ระย่อม
ระย่อม ชื่อสามัญ Rauwolfia (รอโวลเฟีย)[3], Serpent wood, Indian Snake Root[5]
ระย่อม ชื่อวิทยาศาสตร์ Rauvolfia serpentina (L.) Benth. ex Kurz จัดอยู่ในวงศ์ตีนเป็ด (APOCYNACEAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยระย่อม (RAUVOLFIOIDEAE)[1]
สมุนไพรระย่อม มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ละย่อม (สุราษฎร์ธานี), ปลายข้าวสาร (กระบี่), เข็มแดง ย่อมตีนหมา (ภาคเหนือ), กะย่อม ระย่อมน้อย (ภาคใต้), กอเหม่ (กะเหรี่ยง แม่ฮ่องสอน), คลาน ตูมคลาน มะโอ่งที สะมออู (กะเหรี่ยงกาญจนบุรี), เสอเกินมุ อิ้นตู้หลัวฟูมุ (จีนกลาง) เป็นต้น[1],[3],[4],[6],[9]
ลักษณะของระย่อม
- ต้นระย่อม จัดเป็นไม้พุ่มเตี้ยขนาดเล็ก ผลัดใบในช่วงฤดูแล้ง แล้วจะผลิใบใหม่ในช่วงฤดูฝน ลำต้นมีความสูงประมาณ 30-70 เซนติเมตร ลำต้นมักคดงอ เปลือกลำต้นเป็นสีขาวหรือสีน้ำตาลอมเทา มียางสีขาว รากใต้ดินแตกสาขามาก มีรอยแผลใบอยู่ตามลำต้น ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ดและการตอน เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนซุยและผสมกับอินทรียวัตถุ ต้องการความชุ่มชื้นของดิน มีเขตการกระจายพันธุ์กว้าง พบได้ตั้งแต่ศรีลังกา อินเดีย เนปาล ภูฏาน ภูมิภาคอินโดจีน พม่า จีน และมาเลเซีย ส่วนในประเทศไทยพบได้ทั่วทุกภาค โดยมักขึ้นตามที่โล่งในป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าดิบชื้น และป่าดิบแล้ง ที่ระดับความสูงจนถึงประมาณ 800 เมตร[1],[2],[3],[4],[7],[13]
- ใบระย่อม ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามกันหนาแน่นที่ปลายยอด หรือออกเรียงรอบข้อ ข้อละ 3-4 ใบ ใบเรียงคู่จะมีน้อย ลักษณะของใบเป็นรูปรีหรือรูปรีแกมรูปหอก ปลายใบแหลม โคนใบสอบ ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 5-8 เซนติเมตร และยาวประมาณ 12-20 เซนติเมตร แผ่นใบค่อนข้างหนา สีเขียวเข้มเป็นมัน[1],[2],[3],[6]
- ดอกระย่อม ออกดอกเป็นช่อ ลักษณะคล้ายดอกเข็ม โดยจะออกที่ปลายยอด มีดอกย่อยจำนวนมาก ประมาณ 1-50 ดอก ดอกเป็นสีขาว กลีบดอกมี 5 กลีบ โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดยาวเป็นสีชมพูเข้มหรือสีแดง พอดอกโรยจะเปลี่ยนเป็นสีแดง ส่วนกลีบเลี้ยงมี 5 กลีบ สีขาวแกมเขียว ก้านดอกเป็นสีแดง ออกดอกในช่วงต้นฤดูหนาว[1],[2],[4],[6]
- ผลระย่อม เมื่อดอกร่วงโรยไปก็ติดผล ซึ่งผลจะมีลักษณะเป็นรูปทรงกลมหรือรูปทรงรี บางครั้งติดกันเป็นผลแฝดตรงโคนด้านใน ผิวผลเรียบเป็นมันและฉ่ำน้ำ มีขนาดประมาณ 1-1.8 เซนติเมตร ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีม่วงแดงเข้มหรือสีดำ ในผลมีเมล็ด 1 เมล็ด[1],[2],[3],[6],[13]
สรรพคุณของระย่อม
- รากมีรสขม เป็นยาเย็น มีพิษเล็กน้อย ออกฤทธิ์ต่อตับและหัวใจ มีสรรพคุณช่วยทำให้เจริญอาหาร อยากอาหาร (ราก)[1],[2],[3],[5],[6],[8]
- ช่วยบำรุงประสาท (ราก)[1],[2],[5]
- กระพี้มีสรรพคุณเป็นยาบำรุงโลหิต ทำให้โลหิตเป็นปกติ ทำให้โลหิตตั้งอยู่ และช่วยแก้โลหิตเป็นพิษ (กระพี้)[5],[8],[12]
- ช่วยฟอกเลือด ทำให้เลือดเย็น (ราก)[6]
- รากใช้เป็นยาลดความดันโลหิต ด้วยการใช้รากแห้งในขนาด 200 มิลลิกรัม นำมาป่นให้เป็นผงคลุกกับน้ำผึ้งทำเป็นยาเม็ดรับประทานติดต่อกัน 1-3 อาทิตย์ (ราก[3],[4],[5],[6],[8],[13], ต้น[5])
- รากมีสรรพคุณช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด (ราก)[5]
- ช่วยแก้ปวดอาการศีรษะเนื่องจากความดันโลหิตสูง (ราก)[1],[2]
- ใช้เป็นยากล่อมประสาท ช่วยทำให้จิตใจสงบ แก้อาการนอนไม่หลับ ช่วยให้นอนหลับ แก้อาการบ้าคลั่ง คลุ้มคลั่งเนื่องจากดีกำเริบและโลหิต (ราก)[1],[2],[3],[4],[5],[6],[8]
- รากมีสรรพคุณเป็นยาขับพิษร้อน ถอนพิษไข้ แก้พิษกาฬ แก้บ้าเพื่อดีและโลหิต (ราก)[1],[2],[6]
- ตำรายาไทยจะใช้รากระย่อมเป็นยาแก้ไข้ แก้ไข้หวัดตัวร้อนที่ทำให้มีอาการปวดหัว (ราก[1],[2],[3],[4],[6], ต้น, เปลือก, ไส้[5])
- รากนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ไข้ป่า ไข้มาลาเรีย ไทฟอยด์[7] บ้างใช้รากเป็นยาแก้ไข้ชัก แก้โรคเด็กเป็นซางชัก (ราก)[12] ใช้ต้นเป็นยาแก้ไข้อันทำให้หนาว (ต้น)[12] และใช้ไส้เป็นยาแก้ไข้อันร้ายกาจ (ไส้)[12]
- เปลือกมีสรรพคุณเป็นยาแก้ไข้พิษ แก้ไข้สันนิบาต (เปลือก)[8],[12]
- ช่วยแก้หืด แก้ลมอัมพฤกษ์ (ราก)[12]
- น้ำจากใบ ใช้เป็นยารักษาโรคแก้วตามัว (น้ำจากใบ)[4],[8]
- ดอกมีสรรพคุณเป็นยาแก้ตาแดง แก้โรคอันเกิดแต่จักษุ (ดอก)[5],[8],[12]
- ช่วยแก้อาการจุกเสียด (ราก)[1],[2],[5]
- รากใช้เป็นยาแก้บิด แก้ท้องเดิน ท้องเสีย (ราก)[1],[2],[4],[6]
- รากนำมาบดให้เป็นผงปั้นเป็นเม็ดหรือคั่วให้กรอบ แล้วนำมาชงหรือต้มกินเป็นยาช่วยย่อยอาหาร (ราก)[1],[2]
- ใช้เป็นยาระบายอ่อน ๆ (ราก)[6]
- รากใช้เป็นยาขับพยาธิ[1],[2],[3],[4],[6] ขับพยาธิในเด็ก พยาธิไส้เดือนกลมของเด็ก (ราก)[12]
- ยาต้มจากรากมีสรรพคุณช่วยขับปัสสาวะ และเพิ่มการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะ (ราก)[1],[2],[4],[5],[6]
- ใช้เป็นยาขับระดูของสตรี (ราก)[4]
- ช่วยบำรุงความกำหนัด (ราก)[12]
- ใช้แก้พิษงู แมลงกัดต่อย และรักษาโรคผิวหนังผดผื่นคัน (ราก)[6]
- รากสดใช้เป็นยารักษาหิด ด้วยการใช้รากระย่อมสดประมาณ 2-3 ราก นำมาตำให้ละเอียด แล้วเติมน้ำพืชให้พอแฉะ ใช้เป็นยาทาบริเวณที่เป็นหิด วันละ 2-3 ครั้ง จนกว่าจะหาย (รากสด)[8]
- ช่วยระงับอาการปวด (ราก)[1],[2],[4],[6]
- ช่วยบำรุงน้ำนมของสตรี (ราก)[1],[2]
ขนาดและวิธีใช้ : การใช้รากตาม [5] ให้ใช้รากแห้ง 100 กรัม นำมาชงกับน้ำดื่มเช้าและเย็น[5] ส่วนข้อมูลการใช้ตาม [6] ระบุให้ใช้รากแห้งครั้งละประมาณ 10-20 กรัม นำมาต้มกับน้ำดื่ม หรือนำมาบดให้เป็นผงทำเป็นเม็ดรับประทาน หรือใช้เข้ากับตำรายาอื่นได้ตามต้องการ[6]
ข้อควรระวังในการใช้สมุนไพรระย่อม
- สตรีมีครรภ์หรือให้นมบุตร ห้ามใช้สมุนไพรชนิดนี้[5]
- สมุนไพรชนิดนี้มีพิษเล็กน้อย จึงไม่ควรรับประทานมากเกินกว่าปริมาณที่กำหนด และไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานเกินไป เพราะจะทำให้เกิดอาการความดันต่ำและเป็นพิษต่อร่างกายได้[6]
- หากมีอาการวิงเวียนศีรษะ หน้ามืด ใจสั่น หรือมีอาการผิดปกติ ให้หยุดใช้ยาทันที[8]
- อาการเป็นพิษหรือผลข้างเคียงของการใช้ยานี้คือทำให้เกิดการจมูกตันหรือคัดจมูก หายใจไม่ออก หน้าแดง ปากแห้ง คอแห้ง ซึมเศร้า ง่วงนอนบ่อย ทำให้ฝันร้าย หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ ไม่สบายท้อง อยากอาหารเพิ่มขึ้น ไม่มีเรี่ยวแรง ถ่ายไม่หยุด ดังนั้นจึงควรใช้อย่างระมัดระวังเป็นพิเศษ[1],[2],[3],[5],[6]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของระย่อม
- สารสำคัญที่พบ ได้แก่ สารในกลุ่ม indole alkaloids ชนิดที่สำคัญ คือ reserpine, ajmaline, ajmalinimine, raurolfia alkaloid G, rescinnamidine, sarpagine, serpentine, serpentinine, sitosterol, stigmasterol, vinorine, yohimbine เป็นต้น[5],[6]
- ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่พบ ได้แก่ ฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด ลดความดันโลหิต สงบระงับประสาท กดระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้นอนหลับ แก้อาการคลื่นไส้อาเจียน กระตุ้นกล้ามเนื้อมดลูกและลำไส้เล็กบีบตัว ยับยั้งการบีบตัวของลำไส้เล็ก[5] ปิดกั้น adrenergic receptor , dopamine receptor และ GABA receptor ต้านการเต้นไม่เป็นจังหวะของหัวใจ มีฤทธิ์ต่อหัวใจ ทำให้หลอดเลือดคลายตัว เป็นพิษต่อเซลล์ ต้าน adrenaline, acetylcholine, histamine, ต้านไวรัส, เชื้อรา, ยับยั้งพยาธิไส้เดือน แก้คลื่นไส้อาเจียน ยับยั้งการงอกและการเจริญเติบโตของพืช มีผลต่อต่อมไทรอยด์และต่อมใต้สมอง มีผลต่อการทำงานของไต กระตุ้นกล้ามเนื้อลาย ทำให้เกิดการชักง่ายขึ้น เพิ่มน้ำย่อยในกระเพาะอาหาร มีฤทธิ์เหมือน estrogen เพิ่มคอเลสเตอรอลและบิลิรูบินในเลือด เร่งการสลายโปรตีนในการสลายตัวเองของเซลล์และเนื้อเยื่อ[12]
- รากระย่อมมีสารอัลคาลอยด์ Reserpine ซึ่งมีฤทธิ์ลดความดันโลหิตและกล่อมประสาท[3]
- จากการทดลองพบว่าสาร Reserpine มีฤทธิ์ความดันโลหิตในแมวหรือสุนัขทดลอง โดยพบว่าสารดังกล่าวนั้นสามารถลดความดันโลหิตได้เป็นเวลานานตามที่พอใจ[6]
- เมื่อนำสารที่สกัดได้จากรากมาทดลองกับหนูขาว พบว่าทำให้หนูขาวมีการเคลื่อนไหวน้อยลง และทำให้หนูขาวมีอาการสงบขึ้น มีระยะเวลาในการหลับยาวนานขึ้น[6]
- สารรวมที่สกัดได้จากระย่อมนั้นเมื่อนำมาทดลองในคนและสัตว์ที่มีความดันโลหิตสูง พบว่ามีประสิทธิภาพทำให้ความดันและการเต้นของหัวใจลดลง จากการทดลองจึงเห็นว่าสารกลุ่มนี้มีความหมายต่อผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตสูงและหัวใจเต้นเร็วผิดปกติเป็นอย่างยิ่ง[6]
- ในรากระย่อมมีสาร Rauhinbine ซึ่งมีฤทธิ์เป็นยาบำรุงความกำหนัด[11]
- เมื่อปี ค.ศ.1958 ที่ประเทศอินเดีย ได้มีการทดลองใช้สารสกัดจากรากระย่อมในคนธรรมดาและคนไข้เบาหวาน ผลการทดลองพบว่า สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดของคนได้[5]
- เมื่อปี ค.ศ.1960 ที่ประเทศอินเดีย ได้มีการทดลองใช้สารสกัดจากรากระย่อมทดลองในแมว ผลการทดลองพบว่า สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดของแมวได้[5]
ประโยชน์ของระย่อม
- ยอดอ่อน ดอกอ่อน และผลอ่อน สามารถนำมาปรุงเป็นอาหารได้ เช่น แกงเลียง แกงส้ม[9]
- รากใช้เป็นยาถ่ายพยาธิในม้า[10]
- บางท้องถิ่นจะใช้รากระย่อมเป็นยาเบื่อสุนัข[7]
- ในปัจจุบันได้มีการสกัดสารจากรากระย่อมมาใช้เป็นยาแก้ความดันโลหิตสูง[5] ในอินเดียจะบดรากเตรียมเป็นยาเม็ด ส่วนทางยุโรปและอเมริกาจะเตรียมสารสกัดระย่อมทำเป็นยาฉีดลดความดันโลหิตและกล่อมประสาท[10]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “ระย่อม (Ra Yom)”. หน้า 257.
- หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ). “ระย่อม”. หน้า 169.
- หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “ระย่อมน้อย Rauwolfia”. หน้า 177.
- หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “ระย่อม”. หน้า 672-673.
- หนังสือสมุนไพรบำบัดเบาหวาน 150 ชนิด. (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก). “ระย่อม”. หน้า 135-136.
- หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “ระย่อมน้อย”. หน้า 474.
- ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “ระย่อม”. อ้างอิงใน : หนังสือพืชสมุนไพร เล่ม 2. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.qsbg.org. [28 ต.ค. 2014].
- สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “ระย่อมน้อย”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/herbs/. [28 ต.ค. 2014].
- ผักพื้นบ้าน ในประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร, สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง. “ระย่อมน้อย”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : area-based.lpru.ac.th/veg/. [28 ต.ค. 2014].
- ไทยเกษตรศาสตร์. “ประโยชน์ของระย่อมน้อย”. อ้างอิงใน : ศาสตราจารย์พเยาว์ เหมือนวงษ์ญาติ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.thaikasetsart.com. [28 ต.ค. 2014].
- ไทยเกษตรศาสตร์. “ระย่อม”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.thaikasetsart.com. [28 ต.ค. 2014].
- สมุนไพรในร้านยาโบราณ. “ระย่อม”. อ้างอิงใน : pharmacy.msu.ac.th. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.infoforthai.com. [28 ต.ค. 2014].
- หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “ย่อมตีนหมา”. หน้า 666-656.
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Dinesh Valke, Tony Rodd, Ahmad Fuad Morad, bardosaurus)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)