วงแหวนคุมกําเนิด : 12 ข้อดี-ข้อเสียของวงแหวนคุมกำเนิด !!

วงแหวนคุมกําเนิด : 12 ข้อดี-ข้อเสียของวงแหวนคุมกำเนิด !!

วงแหวนคุมกำเนิด

วงแหวนคุมกําเนิด หรือ วงแหวนช่องคลอด (Birth Control Ring) คือ วงแหวนสำหรับใส่ช่องคลอดที่เรียกว่า “นูวาริง” (NuvaRing®) มีลักษณะเป็นแหวนพลาสติกขนาดเท่ากำไลข้อมือ มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5.5 เซนติเมตร (มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 54 มิลลิเมตร และมีความหนา 4 มิลลิเมตร) ผลิตมาจากวัสดุที่เรียกว่า “เอธิลีนไวนิลอะซิเตทโคโพลิเมอร์” ซึ่งผิวมีลักษณะเรียบ โปร่งใส ไม่มีสี ตัววงแหวนนุ่มและยืดหยุ่น ไม่ละลายในร่างกาย ภายในวงแหวนพลาสติกจะบรรจุไปด้วยฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสโตเจนคล้ายกับยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมที่ใช้กันอยู่ โดยจะประกอบไปด้วย Etonogestrel (โปรเจสโตรรเจน) 11.7 มิลลิกรัม และ Ethinyl estradiol (เอสโตรเจน) 2.7 มิลลิกรัม โดยมีไว้ใช้สำหรับใส่เข้าไปในช่องคลอดและฮอร์โมนจะดูดซึมเข้าสู่ร่างกายเพื่อช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ ซึ่งในปัจจุบันในบ้านเราเริ่มมีใช้กันแล้วนะครับ

การทำงานของวงแหวนคุมกำเนิด

วงแหวนคุมกำเนิดจะใช้สำหรับใส่เอาไว้ในช่องคลอดเดือนละ 3 สัปดาห์ หรือ 21 วัน (ใส่วงแหวนวันแรกที่มีประจำเดือน) หลังจากใส่เข้าไปแล้ว ฮอร์โมน Etonogestrel (โปรเจสโตเจน) และ Ethinyl estradiol (เอสโตรเจน) ที่มีอยู่ในวงแหวนจะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดทันที โดยจะปล่อยฮอร์โมนออกมาในปริมาณต่ำอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ (ปล่อยฮอร์โมน Etonogestrel วันละ 0.12 มิลลิกรัม และปล่อย Ethinyl estradiol วันละ 0.015 มิลลิกรัม) ซึ่งฮอร์โมนที่ถูกปล่อยออกมานั้นจะไปยับยั้งรังไข่ในการปล่อยไข่ออกมาแต่ละเดือน จึงทำให้ไม่เกิดการตั้งครรภ์ พอครบ 21 วันแล้วก็ถอดออกมา 7 วันเพื่อเป็นการพักร่างกาย (หลังจากถอดวงแหวนคุมกำเนิดออกประมาณ 2-3 วัน ประจำเดือนก็จะเริ่มมา แต่มาไม่มากหรือเพียงบางเบา) เมื่อครบเจ็ดวันแล้วจะต้องใส่วงแหวนเข้าไปในช่องคลอดใหม่ จนครบ 21 วัน แล้วก็ถอดออกเว้นไปอีก 7 วัน แล้วจึงค่อยใส่วงแหวนเข้าไปใหม่
วงแหวนใส่ช่องคลอด

แหวนคุมกำเนิด

ประสิทธิภาพของวงแหวนคุมกำเนิด

ตามหลักแล้วการใช้วงแหวนคุมกำเนิดอย่างถูกต้อง (Perfect use) จะมีโอกาสล้มเหลวทำให้เกิดการตั้งครรภ์ได้เพียง 0.3% ซึ่งหมายความว่า จำนวนการตั้งครรภ์ต่อปี (first year of use) ของสตรีที่คุมกำเนิดด้วยการใช้วงแหวนคุมกำเนิดจำนวน 1,000 คน จะมีโอกาสตั้งครรภ์ประมาณ 3 คน แต่โดยทั่วไปแล้วจากการใช้งานจริง (Typical use) กลับพบว่าอัตราการล้มเหลวทำเกิดการให้ตั้งครรภ์จะเพิ่มสูงมากขึ้นเป็น 9% หรือคิดเป็น 1 ใน 11 คน จากผู้ที่คุมกำเนิดด้วยวิธีนี้ ดังนั้นสิ่งสำคัญที่สุดก็คือจะต้องไม่ลืมถอดออกและใส่กลับคืนให้ถูกเวลา ส่วนด้านล่างนี้เป็นตารางเปรียบเทียบระหว่างการคุมกำเนิดด้วยวิธีการใช้วงแหวนคุมกำเนิดกับวิธีการคุมกำเนิดแบบอื่น ๆ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจครับ

วิธีคุมกำเนิด|การใช้แบบทั่วไป|การใช้อย่างถูกต้อง|ระดับความเสี่ยง
ยาฝังคุมกำเนิด|0.05 (1 ใน 2,000 คน)|0.05|ต่ำมาก
ทำหมันชาย|0.15 (1 ใน 666 คน)|0.1|ต่ำมาก
ห่วงอนามัยเคลือบฮอร์โมน|0.2 (1 ใน 500 คน)|0.2|ต่ำมาก
ยาฉีดคุมกำเนิด (ฮอร์โมนรวม)|0.2 (1 ใน 500 คน)|0.2|ต่ำมาก
ทำหมันหญิงแบบทั่วไป|0.5 (1 ใน 200 คน)|0.5|ต่ำมาก
ห่วงอนามัยหุ้มทองแดง|0.8 (1 ใน 125 คน)|0.6|ต่ำมาก
ยาฉีดคุมกำเนิด (ฮอร์โมนเดี่ยว)|6 (1 ใน 17 คน)|0.2|ปานกลาง
แผ่นแปะคุมกำเนิด|9 (1 ใน 11 คน)|0.3|ปานกลาง
วงแหวนคุมกำเนิด (NuvaRing)|9 (1 ใน 11 คน)|0.3|ปานกลาง
ยาเม็ดคุมกำเนิด|9 (1 ใน 11 คน)|0.3|ปานกลาง
ถุงยางอนามัยชาย|18 (1 ใน 5 คน)|2|สูง
การหลั่งนอก|22 (1 ใน 4 คน)|4|สูงมาก
การหลั่งใน (ไม่มีการป้องกัน)|85 (6 ใน 7 คน)|85|สูงมาก
หมายเหตุ : ตัวเลขที่แสดงเป็นจำนวนการตั้งครรภ์ต่อปี (first year of use) ของสตรีที่คุมกำเนิดด้วยวิธีดังกล่าวจำนวน 100 คน โดยกำหนดให้ สีฟ้า = ความเสี่ยงต่ำมาก / สีเขียว = ความเสี่ยงต่ำ / สีเหลือง = ความเสี่ยงปานกลาง / สีส้ม = ความเสี่ยงสูง / สีแดง = ความเสี่ยงสูงมาก (ข้อมูลจาก : www.contraceptivetechnology.org, Comparison of birth control methods – Wikipedia)

ผู้ที่เหมาะจะใช้วงแหวนคุมกำเนิด

  • เหมาะสำหรับผู้หญิงทุกคนที่ต้องการความสะดวกในการคุมกำเนิด หรือมักลืมรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดเป็นประจำ และเป็นอีกทางเลือกหนึ่งแทนการใส่ห่วงคุมกำเนิดหรือใช้ยาฝังคุมกำเนิด

ผู้ที่ไม่ควรใช้วงแหวนคุมกำเนิด

  • ผู้ที่สงสัยว่าตัวเองตั้งครรภ์ ผู้ที่มีอายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป รวมถึงผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้
  • ผู้ที่มีอาการปวดศีรษะไมเกรนบางประเภท, มีความเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดอุดตัน เช่น โรคอ้วน เบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง หลอดเลือดอักเสบ มีเลือดอุดตันที่ขา รวมถึงเส้นเลือดในสมองแตก หรือหัวใจวาย, โรคตับหรือตับทำงานผิดปกติ, เป็นมะเร็งเต้านม, มีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอดโดยไม่ทราบสาเหตุ ผู้ที่มีพยาธิสภาพทางการแพทย์บางประการซึ่งจำกัดให้ไม่สามารถใส่วงแหวนคุมกำเนิดได้ รวมไปถึงผู้ที่ให้นมทารกที่ต่ำกว่า 6 เดือน
  • นอกจากนี้ตัวยาบางชนิดอาจเป็นตัวยับยั้งประสิทธิภาพการทำงานของวงแหวนคุมกำเนิดได้ อย่างไรก็ตามคุณควรปรึกษาแพทย์ให้แน่ใจก่อนว่าการใช้วงแหวนคุมกำเนิดมีอันตรายหรือไม่ เพราะแพทย์เท่านั้นที่จะให้ข้อมูลที่ถูกต้องก่อนที่คุณจะตัดสินใจ

วิธีใช้วงแหวนคุมกำเนิด

ขั้นตอนการใส่วงแหวนคุมกำเนิด : ให้เริ่มใส่ห่วงอนามัยในวันแรกของการมีเลือดประจำเดือนออกมา ในขั้นตอนแรกให้ล้างมือให้สะอาด ฉีกซองออก แล้วหยิบวงแหวนออกมา จากนั้นบีบวงแหวนเข้าหากันด้วยนิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้ แล้วจึงค่อย ๆ สอดวงแหวนเข้าไปในช่องคลอด (ให้เลือกท่าที่จะใส่ได้สะดวก เช่น การนั่งยอง ๆ หรือการนอนหงายชันขาขึ้นทั้งสองข้าง) แล้วใช้นิ้วชี้ดันเข้าไปให้สุด หากใส่แล้วรู้สึกระคาย ให้ดันวงแหวนให้ลึกเข้าไปในช่องคลอดอีก (เมื่อใส่วงแหวนเข้าไปแล้วสตรีส่วนมากมักจะไม่รู้สึกว่าใส่วงแหวนคุมกำเนิดอยู่) ซึ่งกล้ามเนื้อช่องคลอดจะช่วยยึดวงแหวนเอาไว้ไม่ให้วงแหวนเคลื่อนหลุดออกมา แม้ว่าจะเป็นเวลาออกกำลังกายหรือเวลามีเพศสัมพันธ์ก็ตาม (ส่วนข้อมูลจากหนังสือคู่มือตั้งครรภ์และเตรียมคลอด หน้า 449 ของ นพ.สุวชัย อินทรประเสริฐ ระบุว่า ในกรณีที่ต้องการมีเพศสัมพันธ์ก็ให้เอาวงแหวนออก หลังจากเสร็จภารกิจแล้วก็ใส่กลับเข้าไปใหม่) แต่ในการใส่วงแหวนคุมกำเนิดครั้งแรกนั้นจะยังไม่สามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้ทันที ดังนั้นในช่วง 7 วันแรกของการใส่วงแหวน จึงต้องใช้วิธีการคุมกำเนิดแบบอื่นร่วมด้วยเสมอ เช่น การสวมถุงยางอนามัย หรืองดการมีเพศสัมพันธ์ในช่วงระยะนั้น

วิธีใส่วงแหวนคุมกำเนิด

สำหรับการเริ่มใส่วงแหวนคุมกำเนิด อาจมีข้อแตกต่างออกไปบ้าง ขึ้นอยู่กับวิธีการคุมกำเนิดเดิมที่เคยใช้มาก่อน ดังนี้

  1. หากยังไม่ได้คุมกำเนิดด้วยวิธีใดมาก่อน ให้เริ่มใส่วงแหวนคุมกำเนิดครั้งแรกได้ในวันแรกของการมีประจำเดือน
  2. หากใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมในเดือนที่ผ่านมา ให้เริ่มใส่วงแหวนคุมกำเนิดได้อย่างช้าที่สุดในวันถัดจากวันสุดท้ายในระยะหยุดยา (แบบ 21 เม็ด) แต่ถ้ายาคุมกำเนิดที่ใช้เป็นแบบ 28 เม็ด ให้เริ่มใส่วงแหวนคุมกำเนิดได้อย่างช้าที่สุดในวันถัดจากวันที่รับประทานยาที่ไม่มีสารออกฤทธิ์เม็ดสุดท้าย
  3. หากใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยวในเดือนที่ผ่านมา สามารถหยุดใช้ยาคุมกำเนิดในวันใดก็ได้ และเริ่มใส่วงแหวนคุมกำเนิดในวันถัดมา ณ เวลาเดียวกันกับที่รับประทานยาตามปกติ
  4. ถ้าใช้แผ่นแปะคุมกำเนิดมาก่อนในช่วงเดือนที่ผ่านมา ให้ใช้วงแหวนคุมกำเนิดได้ในวันถัดจากวันที่พักการใช้แผ่นแปะคุมกำเนิด
  5. ในกรณีที่คุมกำเนิดด้วยการฉีดยาคุมกำเนิด ใช้ยาฝังคุมกำเนิด หรือใช้ห่วงอนามัยคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยว ในเดือนที่ผ่านมา ให้เริ่มใส่วงแหวนคุมกำเนิดได้เมื่อถึงกำหนดวันที่ต้องฉีดยาคุมครั้งต่อไป หรือในวันที่ถอดยาฝังคุมกำเนิดออก หรือในวันที่ถอดห่วงคุมกำเนิด
  6. สตรีหลังคลอดบุตร จะต้องรอจนกว่าเลือดประจำเดือนมาเป็นปกติครั้งแรกก่อน จึงจะเริ่มใส่วงแหวนคุมกำเนิดได้ แต่บางครั้งอาจจะเริ่มใส่ได้เร็วกว่านี้ก็ได้ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ โดยเฉพาะช่วงที่กำลังให้นมบุตรและต้องการคุมกำเนิดด้วยวิธีนี้จะต้องปรึกษาแพทย์ก่อน ส่วนสตรีหลังแท้งบุตรคุณควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์

ขั้นตอนการถอดวงแหวนคุมกำเนิด : ในการถอดวงแหวนให้ถอดโดยใช้นิ้วชี้หรือนิ้วกลางสอดเข้าไปในช่องคลอด และเกี่ยวรอบวงแหวน พร้อมกับดึงวงแหวนออกมาตามภาพ

วิธีถอดวงแหวนคุมกำเนิด

หากลืมใส่วงแหวนควรทำอย่างไร ? : ในกรณีที่ถอดออกมาเป็นเวลาน้อยกว่า 24 ชั่วโมง ให้ล้างวงแหวนด้วยน้ำให้สะอาดและรีบใส่กลับไปทันที (ในระหว่างนี้การคุมกำเนิดยังได้ผลดีอยู่) แต่หากวงแหวนอยู่นอกช่องคลอดนานเกินกว่า 24 ชั่วโมง ก็ให้รีบใส่กลับเข้าไปทันทีที่จำได้ และใช้วิธีการคุมกำเนิดแบบอื่นร่วมด้วยเป็นระยะเวลา 7 วัน แต่ถ้าวงแหวนอยู่นอกช่องคลอดนานเกินกว่า 24 ชั่วโมง ในระหว่าง “สัปดาห์ที่ 3” ให้รีบใส่วงแหวนกลับเข้าไปทันที และต้องเริ่มนับเป็นอีก 3 สัปดาห์ใหม่ ซึ่งประจำเดือนอาจมาไม่เหมือนประจำเดือนปกติ หรืออาจมาแค่เป็นจุด ๆ ส่วนในกรณีที่ลืมใส่วงแหวนคุมกำเนิดนานเกินกว่า 24 ชั่วโมง “หลังจากที่เว้นช่วงไม่ได้ใส่มาเป็นเวลา 1 สัปดาห์” ให้รีบใส่วงแหวนเข้าไปทันทีที่จำได้ และใช้วิธีการคุมกำเนิดแบบอื่นร่วมด้วยเป็นระยะเวลา 7 วัน เช่น การสวมถุงยางอนามัย หรืองดการมีเพศสัมพันธ์ เป็นต้น (ถ้ามีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกันในช่วง 7 วันที่เอาห่วงออก อาจเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ได้ คุณควรพิจารณาใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉิน ซึ่งหาซื้อได้ตามร้านขายยาโดยไม่ต้องมีใบสั่งของแพทย์)

สามารถหาซื้อวงแหวนคุมกำเนิดได้ที่ใด ? : คุณจำเป็นต้องไปพบแพทย์เพื่อขอใบสั่งใช้วงแหวนคุมกำเนิด แล้วจึงนำใบสั่งนั้นไปซื้อวงแหวนคุมกำเนิดได้ที่ร้านขายยาขนาดใหญ่ทั่วไป ซึ่งมีราคาประมาณวงละ 400-500 บาท

วงแหวนช่องคลอด

ผลข้างเคียงของวงแหวนคุมกำเนิด

  • ผู้ใช้ส่วนใหญ่จะรู้สึกเป็นปกติหลังจากใช้วงแหวนคุมกำเนิด แต่ในบางรายก็ทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ ซึ่งก็ถือเป็นเรื่องปกติ เช่น อาจมีอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน รู้สึกเจ็บเต้านม เป็นต้น แต่อาการเหล่านี้มักจะหายไปเองหลังจาก 1-2 เดือน ส่วนผลข้างเคียงรุนแรงเนื่องจากการใส่วงแหวนในช่องคลอดมักจะไม่ค่อยมี อย่างไรก็ตาม คุณควรปรึกษาแพทย์ทันทีหากมีอาการข้างเคียงเกิดขึ้น

ข้อดีของวงแหวนคุมกำเนิด

  1. เป็นวิธีคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพสูงเทียบเท่ากับการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม
  2. เหมาะสำหรับผู้หญิงทุกคนที่ต้องการความสะดวกในการคุมกำเนิด หรือมักลืมรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดเป็นประจำ
  3. ช่วยลดอาการข้างเคียงจากฮอร์โมน เนื่องจากตัววงแหวนจะค่อย ๆ ปลดปล่อยฮอร์โมนออกมาในระดับต่ำและคงที่ จึงช่วยลดอาการข้างเคียงต่าง ๆ จากฮอร์โมนได้ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เลือดออกกะปริดกะปรอย ช่วยลดสิว ลดหน้ามัน ลดขนดก และไม่มีผลต่อน้ำหนักตัวแต่อย่างใด
  4. สวมใส่และถอดออกได้ง่ายด้วยตัวเอง (คล้ายกับการเหน็บยาในช่องคลอด)
  5. ประจำเดือนมาสม่ำเสมอ
  6. สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ตามปกติ โดยไม่มีผลต่อความรู้สึกทางเพศ หรือทำให้เกิดการระคายเคืองหรือมีผลข้างเคียงใด ๆ ทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง (ไม่ทำให้เกิดการตกขาวหรือติดเชื้อในช่องคลอด แต่จะทำให้สภาวะแวดล้อมในช่องคลอดเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของแบคทีเรียที่เป็นประโยชน์ต่อช่องคลอด จึงทำให้ช่องคลอดไม่แห้ง การตกขาวติดเชื้อจึงเกิดได้น้อยลง)
  7. เป็นการดูดซึมฮอร์โมนเฉพาะที่ จึงไม่รบกวนระบบการทำงานของร่างกายทั้งหมด ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งรังไข่ เยื่อบุโพรงมดลูก และมะเร็งลำไส้ใหญ่
  8. ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า ณ ขณะนี้ยอดขายวงแหวนคุมกำเนิดใน USA เพิ่มขึ้นสูงมาก เพราะมีผลสำรวจเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ที่พบว่า การคุมกำเนิดด้วยวิธีนี้ง่ายต่อการใส่และถอดออก และไม่มีผลกระทบต่อการมีเพศสัมพันธ์ และผู้หญิงมากกว่า 97% ยังรู้สึกพึงพอใจมากกับการใช้วงแหวนคุมกำเนิดนี้ด้วย

ข้อเสียของวงแหวนคุมกำเนิด

  1. แม้ในปัจจุบันวงแหวนคุมกำเนิดจะมีขายตามร้านขายยาก็ตาม แต่ก็ยังจำเป็นต้องใช้ใบสั่งของแพทย์ในการซื้อ
  2. ในครั้งแรกที่ใส่วงแหวนคุมกำเนิด จะยังไม่สามารถคุมกำเนิดได้ทันที จำเป็นต้องใช้วิธีการคุมกำเนิดแบบอื่นร่วมด้วย
  3. ในบางรายใส่แล้วอาจเกิดการระคายเคืองช่องคลอด ซึ่งอาจเพิ่มโอกาสการติดเชื้อในช่องคลอดและทำให้มีตกขาวมากขึ้นได้
  4. ไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้
เอกสารอ้างอิง
  1. Family Planning NSW.  “วงแหวนช่องคลอด (Nuvaring®)”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.fpnsw.org.au.  [12 ต.ค. 2015].
  2. สมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทย (สวท.).  “วงแหวนคุมกำเนิด ทางเลือกหญิงยุคใหม่”.  (ดร.นพ.เกษมสิษฐ์  แก้วเกียรติคุณ).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.ppat.or.th.  [12 ต.ค. 2015].
  3. สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยบูรพา.  “ใส่แหวนกันท้อง”.  (ผู้ช่วยศาสตราจารย์วชิราภรณ์ สุมนวงศ์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.uniserv.buu.ac.th.  [12 ต.ค. 2015].
  4. ไทยรัฐออนไลน์.  “วงแหวนแห่งความลับ นวัตกรรมคุมกำเนิด ผู้หญิงมั่นใจไม่มีป่อง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.thairath.co.th.  [12 ต.ค. 2015].

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด