วิตามินพี
- วิตามินพี หรือ ซีคอมเพล็กซ์, ซิตรัสไบโอฟลาโวนอยด์, รูติน, เฮสเพอริดิน เป็นวิตามินที่ละลายในน้ำ ประกอบไปด้วยซิตริน รูติน เฮสเพอริดิน รวมไปถึงฟลาโวนและฟลาโวนอล มีหน่วยเป็นมิลลิกรัม (มก. หรือ mg.) วิตามินชนิดนี้มีความจำเป็นต่อการทำงานและการดูดซึมของวิตามินซี และช่วยเสริมการทำงานกันกับวิตามินซี ช่วยวิตามินซีในการเพิ่มความแข็งแรงของเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน
- วิตามินพีมีอีกชื่อเรียกหนึ่งว่า ตัวควบคุมการซึมผ่านของเส้นเลือดฝอย (วิตามินพี ย่อมาจาก Permeability ซึ่งหมายถึง การซึมผ่าน) โดยหน้าที่หลักของไบโอฟลาโวนอยด์ก็คือ เพิ่มความแข็งแรงของเส้นเลือดฝอยและควบคุมการดูดซึมของสารต่าง ๆ ผ่านผนังเส้นเลือด โดยฟลาโวนอยด์เป็นสารที่ให้สีเหลืองและสีส้มแก่ผลไม้ในกลุ่มส้มและผลไม้รสเปรี้ยวอื่น ๆ
- แหล่งที่พบวิตามินพีตามธรรมชาติ ได้แก่ ส่วนกากสีขาวของผลไม้รสเปรี้ยวทั้งหลาย เช่น ส้ม มะนาว เกรปฟรุต และพบได้ใน เอพริคอต แป้งบักวีต เชอร์รี่ แบล็กเบอร์รี่ โรสฮิป เป็นต้น
- อาการขาดวิตามินพีคือ ผนังเส้นเลือดฝอยเปราะบาง และศัตรูของวิตามินพี ได้แก่ แสง ออกซิเจน ความร้อน การปรุงอาหาร การสูบบุหรี่ น้ำ
ประโยชน์ของวิตามินพี
- ช่วยเสริมภูมิต้านทาน ป้องกันโรคติดเชื้อได้
- ช่วยป้องกันและรักษาโรคเลือดออกตามไรฟันได้
- เพิ่มความแข็งแรงให้ผนังเส้นเลือดฝอย จึงป้องกันการเกิดรอยฟกช้ำ
- ป้องกันไม่ให้วิตามินซีถูกทำลายจากปฏิกิริยาออกซิเดชั่น
- เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของวิตามินซีให้ดีขึ้น
- ช่วยรักษาอาการบวมน้ำและวิงเวียนศีรษะที่เป็นผลมาจากโรคของหูชั้นใน
คำแนะนำในการรับประทานวิตามินพี
- วิตามินพีในรูปแบบของอาหารเสริม มีวางจำหน่ายทั้งแบบแยกและแบบรวมกับวิตามินซี เป็นซีคอมเพล็กซ์ ซึ่งส่วนมากแล้วจะมีปริมาณไบโอฟลาโวนอยด์ 500 มิลลิกรัมต่อรูตินและเฮสเพอริดิน 50 มิลลิกรัม หรือควรมีรูตินมากกว่าเฮสเพอริดินเป็น 2 เท่า
- วิตามินซีเสริมอาหารทุกรูปแบบจะทำงานได้ดียิ่งขึ้นหากมีไบโอฟลาโวนอยด์เสริม
- ขณะนี้ยังไม่มีขนาดที่แนะนำให้รับประทานต่อวันอย่างเป็นทางการ แต่นักโภชนาการเห็นตรงกันว่า ทุก ๆ 500 มิลลิกรัม ของวิตามินซีที่เรารับประทานเข้าไป ควรจะได้รับไบโอฟลาโวนอยด์ควบคู่ไปด้วยอย่างน้อย 100 มิลลิกรัม (5:1)
- ขนาดที่นิยมรับประทาน สำหรับรูตินและเฮสเพอริดินคือ 100 มิลลิกรัม วันละ 3 มื้อ ผลเสียของการรับประทานเกินขนาด ยังไม่พบว่ามีอันตรายต่อร่างกาย หากรับประทานมากกว่าปกติต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน
- ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนจะมีอาการร้อนวูบวาบน้อยลง หากเพิ่มการรับประทานไบโอฟลาโวนอยด์ร่วมกับวิตามินดี
- หากคุณมีเลือดซึมบริเวณเหงือกหลังแปรงฟันบ่อย ๆ ควรรับประทานรูตินและเฮสเพอริดินให้เพียงพอ
- ผู้ที่มีอาการฟกช้ำดำเขียวง่าย หากรับประทานวิตามินซีร่วมกับไบโอฟลาโวนอยด์ รูติน เฮสเพอริดิน อาการจะดีขึ้น
แหล่งอ้างอิง : หนังสือวิตามินไบเบิล (ดร.เอิร์ล มินเดลล์)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)