ยี่เข่ง
ยี่เข่ง ชื่อสามัญ Crape myrtle, Crape flower, Indian lilac (Yi-Kheng)
ยี่เข่ง ชื่อวิทยาศาสตร์ Lagerstroemia indica L. จัดอยู่ในวงศ์ตะแบก (LYTHRACEAE)
สมุนไพรยี่เข่ง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า คำฮ่อ (ภาคเหนือ), จีหมุ่ยอวย (จีน-แต้จิ๋ว) โดยต้นยี่เข่งนั้นมีถิ่นกำเนิดในประเทศจีนและญี่ปุ่น กระจายพันธุ์ทั่วไปในเขตร้อนและเขตหนาว
ลักษณะของยี่เข่ง
- ต้นยี่เข่ง เป็นต้นไม้ขนาดเล็กหรือไม้พุ่มขนาดใหญ่ สูงประมาณ 3-7 เมตร ขนาดของพุ่มจะกว้างประมาณ 2-4 เมตร มีเปลือกลำต้นเรียบ สีน้ำตาลเป็นมัน มีสะเก็ดขาวลอกเป็นแผ่น ส่วนของผลยี่เข่งมีลักษณะเป็นผลแห้งแตก เปลือกแข็ง รูปถ้วย มีเมล็ดจำนวนมาก
- ใบยี่เข่ง ใบเป็นใบเดี่ยวสีเขียว ลักษณะใบคล้ายรูปไข่ โคนใบจะมน ปลายใบแหลม ขอบใบจะเรียบ ผิวใบจะมีขนสากมือเล็กน้อย โดยขนาดความกว้างของใบประมาณ 0.5-1.5 นิ้ว และยาวประมาณ 1-3 นิ้ว
- ดอกยี่เข่ง จะออกดอกเป็นช่อ ๆ ที่ปลายกิ่ง ส่วนล่างของดอกจะเป็นเส้นกลมเล็ก ๆ ส่วนบนจะบานแผ่ออกเป็นกลีบกลมขอบหยิก ๆ มีรอยย่นยับ มีกลีบประมาณ 6 กลีบ มีเกสรกลางดอกปลายเป็นตุ้มสีเหลืองสด เมื่อดอกบานเต็มที่จะกว้างประมาณ 1.5 นิ้ว ส่วนสีของดอกก็มีสีขาว สีม่วง สีชมพู สีชมพูเข้มคล้ายสีบานเย็น และสีแดง ส่วนมากแล้วเราจะเห็นดอกยี่เข่งในช่วงเดือนสิงหาคมถึงเดือนตุลาคม
ประโยชน์ของยี่เข่ง
- เปลือกต้นยี่เข่งใช้เป็นยาลดไข้ได้ (เปลือกต้น)
- ช่วยทำให้เลือดไหลเวียนได้สะดวกขึ้น (ราก)
- ช่วยแก้อาการปวดฟัน ด้วยการใช้รากยี่เข่งผสมกับเนื้อหมูต้มกับน้ำรับประทาน (ราก)
- เปลือกต้นยี่เข่งมีฤทธิ์เป็นยากระตุ้นกระเพาะอาหาร ส่วนต้นและใบจะมีฤทธิ์ในการยับยั้ง (เปลือกต้น)
- ช่วยแก้บิด จะใช้ใบหรือรากยี่เข่งก็ได้นำมาต้มกับน้ำดื่ม (ใบ, ราก)
- ช่วยแก้โรคหนองใน ด้วยการใช้ดอกแห้ง 3-10 กรัม หรือจะใช้ดอกสด 15-30 กรัมต้มกับน้ำใช้ชะล้าง (ดอกยี่เข่ง)
- ช่วยแก้อาการตกเลือดหลังคลอดบุตร ด้วยการใช้ดอกยี่เข่งสดต้มกับน้ำกินทั้งกาก (ดอกยี่เข่ง)
- ช่วยแก้ผดผื่นคัน ด้วยการใช้ใบสดนำมาต้มกับน้ำแล้วใช้ชะล้าง หรือจะนำมาตำแล้วพอกบริเวณที่เป็นก็ได้ (ใบ)
- ช่วยรักษาบาดแผลสด ด้วยการใช้ใบที่ตากแห้งแล้วนำมาบดเป็นผง แล้วนำมาโรยบริเวณบาดแผล (ใบ)
- ช่วยรักษาแผลฝี แผลหนองที่หนังศีรษะ กลากเกลื้อน ด้วยการใช้ดอกหรือรากแห้ง 3-10 กรัม หรือจะดอกสดหรือรากสดประมาณ 15-30 กรัมก็ได้ นำมาบดผสมกับน้ำส้มสายชูแล้วทาบริเวณที่เป็น หรือจะนำไปต้มกับน้ำใช้ชะล้างหรือรับประทานก็ได้ (ดอกยี่เข่ง, ราก)
- เรานิยมปลูกต้นยี่เข่งไว้เป็นไม้ประดับในบ้านหรือในสวน หรือจะปลูกเป็นแนวรั้วเขตริมทาง เพราะให้ดอกสีชมพูสีสันสดใส อึด ทนแล้ง และดูแลง่าย (ต้นยี่เข่ง)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)