รัก
รัก ชื่อสามัญ Crown flower, Giant Indian Milkweed[1], Giant Milkweed, Tembega[3]จะเห็นได้ว่าชื่อสามัญจะเรียกกันตามลักษณะของดอกที่คล้ายมงกุฎ หรือลักษณะของน้ำยางสีขาวที่คล้ายน้ำนม และยังบอกอีกว่าเป็นพืชที่มาจากอินเดีย[2]
รัก ชื่อวิทยาศาสตร์ Calotropis gigantea (L.) Dryand. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Calotropis gigantea (L.) R. Br. ex Schult.) จัดอยู่ในวงศ์ตีนเป็ด (APOCYNACEAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยนมตำเลีย (ASCLEPIADOIDEAE หรือ ASCLEPIADACEAE)[1],[3]
สมุนไพรรัก มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า รักขาว รักเขา รักซ้อน (เพชรบูรณ์), ปอเถื่อน ป่านเถื่อน (ภาคเหนือ), รัก รักดอก รักดอกขาว รักดอกม่วง (ภาคกลาง), รักร้อยมาลัย, รักแดง เป็นต้น[1],[2],[3]
เชื่อกันว่าถิ่นกำเนิดของต้นรักดั้งเดิมคือประเทศอินเดีย หรืออาจรวมถึงพื้นที่บางส่วนของจีน ทิเบต และอิหร่านด้วย แต่ต้นรักที่พบในเมืองไทยนั้นคงมาจากประเทศอินเดีย เพราะคนไทยเรียกชื่อต้นรักคล้ายกับอินเดียมาก ซึ่งในอินเดียจะเรียกว่า “อรัก” (อะรัก มีความหมายว่า ไม่รัก) คนไทยคงฟังไม่ถนัดจึงเรียกว่า “รัก” แทน ทำให้ความหมายกลายเป็นตรงข้ามกันอย่างสิ้นเชิง และถูกนำมาใช้ในพิธีกรรมต่าง ๆ มากมาย อีกทั้งยังถือเป็นไม้มงคลที่คนไทยแทบทุกคนเคยเกี่ยวข้องด้วย (ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม)[2]
ลักษณะของต้นรัก
- ต้นรัก จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กหรือเป็นไม้พุ่มขนาดกลาง มีความสูงของต้นประมาณ 1-3 เมตร ลำต้นมีเนื้อไม้ แตกกิ่งก้านมากที่โคนต้น และจะแตกกิ่งก้านสาขาแผ่ออกทางด้นข้างพอ ๆ กับส่วนสูงของลำต้น เปลือกต้นเป็นสีน้ำตาลอ่อนหรือสีเทาคล้ายขี้เถ้า แตกเป็นร่องตามยาว กิ่งจะไม่มีเนื้อไม้ ตามกิ่งอ่อนและยอดอ่อนมีขนละเอียดสีขาวปกคลุมอยู่หนาแน่น และทุกส่วนของต้นมียางสีขาวข้น ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและวิธีการปักชำ ต้นรักเป็นพืชที่ทนทานต่อสภาพแวดล้อมได้ดี โดยเฉพาะในสภาพดินที่ไม่สมบูรณ์และมีความแห้งแล้ง เราจึงมักพบต้นรักขึ้นได้เองตามธรรมชาติทั่วไป ตามที่รกร้าง บริเวณข้างถนน ริมถนน ริมทางรถไฟ ริมคลอง และตามหมู่บ้าน โดยมีเขตการกระจายพันธุ์ตั้งแต่อินเดียไปจนถึงพม่า ไทย จีน คาบสมุทรมลายู ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และนิวกินี[1],[2],[5],[7],[9]
- ใบรัก ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามกัน ลักษณะของใบเป็นรูปรีแกมขอบขนาน ปลายใบเป็นติ่งแหลม โคนใบมนหรือเว้าเล็กน้อย ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 4-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 8-30 เซนติเมตร แผ่นใบหนาอวบน้ำ หลังใบและท้องใบมีขนสีขาวปกคลุม เมื่อกระทบแสงจะสะท้อนเป็นสีเหลืองนวล ใบไม่มีก้านใบ หรือมีก้านใบสั้น[1],[2],[5]
- ดอกรัก ออกดอกเป็นช่อแบบซี่ร่ม โดยจะออกตามซอกใบใกล้ส่วนยอดหรือตามปลายกิ่ง แต่ละช่อมีดอกย่อยจำนวนมาก ก้านช่อดอกยาวประมาณ 6-10 เซนติเมตร ส่วนก้านดอกย่อยยาวประมาณ 2.5-4 เซนติเมตรดอกเป็นสีขาว สีม่วง หรือสีม่วงแดง (สีขาวอมม่วงก็มี) มีกลีบดอก 5 กลีบ กลีบดอกผิวเกลี้ยง แต่ละกลีบเป็นรูปรีถึงรูปใบหอก ปลายแหลมหรืออาจบิด กว้างประมาณ 0.5-0.8 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ส่วนโคนกลีบดอกเชื่อมติดกัน หลอดกลีบดอกสั้น และมีรยางค์ลักษณะเป็นรูปมงกุฎขนาดใหญ่อยู่ตรงกลางดอก มี 5 แฉก อวบน้ำ เชื่อมติดกัน (นิยมนำมาแยกใช้ร้อยเป็นพวงมาลัย) สั้นกว่าเส้าเกสรเพศผู้ ปลายมน มีติ่งมนทางด้านข้าง ฐานเป็นเดือย และอับเรณูมีเยื่อบางหุ้ม ส่วนกลีบเลี้ยงดอกมี 5 กลีบ ลักษณะของกลีบเป็นรูปไข่กลับ ปลายแหลม กว้างประมาณ 2-3 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 4-6 มิลลิเมตร และมีขนนุ่มปกคลุม สามารถออกดอกและติดผลได้ตลอดปี แต่จะออกมากในช่วงฤดูร้อน (หมอยาพื้นบ้านของไทยจะเรียกต้นรักที่มีดอกสีม่วงว่า “ต้นธุดงค์”)[1],[2],[5]
- ผลรัก ออกผลเป็นฝักติดกันเป็นคู่ ๆ ลักษณะของฝักเป็นรูปรีโค้ง ปลายฝักแหลมงอ มีขนาดกว้างประมาณ 2.58-4 เซนติเมตร และยาวประมาณ 7-10 เซนติเมตร ผิวเป็นคลื่น ผิวฝักมีนวลสีขาวเหนียวมือ ฝักอ่อนเปลือกสีขาว เมื่อแก่จัดจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแลแตกออก ภายในฝักมีเมล็ดขนาดเล็กจำนวนมาก ลักษณะของเมล็ดแบนเป็นสีน้ำตาล ยาวประมาณ 5-7 มิลลิเมตร และมีขนสีขาวติดอยู่เป็นกระจุกที่ปลายของเมล็ด ยาวประมาณ 2.5-4 เซนติเมตร และสามารถปลิวไปตามลมได้ไกล[1],[2],[4]
สรรพคุณของต้นรัก
- ดอกมีรสเฝื่อน สรรพคุณช่วยทำให้เจริญอาหาร (ดอก)[1],[9]
- ต้นมีรสเฝื่อนขม มีสรรพคุณช่วยบำรุงทวารทั้งห้า (ต้น)[10]
- ยางจากต้นเป็นยาแก้อาการปวดหู ปวดฟัน (ยางขาวจากต้น)[1],[7],[9]
- รากใช้เป็นยาแก้ไข้ (ราก)[7] แก้ไข้เหนือ (ราก)[10]
- ช่วยแก้อาการไอ อาการหวัด แก้หอบหืด (ดอก)[1],[8],[9]
- ช่วยทำให้อาเจียน (เปลือกต้น[1],[7],[9], ราก[4], เปลือกราก[7],[9])
- ช่วยขับเหงื่อ (ราก[4], เปลือกราก[7])
- เปลือกรากมีสรรพคุณช่วยขับเสมหะได้ (เปลือกราก)[8],[9]
- ช่วยในการย่อย (ดอก)[1],[9]
- ใช้เป็นยารักษาโรคบิด (ราก[4], เปลือกราก[7],[9]) แก้บิดมูกเลือด (ราก)[7]
- ยางขาวจากต้นมีฤทธิ์เป็นยาถ่ายอย่างแรง (ยางขาวจากต้น)[1],[4],[9]
- ใช้เป็นยาขับพยาธิ โดยใช้ยางขาวจากต้นนำมาทาตัวปลาช่อนแล้วย่างไฟให้เด็กกินเป็นยาเบื่อพยาธิไส้เดือน (ยางขาวจากต้น)[1],[2]
- ช่วยแก้ริดสีดวงในลำไส้ (ยางขาวจากต้น)[2],[10]
- ใบมีสรรพคุณเป็นยาแก้ริดสีดวงทวาร (ใบ)[2],[7]
- ยางขาวจากต้นมีฤทธิ์เป็นยาขับเลือด ทำให้แท้งได้ (ยาง)[8],[9]
- เปลือกต้นมีสรรพคุณช่วยขับน้ำเหลืองเสีย (เปลือกต้น)[1],[9]
- ยางไม้ใช้ใส่แผลสดเป็นยาฆ่าเชื้อ (ยางขาวจากต้น)[5]
- ช่วยแกคุดทะราด (ใบ)[2]
- ช่วยแก้กลากเกลื้อน (ยางขาวจากต้น[1],[9], ดอก[2])
- น้ำยางจากต้นใช้รักษาโรคเรื้อน (ยางขาวจากต้น)[4]
- ผลหรือฝัก ใช้แก้รังแคบนหนังศีรษะ (ผล)[2],[7]
- ใบสดใช้เป็นยาพอกเพื่อบรรเทาอาการของโรคไขข้อ (ใบ)[5]
ประโยชน์ของต้นรัก
- ในทางไสยศาสตร์จะนิยมใช้รากของต้นรักที่มีดอกซ้อนสีขาวมาแกะเป็นรูปพระปิดตา รูปนางกวัก หรือรูปเด็กขนาดเล็กที่นำมารวมกับรูปเด็กที่แกะได้จากรากของมะยม หรือที่เรียกว่า “รักยม” แล้วนำมาแช่ในขวดเล็ก ๆ ที่ใส่น้ำมันจันทน์ ก็นับว่าเป็นของขลังอีกอย่างหนึ่งที่ชายไทยสมัยก่อนนิยมพกติดตัวเวลาออกจากบ้าน ส่วนใบของต้นรักนั้นก็นำมาใช้ทำเสน่ห์ให้คนรักได้ โดยใช้เฉพาะใบจากต้นรักซ้อนสีขาวเช่นเดียวกัน[2]
- สำหรับชาวฮาวายถือว่ามาลัยดอกรักที่นำมาทำเป็นสร้อยคอ (lei) คือ สัญลักษณ์ของความเป็นกษัตริย์[8]
- ดอกรักนับว่าเป็นสินค้าอีกอย่างหนึ่งที่คนไทยต้องการใช้ตลอดปี เพราะนำมาใช้ในการร้อยพวงมาลัย บางพื้นที่มีการปลูกต้นรักเอาไว้เก็บดอกเพื่อนำมาร้อยเป็นพวงมาลัยไว้ขายเองโดยเฉพาะ โดยมักจะปลูกร่วมกับต้นมะลิ เพราะต้องใช้ประกอบเป็นพวงมาลัยที่คนไทยคุ้นเคยกันมากที่สุด[2] และดอกยังสามารถนำมาใช้ทำดอกไม้ประดิษฐ์ได้อีกด้วย[7]
- ในพิธีงานแต่งของคนไทยภาคกลาง นอกจากเราจะใช้ดอกรักนำมาร้อยเป็นพวงมาลัยสวมให้เจ้าบ่าวและเจ้าสาวแล้ว ก็ยังใช้ใบของต้นรักนำมารองก้นขันใส่สินสอดและขันใส่เงินทุนที่ให้แก่คู่สมรสอีกด้วย[2]
- ในประเทศอินเดียจะใช้น้ำจากผลเป็นส่วนผสมของเครื่องดื่มที่เรียกว่า “บาร์”[5]
- เส้นใยจากลำต้นและผลนำมายัดใส่หมอน[5] และมีรายงานว่าปุยจากเมล็ดสามารถนำไปใช้ทำเส้นด้ายที่ใช้ทอผ้า และนำมาใช้แทนนุ่นได้[7]
- เนื้อไม้นำมาเผาเป็นถ่านที่ใช้สำหรับผสมดินปืน[4]
พิษของต้นรัก
- ยางจากต้นรักเป็นอันตรายต่อผิวหนังและดวงตา ดังนั้นในการเก็บเกี่ยวดอกรัก จึงต้องแต่งกายอย่างรัดกุมมิดชิด สวมถุงมือยาง แว่นตา และใช้ผ้าปิดปากและจมูก[6]
- ยางและใบมีสารพิษ Digitalis ซึ่งออกฤทธิ์เป็นพิษต่อหัวใจและเลือด ทำให้มีอาการระคายเคืองเยื่อบุปากและกระเพาะอาหารก่อน แล้วตามด้วยอาการอาเจียน ปวดศีรษะ ท้องเดิน และปวดท้อง ถ้ารับประทานเข้าไปมากและล้างท้องไม่ทัน สารพิษจะถูกดูดซึมผ่านลำไส้และแสดงความเป็นพิษต่อหัวใจ ซึ่งจะเกิดขึ้นช้าหรือเร็วก็ขึ้นอยู่กับชนิดของไกลโคไซด์[3]
- วิธีการรักษาพิษ ให้รีบนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุดเพื่อทำการล้างท้อง และรักษาไปตามอาการ และถ้าจาก EKG พบว่ามี Ventricular tachycardia ควรให้ potossium chloride (5-10 g) หรือให้ K+ (80 mEq/L) ถ้ามีอาการเจ็บแขนก็อาจจะช่วยด้วยการนวดและประคบน้ำร้อน[3]
การเก็บรักษาดอกรัก
- การเก็บดอกรักโดยใช้อุณหภูมิต่ำจะสามารถช่วยยืดอายุและชะลอการเสื่อมสภาพของดอกรักได้นาน 7-10วัน (โดยเฉลี่ย 7.6 วัน) ส่วนดอกรักที่เก็บในอุณหภูมิห้องปกติจะมีอายุการเก็บรักษาโดยเฉลี่ยเพียง 2 วัน[6]
- การเก็บดอกรักควรเก็บโดยการนำมาบรรจุลงในถุงพลาสติกแล้วแช่ในน้ำแข็งจะช่วยยืดอายุการเก็บรักษาดอกรักได้ดีที่สุดโดยเฉลี่ยประมา 11.3 วัน[6]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “รัก (Rug)”. หน้า 258.
- มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 272 คอลัมน์: ต้นไม้ใบหญ้า. “รัก ชื่อนั้นสำคัญยิ่งนัก”. (เดชา ศิริภัทร). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.doctor.or.th. [28 พ.ค. 2014].
- ระบบวินิจฉัยและการรักษาอาการอันเนื่องจากพืชพิษในประเทศไทย, สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “รัก”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.medplant.mahidol.ac.th/tpex/. [28 พ.ค. 2014].
- หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 5. “รัก”.
- ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “รักดอก”. อ้างอิงใน: Nordic Journal of Botany, Volume 11, No.3, Page 306-307. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.qsbg.org. [28 พ.ค. 2014].
- มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี. (กาญจนา เหลืองสุวาลัย, ศิริชัน อริยานนท์ภิญโญ, นิพนธ์ ทรัพย์ทิพย์). “การยืดอายุการเก็บรักษาดอกรัก”.
- ระบบฐานข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน, สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน). (สุภาภรณ์ เยื้อนหนูวงค์). “ต้นรัก”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.bedo.or.th. [28 พ.ค. 2014].
- วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. “รัก (ไม้พุ่ม)”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: th.wikipedia.org. [28 พ.ค. 2014].
- หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “รัก”. หน้า 673-674.
- หนังสือเภสัชกรรมไทย (วุฒิ วิฒิธรรรมเวช). “รัก”.
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Vijayasankar Raman, Ahmad Fuad Morad, Dinesh Valke, naturgucker.de / enjoynature.net, Blanca Rosa / Zoila Stincer, KumaYami, Clone…..)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)