ยูคาลิปตัส สรรพคุณและประโยชน์ของต้นยูคาลิปตัส 15 ข้อ !

ยูคาลิปตัส สรรพคุณและประโยชน์ของต้นยูคาลิปตัส 15 ข้อ !

ยูคาลิปตัส

ยูคาลิปตัส ชื่อสามัญ Eucalyptus[4]

ยูคาลิปตัส ชื่อวิทยาศาสตร์ Eucalyptus globulus Labill. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Eucalyptus gigantea Dehnh., Eucalyptus glauca A.Cunn. ex DC., Eucalyptus globulosus St.-Lag., Eucalyptus globulus subsp. globulus, Eucalyptus maidenii subsp. globulus (Labill.) J.B.Kirkp., Eucalyptus perfoliata Desf., Eucalyptus pulverulenta Link) จัดอยู่ในวงศ์ชมพู่ (MYRTACEAE)[1],[2]

สมุนไพรยูคาลิปตัส มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า โกฐจุฬารส น้ำมันเขียว มันเขียว ยูคาลิป (ไทย), อันเยี๊ยะ หนานอัน (จีนกลาง)[1],[2]

หมายเหตุ : ต้นยูคาลิปตัสที่ปลูกกันทั่วไปจะมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Eucalyptus camaldulensis Dehnh. ซึ่งเป็นคนละชนิดกับยูคาลิปตัสที่นำมาใช้ทำยาในบทความนี้ (ชนิดทำยามีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Eucalyptus globulus Labill.)[3]

ลักษณะของยูคาลิปตัส

  • ต้นยูคาลิปตัส จัดเป็นไม้ยืนต้น ลำต้นตั้งตรง มีความสูงได้ประมาณ 10-25 เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มหนาทึบค่อนข้างกลม แตกกิ่งก้านมาก เปลือกต้นบางเรียบเป็นมันและลอกออกง่าย เปลือกต้นเป็นสีน้ำตาลอ่อนปนขาว หรือมีสีเทาสลับสีขาวและสีน้ำตาลแดงเป็นบางแห่ง เปลือกนอกจะแตกร่อนเป็นแผ่น ๆ และหลุดออกจากผิวของลำต้น เมื่อแห้งจะลอกได้ง่าย กิ่งก้านเล็กเป็นเหลี่ยม มีจุดตากลม[1],[2]

ต้นยูคาลิปตัส

เปลือกต้นยูคาลิปตัส

  • ใบยูคาลิปตัส ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับเป็นคู่ ใบห้อยลง ลักษณะของใบเป็นรูปหอก ปลายใบแหลม ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-7 เซนติเมตรและยาวประมาณ 12-30 เซนติเมตร แผ่นใบหนาเป็นสีเขียวอมสีน้ำเงิน มีผงคล้ายแป้งปกคลุม เส้นใบมองเห็นได้ชัดเจน ก้านใบสั้น ก้านใบยาวประมาณ 2 เซนติเมตร[1],[2]

ใบยูคาลิปตัส

  • ดอกยูคาลิปตัส ออกดอกเดี่ยวหรือออกเป็นกระจุกตามง่ามใบ มีดอกประมาณ 2-3 ดอก ดอกเป็นสีขาวหรือสีเหลืองอ่อน มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 4 เซนติเมตร ดอกมีเกสรเพศผู้หลายก้าน ออกดอกเกือบตลอดทั้งปี[1],[2]

ดอกยูคาลิปตัส

รูปดอกยูคาลิปตัส

  • ผลยูคาลิปตัส ผลมีลักษณะเป็นรูปครึ่งวงกลมหรือคล้ายรูปถ้วย ปลายผลแหลม ผลอ่อนเป็นสีเขียว และจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเมื่อแก่ มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.8-2 เซนติเมตร เปลือกผลหนา มีรอยเส้นสี่เหลี่ยม 4 เส้น เมื่อผลแก่ปลายผลจะแยกออก[1],[2]

ผลยูคาลิปตัส

รูปผลยูคาลิปตัส

เมล็ดยูคาลิปตัส

สรรพคุณของยูคาลิปตัส

  1. ใบและเปลือกรากมีรสขมเผ็ด กลิ่นหอม เป็นยาเย็น ออกฤทธิ์ต่อปอด ลำไส้ และทางเดินปัสสาวะ ใช้ใบเป็นยาแก้ไข้ ไข้หวัดติดเชื้อ ไข้หวัดใหญ่ (ใบ)[1],[3]
  2. ใช้เป็นยาแก้ไอ ด้วยการใช้น้ำมันที่กลั่นได้จากใบสด 0.5 มิลลิเมตร (ประมาณ 8 หยด) นำมารับประทานหรือทำเป็นยาอม (ใบ)[2]
  3. น้ำมันยูคาลิปตัสนำมาใช้ทาคอ จะช่วยแก้ไอ หรือใช้อมแก้หวัดคัดจมูก (น้ำมันยูคาลิปตัส)[3]
  4. ช่วยขับเสมหะ ด้วยการใช้น้ำมันที่กลั่นได้จากใบสด 0.5 มิลลิเมตร (ประมาณ 8 หยด) นำมารับประทานหรือทำเป็นยาอม (ใบ)[2],[3]
  5. ช่วยบรรเทาอาการข้ออักเสบ (ใบ)[2]
  6. ช่วยรักษาลำไส้อักเสบ แก้บิด (ใบ)[1]
  7. ช่วยแก้กระเพาะปัสสาวะอักเสบ (ใบ)[1]
  8. ใช้แก้โรคผิวหนัง กลากเกลื้อน ผดผื่นคัน ผิวหนังอักเสบ ติดเชื้อไวรัสบริเวณผิวหนัง (ใบ)[1]
  9. ช่วยแก้ฝีมีหนองอักเสบ ฝีหัวช้าง (ใบ)[1]
  10. ใช้ทาถูนวดตามอวัยวะต่าง ๆ เพื่อแก้อาการฟกช้ำ (น้ำมันยูคาลิปตัส)[3]

หมายเหตุ : การใช้ตาม [1] ให้ใช้ใบยาแห้งครั้งละ 10-15 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทานหรือใช้เข้ากับตำรับยาอื่น ส่วนการใช้ภายนอกให้กะตามความเหมาะสม ส่วนใบสดให้ใช้ครั้งละ 18-30 กรัม[1]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของยูคาลิปตัส

  • ในใบยูคาลิปตัสพบน้ำมันหอมระเหยประมาณ 0.92-2.89% Oleum Eucalypti ประกอบด้วยสาร เช่น Aromadendrene, Cineole, Pinene, Pinocarvon, Pinocarveol, Cuminaldehyde, 1-Acely 1-4 isopropylide-necyclopentene, Quercitrinm Quercetin Rutin ใบพบ Eucalyptin, Tannin และ Guaiacol Globulol.[1]
  • สาร Oleum Eucalypti ความเข้มข้นอยู่ที่ 6% จะสามารถช่วยยับยั้งเชื้อวัณโรค H37, Rv ได้[1]
  • สารที่สกัดได้จากยูคาลิปตัสมีฤทธิ์ขับพยาธิปากขอได้[1]
  • สารสกัดจากยูคาลิปตัส สามารถยับยั้งเชื้อ Staphylo coccus ได้ โดยฤทธิ์ที่ยับยั้งเชื้อได้ขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของสารสกัด[1]
  • สารสกัดจากยูคาลิปตัส สามารถดับพิษจากเชื้อบาดทะยักและเชื้อคอตีบได้ โดยนำสารที่สกัดได้มาทำเป็นยาฉีดให้กระต่ายที่ติดเชื้อบาดทะยักหรือเชื้อคอตีบ ในอัตราส่วน 0.2 มิลลิกรัมต่อ 1 กิโลกรัม พบว่ามีฤทธิ์ช่วยยับยั้งการติดเชื้อดังกล่าวได้ และไม่มีอาการแสดงพิษของเชื้อที่ติดอยู่ในร่างกายเป็นเวลานานถึง 2 สัปดาห์[1]

ข้อควรระวังในการใช้สมุนไพรยูคาลิปตัส

  • น้ำมันที่สกัดได้จากยูคาลิปตัส ห้ามรับประทานเกิน 3.5 ซีซีต่อ 1 ครั้ง เพราะจะทำให้เกิดอาการเป็นพิษต่อร่างกายได้[1]
  • การใช้เกินขนาดจะทำให้เกิดอาการระคายเคืองต่อทางเดินอาหาร[2]

ประโยชน์ของยูคาลิปตัส

  1. ใช้ทำเป็นยาไล่ยุง ฆ่ายุง และแมลง ด้วยการใช้ใบสดประมาณ 1 กำมือ นำมาขยี้ กลิ่นของน้ำมันจะออกมา ซึ่งจะช่วยไล่ยุงและแมลงได้[2]
  2. ใบสามารถนำมาสกัดเป็นน้ำมัน น้ำยาหอมระเหย ไอระเหยแก้หวัด[4]
  3. เนื้อไม้ยูคาลิปตัสสามารถนำมาใช้ทำกระดาษ ใช้เป็นวัสดุก่อสร้าง ทำเสาเข็ม สร้างบ้าน ทำเครื่องเรือน เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้สอยต่าง ๆ ทำรั้ว ทำเสา คอกเลี้ยงสัตว์ นั่งร้านในการก่อสร้าง (แต่ต้องมีการอาบน้ำยาเพื่อรักษาเนื้อไม้ไว้ก่อนถึงจะยืดอายุการใช้งานได้นานยิ่งขึ้น) ฯลฯ[4]
  4. เปลือกไม้นำมาบดให้ละเอียดผสมกับขี้เลื้อยและกาว ใช้ทำเป็นธูป และผสมกำมะถัน ใช้ทำเป็นยากันยุงได้ดี[5]
  5. นำมาใช้เผาถ่าน โดยฟืนจากไม้ยูคาลิปตัสจะให้พลังงานความร้อนสูงถึง 4,800 แคลอรีต่อกรัม ส่วนถ่านไม้ยูคาลิปตัสจะให้พลังงานความร้อน 7,400 แคลอรีต่อกรัม ซึ่งมีความใกล้เคียงกับไม้โกงกางซึ่งเป็นถ่านไม้ชั้นดีที่สุด ฯลฯ[4]

ประโยชน์ของน้ำมันยูคาลิปตัส

ช่วยบรรเทาอาการไอ ภูมิแพ้ หวัด ไข้หวัดใหญ่ บรรเทาอาการคัดจมูก เป็นยาธาตุ แก้อาการปวดศีรษะจากหวัดไซนัส ทำให้หายใจโล่ง ช่วยให้รู้สึกสดชื่น ช่วยแก้อาการเจ็บคอ ช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทาน บรรเทาแผลสด แผลไฟไหม้และแผลติดเชื้อ หรือนำมาใช้ทาถูนวดแก้ปวดกล้ามเนื้อ

วิธีใช้น้ำมันยูคาลิปตัส สามารถนำมาใช้ผสมกับน้ำมันพื้นฐาน น้ำมันนวด และน้ำมันหอมระเหยต่าง ๆ ได้เกือบทุกชนิด เช่น น้ำมันมะกอก น้ำมันเมล็ดมะรุม น้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์ น้ำมันองุ่น น้ำมันโจโจ้บา น้ำมันสวีทอัลมอนด์หรือน้ำมันพืชอื่นที่เป็น Cosmetic grade เป็นต้น (อัตราส่วนการใช้น้ำมันยูคาลิปตัส หากนำมาใช้กับผิวหน้าไม่ควรใช้เกิน 1% ส่วนผิวกายไม่ควรใช้เกิน 3%) หรือใช้หยดลงในอ่างอาบน้ำอุ่นเพื่อช่วยลดอาการหวัด แก้แพ้อากาศ ไซนัส ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อและเมื่อยล้า ใช้ผสมในครีมหรือโลชันนำมาใช้ทาเพื่อลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อและช่วยทำให้แผลหายเร็วขึ้น และใช้ใส่ในโคมไฟฟ้าอโรมาบุหงา หรือผ้าเช็ดหน้า เพื่อไอระเหยจะช่วยลดอาการจามจากการแพ้อากาศหรือเป็นหวัดได้ดี และช่วยทำให้หายใจได้โล่งขึ้น ทำให้เกิดสมาธิที่ดีขึ้น และช่วยขับไล่แมลง เป็นต้น

คำแนะนำในการใช้น้ำมันยูคาลิปตัส ให้ใช้ภายนอก ไม่ควรนำมารับประทาน ห้ามนำมาสูดดมหรือสัมผัสกับผิวหนังโดยตรง แต่ต้องนำมาทำให้เจือจางก่อน เนื่องจากมีความเข้มข้นสูง หากเข้าตาให้รีบล้างออกด้วยน้ำสะอาดหลาย ๆ ครั้งก่อนไปพบแพทย์ ถ้าหากถูกผิวหนังให้รีบล้างออกด้วยน้ำสบู่ มิฉะนั้นอาจเกิดอาการแพ้ได้ และไม่ควรนำมาใช้ในปริมาณมากเกินไป เพราะจะทำให้ปวดศีรษะ ส่วนผู้ที่เป็นโรคลมบ้าหมู โรคความดันโลหิตสูงหรือต่ำ ผู้ป่วยเบาหวานประเภทที่ต้องพึ่งอินซูลิน (เพราะอาจทำให้ระดับน้ำตาลผิดปกติ) ผู้ป่วยเรื้อรังที่มีความผิดปกติเกี่ยวกับตับ ไต กระเพาะอาหาร รวมถึงสตรีมีครรภ์หรืออยู่ระหว่างให้นมบุตรอายุต่ำกว่า 5 ปีก็ไม่ควรนำมาใช้ (ข้อมูลส่วนนี้มาจาก : www.aromahub.com, www.thaiherbweb.com)

เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย.  “ยูคาลิปตัส”.  (วิทยา บุญวรพัฒน์).  หน้า 468.
  2. สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “ยูคาลิป”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/herbs/.  [22 พ.ค. 2014].
  3. ฐานข้อมูลน้ำมันหอมระเหยไทย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.).  “ยูคาลิป”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.tistr.or.th/essentialoils/.  [22 พ.ค. 2014].
  4. งานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, โรงเรียนดาราพิทยาคม ตำบลบ้านดารา อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์.  “ยูคาลิปตัส”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.drpk.ac.th/botany/.  [22 พ.ค. 2014].
  5. โรงเรียนสองแคววิทยาคม.  “ยูคาลิปตัส”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.songkaew.ac.th.  [22 พ.ค. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Eric Hunt, Valter Jacinto | Portugal, naturgucker.de / enjoynature.net, abrotarde, Oranjepiet, Ruud de Block, omprod, Rob Mann, Avis Boutell)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด