ราสเบอร์รี่
แรสเบอร์รี หรือ ราสเบอร์รี ภาษาอังกฤษ Raspberry
คำว่า “ราสเบอร์รี่” คือชื่อเรียกของผลไม้หลายชนิดในสกุล Rubus ซึ่งเป็นสกุลเดียวกันกับแบล็คเบอร์รี่ และเป็นหนึ่งในผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ โดยส่วนใหญ่จะจัดอยู่ในสกุลย่อย Idaeobatus สำหรับในภาษาท้องถิ่นของไทยบ้านเราอาจจะเรียกแรสเบอร์รี่ว่า “หนามไข่ปู” และผลไม้ชนิดนี้มีถิ่นกำเนิดในแถบยุโรป
ผลไม้ราสเบอร์รี่ ในประเทศไทยก็มีการเพาะด้วยเช่นกัน โดยจะพบกระจายพันธุ์อยู่บนพื้นที่ภูเขาสูง เช่น ดอยภูคา จังหวัดน่าน, ภูกระดึง จังหวัดเลย, ดอยอินทนนท์ ดอยเชียงดาว ดอนผ้าห่มปก จังหวัดเชียงใหม่ เป็นต้น
ลักษณะของราสเบอร์รี่
- ต้นราสเบอร์รี่ เป็นพืชที่มีอายุหลายปี ลักษณะของผลรูปกรวยมีสีแดง ผลมีขนาดเล็ก และมีขนนุ่ม ๆอยู่ที่เปลือกเล็กน้อยหรือไม่มีเลย ลำต้นและตัวต้นมีความแข็งแรงมาก สามารถขยายพันธุ์ไปได้เรื่อย ๆ อย่างไม่มีจำกัด เพราะมันสามารถงอกลำต้นขึ้นมาใหม่จากลำต้นเดิมได้และรากจะเจาะลึกลงไปในดิน ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้หน่อที่แทงขึ้นมาในแต่ละปีและวิธีการติดผล
- ราสเบอรี สามารถเจริญเติบโตได้ดีในทุกสภาพภูมิอากาศทั่วโลก แต่จะนิยมปลูกกันในพื้นที่ที่มีอากาศหนาวเย็นมากกว่า เช่นทางอเมริกาและทางยุโรป นิยมเก็บเกี่ยวในช่วงที่ผลสุกงอม โดยดูจากความเข้มสดของสีผลเป็นหลัก เพราะผลจะมีรสหวานมาก จึงเหมาะแก่การนำมารับประทานเป็นผลไม้
- ราสเบอรี่ เป็นผลไม้ที่มีทั้งรสหวานและรสเปรี้ยว เป็นผลไม้ทางการค้าที่สำคัญมากของทางยุโรป นอกจากจะนำมาใช้รับประทานเป็นผลไม้แล้ว ยังนำมาใช้อุตสาหกรรมการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้อย่างหลากหลาย โดยพบว่าขณะนี้ประเทศไทยได้มีการนำเข้าผลิตภัณฑ์แปรรูปจากผลไม้ประเภทนี้ปีละหลายสิบล้านบาทเลยทีเดียว
สรรพคุณของราสเบอร์รี่
- ใบสามารถนำมาใช้ทำเป็นยาได้
ประโยชน์ของราสเบอร์รี่
- ผลไม้ราสเบอรี่มีไขมันและแคลอรีต่ำ อีกทั้งยังอุดมไปด้วยเส้นใยอาหารที่ช่วยในการขับถ่าย
- ราสเบอรี่ มีสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันในร่างกายและช่วยป้องกันการเกิดโรคต่าง ๆ
- ช่วยต่อต้านมะเร็ง เพราะอุดมไปด้วยกรดเอลลาจิก (Ellagic acid) ซึ่งในทางการแพทย์ได้ยอมรับว่ามันมีฤทธิ์แรงที่สุดในการช่วยป้องกันมะเร็ง โดยพบว่ากรดชนิดนี้สามารถช่วยจับสารพิษที่เป็นสารก่อมะเร็งไม่ให้จับกับดีเอ็นเอ จึงช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งได้ และยังช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งไม่ให้ลุกลาม ทำให้เซลล์มะเร็งเกิดภาวะตายตามธรรมชาติ โดยไม่ทำลายเซลล์ปกติเหมือนการใช้ยาเคมีบำบัด
- ช่วยป้องกันโรคอัลไซเมอร์หรือความจำเสื่อม
- ราสเบอร์รี่ ผลไม้ที่อุดมไปด้วยวิตามินซี ช่วยในการต่อต้านอนุมูลอิสระในร่างกาย และยังมีวิตามินเอ วิตามินอี ที่ช่วยในการชะลอการเกิดริ้วรอย บำรุงผิวพรรณ และช่วยสมานผิวหรือแผลต่าง ๆ ให้หายเร็วขึ้น
- ราสเบอร์รี่ประกอบด้วยแร่ธาตุสำคัญอย่างแมงกานีส โพแทสเซียม แมกนีเซียม ทองแดง และธาตุเหล็ก ซึ่งช่วยควบคุมอัตราการเต้นของหัวใจและช่วยควบคุมความดันโลหิต และช่วยในการผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดง
- ราสเบอร์รี่อุดมไปด้วยวิตามินบีรวม วิตามินเค และวิตามินอื่น ๆ ซึ่งมีส่วนช่วยให้ร่างกายเผาผลาญคาร์โบไฮเดรต โปรตีน และไขมัน
- ผลไม้ราสเบอร์รี่มีน้ำตาลต่ำ จึงช่วยควบคุมน้ำหนักตัวได้
- สารสีแดงในราสเบอร์รี่มีคุณสมบัติในการช่วยเพิ่มการไหลเวียนของโลหิต
- ราสเบอร์รี่มีสารอาหารที่เอื้อต่อการมีบุตรทั้งเพศชายและเพศหญิง
- ช่วยลดความเสียหายที่เกิดขึ้นกับสเปิร์มได้ถึง 20% (สาเหตุอาจมาจากภาวะความเครียด) ซึ่งมากกว่าผู้ชายที่ไม่ได้บริโภคผลไม้ราสเบอร์รี่
- ช่วยรักษาสมดุลของฮอร์โมนเพศได้เป็นอย่างดี
- ช่วยลดโอกาสการแท้งบุตรในเพศหญิง เพราะราสเบอร์รี่มีโฟเลตที่เป็นตัวช่วยเพิ่มความสมบูรณ์ให้กับตัวอ่อนระหว่างการตั้งครรภ์
- ราสเบอรี่สด ใช้รับประทานเป็นผลไม้หรือนำไปทำอาหารอย่างอื่นได้ทั้งอาหารคาวและหวาน
- ราสเบอร์รี่สามารถนำมาแปรรูปทำเป็น น้ำราสเบอร์รี่ ราสเบอร์รี่ปั่น เค้กราสเบอร์รี่ แยมราสเบอร์รี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ใช้แต่งกลิ่นสีในขนมหวานได้อย่างหลากหลาย ฯลฯ
คุณค่าทางโภชนาการของราสเบอร์รี่ ต่อ 100 กรัม
- พลังงาน 53 กิโลแคลอรี
- คาร์โบไฮเดรต 11.94 กรัม
- น้ำตาล 4.42 กรัม
- เส้นใย 6.5 กรัม
- ไขมัน 0.65 กรัม
- โปรตีน 1.2 กรัม
- วิตามินบี 1 0.032 มิลลิกรัม 3%
- วิตามินบี 2 0.038 มิลลิกรัม 3%
- วิตามินบี 3 0.598 มิลลิกรัม 4%
- วิตามินบี 5 0.329 มิลลิกรัม 7%
- วิตามินบี 6 0.055 มิลลิกรัม 4%
- วิตามินบี 9 21 ไมโครกรัม 5%
- โคลีน 12.3 มิลลิกรัม 3%
- วิตามินซี 26.2 มิลลิกรัม 32%
- วิตามินอี 0.87 มิลลิกรัม 6%
- วิตามินเค 7.8 ไมโครกรัม 7%
- ธาตุแคลเซียม 25 มิลลิกรัม 3%
- ธาตุเหล็ก 0.69 มิลลิกรัม 5%
- ธาตุแมกนีเซียม 22 มิลลิกรัม 6%
- ธาตุแมงกานีส 0.67 มิลลิกรัม 32%
- ธาตุฟอสฟอรัส 29 มิลลิกรัม 4%
- ธาตุโพแทสเซียม 151 มิลลิกรัม 3%
- ธาตุโซเดียม 1 มิลลิกรัม 0%
- ธาตุสังกะสี 0.42 มิลลิกรัม 4%
% ร้อยละของปริมาณแนะนำที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันสำหรับผู้ใหญ่ (ข้อมูลจาก : USDA Nutrient database)
แหล่งอ้างอิง : สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, ห้องปฏิบัติการณ์ระดับชาติลอว์เรนซ์ เบิร์กลีย์ ของกระทรวงพลังงานสหรัฐฯ, www.whfoods.com, www.nutrition-and-you.com
ภาพประกอบ : www.ifood.tv, เว็บไซต์วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)