รัง สรรพคุณและประโยชน์ของต้นรัง 7 ข้อ !

รัง

รัง ชื่อวิทยาศาสตร์ Pentacme siamensis (Miq.) Kurz (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Shorea siamensis Miq.) จัดอยู่ในวงศ์ยางนา (DIPTEROCARPACEAE)[1]

สมุนไพรรัง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ลักป้าว (เชียงใหม่), เรียง เรียงพนม (สุรินทร์), เปา เปาดอกแดง (ภาคเหนือ), ฮัง (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), รัง (ภาคกลาง), ไม้เปา (คนเมือง, ม้ง), แลบอง เป็นต้น[1],[2]

หมายเหตุ : ต้นรังที่กล่าวถึงในบทความนี้เป็นพันธุ์ไม้คนละชนิดกับต้นสาละ (Shorea robusta Gaertn.) และต้นเต็ง (Shorea obtusa Wall. ex Blume)

ลักษณะของต้นรัง

  • ต้นรัง จัดเป็นพรรณไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดเล็กถึงขนาดกลาง กิ่งก้านมักคดงอ เรือนยอดเป็นพุ่มโปร่ง ต้นมีความสูงได้ประมาณ 10-25 เมตร เปลือกต้นเป็นสีเทาหรือสีน้ำตาลอมเทา มีความแข็งและหนามาก แตกเป็นร่องลึกตามยาวของลำต้นคล้ายรอยไถ เปลือกต้นด้านในเป็นสีแดงออกน้ำตาล มีน้ำยางสีเหลืองอ่อนถึงสีน้ำตาล ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด (เด็ดปีกก่อนนำเมล็ดไปเพาะ) มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย พม่า ลาว เขมร และเวียดนาม ในประเทศไทยพบต้นรังได้มากที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และพบขึ้นอยู่ในภาคอื่น ๆ ด้วย ยกเว้นในภาคใต้ โดยมักขึ้นตามป่าเต็งรัง ป่าเต็งรังผสมก่อและสน ตามเขาหินปูน ตั้งแต่ใกล้ระดับน้ำทะเลจนถึงที่ความสูงประมาณ 1,300 เมตร[1],[3]

ต้นรัง

รูปรัง

  • ใบรัง ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่กว้างถึงรูปขอบขนาน ปลายใบเรียวแหลมหรือมน โคนใบเป็นรูปหัวใจ ส่วนขอบใบเรียบ ขอบเป็นคลื่นขึ้นลง ใบมีขนาดกว้างประมาณ 10-12.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 10-18 เซนติเมตร แผ่นใบเรียบเกลี้ยง เนื้อใบบางคล้ายกระดาษถึงหนาคล้ายแผ่นหนัง แผ่นใบด้านล่างมีขนขึ้นประปราย เส้นแขนงใบมีข้างละ 10-16 เส้น เห็นได้ชัดเจนทางด้านล่าง ก้านใบเกลี้ยงยาวได้ประมาณ 2.5-3.5 มิลลิเมตร มีหูใบรูปไข่แกมรูปเคียว ขนาดกว้างประมาณ 7 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 1.5-1.8 เซนติเมตร หลุดร่วงได้ง่าย ใบอ่อนแตกใหม่เป็นสีน้ำตาลแดง[1]

ใบรัง

  • ดอกรัง ออกดอกเป็นช่อแบบช่อแยกแขนง ยาวได้ถึง 15 เซนติเมตร โดยจะออกตามซอกใบเหนือรอยแผลใบหรือออกที่ปลายกิ่ง ดอกมักจะออกก่อนแตกใบอ่อน ดอกตูมมีลักษณะเป็นรูปไข่หรือรูปรีขนาดใหญ่ มีขนาดกว้างประมาณ 5 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 1.5 เซนติเมตร ดอกย่อยเป็นสีเหลือง มีกลิ่นหอมอ่อน ๆ มีกลุ่มละ 5-20 ดอก มี 5 กลีบ ลักษณะเป็นรูปไข่ ปลายบิดเป็นเกลียวคล้ายกังหัน ปลายกลีบโค้งไปด้านหลัง โคนกลีบเชื่อมกัน มีกลิ่นหอม ดอกหลุดร่วงได้ง่าย ส่วนกลีบเลี้ยงมีลักษณะเป็นรูปไข่แกมรูปใบหอกกว้าง มีอยู่ 5 กลีบ ขนาดกว้างประมาณ 3 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 4-6 มิลลิเมตร ปลายกลีบเลี้ยงเรียวแหลม โคนเชื่อมติดกัน ผิวด้านนอกมีขน กลีบดอกเป็นไข่หรือรูปรีกว้าง ปลายกลีบแหลม กลีบดอกมีขนาดกว้างประมาณ 1 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1.5 เซนติเมตร ผิวด้านนอกเกลี้ยงหรือมีขนขึ้นประปราย ด้านดอกย่อยมีผิวเกลี้ยง ยาวได้ประมาณ 0.7 เซนติเมตร เป็นดอกแบบสมบูรณ์เพศ มีเกสรเพศผู้ 15 อัน แบ่งเป็นชั้นใน 5 อัน และชั้นนอก 10 อัน ก้านชูอับเรณูเป็นรูปแถบกว้าง อับเรณูเป็นรูปแถบ ที่ปลายมีรยางค์แหลม รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ลักษณะเป็นรูปไข่เกลี้ยง มีอยู่ 3 ช่อง ในแต่ละช่องจะมีออวุล 2 เม็ด ส่วนก้านเกสรเพศเมียเป็นรูปเส้นด้าย ยอดเกสรเพศเมียเป็นพู 3 พู[1]

ดอกรัง

ดอกฮัง

  • ผลรัง ผลเป็นแบบผลผนังชั้นในแข็ง ลักษณะเป็นรูปไข่ มีขนาดกว้างประมาณ 1 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร มีปีกที่พัฒนามาจากกลีบเลี้ยง 5 ปีก ลักษณะเป็นรูปช้อน มีเส้นตามยาวชัดเจน แบ่งเป็นปีกยาว 3 ปีก ปลายป้านเป็นรูปใบพาย มีขนาดกว้างประมาณ 4-9 เซนติเมตร และยาวได้ถึง 12 เซนติเมตร และปีกสั้นอีก 2 ปีก มีขนาดกว้างประมาณ 5 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 6.5 เซนติเมตร มีเส้นตามยาวของปีกตั้งแต่ 7 เส้นขึ้นไป ภายในผลมีเมล็ด 1 เมล็ด จะออกดอกและเป็นผลในช่วงระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน เมื่อออกดอกหลังใบร่วงแล้วจะพร้อมแตกใบใหม่[1]

ผลรัง

ลูกรัง

สรรพคุณของรัง

  • ชาวไทใหญ่ทางภาคเหนือของไทยจะใช้ใบรังนำมาต้มกับน้ำอาบเป็นยาแก้อาการวิงเวียนศีรษะ (ใบ)[1]
  • ตำรายาพื้นบ้านอีสานจะใช้เปลือกเป็นแก้โรคท้องร่วง และใช้ใบนำมาตำพอกรักษาแผลพุพอง (เปลือก, ใบ)[1]

ประโยชน์ของรัง

  • ชันยางจากต้นรังใช้ผสมกับน้ำมันทาไม้หรือน้ำมันยาง ใช้สำหรับยาแนวเรือ ภาชนะที่ทำจากไม้ไผ่ หรือเครื่องจักสานต่าง ๆ[1]
  • ประโยชน์หลักของต้นรังที่คนไทยรู้จักแพร่หลายมาตั้งแต่อดีตคือการนำไม้มาใช้ในงานการก่อสร้างบ้านเรือน เพราะไม้รังเป็นไม้เนื้อแข็งที่มีความแข็งแรงทนทานเป็นอันดับหนึ่งคู่กับไม้เต็ง จึงเหมาะสำหรับการนำไปใช้ในการก่อสร้างที่ต้องการความแข็งแรงทนทานมากเป็นพิเศษ เพราะไม้รังสามารถรับน้ำหนักมาก ๆ ได้เป็นอย่างดี เช่น คาน เสา รอด ตง พื้น พื้นชานเรือนที่อยู่กลางแจ้ง สะพาน ไม้หมอนรถไฟ เรือ ส่วนประกอบของยานพาหนะ เครื่องมือกสิกรรมต่าง ๆ[1],[3] และบางแห่งใช้ทำฟืน[2]
  • คนไทยในอดีตถือว่าต้นรังเป็นไม้มงคลชนิดหนึ่ง ซึ่งตามตำรากล่าวไว้ว่า “คนเกิดปีมะเส็ง มิ่งขวัญอยู่ที่ต้นไผ่และต้นรัง[3]
  • คุณลักษณะอีกอย่างหนึ่งของต้นรัง คือ เป็นต้นไม้ที่มีความงดงามชนิดหนึ่ง เพราะนอกจากจะมีช่อดอกขนาดใหญ่สีเหลืองอ่อนออกเต็มต้นและให้กลิ่นหอมแล้ว ยามแตกใบอ่อนก็เป็นสีแดงทั้งต้น และเมื่อติดผลอ่อนก็จะมองเห็นปีกของผลอ่อนเป็นสีแดงเต็มต้นต่อไปอีกเช่นเดียวกัน[3]

ข้อควรรู้ : ต้นรังเป็นพันธุ์ไม้พระราชทานเพื่อปลูกเป็นมงคลของจังหวัดอุดรธานี

เอกสารอ้างอิง
  1. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “รัง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.phargarden.com.  [16 ก.ย. 2015].
  2. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน).  “รัง”.  อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th.  [16 ก.ย. 2015].
  3. มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 308 คอลัมน์ : ต้นไม้ใบหญ้า.  (เดชา ศิริภัทร).  “รัง : ความหอมภายใต้ภาพลักษณ์ความแข็งแกร่งทนทาน”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.doctor.or.th.  [16 ก.ย. 2015].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Tony Rodd), wordsinthai.blogspot.com, pantip.com (by ตี๋หล่อมีเสน่ห์)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด