ลิ้นกวาง สรรพคุณและประโยชน์ของต้นลิ้นกวาง 8 ข้อ !

ลิ้นกวาง

ลิ้นกวาง ชื่อวิทยาศาสตร์ Ancistrocladus tectorius (Lour.) Merr. จัดอยู่ในวงศ์ ANCISTROCLADACEAE[2]

สมุนไพรลิ้นกวาง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ลิ้นควาย (ลำปาง), หางกวาง (นครพนม), ค้อนหมาแดง (นครราชสีมา), หูกลวง (ปราจีนบุรี, ตราด), โคนมะเด็น (สุพรรณบุรี), คันทรง ทองคันทรง (ชลบุรี), ค้อนตีหมา (ยะลา), พันทรง (นราธิวาส), ค้อนหมาขาว (ภาคกลาง), ยูลง ลิดาซาปี (มลายู-ภาคใต้), กระม้า (เขมร-สระบุรี), ขุนม้า ขุนมา (เขมร-สุรินทร์), ซินตะโกพลี (กะเหรี่ยง-ลำปาง), กะม้า ขุนนา (เขมร) เป็นต้น[1],[2],[4]

ลักษณะของลิ้นกวาง

  • ต้นลิ้นกวาง จัดเป็นพรรณไม้เถาเลื้อยเนื้อแข็งขนาดใหญ่ ลำต้นขึ้นใหม่เป็นพุ่ม มักเลื้อยพาดพันไปตามต้นไม้อื่น สามารถเลื้อยไปได้ไกลถึง 15-20 เมตร ส่วนกิ่งก้านเล็ก ๆ มีตะเป็นมือ มีลักษณะเป็นข้อแข็ง ๆ สำหรับเป็นที่ยึดเกาะพันไม้อื่น เถาแก่เป็นสีน้ำตาล เถาแตกเป็นรอยตื้นตามยาว ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด ขึ้นได้ในที่ราบสูงทั่วไป ชอบดินค่อนข้างชื้นและดินอุดมสมบูรณ์พอเหมาะ อุ้มน้ำได้ดี ชอบแสงแดดรำไร พบขึ้นทั่วไปตามป่าดงดิบ ป่าดิบแล้ง และป่าดิบชื้น[1],[2],[3]

ค้อนตีนหมา

  • ใบลิ้นกวาง ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเป็นกระจุกที่ปลายกิ่ง เรียงเวียนสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปหอกกลับ รูปรี หรือรูปขอบขนานแกมรูปหอก ปลายใบแหลม โคนใบเรียวแหลมและค่อย ๆ สอบเข้าหาก้านใบ ส่วนขอบใบเรียบหรือเป็นคลื่น ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3.5-7 เซนติเมตร และยาวประมาณ 12-19 เซนติเมตร แผ่นใบแข็งกระด้าง มีเส้นใบเชื่อมกันก่อนถึงขอบใบ ยอดอ่อนเป็นสีแดงหรือสีเขียวอมขาวอ่อน ๆ[1],[2]

ลิ้นกวาง

  • ดอกลิ้นกวาง ออกดอกเป็นช่อกระจะที่ปลายยอด แต่ละดอกจะมีขนาดเล็ก ฐานดอกเป็นสีเขียว ส่วนกลีบดอกเป็นสีขาวอมแดงถึงสีแดงคล้ำ ส่วนโคนเป็นท่อสั้น ๆ แยกออกเป็น 5 กลีบ ออกดอกในช่วงประมาณเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมีนาคม[1],[2]

ค้อนตีหมา

  • ผลลิ้นกวาง ผลมีขนาดประมาณ 0.5 เซนติเมตร และมีปีกอยู่ 5 ปีก ซึ่งจะมีความยาวไม่เท่ากันรองรับ แบ่งเป็นปีกเล็ก 2 ปีก และปีกใหญ่ 3 ปีก เมื่อแก่จะแห้งเป็นสีน้ำตาล ออกผลในช่วงประมาณเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน[1],[2]

ผลค้อนหมาแดง

รูปลิ้นกวาง

สรรพคุณของลิ้นกวาง

  1. ทั้งต้นใช้ต้มดื่มเป็นยาแก้โรคกระษัย ไตพิการ และไข้ป่า (ทั้งต้น)[3]
  2. รากนำมาต้มใช้เป็นยารักษาโรคไข้จับสั่น (ราก)[1]
  3. รากนำมาต้มใช้เป็นยารักษาโรคบิด (ราก)[1]
  4. เถาและใบนำมาต้มเคี่ยวให้น้ำเข้มข้น ใช้กินก่อนอาหารครั้งละครึ่งแก้ว เป็นยาขับพยาธิ (เถาและใบ)[3]
  5. ใบอ่อนนำมาต้มเอาน้ำอาบเป็นยารักษาอาการบวมตามตัวและเม็ดผื่นคันตามผิวหนัง (ใบอ่อน)[1]
  6. รากลิ้นกวางใช้ผสมกับรากช้างน้าว นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ปวดเมื่อย (ราก)[4]

ประโยชน์ของลิ้นกวาง

  • ใบอ่อนหรือยอดอ่อนใช้รับประทานเป็นผักสดจิ้มกับน้ำพริกรวมกับผักอื่น ๆ โดยจะมีรสฝาดมัน[1]
  • ใช้ทำเครื่องจักสานและเครื่องใช้สอย[2]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  “ค้อนหมาแดง, ค้อนตีหมา”.  หน้า 180.
  2. ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้.  “ลิ้นกวาง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : biodiversity.forest.go.th.  [21 ม.ค. 2015].
  3. การสำรวจทรัพยากรป่าไม้เพื่อประเมินสถานภาพและศักยภาพ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 (อุบลราชธานี).  “ค้อนตีหมา / ลิ้นกวาง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : inven.dnp9.com/inven/.  [21 ม.ค. 2015].
  4. ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.  “Ancistrocladus tectorius (Lour.) Merr.”.  อ้างอิงใน : หนังสือสารานุกรมสมุนไพร เล่ม 4 กกยาอีสาน หน้า 27.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.qsbg.org.  [21 ม.ค. 2015].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Yeoh Yi Shuen, loupok, Prof Dr Kamarudin Mat-Salleh, Ahmad Fuad Morad)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด