รามใหญ่
รามใหญ่ ชื่อวิทยาศาสตร์ Ardisia elliptica Thunb. จัดอยู่ในวงศ์ PRIMULACEAE (MYRSINACEAE)[1]
สมุนไพรรามใหญ่ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ลังพิสา (ตราด), ทุรังกาสา (ชุมพร), ปือนา (มลายู-นราธิวาส) เป็นต้น[1]
ลักษณะของรามใหญ่
- ต้นรามใหญ่ มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาใต้ จัดเป็นไม้พุ่มกึ่งไม้ยืนต้นขนาดเล็ก มีความสูงได้ประมาณ 1.5-3 เมตร แตกกิ่งก้านสาขารอบ ๆ ต้นมาก เปลือกลำต้นและกิ่งเรียบเกลี้ยงเป็นสีน้ำตาลอมเทา กิ่งอ่อนมนกลมหรือเป็นเหลี่ยมเล็กน้อย เป็นสีน้ำตาลอมแดง ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและวิธีการตอนกิ่ง ชอบความชื้นปานกลางและแสงแดดแบบเต็มวัน มีเขตการกระจายพันธุ์อยู่ทางตอนใต้ของอินเดีย ศรีลังกา และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในประเทศไทยพบได้ทางภาคใต้ มักขึ้นกระจายตามชายฝั่งทะเล ริมแม่น้ำ แนวหลังป่าชายเลน ขึ้นแทรกอยู่ตามป่าเบญจพรรณ หรือป่าดิบบนภูเขาหินทราย ที่ระดับความสูงไม่เกิน 500 เมตร จากระดับน้ำทะเล[1],[2],[3]
- ใบรามใหญ่ ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับหนาแน่นที่ปลายกิ่ง ลักษณะของใบเป็นรูปรี รูปรีแกมขอบขนาน หรือรูปใบหอกถึงรูปไข่กลับ ปลายใบกลมทื่อถึงเป็นติ่งแหลม โคนใบเป็นรูปลิ่ม ส่วนขอบใบเรียบ มีจุดเล็ก ๆ สีเขียวอ่อนแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเมื่อใบแก่ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 7-15 เซนติเมตร เนื้อใบหนาคล้ายแผ่นหนัง นุ่ม และอวบน้ำ หลังใบและท้องใบเรียบเกลี้ยง มีจุดโปร่งแสงสีเขียวคล้ำกระจายทั่วแผ่นใบ หลังใบด้านบนเป็นสีเขียวคล้ำ ส่วนท้องใบด้านล่างเป็นสีเขียวนวล เส้นใบเป็นแบบร่างแหขนนก เส้นใบมองเห็นไม่ค่อยชัดเจน ก้านใบสั้นเป็นสีแดง[1],[2]
- ดอกรามใหญ่ ออกดอกเป็นช่อเชิงลดรูปบพัดคล้ายซี่ร่ม โดยจะออกตามซอกใบและที่ปลายกิ่ง แต่ละช่อจะมีดอกประมาณ 5-8 ดอก ก้านช่อดอกยาวประมาณ 1.5-2.5 เซนติเมตร ก้านดอกเรียว ดอกตูมเป็นรูปทรงกรวย เมื่อดอกบานจะเป็นรูปวงล้อสีชมพูอ่อน มีกลีบดอก 5 กลีบ กลีบดอกเรียงบิดเวียน ปลายกลีบเรียวแหลม มีจุดต่อมโปร่งแสงสีม่วง ส่วนกลีบเลี้ยงเป็นสีเขียว โคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็นแฉก 5 แฉก รูปไข่กว้างถึงรูปมนกลม[1],[2]
- ผลรามใหญ่ ผลมีลักษณะเป็นรูปทรงกลมหรือกลมแป้น ผิวผลเรียบ ปลายผลมีติ่งแหลมสั้น เนื้อในผลนุ่ม ผลอ่อนเป็นสีเขียว สีแดงเรื่อ เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีม่วงดำ ภายในผลมีเมล็ด 1 เมล็ด เมล็ดมีลักษณะกลมแข็ง ออกดอกและผลในช่วงประมาณเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกันยายน[1],[2]
สรรพคุณของรามใหญ่
- ใบมีสรรพคุณเป็นยาบำรุงธาตุ (ใบ)[4]
- ผลใช้เป็นยาแก้ธาตุพิการ (ผล)[5]
- ผลมีรสร้อน ฝาด สุขุม มีสรรพคุณเป็นยาแก้ซาง แก้ตานขโมย (ผล)[4],[5]
- ผลมีสรรพคุณเป็นยาแก้ไข้ (ผล[1],[4],[5], เปลือก[4])
- ช่วยแก้อาการไอ (ราก, ใบ)[4]
- ใช้เป็นยาแก้ลม (ใบ, ดอก)[4]
- ผลใช้เป็นยาแก้ท้องเสีย (ผล[1],[3],[4],[5], เปลือก, ราก[4])
- ดอกใช้เป็นยาแก้พยาธิ (ดอก)[4]
- รากมีรสเฝื่อนเมา เปรี้ยวเล็กน้อย ใช้เป็นยาแก้กามโรคและหนองใน (ราก)[1],[3],[4],[5]
- ใบมีรสเฝื่อนร้อน ใช้เป็นยาแก้ตับพิการ ปอดพิการ (ใบ)[3],[4],[5]
- ช่วยแก้ลมพิษ (ผล)[5]
- ลำต้นใช้เป็นยาแก้โรคเรื้อน แก้กุฏชัง (ลำต้น)[1],[3],[4]
- ต้นมีรสเฝื่อนเมา ใช้ปรุงผสมกับสมุนไพรอื่นเป็นยาแก้โรคเรื้อน ฆ่าพยาธิที่ผิวหนัง (ต้น)[5]
- ดอกมีรสเฝื่อนขมเมา สรรพคุณเป็นยาฆ่าเชื้อโรค (ดอก)[3],[4],[5]
- รากนำมาตำกับเหล้าเอาน้ำรับประทาน ส่วนกากนำมาพอกปิดแผล เป็นยาแก้พิษงู ถอนพิษงู ตะขาบ แมงป่อง และแก้ลมเป็นพิษ (ราก)[4],[5]
ประโยชน์ของรามใหญ่
- ยอดอ่อนใช้รับประทานแกล้มกับน้ำพริก[2],[3]
- ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไป เป็นไม้ทรงพุ่ม ช่อดอกสวยงาม[2],[3]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “รามใหญ่ (Ram Yai)”. หน้า 264.
- ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้. “รามใหญ่”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : biodiversity.forest.go.th. [04 พ.ย. 2014].
- คมชัดลึกออนไลน์. (นายสวีสอง). “รามใหญ่ เป็นยา-กินยอด”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.komchadluek.net. [04 พ.ย. 2014].
- สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 6 (สงขลา), กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “รามใหญ่ Ardisia elliptica Thunb.”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.dnp.go.th/mfcd20/heab-5.htm. [04 พ.ย. 2014].
- ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “พิลังกาสา”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.phargarden.com. [04 พ.ย. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Ahmad Fuad Morad, Chow Khoon Yeo, Wee Foong Ang, Eric Hunt, Siyang Teo)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)