ระกำ
ระกำ ชื่อสามัญ Salacca
ระกํา ชื่อวิทยาศาสตร์ Salacca wallichiana Mart. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Calamus zalacca Roxb., Salacca beccarii Hook.f., Salacca macrostachya Griff.) จัดอยู่ในวงศ์ปาล์ม (ARECACEAE) ซึ่งแต่เดิมใช้ชื่อวงศ์ว่า PALMAE หรือ PALMACEAE
จัดเป็นพืชในตระกูลปาล์มและจัดอยู่ในสกุลเดียวกับผลไม้สละ โดยผลไม้ระกำจัดเป็นพืชที่สามารถทำรายได้ให้กับเกษตรกร โดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดตราด ที่เป็นที่รู้จักทั่วไปในนามของ “ระกำหวานเมืองตราด” แต่ทั้งนี้ราคาก็ขึ้นอยู่กับคุณภาพของระกำด้วย
ลักษณะของระกำ
- ต้นระกำ เป็นต้นหรือเหง้าเตี้ย มียอดแตกเป็นกอ ออกผลรวมกันเป็นกระจุกแบบทะลาย โดยหนึ่งทะลายจะประมาณ 2-5 กระปุก ลำต้นจะมีหนามแหลมยาวประมาณ 1 นิ้ว ใบมีลักษณะยาวเป็นทางประมาณ 2-3 เมตร
- ผลระกำ ลักษณะของผลที่เปลือกจะมีหนามแข็งเล็ก ๆ ในหนึ่งผลจะมีอยู่ด้วยกัน 2-3 กลีบ ผลดิบจะมีรสฝาดและเปรี้ยว ส่วนผลสุกจะมีรสเปรี้ยวอมหวาน เนื้ออ่อนและน้อย ฉ่ำน้ำ มีกลิ่นหอม ลักษณะโดยรวมแล้วจะคล้ายกับสละ แต่ลักษณะของผลจะป้อมกว่า เมล็ดจะใหญ่กว่า และเนื้อจะออกสีเหลืองอมส้มหน่อย ๆ แต่ถ้าเป็นสละเนื้อจะเป็นสีเหลืองอ่อน ๆ และมีเนื้อประมาณ 1-2 กลีบ
สำหรับคนไทยโบราณแล้วจะไม่นิยมปลูกต้นระกำไว้ในบ้าน เพราะไม่เป็นมงคล สาเหตุคงมาจากชื่อที่ไม่เป็นมงคล และเชื่อว่าหากปลูกต้นระกำไว้ในบ้านจะทำให้ผู้อยู่อาศัยได้รับความชอกช้ำระกำใจอยู่ตลอดเวลานั่นเอง
สรรพคุณของระกำ
- ระกําช่วยบรรเทาอาการกระหายน้ำ
- ช่วยทำให้เจริญอาหาร
- ผลระกำใช้รับประทานเป็นยารักษาอาการไอ
- ช่วยรักษาอาการไข้สำประชวร (แก่น)
- ใช้เป็นยาขับเสมหะ (ผล, แก่น)
- ช่วยรักษาเลือด รักษากำเดา (แก่น)
- ช่วยในการย่อยอาหาร
ประโยชน์ของระกำ
- ระกำสามารถนำมาปรุงรสเปรี้ยวในอาหารได้ อย่างเช่น ต้มยำ, ต้มส้ม, น้ำพริก, ข้าวยำ เป็นต้น
- ใช้รับประทานเป็นผลไม้สดหรือทำเป็นของหวานได้ เช่น ระกำลอยแก้ว น้ำระกำ ระกำแช่อิ่ม เป็นต้น
- มีการใช้ผิวของระกำนำมาสกัดเป็นน้ำมันระกำ
- ไม้ของต้นระกำเมื่อลิดเอาหนามออกหมดสามารถนำมาใช้กั้นทำเป็นฝาบ้านได้
- เมื่อปอกเปลือกของไม้ระกำออก เนื้อไม้ของระกำอ่อนนุ่มมีความหยุ่น สามารถนำมาใช้ทำเป็นจุกขวดน้ำ ทำของเล่นเด็ก เนื่องจากลอยน้ำได้ และใช้เป็นเครื่องประกอบดอกไม้
คุณค่าทางโภชนาการของระกำ ต่อ 100 กรัม
- พลังงาน 51 กิโลแคลอรี
- ไขมัน 0.1 กรัม
- โปรตีน 0.5 กรัม
- วิตามินบี 1 0 มิลลิกรัม
- วิตามินบี 2 0.2 มิลลิกรัม
- วิตามินซี 6 มิลลิกรัม
- ธาตุแคลเซียม 8 มิลลิกรัม
- ธาตุเหล็ก 0.4 มิลลิกรัม
- ธาตุฟอสฟอรัส 18 มิลลิกรัม
ข้อมูลจาก : สถาบันวิจัยและพัฒนามหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง
แหล่งอ้างอิง : หนังสือผลไม้ 111 ชนิด คุณค่าอาหารและการกิน (ทวีทอง หงษ์วิวัฒน์, นิดดา หงษ์วิวัฒน์), เว็บไซต์มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)