วิธีลดน้ำหนักแบบนักมวย : เพียง 1 เดือนลดได้เกิน 10 กิโลกรัม !!

การลดน้ำหนักแบบนักมวยจริง ๆ เป็นการลดน้ำหนักที่ต้องใช้วินัยและความพยายามอย่างมาก ซึ่งการลดน้ำหนักแบบนักมวยนั้น บางอย่างอาจไม่ได้เหมาะกับคนทั่วไป เนื่องจากบางอย่างผิดหลักวิทยาศาสตร์การกีฬา เช่น ออกกำลังกายอย่างหักโหม การใส่เสื้อลดน้ำหนักเพื่อรีดน้ำออกจากร่างกายซึ่งเป็นการทรมานร่างกาย หรือบางอย่างก็ผิดหลักทางการแพทย์ เช่น การอดอาหารหรือลดการกินน้ำก่อนขึ้นชก 3-4 วัน โดยความรู้และประสบการณ์ต่าง ๆ ที่จะกล่าวถึงในบทความนี้มาจากเจ้าของยิมมวยไทยแห่งหนึ่ง (สมาชิกหมายเลข 1243219) จากกระทู้ pantip.com/topic/33625535 ครับ

นักมวยลดน้ำหนักกันครั้งละเท่าไร ?

โดยปกติแล้วภายใน 1 เดือน นักมวยไทยจะต้องลดน้ำหนักให้ได้ประมาณ 8-10 กิโลกรัม หรือมากกว่า 15 กิโลกรัม ในกรณีที่นักมวยห่างหายจากเวทีไปนาน โดยน้ำหนักที่ต้องการลดจะขึ้นอยู่กับน้ำหนักตัวปัจจุบันกับน้ำหนักในพิกัดที่ต้องลดเพื่อขึ้นชก อย่างเช่นถ้าน้ำหนักปัจจุบันหนัก 60 กิโลกรัม ถ้าหัวหน้าค่ายสั่งให้ขึ้นชกในพิกัด 52 กิโลกรัม นักมวยก็ต้องลดน้ำหนักมาอยู่ในพิกัดที่หัวหน้าค่ายสั่งให้ได้

ทำไมต้องลดน้ำหนักเยอะขนาดนั้น ?

เพราะมวยเป็นกีฬาที่ต้องใช้น้ำหนักในการแบ่งรุ่น โดยปกติแล้วนักมวยจะมี “น้ำหนักธรรมชาติ” ที่ไม่ว่าจะซ้อมหนักแค่ไหนน้ำหนักก็จะลงมาอยู่ที่น้ำหนักธรรมชาตินี้ ซึ่งเจ้าของค่ายมวยต่างรู้ดีว่าถ้าอยากจะให้นักมวยได้เปรียบเรื่องรูปร่างจะต้องให้นักมวยลดน้ำหนักลงมาอีก 3 กิโลกรัม ทำให้เหมือนได้ชกกับนักมวยที่ตัวเล็กกว่า และสาเหตุหลักอีกอย่างก็คือ หัวหน้าค่ายเป็นคนสั่งให้ลดน้ำหนัก ถ้านักมวยไม่ลดน้ำหนักก็ไม่ได้ขึ้นชก ทำให้ไม่ได้เงินค่าตัว เพราะนักมวยทุกคนจะได้รับค่าจ้างจากการขึ้นชกเท่านั้น ไม่ใช่รับเงินค่าจ้างเป็นรายเดือน

โปรแกรมการซ้อมและลดน้ำหนัก

โดยทั่วไปนักมวยไทยจะมีโปรแกรมการชกบนเวทีมาตรฐาน (เวทีลุมพินี หรือ เวทีราชดำเนิน) เดือนละ 1 ครั้ง ซึ่งตารางการฝึกก็จะเริ่มต้นใหม่ทุก ๆ เดือน ดังนี้ครับ

  • วันที่ 1-5 : วันแห่งการพักผ่อน ก่อนการขึ้นชกครั้งถัดไป โดยทั่วไปแล้วนักมวยส่วนใหญ่หลังขึ้นชกบนเวทีมาตรฐาน หัวหน้าค่ายจะสั่งให้นักมวยหยุดพักผ่อน ซึ่งนักมวยก็จะนำเงินที่ได้มาไปใช้กินเลี้ยงกับเพื่อนพี่น้อง จึงส่งผลทำให้น้ำหนักตัวพุ่งพรวดในระยะเวลาอันรวดเร็ว
  • วันที่ 6 : เริ่มเข้าสู่โปรแกรมการซ้อม เมื่อกลับมาที่ค่ายทางเทรนเนอร์จะให้นักมวยกิน “ยาน้ำระดมพล” ขวดละประมาณ 35 บาท (ภาพจาก : สมาชิกหมายเลข 1059903) ซึ่งเป็นยาระบายอ่อน ๆ เพื่อขับของเสียออกจากร่างกาย โดยนักมวยเชื่อว่าเลือดที่ช้ำอยู่ภายในจะถูกถ่ายออกมาเหมือนการขับพิษ โดยจะกินกันตอนท้องว่าง ซึ่งคนทั่วไปกินแค่ 2-3 ช้อนชา แต่นักมวยจะต้องซัดกันเข้าไปถึงครึ่งขวดหรือเกือบหมดทั้งขวด และบอกได้เลยว่ามีรสขมมาก วันที่กินยานี้จะทำให้นักมวยถ่ายประมาณ 4-5 ครั้ง วันนั้นทั้งวันนักมวยจะมีอาการเพลียสุด ๆ แทบออกไปไหนไม่ได้เลย แค่ขั้นตอนนี้น้ำหนักก็ลดไปได้ประมาณ 1 กิโลกรัมแล้ว จากนั้นก็สามารถกินอาหารอย่างอื่นได้ตามสบาย (ทางการแพทย์ออกมายืนยันแล้วนะครับว่า การกินยาน้ำระดมพลไม่ได้ช่วยในเรื่องการขับเลือดที่ช้ำออกจากร่างกาย ที่เขียนมาอยากให้เห็นถึงวิถีของนักมวยเท่านั้น อย่าไปกินเล่นเองที่บ้านนะครับ อันตราย)
    ยาน้ำระดมพล
  • วันที่ 7-9 : วอร์มร่างกายเบา ๆ วันรุ่งขึ้นหลังจากกินยาน้ำระดมพลแล้ว ทางเทรนเนอร์จะให้นักมวยวอร์มร่างกายด้วยการวิ่งเบา ๆ 8-10 กิโลเมตร ในช่วงเช้าและกลางวัน และช่วงบ่ายก็จะนอน และวิ่งอีก 5-6 กิโลเมตรในช่วงกลางบ่ายเป็นต้นไป ซึ่งการวอร์มร่างกายจะทำประมาณ 2-3 วันเท่านั้น
  • วันที่ 10-26 : เข้าสู่ตารางการฝึกแบบจริงจัง เมื่อร่างกายเริ่มกลับเข้าที่เข้าทางแล้ว ตารางการฝึกก็จะเข้มข้นมากขึ้นจนใกล้ถึงวันชก โดยจะฝึกตั้งแต่วันจันทร์-เสาร์ (หยุดทุกวันอาทิตย์) ส่วนตารางการฝึกก็จะเป็นดังนี้ครับ
    • 05.30 น. เทรนเนอร์จะปลุกนักมวยมาวิ่งในตอนเช้าเป็นระยะทาง 10 กว่ากิโลเมตร (ใช้เวลา 50 นาที)
    • 06.30 น. นักมวยวิ่งกลับถึงค่ายเพื่อทำการล้างหน้าล้างตา พันผ้าพันมือ ยืดเส้นยืดสาย และเตรียมตัวชกลม วอร์มร่างกายต่ออีก 15 นาที
    • 06.45 น. หลังการยืดเส้นยืดสายและชกลมเรียบร้อยแล้ว นักมวยจะเริ่มใส่นวมและลงซ้อมเตะเป้ากับเทรนเนอร์ เป็นเวลา 4 ยก ยกละ 3 นาที พัก 2 นาที และเตะกระสอบทรายอีก 4 ยก ยกละ 3 นาที พัก 2 นาที (ใช้เวลา 45 นาที)
    • 07.30 น. จะเริ่มมีการปล้ำแขน ไล่แขน และเล่นเวทนิดหน่อย
    • 08.00 น. เมื่อซ้อมเสร็จ นักมวยจะอาบน้ำ กินข้าว พักผ่อน และจะงีบหลับตอนเที่ยง ๆ แล้วตื่นขึ้นมาซ้อมอีกทีตอนบ่าย 3 โมง
    • 15.45 น. วิ่งช่วงบ่ายอีกประมาณ 5 กิโลเมตร
    • 16.15 น. เมื่อวิ่งเสร็จและกลับถึงค่าย จะกระโดดเชือกอีก 15 นาที
    • 16.30 น. พันมือ ชกลม และยืดเส้นยืดสายอีกเป็นเวลา 15 นาที
    • 16.45 น. ปล้ำแขน เล่นเชิง และเตะเป้า อีกเป็นเวลา 1 ชั่วโมง
    • 17.45 น. เล่มกล้าม เล่นเวท (เล่มกล้ามท้อง กล้ามแขน และดึงข้อ) อีกประมาณ 1 ชั่วโมง
    • 18.45 น. ถึงเวลาอาบน้ำ กินข้าว และพักผ่อนตามอัธยาศัย
    • 22.00 น. ปิดไฟแล้วนอน

    นักมวยซ้อมวิ่ง
    ***ส่วนเรื่องการกินระหว่างการซ้อมนั้น นักมวยจะกินกันเยอะมาก ๆ หรือข้าวประมาณ 2 จานพูน ๆ (ถึงจะกินเยอะมาก แต่ก็สามารถลดน้ำหนักไปได้ประมาณ 6-7 กิโลกรัมแล้วเป็นอย่างน้อยในช่วงการฝึก 17 วันนี้ครับ) ถ้าเราซ้อมได้ประมาณ 1/3 ของนักมวย พร้อมกับคุมอาหาร แค่เลือกกิน แต่ไม่ถึงกับต้องอดอาหาร ก็จะสามารถลดน้ำหนักได้อย่างรวดเร็วเกือบเท่านักมวยแล้วครับ และจากตารางจะเห็นได้ว่าใน 1 วัน จะใช้เวลาออกกำลังกายไปเกือบ 5 ชั่วโมงแล้ว แล้วใน 5 ชั่วโมงที่ว่านี้ก็ไม่ได้ออกกันเบา ๆ แต่เน้นออกอย่างหนักหน่วง ซึ่งผลลัพธ์จากการซ้อมหนักขนาดนี้ จะทำให้ไขมันในร่างกายถูกเบิร์นไปจนเกือบหมดทุกส่วนครับ

  • วันที่ 27 ช่วงเริ่มทรมานของการลดน้ำหนัก ในวันนี้เทรนเนอร์จะให้นักมวยคุมเรื่องอาหารการกิน จากกินข้าวมื้อละ 2 จาน จะให้ลดเหลือมื้อละ 1 จาน การซ้อมวิ่งในตอนเช้าก็จะมีการใส่ชุดลดน้ำหนักแล้วออกวิ่งเพื่อทำการรีดน้ำหนักออกจากร่างกายให้ได้มากที่สุด ส่วนการซ้อมก็จะลดดีกรีความหนักลง จากเดิมเตะเป้าและเตะกระสอบอย่างละ 4 ยก ก็จะเหลือเพียง 3 ยก ส่วนการปล้ำแขนจากเดิม 1 ชั่วโมงก็จะลดเหลือ 20 นาที
  • วันที่ 28 เริ่มลดน้ำหนักอย่างจริงจัง อาหารที่เคยกินวันละ 3 มื้อ จะลดเหลือแค่ 2 มื้อ เช้าและเย็น โดยในแต่ละมื้อจะให้กินแต่เนื้อสัตว์ งดการกินแป้ง ส่วนการซ้อมจากเดิมที่ต้องตื่นขึ้นมาวิ่งตอนเวลา 05.30 น. ก็จะให้เริ่มวิ่งตอน 09.00 แทน เพื่อให้โดนแดดแรง ๆ พร้อมกับใส่ชุดลดน้ำหนัก (เหมือนเตาอบ) และที่ทรมานที่สุดก็คือ “การห้ามกินน้ำ” ไม่ว่าจะเหนื่อยหรือหิวน้ำแค่ไหนก็ห้ามกิน แต่ทำได้เพียงแค่จิบเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นในคอเท่านั้น ส่วนการซ้อมในช่วงเย็นก็จะมีแค่การวิ่งพร้อมกับใส่ชุดลดน้ำหนักตอน 16.00 น. ในกลางแดด และการชกลมเบา ๆ
  • วันที่ 29 การลดน้ำหนักจะเริ่มโหดมากขึ้น โดยจะลดข้าว ลดน้ำจากเดิม แต่ยังคงเน้นการวิ่งเหมือนเดิมพร้อมกับใส่ชุดลดน้ำหนัก (สำหรับคนทั่วไปคงไม่ต้องถึงกับไปหาซื้อชุดลดน้ำหนักมาใส่นะครับ เพราะชุดนี้มันช่วยได้แค่รีดน้ำในร่างกายออกมาแค่ชั่วคราวเท่านั้น ซึ่งตามหลักแล้วมันไม่ได้ช่วยให้ผอมลงครับ ยิ่งถ้าคุณต้องวิ่งกลางแดดด้วย อาจจะเป็นลมไปได้ง่าย ๆ เลยล่ะ)
    ชุดลดน้ำหนักนักมวย
  • วันที่ 30 ยังคงลดน้ำหนักโดยใช้โปรแกรมเดิม เมื่อน้ำหนักของนักมวยเริ่มลงมาใกล้พิกัดที่ต้องการขึ้นชกแล้ว เช่น ชกแล้ว 112 ปอนด์ น้ำหนักตัวในนี้ควรจะอยู่ที่ 113 ปอนด์ เพื่อในวันถัดไปนักมวยจะต้องลดน้ำหนักหน้าเวทีอีกครั้งหนึ่ง
  • วันที่ 31 การชั่งน้ำหนักในวันตัดสิน การชั่งน้ำหนักถ้าเป็นมวยสากล วันชั่งน้ำหนักกับวันชกจะคนละวันกัน แต่ถ้าเป็นมวยไทย การชั่งน้ำหนักจะชั่งกันในตอนเช้า เวลา 06.30 น. แล้วชกกันตอนกลางคืนในวันเดียวกัน ในวันชั่งจริง เทรนเนอร์จะพยายามให้น้ำหนักเกินประมาณ 1 ปอนด์ (0.45 กิโลกรัม) พอชั่งครั้งที่ 1 เสร็จแล้ว ทางเทรนเนอร์ก็จะให้นักมวยใส่เสื้อรีดน้ำหนัก แล้ววิ่งรอบสนามสัก 2-3 รอบ น้ำหนักที่เกินมา 1 ปอนด์ก็จะหายไปพอดีกับพิกัดนักมวย เรียกได้ว่าลดน้ำหนักกันจนถึงวินาทีสุดท้ายเลยทีเดียว ! โดยในมื้อเช้ามื้อแรก นักมวยจะยังกินข้าวไม่ได้เยอะ เพราะดื่มน้ำไปเยอะ อาจจะกินได้แค่ 1 จาน พอประมาณ 8 โมงเช้า พี่เลี้ยงก็จะพานักมวยไปเช็กอินเข้าที่พัก เพื่อให้นักมวยงีบหลักสัก 2-3 ชั่วโมง แล้วตื่นมากินข้าวเที่ยง ซึ่งมื้อนี้นักมวยจะเริ่มกินข้าวได้เยอะ จากนั้นนักมวยก็จะกลับไปนอนที่โรงแรมต่ออีกรอบ แล้วจะตื่นขึ้นมาตอนบ่ายสี่ พร้อมกับกินข้าวเย็นเพื่อเก็บแรงไว้เตรียมชกในช่วงเวลา 2-3 ทุ่ม (ในระยะเวลาแค่ 12 ชั่วโมง นักมวยจะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นถึง 4-5 กิโลกรัม เนื่องจากดื่มน้ำและทานอาหารเข้าไปเยอะ) หลังชกเสร็จ นักมวยก็จะได้กลับไปพักผ่อนอีก 5 วัน ถ้ามีรายการชกในเดือนถัดไป ตารางการซ้อมก็จะกลับมาเริ่มใหม่เหมือนเดิม
    นักมวยขึ้นชั่งน้ำหนัก

อย่างที่ทราบไปแล้วว่าการฝึกหลายอย่างของมวยไทยนั้นหลาย ๆ อย่างจะขัดกับหลักวิทยาศาสตร์การกีฬาและหลักการแพทย์ หากคนทั่วไปทำตามโปรแกรมดังกล่าวก็อาจทำให้เกิดผลเสียต่อร่างกายได้ แต่อย่างไรก็ตาม มวยไทยก็ถือเป็นเครื่องมือชั้นยอดในการลดน้ำหนักได้เป็นอย่างดี ถ้าคุณอยากออกกำลังกายด้วยมวยไทยจริง ๆ แนะนำให้ไปฝึกกับยิมมวยจริง ๆ เลยจะดีกว่าครับ ไม่แนะนำให้ไปทดลองเองที่บ้าน 🙂

คนทั่วไปจะลดน้ำหนักให้ได้เกิน 10 กิโลกรัมใน 1 เดือน จะทำได้ไหม ?

คำตอบคือ ทำได้สบายครับ ภายใต้เงื่อนไขหลายอย่าง ๆ โดยจขกท.ได้ยกตัวอย่างการลดน้ำหนักของผู้เข้าแข่งขัน The biggest loser asia season 2

ลดน้ำหนักแบบนักมวย

จากตารางจะเห็นได้ว่า Starting Weight กับน้ำหนักที่จบใน Week ที่ 4 เป็นต้นไป ผู้เข้าแข่งขันทุกคนที่อยู่จนครบเดือน สามารถลดน้ำหนักได้เกิน 10 กิโลกรัมทั้งหมด เพราะฉะนั้นสำหรับคนที่อ้วนมาก ๆ และต้องการลดน้ำหนัก สิ่งที่ทำได้ง่ายที่สุดก็คือ “การควบคุมอาหาร” (ไม่ใช่งดอาหารนะครับ) โดยแนะนำให้เลือกรับประทานอาหารถูกปากเราและมีประโยชน์ ถ้าคุณเปลี่ยนวิธีการกินอาหารได้ก็สามารถลดน้ำหนักไปได้เยอะแล้วครับ (เพราะอาหารมีส่วนในการลดน้ำหนักมากถึง 70% ส่วนการออกกำลังกายมีส่วนเพียง 30%) ส่วนการออกกำลังกายก็เริ่มจากเบาสุด เช่น การเดินรอบบ้าน หรือหาวิธีออกกำลังกายที่เราสามารถมีความสุขกับมันได้ โดยที่เราไม่รู้สึกทรมานในการออกกำลังกาย ถ้าทำได้ติดต่อกันสัก 1 เดือน รับรองได้เลยว่าน้ำหนักลดลงอย่างแน่นอนครับ ที่หลายคนเลือกเล่นมวยไทยก็เพราะมันสนุกนี่แหละครับ นี่จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้คนเล่นมวยไทยประสบความสำเร็จในการลดน้ำหนักมากกว่าการออกกำลังกายด้วยวิธีอื่น สรุปสั้น ๆ ก็คือ “เราต้องมีความสุขกับการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และสนุกกับการออกกำลังกายครับ (จขกท.)

การกินมีผลมากน้อยแค่ไหน ?

ถ้าจะเปรียบเทียบง่าย ๆ สำหรับคนที่ต้องการจะลดน้ำหนัก 20 กิโลกรัม ถ้าคุณออกกำลังกายอย่างจริงจังทุกวัน แต่ก็ยังกินแบบตามใจปากอยู่เหมือนเคย คุณอาจต้องใช้เวลาถึง 5 เดือน กว่าจะลดน้ำหนักได้ถึง 20 กิโลกรัม แต่ถ้าคุณควบคุมอาหารให้ดี ๆ คุณอาจใช้เวลาเพียง 2 เดือนเท่านั้น ! ถ้าไม่สะดวกหาอาหารที่ถูกหลักโภชนาการ คุณอาจเลือกซื้ออาหารคลีนแบบ Delivery ให้มาส่งถึงที่เลยก็ได้ครับ หรือค้นหาข้อมูลในเว็บเกี่ยวกับ “เมนูอาหารคลีน” ก็มีให้เลือกทำได้เองหลายสูตรเลยครับ ถ้าสนใจแนวทางนี้ก็ลองไปตามต่อในกระทู้ที่เกริ่นไว้ด้านบนเลยครับ

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด