รีวิว 5 วิตามินรวมยอดนิยม & วิตามินและแร่ธาตุรวมยี่ห้อไหนดี ?

รีวิว 5 วิตามินรวมยอดนิยม & วิตามินและแร่ธาตุรวมยี่ห้อไหนดี ?

วิตามินรวม

วิตามินรวม (Multivitamins) คือ วิตามินหลายชนิดรวมกันในหนึ่งเม็ด ซึ่งมักประกอบไปด้วยวิตามินวิตามินเอ บี ซี ดี อี และเค และมักจะมีส่วนผสมของแร่ธาตุ/เกลือแร่ต่าง ๆ (Minerals) เพิ่มเข้ามาด้วย เช่น แคลเซียม ธาตุเหล็ก สังกะสี แมกนีเซียม ฟอสฟอรัส ซีลีเนียม ฯลฯ (ปกติเราจะได้รับจากอาหารที่รับประทานเข้าไปในแต่ละวันอยู่แล้วถ้ารับประทานครบหมู่) โดยมีข้อบ่งใช้สำหรับรักษาหรือป้องกันการขาดวิตามินและแร่ธาตุในร่างกายจากสาเหตุต่าง ๆ และเพื่อบำรุงร่างกาย

วิตามินรวมจัดเป็นกลุ่มยาที่สามารถหาซื้อได้เองตามร้านขายยา มีด้วยกันหลายรูปแบบตั้งแต่แบบเม็ด ซอฟเจล เยลลี่ เม็ดเคี้ยว เม็ดฟู่ ไปจนถึงแบบน้ำ บางยี่ห้อก็มีแยกย่อยออกเป็นหลายสูตร ตั้งแต่สูตรมาตรฐาน สูตรสำหรับเด็ก ผู้สูงอายุ ผู้หญิง และผู้ชาย ซึ่งแต่ละสูตรก็จะมีจำนวนและปริมาณของวิตามินและแร่ธาตุแตกต่างกันไป แต่โดยรวมก็ไม่ได้ต่างกันมากนัก (บางยี่ห้อก็มีส่วนผสมของกรดอะมิโน สมุนไพร หรือสารอื่น ๆ ด้วย) และส่วนใหญ่ที่ขาย ๆ กันอยู่ก็จะเป็นสูตรมาตรฐานในรูปแบบเม็ดสำหรับผู้ใหญ่หรือคนวัยทำงานครับ

ประโยชน์ของวิตามินรวม

วิตามินรวมมีข้อบ่งใช้เพื่อรักษาหรือป้องกันการขาดวิตามินและแร่ธาตุในร่างกาย หรือเพื่อรักษาภาวะขาดวิตามินของร่างกายที่เกิดจากอาการป่วยบางชนิด เช่น ผู้ที่เป็นโรคขาดสารอาหาร ผู้ที่มีปัญหาเรื่องการย่อยอาหาร (เช่น ได้รับการผ่าตัดเพื่อลดขนาดกระเพาะอาหาร หรือผู้ที่เป็นโรคทางเดินอาหารอักเสบ) ผู้ที่อยู่ในระหว่างพักฟื้นหรือหลังผ่าตัด หรือผู้สูงอายุที่มีแนวโน้มจะขาดวิตามินและแร่ธาตุบาง อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันวิตามินรวมยังนิยมใช้ในอีก 2 กรณี คือ

  1. การใช้เสริมวิตามินและแร่ธาตุจำเป็นให้กับร่างกาย เพราะร่างกายอาจได้รับจากอาหารไม่เพียงพอจากรูปแบบการใช้ชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวออฟฟิศหรือคนวัยทำงานที่มีความเป็นไปได้อย่างมากว่าร่างกายจะขาดวิตามินและแร่ธาตุบางชนิด ซึ่งสาเหตุก็มักมาจากการใช้ชีวิตอย่างเร่งรีบและมักเผชิญกับภาวะความเครียดหรือมลภาวะอยู่เสมอ (ส่งผลให้เกิดภาวะขาดวิตามินซี ทำให้ภูมิคุ้มกันลดลง), การทานแต่อาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ ทานอาหารสำเร็จรูปบ่อย ๆ หรือไม่ชอบรับประทานผักและผลไม้ (ทำให้ได้รับสารอาหารไม่ครบหมู่), นอนน้อย ทำงานหนัก ไม่ค่อยมีเวลาดูตัวเอง (ทำให้มักเกิดอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยล้า ป่วยง่ายอยู่บ่อย ๆ), ไม่ค่อยได้รับแสงแดด (ทำให้ขาดวิตามินดี ส่งผลทำให้มีอาการปวดเมื่อยได้ง่าย และเสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุน) เป็นต้น
  2. การใช้บำรุงร่างกายให้มีสุขภาพดีขึ้น เหมาะกับผู้ที่อยากเริ่มต้นดูแลสุขภาพ แต่ไม่อยากทานวิตามินหลาย ๆ เม็ดเพื่อบำรุงสุขภาพหรือเพื่อเสริมภูมิคุ้มกันป้องกันการติดเชื้อไวรัสและแบคทีเรียที่มีอยู่มากในปัจจุบัน เพราะครั้นจะทานวิตามินหลาย ๆ ชนิดก็อาจจะเปลือง หรือไม่สะดวกหรือไม่ตอบโจทย์วิถีชีวิตที่เร่งรีบ

ดังนั้น โดยรวมแล้วการทานวิตามินรวมจึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ดีและค่อนข้างสะดวก เหมาะกับคนวัยทำงานที่มักใช้ชีวิตอย่างเร่งรีบ เพื่อให้วิตามินรวมได้ทำหน้าที่เหมือนการมีนักโภชนาการประจำตัวที่จะช่วยให้มั่นใจว่าร่างกายจะได้รับวิตามินและแร่ธาตุที่จำเป็นอย่างครบถ้วนอยู่เสมอ ร่างกายจะได้แข็งแรงไม่ป่วยง่าย และพร้อมทำงานได้อย่างเต็มที่ในทุก ๆ วัน ส่วนประโยชน์ของวิตามินและแร่ธาตุรวมที่ดีต่อคนวัยทำงานนั้นพอสรุปได้ดังนี้ครับ

  • วิตามินเอ (Vitamin A) และเบต้าแคโรทีน (Beta-carotene) ตัวช่วยบำรุงสายตา ช่วยในการมองเห็น ทำให้ตาสู้แสงได้ในเวลากลางวัน ถ้าขาดวิตามินชนิดนี้มักจะมีอาการเยื่อบุตาแห้งและอักเสบได้
  • วิตามินบีรวม (Vitamin B Complex) วิตามินที่จำเป็นสำหรับคนทั่วไปและชาวออฟฟิศ เพราะมีส่วนสำคัญในการบำรุงสมองและระบบประสาท ทำให้สมองปลอดโปร่ง อารมณ์ดี ลดความเครียด รวมทั้งช่วยส่งเสริมให้เกิดการเผาผลาญพลังงานในเซลล์ ทำให้ร่างกายรู้สึกมีพลังอยู่เสมอ ลดอาการอ่อนเพลีย และช่วยทำให้นอนหลับง่ายขึ้น
  • วิตามินซี (Vitamin C) หลัก ๆ คือช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน ช่วยในการสร้างคอลลาเจน ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของผิว
  • วิตามินดี (Vitamin D) ช่วยควบคุมการดูดซึมแคลเซียมเข้าสู่ร่างกาย ส่งเสริมการสร้างกระดูกและฟัน ถ้าร่างกายขาดวิตามินชนิดนี้จะทำให้มีอาการปวดเมื่อยได้ง่าย และเสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุน นอกจากนี้ วิตามินดียังมีบทบาทช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันได้ด้วย (จากผลสำรวจพบว่า 1 ใน 3 คนของพนักงานออฟฟิศขาดวิตามินดี)
  • วิตามินอี (Vitamin E) ทำหน้าที่ต่อต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันการอักเสบ ป้องกันการแตกและอุดตันของเม็ดเลือด และร่างกายจำเป็นต้องใช้เป็นส่วนประกอบของเยื่อหุ้มเซลล์
  • แร่ธาตุรวม/เกลือแร่รวม (Minerals) ร่างกายของคนเราต้องการแร่ธาตุประมาณ 18 ชนิด เพื่อช่วยรักษาสภาพและควบคุมการทำงานของส่วนต่าง ๆ ในร่างกาย รวมทั้งมีบทบาทอย่างยิ่งต่อการทำหน้าที่เป็นโครงสร้างของร่างกาย เซลล์ เนื้อเยื่อและเส้นประสาท รวมไปถึงเอนไซม์ ฮอร์โมน และวิตามินต่าง ๆ แต่ปริมาณสารอาหารที่แนะนำให้บริโภค (RDA) มีเพียง 7 ชนิด คือ แคลเซียม แมกนีเซียม ฟอสฟอรัส ซีลีเนียม ธาตุเหล็ก สังกะสี และไอโอดีน (แร่ธาตุอื่น ๆ เรามักจะไม่ขาดและได้จากอาหารที่รับประทานในแต่ละวันในปริมาณเพียงพออยู่แล้ว) ไม่ว่าวิตามินจะมีความสำคัญเพียงใด แต่วิตามินจะไม่สามารถทำงานและดูดซึมได้เลยถ้าขาดแร่ธาตุ (และร่างกายผลิตแร่ธาตุเองไม่ได้ด้วย) ยกตัวอย่างเช่น วิตามินเอจะทำงานร่วมกับแคลเซียม ฟอสฟอรัส แมกนีเซียม ซีลีเนียม และสังกะสีได้ดีที่สุด และวิตามินบีจะทำงานร่วมกับแร่ธาตุดังกล่าวรวมถึงทองแดง ธาตุเหล็ก แมงกานีส โคบอลต์ โพแทสเซียม และโซเดียมด้วย ส่วนวิตามินซีก็จะทำงานร่วมกับแคลเซียม โคบอลต์ ทองแดง โซเดียมและธาตุเหล็ก เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ วิตามินรวมหลาย ๆ ยี่ห้อจึงผสมแร่ธาตุต่าง ๆ เข้าไปด้วย
วิตามินรวมและเกลือแร่
IMAGE SOURCE : Medthai

การเลือกซื้อวิตามินรวม

  • เลือกแบรนด์หรือยี่ห้อที่มีความน่าเชื่อถือ ได้รับการยอมรับ และมีกระบวนการผลิตที่ผ่านการรับรองมาตรฐานและความปลอดภัย ฉลากจะต้องระบุชื่อยี่ห้อ ส่วนประกอบสำคัญ ส่วนผสมอื่น ๆ อย่างชัดเจนและมีปริมาณที่แน่นอน ได้รับรองขึ้นจดทะเบียนตำหรับจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา มีที่อยู่ของผู้ผลิตผู้แทนจำหน่ายชัดเจน มีวันผลิต วันหมดอายุ และวิธีการเก็บรักษา (ในลิสรีวิวของบทความนี้เราคัดมาให้แล้ว 5 ยี่ห้อที่มีความน่าเชื่อถือสูงสุด)
  • ตรวจสอบวันหมดอายุ รวมถึงส่วนผสมในวิตามินก่อนซื้อเสมอ เพื่อหลีกเลี่ยงส่วนผสมที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ของคุณ (ถ้ามี)
  • ควรซื้อจากร้านที่มีหลักแหล่งแน่นอนและเชื่อถือได้เท่านั้น อย่างร้านขายยาที่มีเภสัชกรประจำอยู่ เพื่อจะได้ปรึกษาสอบถามถึงรายละเอียดต่าง ๆ เกี่ยวกับตัวผลิตภัณฑ์ ขนาดที่เหมาะสม และความจำเป็นในการใช้
  • เลือกผลิตภัณฑ์วิตามินรวมโดยดูที่จำนวนวิตามินและแร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกายเป็นหลัก ส่วนสารอื่น ๆ แค่ดูไว้เป็นทางเลือกก็พอครับ เช่น สมุนไพร กรดอะมิโน สารอื่น ๆ เพราะมักผสมเข้ามาในปริมาณน้อยและอาจไม่จำเป็นหรือไม่ตรงกับความต้องการของร่างกาย
  • เพื่อให้ร่างกายได้รับประโยชน์สูงสุด ควรเลือกผลิตภัณฑ์วิตามินรวมให้ตรงสูตร เพราะบางยี่ห้อนอกจากสูตรมาตรฐานแล้วยังมีแยกเป็นสูตรสำหรับเด็ก ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ ผู้หญิง และผู้ชายด้วย ซึ่งก็จะมีความแตกต่างกันทั้งจำนวนและปริมาณของสารสำคัญ แถมบางสูตรในแต่ละวัยแต่ละเพศก็จะมีสมุนไพรหรือสารอื่น ๆ ในแต่ละวัยเพิ่มเข้ามาด้วย ซึ่งอาจไม่จำเป็นสำหรับวัยอื่น ๆ (ส่วนวัยผู้ใหญ่หรือคนวัยทำงานก็ให้เลือกเลือกทานสูตรมาตรฐานหรือสูตรปกติครับ)
  • หลีกเลี่ยงวิตามินรวมรูปแบบที่เป็นเยลลี่ เพราะวิตามินรวมรูปแบบนี้มักมีส่วนผสมของน้ำตาล ซึ่งไม่ค่อยดีต่อสุขภาพ
  • เปรียบเทียบความคุ้มค่าทั้งจำนวนของสารสำคัญ ปริมาณส่วนผสม และราคาของวิตามินรวมแต่ละยี่ห้อ (ดูที่หัวข้อ “รีวิววิตามินรวม” ด้านล่าง เพื่อประกอบการตัดสินใจและเป็นแนวทางในการเปรียบเทียบกับวิตามินรวมยี่ห้ออื่น ๆ นอกเหนือจากที่รีวิวในบทความนี้)
  • ทำความเข้าใจชื่อ หน่วย และรูปของวิตามินและแร่ธาตุก่อนทำการเปรียบเทียบ เพราะแต่ละยี่ห้ออาจใช้ชื่อเรียกและหน่วยวัดของวิตามินและแร่ธาตุแตกต่างกัน หรือวิตามินและแร่ธาตุนั้น ๆ อาจอยู่ในรูปอื่นซึ่งจำเป็นต้องนำมาแปลงหน่วยก่อนนำมาเปรียบเทียบ อย่าดูเพียงแต่จำนวนตัวเลขที่มากกว่าเป็นหลัก เพราะคุณอาจถูกหลอกได้ (ในบทความรีวิวนี้เราได้ทำการแปลงหน่วยและใช้ชื่อเรียกวิตามินให้เหมือนกันเพื่อให้ง่ายต่อการเปรียบเทียบ) ตัวอย่างเช่น
    • Calcium บางยี่ห้อไม่ได้ระบุตรง ๆ ว่าให้ Calcium เท่าไหร่ แต่ระบุแคลเซียมในรูปอื่น เช่น Calcium Carbonate 440 mg ซึ่งจริง ๆ แล้วเมื่อแปลงหน่วยจะให้ Calcium เพียง 176 mg หรือกลับกันถ้าอยู่ในรูป Calcium Hydrogen Phosphate 67.4 mg ก็จะเท่ากับ Calcium 200 mg
    • Magnesium ในรูปของ Magnesium Oxide 50 mg จะเท่ากับ Magnesium เพียง 30.15 mg
    • Iron อาจอยู่ในรูปของ Ferrous Fumarate หรือ Ferrous Lactate ซึ่งแต่ละรูปจะให้ธาตุเหล็กไม่เท่ากัน
    • Vitamin A ยี่ห้อส่วนใหญ่จะระบุว่ามีวิตามินเอกี่ IU แต่บางยี่ห้อจะระบุวิตามินเอในรูปอื่นหรือหน่วยอื่น เช่น Retinol Acetate 300 mcg (เท่ากับวิตามินเอ 1000 IU)
    • Ascorbic Acid คือ Vitamin C
    • Vitamin D ในวิตามินรวมคือ Vitamin D3 และมีอีกชื่อเรียกหนึ่งว่า Colecalciferol
    • Vitamin E บางยี่ห้ออาจอยู่ในรูปอื่น เช่น DL-alpha-Tocopheryl acetate หรือ D-alpha-Tocopheryl acetate จึงจำเป็นต้องนำมาแปลงหน่วยก่อนทำการเปรียบเทียบ
    • Vitamin K ในวิตามินรวมคือ Vitamin K1 และมีอีกชื่อเรียกหนึ่งว่า Phytomenadione
    • Vitamin B1 ในวิตามินรวมอาจอยู่ในรูปของ Thiamine Nitrate หรือ Thiamine Hydrochloride จึงจำเป็นต้องนำมาแปลงหน่วยก่อนทำการเปรียบเทียบ
    • Pantothenic acid คือ Vitamin B5 แต่บางยี่ห้อวิตามินนี้จะอยู่ในรูปอื่น เช่น Calcium Pantothenate ซึ่งเมื่ออยู่ในรูปนี้มันจะมีหน่วยไม่เท่ากับ Vitamin B5 จึงจำเป็นต้องนำมาแปลงหน่วยก่อนจะนำไปเปรียบเทียบยี่ห้ออื่น ๆ (ตัวอย่าง Calcium Pantothenate 10.8 mg จะเท่ากับ Pantothenic acid หรือ Vitamin B5 10 mg)
    • Vitamin B2 = Riboflavin, Vitamin B3 = Nicotinamide หรือ Niacinamide, Vitamin B7 = Biotin (ไบโอติน), Vitamin B9 = Folic Acid (กรดโฟลิก), Vitamin B12 = Cyanocobalamin
วิตามินรวมยี่ห้อไหนดี
IMAGE SOURCE : Medthai

วิตามินรวมยี่ห้อไหนดี ?

ผลิตภัณฑ์วิตามินรวมในปัจจุบันมีมากมายหลายสูตร หลายยี่ห้อมีส่วนผสมของแร่ธาตุนานาชนิด บางยี่ห้อก็มีส่วนผสมของกรดอะมิโน สมุนไพร หรือสารอื่น ๆ ส่วนปริมาณของส่วนผสมก็มีสัดส่วนที่แตกต่างกันออกไป แต่โดยรวมแล้วจำนวนและปริมาณแต่ละยี่ห้อแต่ละสูตรจะไม่ได้แตกต่างกันมากนัก โดยวิตามินรวมในท้องตลอดจะมีทั้งในรูปแบบเม็ด แบบซอฟเจล แบบน้ำ แบบเยลลี่ และแบบเม็ดฟู่ละลายน้ำ แต่ที่เลือกมารีวิววันนี้จะมีเพียง 5 ยี่ห้อเท่านั้นครับที่คัดมาเฉพาะยี่ห้อที่มีความน่าเชื่อถือสูง เพื่อให้ผู้อ่านได้ดูเป็นแนวทางในการประกอบการตัดสินใจในการเลือกซื้อ

จริง ๆ ก่อนเริ่มเขียนบทความนี้เราอยากจะรีวิววิตามินทั้งหมด 12 ยี่ห้อ ตั้งแต่ DHC Multi Vitamin, The Nature Multi-Vitamin Plus Zinc, Pharmatech MULTIVITAMIN, ยาเม็ดวิตามินรวม องค์การเภสัชกรรม, CLOVER PLUS 19 MULTIVIT AND MINERALS, แบรนด์ วีต้า แอคทีฟ 14 และ 21st Century Mega Multi แต่เมื่อมาดูในรายละเอียดดี ๆ ทั้งจำนวนและปริมาณก็แทบไม่ได้แตกต่างกันนัก เราเลยคัดมาเฉพาะยี่ห้อยอดนิยมที่มีความน่าเชื่อถือสูงเพียง 5 ยี่ห้อ (แต่ถ้าคุณอยากจะเลือกซื้อหรือเปรียบเทียบยี่ห้ออื่น ๆ ก็สามารถนำตารางรีวิวด้านล่างนี้ไปใช้เปรียบเทียบก่อนตัดสินใจซื้อก็ได้ครับ)

ส่วนการจัดอันดับวิตามินรวม เราจะมีการให้คะแนนกันแบบคร่าว ๆ เพื่อที่ผู้อ่านจะได้ใช้ข้อมูลนี้เป็นแนวทางในประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อวิตามินรวมได้ง่ายขึ้น แต่ต้องบอกไว้ก่อนนะครับว่านี่เป็นการรีวิวจากทีมงานของเราเองเท่านั้น จึงไม่สามารถนำไปใช้อ้างอิงใด ๆ และไม่ได้หมายความว่ายี่ห้อที่มีคะแนนน้อยกว่าจะมีคุณภาพด้อยกว่าแต่อย่างใดครับ เพราะความจำเป็นและความต้องการวิตามินของแต่ละคนมีไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้น แนะนำว่าอย่าตัดสินใจเลือกซื้อวิตามินรวมยี่ห้อใดยี่ห้อหนึ่งเพราะคำโฆษณา จากคำบอกเล่า หรือจากบทความนี้เพียงอย่างเดียวจนกว่าคุณจะได้ปรึกษากับเภสัชกรหรือแพทย์ของคุณ ส่วนเกณฑ์การให้คะแนนของเรานั้นมีดังนี้ครับ

  • ความน่าเชื่อถือ (แบรนด์) : คะแนนข้อนี้มี 10 คะแนน เราดูหลายอย่างตั้งแต่มาตรฐานการผลิต ความน่าเชื่อถือของบริษัท ความจำเพาะในการดำเนินธุรกิจ (ถ้าขายสินค้าหลายกลุ่มหรือผลิตสินค้าหลายกลุ่มนอกจากยาและอาหารเสริมเราจะถือว่าไม่ใช่บริษัทเฉพาะทาง) มูลค่าและทุนจดทะเบียนของทั้งบริษัทผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่าย และข้อมูลของสินค้าที่แสดงบนเว็บไซต์ เป็นต้น
  • จำนวนวิตามินและแร่ธาตุ : ข้อนี้เราดูที่จำนวนของวิตามินและแร่ธาตุเป็นหลักครับ ยี่ห้อไหนมีจำนวนวิตามินและแร่ธาตุมากที่สุดจะได้ 10 คะแนน และคะแนนจะลดลงมาตามอัตราส่วนราคา (ถ้ามีสารอื่น ๆ +1 คะแนน)
  • ปริมาณสารสำคัญ : ตรงนี้เราคิดให้คะแนนโดยการนำปริมาณของสารแต่ละตัวที่มีหน่วยเดียวกันมารวมกันแล้วดูว่ายี่ห้อไหนมีปริมาณโดยรวมมากที่สุดและน้อยที่สุด โดยแยกให้คะแนนเป็นหน่วย mg 5 คะแนน, หน่วย mcg 3 คะแนน และหน่วย IU 2 คะแนน รวม 10 คะแนน (ถ้ามีสารอื่น ๆ นอกจากวิตามินและแร่ธาตุ +1 คะแนน)
  • ราคาเฉลี่ยต่อเม็ด : ง่าย ๆ คือ ราคาต่อเม็ดถูกสุดได้ 10 คะแนน และแพงสุดได้ 5 คะแนน โดยเราจะอิงจากราคาของกระปุก 30 เม็ดเหมือนกันทุกยี่ห้อครับ (ยกเว้นยี่ห้อ Interpharma ที่มีรูปแบบและขนาดเดียวคือ 20 เม็ดฟู่)

NUTRIVITA Multivitamin & Minerals

วิตามินรวม NUTRIVITA
NUTRIVITA Multivitamin & Minerals

#1 NUTRIVITA Multivitamin & Minerals ผลิตโดย MEGA We Care เป็นวิตามินและแร่ธาตุรวม 24 ชนิด มีจุดเด่นสำคัญคือเป็นวิตามินรวมสูตรมาตรฐานที่มีจำนวนและปริมาณวิตามินและแร่ธาตุรวมสูงสุดในท้องตลอด (มีปริมาณสูงกว่ายี่ห้ออื่นประมาณ 2-3 เท่า) มีให้เลือก 2 ขนาด คือ แบบแผง 10 ซอฟเจลแคปซูล และ แบบขวด 30 ซอฟเจลแคปซูล ข้อดีของยี่ห้อนี้คือเม็ดวิตามินจะอยู่ในรูปของซอฟเจล จึงช่วยให้ทานได้ง่ายขึ้น และมีแบบแผงขนาดเล็กให้เลือกซื้อ ซึ่งง่ายต่อการพกพา จึงเหมาะอย่างยิ่งสำหรับชาวออฟฟิศและคนวัยทำงาน โดยแบบแผงนี้ซื้อมาในราคา 105 บาท (จากร้านขายยา) ซึ่งราคาเฉลี่ยก็ไม่ได้ต่างจากยี่ห้ออื่นมากนัก คือ เม็ดประมาณ 10-11 บาท (ถ้าเป็นแบบขวด 30 เม็ดจะมีราคาเฉลี่ยต่อเม็ดถูกกว่า คือ ประมาณ 9.3 บาท) โดยวิตามินจะอยู่ในแผงฟอยล์ที่แยกวิตามินแต่ละเม็ดออกจากกัน มีข้อดีคือ ช่วยป้องกันออกซิเจนและความชื้น จึงช่วยคงสภาพและปริมาณของสารสำคัญให้สูงสุดในระหว่างรอการบริโภคได้ดีที่สุดเมื่อเทียบกับแบบขวด

  • ความน่าเชื่อถือ (แบรนด์) : 10/10 คะแนน
  • จำนวนวิตามินและแร่ธาตุ (รวม 24 ชนิด) : 10 (10+0) /10 คะแนน
    • วิตามิน 4 ชนิด : A, C, D, E
    • วิตามินบี 10 ชนิด : B1, B2, B3, B5, B6, B7, B9, B12, Choline, Inositol
    • แร่ธาตุ 10 ชนิด : Calcium, Magnesium, Iron, Zinc, Manganese, Selenium, Copper, Chromium, Iodine, Molybdenum
  • ปริมาณสารสำคัญ : 10 (5+3+2+0) /10 คะแนน
  • ราคาเฉลี่ยต่อเม็ด : 7.85/10 คะแนน (ราคา 9.3 บาท/เม็ด)
  • คะแนนรวม : 37.85/40 คะแนน

VISTRA Multivitamins & Minerals Plus Amino Acid

วิตามินรวม VISTRA
VISTRA Multivitamins & Minerals Plus Amino Acid

#2 VISTRA Multivitamins & Minerals Plus Amino Acid วิตามินรวมและแร่ธาตุรวม 21 ชนิด ที่มีส่วนผสมของกรดอะมิโนรวม 320 มก. ยี่ห้อนี้มีจุดเด่นในเรื่องของราคาเฉลี่ยต่อเม็ดที่ถูกกว่ายี่ห้ออื่น ๆ แต่ก็ยังมีปริมาณวิตามินและแร่ธาตุโดยรวมน้อยกว่า Nutrivita อยู่พอสมควร โดยจะมี 2 ขนาดให้เลือก คือ แบบขวด 30 เม็ด และ 50 เม็ด (ในรูปคือขนาด 30 เม็ด ราคา 219 บาท จากร้าน watsons)

  • ความน่าเชื่อถือ (แบรนด์) : 9/10 คะแนน
  • จำนวนวิตามินและแร่ธาตุ (รวม 21 ชนิด) : 9.75 (8.75+1) /10 คะแนน
    • วิตามิน 5 ชนิด : A, C, D, E, K
    • วิตามินบี 8 ชนิด : B1, B2, B3, B5, B6, B7, B9, B12
    • แร่ธาตุ 8 ชนิด : Calcium, Magnesium, Iron, Zinc, Manganese, Selenium, Copper, Boron
    • อื่น ๆ : Amino Acid Complex
  • ปริมาณสารสำคัญ : 6.38 (3.61+1.16+0.61+1) /10 คะแนน
  • ราคาเฉลี่ยต่อเม็ด : 10/10 คะแนน (ราคา 7.3 บาท/เม็ด)
  • คะแนนรวม : 35.13/40 คะแนน

Centrum Dietary Supplement Product

วิตามินรวม Centrum
Centrum Dietary Supplement Product

#3 Centrum Dietary Supplement Product วิตามินรวมสูตรมาตรฐานของ Centrum ประกอบด้วยวิตามินและแร่ธาตุรวม 21 ชนิด (ไม่นับรวมเบต้าแคโรทีนซึ่งแปลงเป็นวิตามินเอแล้ว) และมีลูทีนกับไลโคปีน สูตรนี้มีให้เลือก 2 ขนาด คือ แบบขวด 30 เม็ด และ 90 เม็ด (ในรูปคือขนาด 30 เม็ด ราคา 299 บาท จากร้าน watsons) จุดเด่นหลัก ๆ ของยี่ห้อนี้ คือ เป็นแบรนด์จากสหรัฐอเมริกาที่ได้รับการยอมรับในวงกว้างและมียอดขายอันดับ 1 ทั้งในไทยและในหลาย ๆ ประเทศ และที่สำคัญยังมีให้เลือกรับประทานหลายสูตรหลายวัยมากที่สุด ตั้งแต่สูตรสำหรับเด็ก Centrum Kiddi (รวม 15 ชนิด (รวมเบต้าแคโรทีน)), สูตรสำหรับวัยสูงอายุ 50 ปีขึ้นไป SILVER 50+ Dietary Supplement Product (รวม 22 ชนิด และมีลูทีนกับไลโคปีน), สูตรเพิ่มแร่ธาตุหายาก From A to Zinc (รวม 29 ชนิด) และสูตรนำเข้าอีกมากมายหลายสูตร เช่น สูตร Adults (รวม 26 ชนิด), MEN กับ WOMEN (รวม 26 ชนิด), SILVER Men50+ กับ Women50+ (รวม 28 ชนิด), Minis (รวม 27 ชนิด), MultiGummies (รวม 19 ชนิด) ฯลฯ แต่โดยรวมไม่ว่าจะสูตรไหนถ้าดูในภาพรวมแล้วก็ไม่ได้แตกต่างกันเท่าไหร่เลยครับ คืออาจจะมีต่างกันบ้างตรงมีสารสกัด กรดอะมิโน สารอื่น ๆ หรือแร่ธาตุอื่น ๆ ที่ร่างกายมักไม่ได้ขาดเพิ่มเติมเข้ามาบ้าง ส่วนวิตามินและแร่ธาตุทั้งจำนวนและปริมาณก็ยังใกล้เคียงกันในแต่ละสูตรครับ

  • ความน่าเชื่อถือ (แบรนด์) : 10/10 คะแนน
  • จำนวนวิตามินและแร่ธาตุ (รวม 21 ชนิด) : 9.75 (8.75+1) /10 คะแนน
    • วิตามิน 5 ชนิด : A, C, D, E และ K
    • วิตามินบี 8 ชนิด : B1, B2, B3, B5, B6, B7, B9, B12
    • แร่ธาตุ 8 ชนิด : Calcium, Magnesium, Iron, Zinc, Manganese, Selenium, Copper, Chromium
    • อื่น ๆ : Lutein, Lycopene
  • ปริมาณสารสำคัญ : 6.57 (3.97+1.15+0.45+1) /10 คะแนน
  • ราคาเฉลี่ยต่อเม็ด : 7.3/10 คะแนน (ราคา 10 บาท/เม็ด)
  • คะแนนรวม : 33.62/40 คะแนน

BLACKMORES Multi Active

วิตามินรวม BLACKMORES
BLACKMORES Multi Active

#4 BLACKMORES Multi Active วิตามินและแร่ธาตุรวมสูตรมาตรฐานที่ให้วิตามินและแร่ธาตุรวม 19 ชนิด และมีสารสกัดจากใบอาร์ติโชค ทอรีน ลูทีน และโคเอนไซม์ คิว 10 ในสูตรนี้จะมีให้เลือก 2 ขนาดครับ คือ แบบขวด 30 เม็ด (ราคา 330 บาท) และ 60 เม็ด (ราคา 580 บาท) จุดเด่นของยี่ห้อนี้คือมีให้เลือกหลายสูตร คือนอกจากสูตรมาตรฐานแล้วยังมีสูตรที่ผสมสารอื่น ๆ ด้วย ตั้งแต่สูตรผสมน้ำมันปลา Multivitamin 12+ (รวม 17 ชนิด และน้ำมันปลา), สูตรสำหรับวัยสูงอายุ 50 ปีขึ้นไป Multivitamin Nutri 50+ (รวม 20 ชนิด และมีลูทีน/ซีแซนทีน สารสกัดใบแปะก๊วย สารสกัดเห็ดหลินจือ สารสกัดโสมเกาหลี และสารสกัดปักคี้), สูตรสำหรับเด็กแบบเม็ดเคี้ยว Koala Multivitamin + Mineral (รวม 18 ชนิด), สูตรนำเข้าสำหรับผู้ชาย MULTIVITAMIN for MEN และหญิง MULTIVITAMIN for WOMEN

  • ความน่าเชื่อถือ (แบรนด์) : 10/10 คะแนน
  • จำนวนวิตามินและแร่ธาตุ (รวม 19 ชนิด) : 8.92 (7.92+1) /10 คะแนน
    • วิตามิน 4 ชนิด : A, C, D, E
    • วิตามินบี 7 ชนิด : B1, B2, B3, B5, B6, B7, B12
    • แร่ธาตุ 8 ชนิด : Calcium, Magnesium, Iron, Zinc, Manganese, Selenium, Copper, Chromium
    • อื่น ๆ : Lutein, Taurine, Coenzyme Q10, Artichoke Extract
  • ปริมาณสารสำคัญ : 5.95 (3.17+0.98+0.8+1) /10 คะแนน
  • ราคาเฉลี่ยต่อเม็ด : 6.64/10 คะแนน (ราคา 11 บาท/เม็ด)
  • คะแนนรวม : 31.51/40 คะแนน

Interpharma Multivitamin

วิตามินรวม Interpharma
Interpharma Multivitamin

#5 Interpharma Multivitamin วิตามินรวมที่ผลิตในเยอรมันที่อยู่ในรูปของเม็ดฟู่ละลายน้ำ มีส่วนผสมเฉพาะวิตามินที่จำเป็นรวม 10 ชนิด คือ วิตามินซี อี และวิตามินบีรวม ไม่มีส่วนประกอบของแร่ธาตุเหมือนยี่ห้ออื่น ๆ มีจุดเด่นเรื่องความเป็นเม็ดฟู่ละลายน้ำที่ใช้นวัตกรรมผลิตแบบใหม่ที่ช่วยให้ดูดซึมได้ดี สามารถละลายน้ำได้โดยไม่เหลือตะกอนในแก้ว และให้รสชาติที่ดี (เท่าที่แกะดูเม็ดฟู่วิตามินค่อนข้างแตกง่าย ซึ่งอาจจะเกิดจากการซ้อนทับกันของเม็ดยาเอง ทำให้เม็ดยาที่อยู่ก้นขวดแตกไป 1-2 เม็ด ส่วนการชิมทดสอบเม็ดฟู่ใช้เวลาในการละลายไม่เกิน 1 นาที ให้รสชาติอร่อยในระดับกลาง ๆ โดยรสจะเป็นรสส้ม ออกไปทางเปรี้ยว ๆ และทานง่ายครับ) มีให้เลือกให้แบบเดียว คือ แบบหลอด 20 เม็ดฟู่ (ราคา 240 บาท จากร้าน watsons)

  • ความน่าเชื่อถือ (แบรนด์) : 10/10 คะแนน
  • จำนวนวิตามินและแร่ธาตุ (รวม 10 ชนิด) : 4.17 (4.17+0) /10 คะแนน
    • วิตามิน 2 ชนิด : C, E
    • วิตามินบี 8 ชนิด : B1, B2, B3, B5, B6, B7, B9, B12
    • แร่ธาตุ 0 ชนิด : ไม่มี
  • ปริมาณสารสำคัญ : 4.38 (2.43+1.95+0+0) /10 คะแนน
  • ราคาเฉลี่ยต่อเม็ด : 6.08/10 คะแนน (ราคาประมาณ 12 บาท/เม็ด)
  • คะแนนรวม : 24.63/40 คะแนน

รีวิววิตามินรวม (ตารางเปรียบเทียบจำนวนปริมาณวิตามินรวมและแร่ธาตุ)

รีวิววิตามินรวม

หมายเหตุ :

  • วิตามินและแร่ธาตุในตาราง ทั้งชื่อ หน่วย และปริมาณ ถูกแปลงให้เป็นชื่อที่เข้าใจง่ายและใช้หน่วยวัดเดียวกันเพื่อง่ายต่อการเปรียบเทียบ
  • เครื่องหมาย  หน้าตัวเลข คือ ปริมาณของวิตามินและแร่ธาตุที่ถูกแปลงมาให้อยู่ในรูปของสารหลัก (ตัวอย่างอย่างเช่น ยี่ห้อ Centrum ที่แคลเซียมจะอยู่ในรูปของ Calcium Hydrogen Phosphate และมีปริมาณ 67.4 mg แต่เมื่อนำมาแปลงหน่วยแล้วก็จะได้ Calcium เท่ากับ 200 mg)
  • เครื่องหมายถูกสีส้ม () คือ ปริมาณสารสำคัญที่มากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับยี่ห้ออื่น

“ทำงานหนัก อ่อนเพลีย นอนน้อย ไม่มีเวลาดูแลตัวเอง ไม่อยากกินวิตามินหลายเม็ด เลือกวิตามินรวมและเกลือแร่ (Multivitamins & Minerals) ที่ครบจบในเม็ดเดียว เพื่อเป็นพื้นฐานดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ให้ร่างกายได้พร้อมทำงานได้อย่างเต็มที่ในทุก ๆ วัน”

คำแนะนำในการรับประทานวิตามินรวม
  • ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชก่อนรับประทานวิตามินรวมถึงความจำเป็นในการใช้ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็ก หญิงตั้งครรภ์ และหญิงให้นมบุตร) และแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบเกี่ยวกับโรคหรือภาวะที่เป็นอยู่ รวมถึงอาการแพ้ยา อาหาร หรือสารใด ๆ (ถ้ามี)
  • หากคุณได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วนอยู่แล้วจากการรับประทานอาหารได้ครบ 5 หมู่อย่างสมดุล คุณอาจไม่จำเป็นต้องรับประทานวิตามินรวมเสริม
  • วิตามินรวมอาจทำปฏิกิริยากับยาหรืออาหารเสริมบางชนิดได้ หากคุณกำลังใช้ยา สมุนไพร หรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารใด ๆ อยู่ คุณควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชทราบเสมอ
  • ผลิตภัณฑ์วิตามินรวมมีมากมายหลายสูตร หลายชนิดมีส่วนผสมของแร่ธาตุต่าง ๆ บางชนิดที่ส่วนผสมของกรดอะมิโน หรือสารอื่น ๆ แถมแต่ละยี่ห้อก็มีสัดส่วนของส่วนผสมที่แตกต่างกันไป ดังนั้นสูตรของวิตามินรวม ปริมาณ และระยะเวลาที่ใช้ จึงอาจแตกต่างกันได้ในแต่ละบุคคล ด้วยเหตุนี้ คุณจึงควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้วิตามินรวมเสมอ
  • ให้รับประทานวิตามินรวมตามปริมาณและระยะเวลาที่แพทย์กำหนด แต่โดยทั่วไปแล้วสำหรับผู้ใหญ่ คือให้ทานครั้งละ 1 เม็ด วันละ 1 ครั้ง พร้อมอาหารหรือหลังอาหาร (แนะนำว่าควรรับประทานวิตามินรวมพร้อมอาหารเช้า เพราะจะช่วยลดอาการระคายเคืองต่อกระเพาะอาหารได้ โดยเฉพาะในผู้ที่มีอาการอาหารไม่ย่อย)
  • ควรรับประทานวิตามินรวมร่วมกับน้ำเปล่า ไม่ควรรับประทานร่วมกับนมหรือผลิตภัณฑ์จากนม รวมถึงอาหารเสริมแคลเซียม หรือยาที่มีส่วนผสมของแคลเซียม เพราะแคลเซียมอาจส่งผลต่อการดูดซึมของวิตามินบางชนิดได้
  • การรับประทานวิตามินรวมตามปริมาณที่แนะนำมักไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงร้ายแรงใด ๆ แต่ในบางรายอาจพบผลข้างเคียงชนิดที่ไม่รุนแรงได้ เช่น ปวดศีรษะ อาหารไม่ย่อย รู้สึกถึงรสชาติผิดปกติ แต่หากพบอาการที่แสดงถึงการแพ้รุนแรง เช่น มีผื่นลมพิษ ผื่นแดง, ปวดท้อง อาเจียน หายใจไม่สะดวก หรือมีอาการบวมที่ใบหน้า ลำคอ ปาก ริมฝีปาก หรือลิ้น ให้หยุดใช้และรีบไปพบแพทย์ทันที

เขียนเนื้อหาโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด