ระยะปลอดภัย
ระยะปลอดภัย คือ วิธีการคุมกำเนิดโดยวิธีธรรมชาติอย่างหนึ่ง ในบ้านเราใช้วิธีนี้กันมานานและกำหนดวันที่ปลอดภัยกันแบบง่าย ๆ คือ “ก่อน 7 หลัง 7” (เจ็ดวันก่อนมีประจำเดือน และเจ็ดวันหลังมีประจำเดือนคือช่วงที่ปลอดภัย สามารถร่วมเพศได้โดยไม่ต้องกลัวว่าจะตั้งครรภ์) แต่สูตรนี้อาจมีความผิดพลาดได้ถ้าประจำเดือนของสตรีมาไม่สม่ำเสมอ ในปัจจุบันจึงมีวิธีหาระยะปลอดภัยซึ่งมีอยู่ด้วยกันหลายวิธี เช่น การนับวัน (Calendar method), การวัดอุณหภูมิหลังตื่นนอน (Basal body temperature method), การสังเกตมูกที่ปากมดลูก (Cervical mucous method) และวิธีอื่น ๆ หรืออาจใช้ร่วมกันก็ได้ เพราะจะช่วยทำให้ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดสูงขึ้น โดยจะขออธิบายอย่างละเอียดดังนี้
การนับหน้า 7 หลัง 7
หน้า 7 หลัง 7 เป็นการนับระยะปลอดภัยที่ใช้กันมานานแล้ว โดยเป็นวิธีการคุมกำเนิดแบบธรรมชาติอย่างหนึ่งที่ใช้ได้เฉพาะกับสตรีที่มีรอบเดือนปกติ มาตรงเวลาอย่างสม่ำเสมอทุกเดือน (รอบเดือน หมายถึง จำนวนวันในแต่ละรอบประจำเดือน ไม่ใช่รอบเดือนตามปฏิทิน) คือ ประมาณ 26-32 วัน ซึ่งโดยปกติแล้วสตรีทั่วไปจะมีรอบเดือนประมาณ 28 วัน แต่บางคนก็มีรอบเดือนที่สั้นกว่าหรือยาวกว่านี้ แต่โดยปกติแล้วจะบวกลบไม่เกิน 2 วัน คือ ไม่สั้นกว่า 26 วัน และไม่ยาวกว่า 32 วัน โดยระยะปลอดภัยที่ว่านี้ก็คือ ระยะในช่วง 7 วันก่อนที่ประจำเดือนจะมารอบหน้า และระยะ 7 วันหลังจากที่ประจำเดือนมาวันแรก (ให้เริ่มนับวันแรกตั้งแต่วันแรกที่ประจำเดือนมา)
ตัวอย่าง : นางสาว ก. มีรอบเดือนมาสม่ำเสมอ โดยมีจำนวนวันในแต่ละรอบเดือน คือ 28 วัน สมมติว่าประจำเดือนของนางสาว ก. มาวันแรก คือ วันที่ 1 มกราคม 2558 ดังนั้น ช่วงระยะปลอดภัย “หลัง 7” จะต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่ประจำเดือนมาวันแรก คือ วันที่ 1 มกราคมไล่ไปจนครบ 7 วัน คือ วันที่ 1, 2, 3, 4, 5, 6, 7 มกราคม 2558 ส่วนช่วงระยะปลอดภัย “หน้า 7” นั้น นางสาว ก. มีจำนวนวันในแต่ละรอบเดือน คือ 28 วัน ก็ต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมไปจนครบ 28 วัน ก็จะตรงกับวันที่ 27 มกราคม ก็ให้เอาวันที่ 27 มกราคมนี่แหละครับเป็นวัน “กำหนดหน้า 7” ฉะนั้นหน้า 7 จะต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 27 มกราคมย้อนกลับมาจนครบ 7 วัน คือ วันที่ 27, 26, 25, 24, 23, 22, 21 มกราคม 2558 ซึ่งจะเป็นช่วงปลอดภัย ที่นางสาว ก. สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ตามปกติครับ จากนี้นางสาว ก. ก็ต้องรอให้ประจำเดือนมาก่อนเพื่อความชัวร์ (ซึ่งคาดว่าวันที่ 28 มกราคม) แล้วจึงค่อยเริ่มการนับ “หลัง 7” ใหม่อีกรอบ และก็วนแบบนี้ไปเรื่อย ๆ ครับ
การนับวันปลอดภัย
การนับวันปลอดภัย (Calendar method, Calendar rhythm method, Knaus-Ogino method) จะอาศัยหลักทางชีววิทยาที่ว่า “ทุก ๆ 28 วัน สตรีจะมีการตกไข่ในวันที่ 14 ของรอบเดือน (เริ่มนับเป็นวันแรกตั้งแต่วันที่ประจำเดือนมา) ก่อนที่จะมีประจำเดือนครั้งต่อไป ซึ่งอาจจะมากกว่าหรือน้อยกว่านี้ไม่เกิน 2 วัน ดังนั้นโอกาสตกไข่จึงอยู่ในช่วงวันที่ 12-16 ของรอบเดือน เมื่อไข่ตกแล้วจะมีชีวิตอยู่ได้อีก 1 วัน โอกาสการตั้งครรภ์จึงมีเพิ่มขึ้นจนถึงวันที่ 17 ของรอบเดือน ส่วนเชื้ออสุจิจะมีชีวิตรอผสมอยู่ได้ประมาณ 2 วันก่อนไข่ตก ดังนั้นช่วงที่จะมีโอกาสตั้งครรภ์ได้อีกก็คือวันที่ 10 และ 11 ของรอบเดือน พอรวมแล้วก็จะได้วันปลอดภัยคือวันที่ 10-17 ของรอบเดือน” (เริ่มนับวันแรกตั้งแต่วันที่ประจำเดือนมา)” จากสูตรนี้ถ้ารอบเดือนมาสม่ำเสมอก็คงคำนวณได้ไม่ยาก แต่ในกรณีที่รอบเดือนมาไม่สม่ำเสมอนั้น การหาช่วงเวลาปลอดภัยจะต้องทำโดยการจดบันทึก “ความยาวของรอบเดือน” ไว้ทุกเดือนเป็นเวลา 8-12 เดือน (12 เดือนจะชัวร์สุด) แล้วดูว่ารอบเดือนครั้งไหนมีจำนวนวันที่สั้นที่สุดและยาวที่สุด แล้วจึงนำมาคำนวณด้วยสูตร
- วันแรกของระยะไม่ปลอดภัย = จำนวนวันที่สั้นที่สุดของรอบเดือน – 18
- วันสุดท้ายของระยะไม่ปลอดภัย = จำนวนวันที่ยาวที่สุดของรอบเดือน – 11
ยกตัวอย่าง : นางสาว ข. ได้จดจำนวนวันในแต่ละรอบประจำเดือนไว้ 12 เดือน คือ 26, 24, 25, 28, 26, 27, 29, 30, 26, 28, 26, 29 จะเห็นได้ว่ารอบประจำเดือนที่สั้นที่สุดคือ 24 วัน และยาวสุดคือ 30 วัน เมื่อนำมาคำนวณจะได้วันแรกของระยะไม่ปลอดภัย = 24-18 = 6 ส่วนวันสุดท้ายของระยะไม่ปลอดภัย = 30-11 = 19 ดังนั้น ระยะไม่ปลอดภัยที่นางสาว ข. ควรงดการมีเพศสัมพันธ์ จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 6 จนถึงวันที่ 19 ของรอบเดือนหน้า (ไม่ใช่เดือนหรือวันตามปฏิทินนะครับ) ซึ่งสูตรนี้จะแม่นยำมากกว่าสูตรหน้า 7 หลัง 7 ครับ ส่วนผู้ที่อายุยังน้อยหรือวัยรุ่นที่อยู่ในช่วงวัยเจริญพันธุ์ ซึ่งเป็นวัยที่มีการตกไข่บ่อยกว่าวัยอื่น สตรีหลังแท้งบุตร หรือคุณแม่ที่เพิ่งคลอดบุตรใหม่ ๆ ประจำเดือนยังมาไม่ค่อยสม่ำเสมอ รังไข่จะยังทำงานไม่ปกติ ไม่แนะนำให้ใช้วิธีนี้ครับ เพราะมีโอกาสผิดพลาดได้สูงมากครับ
การกำหนดระยะเวลาเจริญพันธุ์
การกำหนดระยะเวลาเจริญพันธุ์ (The standard days method – SDM) เป็นการกำหนดช่วงเวลาไปเลยว่าในวันที่ 8-19 (แถบสีฟ้า) ของรอบเดือนมีโอกาสเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ โดยเป็นการคำนวณค่าเฉลี่ยของรอบประจำเดือนของสตรีทั่วไปที่มีรอบประจำเดือน 26-32 วัน หากต้องการคุมกำเนิดด้วยวิธีนี้ ก็ควรหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ในช่วงเวลาดังกล่าว
การสังเกตมูกที่ปากมดลูก
การตรวจมูกที่ปากมดลูก (Cervical mucus หรือ Ovulation method หรือ Billings method) จะอาศัยหลักที่ว่า “มูกปากมดลูกจะมีการเปลี่ยนแปลงลักษณะของความเหนียวข้นและความยืดหยุ่นไปตามอิทธิพลของฮอร์โมนเอสโตรเจนในแต่ละรอบเดือน” วิธีการสังเกตนี้เป็นวิธีที่ทำได้ง่าย โดยให้สตรีสังเกตลักษณะของมูกในช่องคลอดของตนเอง ซึ่งในทางการแพทย์การเปลี่ยนแปลงของมูกที่ปากมดลูกจะมีอยู่ด้วยกัน 5-6 ระยะ แต่เพื่อให้เข้าใจได้ง่ายอาจจะแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ดังนี้
- ระยะปลอดภัยก่อนไข่ตก : เป็นช่วงหลังประจำเดือนหยุดใหม่ ๆ ในช่วงแรกจะไม่มีมูก ต่อมาจะมีมูกสีขาวขุ่น ๆ หรือสีเหลืองจำนวนไม่มากนัก
- ระยะตกไข่ : ช่วงนี้จะมีโอกาสเกิดการตั้งครรภ์ได้มากที่สุด ระยะนี้จะมีมูกที่ปากมดลูกมาก โดยมูกจะมีลักษณะใสและลื่น (คล้ายไข่ขาวดิบ) สามารถดึงยืดเป็นเส้นได้ยาวเกินกว่า 6 เซนติเมตร ทำให้ตัวอสุจิสามารถผ่านมูกนี้เข้าไปสู่โพรงมดลูกได้สะดวก หากมีการร่วมเพศในช่วงนี้ก็จะเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ได้สูง ดังนั้น หากต้องการคุมกำเนิด ควรหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ในช่วงนี้
- ระยะปลอดภัยหลังการตกไข่ : เป็นระยะที่ปลอดภัยเช่นเดียวกับระยะก่อนตกไข่ เพราะใกล้จะมีประจำเดือนครั้งต่อไป ในระยะนี้มูกจะมีจำนวนน้อยลง มูกจะมีลักษณะขุ่นข้นขึ้นและดึงยืดไม่ได้มากนัก
วิธีการตรวจมูกที่ปากมดลูก : ตรงนี้คงต้องถามตัวเองก่อนว่ากล้าสอดนิ้วเข้าไปในช่องคลอดหรือไม่ เพราะการตรวจมูกที่ปากมดลูกจะต้องทำทุกวัน โดยการสอดนิ้วเข้าไปในช่องคลอด เพื่อสังเกตดูการหล่อลื่นและตรวจมูกที่ติดนิ้วออกมา แต่วิธีการสังเกตมูกนี้ก็นับว่าค่อนข้างยาก เพราะการเปลี่ยนแปลงของมูกในแต่ละคนอาจไม่เหมือนกัน และหลาย ๆ คนอาจจะไม่สามารถแยกแยะหรือสังเกตความเปลี่ยนแปลงนี้ได้ ยิ่งถ้ามีอาการอักเสบในช่องคลอดหรือมีการร่วมเพศด้วยแล้ว มูกที่ปากมดลูกก็อาจเปลี่ยน ทำให้ตรวจได้ยากขึ้นด้วย
- ข้อดี : ไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ และมีความปลอดภัยมาก เนื่องจากไม่ได้ใช้สารเคมีหรือยาใด ๆ อีกทั้งยังไม่ขัดต่อหลักการของบางศาสนาที่เคร่งครัดในเรื่องการคุมกำเนิด วิธีนี้เมื่อเลิกใช้แล้วก็ไม่มีผลข้างเคียงใด ๆ ตามมา และเมื่อพร้อมจะมีลูกก็สามารถตั้งครรภ์ได้ตามปกติ
- ข้อเสีย : ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดยังน้อย มีความยุ่งยากในทางปฏิบัติ เพราะต้องคอยสอดนิ้วเข้าไปในช่องคลอดเพื่อสังเกตมูกทุกวัน ทำให้หลาย ๆ คนรู้สึกเบื่อหรือเกิดการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ของคู่สมรสได้ เช่น บางครั้งต้องการจะมีแต่ไม่ตรงกับระยะที่ไม่ปลอดภัย พอถึงระยะปลอดภัยแต่กลับไม่รู้สึกว่ามีความต้องการ เป็นต้น
การวัดอุณหภูมิร่างกาย
การตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย (Basal body temperature – BBT) เป็นการใช้ความรู้ด้านสรีรวิทยาที่ว่าอุณหภูมิในร่างกายจะลดลง 12-24 ชั่วโมงก่อนที่จะมีการตกไข่ หลังจากนั้นก็จะสูงขึ้นประมาณครึ่งองศาฯ เมื่อมีการตกไข่ (0.5 degree Celsius/C) ซึ่งเป็นผลมาจากฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) การจะคุมกำเนิดด้วยวิธีนี้ ฝ่ายหญิงจะต้องมีการตรวจวัดอุณหภูมิของตนเองทุกเช้าหลังจากนอนหลับสนิทติดต่อกันอย่างน้อย 5 ชั่วโมง ด้วยการใช้ปรอทวัดไข้ธรรมดาหลังจากตื่นนอนและก่อนทำกิจกรรมใด ๆ ไม่ว่าจะเป็นการลุกไปกินน้ำ ทานอาหาร เดินไปแปรงฟัน หรือแม้แต่การพูดจา รวมไปถึงการสะบัดปรอท (ควรสะบัดปรอทให้พร้อมตั้งแต่ก่อนเข้านอนและควรวางปรอทไว้ใกล้ ๆ ตัว และพร้อมที่จะหยิบใช้ได้ทันที โดยไม่ต้องลุกจากที่นอน) แล้วจดบันทึกเอาไว้
ในการวัดปรอทสามารถวัดได้ทั้งทางรักแร้ ทางปาก ทางทวารหนัก หรือทางช่องคลอด ในการวัดปรอทแต่ละครั้งจะต้องนานประมาณ 5 นาที เวลาในการวัดหลังตื่นนอนก็ควรจะใกล้เคียงกันทุกครั้งในแต่ละวัน และควรทำการวัดล่วงหน้าติดต่อกันอย่างน้อย 2-3 เดือน เพื่อดูแนวโน้มและจะได้ประมาณวันตกไข่ได้อย่างแม่นยำมากขึ้น เมื่อวัดปรอทเสร็จแล้วก็ทำความสะอาดปรอทวัดไข้ให้เรียบร้อย รวมถึงการสะบัดปรอทให้พร้อมใช้สำหรับวันรุ่งขึ้นด้วย เมื่อดูจากค่าอุณหภูมิที่บันทึกไว้ เราก็สามารถเลือกวันที่จะมีเพศสัมพันธ์เพื่อลดความเสี่ยงในการตั้งครรภ์ได้
ตัวอย่าง : จากกราฟอุณหภูมิร่างกายด้านล่าง จะเห็นว่าวันที่ 1-13 เป็นช่วงก่อนตกไข่ อุณหภูมิของร่างกายจะอยู่ในระดับต่ำ พอถึงวันที่ 14 ซึ่งเป็นช่วงตกไข่ อุณหภูมิร่างกายจะลดลงมาต่ำสุด และจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในวันถัดไป ตั้งแต่วันที่ 15 เป็นต้นไป อุณหภูมิจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งเป็นช่วงที่มีการตกไข่ไปแล้ว เมื่อถึงวันที่ 29 ที่เริ่มมีประจำเดือน อุณหภูมิก็จะค่อย ๆ ลดต่ำลงอีกครั้ง
หมายเหตุ : การใช้ชุดทดสอบการตกไข่ (LH ovulation test) จะช่วยบอกว่าการตกไข่กำลังจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ดังนั้น หากใช้ชุดทดสอบการตกไข่ร่วมกับการวัดอุณหภูมิร่างกาย (BBT) ก็จะช่วยให้การตรวจหาวันตกไข่มีความแม่นยำมากขึ้น
การสังเกตอาการอื่นร่วมกับการตรวจวัดอุณหภูมิ
การสังเกตอาการอื่น ๆ ประกอบการตรวจวัดอุณหภูมิ (Sympto-thermal method) จะเป็นการใช้หลาย ๆ วิธีข้างต้น เช่น การนับวันปลอดภัย การวัดอุณหภูมิ และการสังเกตมูกที่ปากมดลูก ร่วมกับการสังเกตอาการปวดหน่วงท้องน้อยที่คาดว่าจะเกิดการตกไข่ อาการเจ็บคัดตึงเต้านม และการมีเลือดออกทางช่องคลอดเล็กน้อยเมื่อมีการตกไข่ (เนื่องจากการลดลงของฮอร์โมนเพศ) ซึ่งจะช่วยให้ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดสูงมากขึ้น
การใช้ชุดตรวจการตกไข่
การใช้ชุดตรวจการตกไข่ (Ovulation indicator testing kits) ในปัจจุบันมีชุดตรวจคาดคะเนการตกไข่ที่ใช้สำหรับสตรีที่ต้องการจะตั้งครรภ์ และต้องการที่จะกำหนดช่วงเวลาการมีเพศสัมพันธ์ให้ตรงกับวันตกไข่หรือใกล้ช่วงตกไข่มากที่สุด โดยในหลักการแล้วจะเป็นการตรวจหาฮอร์โมนกระตุ้นการตกไข่ (Luteiniz ing hormone – LH) ในปัสสาวะ ซึ่งจะตรวจพบได้ใน 8-12 ชั่วโมงหลังจากมีการเพิ่มขึ้นของฮอร์โมน LH (LH surge) ในสตรีทั่วไปจะมีฮอร์โมน LH เป็นตัวกระตุ้นให้มีการตกไข่ ปริมาณของฮอร์โมน LH จะเพิ่มสูงขึ้นมากใน 20-48 ชั่วโมงก่อนการตกไข่ เราจึงสามารถใช้ชุดตรวจนี้ในการคุมกำเนิดได้โดยการหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ในระยะที่มีการตรวจพบฮอร์โมน LH ในปัสสาวะ
การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
การให้นมบุตรหลังคลอดภายใน 6 เดือน (Lactational amenorrhea) เป็นวิธีการคุมกำเนิดที่ใช้มานานและแพร่หลายมากของชาวบ้านในชนบท เพราะเป็นที่ทราบกันว่าถ้าหากให้ลูกดูดนมหลาย ๆ เดือนหรือดูดนมเป็นปี โอกาสการตั้งครรภ์ก็จะน้อยลง เนื่องจากเมื่อทารกดูดนมแม่ ฮอร์โมนโปรแล็กติน (Prolactin) จะหลั่งออกมาจากต่อมใต้สมอง และจะระงับการทำงานของฮอร์โมนตัวอื่น ๆ จึงทำให้ไม่มีไข่ตก แต่ใช่ว่าคุณแม่ทุกคนจะใช้วิธีนี้แล้วได้ผลกันหมด ที่ไม่ได้ผลก็มีบ้างครับ แต่ก็เป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้นครับ โดยประสิทธิภาพของการคุมกำเนิดจะขึ้นอยู่กับความถี่ของการดูดนมและระยะเวลาหลังการคลอด ถ้าทารกดูดนมถี่ ๆ ทุก 3-4 ชั่วโมงก็จะยิ่งได้ผลดี ซึ่งโดยทั่วไปแล้ววิธีนี้จะใช้ได้ผลในระยะ 6 เดือนแรกหลังคลอดเท่านั้น แต่หลังจากผ่าน 6 เดือนแรกไปแล้ว แม้ว่าลูกจะยังดูดนมอยู่ก็มีโอกาสตั้งครรภ์ได้ เนื่องจากฮอร์โมนโปรแล็กตินจะลดน้อยลงในช่วงหลังจากนี้
- ข้อดี : เป็นวิธีที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ไม่ต้องใช้เครื่องมือใด ๆ และคุณพ่อยังสามารถถึงจุดสุดยอดได้โดยไม่ต้องป้องกันใด ๆ และยังเป็นวิธีที่ส่งผลดีต่อสุขภาพกายและสุขภาพใจของลูกที่ได้ดูดนมแม่อีกด้วย
- ข้อเสีย : เป็นวิธีที่ใช้ได้ผลในระยะสั้น ๆ หรือประมาณไม่เกิน 6 เดือน และบางคนก็อาจตั้งครรภ์ได้ แม้ลูกยังดูดนมอยู่และยังไม่เลย 6 เดือน พอมีการตกไข่ครั้งแรกก็จะมีการผสมและตั้งครรภ์เลยก่อนที่จะมีประจำเดือน ทำให้คุณแม่ไม่ทราบว่าตั้งครรภ์ใหม่แล้วกี่เดือน คำนวณวันคลอดได้ไม่แน่นอน ทำให้ต้องคาดคะเนหรือตรวจด้วยเครื่องอัลตราซาวนด์
ยาฝังคุมกำเนิด|0.05 (1 ใน 2,000 คน)|0.05
ทำหมันชาย|0.15 (1 ใน 666 คน)|0.1
ห่วงอนามัยเคลือบฮอร์โมน|0.2 (1 ใน 500 คน)|0.2
ยาฉีดคุมกำเนิด (ฮอร์โมนรวม)|0.2 (1 ใน 500 คน)|0.2
ทำหมันหญิง (แบบทั่วไป)|0.5 (1 ใน 200 คน)|0.5
ห่วงอนามัยหุ้มทองแดง|0.8 (1 ใน 125 คน)|0.6
การให้นมบุตรหลังในระยะ 6 เดือนแรก|2 (1 ใน 50 คน)|0.3
การตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย|3.1 (1 ใน 33 คน)|0.3
ยาฉีดคุมกำเนิด (ฮอร์โมนเดี่ยว)|6 (1 ใน 17 คน)|0.2
แผ่นแปะคุมกำเนิด|9 (1 ใน 11 คน)|0.3
วงแหวนคุมกำเนิด (NuvaRing)|9 (1 ใน 11 คน)|0.3
ยาเม็ดคุมกำเนิด|9 (1 ใน 11 คน)|0.3
การนับวันปลอดภัย (Calendar rhythm method)|ไม่มีข้อมูล|9
ถุงยางอนามัยชาย|18 (1 ใน 5 คน)|2
การหลั่งนอก|22 (1 ใน 4 คน)|4
การสังเกตอาการอื่นร่วมกับการตรวจวัดอุณหภูมิ (Sympto-thermal method)|24 (1 ใน 4 คน)|0.4
การตรวจมูกที่ปากมดลูก|24 (1 ใน 4 คน)|3
การกำหนดระยะเวลาเจริญพันธุ์ (Standard days method)|24 (1 ใน 4 คน)|5
ยาฆ่าเชื้ออสุจิ (Spermicidal)|28 (1 ใน 3 คน)|18
การหลั่งใน (ไม่มีการป้องกัน)|85 (6 ใน 7 คน)|85
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)