ปัญหากลิ่นปาก
กลิ่นปาก หรือ ลมหายใจเหม็น หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า Bad breath, Halitosis ซึ่งหมายถึง กลิ่นเหม็นที่ออกมาจากลมหายใจที่สามารถได้กลิ่น ไม่รวมถึงก๊าซในความเข้มข้นมากกว่าปกติที่ไม่สามารถได้กลิ่น
กลิ่นปากเป็นก๊าซเหม็นที่เกิดขึ้นในร่างกายของเราและออกมาทางลมหายใจ ต้นตอของกลิ่นปากอาจจะมาจากในปาก ในคอ หรือในจมูกก็ได้
กลิ่นปากนอกจากจะเป็นต้นเหตุของกลิ่นเหม็นแล้ว กลิ่นปากยังทำให้คุณบุคลิกภาพไม่ดีอีกด้วย ทำให้สูญเสียความมั่นใจ และบางคนอาจอยู่ในสภาวะเครียดได้ และบางทีปัญหานี้ก็อาจส่งผลกระทบถึงหน้าที่การงานและความสัมพันธ์ระหว่างคุณกับคนใกล้ตัว บางคนอาจมองว่ากลิ่นปากเป็นเรื่องเล็ก ๆ ไม่ใช่โรคร้ายแรงที่ต้องรีบรักษา แต่สำหรับคนที่มีปัญหานี้เราเชื่อว่ากลิ่นปากไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ อย่างแน่นอน
วิธีทดสอบกลิ่นปาก
1. ให้หายใจเข้าเต็มที่ ใช้มือป้องปากและจมูกเอาไว้ แล้วหายใจออกจากปาก จากนั้นให้สูดลมหายใจเข้าทางจมูกเพื่อดมกลิ่นว่าเหม็นหรือไม่
2. ใช้วิธีเลียข้อมือและดมดู หรือในบางคนอาจจะใช้นิ้วมือถูที่บริเวณเหงือกแล้วนำมาดมกลิ่นว่าเหม็นหรือไม่
3. ให้บ้วนน้ำลายออกมาแล้วลองดมกลิ่นน้ำลายดู (ปกติแล้วน้ำลายจะเป็นสารคัดหลั่งที่สะอาดและไม่มีกลิ่น) ถ้าน้ำลายมีกลิ่นก็แสดงว่ามีการปนเปื้อนของเชื้อโรค และอาจเป็นไปได้ว่าน้ำลายนั้นผ่านนิ่วที่ต่อมทอนซิลออกมา
4. วิธีนี้ชัวร์สุด ก็คือการขอร้องให้คนใกล้ชิดช่วยบอกว่ามีกลิ่นปากหรือไม่
สาเหตุของกลิ่นปาก
- การไม่รักษาสุขภาพช่องปากให้ดี ก็ทำให้มีกลิ่นปากได้ เช่น แปรงฟันไม่สะอาดทำให้มีคราบอาหารหรือคราบแบคทีเรียมาเกาะอยู่ตามผิวฟัน ลิ้น หรือกระพุ้งแก้ม
- ลิ้นเป็นฝ้า สาเหตุหนึ่งของกลิ่นปาก ลิ้นที่เป็นฝ้านั้นเกิดจากการสะสมของเศษอาหารและแบคทีเรียบนผิวด้านบนของลิ้น
- น้ำลาย ก็มีส่วนทำให้เกิดกลิ่นปากได้ ถ้าหากน้ำลายน้อยก็จะชำระล้างเศษอาหารได้ไม่หมดจนทำให้เกิดกลิ่นปาก รวมไปถึงผู้ที่มีน้ำลายข้นเหนียวก็จะชำระล้างเศษอาหารได้ไม่ดีเท่าผู้ที่มีน้ำลายใส และนี่จึงเป็นสาเหตุที่ทำไมเมื่อตื่นนอนจึงมักมีกลิ่นปาก นั่นเป็นเพราะในขณะหลับจะมีการไหลเวียนของน้ำลายน้อย ดังนั้นถ้ารู้สึกว่าคอแห้งปากแห้งก็ให้ดื่มน้ำบ่อย ๆ
- หินปูน สาเหตุสำคัญของกลิ่นปาก หากมีหินปูนต้องให้ทันตแพทย์ขูดออก
- ฟันผุ จะทำให้เศษอาหารไปติดค้างอยู่ในรูฟันที่ผุจนเกิดการบูดเน่าและทำให้เกิดกลิ่น หรือผู้ที่มีฟันผุทะลุโพรงประสาทฟัน ทำให้มีหนองที่ปลายรากฟัน ซึ่งหนองพวกนี้จะมีกลิ่นเหม็นมาก
- แผลในช่องปาก เมื่อเป็นแผลจะทำให้เกิดกลิ่นปากได้ และเมื่อแผลหายกลิ่นปากก็จะลดลง นอกจากนี้ยังเกิดขึ้นได้ภายหลังการถอนฟันหรือการผ่าตัดในช่องปาก เนื่องจากขณะมีแผลผู้ป่วยจะใช้ฟันบดเคี้ยวอาหารได้ไม่ถนัด ทำให้มีอาหารติดฟันได้มากและง่ายขึ้น ส่วนแผลที่มีเลือดไหลซึมก็จะเป็นอาหารชั้นดีของเชื้อโรคในช่องปากจนทำให้เลือดมีกลิ่นเหม็นและเกิดการบูดเน่าของอาหารได้
- โรคเหงือกอักเสบและโรคปริทันต์ เหงือกอักเสบเนื่องจากมีหินปูน มีการทำลายอวัยวะรอบรากฟัน เหงือกอ้าออกจากตัวฟัน ทำให้มีเศษอาหารเข้าไปสะสมได้ง่ายขึ้นและแปรงออกไม่หมดจนเกิดเป็นหินปูนอยู่ภายใน แล้วทำให้เกิดการอักเสบ ในรายที่เหงือกอ้าออกมากและมีหินปูนเข้าไปสะสมอยู่มากก็อาจจะต้องผ่าตัดเปิดเหงือกออกเพื่อกำจัดหินปูนออกให้หมดก่อน แล้วจึงปิดเหงือกกลับเข้าไปตามเดิม สำหรับผู้ที่เป็นและเคยรักษาโรคปริทันต์มาแล้ว หรือขจัดคราบอาหารออกได้หมด ก็ต้องใช้เครื่องมือทำความสะอาดเพิ่มเติม เช่น ไหมขัดฟัน แปรงซอกฟัน แผ่นเทปรัดฟัน เป็นต้น
- โรคระบบทางเดินหายใจส่วนบน ตั้งแต่จมูก คอ จนถึงหลอดลม เช่น โรคโพรงจมูกอักเสบ หรือ ไซนัสอักเสบ (เกิดจากการมีของเหลวหรือหนองอยู่ในโพรงอากาศของกระดูกใบหน้าซึ่งมีหลายโพรง การอักเสบจนมีหนองจะทำให้เกิดกลิ่นออกมาทางจมูกในขณะหายใจและออกมาทางปากในขณะพูด จึงไม่ควรปล่อยให้ตัวเองเป็นหวัดบ่อย ๆ หรือเป็นนาน ๆ)
- มะเร็งที่โพรงจมูก จะทำให้มีกลิ่นเหม็นมากและจะมีหนองไหลออกจากจมูกลงไปในคอเวลาก้มศีรษะ
- ต่อมทอนซิลอักเสบ ผู้ที่เจ็บคอขณะที่มีการอักเสบในลำคอหรือต่อมทอนซิลอักเสบเรื้อรังจะทำให้เกิดกลิ่นปากได้ และจะหายไปเมื่อคอหายอักเสบ
- นิ่วในต่อมทอนซิล (Tonsil Stone) หากคุณไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจรักษาจนแน่ใจแล้วว่าเหงือกและฟันของคุณไม่มีปัญหา แปรงฟันสะอาดแล้วแต่กลิ่นปากไม่หาย คุณคงต้องไปพบหมอด้านหู คอ จมูก เพื่อใช้เครื่องมือในการตรวจอย่างละเอียด แต่บางครั้งแค่คุณอ้าปากก็อาจเห็นก้อนสีขาว ๆ เหลือง ๆ ติดอยู่ตรงต่อมทอนซิลก็ได้ ซึ่งนั่นไม่ใช่เศษอาหาร แต่เป็นก้อนที่เกิดจากการหมักหมมของน้ำลายผสมกับอาหาร เศษเนื้อตายของต่อมทอนซิล และแบคทีเรียที่ไม่ต้องการอากาศ ที่เป็นตัวสร้างแก๊สไข่เน่ารอบ ๆ ก้อนนิ่ว เมื่อลมหายใจผ่านก้อนนิ่วนี้ออกมา ก็จะส่งกลิ่นเหม็นคลุ้งไปหมด นอกจากนี้นิ่วในต่อมทอนซิลส่วนหนึ่งก็อาจเกิดจากการผ่าตัดต่อมทอนซิลแล้วทำให้เป็นต่อมทอนซิลอักเสบเรื้อรังกันมากขึ้น หรืออาจเกิดจากยาปฏิชีวนะหลายชนิดที่ใช้ในการรักษาต่อมทอนซิลแล้วทำให้น้ำลายในช่องปากน้อยลง เป็นต้น แต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะต้องมีนิ่ว ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับภูมิต้านทานของแต่ละคนด้วย ซึ่งจากการศึกษาในต่างประเทศนั้นพบว่ากลุ่มประชาชนทั่วไปเป็นนิ่วในต่อมทอนซิลสูงถึง 6% ส่วนในประเทศไทยนั้นยังไม่มีการทำสถิติออกมา แต่เชื่อว่าคนที่เป็นน่าจะมีไม่ต่ำกว่า 4-5 ล้านคน และคุณอาจจะมีนิ่วที่ต่อมทอนซิลจนเกิดกลิ่นปากโดยไม่รู้ตัวก็ได้ โดยให้ลองสังเกตดูว่า คุณมีอาการเหล่านี้หรือไม่ เช่น มีอาการระคายคอ รู้สึกเหมือนมีเสมหะในลำคอบ่อย ๆ ต่อมทอนซิลอักเสบเรื้อรัง หรือถ้าพักผ่อนน้อยหรือไปออกกำลังกายเมื่อไหร่ก็จะมีไข้รุม ๆ ไม่สบายตัว เจ็บคอนิดหน่อยตรงต่อมทอนซิล และอาจมีอาการอ่อนเพลียสุด ๆ เป็นต้น ถ้ามีก็รีบไปพบแพทย์ด่วน ๆ เลยจ้า (ข้อมูลจาก นพ. สรัลชัย เกียรติสุระยานนท์)
- โรคระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง เช่น ผู้ที่เป็นโรคปอดเรื้อรัง มะเร็งปอด วัณโรคปอด ก็จะมีกลิ่นออกมากับลมหายใจและลมปากได้
- โรคระบบทางเดินอาหาร เช่น ภาวะท้องอืด โรคกรดไหลย้อน โรคแผลเรื้อรังในกระเพาะอาหาร
- การรับประทานอาหารที่ทำให้เกิดกลิ่น ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุสำคัญของกลิ่นปาก เช่น กระเทียม หัวหอม เครื่องเทศ สะตอ ชีส ทุเรียน ฯลฯ ซึ่งเหล่านี้จะทำให้เกิดกลิ่นปากได้ แต่เมื่อถูกย่อยหรือดูดซึมและขับถ่ายออกหมดแล้ว กลิ่นก็จะหายไป (แต่ถ้ารับประทานต่อเนื่องก็จะทำให้เกิดกลิ่นปากอย่างต่อเนื่องได้เช่นกัน)
- เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นเหล้าหรือเบียร์ก็ล้วนแต่เป็นต้นเหตุของกลิ่นปาก
- ยาบางชนิด เช่น ยารักษาผู้ป่วยโรคจิตบางตัว ยาที่ใช้รักษาผู้ป่วยพิษสุราเรื้อรัง ก็ทำให้เกิดกลิ่นได้
- ผู้ที่สูบบุหรี่นาน ๆ จะทำให้ลมหายใจและลมปากมีกลิ่นเหม็น
- ผู้ที่ใส่ฟันปลอมหรือใส่เครื่องมือต่าง ๆ ในปาก เช่น เครื่องมือจัดฟัน เครื่องมือกันฟันล้มเก เฝือกสบฟัน เป็นต้น ถ้าหากรักษาความสะอาดไม่ดีพอก็ทำให้มีกลิ่นได้ โดยเฉพาะเครื่องมือที่ทำด้วยอะคริลิก หรือมีส่วนผสมของอะคริลิกอยู่ด้วย เนื่องจากเนื้ออะคริลิกจะมีรูพรุนที่สามารถดูดซึมของเหลวต่าง ๆ ได้ หากล้างไม่สะอาดอาหารก็จะบูดเน่าติดอยู่กับเครื่องมือเหล่านี้จนทำให้เกิดกลิ่นได้ ดังนั้นควรทำคามสะอาดทุกครั้งหลังจากถอดแล้ว ถ้าไม่ใช้ก็ควรแช่ไว้ในน้ำสะอาด และก่อนนำมาใช้ก็ให้ทำความสะอาดอีกรอบ ถ้ามีคราบหรือหินปูนเกาะก็ให้ใช้น้ำยาสำหรับแช่ฟันปลอมโดยเฉพาะแช่ไว้เป็นครั้งคราว
- นอกจากนี้ สาเหตุของกลิ่นปากอาจเกิดได้จากโรคที่เกี่ยวกับระบบการทำงานของร่างกายต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นกลิ่นเฉพาะตัวของแต่ละโรค เช่น โรคเบาหวาน การติดเชื้อหรือเป็นฝีที่ปอด ตับหรือไตวาย ความเจ็บป่วยในระบบทางเดินอาหารต่าง ๆ รวมไปถึงผู้ป่วยที่ควบคุมอาหารเป็นประจำ
วิธีดับกลิ่นปาก
- แปรงฟันทุกครั้งหลังมื้ออาหาร เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยลดกลิ่นปากได้ แต่ต้องแปรงให้ถูกวิธี แล้วอย่าลืมแปรงตามซอกเหงือกและกระพุ้งแก้มด้วย (การแปรงฟันไม่ถูกวิธีก็นำมาซึ่งกลิ่นปากแบบไม่น่าเชื่อได้นะเออ)
- ใช้ยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ เพื่อช่วยขจัดเศษอาหารและกำจัดเชื้อโรคออกให้หมด
- เลือกใช้น้ำยาบ้วนปาก เป็นวิธีที่ช่วยกำจัดแบคทีเรียได้ดีที่สุด ไม่ยุ่งยาก ใช้เวลาไม่กี่วินาทีก็สามารถช่วยซอกซอนเพื่อลดการสะสมของแบคทีเรียได้ทั่วทั้งปาก แม้ในบริเวณที่การแปรงฟันเข้าไม่ถึง ส่วนน้ำยาบ้วนปากที่อยากแนะนำก็คือ ออรัล-บี เอ็กซ์ตร้าเฟรช (Oral-B Extra Fresh) ช่วยลดการสะสมของแบคทีเรียที่ทำให้เกิดกลิ่นปากได้ถึง 99% ช่วยให้ลมหายใจเย็นสดชื่นยาวนานถึง 5 เท่า* เมื่อเปรียบเทียบกับการแปรงฟันธรรมดา จึงเหมาะมาก ๆ สำหรับทุกมื้ออาหาร โดยเฉพาะอาหารไทยที่มีกลิ่นแรง จึงช่วยเสริมความมั่นใจระหว่างวันได้เป็นอย่างดี (อ้างอิงจากผลทดสอบทางคลินิคกับกลุ่มตัวอย่าง 16 คน โดยบริษัท พี แอนด์ จี ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ.2549)
- สามารถหาซื้อน้ำยาบ้วนปาก Oral-B Extra Fresh ได้ตามร้านค้าชั้นนำทั่วไป ได้แก่ ร้านค้าสะดวกซื้อ 7-11, Tesco, Big-C, Tops, Boots, Watson หรือช่องทางออนไลน์ที่ Lazada และ Shopee ได้ง่าย ๆ
- สามารถหาซื้อน้ำยาบ้วนปาก Oral-B Extra Fresh ได้ตามร้านค้าชั้นนำทั่วไป ได้แก่ ร้านค้าสะดวกซื้อ 7-11, Tesco, Big-C, Tops, Boots, Watson หรือช่องทางออนไลน์ที่ Lazada และ Shopee ได้ง่าย ๆ
- ทำความสะอาดลิ้น โดยธรรมชาติแล้วลิ้นของเราผิวจะขรุขระ ไม่เรียบ จึงเป็นที่กักของเศษอาหารต่าง ๆ จากการศึกษาพบว่าแบคทีเรียที่มีผลต่อกลิ่นปากมักอยู่ตามโคนลิ้นมากกว่าที่เหงือกและฟัน ดังนั้นการทำความสะอาดลิ้นจึงเป็นสิ่งจำเป็นในการดูแลสุขภาพช่องปากและลดกลิ่นปาก วิธีการทำความสะอาดลิ้นทำได้ง่าย ๆ โดยใช้แปรงสีฟันแปรงลิ้นให้ลึกถึงโคนลิ้นในขณะแปรงฟัน หรือใช้ไม้ขูดลิ้นขูดฝ้าบนลิ้นออก โดยขูดจากโคนลิ้นมาด้านหน้า ทำประมาณ 3-4 ครั้ง ก็จะเห็นคราบอาหารติดออกมา โดยควรทำวันละ 2 ครั้งต่อวัน ตอนตื่นนอนและก่อนนอน นอกจากนี้การรับประทานอาหารที่มีกากก็ช่วยถูลิ้นได้เช่นกัน เช่น สับปะรด อ้อย เป็นต้น
- ฝึกใช้ไหมขัดฟัน (Dental Floss) หลังการแปรงฟันให้เป็นนิสัย อย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง วิธีนี้จะช่วยแก้ปัญหาเรื่องเศษอาหารที่ติดตามซอกฟันได้ เมื่อใช้ Dental Floss เสร็จแล้วก็ให้เอาขึ้นมาดม ถ้าดมแล้วยังมีกลิ่นเหม็นก็ให้เปลี่ยนไหมใหม่ หรือจะใช้อันเดิมนำมาล้างน้ำเอาก็ได้ ใช้จนกว่าไหมจะแตก (ถ้าใช้ไหมแบบแผ่นฟิล์มมันจะไม่แยก) ให้ขัดไหมไปทุก ๆ ซี่
- บ้วนปากน้ำเปล่า หากไม่สะดวกที่จะแปรงฟัน ก็ให้บ้วนปากด้วยน้ำเปล่าแทน วิธีนี้ถึงแม้จะไม่ช่วยแก้ปัญหากลิ่นปากได้มากนัก แต่มันก็ช่วยได้บ้าง
- สเปรย์ระงับกลิ่นปาก อีกทางเลือกหนึ่งของความสะดวกสบาย แนะนำให้ใช้ยามจำเป็นเท่านั้น ถ้าเลือกได้ก็แปรงฟันเอาดีกว่าครับ
- เคี้ยวหมากฝรั่งหรืออมลูกอม ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ได้รับความนิยม ถ้าเลือกขจัดกลิ่นปากด้วยการเคี้ยวหมากฝรั่ง ก็ควรเลือกหมากฝรั่งชนิดที่ไม่มีน้ำตาล แต่วิธีนี้ก็ช่วยดับกลิ่นปากได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น
- ยาสีฟันผสมเกลือ ลองใช้ยาสีฟันผสมเกลือดู หรือจะใช้เกลือเพียงอย่างเดียวนำมาแปรงฟันก็ได้ (ถ้าทนไหว) เพราะเกลือจะช่วยระงับกลิ่นปากได้ ถ้าแปรงได้ไม่ลึกก็ให้ใช้น้ำเกลือกลั้วคอแทน
- อมน้ำเกลือช่วยได้นะ หลังแปรงฟันเสร็จให้คุณผสมน้ำครึ่งแก้วกับเกลือ (ใช้ประมาณครึ่งช้อนชา เอาให้เค็ม ๆ หน่อย) ใช้บ้วนแทนน้ำ แล้วอมไว้ประมาณ 3-5 นาที จากนั้นจึงบ้วนด้วยน้ำเปล่าตามอีกครั้ง วิธีนี้คนจัดฟันที่กังวลเรื่องกลิ่นปากก็ใช้ได้นะ ลองทำดูได้เลย
- เปลี่ยนแปรงสีฟัน หากแปรงเสียก็เปลี่ยนแปรงซะ เพราะประสิทธิภาพในการทำความสะอาดของแปรงใหม่ย่อมดีกว่าเก่า และให้เลือกใช้แปรงสีฟันขนนุ่มปลายขนแปรงเรียว
- เครื่อง Water Flosser (ยี่ห้อ Waterpik) หรือเครื่องทำความสะอาดช่องปากและฟันด้วยแรงดันน้ำ (เครื่องละประมาณพันกว่าบาทขึ้นไป มีหลายรุ่นและมีหลายฟังก์ชันให้เลือก) แต่ถ้างบไม่พอก็ลองใช้ฝักบัวในห้องน้ำดูก็ได้ครับ โดยลองเปิดน้ำให้สุดแล้วเอาฝักบัวมาต่อเข้าที่ปาก เพื่อให้แรงดันน้ำมันฉีดเข้าไปที่ซอกฟันให้ทั่ว จากนั้นก็ให้ถอดหัวฝักบัวออกเหลือแต่สาย แล้วเอานิ้วปิดรูท่อน้ำให้เหลือรูเล็ก ๆ เพื่อให้แรงดันน้ำยิ่งพุ่งแรงขึ้น แล้วเอาแหย่เข้าปากไปฉีดที่ฟันข้างกระพุ้งแก้มโดยรอบประมาณ 1 นาที โดยไม่ต้องบ้วนน้ำยาบ้วนปากอีก (ข้อมูลจาก : pantip.com by สมาชิกหมายเลข 1238832)
- หมั่นตรวจสุขภาพฟันและช่องปากกับทันตแพทย์อยู่เสมอ ไม่ต้องรอให้เกิดปัญหาในปากและฟันแล้วค่อยไปหาหมอ
- ขูดหินปูน เป็นประจำทุก ๆ 6 เดือน หรืออย่างน้อยปีละครั้ง หินปูนเป็นอีกสาเหตุหลักของการเกิดกลิ่นปากที่คุณไม่ควรมองข้าม สำหรับใครที่ลองมาหลายวิธีแล้วแต่ลืมไปขูดหินปูนก็รีบไปจัดการด่วนเลยครับ
- ยับยั้งฟันผุ โดยการอุดฟันซี่ที่มีการผุ ถ้าผุจนทะลุโพรงประสาทก็ต้องรักษารากฟัน ถ้าผุมากจนไม่สามารถเก็บฟันไว้หรือรักษาให้ดีเหมือนเดิมได้ ก็ต้องถอนออกแล้วใส่ฟันปลอม
- รักษาแผลในช่องปาก ในขณะเกิดแผลในช่องปากไม่ควรละเลยการทำความสะอาดช่องปากหลังการรับประทานอาหาร ควรแปรงฟันในทันที โดยใช้แปรงปัดเบา ๆ เพื่อไม่ให้คราบอาหารเกาะฟันนานและแปรงออกได้ง่าย แต่ถ้าแปรงฟันหรืออ้าปากไม่ได้ก็ให้บ้วนปากด้วยน้ำเกลืออุ่น ๆ ทุกครั้งหลังการรับประทาน และใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำอุ่นพันนิ้วเช็ดฟัน เมื่อแผลหายกลิ่นปากก็จะหายไป
- รักษานิ่วในต่อมทอนซิล หากคุณเป็นนิ่วในต่อมทอนซิล ในอดีตหากจะกำจัดปัญหานี้ให้หายขาดก็คงต้องทำการผ่าตัด แต่ในปัจจุบันเทคโนโลยีได้พัฒนาขึ้นมากจึงไม่จำเป็นต้องตัดทิ้งแล้ว วิธีที่ดีและทันสมัยกว่าก็คือ “การรักษาด้วยเลเซอร์” ซึ่งผู้ป่วยไม่ต้องตัดทั้งต่อมทอนซิลทิ้งไป แถมยังเสียเลือดน้อย ฟื้นตัวได้เร็วกว่า นอนค้างที่โรงพยาบาลคืนเดียวก็กลับบ้านได้
- ดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว เพราะการดื่มน้ำมาก ๆ จะช่วยล้างแบคทีเรียออกจากน้ำลายได้
- อย่าปล่อยให้ปากแห้ง เพราะจะทำให้ความเข้มข้นของแบคทีเรียในช่องปากมีเพิ่มมากขึ้นจนทำให้เกิดกลิ่นปากได้
- เลิกการสูบบุหรี่ เพราะการสูบบุหรี่นอกจากเป็นอันตรายต่อสุขภาพแล้ว ยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยเสริมที่ทำให้โรคปริทันต์รุนแรงมากขึ้น และกลิ่นของบุหรี่ที่ตกค้างอยู่ในช่องปากเมื่อผสมกับกลิ่นอื่น ๆ ก็สามารถทำให้เกิดกลิ่นเหม็นเฉพาะได้
- ดื่มน้ำมะนาว เพราะน้ำมะนาวจะช่วยเพิ่มปริมาณของน้ำลายได้
- น้ำมันมะพร้าวช่วยได้ เชื่อหรือไม่ว่าน้ำมันมะพร้าวก็ช่วยดับกลิ่นปากอันไม่พึงประสงค์ของคุณได้ ด้วยการใช้น้ำมันมะพร้าวมาอมไว้ภายในปาก จากนั้นค่อย ๆ เคลื่อนน้ำมันไปให้ทั่วประมาณ 15-20 นาที แล้วบ้วนออก
- รับประทานอาหารที่มีเส้นใยอาหารเยอะ ๆ ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีง่าย ๆ ที่ช่วยลดกลิ่นปากได้
- หลีกเลี่ยงการดื่มกาแฟหรือเครื่องดื่มอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดกลิ่นปาก
- อาหารที่มีน้ำตาลและที่เป็นกรด ก็ทำให้เกิดกลิ่นปากและฟันผุได้ จึงควรหลีกเลี่ยงหรือลดปริมาณหรือความถี่ในการรับประทานอาหารที่มีรสหวาน ไม่รับประทานอาหารหวานเป็นของว่าง หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่เป็นกรด เช่น น้ำอัดลม น้ำผลไม้ ถ้าจะดื่มก็ให้ดื่มโดยไม่ต้องอม ให้เลือกดื่มน้ำ ชา หรือนม แทนเครื่องดื่มที่เป็นกรด และให้แปรงฟันหลังจากดื่มเครื่องดื่มที่เป็นกรดไม่เกินหนึ่งชั่วโมง
- รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ แม้ว่าคุณกำลังจะลดน้ำหนักหรือความอ้วนอยู่ก็ตาม
- ผักผลไม้ดับกลิ่นปาก ผักผลไม้บางชนิดก็ช่วยลดกลิ่นปากได้ เช่น การเคี้ยวใบผักชีฝรั่งหรือใบสะระแหน่หลังการรับประทานอาหาร การรับประทานอโวคาโด (เพราะเนื้ออโวคาโดจะช่วยกำจัดอาหารที่เน่าเสียตกค้างอยู่ในลำไส้ใหญ่ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของกลิ่นปาก) รับประทานกล้วย มังคุด ทับทิม บ๊วย หรือแม้แต่วิตามินหรือสารบางชนิดก็ช่วยลดกลิ่นปากได้ เช่น วิตามินบี 3, คลอโรฟิลล์, เบกกิ้งโซดา เป็นต้น
- สมุนไพรดับกลิ่นปาก สมุนไพรหลายชนิดสามารถดับกลิ่นปาก เช่น การเคี้ยวหมาก, เคี้ยวรากแมงลักคา, เคี้ยวใบคนทีสอ, เคี้ยวใบฝรั่ง, ใบกะเพรา, ใบพาร์สลีย์, ใช้ใบสดสตรอว์เบอร์รี่นำมาแช่น้ำทิ้งไว้ค้างคืน แล้วนำมาใช้กลั้วคอ, ใช้ใบขลู่สดนำมาตำผสมกับเกลือกิน, ใช้รากหูเสือนำมาแช่กับน้ำแล้วนำมากินและอมบ่อย ๆ, การอมดอกกานพลู, การเคี้ยวเหง้าขมิ้นอ้อย, ว่านชักมดลูก, แก่นตะวัน, ขิง, ข่า, น้ำต้นกล้าข้าวสาลีอ่อน, ชาเขียว เป็นต้น
- ดับกลิ่นปากด้วยส่วนผสมจากธรรมชาติ เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ โดยขอแนะนำ 2 สูตรน้ำยาดับกลิ่นปากจากธรรมชาติ โดยสูตรแรกคือ สูตรขิงและมะนาว โดยให้ใช้น้ำมะนาว 1 ช้อนชา, น้ำขิงสด 1 ช้อนชา และน้ำอุ่น 1 แก้ว นำมาผสมให้เข้ากัน ใช้กลั้วปากวันละ 1 ครั้ง หลังการแปรงฟันตอนเช้า และสูตรใบฝรั่ง โดยให้นำใบฝรั่งมาล้างน้ำให้สะอาด แล้วนำมาตำให้ละเอียดผสมกับน้ำเกลือ 0.9% ที่หาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป แช่ทิ้งไว้ประมาณ 10-15 นาที เสร็จแล้วกรองเอาแต่น้ำเก็บมาไว้ใช้บ้วนปาก
สรุป คุณควรไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพฟันและช่องปาก หากมีโรคในช่องปากก็รักษาให้หายดีเสียก่อน แล้วขูดหินปูนเป็นประจำทุก ๆ 6 เดือน แปรงฟันให้สะอาดอย่างถูกวิธี ลิ้น โคนลิ้น ซอกเหงือก กระพุ้งแก้มแปรงให้เรียบ ใช้ไหมขัดฟันทุกครั้งหลังการแปรงฟัน แค่นี้ก็เอาอยู่ละครับถ้าทำเป็นกิจวัตร หรือจะเลือกใช้ตามวิธีข้างต้นที่นำเสนอไปก็ได้ครับ 🙂
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)