รกลอกตัวก่อนกำหนด
รกลอกตัวก่อนกำหนด (Abruptio placenta หรือ Placental abruption) หมายถึง ภาวะที่รกซึ่งเกาะอยู่บริเวณส่วนบนของโพรงมดลูกในตำแหน่งปกติ แต่เกิดมีโรคหรือมีภาวะแทรกซ้อนบางอย่าง เช่น ความดันโลหิต ครรภ์เป็นพิษสูง ครรภ์ถูกกระทบกระเทือน หรือสาเหตุอื่น ๆ ที่ในปัจจุบันยังไม่ทราบแน่ชัด จนทำให้รกเกิดการลอกตัวจากผนังมดลูกก่อนถึงกำหนดวันคลอดหรือก่อนที่คุณแม่จะเจ็บท้องคลอด ทำให้มีเลือดออกระหว่างผนังมดลูกกับตัวรก เมื่อมีเลือดออกมากก็จะทำให้รกลอกตัวจากผนังมดลูกมากขึ้น
ภาวะนี้เป็นภาวะที่ร้ายแรงซึ่งพบได้ไม่บ่อยนัก หากคุณแม่ตั้งครรภ์ไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างทันท่วงทีหรือแพทย์วินิจฉัยโรคได้ช้า ก็จะเป็นอันตรายต่อทั้งคุณแม่และทารกในครรภ์อย่างมาก เพราะมีโอกาสจะเสียชีวิตได้ทั้งคู่ และไม่ว่ารกจะลอกตัวเพียงบางส่วนหรือทั้งหมด จะทำให้มีเลือดออกจากตำแหน่งที่รกเกาะไปแทรกอยู่ระหว่างถุงน้ำคร่ำกับผนังมดลูก แล้วไหลผ่านปากมดลูกออกสู่ช่องคลอด แต่ก็ไม่เสมอไปครับ เพราะบางครั้งเลือดอาจจะขังอยู่บริเวณหลังรกเท่านั้นก็ได้ จึงไม่ไหลออกทางช่องคลอด โดยสามารถแบ่งออกเป็น 3 ชนิด คือ
- ภาวะรกลอกตัวแบบไม่เปิดเผย (Concealed type หรือ Internal hemorrhage) คือ เลือดที่ออกมาจะคั่งอยู่หลังรก ไม่ไหลออกมาทางช่องคลอดให้เห็นอย่างชัดเจน พบได้น้อยกว่าชนิดที่สอง คือพบได้ประมาณ 20-35%
- ภาวะรกลอกตัวแบบเปิดเผย (Revealed type หรือ external hemorrhage) คือ ภาวะที่รกลอกตัวแล้วเลือดไหลเซาะระหว่างเยื่อถุงน้ำคร่ำกับผนังมดลูกและไหลออกมาทางปากมดลูกและช่องคลอด คุณแม่จะเห็นเลือดออกมาทางช่องคลอดอย่างชัดเจน ทำให้แพทย์วินิจฉัยโรคได้ง่าย พบได้บ่อยที่สุดประมาณ 65-80%
- ภาวะรกลอกตัวแบบผสม (Mixed type หรือ Combined hemorrhage) เป็นชนิดที่พบได้มากที่สุด เชื่อว่าเริ่มแรกเป็นชนิดภาวะรกลอกตัวแบบไม่เปิดเผย เลือดที่ออกจะแทรกอยู่ระหว่างรกกับผนังมดลูก เมื่อเลือดออกมามากขึ้นจึงสามารถเซาะแทรกถุงน้ำคร่ำกับผนังมดลูกแล้วผ่านออกมาทางปากมดลูกได้
ภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนดเป็นภาวะที่พบได้ตั้งแต่คุณแม่มีอายุครรภ์ 20 สัปดาห์ขึ้นไปจนถึงก่อนทารกคลอด และพบได้มากในคุณแม่ที่มีอายุครรภ์มากกว่า 7 เดือนขึ้นไป โดยภาวะนี้จะพบได้ประมาณ 1 ใน 200 ของการตั้งครรภ์ทั้งหมด และจะพบได้บ่อยขึ้นในคุณแม่ที่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น มีบุตรมาแล้วหลายคน มีความดันโลหิตสูง ครรภ์เป็นพิษ ได้รับอุบัติเหตุที่รุนแรงอย่างฉับพลัน ฯลฯ โดยภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนดสามารถแบ่งตามระดับรุนแรงได้ดังนี้
- ระดับที่ไม่แสดงอาการ คุณแม่จะไม่มีอาการปวดหรือเจ็บท้อง ไม่มีเลือดออก แพทย์สามารถวินิจฉัยได้หลังการคลอด
- รกลอกตัวเล็กน้อย คุณแม่จะมีอาการปวดท้องเล็กน้อยและมีเลือดออกเล็กน้อย รกส่วนใหญ่ยังทำงานได้ตามปกติ การรักษาที่ดีที่สุดคือการให้คุณแม่นอนพักผ่อนให้มาก ๆ ซึ่งการตรวจอัลตราซาวนด์จะช่วยบอกความรุนแรงและสุขภาพของทารกในครรภ์ได้ ถ้าเกิดภาวะนี้ในช่วงใกล้คลอด แพทย์อาจต้องกระตุ้นให้เกิดการเจ็บครรภ์และคลอดโดยเร็ว
- รกลอกตัวปานกลาง รกจะลอกตัวเพียงบางส่วนประมาณ 1 ใน 4 หรือมีเลือดออกทางช่องคลอดประมาณ 0.5-1 ลิตร คุณแม่จะมีอาการปวดท้องรุนแรงมากขึ้น กดเจ็บที่มดลูก ความดันโลหิตเปลี่ยนแปลง มีการเต้นของหัวใจทารกผิดปกติ จำเป็นต้องมีการให้เลือดทดแทน ถ้ารกลอกตัวในระดับนี้ในระยะใกล้คลอด แพทย์จำเป็นต้องผ่าตัดทำคลอด
- รกลอกตัวรุนแรง เป็นภาวะฉุกเฉินที่เป็นอันตรายต่อทั้งชีวิตของแม่และลูกในครรภ์ ซึ่งจะพบได้ประมาณ 20-25% ของภาวะลอกตัวทั้งหมด โดยรกจะลอกตัวมากกว่า 2 ใน 3 หรือลอกตัวทั้งหมด เลือดจึงออกมากได้ถึง 2 ลิตร คุณแม่จะมีอาการปวดท้องรุนแรงมาก มดลูกหดรัดตัวอยู่ตลอดเวลา การแข็งตัวของเลือดเสียไป คุณแม่จะเสียเลือดมากจนมีอาการช็อกหรือหมดสติ จึงจำเป็นต้องได้รับเลือดให้ทันท่วงทีและผ่าตัดทำคลอดฉุกเฉินเพื่อรักษาชีวิตของคุณแม่เอาไว้ ถ้ารกลอกตัวรุนแรงมาก ทารกมักจะเสียชีวิตในครรภ์
อาการรกลอกตัวก่อนกำหนด
คุณแม่จะมีเลือดออกทางช่องคลอดหลังการตั้งครรภ์ 20 สัปดาห์ไปแล้ว (เลือดออกมากหรือน้อยจะขึ้นอยู่กับระดับของการลอกตัวของรก ในบางรายอาจไม่มีเลือดออกมาให้เห็นเลยก็ได้) ร่วมกับมีอาการปวดท้องและท้องเกร็งแข็งเป็นพัก ๆ คล้ายการคลอดบุตร (อาการปวดท้องหรือเจ็บครรภ์มีตั้งแต่ไม่มากนักจนถึงมีอาการปวดอย่างรุนแรง ขึ้นอยู่กับระดับของการลอกตัวของรก) ถ้าเป็นน้อยทารกในครรภ์จะยังมีชีวิตอยู่ได้ แต่ถ้าเป็นมากหรือมีเลือดออกรุนแรงคุณแม่จะมีอาการซีด ตัวเย็น เหงื่อออก ชีพจรเต้นเร็ว ความดันตก ใช้เครื่องฟังตรวจเสียงหัวใจของทารกในท้องจะไม่ได้ยิน เนื่องจากทารกเสียชีวิตแล้ว และถ้าคลอดออกมาคุณแม่อาจมีอาการตกเลือดอย่างรุนแรง
เมื่อแพทย์ตรวจร่างกายจะพบว่า มดลูกมีการหดรัดตัวเป็นพัก ๆ ไปจนกระทั่งมีมดลูกหดรัดตัวแข็งเกือบตลอดเวลา (Tetanic contraction) คลำท่าหรือตัวทารกได้ไม่ชัดเจน อาจฟังได้ยินเสียงหัวใจของทารกเต้นผิดปกติหรือบางครั้งก็ไม่ได้ยินเลย เนื่องจากทารกเสียชีวิตแล้ว หากเหตุการณ์นี้ดำเนินต่อไปโดยไม่ได้รับการแก้ไข อาจตรวจพบจุดเลือดออกตามแขนขาของสตรีตั้งครรภ์ เนื่องจากระบบการแข็งตัวของเลือดเกิดเสียไป
สาเหตุของภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด
ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของการเกิดภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด แต่มีปัจจัยชักนำหรือปัจจัยเสี่ยงดังต่อไปนี้
- คุณแม่เคยมีประวัติภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนดในครรภ์ก่อน จากการศึกษาพบว่าคุณแม่ตั้งครรภ์จะเกิดภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนดมากขึ้นตามจำนวนครั้งของการตั้งครรภ์ที่เพิ่มขึ้น โดยคุณแม่ที่มีภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนดในครรภ์แรกจะมีแนวโน้มเกิดซ้ำได้อีกในครรภ์ต่อไปประมาณ 4-12% และหากเกิดภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนดในการตั้งครรภ์ 2 ครั้งแรก โอกาสที่จะเกิดซ้ำในการตั้งครรภ์ครั้งที่ 3 ก็สูงมากขึ้นเป็น 25%
- คุณแม่มีภาวะครรภ์เป็นพิษและมีความดันโลหิตสูงในขณะตั้งครรภ์ เป็นสาเหตุที่ชัดเจนและพบได้บ่อยที่สุด โดยอุบัติการณ์ของภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนดจะเพิ่มขึ้นเป็น 2.4 เท่า ซึ่งพบสูงสุดในผู้ป่วย eclampsia ประมาณ 24% ส่วนในรายที่มีภาวะความดันโลหิตสูงเรื้อรัง (CHT) พบได้ประมาณ 10% และในผู้ป่วย preeclampsia พบได้ประมาณ 2-3%
- คุณแม่ได้รับอุบัติเหตุรุนแรงฉับพลันหรือเกิดการกระทบกระเทือนบริเวณหน้าท้องในขณะตั้งครรภ์ เช่น หกล้ม ถูกกระแทกที่หน้าท้อง การกระแทกกระเทือนจากการนั่งรถ หรืออุ้มลูกคนโต ฯลฯ เป็นสาเหตุที่พบได้ไม่บ่อย การกระทบกระเทือนบริเวณหน้าท้องแม้จะไม่รุนแรงนัก แต่อาจมีผลทำให้รกลอกตัวก่อนกำหนดได้ โดยมักจะเกิดขึ้นภายใน 24 ชั่วโมง และส่วนใหญ่จะมีอาการรุนแรง
- การลดขนาดอย่างฉับพลันของมดลูกขนาดใหญ่ เช่น ในครรภ์แฝดน้ำ (Polyhydramnios) ที่ถุงน้ำคร่ำแตกแล้วน้ำคร่ำไหลออกมาอย่างรวดเร็ว ในถุงน้ำคร่ำแตกก่อนครบกำหนดคลอด หรือในครรภ์แฝดที่คลอดแฝดพี่อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ยังมีหลักฐานที่ระบุว่าน้ำเดินในครรภ์ก่อนกำหนดจะเพิ่มความเสี่ยงของรกลอกตัวก่อนกำหนดถึง 3 เท่า
- สายสะดือเด็กสั้น เมื่อทารกเคลื่อนต่ำลงมาตามกลไกของการคลอด สายสะดืออาจไปดึงรกจนเกิดการลอกตัวได้
- ผลจากหัตถการของแพทย์ (Iatrogenic trauma) การหมุนกลับตัวเด็กทางหน้าท้อง (external cephalic version) อาจทำให้สายสะดือพันคอหรือแขนขาได้ จนสายสะดือสั้นลงหรือถูกดึงรั้งไว้จนเกิดการลอกตัว นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า การเจาะเลือดสายสะดือทารก (Cordocentesis) อาจทำให้เกิดรกลอกตัวก่อนกำหนดได้เช่นกัน โดยมักจะเกิดขึ้นภายใน 24 ชั่วโมง และส่วนใหญ่จะมีอาการรุนแรง
ความผิดปกติหรือเนื้องอกของมดลูก (Myoma uteri) โดยเฉพาะในกรณีที่รกเกาะอยู่บริเวณเนื้องอกของมดลูก - การออกแรงกดต่อหลอดเลือดเวนาคาวา (Inferior vena cava) เพราะเชื่อว่าจะทำให้มีการเพิ่มความดันใน Intervillous space และเกิดภาวะรกลอกตัวตามมา
- เกิดจากความผิดปกติที่รกเอง เช่น Circumvallate placenta ซึ่งรกชนิดนี้มีเลือดออกบริเวณริมรกและอาจเกิดภาวะลอกตัวก่อนกำหนด, Chorihemangioma เนื้องอกชนิดนี้พบว่ามีเลือดออกได้ง่ายจนเกิดภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด
- เกิดจากสารปัจจัยเสี่ยงบางอย่าง เช่น การสูบบุหรี่ (เชื่อว่าทำให้เกิด Decidual necrosis มีรายงานพบว่า ถ้าคุณแม่สูบบุหรี่มากกว่า 1 มวนต่อวัน จะพบอุบัติการณ์ของภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนดสูงขึ้น), การดื่มแอลกอฮอล์ (มีรายงานว่าการดื่มแอลกอฮอล์มาก ๆ จะมีความสัมพันธ์กับรกลอกตัวก่อนกำหนด), การเสพโคเคน (พบว่าจะเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด), ขาดสารอาหาร อย่างการขาดกรดโฟลิก (ยังมีรายงานที่ขัดแย้งกันอยู่ในเรื่องนี้ คือพบว่าการขาดกรดโฟลิกมีทั้งมีและไม่มีความสัมพันธ์กับการเกิดภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด)
- คุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีอายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป (บางข้อมูลระบุว่า การเกิดภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนดนั้นไม่มีความสัมพันธ์กับอายุของมารดา)
- คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์แฝด
การวินิจฉัยภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด
แพทย์จะเริ่มวินิจฉัยจากประวัติทางการแพทย์ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ตามที่กล่าวมาจะช่วยได้มาก อย่างไรก็ตาม แม้ว่าไม่พบปัจจัยก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่เกิดภาวะดังกล่าว ถ้าหากว่าคุณแม่มีเลือดออกทางช่องคลอดและยังไม่ครบกำหนดคลอด ร่วมกับมีอาการเจ็บครรภ์และมดลูกหดรัดตัวถี่ ในส่วนของการตรวจร่างกายนั้น แพทย์จะพบว่ามดลูกเกิดการหดรัดตัวเป็นพัก ๆ หรือหดตัวแข็งเกือบตลอดเวลา คลำท่าหรือตัวทารกได้ไม่ชัดเจนเนื่องจากท้องแข็งตึง อาจฟังได้ยินเสียงหัวใจของทารกเต้นผิดปกติ ในกรณีที่คุณแม่และทารกแสดงอาการชัดเจน การวินิจฉัยมักจะไม่มีปัญหา แต่ในรายที่แสดงอาการน้อย ๆ อาจต้องใช้การตรวจอัลตราซาวนด์เพื่อช่วยวินิจฉัยเพิ่มเติมด้วย
แพทย์จะยังไม่ตรวจภายในจนกว่าจะได้รับการตรวจด้วยอัลตราซาวนด์ เพราะแพทย์จะต้องแยกสาเหตุภาวะรกเกาะต่ำให้ได้ก่อน เนื่องจากสตรีตั้งครรภ์ที่มีเลือดออกในช่วงหลังของการตั้งครรภ์ อาจเกิดภาวะรกเกาะต่ำก็ได้ โดยมักจะไม่มีอาการเจ็บครรภ์คลอดเหมือนภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด เพราะถ้าหากคุณแม่เป็นรกเกาะต่ำแล้วไปตรวจภายในเลย จะทำให้เลือดออกมากจนเป็นอันตรายต่อทั้งชีวิตคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ได้ ซึ่งในภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนดนั้น ภาพจากอัลตราซาวนด์จะพบว่ารกอยู่ในตำแหน่งปกติ (ด้านบนของมดลูก) แต่รกหนาตัวมากกว่าปกติ และเห็นมีเลือดออกหลังรก (หากเป็นภาวะรกเกาะต่ำจะเห็นรกอยู่บริเวณส่วนล่างของมดลูกหรือคลุมปากมดลูกเอาไว้) หลังจากวินิจฉัยได้แล้วและตัดสาเหตุรกเกาะต่ำออกไป แพทย์จะตรวจภายในเพื่อประเมินสภาพของปากมดลูกดูว่า ปากมดลูกเปิดมากน้อยเพียงใด เพื่อจะได้เตรียมการวางแผนการดูแลคุณแม่และทารกต่อไป
“การตกเลือดเนื่องจากรกลอกตัวก่อนกำหนดหรือจากรกเกาะต่ำนั้น แพทย์จะต้องวินิจฉัยให้ได้ก่อน เพราะการรักษานั้นผิดกัน ถ้าคุณแม่มีเลือดออกในระยะหลังของการตั้งครรภ์จะต้องรีบไปพบแพทย์หรือไปโรงพยาบาลโดยด่วน พร้อมกับงดน้ำและอาหารไว้ด้วย เนื่องจากหากเกิดภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนดหรือมีเลือดออกอย่างรุนแรง อาจจะต้องเข้ารับการผ่าตัดหรือต้องให้คลอดในทันที”
ในส่วนของการพยากรณ์โรคของคุณแม่นั้นจะขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของรกที่ลอกตัว หากรกลอกตัวไม่มาก อาจไม่มีอาการผิดปกติแสดงออกมาให้เห็น การพยากรณ์โรคก็จะดีขึ้น แต่หากรกมีการลอกตัวมากหรือลอกตัวทั้งหมด คุณแม่จะมีอาการรุนแรงมาก การพยากรณ์ของโรคก็จะไม่ดี เพราะมดลูกจะหดรัดตัวถี่มาก อีกทั้งจะมีสารที่ยับยั้งการแข็งตัวของเลือดกระจายเข้าไปในกระแสเลือด จึงทำให้เลือดออกไม่หยุดทั้งร่างกาย และทำให้มดลูกหดรัดตัวไม่ดีด้วย ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อชีวิตของคุณแม่อย่างยิ่ง
ส่วนการพยากรณ์โรคของทารกที่คลอดออกมาเมื่อคุณแม่มีภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนดจะขึ้นอยู่กับปัจจัย 2 อย่าง คือ ระดับความรุนแรงของรกที่ลอกตัวและอายุของทารกในครรภ์ เหตุการณ์จะเลวร้ายที่สุดหากรกเกิดลอกตัวทั้งหมดและอายุทารกในครรภ์ยังน้อยอยู่ เพราะทารกจะเสียชีวิตจากการขาดออกซิเจนและปอดยังไม่สามารถทำงานได้ แม้จะมีการผ่าตัดทำคลอดช่วยรักษาอย่างรวดเร็วก็ตาม แต่หากรกยังลอกตัวไม่มากและอายุครรภ์มากขึ้นมาหน่อย การช่วยเหลือโดยการให้คลอดอย่างรวดเร็วหรือผ่าตัดทำคลอดก็สามารถช่วยชีวิตของทารกให้มีโอกาสรอดได้มากขึ้น
การรักษารกลอกตัวก่อนกำหนด
หาแพทย์วินิจฉัยว่าคุณแม่เป็นโรคนี้จะต้องรีบรักษาในทันที รอไม่ได้เลยครับ ถ้ายังตรวจพบว่าทารกในครรภ์ยังมีชีวิตอยู่ แพทย์มักจะผ่าตัดทำคลอดให้ แต่ถ้าทารกเสียชีวิตแล้วก็อาจจะรอให้คลอดออกมาเองโดยดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันอาการช็อกจากการตกเลือดภายในมดลูกและการตกเลือดหลังคลอด ในบางรายแม้ว่าทารกจะเสียชีวิตไปแล้ว แต่คุณแม่มีอาการของโรคที่รุนแรงหรือมีเลือดออกมาก อาจต้องมีการให้เลือดทดแทนและทำการผ่าตัดทำคลอดเพื่อช่วยเหลือชีวิตคุณแม่เอาไว้ก่อน
สำหรับการรักษาทั่วไปนั้น แพทย์จะให้น้ำเกลือ เตรียมให้เลือด ให้ออกซิเจน, ตรวจติดตามการเต้นของหัวใจทารก, แก้ภาวะเลือดแข็งตัวผิดปกติที่เป็นสาเหตุให้เลือดออกมากผิดปกติ, เจาะถุงน้ำคร่ำในกรณีที่ปากมดลูกเปิดมากแล้วหรือทารกในครรภ์เสียชีวิตแล้ว เพื่อให้คลอดออกมาทางช่องคลอด หากทารกอยู่ในภาวะเครียดหรือผิดปกติ และคาดว่าจะต้องใช้เวลาอีกนานหากจะให้คลอดทางช่องคลอด แพทย์อาจตัดสินใจผ่าตัดทำคลอดได้
ส่วนในรายที่เลือดออกไม่มากและทารกยังแข็งแรงดี (ได้ยินเสียงหัวใจของทารกเป็นปกติ) แพทย์จะให้คุณแม่นอนพักในโรงพยาบาลจนกว่าเลือดจะหยุดไหล หลังจากนั้นแพทย์จะอนุญาตให้กลับบ้านได้ และนัดมาตรวจดูอาการอย่างใกล้ชิด
ภาวะแทรกซ้อนของรกลอกตัวก่อนกำหนด
- ผลต่อคุณแม่ ได้แก่ การตกเลือด, เกิดภาวะมีการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ ทำให้เลือดที่ออกหยุดช้าหรือไหลไม่หยุด (พบได้ประมาณ 30% ในรายที่มีอาการรุนแรง), เสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนดหรือถูกผ่าตัดทำคลอดโดยด่วน, การตกเลือดหลังคลอด, เสี่ยงต่อการถูกตัดมดลูก หากไม่สามารถควบคุมภาวะเลือดได้ หลังจากรักษาด้วยยาอย่างเต็มที่แล้วและอาการเลือดออกยังไม่ดีขึ้น (เนื่องจากมดลูกหดรัดตัวไม่ดี จึงทำให้มีเลือดออกมาหลังการคลอด), อาจเกิดภาวะช็อกจากการเสียเลือดมาก หากรักษาไม่ทัน อาจทำให้คุณแม่และทารกในครรภ์เสียชีวิต (พบได้ประมาณ 6%), ในบางรายอาจเกิดภาวะไตวายเฉียบพลันแทรกซ้อนได้ (พบได้ประมาณ 1-4% ในรายที่มีอาการรุนแรง), เยื่อบุโพรงมดลูกอักเสบในระยะหลังคลอด (เนื่องจากการทำสูติศาสตร์หัตถการเพิ่มขึ้นและภูมิคุ้มกันร่างกายลดลงเนื่องจากการเสียเลือด), ผลเสียอื่นจากการได้รับเลือดทดแทนมาก ๆ เช่น อาจติดเชื้อไรรัสตับอักเสบ ฯลฯ
- ผลต่อทารก ได้แก่ การคลอดก่อนกำหนด เนื่องจากโรคครรภ์เป็นพิษและโรคความดันโลหิตสูง, ทารกขาดออกซิเจนจากการที่มดลูกหดรัดตัวมากเกินไป จนอาจทำให้เกิดภาวะผิดปกติต่าง ๆ หลังการคลอด เช่น สมองพิการ นอกจากนี้ทารกยังมีโอกาสคลอดก่อนกำหนดและเสียชีวิตจากการขาดออกซิเจนอย่างรุนแรงหรือจากการคลอดก่อนกำหนดเนื่องจากอายุครรภ์ที่อ่อนมาก ๆ ได้ (ในกรณีนี้พบได้ประมาณ 12%)
การดูแลตนเองเมื่อเกิดภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด
ภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนดเป็นภาวะที่อันตราย หากคุณแม่มีเลือดออกและมีอาการเจ็บครรภ์ผิดปกติหรือประสบอุบัติเหตุ ต้องรีบไปพบแพทย์ทันที พร้อมกับงดน้ำและอาหารไว้ด้วย เพราะในบางครั้งอาจต้องได้รับการผ่าตัดทำคลอดฉุกเฉินเพื่อช่วยชีวิตทารก ซึ่งจะช่วยลดภาวะแทรกซ้อนจากการสำลักอาหารและน้ำของคุณแม่ในขณะใช้ยาสลบในการผ่าตัดได้
วิธีป้องกันการเกิดรกลอกตัวก่อนกำหนด
- การดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ไม่สูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์
- ระมัดระวังการเกิดอุบัติเหตุต่าง ๆ ในระหว่างการตั้งครรภ์ให้มาก ๆ เพื่อไม่ให้เกิดการกระทบกระเทือนบริเวณหน้าท้อง
- ควรระวังไม่ให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูงในระหว่างการตั้งครรภ์
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2. “รกลอกตัวก่อนกำหนด (Abruptio placenta)”. (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ). หน้า 909.
- หนังสือ 40 สัปดาห์ พัฒนาครรภ์คุณภาพ. “รกลอกตัวก่อนกำหนด”. (รศ.พญ.สายฝน – นพ.วิชัย ชวาลไพบูลย์). หน้า 162.
- หนังสือคู่มือตั้งครรภ์และเตรียมคลอด. “รกลอกตัวก่อนกำหนด (abruptio placenta)”. (ศ. (คลินิก) นพ.สุวชัย อินทรประเสริฐ). หน้า 182.
- เอกสารประกอบการสอนวิชา การพยาบาลมารดา ทารก และผดุงครรภ์ 2. “การพยาบาลหญิงตั้งครรภ์ที่ตกเลือดก่อนคลอด และการพยาบาลหญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะเสี่ยง”. (อ.สุพัตรา สินธุบัว).
- หาหมอดอทคอม. “ภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด (Placental abruption or Abruptio placentae)”. (รองศาสตราจารย์ พญ.ประนอม บุพศิริ). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : haamor.com. [19 ธ.ค. 2015].
ภาพประกอบ : www.sharinginhealth.ca, myhealth.alberta.ca, pregnantpills.com
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)