ระกำป่า
ระกำป่า ชื่อวิทยาศาสตร์ Cathormion umbellatum (Vahl) Kosterm. จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยสีเสียด (MIMOSOIDEAE หรือ MIMOSACEAE)[1],[2]
สมุนไพรระกำป่า มีชื่อเรียกอื่นว่า มะขามแขก (ราชบุรี) ส่วนทางราชบุรีและนครสวรรค์จะเรียกว่า “ระกำป่า“[1]
ลักษณะของระกำป่า
- ต้นระกำป่า จัดเป็นไม้พุ่มกึ่งไม้ยืนต้นขนาดเล็กที่มีความสูงของต้นประมาณ 4-8 เมตร แตกกิ่งก้านแผ่กว้าง เปลือกต้นแตกเป็นร่องตามยาว มีหนามทั่วไปตามลำต้นและกิ่งก้าน กิ่งมีขนประปราย มีเขตการกระจายพันธุ์กว้าง พบได้ตั้งแต่ศรีลังกา อินเดีย ภูมิภาคอินโดจีน ชวา และนิวกินี ส่วนในประเทศไทยพบได้แทบทุกภาคของประเทศ โดยมักขึ้นตามที่ลุ่ม น้ำท่วมถึง หรือมีน้ำท่วมในหน้าฝน ที่ความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 100 เมตร ถ้าขึ้นตามซอกหินของผา ลำต้นจะแคระแกร็น กิ่งจะแผ่รายไปตามหน้าผาด้วยแรงลม โคนและเหง้าใหญ่แข็งแรง ยึดซอกหินได้อย่างมั่นคง[1],[2]
- ใบระกำป่า ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก 2 ชั้น ออกเรียงสลับ แกนกลางยาวประมาณ 4-7 เซนติเมตร มีต่อมบุ๋มตรงกลาง ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.5 มิลลิเมตร ตามแกนใบและระหว่างใบประกอบย่อย ใบประกอบย่อยมีประมาณ 2-4 คู่ ออกเรียงตรงข้าม ยาวประมาณ 3-6 เซนติเมตร ส่วนใบย่อยมีประมาณ 5-13 คู่ ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนาน ไม่สมมาตรกัน ปลายใบกลมและมีติ่ง โคนใบตัดหรือเบี้ยว ใบย่อยมีขนาดกว้างประมาณ 0.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร แผ่นใบเกลี้ยง มีเส้นใบออกจากโคนประมาณ 3-4 เส้น จรดกันเป็นร่างแห ไม่มีก้าน[1],[2]
- ดอกระกำป่า ออกดอกเป็นช่อเชิงหลั่นเป็นกระจุกแน่นตามซอกใบบริเวณปลายยอด ดอกมีจำนวนมาก เกลี้ยง ดอกด้านนอกยาวกว่าดอกด้านในเล็กน้อย ดอกเป็นสีขาว มีกลิ่นหอมเย็น กลีบเลี้ยงยาวประมาณ 0.3 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงที่โคนเชื่อมติดกัน ส่วนปลายแยกออกเป็นแฉก 5 แฉก มีขนครุย กลีบดอกเป็นรูปกรวย ยาวได้ประมาณ 0.7 เซนติเมตร ปลายแยกเป็นแฉก 5 แฉก ลักษณะเป็นรูปใบหอก ยาวประมาณ 0.2 เซนติเมตร ขอบมีขนครุย ดอกมีเกสรเพศผู้เป็นเส้นสีขาวจำนวนมาก หลอดเกสรเพศผู้สั้น ๆ ยาวประมาณหลอดกลีบดอก เกสรเพศผู้ยาวประมาณ 4-5 เซนติเมตร รังไข่ไร้ก้าน เกลี้ยง[1],[2]
- ผลระกำป่า ผลมีลักษณะเป็นฝักแบน คอดเป็นข้อต่อเรียงกัน ฝักมีลักษณะบิดหรือโค้ง เว้าตามจำนวนเมล็ด ฝักมีขนาดกว้างประมาณ 2-3 เซนติเมตร และยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตร ฝักอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้ม ภายในฝักมีเมล็ดประมาณ 5-13 เมล็ด เมล็ดมีลักษณะแบนเกือบกลมหรือเป็นรูปไข่กลีบ ยาวประมาณ 1-1.2 เซนติเมตร ผิวเป็นร่างแห[1],[2]
สรรพคุณของระกำป่า
- แก่นระกำป่านำมาฝนกับเหล้า ใช้รับประทานเป็นยาแก้เลือดลม แก้กระษัย (แก่น)[1]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ). “ระกำป่า”. หน้า 168.
- สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “มะขามแขก”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.dnp.go.th/botany/. [29 ต.ค. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by David Tng, Russell Cumming)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)