ลำไย สรรพคุณและประโยชน์ของลำไย 38 ข้อ !

ลำไย

ลําไย ชื่อสามัญ Longan (ลองแกน) (มักเขียนผิดเป็น “ลำใย“)

ลําไย ชื่อวิทยาศาสร์ Dimocarpus longan Lour. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Euphoria longan (Lour.) Steud.) จัดอยู่ในวงศ์เงาะ (SAPINDACEAE)

ผลไม้เพื่อสุขภาพชนิดนี้เป็นที่นิยมรับประทานอย่างมากในบ้านเรา โดยจังหวัดที่ปลูกมากที่สุดคือจังหวัดลำพูน สำหรับประเทศที่ปลูกมากที่สุดเห็นจะเป็นประเทศจีนที่มีการปลูกลำไยมาถึง 26 สายพันธุ์ แต่ที่นิยมปลูกในบ้านเราจะแบ่งออกเป็น 5 พวก ชนิดแรกคือ ลำไยกะโหลก ซึ่งเป็นพันธ์ุที่มีผลใหญ่ เนื้อหวานอร่อยซึ่งก็จะแบ่งแยกย่อยไปอีกหลายสายพันธุ์ เช่น สีชมพู อีดอ อีแดง อีดำ เป็นต้น ส่วนจำพวกที่ 2-5 ก็คือ ลำไยกระดูก ลำไยสายน้ำผึ้ง ลำไยเถา ลำไยขาว และลำไยธรรมดา

ลำไยประกอบด้วยวิตามินและแร่ธาตุต่าง ๆ ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น คาร์โบไฮเดรต โปรตีน ธาตุแคลเซียม ธาตุฟอสฟอรัส ธาตุโซเดียม ธาตุโพแทสเซียม ธาตุทองแดง ธาตุเหล็ก วิตามินซี วิตามินบี 12 เป็นต้น ส่วนในด้านสรรพคุณ ลำไยใช้เป็นยารักษาโรคได้แก่ เป็นยาแก้ท้องร่วง รักษาโรคมาลาเรีย บรรเทาอาการริดสีดวงทวาร เป็นต้น

สรรพคุณของลำไย

  1. ช่วยให้หลับสบายและช่วยในการเจริญอาหาร
  2. ช่วยรักษาอาการหวัด ด้วยการนำใบมาชงกับน้ำร้อนดื่ม
  3. ช่วยรักษาโรคมาลาเรีย ด้วยนำใบสดประมาณ 20 กรัม น้ำ 2 แก้วผสมเหล้าอีก 1 แก้ว นำมาต้มรวมกันให้เดือดจนเหลือน้ำ 1 แก้วแล้วนำมากิน
  4. ช่วยรักษาแผลเน่าเปื่อย บรรเทาอาการคัน ด้วยนำเมล็ดไปเผาให้เป็นเถ้าแล้วนำมาทา
  5. ช่วยรักษาอาการท้องร่วง ด้วยการนำเปลือกของต้นที่มีสีน้ำตาลอ่อนใช้ต้มเป็นยา
  6. ช่วยรักษาโรคริดสีดวงทวาร ด้วยการนำใบลำไยมาชงกับน้ำร้อนดื่ม
  7. ใช้เป็นยาแก้โรคต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับหนอง ด้วยการนำใบสดประมาณ 20 กรัมไปต้มกับน้ำดื่ม
  8. แก้ปัญหาอาการตกขาว ด้วยการนำรากมาต้มน้ำหรือเคี้ยวให้ค้นผสมกิน
  9. ช่วยขับพยาธิเส้นด้าย ด้วยการนำรากมาต้มน้ำหรือเคี้ยวให้ค้นผสมกิน
  10. ช่วยรักษาปัสสาวะขัด ด้วยการนำเมล็ดมาทุบให้แตกแล้วต้มน้ำกิน แต่ต้องลอกเปลือกสีดำออกก่อน
  11. ดอกลำไยใช้เป็นยาขับปัสสาวะ สลายก้อนนิ่วในไตได้
  12. แก้อาการวิงเวียนศีรษะอ่อนเพลีย เพิ่มความสดชื่น ด้วยนำเปลือกผลที่แห้งแล้วมาต้มน้ำกิน
  13. ช่วยรักษาแผลหกล้ม โดนมีดบาด ด้วยการใช้เมล็ดบดเป็นผงแล้วนำมาพอกห้ามเลือด จะช่วยแก้ปวดได้ด้วย แต่ต้องเอาเปลือกสีดำออกก่อน
  14. ช่วยรักษาแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก ด้วยการนำเปลือกผลที่แห้งแล้วมาเผาเป็นเถ้าหรือบดให้เป็นผงแล้วนำมาโรยที่บาดแผล
  15. ช่วยรักษาแผลมีหนอง สมานแผล ห้ามเลือด แก้ปวด ด้วยการนำเมล็ดมาต้มหรือบดเป็นผงนำมารับประทาน
  16. ช่วยรักษากลากเกลื้อน ด้วยการใช้เมล็ดชุบน้ำส้มสายชูที่หมักด้วยข้าวแล้วนำมาถู แต่ทั้งนี้ต้องลอกเปลือกสีดำออกก่อน
  17. ช่วยรักษาแผลเรื้อรังและมีหนอง ด้วยการนำเมล็ดไปเผาเป็นเถ้า แล้วนำมาผสมกับน้ำมะพร้าวทาบริเวณที่เป็น
  18. เป็นยาบำรุงม้าม เลือดลม หัวใจ บำรุงร่างกาย นอนไม่หลับ อาการอ่อนเพลีย ด้วยนำเนื้อหุ้มเมล็ดมาต้มน้ำกินหรือนำมาแช่กับเหล้า
  19. ลำไยอบแห้งมีสารต่อต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยยับยั้งสารก่อมะเร็ง
  20. ช่วยลดอนุมูลอิสระในเม็ดเลือดขาว
  1. ลำไยมีสารออกฤทธิ์ที่ช่วยฆ่าเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ได้
  2. มีสารช่วยลดการเสื่อมสลายจากข้อเข่า
  3. ลำไยมีวิตามินบี 12 ที่มีส่วนช่วยในการบำรุงประสาทและสมอง
  4. ลำไยมีธาตุแคลเซียมสูง มีส่วนช่วยในเรื่องของทำให้กระดูกและฟันแข็งแรง
  5. ลำไยมีธาตุฟอสฟอรัสที่มีส่วนช่วยบรรเทาอาการปวดจากข้ออักเสบได้
  6. ลำไยมีธาตุโซเดียม ช่วยให้เส้นประสาทและกล้ามเนื้อทำงานได้อย่างเป็นปกติ
  7. ลำไยมีธาตุโพแทสเซียมที่มีส่วนช่วยให้มีสติปัญญา จิตใจร่าเริงแจ่มใสได้ โดยการส่งออกซิเจนไปเลี้ยงที่สมอง
  8. ลำไยมีธาตุเหล็กซึ่งช่วยป้องกันอาการอ่อนเพลียของร่างกาย
  9. ลำไยมีแร่ธาตุทองแดงที่มีส่วนช่วยให้ร่างกายมีพลังงาน โดยการช่วยให้ร่างกายดูดซึมธาตุเหล็กได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ประโยชน์ของลำไย

  1. ใช้รับประทานสดเป็นผลไม้ในยามว่าง อร่อยมาก ๆ
  2. น้ำลำไยช่วยเพิ่มความสดชื่นให้แก่ร่างกาย
  3. ใช้ทำเป็นอาหารก็ได้ เช่น ข้าวเหนียวเปียกลำไย ลำไยลอยแก้ว วุ้นลำไย เป็นต้น
  4. ลําไยเป็นผลไม้ที่ให้พลังงานสูงมาก เนื่องจากมีน้ำตาลหรือคาร์โบไฮเดรตในปริมาณมาก
  5. ลําไยมีวิตามินซีที่มีส่วนช่วยในการบำรุงผิวและเป็นสารต่อต้านอนุมูลอิสระ
  6. มีความเป็นไปได้ว่าในอนาคตอาจนำมาใช้ในการรักษาโรคมะเร็ง เพราะไม่มีผลข้างเคียง ซึ่งจะทำให้ลดขนาดการใช้ยาหรือเคมีบำบัดลงได้มาก
  7. ลำไยแห้งมีส่วนช่วยยับยั้งการสร้างเม็ดสีผิวได้ดีกว่าการใช้สารเคมี
  8. ลําไยสามารถนำมาแปรรูปได้หลากหลาย เช่น การบรรจุกระป๋อง ลำไยอบแห้ง น้ำลำไย เป็นต้น
  9. เนื้อไม้สีแดงของต้นลำไยมักนิยมนำมาใช้เป็นเครื่องประดับ

คุณค่าทางโภชนาการของลำไย ต่อ 100 กรัม

  • พลังงาน 60 กิโลแคลอรี
  • ประโยชน์ของลำไยคาร์โบไฮเดรต 15.14 กรัม
  • เส้นใย 1.1 กรัม
  • ไขมัน 0.12 กรัม
  • โปรตีน 1.31 กรัม
  • วิตามินบี 1 0.031 มิลลิกรัม 3%
  • วิตามินบี 2 0.14 มิลลิกรัม 12%
  • วิตามินบี 3 0.3 มิลลิกรัม 2%
  • วิตามินซี 84 มิลลิกรัม 101%
  • ธาตุแคลเซียม 1 มิลลิกรัม 0%
  • ธาตุเหล็ก 0.13 มิลลิกรัม 1%
  • ธาตุแมกนีเซียม 10 มิลลิกรัม 3%
  • ธาตุแมงกานีส 0.052 มิลลิกรัม 2%
  • ธาตุฟอสฟอรัส 21 มิลลิกรัม 3%
  • ธาตุโพแทสเซียม 266 มิลลิกรัม 6%
  • ธาตุโซเดียม 0 มิลลิกรัม 0%
  • ธาตุสังกะสี 0.05 มิลลิกรัม 1%

% ร้อยละของปริมาณแนะนำที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันสำหรับผู้ใหญ่ (ข้อมูลจาก : USDA Nutrient database)

คำแนะนำ : ไม่ควรรับประทานลำไยมากเกินไป เพราะอาจทำให้เกิดอาการร้อนใน เกิดแผลในช่องปาก และตาแฉะได้ ดังนั้นควรรับประทานแต่พอดี และผู้ที่มีอาการเจ็บคอ ไอมีเสมหะ มีหนองเป็นแผลอักเสบ ก็ไม่ควรรับประทานลำไย

แหล่งอ้างอิง : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี (EN)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด