย์บำบัดยาเสพติดขอนแก่น จ.ขอนแก่น, กลุ่มเอเอในโรงพยาบาลอำเภอกุดชุม จ.ยโสธร, กลุ่มเอเอในโรงพยาบาลสวนปรุง จ.เชียงใหม่, กลุ่มเอเอที่ศูนย์การให้คำปรึกษาทางจิตวิทยานานาชาติ, กลุ่มเอเอในโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า กรุงเทพมหานคร เป็นต้น ซึ่งคุณสามารถค้นหาเข้าร่วมกลุ่มเอเอได้โดยติดต่อไปยังสถานบำบัดที่มีรายนามข้างต้นได้ หรืออาจหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับกลุ่มเอเอไทย โดยการติดต่อสายช่วยเหลือของเอเอ ได้ที่หมายเลข 085-199-3540 หรือที่อีเมล [email protected]
- ทบทวนตัวเอง คุณทบทวนตัวเองทุกวันถึงผลดีของการไม่ดื่มเหล้าและผลเสียของการดื่มเหล้า และระลึกถึงเหตุการณ์ในอดีตเทียบเคียงกับชีวิตตอนที่ไม่ดื่มเหล้าว่าดีขึ้นมากแค่ไหน (ในเรื่องของอุบัติเหตุประเทศไทยเคยมีรายงานว่าประมาณร้อยละ 40-50 ของอุบัติเหตุบนท้องถนนเกิดจากผู้ขับขี่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ส่วนในสุขภาพมีรายงานทางการแพทย์ว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพอย่างมาก และทำให้เกิดโรคมากกว่า 60 ชนิด และยังมีปัญหาด้านอื่น ๆ อีก เช่น การใช้ความรุนแรง การฆ่าตัวตาย ปัญหาอาชญากรรมที่เพิ่มขึ้น เป็นต้น)
- ไม่ปล่อยเวลาให้ว่าง ให้พยายามหากิจกรรมสร้างสรรค์ต่าง ๆ ที่ให้ความสุขใจแทนการดื่มสุรา เช่น ผ่อนคลายความเครียดด้วยการเล่นดนตรี ฟังเพลง ทำงานศิลปะ อ่านหนังสือ ดูหนัง ออกกำลังกาย เล่นกีฬาเบา ๆ ไปทำบุญเมื่อรู้สึกเหงา เศร้า หรือเครียด เป็นต้น
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และหากผู้ดื่มเป็นผู้สูบบุหรี่ด้วย คุณควรควบคุมปริมาณการสูบบุหรี่ให้ได้ ไม่สูบมากขึ้นหรือหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่เป็นทางออก
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ อย่างเพียงพอและเหมาะสม หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารมัน ๆ เนื่องจากตับอาจจะยังทำงานได้ไม่ดี จิบน้ำหวานบ่อย ๆ เพื่อเป็นการเพิ่มพลังงานให้แก่ร่างกาย หรือหันมาดื่มน้ำผลไม้เหล่านี้แทน เช่น น้ำผลไม้รวมรส น้ำสตรอว์เบอร์รี่ น้ำแอปเปิ้ลชาเขียว น้ำตะไคร้ใบเตย น้ำใบเตยหอม น้ำแคร์รอต แคร์รอตผสมเสาวรส น้ำมะเฟือง น้ำพฤกษา น้ำบีทรูท น้ำบีทรูทผสมสับปะรด น้ำบีทรูทผสมเสาวรส น้ำมะเขือเทศ น้ำแคร์รอตผักกาดหอม น้ำเกรปฟรุตผสมแคร์รอต น้ำม็อกเทลอัญชัน น้ำม็อกเทลกระเจี๊ยบ ชามะขาม ฯลฯ
- รับประทานวิตามิน อย่างวิตามินบี 1 วิตามินบี 6 และวิตามินบี 12 ชดเชยครั้งละ 1 เม็ด วันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร
- หยุดทันที ผู้ที่มีแนวคิดเพียงแค่ดื่มเพื่อความสนุกสนานหรือต้องการเข้าสังคม ในอนาคตก็อาจทำให้ติดเหล้าได้แบบไม่รู้ตัว ดังนั้นถ้าคุณตั้งใจจะเลิกเหล้า ก็ควรพยายามหักห้ามใจและหยุดดื่มในทันที
- รู้จักปฏิเสธให้เป็น ปฏิเสธให้เด็ดขาดเมื่อมีผู้ชักชวนหรือคะยั้นคะยอให้ดื่ม ซึ่งคุณอาจจะบอกเขาไปว่า ตนเองกำลังมีปัญหาโรคตับ, หมอสั่งให้งดดื่ม, ไม่ว่างต้องขับรถไปธุระ ฯลฯ
- หลีกเลี่ยงความเสี่ยง จากสถานการณ์หรือปัจจัยแวดล้อมที่อาจทำให้ดื่มสุราได้ง่ายขึ้น เช่น หลีกเลี่ยงการไปเที่ยวสถานบันเทิง ร้านอาหาร ผับ บาร์ ร้านขายสุรา หรือจากเพื่อนที่เป็นนักดื่ม ในช่วงเวลาหลังเลิกงาน วันที่เงินเดือนออก วาระหรือโอกาสพิเศษต่าง ๆ รวมไปถึงให้หลีกเลี่ยงสาเหตุต่าง ๆ ที่นำไปสู่อาการเครียด เศร้า เหงา ท้อแท้ เหน็ดเหนื่อย ฯลฯ เป็นต้น
- ตั้งเป้าลดปริมาณการดื่มให้ได้หรือดื่มให้น้อยลง เช่น จากที่เคยดื่มวันละ 8 แก้ว ก็อาจจะลดปริมาณการดื่มลงมาเรื่อย ๆ จนเหลือเพียงวันละ 1 แก้ว จนในที่สุดก็ไม่ดื่มเลยแม้แต่แก้วเดียว
- ปรับเปลี่ยนนิสัยการดื่ม เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้คุณดื่มเหล้าได้น้อยลงจนถึงขึ้นเลิกดื่มได้อย่างเด็ดขาด สำหรับคนที่เคยดื่มเหล้าเป็นประจำอาจจะเลิกทันทีได้ยาก แต่ให้คุณลองใช้วิธีดังต่อไปนี้ ซึ่งอาจจะช่วยลดปริมาณการดื่มเหล้าลงได้อย่างไม่น่าเชื่อ เช่น ทานอาหารก่อนดื่มและดื่มพร้อมกับรับประทานอาหาร เพื่อช่วยลดการดูดซึมของแอลกอฮอล์ให้ช้าลง, เลี่ยงอาหารรสเค็ม เพราะจะทำให้กระหายน้ำจนต้องดื่มมากขึ้น, จำกัดปริมาณการดื่มให้น้อยลง, ดื่มให้ช้า ๆ เพื่อจะได้มีสติในการยั้งคิด, เลือกเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ต่ำ เช่น ดื่มเบียร์แทนสุราหรือไวน์, ดื่มแบบผสมให้เจือจางเพื่อลดความเข้มข้นของแอลกอฮอล์, ดื่มน้ำเปล่าสลับกับการดื่มเหล้าเพื่อทิ้งช่วงในการดื่มให้ห่างขึ้น รวมไปถึงการไม่ดื่มสุราเมื่อมีการทานยาทุกชนิดและงดดื่มทันทีเมื่อมีปัญหาสุขภาพเกิดขึ้น
- ยาเบื่อเหล้า หรือ ยาอดเหล้า มีชื่อสามัญว่า ไดซัลฟิแรม (disulfiram) ขนาดยาเม็ดละ 500 มิลลิกรัม ขนาดรับประทานวันละ ½ – 1 เม็ด มีชื่อทางการค้าว่า chronol, difiram, alcobuse ซึ่งก่อนใช้ยาผู้ป่วยต้องหยุดดื่มเหล้าแล้วอย่างน้อย 1-2 วัน เพื่อให้แอลกอฮอล์หมดไปจากร่างกายก่อน กลไกการออกฤทธิ์ของยาชนิดนี้จะไปยับยั้งน้ำย่อยของตับ หากผู้ป่วยรับประทานยาไดซัลฟิแรมและไปดื่มเหล้าจะเกิดภาวะเป็นพิษ ทำให้มีอาการคลื่นไส้อาเจียน หน้าแดง ตัวแดง ปวดเวียนศีรษะ หน้ามืด เป็นลมหมดสติ ในกรณีที่มีอาการรุนแรงอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ ดังนั้นยาตัวนี้จึงเหมาะกับผู้ที่ต้องการหยุดดื่มเหล้าโดยเด็ดขาด ซึ่งจะเป็นการรับประทานยาเพื่อเตือนใจว่าตัวเองไม่สามารถกลับไปดื่มได้อีก เพราะถ้าหากกลับไปดื่มจะเกิดอาการไม่ถึงประสงค์ดังกล่าว ด้วยเหตุนี้จึงไม่ควรแอบให้ยาแก่ผู้ป่วยทานโดยไม่รู้ตัว (เหมือนเช่นที่ภรรยาเคยทำมาในอดีต) เพราะอาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ โดยคุณสามารถหาซื้อยาชนิดนี้ได้ตามร้านขายยาทั่วไป แต่ยาที่เหมาะสมและปลอดภัยที่สุดคือยาที่ได้รับจากแพทย์ แนะนำว่าหากต้องการใช้ยาควรพาผู้ดื่มไปพบแพทย์เพื่อประเมินอาการ และจ่ายยาในขนาดที่เหมาะสมจะดีกว่า
- ยาเลิกเหล้า ในปัจจุบันยารักษาโรคติดสุราที่ได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ จะมีอยู่ด้วยกัน 3 ชนิด 4 ขนาน ได้แก่
- ยา naltrexone (NTX) มีชื่อทางการค้าว่า Revia / Depade ยาชนิดนี้ยังไม่มีใช้ในประเทศไทย เป็นยาที่ออกฤทธิ์โดยการไปปิดกั้นตัวรับชนิดโอปิออยด์ (opioid receptors) ซึ่งมีผลทำให้สามารถลดความอยากและความพอใจจากการดื่มลง
- ยา extended-release injectable naltrexone (ERIN) เป็นยาฉีดออกฤทธิ์ยาวที่ยังไม่มีใช้ในประเทศไทยเช่นกัน มีชื่อทางการค้าว่า Vivitrol ออกฤทธิ์เช่นเดียวกับยา naltrexone แต่จะออกฤทธิ์ได้นาน 30 วัน
- ยา acamprosate (ACP) ยังไม่มีใช้ในประเทศไทย มีชื่อทางการค้าว่า Campral ยาชนิดนี้จะไปออกฤทธิ์กับระบบสารสื่อประสาทชนิดกลูตาเมท (glutamate) และ GABA แต่ยังไม่ทราบกลไกการออกฤทธิ์ที่เกี่ยวข้องกับสุรา
- ยา disulfiram (DSF) เป็นยาที่ประเทศไทยนำมาใช้ในการเลิกเหล้า เมื่อผู้ป่วยดื่มสุรา ยาจะออกฤทธิ์ไปยับยั้งการสลายแอลกอฮอล์ ทำให้ระดับ acetaldehyde ในเลือดสูงขึ้น ส่งผลให้เกิดอาการวูบวาบ คลื่นไส้ หัวใจเต้นเร็ว และเหงื่อออก
- นอกจากนี้ ยังมียารักษาโรคอื่นที่มีหลักฐานว่าสามารถช่วยรักษาการติดสุราได้ ที่นิยมใช้กันคือ ยา topiramate มีชื่อทางการค้าว่า Topamax เชื่อว่าออกฤทธิ์โดยเพิ่มการทำงานของระบบสารสื่อประสาทชนิด GABA และลดการทำงานของระบบสารสื่อประสาทชนิด glutamate
- สมุนไพรเลิกเหล้า ได้แก่ ตำรับยาเลิกเหล้าจากการใช้รากปลาไหลเผือก รากโลดทะนงแดง และพญาไฟ นำมาฝนกับน้ำกิน, ใช้รากมะยมตัวผู้นำมาสับเป็นชิ้นบาง ๆ จำนวน 10 ชิ้น ชิ้นละ 2 ข้อมือ แล้วนำไปย่างไฟก่อนแล้วจึงนำมาตากแดด 3 แดด จากนั้นให้นำไปดองกับเหล้าขาวพอท่วมยาประมาณ 5 วัน ใช้ดื่ม ยิ่งดื่มช่วงกำลังเมาจะยิ่งดี เมื่อดื่มไปไม่ถึงครึ่งแก้วจะมีอาการคลุ้มคลั่งและอาเจียนออกมา ซึ่งช่วงนี้ให้ระวังให้มาก ต้องหาคนช่วยจับ ถ้าหมดช่วงนี้ไปได้ก็จะเป็นปกติและจะไม่อยากดื่มเหล้าอีกเลย เป็นต้น แต่ในปัจจุบันได้มีสมุนไพรเลิกเหล้าสำเร็จออกจำหน่ายแล้ว ซึ่งสามารถช่วยลดอาการอยากสุราได้ จนท้ายสุดก็สามารถเลิกได้ในที่สุด ยังไงลองค้นหาข้อมูลดูได้ครับ
- ปรึกษาหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อขอความช่วยเหลือ หากคุณมีปัญหา มีข้อสงสัย หรืออยากได้คำแนะนำเพิ่มเติม ก็สามารถโทรไปปรึกษาได้ที่หน่วยงานต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ คือ สายด่วนเลิกเหล้า ศูนย์ปรึกษาปัญหาสุรา โทร 1413, สายด่วนยาเสพติด สถาบันธัญญารักษ์ โทร 1165, โรงพยาบาลและสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ
- เลิกเหล้ากับหมอ การบำบัดรักษาทางการแพทย์เพื่อเลิกสุราจะมีอยู่ด้วยกัน 4 ขั้นตอน
- ขั้นเตรียมการบำบัด ในขั้นนี้แพทย์จะทำการตรวจประเมินสุขภาพ ให้ความรู้ ทำความเข้าใจเกี่ยวกับการบำบัด และจูงใจให้ผู้ป่วยเลิกสุรา
- ขั้นถอนพิษสุรา ขั้นนี้จะเป็นการช่วยให้ผู้ป่วยหยุดเหล้าเบื้องต้น ช่วยบรรเทาอาการถอนโดยให้ยาชดเชยและป้องกันอาการถอนรุนแรง ซึ่งจะใช้ระยะเวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์
- ขั้นฟื้นฟูสมรรถภาพ ขั้นนี้จะเป็นการบำบัดในช่วงหลังจากการถอนพิษสุรา และผู้ป่วยสามารถหยุดสุราเบื้องต้นได้แล้ว มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยสามารถหยุดสุราได้อย่างต่อเนื่อง ทนต่ออาการอยากสุรา และมีชีวิตที่สมดุลโดยปลอดจากสุรา ซึ่งการฟื้นฟูส่วนใหญ่จะมีระยะเวลาประมาณ 4-6 เดือน ทางโรงพยาบาลจะมีโปรแกรมการฟื้นฟูหลายรูปแบบ เช่น รูปแบบผู้ป่วยนอก คือ จะเป็นการไปพบแพทย์และรับยามารับประทานเองที่บ้าน หรือรูปแบบผู้ป่วยใน ที่ผู้ป่วยจะต้องอยู่ในสถานพยาบาล โดยโปรแกรมการฟื้นฟูสมรรถภาพอาจจะกระทำในลักษณะการบำบัดเป็นรายบุคคลหรือแบบเป็นกลุ่ม และญาติอาจจำเป็นต้องเข้าไปร่วมด้วยในบางชั่วโมงของการบำบัด ซึ่งเน้อหาในโปรแกรมนี้ ก็จะมีการให้ความรู้เกี่ยวกับโรคติดสุรา การสร้างแรงจูงใจให้เลิกสุรา การปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม การผ่อนคลายความเครียด การป้องกันการติดสุราซ้ำ ให้คำปรึกษาแก่ครอบครัว เป็นต้น
- ขั้นติดตามผล เป็นการติดตามผลการบำบัดรักษาฟื้นฟู และเป็นการช่วยเหลือให้ผู้ป่วยมีวิถีชีวิตปกติและหยุดสุราได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะใช้ระยะเวลาประมาณ 1-2 ปี
วิธีช่วยให้คนข้างตัวเลิกเหล้า
การชักจูงให้คนข้างตัวเลิกเหล้าด้วยวิธีการขู่ ดุด่า ข้อร้อง หรือแม้กระทั่งการยื่นคำขาดโดยเอาความสัมพันธ์มาเป็นเดิมพัน ผลที่ได้อาจไม่คุ้มกับที่เราต้องแลกมา เพราะอาจทำให้เสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์ เสียใจ เสียแรง หรืออาจถึงขั้นต้องเลิกรากันไป ฯลฯ โดยเทคนิควิธีการชักจูงที่เหมาะสมและให้ผลดีในการพูดคุยกับคนข้างตัว มีดังนี้
- พูดในเวลาที่เหมาะสม คือ ไม่ควรพูดในช่วงที่เขาเมาอยู่ แต่ให้พูดในช่วงที่เขาไม่เมา เพราะตอนนั้นเขาจะมีสติสัมปชัญญะที่จะสามารถรับฟังเหตุผลของคุณได้มากที่สุด และที่สำคัญไม่ควรด่าว่า มองด้วยแววตาดุร้าย หรือยืนเหนือเขา เพราะจะยิ่งทำให้เขาก้าวร้าวและทำร้ายคุณได้
- ไม่เซ้าซี้ให้เลิกดื่มอยู่ตลอดเวลา แต่เปลี่ยนมาเป็นการแสดงความเป็นห่วงเรื่องสุขภาพด้วยความจริงใจและพาไปตรวจสุขภาพแทน แต่หากไม่ได้ผลก็ควรทิ้งระยะเวลาช่วงหนึ่งแล้วค่อยแสดงความเป็นห่วงอีก
- หากผู้ดื่มเต็มใจอยากเลิกหรือบ่นว่าอยากเลิกดื่มสุรา คุณไม่ควรละเลยโอกาสนี้ไป ซึ่งสิ่งแรกที่คุณควรทำคือการชื่นชมในความคิดส่วนนี้ของเขา พร้อมกับให้กำลังใจ ให้ความเชื่อมั่นว่าเขาสามารถทำได้ และคุณจะอยู่เคียงข้างเขาเสมอ จากนั้นก็ให้แนะนำวิธีการช่วยเหลือต่าง ๆ และพาไปหาหมอโดยให้ความเชื่อมั่นว่าหมอจะช่วยเหลือให้เขาเลิกสุราได้สำเร็จและไม่ทรมาน
- ในกรณีที่ให้ข้อมูลวิธีการช่วยเหลือจากแพทย์แล้ว แต่ผู้ดื่มยืนยันหนักแน่นว่าจะไม่ไป และจะขอหยุดดื่มด้วยตัวเอง คุณอาจสอบถามถึงสาเหตุที่ไม่ไปพบหมอและอาจให้ความมั่นใจอีกครั้งว่าการไปพบหมอเป็นวิธีการที่ปลอดภัย ไม่ทรมาน และมีโอกาสเลิกได้สูง เพราะหมอจะมีตัวยาช่วยเหลือ แต่หากเขายังยืนยันที่จะหยุดดื่มด้วยตัวเอง คุณก็ไม่ควรไปเซ้าซี้ต่อ และให้เขาลองหยุดดื่มด้วยตัวเองไปก่อน พร้อมกับหาวิธีการหยุดดื่มด้วยตัวเองเพื่อช่วยเหลือเขาต่อไป
สถานที่เลิกเหล้า
คุณสามารถค้นหาศูนย์เลิกเหล้าหรือสถานบำบัดได้จากสถานพยาบาลของรัฐและเอกชนทั่วไป ที่แผนกจิตเวชหรือแผนกอื่น ๆ ที่รับบำบัดรักษา เช่น เวชศาสตร์ครอบครัว คลินิกยาเสพติด หรือศูนย์ซับน้ำตา เป็นต้น โดยแจ้งกับทางเจ้าหน้าที่ว่าต้องการบำบัดรักษาเพื่อเลิกสุรา ซึ่งคุณสามารถใช้สิทธิในการรักษาที่มีได้ เช่น สิทธิบัตรทอง สิทธิประกันสังคม หรือสิทธิเบิกจ่ายตรงได้ แต่ทั้งนี้ต้องตรวจสอบกับสถานบำบัดนั้น ๆ ก่อนว่าเราสามารถใช้สิทธิใดได้บ้าง แต่สำหรับใครที่ไม่ทราบว่าสถานบำบัดที่ไหนใกล้บ้านบ้าง ก็แนะนำให้เข้าไปที่เว็บไซต์นี้ได้เลยครับ http://www.1413.in.th/treatment.htm จากนั้นก็ให้กรอกจังหวัดและประเภทของสถานบำบัดและกดค้นหาตามตัวอย่างครับ
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)