ละหุ่ง
ละหุ่ง ชื่อสามัญ Castor, Castor bean, Castor oil plant
ละหุ่ง ชื่อวิทยาศาสตร์ Ricinus communis L. จัดอยู่ในวงศ์ยางพารา (EUPHORBIACEAE)
สมุนไพรละหุ่ง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ละหุ่งแดง ละหุ่งขาว มะละหุ่ง (ภาคกลาง), มะโห่ง มะโห่งหิน (ภาคเหนือ), ปี่มั้ว (จีน) เป็นต้น[1],[3],[4]
ลักษณะของละหุ่ง
- ต้นละหุ่ง มีถิ่นกำเนิดในแอฟริกาตะวันออก และในปัจจุบันประเทศบราซิล อินเดีย และประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลก จัดเป็นไม้พุ่มหรือยืนต้นขนาดเล็ก มีความสูงของต้นได้ถึง 6 เมตร โดยแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่ ละหุ่งขาวและละหุ่งแดง โดยต้นละหุ่งขาวจะมีลำต้นและก้านใบเป็นสีเขียว ส่วนละหุ่งแดงจะมีลำต้นและก้านใบเป็นสีแดง ส่วนยอดอ่อนและช่อดอกเป็นสีนวลขาว[1]
- ใบละหุ่ง มีใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับกัน ลักษณะของใบเป็นรูปฝ่ามือ มีแฉกประมาณ 6-11 แฉก ปลายแฉกแหลม ใบมีขนาดกว้างประมาณ 15 เซนติเมตรและยาวประมาณ 60 เซนติเมตร ขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อย มีขนาดไม่เท่ากัน ปลายจักเป็นต่อม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 10-20 เซนติเมตร โคนใบเป็นแบบก้นปิด มีเส้นแขนงของใบเรียงจรดปลายจักที่มีขนาดใหญ่ ส่วนก้านใบยาวประมาณ 10-30 เซนติเมตร มีต่อที่ปลายก้าน หูใบเชื่อมติดกันลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยม มีความยาวได้ประมาณ 1.5 เซนติเมตร ติดตรงข้ามกัน โอบรอบกิ่ง และร่วงได้ง่าย[1]
- ดอกละหุ่ง ออกดอกเป็นช่อบริเวณปลายกิ่งหรือปลายยอด ช่อดอกเป็นแบบช่อกระจะ บางครั้งแยกแขนง ดอกมีทั้งตัวผู้และตัวเมียอยู่ในช่อเดียวกัน โดยดอกตัวผู้จะอยู่ช่วงบน ส่วนดอกตัวเมียจะอยู่ช่วงล่าง ซึ่งก้านดอกตัวเมียจะยาวกว่าก้านดอกตัวผู้ ดอกมีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ ในดอกตัวเมียจะเรียวและแคบกว่า เกสรตัวผู้มีจำนวนมาก เชื่อมติดกันอยู่เป็นกลุ่ม แตกแขนง มีรังไข่ 3 ช่อง ในแต่ละช่องมีออวุล 1 เม็ด มีเกล็ดคล้ายหนามปกคลุมอยู่ ก้านเกสรมี 3 ก้าน มีความยาวเท่า ๆ กัน กลีบเลี้ยงบางแยกเป็น 3-5 แฉก ติดทนและไม่มีกลีบดอก ก้านดอกยาว ไม่มีจานฐานดอก กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกัน ปลายเป็น 5 หยัก ลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยม ยาวได้ประมาณ 1 เซนติเมตร และร่วงได้ง่าย โดยต้นละหุ่งจะเริ่มออกดอกเมื่อมีอายุประมาณ 40-60 วัน[1],[5]
- ผลละหุ่ง หรือ ลูกละหุ่ง ผลเป็นผลแห้งแบบแคปซูล ลักษณะเป็นทรงรี ยาวประมาณ 1.5 เซนติเมตร ผลมีพู 3 พู ลักษณะเป็นรูปไข่ มีสีเขียว ยาวประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ผิวของผลมีขนคล้ายหนามอ่อน ๆ ทั้งผลคล้ายผลเงาะ มีเมล็ดเป็นทรงรี และจะสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ภายในประมาณ 140-160 วัน[1],[5]
- เมล็ดละหุ่ง ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปทรงรี เปลือกเมล็ดมีสีน้ำตาลแดงประขาวหรือเป็นจุดสีน้ำตาลปนเทา เป็นลายคล้ายกับตัวเห็บ สีจะแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ เนื้อในเมล็ดมีสีขาว มีโปรตีนที่มีพิษ ภายในเนื้อเมล็ดจะมีน้ำมันอยู่ภายใน โดยน้ำมันจากเมล็ดละหุ่งจะมีลักษณะเป็นของเหลว ข้น เหนียว ใส ไม่มีสี หรือมีสีเหลืองอ่อน ๆ น้ำมันมีกลิ่นเล็กน้อย มีรสเฝื่อน มันเอียน และเผ็ดเล็กน้อย[2]
สายพันธุ์ละหุ่ง ที่ปลูกในประเทศไทย แบ่งออกเป็น 2 พวก คือ พวกที่มีอายุยาวหรือพันธุ์พื้นเมือง เช่น ลายขาวดำ ลายแดงเข้ม ลายหินอ่อน เป็นต้น ละหุ่งจำพวกนี้เมื่อเพาะปลูกแล้วจะปล่อยทิ้งไว้ให้ติดผลจะใช้ระยะเวลานาน 5-6 ปี หรือนานกว่านั้น แต่ในปัจจุบันได้มีการผลิตละหุ่งอายุสั้นอีกจำพวก ซึ่งเป็นพันธุ์ลูกผสม ชื่อว่า อุบล90 ซึ่งสามารถให้ผลผลิตต่อไร่และเมล็ดมีน้ำมันสูง มีอายุการปลูกสั้นเพียง 75-100 วัน แต่ยังไม่ได้รับความนิยมนัก เนื่องจากเมล็ดพันธุ์ยังมีจำนวนจำกัดและมีราคาแพงกว่าพันธุ์พื้นเมือง[6]
สรรพคุณของละหุ่ง
- ใบสดช่วยแก้เลือดลมพิการ (ใบสด)[1],[3]
- ใบสดนำมาเผาใช้พอกแก้อาการปวดศีรษะได้ (ใบสด)[1]
- รากละหุ่งมีรสจืด ใช้ตำเป็นยาพอกเหงือกแก้อาการปวดฟัน (ราก)[1]
- รากใช้สุมเป็นถ่านทำเป็นยากินแก้พิษไข้เซื่องซึมได้ (ราก)[1],[3]
- ช่วยแก้อาการปวดท้อง (ใบสด)[1]
- ใบสดช่วยขับลมในลำไส้ (ใบสด)[1]
- น้ำมันละหุ่งมีฤทธิ์เป็นยาระบายอุจจาระหรือยาถ่ายอย่างอ่อนสำหรับเด็กและผู้ใหญ่ มีฤทธิ์ไปกระตุ้นผนังลำไส้ให้เกิดการบีบตัว ช่วยขับกากอาหารออกมา มักใช้ในผู้ป่วยที่เป็นโรคท้องเดินเฉียบพลันที่เกิดจากอาหารเป็นพิษ เพื่อช่วยในการขับถ่ายอาหารที่เป็นพิษออกมา และยังนำมาใช้ในการทำความสะอาดลำไส้ก่อนการเอ็กซเรย์ลำไส้และกระเพาะอาหารอีกด้วย แต่ในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปวดมวนท้องได้ โดยน้ำมันละหุ่งนี้ต้องสกัดเอาเฉพาะน้ำมันเท่านั้น และไม่ให้ติดส่วนที่เป็นพิษ โดยใช้วิธีการบีบน้ำมันแบบไม่ผ่านความร้อน เนื่องจากหากผ่านความร้อนจะมีโปรตีนที่มีพิษที่เรียกว่า Ricin ติดมาด้วย ส่วนนี้จะไม่นำมาใช้เป็นยา (น้ํามันละหุ่ง)[1] หรือจะใช้ใบสดหรือรากนำมาต้มกินก็มีฤทธิ์เป็นยาระบายเช่นกัน (ใบสด, ราก)[1]
- ช่วยแก้อาการช้ำรั่วหรืออาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ (ใบสด)[1]
- ใบสดช่วยขับระดูของสตรี (ใบสด)[1]
- ใบละหุ่งใช้ห่อกับก้อนอิฐแดง เผาไฟ ใช้ประคบแก้ริดสีดวงทวาร (ใบสด)[1]
- รากใช้ปรุงเป็นยาสมานได้ (ราก)[1],[3]
- เมล็ดนำมาตำใช้เป็นยาพอกแผลได้ (เมล็ด)[1]
- ใบสดนำไปเผาไฟใช้พอกรักษาแผลเรื้อรังได้ (ใบสด)[1]
- ใบสดใช้ตำพอกเป็นยารักษาฝีได้ (ใบสด)[1]
- ยาขี้ผึ้งน้ำมันละหุ่งที่มีความเข้มข้นร้อยละ 5-10 สามารถนำมาใช้ทารักษาผิวหนังอักเสบได้ (ยาขี้ผึ้งน้ำมันละหุ่ง)[1]
- น้ำมันจากเมล็ดใช้เข้ายากับน้ำมันงา ใช้ทาแก้กระดูกหัก กระดูกแตกได้ (น้ํามันละหุ่ง)[1]
- ใบสดนำไปเผาไฟใช้พอกแก้อาการปวดบวมหรือปวดตามข้อได้ (ใบสด)[1]
- เมล็ดละหุ่งนำมาทุบแล้วเอาจุดงอกออก (เอาเปลือกและดีหรือใบอ่อนออก) ใช้ต้มกับนมครึ่งหนึ่ง แล้วต้มกับน้ำเพื่อทำลายพิษ ใช้กินแก้อาการปวดข้อปวดหลังได้ (เมล็ด)[1]
- ช่วยขับน้ำนมของสตรี (ใบสด)[1],[3]
- ใบมีรสจืดและขื่น มีฤทธิ์เป็นยาฆ่าแมลงบางชนิดได้ (ใบสด)[1]
- โปรตีนจากละหุ่ง ส่วนหนึ่งของโปรตีน Ricin ซึ่งเป็นพิษคือ dgA สามารถจับกับ Antibody ของไวรัสเอดส์ได้ เมื่อพบเซลล์ไวรัส มันจะปล่อย Ricin ไปยับยั้งการแบ่งตัวของไวรัส โดยมีความสามารถในการเลือกจับเฉพาะเซลล์ที่มีไวรัส ซึ่งมีผลต่อเซลล์ปกติเพียง 1/1,000 ของเซลล์ที่มีไววัสเท่านั้น และการค้นพบครั้งนี้ อาจเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนายาที่ช่วยป้องกันหรือเลื่อนเวลาของการเกิดโรคเอดส์ได้[3]
พิษของละหุ่ง
- เมล็ดมีพิษมาก การรับประทานเพียง 2-3 เมล็ด ปากและคอจะไหม้พอง มีอาการคลื่นไส้อาเจียน มีไข้ ไอ หายใจลำบาก แน่นหน้าอก เหงื่อออกมาก กระหายน้ำ เจ็บคอ กล่องเสียงอักเสบ ม่านตาขยาย มีอาการอ่อนเพลีย ปอดบวม ตัวเขียวคล้ำ เนื้อตาย เยื่อบุจมูกอักเสบ ท้องเสียอย่างรุนแรง มีเลือดออกในกระเพาะอาหาร อุจจาระมีเลือด ตับและไตถูกทำลาย ความดันโลหิตลดต่ำลง และหากไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้เสียชีวิตได้ภายใน 36-72 ชั่วโมง เนื่องจากระบบการไหลเวียนโลหิตล้มเหลว[1],[8]
- เมล็ดละหุ่ง เป็นพิษต่อคน สัตว์ และแมลง โดยสารพิษที่สำคัญได้แก่ Ricin และ Ricinus Communis Agglutinin (RCA) โดย Ricin จะเป็นพิษต่อเซลล์ ทำให้เม็ดเลือดแดงเกาะกลุ่มน้อย ส่วน RCA จะทำให้เม็ดเลือดแดงเกาะกลุ่มกันมาก เป็นพิษต่อเซลล์น้อย แต่ผลของพิษที่เกิดจะเกิดจาก Ricin ไม่ใช่ RCA เนื่องจาก RCA ไม่ถูกดูดซึมผ่านเยื่อบุทางเดินอาหาร[8]
- การสกัดเอาน้ำมันออกจากเมล็ดนั้น ต้องใช้วิธีการบีบออกโดยไม่ผ่านความร้อน หรือใช้วิธีการ “บีบเย็น” (Cold pressed) เพื่อไม่ให้โปรตีนที่เป็นพิษติดออกมาด้วย เพราะส่วนที่เป็นพิษจะไม่นำมาใช้เป็นยา[2]
- Ricin จากเมล็ดละหุ่งอาจนำไปใช้ในการก่อความไม่สงบ ด้วยการปนเปื้อนในอาหารน้ำดื่มได้ โดยมีความเป็นพิษสูง และยังไม่มีวัคซีนป้องกัน ไม่มีวิธีการรักษาแบบเฉพาะเจาะจง ทำได้แค่เพียงการรักษาไปตามอาการ[8]
ประโยชน์ของละหุ่ง
- น้ำมันละหุ่ง มีกรดริซิโนเลอิก (Ricinoleic Acid) ซึ่งมีฤทธิ์เป็นยาถ่าย มักใช้ในขนาด 15-60 ml. ก่อนการผ่าตัด หรือการฉายรังสีบริเวณทวารหนักหรือปลายลำไส้ใหญ่[2]
- ประโยชน์ของน้ำมันละหุ่ง (Castor oil) น้ำมันเมล็ดละหุ่ง มีกรดไขมัน Ricinoleic มีคุณสมบัติเฉพาะตัวสูง ไม่สามารถนำมาใช้แทนน้ำมันพืชชนิดอื่นได้ โดยจะนิยมนำมาใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตเรซิ่น น้ำมันหล่อลื่น น้ำมันเบรกรถยนต์ จาระบี น้ำมันชักเงา น้ำยารักษาหนัง น้ำมันผสมสี หมึกพิมพ์ ใช้ทำสีทาบ้าน สีโป๊วรถ ขี้ผึ้งเทียม พลาสติก เส้นใยเทียม หนังเทียม ฉนวนไฟฟ้า สกี ล้อเครื่องบิน และยังใช้เป็นอาหารสัตว์ได้อีกด้วย ส่วนน้ำมันละหุ่งที่ผ่านกรรมวิธีทำให้บริสุทธิ์แล้วสามารถนำมาผลิตใช้เป็นยารักษาโรค ยาระบาย เครื่องสำอางชนิดต่าง ๆ สบู่ ลิปสติก ฯลฯ[2],[3],[4],[5],[6]
- ลำต้นของละหุ่งสามารถนำมาใช้ในการทำเยื่อกระดาษได้[5]
- กากของเมล็ดละหุ่งสามารถนำมาใช้ทำเป็นปุ๋ยอินทรีย์ได้ เพราะอุดมไปด้วยธาตุ N, P, K แต่ไม่เหมาะแก่การนำมาเลี้ยงสัตว์[5]
- การปลูกต้นละหุ่งเป็นแนวรอบสวนไร่นาสามารถช่วยป้องกันหรือขับไล่แมลงศัตรูพืชได้ เช่น แมงกะชอน ปลวก หนู ไส้เดือนฝอย เป็นต้น หรือจะปลูกแบบหมุนเวียนในไร่ก็ได้ เพื่อช่วยป้องกันการแพร่ระบาดของไส้เดือนฝอย[7]
เอกสารอ้างอิง
- ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com. [12 พ.ย. 2013].
- ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaicrudedrug.com. [12 พ.ย. 2013].
- สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th. [12 พ.ย. 2013].
- คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. กรีนไฮเปอร์มาร์ท สารานุกรมผลิตผลและผลิตภัณฑ์จากพืชในซุปเปอร์มาร์เก็ต ฉบับคอมพิวเตอร์. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.sc.mahidol.ac.th. [12 พ.ย. 2013].
- รายการสาระความรู้ทางการเกษตร ฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่. “เรื่อง ละหุ่ง”. บทความวิทยุรายการสาระความรู้ทางการเกษตร ประจำวันที่จันทร์ที่ 5 เมษายน 2542. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: natres.psu.ac.th. [12 พ.ย. 2013].
- โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. “ละหุ่ง“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: kanchanapisek.or.th. [12 พ.ย. 2013].
- สำนักส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 จังหวัดเชียงใหม่. “การใช้สมุนไพรป้องกันและกำจัดศัตรูพืช”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.ndoae.doae.go.th. [12 พ.ย. 2013].
- ศูนย์ข้อมูลพิษวิทยา. “สารพิษจากเมล็ดละหุ่ง“. อ้างอิงใน: กลุ่มงานพิษวิทยาและสิ่งแวดล้อม กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: webdb.dmsc.moph.go.th. [12 พ.ย. 2013].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by The running flower, naturgucker.de, mingiweng, Shubhada Nikharge, Fijgje On/Off, Shanfari.net, judymonkey17, CANTIQ UNIQUE, Scamperdale, museumdetoulouse, eunique1234)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)