รกลอกตัวก่อนกำหนด สาเหตุ การรักษา และวิธีป้องกัน ฯลฯ

รกลอกตัวก่อนกำหนด

รกลอกตัวก่อนกำหนด (Abruptio placenta หรือ Placental abruption) หมายถึง ภาวะที่รกซึ่งเกาะอยู่บริเวณส่วนบนของโพรงมดลูกในตำแหน่งปกติ แต่เกิดมีโรคหรือมีภาวะแทรกซ้อนบางอย่าง เช่น ความดันโลหิต ครรภ์เป็นพิษสูง ครรภ์ถูกกระทบกระเทือน หรือสาเหตุอื่น ๆ ที่ในปัจจุบันยังไม่ทราบแน่ชัด จนทำให้รกเกิดการลอกตัวจากผนังมดลูกก่อนถึงกำหนดวันคลอดหรือก่อนที่คุณแม่จะเจ็บท้องคลอด ทำให้มีเลือดออกระหว่างผนังมดลูกกับตัวรก เมื่อมีเลือดออกมากก็จะทำให้รกลอกตัวจากผนังมดลูกมากขึ้น

ภาวะนี้เป็นภาวะที่ร้ายแรงซึ่งพบได้ไม่บ่อยนัก หากคุณแม่ตั้งครรภ์ไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างทันท่วงทีหรือแพทย์วินิจฉัยโรคได้ช้า ก็จะเป็นอันตรายต่อทั้งคุณแม่และทารกในครรภ์อย่างมาก เพราะมีโอกาสจะเสียชีวิตได้ทั้งคู่ และไม่ว่ารกจะลอกตัวเพียงบางส่วนหรือทั้งหมด จะทำให้มีเลือดออกจากตำแหน่งที่รกเกาะไปแทรกอยู่ระหว่างถุงน้ำคร่ำกับผนังมดลูก แล้วไหลผ่านปากมดลูกออกสู่ช่องคลอด แต่ก็ไม่เสมอไปครับ เพราะบางครั้งเลือดอาจจะขังอยู่บริเวณหลังรกเท่านั้นก็ได้ จึงไม่ไหลออกทางช่องคลอด โดยสามารถแบ่งออกเป็น 3 ชนิด คือ

  • ภาวะรกลอกตัวแบบไม่เปิดเผย (Concealed type หรือ Internal hemorrhage) คือ เลือดที่ออกมาจะคั่งอยู่หลังรก ไม่ไหลออกมาทางช่องคลอดให้เห็นอย่างชัดเจน พบได้น้อยกว่าชนิดที่สอง คือพบได้ประมาณ 20-35%
  • ภาวะรกลอกตัวแบบเปิดเผย (Revealed type หรือ external hemorrhage) คือ ภาวะที่รกลอกตัวแล้วเลือดไหลเซาะระหว่างเยื่อถุงน้ำคร่ำกับผนังมดลูกและไหลออกมาทางปากมดลูกและช่องคลอด คุณแม่จะเห็นเลือดออกมาทางช่องคลอดอย่างชัดเจน ทำให้แพทย์วินิจฉัยโรคได้ง่าย พบได้บ่อยที่สุดประมาณ 65-80%
  • ภาวะรกลอกตัวแบบผสม (Mixed type หรือ Combined hemorrhage) เป็นชนิดที่พบได้มากที่สุด เชื่อว่าเริ่มแรกเป็นชนิดภาวะรกลอกตัวแบบไม่เปิดเผย เลือดที่ออกจะแทรกอยู่ระหว่างรกกับผนังมดลูก เมื่อเลือดออกมามากขึ้นจึงสามารถเซาะแทรกถุงน้ำคร่ำกับผนังมดลูกแล้วผ่านออกมาทางปากมดลูกได้

ภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด

ภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนดเป็นภาวะที่พบได้ตั้งแต่คุณแม่มีอายุครรภ์ 20 สัปดาห์ขึ้นไปจนถึงก่อนทารกคลอด และพบได้มากในคุณแม่ที่มีอายุครรภ์มากกว่า 7 เดือนขึ้นไป โดยภาวะนี้จะพบได้ประมาณ 1 ใน 200 ของการตั้งครรภ์ทั้งหมด และจะพบได้บ่อยขึ้นในคุณแม่ที่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น มีบุตรมาแล้วหลายคน มีความดันโลหิตสูง ครรภ์เป็นพิษ ได้รับอุบัติเหตุที่รุนแรงอย่างฉับพลัน ฯลฯ โดยภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนดสามารถแบ่งตามระดับรุนแรงได้ดังนี้

  • ระดับที่ไม่แสดงอาการ คุณแม่จะไม่มีอาการปวดหรือเจ็บท้อง ไม่มีเลือดออก แพทย์สามารถวินิจฉัยได้หลังการคลอด
  • รกลอกตัวเล็กน้อย คุณแม่จะมีอาการปวดท้องเล็กน้อยและมีเลือดออกเล็กน้อย รกส่วนใหญ่ยังทำงานได้ตามปกติ การรักษาที่ดีที่สุดคือการให้คุณแม่นอนพักผ่อนให้มาก ๆ ซึ่งการตรวจอัลตราซาวนด์จะช่วยบอกความรุนแรงและสุขภาพของทารกในครรภ์ได้ ถ้าเกิดภาวะนี้ในช่วงใกล้คลอด แพทย์อาจต้องกระตุ้นให้เกิดการเจ็บครรภ์และคลอดโดยเร็ว
  • รกลอกตัวปานกลาง รกจะลอกตัวเพียงบางส่วนประมาณ 1 ใน 4 หรือมีเลือดออกทางช่องคลอดประมาณ 0.5-1 ลิตร คุณแม่จะมีอาการปวดท้องรุนแรงมากขึ้น กดเจ็บที่มดลูก ความดันโลหิตเปลี่ยนแปลง มีการเต้นของหัวใจทารกผิดปกติ จำเป็นต้องมีการให้เลือดทดแทน ถ้ารกลอกตัวในระดับนี้ในระยะใกล้คลอด แพทย์จำเป็นต้องผ่าตัดทำคลอด
  • รกลอกตัวรุนแรง เป็นภาวะฉุกเฉินที่เป็นอันตรายต่อทั้งชีวิตของแม่และลูกในครรภ์ ซึ่งจะพบได้ประมาณ 20-25% ของภาวะลอกตัวทั้งหมด โดยรกจะลอกตัวมากกว่า 2 ใน 3 หรือลอกตัวทั้งหมด เลือดจึงออกมากได้ถึง 2 ลิตร คุณแม่จะมีอาการปวดท้องรุนแรงมาก มดลูกหดรัดตัวอยู่ตลอดเวลา การแข็งตัวของเลือดเสียไป คุณแม่จะเสียเลือดมากจนมีอาการช็อกหรือหมดสติ จึงจำเป็นต้องได้รับเลือดให้ทันท่วงทีและผ่าตัดทำคลอดฉุกเฉินเพื่อรักษาชีวิตของคุณแม่เอาไว้ ถ้ารกลอกตัวรุนแรงมาก ทารกมักจะเสียชีวิตในครรภ์

อาการรกลอกตัวก่อนกำหนด

คุณแม่จะมีเลือดออกทางช่องคลอดหลังการตั้งครรภ์ 20 สัปดาห์ไปแล้ว (เลือดออกมากหรือน้อยจะขึ้นอยู่กับระดับของการลอกตัวของรก ในบางรายอาจไม่มีเลือดออกมาให้เห็นเลยก็ได้) ร่วมกับมีอาการปวดท้องและท้องเกร็งแข็งเป็นพัก ๆ คล้ายการคลอดบุตร (อาการปวดท้องหรือเจ็บครรภ์มีตั้งแต่ไม่มากนักจนถึงมีอาการปวดอย่างรุนแรง ขึ้นอยู่กับระดับของการลอกตัวของรก) ถ้าเป็นน้อยทารกในครรภ์จะยังมีชีวิตอยู่ได้ แต่ถ้าเป็นมากหรือมีเลือดออกรุนแรงคุณแม่จะมีอาการซีด ตัวเย็น เหงื่อออก ชีพจรเต้นเร็ว ความดันตก ใช้เครื่องฟังตรวจเสียงหัวใจของทารกในท้องจะไม่ได้ยิน เนื่องจากทารกเสียชีวิตแล้ว และถ้าคลอดออกมาคุณแม่อาจมีอาการตกเลือดอย่างรุนแรง

เมื่อแพทย์ตรวจร่างกายจะพบว่า มดลูกมีการหดรัดตัวเป็นพัก ๆ ไปจนกระทั่งมีมดลูกหดรัดตัวแข็งเกือบตลอดเวลา (Tetanic contraction) คลำท่าหรือตัวทารกได้ไม่ชัดเจน อาจฟังได้ยินเสียงหัวใจของทารกเต้นผิดปกติหรือบางครั้งก็ไม่ได้ยินเลย เนื่องจากทารกเสียชีวิตแล้ว หากเหตุการณ์นี้ดำเนินต่อไปโดยไม่ได้รับการแก้ไข อาจตรวจพบจุดเลือดออกตามแขนขาของสตรีตั้งครรภ์ เนื่องจากระบบการแข็งตัวของเลือดเกิดเสียไป

สาเหตุของภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด

ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของการเกิดภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด แต่มีปัจจัยชักนำหรือปัจจัยเสี่ยงดังต่อไปนี้

  1. คุณแม่เคยมีประวัติภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนดในครรภ์ก่อน จากการศึกษาพบว่าคุณแม่ตั้งครรภ์จะเกิดภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนดมากขึ้นตามจำนวนครั้งของการตั้งครรภ์ที่เพิ่มขึ้น โดยคุณแม่ที่มีภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนดในครรภ์แรกจะมีแนวโน้มเกิดซ้ำได้อีกในครรภ์ต่อไปประมาณ 4-12% และหากเกิดภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนดในการตั้งครรภ์ 2 ครั้งแรก โอกาสที่จะเกิดซ้ำในการตั้งครรภ์ครั้งที่ 3 ก็สูงมากขึ้นเป็น 25%
  2. คุณแม่มีภาวะครรภ์เป็นพิษและมีความดันโลหิตสูงในขณะตั้งครรภ์ เป็นสาเหตุที่ชัดเจนและพบได้บ่อยที่สุด โดยอุบัติการณ์ของภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนดจะเพิ่มขึ้นเป็น 2.4 เท่า ซึ่งพบสูงสุดในผู้ป่วย eclampsia ประมาณ 24% ส่วนในรายที่มีภาวะความดันโลหิตสูงเรื้อรัง (CHT) พบได้ประมาณ 10% และในผู้ป่วย preeclampsia พบได้ประมาณ 2-3%
  3. คุณแม่ได้รับอุบัติเหตุรุนแรงฉับพลันหรือเกิดการกระทบกระเทือนบริเวณหน้าท้องในขณะตั้งครรภ์ เช่น หกล้ม ถูกกระแทกที่หน้าท้อง การกระแทกกระเทือนจากการนั่งรถ หรืออุ้มลูกคนโต ฯลฯ เป็นสาเหตุที่พบได้ไม่บ่อย การกระทบกระเทือนบริเวณหน้าท้องแม้จะไม่รุนแรงนัก แต่อาจมีผลทำให้รกลอกตัวก่อนกำหนดได้ โดยมักจะเกิดขึ้นภายใน 24 ชั่วโมง และส่วนใหญ่จะมีอาการรุนแรง
  4. การลดขนาดอย่างฉับพลันของมดลูกขนาดใหญ่ เช่น ในครรภ์แฝดน้ำ (Polyhydramnios) ที่ถุงน้ำคร่ำแตกแล้วน้ำคร่ำไหลออกมาอย่างรวดเร็ว ในถุงน้ำคร่ำแตกก่อนครบกำหนดคลอด หรือในครรภ์แฝดที่คลอดแฝดพี่อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ยังมีหลักฐานที่ระบุว่าน้ำเดินในครรภ์ก่อนกำหนดจะเพิ่มความเสี่ยงของรกลอกตัวก่อนกำหนดถึง 3 เท่า
  5. สายสะดือเด็กสั้น เมื่อทารกเคลื่อนต่ำลงมาตามกลไกของการคลอด สายสะดืออาจไปดึงรกจนเกิดการลอกตัวได้
  6. ผลจากหัตถการของแพทย์ (Iatrogenic trauma) การหมุนกลับตัวเด็กทางหน้าท้อง (external cephalic version) อาจทำให้สายสะดือพันคอหรือแขนขาได้ จนสายสะดือสั้นลงหรือถูกดึงรั้งไว้จนเกิดการลอกตัว นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า การเจาะเลือดสายสะดือทารก (Cordocentesis) อาจทำให้เกิดรกลอกตัวก่อนกำหนดได้เช่นกัน โดยมักจะเกิดขึ้นภายใน 24 ชั่วโมง และส่วนใหญ่จะมีอาการรุนแรง
    ความผิดปกติหรือเนื้องอกของมดลูก (Myoma uteri) โดยเฉพาะในกรณีที่รกเกาะอยู่บริเวณเนื้องอกของมดลูก
  7. การออกแรงกดต่อหลอดเลือดเวนาคาวา (Inferior vena cava) เพราะเชื่อว่าจะทำให้มีการเพิ่มความดันใน Intervillous space และเกิดภาวะรกลอกตัวตามมา
  8. เกิดจากความผิดปกติที่รกเอง เช่น Circumvallate placenta ซึ่งรกชนิดนี้มีเลือดออกบริเวณริมรกและอาจเกิดภาวะลอกตัวก่อนกำหนด, Chorihemangioma เนื้องอกชนิดนี้พบว่ามีเลือดออกได้ง่ายจนเกิดภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด
  9. เกิดจากสารปัจจัยเสี่ยงบางอย่าง เช่น การสูบบุหรี่ (เชื่อว่าทำให้เกิด Decidual necrosis มีรายงานพบว่า ถ้าคุณแม่สูบบุหรี่มากกว่า 1 มวนต่อวัน จะพบอุบัติการณ์ของภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนดสูงขึ้น), การดื่มแอลกอฮอล์ (มีรายงานว่าการดื่มแอลกอฮอล์มาก ๆ จะมีความสัมพันธ์กับรกลอกตัวก่อนกำหนด), การเสพโคเคน (พบว่าจะเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด), ขาดสารอาหาร อย่างการขาดกรดโฟลิก (ยังมีรายงานที่ขัดแย้งกันอยู่ในเรื่องนี้ คือพบว่าการขาดกรดโฟลิกมีทั้งมีและไม่มีความสัมพันธ์กับการเกิดภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด)
  10. คุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีอายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป (บางข้อมูลระบุว่า การเกิดภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนดนั้นไม่มีความสัมพันธ์กับอายุของมารดา)
  11. คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์แฝด

การวินิจฉัยภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด

แพทย์จะเริ่มวินิจฉัยจากประวัติทางการแพทย์ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ตามที่กล่าวมาจะช่วยได้มาก อย่างไรก็ตาม แม้ว่าไม่พบปัจจัยก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่เกิดภาวะดังกล่าว ถ้าหากว่าคุณแม่มีเลือดออกทางช่องคลอดและยังไม่ครบกำหนดคลอด ร่วมกับมีอาการเจ็บครรภ์และมดลูกหดรัดตัวถี่ ในส่วนของการตรวจร่างกายนั้น แพทย์จะพบว่ามดลูกเกิดการหดรัดตัวเป็นพัก ๆ หรือหดตัวแข็งเกือบตลอดเวลา คลำท่าหรือตัวทารกได้ไม่ชัดเจนเนื่องจากท้องแข็งตึง อาจฟังได้ยินเสียงหัวใจของทารกเต้นผิดปกติ ในกรณีที่คุณแม่และทารกแสดงอาการชัดเจน การวินิจฉัยมักจะไม่มีปัญหา แต่ในรายที่แสดงอาการน้อย ๆ อาจต้องใช้การตรวจอัลตราซาวนด์เพื่อช่วยวินิจฉัยเพิ่มเติมด้วย

แพทย์จะยังไม่ตรวจภายในจนกว่าจะได้รับการตรวจด้วยอัลตราซาวนด์ เพราะแพทย์จะต้องแยกสาเหตุภาวะรกเกาะต่ำให้ได้ก่อน เนื่องจากสตรีตั้งครรภ์ที่มีเลือดออกในช่วงหลังของการตั้งครรภ์ อาจเกิดภาวะรกเกาะต่ำก็ได้ โดยมักจะไม่มีอาการเจ็บครรภ์คลอดเหมือนภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด เพราะถ้าหากคุณแม่เป็นรกเกาะต่ำแล้วไปตรวจภายในเลย จะทำให้เลือดออกมากจนเป็นอันตรายต่อทั้งชีวิตคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ได้ ซึ่งในภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนดนั้น ภาพจากอัลตราซาวนด์จะพบว่ารกอยู่ในตำแหน่งปกติ (ด้านบนของมดลูก) แต่รกหนาตัวมากกว่าปกติ และเห็นมีเลือดออกหลังรก (หากเป็นภาวะรกเกาะต่ำจะเห็นรกอยู่บริเวณส่วนล่างของมดลูกหรือคลุมปากมดลูกเอาไว้) หลังจากวินิจฉัยได้แล้วและตัดสาเหตุรกเกาะต่ำออกไป แพทย์จะตรวจภายในเพื่อประเมินสภาพของปากมดลูกดูว่า ปากมดลูกเปิดมากน้อยเพียงใด เพื่อจะได้เตรียมการวางแผนการดูแลคุณแม่และทารกต่อไป

อาการรกลอกตัวก่อนกำหนด

“การตกเลือดเนื่องจากรกลอกตัวก่อนกำหนดหรือจากรกเกาะต่ำนั้น แพทย์จะต้องวินิจฉัยให้ได้ก่อน เพราะการรักษานั้นผิดกัน ถ้าคุณแม่มีเลือดออกในระยะหลังของการตั้งครรภ์จะต้องรีบไปพบแพทย์หรือไปโรงพยาบาลโดยด่วน พร้อมกับงดน้ำและอาหารไว้ด้วย เนื่องจากหากเกิดภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนดหรือมีเลือดออกอย่างรุนแรง อาจจะต้องเข้ารับการผ่าตัดหรือต้องให้คลอดในทันที”

ในส่วนของการพยากรณ์โรคของคุณแม่นั้นจะขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของรกที่ลอกตัว หากรกลอกตัวไม่มาก อาจไม่มีอาการผิดปกติแสดงออกมาให้เห็น การพยากรณ์โรคก็จะดีขึ้น แต่หากรกมีการลอกตัวมากหรือลอกตัวทั้งหมด คุณแม่จะมีอาการรุนแรงมาก การพยากรณ์ของโรคก็จะไม่ดี เพราะมดลูกจะหดรัดตัวถี่มาก อีกทั้งจะมีสารที่ยับยั้งการแข็งตัวของเลือดกระจายเข้าไปในกระแสเลือด จึงทำให้เลือดออกไม่หยุดทั้งร่างกาย และทำให้มดลูกหดรัดตัวไม่ดีด้วย ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อชีวิตของคุณแม่อย่างยิ่ง

ส่วนการพยากรณ์โรคของทารกที่คลอดออกมาเมื่อคุณแม่มีภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนดจะขึ้นอยู่กับปัจจัย 2 อย่าง คือ ระดับความรุนแรงของรกที่ลอกตัวและอายุของทารกในครรภ์ เหตุการณ์จะเลวร้ายที่สุดหากรกเกิดลอกตัวทั้งหมดและอายุทารกในครรภ์ยังน้อยอยู่ เพราะทารกจะเสียชีวิตจากการขาดออกซิเจนและปอดยังไม่สามารถทำงานได้ แม้จะมีการผ่าตัดทำคลอดช่วยรักษาอย่างรวดเร็วก็ตาม แต่หากรกยังลอกตัวไม่มากและอายุครรภ์มากขึ้นมาหน่อย การช่วยเหลือโดยการให้คลอดอย่างรวดเร็วหรือผ่าตัดทำคลอดก็สามารถช่วยชีวิตของทารกให้มีโอกาสรอดได้มากขึ้น

การรักษารกลอกตัวก่อนกำหนด

หาแพทย์วินิจฉัยว่าคุณแม่เป็นโรคนี้จะต้องรีบรักษาในทันที รอไม่ได้เลยครับ ถ้ายังตรวจพบว่าทารกในครรภ์ยังมีชีวิตอยู่ แพทย์มักจะผ่าตัดทำคลอดให้ แต่ถ้าทารกเสียชีวิตแล้วก็อาจจะรอให้คลอดออกมาเองโดยดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันอาการช็อกจากการตกเลือดภายในมดลูกและการตกเลือดหลังคลอด ในบางรายแม้ว่าทารกจะเสียชีวิตไปแล้ว แต่คุณแม่มีอาการของโรคที่รุนแรงหรือมีเลือดออกมาก อาจต้องมีการให้เลือดทดแทนและทำการผ่าตัดทำคลอดเพื่อช่วยเหลือชีวิตคุณแม่เอาไว้ก่อน

สำหรับการรักษาทั่วไปนั้น แพทย์จะให้น้ำเกลือ เตรียมให้เลือด ให้ออกซิเจน, ตรวจติดตามการเต้นของหัวใจทารก, แก้ภาวะเลือดแข็งตัวผิดปกติที่เป็นสาเหตุให้เลือดออกมากผิดปกติ, เจาะถุงน้ำคร่ำในกรณีที่ปากมดลูกเปิดมากแล้วหรือทารกในครรภ์เสียชีวิตแล้ว เพื่อให้คลอดออกมาทางช่องคลอด หากทารกอยู่ในภาวะเครียดหรือผิดปกติ และคาดว่าจะต้องใช้เวลาอีกนานหากจะให้คลอดทางช่องคลอด แพทย์อาจตัดสินใจผ่าตัดทำคลอดได้

ส่วนในรายที่เลือดออกไม่มากและทารกยังแข็งแรงดี (ได้ยินเสียงหัวใจของทารกเป็นปกติ) แพทย์จะให้คุณแม่นอนพักในโรงพยาบาลจนกว่าเลือดจะหยุดไหล หลังจากนั้นแพทย์จะอนุญาตให้กลับบ้านได้ และนัดมาตรวจดูอาการอย่างใกล้ชิด

ภาวะแทรกซ้อนของรกลอกตัวก่อนกำหนด

  • ผลต่อคุณแม่ ได้แก่ การตกเลือด, เกิดภาวะมีการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ ทำให้เลือดที่ออกหยุดช้าหรือไหลไม่หยุด (พบได้ประมาณ 30% ในรายที่มีอาการรุนแรง), เสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนดหรือถูกผ่าตัดทำคลอดโดยด่วน, การตกเลือดหลังคลอด, เสี่ยงต่อการถูกตัดมดลูก หากไม่สามารถควบคุมภาวะเลือดได้ หลังจากรักษาด้วยยาอย่างเต็มที่แล้วและอาการเลือดออกยังไม่ดีขึ้น (เนื่องจากมดลูกหดรัดตัวไม่ดี จึงทำให้มีเลือดออกมาหลังการคลอด), อาจเกิดภาวะช็อกจากการเสียเลือดมาก หากรักษาไม่ทัน อาจทำให้คุณแม่และทารกในครรภ์เสียชีวิต (พบได้ประมาณ 6%), ในบางรายอาจเกิดภาวะไตวายเฉียบพลันแทรกซ้อนได้ (พบได้ประมาณ 1-4% ในรายที่มีอาการรุนแรง), เยื่อบุโพรงมดลูกอักเสบในระยะหลังคลอด (เนื่องจากการทำสูติศาสตร์หัตถการเพิ่มขึ้นและภูมิคุ้มกันร่างกายลดลงเนื่องจากการเสียเลือด), ผลเสียอื่นจากการได้รับเลือดทดแทนมาก ๆ เช่น อาจติดเชื้อไรรัสตับอักเสบ ฯลฯ
  • ผลต่อทารก ได้แก่ การคลอดก่อนกำหนด เนื่องจากโรคครรภ์เป็นพิษและโรคความดันโลหิตสูง, ทารกขาดออกซิเจนจากการที่มดลูกหดรัดตัวมากเกินไป จนอาจทำให้เกิดภาวะผิดปกติต่าง ๆ หลังการคลอด เช่น สมองพิการ นอกจากนี้ทารกยังมีโอกาสคลอดก่อนกำหนดและเสียชีวิตจากการขาดออกซิเจนอย่างรุนแรงหรือจากการคลอดก่อนกำหนดเนื่องจากอายุครรภ์ที่อ่อนมาก ๆ ได้ (ในกรณีนี้พบได้ประมาณ 12%)

การดูแลตนเองเมื่อเกิดภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด

ภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนดเป็นภาวะที่อันตราย หากคุณแม่มีเลือดออกและมีอาการเจ็บครรภ์ผิดปกติหรือประสบอุบัติเหตุ ต้องรีบไปพบแพทย์ทันที พร้อมกับงดน้ำและอาหารไว้ด้วย เพราะในบางครั้งอาจต้องได้รับการผ่าตัดทำคลอดฉุกเฉินเพื่อช่วยชีวิตทารก ซึ่งจะช่วยลดภาวะแทรกซ้อนจากการสำลักอาหารและน้ำของคุณแม่ในขณะใช้ยาสลบในการผ่าตัดได้

วิธีป้องกันการเกิดรกลอกตัวก่อนกำหนด

  • การดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ไม่สูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์
  • ระมัดระวังการเกิดอุบัติเหตุต่าง ๆ ในระหว่างการตั้งครรภ์ให้มาก ๆ เพื่อไม่ให้เกิดการกระทบกระเทือนบริเวณหน้าท้อง
  • ควรระวังไม่ให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูงในระหว่างการตั้งครรภ์
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2.  “รกลอกตัวก่อนกำหนด (Abruptio placenta)”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  หน้า 909.
  2. หนังสือ 40 สัปดาห์ พัฒนาครรภ์คุณภาพ.  “รกลอกตัวก่อนกำหนด”.  (รศ.พญ.สายฝน – นพ.วิชัย ชวาลไพบูลย์).  หน้า 162.
  3. หนังสือคู่มือตั้งครรภ์และเตรียมคลอด.  “รกลอกตัวก่อนกำหนด (abruptio placenta)”.  (ศ. (คลินิก) นพ.สุวชัย อินทรประเสริฐ).  หน้า 182.
  4. เอกสารประกอบการสอนวิชา การพยาบาลมารดา ทารก และผดุงครรภ์ 2.  “การพยาบาลหญิงตั้งครรภ์ที่ตกเลือดก่อนคลอด และการพยาบาลหญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะเสี่ยง”.  (อ.สุพัตรา สินธุบัว).
  5. หาหมอดอทคอม.  “ภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด (Placental abruption or Abruptio placentae)”.  (รองศาสตราจารย์ พญ.ประนอม บุพศิริ).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : haamor.com.  [19 ธ.ค. 2015].

ภาพประกอบ : www.sharinginhealth.ca, myhealth.alberta.ca, pregnantpills.com

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด