การล้างผักผลไม้ : วิธีล้างผักให้สะอาด 16 วิธี !

ล้างผักผลไม้

ผักและผลไม้สดที่วางจำหน่ายตามท้องตลาดส่วนใหญ่จะมีสารพิษจากยาป้องกันและกำจัดศัตรูพืชตกค้างอยู่ รวมไปถึงเชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส และสารโลหะหนักอื่น ๆ ที่ปะปนมากับผักผลและไม้ ซึ่งสารเหล่านี้จะก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพในหลาย ๆ ด้าน สารพิษเหล่านี้จะเกาะกับผิวบางส่วนและแทรกซึมเข้าไปในเนื้อเยื่อของผักผลไม้ ทำให้ผู้บริโภคอย่างเราไม่สามารถมองเห็นสารพิษที่ติดมากับผักและผลไม้

โรคที่มาพร้อมกับผักและผลไม้ที่ปนเปื้อนสารพิษจะมีทั้งโรคชนิดที่เกิดแบบเฉียบพลันและโรคเรื้อรัง อาการเฉียบพลัน เช่น ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน หน้ามืด หายใจไม่ออก ปวดท้อง ท้องเสีย เป็นไข้ ตัวชา หรือแม้แต่หมดสติไป หรือที่เรียกว่า “อาหารเป็นพิษ” ส่วนโรคเรื้อรังของการได้รับสารพิษที่มาจากผักและผลไม้ ส่วนมากจะมาจากการได้รับสารจากยาฆ่าแมลง เช่น ทำให้เกิดโรคมะเร็ง โรคอัลไซเมอร์ โรคพาร์กินสัน โรคกระเพาะอาหาร การเจริญเติบโตที่ผิดปกติในเด็กและทำให้เกิดความเครียด เป็นต้น

ดังนั้นเพื่อให้เกิดความมั่นใจการในการรับประทานผักผลไม้อย่างปลอดภัย ก่อนนำไปรับประทานหรือปรุงอาหารต้องนำมาล้างให้สะอาดเสียก่อน ซึ่งในปัจจุบันก็มีวิธีการล้างผักอยู่หลายวิธีเพื่อช่วยลดปริมาณของสารพิษตกค้างที่มากกับผักผลไม้ให้มีปริมาณลดน้อยลง แต่ละวิธีก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งจะใช้วิธีใดก็ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมเป็นหลัก

วิธีล้างผักผลไม้

  • การแช่น้ำ – เริ่มด้วยการล้างผักรอบแรกให้สะอาดเสียก่อน หลังจากนั้นเด็กผักออกเป็นใบ ๆ แล้วนำมาแช่ในอ่างน้ำที่เตรียมไว้ประมาณ 15 นาที วิธีนี้จะช่วยลดสารพิษจากฆ่ายาแมลงได้ประมาณ 7-33%

วิธีแช่ผักในน้ำ

  • ล้างผักโดยให้น้ำไหลผ่าน – โดยเด็ดผักออกเป็นใบ ๆ นำมาใส่ในตะกร้าหรือตะแกรงโปร่ง แล้วเปิดน้ำให้แรงพอประมาณ ระหว่างล้างให้ใช้มือช่วยคลี่ใบผักและถูไปมาบนผิวใบของผักผลไม้ไปด้วยประมาณ 2 นาที วิธีนี้จะช่วยลดสารพิษจากยาฆ่าแมลงได้ประมาณ 25-63% (วิธีนี้เป็นวิธีที่นิยมและได้ผลดีมากวิธีหนึ่งครับ แต่จะมีข้อเสียในเรื่องของการใช้เวลานานในการล้างและต้องใช้น้ำสะอาดปริมาณมาก แต่ถ้าเป็นไปได้ก็ให้นำน้ำส่วนที่เหลือไปรดน้ำต้นไม้ก็ดีครับ)

ล้างผักด้วยน้ำเปล่า

  • ปอกเปลือก – วิธีนี้ให้นำผักหรือผลไม้มาปอกเปลือกหรือการลอกใบผักชั้นนอกออก เช่น กะหล่ำปลี ฯลฯ โดยให้ลอกเปลือกหรือกาบด้านนอกออกทิ้งสัก 2-3 ใบ เพราะสารพิษส่วนใหญ่จะสะสมตกค้างบริเวณเปลือกด้านนอกหรือบริเวณกาบ แล้วจึงนำไปแช่ในน้ำสะอาดอีกประมาณ 5-10 นาที หลังจากนั้นก็ล้างด้วยน้ำสะอาดอีกครั้งหนึ่ง วิธีนี้จะช่วยลดปริมาณของสารพิษตกค้างได้ประมาณ 27-72%

ปอกเปลือกผลไม้

  • ลวกผักหรือต้มผัก – ก่อนนำมาลวกให้นำผักมาล้างให้สะอาดเสียก่อน แล้วจึงนำมาลวกหรือต้ม โดยการลวกผักด้วยน้ำร้อนจะช่วยลดสารพิษได้ 50% ส่วนการต้มผักนั้นก็ช่วยลดสารพิษได้ประมาณ 50% เช่นกัน แต่การต้มผักจะมีสารพิษที่ตกค้างอยู่ในน้ำแกงได้ ดังนั้นจึงควรทิ้งน้ำที่ต้มครั้งแรกเสียก่อน แล้วจึงค่อยนำไปประกอบอาหารหรือรับประทาน (วิธีนี้เป็นอีกวิธีที่ดีและปลอดภัย แต่จะทำให้ผักและผลไม้เสียคุณค่าทางอาหารไปกับน้ำและความร้อน เช่น วิตามินบี1 วิตามินบี3 วิตามินซี เป็นต้น)

การต้มผัก

  • น้ำเกลือ – ให้ใช้เกลือป่น 1 ช้อนโต๊ะ นำมาผสมกับน้ำ 4 ลิตร แล้วนำผักผลไม้มาแช่ทิ้งไว้ประมาณ 10 นาที หลังจากนั้นให้ล้างออกด้วยน้ำสะอาดอีกครั้งหนึ่ง จะช่วยลดปริมาณของสารพิษตกค้างได้ประมาณ 27-38% (วิธีนี้ไม่ค่อยเป็นที่นิยมมากนัก เพราะลดปริมาณของสารพิษได้ไม่มาก และอาจทำให้ผักและผลไม้มีรสเค็มได้) แต่บางข้อมูลกลับระบุว่าการใช้น้ำเกลือล้างผักผลไม้ไม่ได้ช่วยทำให้ผักสะอาดขึ้นได้แต่อย่างใด เนื่องจากเกลือเป็นโซเดียมคลอไรด์ที่มีส่วนทำให้สารตกค้างหรือยาฆ่าแมลงนั้นคงทนยิ่งขึ้น ทำให้ยังมีสารตกค้างอยู่ผักและผลไม้ แต่ข้อมูลส่วนนี้เองผู้เขียนเองก็หาแหล่งอ้างอิงไม่เจอครับ จริงเท็จประการใดก็ไม่ทราบ ทางที่ดีก็ให้ลองเลือกใช้วิธีอื่นแทนจะดีกว่าครับ

ล้างผักด้วยเกลือ

  • น้ำซาวข้าว – ให้นำผักหรือผลไม้มาแช่ด้วยซาวข้าวประมาณ 10 นาที หลังจากนั้นให้ล้างออกด้วยน้ำสะอาดอีกครั้ง วิธีนี้จะช่วยลดปริมาณของสารพิษตกค้างได้ 29-38%

ล้างผักด้วยน้ำซาวข้าว

  • น้ำปูนใส (ทำมาจากปูนแดงหรือปูนขาวที่กินกับหมาก) – ให้เตรียมน้ำปูนใสอิ่มตัวที่ผสมกับน้ำเท่าตัว แล้วนำมาผักมาแช่ในน้ำปูนใสประมาณ 10 นาที หลังจากนั้นให้ล้างออกด้วยสะอาดอีกครั้งหนึ่ง วิธีนี้จะช่วยลดปริมาณของสารพิษตกค้างได้ประมาณ 34-52%

ล้างผักด้วยน้ำปูนใส

  • ผงปูนคลอรีน (Calcium Hypochlorite – แคลเซียมไฮโปคลอไรต์) – ให้ใช้ผงปูนคลอรีน 60% จำนวน 1/2 ช้อนชา (ความเข้มข้นของคลอรีน 50 พีพี เอ็ม) นำมาผสมกับน้ำ 20 ลิตร แล้วนำมาผักผลไม้มาแช่ทิ้งไว้ประมาณ 15-30 นาที วิธีนี้จะช่วยฆ่าเชื้อโรคได้ดีมาก

ผงปูนคลอรีนล้างผัก

  • ด่างทับทิม (Potassium permanganate – โพแทสเซียมเปอร์แมงกาเนต) – ให้ใช้ด่างทับทิมประมาณ 20-30 เกล็ด (ด่างทับทิมจะมีลักษณะเป็นผลึกหรือเกล็ดสีม่วง สามารถละลายน้ำได้) ที่ผสมกับน้ำ 4 ลิตร แล้วจึงนำผักมาแช่ไว้ในน้ำด่างทับทิมประมาณ 10 นาที หลังจากนั้นให้ล้างออกด้วยสะอาดอีกครั้งหนึ่ง วิธีนี้จะช่วยลดประมาณของสารพิษตกค้างได้ประมาณ 35-43% (การใช้ด่างทับทิมในปริมาณที่มากจนเกินไป อาจเป็นอันตายต่อระบบทางเดินอาหาร ถ้าหากสูดดมไอระเหยของด่างทับทิมเข้าไปมาก ๆ ก็อาจทำให้ระบบทางเดินหายใจมีปัญหาได้ และถ้าด่างทับทิมเข้าตาก็อาจทำให้ตาบอดได้ ดังนั้นการใช้วิธีนี้จึงต้องใช้อย่างระมัดระวังครับ อีกอย่างการใช้ด่างทับทิมต้องใช้ในปริมาณน้อย ไม่งั้นผักและผลไม้จะเหี่ยวหรือเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลได้ ทำให้เปื้อนมือ เปื้อนอ่างด้วย)

ด่างทับทิมล้างผัก

  • น้ำส้มสายชู (Vinegar) – วิธีนี้ให้เตรียมน้ำสายชูที่มีกรดน้ำส้มความเข้มข้น 5% ของกรดน้ำส้ม นำมาผสมกับน้ำในอัตราส่วน 1 : 10 ส่วน แล้วจึงนำผักมาแช่ทิ้งไว้ประมาณ 10-15 นาที แล้วค่อยล้างออกด้วยน้ำสะอาดอีกรอบหนึ่ง จะช่วยลดสารพิษจากยาฆ่าแมลงได้ประมาณ 60-84% (การใช้วิธีนี้ล้างผัก ภาชนะที่ใส่ผักล้างไม่ควรเป็นพลาสติก และการล้างผักด้วยวิธีนี้อาจทำให้ผักบางชนิดมีกลิ่นของน้ำส้มสายชูติดมาได้ เพราะผักบางอย่าง เช่น ผักกาดขาว ผักกาดเขียว อาจมีการดูดรสเปรี้ยวจากน้ำส้มสายชู และทำให้ผักมีรสชาติเปลี่ยนไป)

น้ำส้มสายชูล้างผัก

  • เบกกิ้งโซดา หรือ โซเดียมไบคาร์บอเนต (Sodium bicarbonate) – บ้างเรียกว่า “โซดาทำขนมปัง” แต่มีชื่อคุ้นหูว่า “เบกกิ้งโซดา” (Baking Soda) สามารถนำมาใช้ล้างสารพิษจากผักและผลไม้ได้เช่นกันครับ และเป็นวิธีที่นิยมกันมากด้วย ด้วยการใช้โซเดียมไบคาร์บอเนต 1/2 ช้อนโต๊ะ ผสมกับน้ำ 10 ลิตร แล้วนำผักหรือผลไม้มาแช่ไว้ประมาณ 15 นาที หลังจากนั้นค่อยล้างออกด้วยน้ำเปล่า 2 ครั้ง วิธีนี้จะช่วยลดสารพิษได้มากถึง 90-95% เลยทีเดียว (ข้อเสียของการใช้เบกกิ้งโซดาในการล้างผักผลไม้ คือ เบกกิ้งโซดาจะมีส่วนผสมของโซเดียมอยู่ และอาจจะดูดซึมเข้าสู่ผักและผลไม้ที่นำไปแช่ได้ เพราะถ้าหากล้างไม่สะอาด การได้รับเบกกิ้งโซดาในปริมาณมากเกินไปก็อาจทำให้ท้องเสียได้ครับ) เพิ่มเติมครับ : เบกกิ้งโซดาไม่ใช่ผงฟู เพราะผงฟูคือ เบกกิ้งโซดา + แป้ง

เบกกิ้งโซดาล้างผัก

  • ผงฟู (Baking Powder) (เบกกิ้งโซดา + แป้ง) – ให้ใช้ผงฟู 1/2 ช้อนโต๊ะ นำมาผสมกับน้ำอุ่นหรือน้ำธรรมดา 10 ลิตร แล้วนำผักหรือผลไม้มาแช่ทิ้งไว้ประมาณ 15 นาที แล้วค่อยล้างออกด้วยสะอาดอีกครั้งหนึ่ง วิธีนี้สามารถช่วยลดปริมาณของสารพิษจากยาฆ่าแมลงได้มากกว่า 90% และเป็นวิธีที่ปลอดภัยไม่เป็นอันตราย (เพราะผงฟูกินได้)

ผงฟูล้างผัก

  • น้ำยาล้างผัก – การแช่ผักในน้ำยาล้างผักที่มีวางจำหน่ายกันอยู่ทั่วไป ให้เลือกใช้ที่มีความเข้มข้นประมาณ 0.3% ในน้ำ 4 ลิตร และนำผักหรือผลไม้มาแช่ทิ้งไว้ประมาณ 15 นาที วิธีนี้จะช่วยลดปริมาณของสารพิษจากยาฆ่าแมลงได้ประมาณ 25-70% (การเลือกใช้น้ำยาล้างผักจะต้องดูให้ดีกว่าน้ำยาล้างผักมีส่วนประกอบอะไรบ้าง และต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง เพราะในบางครั้งน้ำยาล้างผักจะแทรกซึมเข้าไปในผักและอาจเป็นอันตรายกับเราได้)

น้ำยาล้างผัก

  • น้ำยาล้างจานหรือน้ำยาล้างขวดนม – การล้างผลไม้โดยใช้น้ำยาล้างจานหรือน้ำยาล้างขวดนมกับฟองน้ำถูเบา ๆ จะช่วยลดโอกาสการติดเชื้อที่อยู่บริเวณผิวของผลไม้ได้ และการล้างไข่ก่อนทำอาหารก็สามารถใช้วิธีนี้ได้เช่นกัน โดยวิธีนี้จะช่วยลดการปนเปื้อนของเชื้อได้มากกว่า 95%
  • ผงถ่าน – ผงถ่านแอคติเวทชาร์โคลหรือผงคาร์บอนกัมมันต์ (activated carbon) หรือถ่านกัมมันต์ (activate chacoal) เป็นวัสดุคาร์บอนซึ่งมีเนื้อพรุน มีคุณสมบัติในการดูดซับสูงมาก ทำให้มันสามารถจับสารในปริมาณมากมายไว้ที่ผิว ด้วยคุณสมบัตินี้เองเราจึงนำมาใช้ประโยชน์ในการล้างผักผลไม้ได้ ซึ่งมันจะช่วยดูดกลิ่น ดูดสี ดูดซับสารพิษออกจากผัก แต่จะจะไม่ดูดซับแร่ธาตุออกไป อีกทั้งร่างกายก็ไม่สามารถดูดซึมผงถ่านได้ จึงไม่เป็นอันตรายเพราะร่างกายสามารถขับออกได้ แต่การนำมาใช้ล้างผักผลไม้ หากใช้ในปริมาณน้อยและแช่ไว้ไม่นานพอ ก็จะไม่สามารถดูดซับสารพิษออกมาได้หมดครับ ซึ่งวิธีการใช้ก็ให้ใช้ผงถ่าน 1 ช้อนชา ต่อน้ำ 5 ลิตร แล้วนำผักผลไม้มาแช่ไว้ประมาณ 20 นาที แล้วค่อยล้างออกด้วยน้ำสะอาด

ผงถ่านล้างผัก

  • สำหรับถั่วแห้งทุกชนิด ควรล้างด้วยน้ำให้สะอาดก่อนนำมาปรุงอาหารเป็นอาหาร

คำแนะนำในการล้างผัก

จะเห็นได้ว่าในแต่ละวิธีก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกันออกไป จะเลือกวิธีไหนก็ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม ความสะดวกของแต่ละคน รวมไปถึงชนิดและปริมาณของผักไม้ และเวลาที่มีอยู่ของแต่ละคน และที่สำคัญอย่างมากก็คือให้พยายามรับประทานผักและผลไม้ให้หลากหลายชนิด ไม่ควรรับประทานแบบซ้ำ ๆ เดิม ๆ เลือกรับประทานผักหรือผลไม้ตามฤดูกาล เปลี่ยนร้านที่ซื้อผักหรือผลไม้บ้าง หรือเลือกซื้อกับร้านที่ไว้ใจได้ ถ้าจะให้ดีก็ให้เลือกรับประทานผักปลอดสารพิษ ผักออแกนิก (ผักเกษตรอินทรีย์) ที่ผ่านการรับรอง ผักผลไม้ที่มีร่องรอยที่ถูกหนอนเจาะบ้าง เนื่องจากถ้าผักหรือผลไม้มีสารตกค้างหรือมีสารพิษก็จะได้ไม่ทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายของเรามากนัก

ภาพประกอบ : pantip.com (by รักคุณแฟน, สมาชิกหมายเลข 1060686), www.bloggang.com (by kuky, bebuaza), www.rakbankerd.com, www.noohom.com, spokedark.tv

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด