ระย่อมใหญ่ สรรพคุณและประโยชน์ของต้นระย่อมใหญ่ 6 ข้อ !

ระย่อมใหญ่ สรรพคุณและประโยชน์ของต้นระย่อมใหญ่ 6 ข้อ !

ระย่อมใหญ่

ระย่อมใหญ่ ชื่อวิทยาศาสตร์ Rauvolfia verticillata (Lour.) Baillon จัดอยู่ในวงศ์ตีนเป็ด (APOCYNACEAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยระย่อม (RAUVOLFIOIDEAE)[1],[2]

สมุนไพรระย่อมใหญ่ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ยาแก้ฮากขม สลัก (เชียงใหม่), พุดน้อย (ลำปาง), ขะย่อมใหญ่ (เพชรบูรณ์), จี้ปุก (ภาคเหนือ), แฉก (ภาคใต้), ติ๊ซิหน่อโพ (กะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอน) เป็นต้น[1],[2],[3],[4]

ลักษณะของระย่อมใหญ่

  • ต้นระย่อมใหญ่ จัดเป็นไม้พุ่มหรือไม้ยืนต้นขนาดเล็ก มีความสูงของต้นประมาณ 2-5 เมตร ลำต้นมีลักษณะตั้งตรง และมีน้ำยางสีขาว ระย่อมใหญ่มีเขตการกระจายพันธุ์กว้าง พบได้ตั้งแต่ประเทศศรีลังกา อินเดีย จีน พม่า ภูมิภาคอินโดจีน มาเลเซีย จนถึงฟิลิปปินส์ ในประเทศไทยได้ทั่วทุกภาค โดยมักขึ้นในป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขา ที่ระดับความสูงจนถึงประมาณ 1,600 เมตร[1],[2]

ต้นระย่อมใหญ่

  • ใบระย่อมใหญ่ ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงรอบข้อ ข้อละประมาณ 3-5 ใบ ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนานแกมรูปไข่กลีบหรือเป็นรูปหอกกลับแกมขอบขนาน ปลายใบแหลมยาว โคนใบเป็นรูปลิ่ม ใบมีขนาดกว้างประมาณ 4-7 เซนติเมตร และยาวประมาณ 12-24 เซนติเมตร แผ่นใบค่อนข้างบางเป็นสีเขียวอ่อน มีเส้นแขนงใบประมาณ 9-18 คู่ ก้านใบยาวประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร[1],[2]

ขะย่อมใหญ่

  • ดอกระย่อมใหญ่ ออกดอกเป็นช่อกระจุก หลายช่อเรียงเวียนรอบข้อ โดยจะออกตามซอกใบและที่ปลายกิ่ง ยาวประมาณ 2-12 เซนติเมตร ก้านช่อสั้นหรือยาวได้ถึง 10 เซนติเมตร เกลี้ยง ส่วนก้านดอกย่อยยาวประมาณ 3.5-7.5 เซนติเมตร ดอกย่อยมีจำนวนมาก กลีบเลี้ยงเป็นรูปหรือรูปขอบขนาน ขนาดยาวประมาณ 1.5-2.5 มิลลิเมตร กลีบดอกเป็นสีขาว สีเหลืองแกมเขียว หรือสีแดงขาว รูปดอกเข็ม หลอดกลีบยาวประมาณ 1-1.8 เซนติเมตร ด้านในมีขนรอบปากหลอดกลีบดอกและใต้เกสรเพศผู้ กลีบดอกยาวประมาณ 2-4 มิลลิเมตร เกสรเพศผู้ติดอยู่ใกล้ปากหลอดกลีบดอก ก้านเกสรยาวประมาณ 5-8 มิลลิเมตร อับเรณูยาวประมาณ 1.5 มิลลิเมตร จานรองดอกยาวประมาณ 4-10 มิลลิเมตร รังไข่มี 2 ช่อง แยกจากกัน ยาวประมาณ 1-2 มิลลิเมตร เกสรเพศเมียยาวประมาณ 4-10 มิลลิเมตร รวมปลายเกสรเพศเมีย[1],[2]

ดอกระย่อมใหญ่

  • ผลระย่อมใหญ่ ผลเป็นผลสด ออกผลเป็นคู่ ๆ แยกจากกัน ลักษณะของผลเป็นรูปทรงรี ขนาดยาวประมาณ 0.8-1.4 เซนติเมตร ภายในมีเมล็ดลักษณะเป็นรูปขอบขนาน ยาวประมาณ 7.5 มิลลิเมตร ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อสุกเป็นสีม่วงเข้ม[1],[2]

ผลระย่อมใหญ่

สรรพคุณของระย่อมใหญ่

  1. ตำรายาพื้นบ้านล้านนาจะใช้รากระย่อมใหญ่ เป็นยาลดความดันโลหิต (ราก)[1],[3]
  2. รากมีสรรพคุณเป็นยาบำรุงหัวใจ (ราก)[1],[3]
  3. รากใช้เป็นยาแก้ไข้ (ราก)[1],[3]
  4. รากใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้อาการหนาวสั่น มีรสขมมาก (ราก)[4]
  5. รากใช้เป็นยาแก้นิ่ว (ราก)[3]
  6. ใบใช้ตำพอกแก้สัตว์มีพิษต่อย (ใบ)[3]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของระย่อมใหญ่

  • สารสกัดจากรากระย่อมใหญ่มีสารอัลคาลอยด์ซึ่งมีฤทธิ์ลดความดันโลหิต บำรุงหัวใจ และช่วยขยายหลอดเลือดแดงที่ไปหล่อเลี้ยงหัวใจในสัตว์ทดลอง[1]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา.  (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “ขะย่อมใหญ่”.  หน้า 184.
  2. สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “ระย่อมใหญ่”.  [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.dnp.go.th/botany/.  [28 ต.ค. 2014].
  3. ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.  “ขะย่อมใหญ่”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก :  www.qsbg.org.  [28 ต.ค. 2014].
  4. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน).  “ขะย่อมใหญ่, ระย่อมน้อย”.  อ้างอิงใน :  หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์)., ศูนย์ข้อมูลพืช สำนักวิชาการวิจัย องค์การสวนพฤกษศาสตร์.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th.  [28 ต.ค. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by 翁明毅), taibnet.sinica.edu.tw

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด