วิตามินสำหรับคนท้องมีอะไรบ้าง ?

วิตามินสำหรับคนท้องหรือหญิงตั้งครรภ์มีวิตามินอะไรบ้าง ? และขนาดที่รับประทานต่อวันควรจะมากน้อยแค่ไหน ? วันนี้ผมมีคำตอบครับว่าคุณควรได้รับวิตามินและแร่ธาตุเสริมอะไรบ้าง และวิตามินชนิดไหนที่คุณไม่ควรรับประทานขณะตั้งครรภ์

เมื่อตั้งครรภ์แล้วก็เป็นเรื่องสำคัญอย่างมากที่คุณจะต้องได้รับวิตามินและแร่ธาตุที่จำเป็นอย่างเต็มที่ เพราะมันมีความสำคัญสำหรับพัฒนาการของทารกในครรภ์และคุณต้องรู้ว่าวิตามินและแร่ธาตุเหล่านั้นมีหน้าที่อะไรบ้าง และปริมาณในการรับประทานที่เหมาะสมคือเท่าไหร่

สำหรับวิตามินที่สำคัญสำหรับหญิงตั้งครรภ์หลัก ๆ ก็ได้แก่วิตามินอี บี 1 บี 6 แคลเซียม เหล็ก สังกะสี เป็นต้น และสำหรับผู้ตั้งครรภ์ ก่อนที่คุณจะรับประทานอาหารเสริมหรือวิตามินและแร่ธาตุชนิดใด ๆ ก็ตาม คุณควรจะปรึกษาแพทย์ก่อนนะครับเพื่อความปลอดภัย

วิตามินสำหรับคนท้อง

  • วิตามินบี 1 วันละ 1.5-1.6 mg. ถือเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากสำหรับการพัฒนาของระบบสมองส่วนกลางของทารกในครรภ์
  • วิตามินบี 2 ควรรับประทานวันละ 1.6 mg.
  • วิตามินบี 6 วันละ 2.2 mg. จะช่วยส่งเสริมพัฒนาการของสมองและระบบประสาทของทารกในครรภ์ และอาจช่วยลดอาการแพ้ท้องได้ด้วย
  • วิตามินบี 9 (กรดโฟลิก) สำคัญมากครับ ควรรับประทานให้ได้วันละ 360-400 mcg. เพราะจำเป็นอย่างยิ่งต่อพัฒนาการของเด็กทารกในครรภ์ในช่วงเวลา 3 เดือนแรก และการได้รับกรดโฟลิกไม่เพียงพออาจส่งผลให้ทารกในครรภ์เกิดการพิการทางสมองและระบบประสาทไขสันหลังได้
  • วิตามินบี 12 ก็ควรจะได้รับวันละ 2.2 mg.วิตามินสำหรับคนท้อง
  • วิตามินซี ควรได้รับวันละ 70-95 mg.
  • วิตามินอี วันละ 10 IU จะช่วยส่งเสริมพัฒนาการของกล้ามเนื้อและเซลล์เม็ดเลือดของทารกในครรภ์ได้ และการขาดวิตามินอีอาจส่งผลให้ทารกที่คลอดออกมาน้ำหนักตัวต่ำได้
  • วิตามินดี ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูกให้แก่ทารกในครรภ์ ทำให้โครงสร้างกระดูกมีความสมบูรณ์เมื่อทารกโตขึ้น
  • แคลเซียม วันละ 1,200-1,500 mg. เป็นแร่ธาตุที่สำคัญมากสำหรับหญิงตั้งครรภ์ เพราะมีความสำคัญต่อการพัฒนากระดูกของทารก การขาดแคลเซียมอาจทำให้ทารกในครรภ์มีกระดูกไม่แข็งแรงหรือทำให้เกิดกระดูกพรุน
  • ไอโอดีน ควรได้รับวันละ 175-200 mcg. เพราะในระหว่างตั้งครรภ์ ต่อมไทรอยด์จะทำงานมากขึ้น ทำให้ร่างกายมีความต้องการธาตุไอโอดีนมากขึ้นขึ้น และการที่มารดาได้รับไอโอดีนไม่เพียงต่อความต้องการแล้วอาจจะทำให้เป็นโรคคอพอกได้ และจะส่งผลถึงทารกโดยตรงคือ ทำให้ทารกมีน้ำหนักตัวน้อย แคระแกร็น และมีสติปัญญาต่ำ
  • ธาตุเหล็ก ควรได้รับวันละ 30 mg. เพราะเหล็กมีส่วนสำคัญในการสร้างพัฒนาเซลล์เม็ดเลือด และมีความสำคัญอย่างมากต่อการช่วยในการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์
  • แมกนีเซียม ควรรับประทานวันละ 300-355 mg.
  • ฟอสฟอรัส ควรได้รับวันละ 1,200 mg. ขึ้นไป
  • ซีลีเนียม วันละ 65 mcg.
  • สังกะสี หรือ ซิงค์ วันละ 15 mg. มีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของเซลล์ของทารกในครรภ์
  • น้ำมันปลา (Fish oil) ควรเลือกอาหารเสริมตัวที่มีปริมาณ DHA และ EPA สูง เพราะจะช่วยส่งเสริมพัฒนาการของระบบประสาทและสมองของทารกในครรภ์ ส่งผลให้ทารกที่คลอดออกมาจะฉลาด สมองไว
  • โปรตีน มีความสำคัญอย่างมากในการสร้างเซลล์ของทารกในครรภ์

**และในระหว่างตั้งครรภ์ห้ามรับประทานวิตามินเอโดยเด็ดขาดในช่วง 3 เดือนแรก เพราะเสี่ยงต่อภาวะแท้งบุตร ทารกพิการแต่กำเนิด แต่หลังจาก 3 เดือนแล้วจะได้รับวิตามินเอเสริมวันละ 3,000 IU ก็คงไม่มีปัญหา แต่ผมไม่ขอแนะนำ**

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด