รสสุคนธ์แดง
รสสุคนธ์แดง ชื่อวิทยาศาสตร์ Tetracera indica (Christm. & Panz.) Merr. จัดอยู่ในวงศ์ส้าน (DILLENIACEAE)[1],[2]
สมุนไพรรสสุคนธ์แดง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า อรคนธ์ (กรุงเทพฯ), เครือปด (ชุมพร), ย่านเปล้า (ตรัง), ปดลื่น (ยะลา, ปัตตานี), เถาอรคนธ์ (ภาคกลาง), ย่านปด (ภาคใต้), อุเบ๊ะสะปัลละเมเยาะ (มลายู-นราธิวาส) เป็นต้น[1],[2]
ลักษณะของรสสุคนธ์แดง
- ต้นรสสุคนธ์แดง จัดเป็นไม้เถาเลื้อยเนื้อแข็ง เลื้อยได้ไกลถึง 10 เมตร เถาเป็นสีน้ำตาลแดง เปลือกต้นเรียบเป็นสีน้ำตาล เมื่อแก่จะแตกเป็นสะเก็ดบาง ๆ ส่วนเถาอ่อนเป็นสีน้ำตาลอมเขียว มีถิ่นกำเนิดในอินเดีย จีนตอนใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในประเทศไทยพบขึ้นตามป่าละเมาะทางภาคใต้ ที่ระดับน้ำทะเลจนถึง 600 เมตร ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด ตอนกิ่ง และการปักชำกิ่ง ชอบดินร่วน น้ำปานกลาง และแสงแดดจัด[1],[2]
- ใบรสสุคนธ์แดง ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปรีแกมขอบขนานหรือรูปไข่กลับ ปลายใบแหลม โคนใบสอบมน ส่วนขอบใบจักเป็นฟันเลื่อยห่าง ๆ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 6-10 เซนติเมตร แผ่นใบเรียบ ผิวใบสากคาย มีขนตามเส้นใบด้านล่าง ก้านใบสั้นสีแดง ยาวประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร[1],[2]
- ดอกรสสุคนธ์แดง ออกดอกเป็นช่อแบบแยกแขนงตามปลายกิ่งหรือซอกใบใกล้ปลายกิ่ง มีดอกย่อยประมาณ 3-8 ดอก ดอกมีขนาดประมาณ 2.5-3 เซนติเมตร ดอกมีกลิ่นหอมเย็น มีกลีบเลี้ยงหนาสีเขียวอมแดง 4 กลีบ กว้างประมาณ 7-9 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 8-10 มิลลิเมตร ไม่มีขน ส่วนกลีบดอกเป็นสีขาวหรือสีขาวอมชมพู มี 4-5 กลีบ ลักษณะเป็นรูปไข่กลับ มีขนาดกว้างประมาณ 6-8 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 12-15 มิลลิเมตร กลีบดอกหลุดร่วงได้ง่าย ดอกมีเกสรเพศผู้จำนวนมาก โผล่พ้นกลีบดอก ปลายก้านชูอับเรณูเป็นสีแดง ส่วนโคนก้านเป็นสีขาว รังไข่มี 3-4 คาร์เพล ด้านหลังมีขนแข็งขึ้นประปราย สามารถออกดอกได้เกือบทั้งตลอดทั้งปี ดอกแต่ละช่อจะทยอยบาน ดอกบานวันเดียวก็โรย ส่งกลิ่นหอมแรงในช่วงเวลากลางวัน[1],[2]
- ผลรสสุคนธ์แดง ออกผลเป็นกลุ่ม ๆ ประมาณ 3-4 ผล ผลเป็นผลแบบแคปซูลแห้งแตกเป็นแนวตะเข็บด้านเดียว มีกลีบเลี้ยงหุ้มผลไว้เกือบหมด ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลม ผลเป็นสีส้มถึงแดง ผลมีขนาดกว้างประมาณ 0.8-1 เซนติเมตร ปลายผลมีจะงอยแหลมยาวประมาณ 2-6 มิลลิเมตร ภายในมีเมล็ด 2 เมล็ด หรือมากกว่า เมล็ดเป็นสีดำลักษณะเป็นรูปไข่ มีขนาดกว้างประมาณ 2-3 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 3-4 มิลลิเมตร มีเยื่อหุ้มเมล็ดสีแดงสด ยาวประมาณ 1 เซนติเมตร ที่ฐานเป็นชายครุย[1],[2]
สรรพคุณของรสสุคนธ์แดง
- ตำรับยาบำรุงกำลังจะใช้รสสุคนธ์แดงทั้งต้น นำมาผสมกับต้นเส้ง เปลือกต้นทุเรียน (เลือกเอาเฉพาะส่วนที่สูงจากเอวขึ้นไป) นำมาตำสด ๆ คั้นเอาน้ำผสมกับน้ำร้อนดื่ม รสจะออกฝาด หรือจะตำแล้วห่อด้วยผ้าขาวบาง แล้วนำมาแช่ในเหล้าขาว ใช้จิบกินทีละน้อยก็ได้ (ทั้งต้น)[4]
- ตำรายาไทยจะใช้ดอกรสสุคนธ์แดงเข้ายาหอมบำรุงหัวใจ แก้ลม โดยมักใช้คู่กับรสสุคนธ์ขาว (ดอก)[1],[2]
- ต้นนำมาต้มเอาน้ำใช้อมกลั้วรักษาแผลในปาก ส่วนในประเทศอินเดียจะใช้เป็นยาภายนอกบ้วนรักษาแผลร้อนในปาก (ต้น)[1],[2]
- ต้นนำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้อาการตกเลือดภายในปอด (ต้น)[1],[2]
- ตำรายาพื้นบ้านภาคใต้จะใช้รากรสสุคนธ์แดงนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาขับปัสสาวะ (ราก)[2]
- ใบและรากใช้ตำพอกผิวหนังแก้ผื่นคัน (ใบและราก)[1],[2]
- ยอดอ่อนใช้เป็นยาพอกรักษางูกัด (ยอดอ่อน)[2]
- ตำรับยาแก้อาการบวม แก้ฝี ซึ่งเป็นตำรับยาพื้นบ้านของอีสานจะใช้ลำต้นหรือรากรสสุคนธ์แดง นำมาผสมกับหญ้างวงช้างทั้งต้น งวงตาล ผลมะพร้าว รากกะตังใบ รากลำเจียก รากส้มกุ้ง เหง้าสับปะรด เหง้ายาหัว ลำต้นเครือพลูช้าง ลำต้นหรือรากเถาคันขาว ลำต้นก้อม ลำต้นไผ่ป่า ลำต้นไผ่ตง ลำต้นโพ ลำต้นรักดำ ลำต้นหนามพรม ลำต้นอ้อยแดง เปลือกต้นกัดลิ้น เปลือกต้นมะม่วง และเปลือกต้นสะแกแสง นำมาต้มกับน้ำดื่ม (ต้น, ราก)[2]
- ส่วนในหนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทยของ ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม ได้ระบุถึงสมุนไพรชนิดหนึ่งที่มีชื่อว่า “เชือกเขาไฟ” ซึ่งมีชื่อท้องถิ่นเหมือนต้นรสสุคนธ์แดงว่า ย่างปด, ย่างทราย, ฮางฮ้อน, ไม้ไฟ, เชือดเขาไฟ (ไทย) ซึ่งผู้เขียนเองก็ไม่แน่ใจว่ารสสุคนธ์แดงกับเชือกเขาไฟนั้นเป็นพรรณไม้ชนิดเดียวกันหรือไม่ โดยในตำรานั้นระบุว่า เนื้อไม้เชือกเขาไฟมีสรรพคุณเป็นยารักษาอาการกระสับกระส่าย แก้แน่น จุกเสียด ใช้เป็นยารักษาลม ช่วยขับลมในลำไส้ แก้ท้องขึ้น อืดเฟ้อ รักษาเสมหะ และมีข้อบ่งใช้ว่าห้ามนำเนื้อไม้ชนิดนี้มาทำเป็นคานหาบสิ่งของ เพราะเป็นไม้เนื้อร้อน และอย่าให้ยางของพืชชนิดนี้เข้าตา เพราะจะเป็นยาพิษกัดเยื่อตา (เนื้อไม้)[3]
ประโยชน์ของรสสุคนธ์แดง
- ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับกลางแจ้งแล้วทำเป็นซุ้มให้เลื้อยไต่ ซึ่งจะออกดอกดกและสวยงามกว่าการนำมาปลูกในกระถาง และหมั่นตัดยอดให้ขึ้นพันซุ้มและตัดแต่งทรงพุ่มให้โปร่ง
- ใบสามารถนำมาใช้แทนกระดาษทรายได้[2]
- ลำต้นใช้ทำเป็นเชือก[2]
- ในประเทศอินเดียจะใช้พืชชนิดนี้เป็นยาเบื่อปลา[2]
เอกสารอ้างอิง
- ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “รสสุคนธ์แดง”. อ้างอิงใน : หนังสือไม้เลื้อยในสวนพฤกษศาสตร์. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.qsbg.org. [03 ม.ค. 2015].
- ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “อรคนธ์”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.phargarden.com. [03 ม.ค. 2015].
- หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “เชือกเขาไฟ”. หน้า 278.
- หนังสือสมุนไพรจากพื้นที่พรุในจังหวัดนราธิวาส. (ฝ่ายโครงการพิเศษ กองแผนงาน และสำนักวิจัยการจัดการป่าไม้และผลิตผลป่าไม้ กรมป่าไม้). “เถาอรคนธ์”. หน้า 18.
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Cerlin Ng, Yeoh Yi Shuen, CANTIQ UNIQUE)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)