ยี่หุบ สรรพคุณและประโยชน์ของต้นยี่หุบ ดอกยี่หุบ !

ยี่หุบ

ยี่หุบ ชื่อสามัญ Yee hoob[2]

ยี่หุบ ชื่อวิทยาศาสตร์ Magnolia coco (Lour.) DC. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Gwillimia indica Rottler ex DC., Lirianthe coco (Lour.) N.H.Xia & C.Y.Wu, Liriodendron coco Lour., Liriopsis pumila Spach ex Baill., Talauma coco (Lour.) Merr.) จัดอยู่ในวงศ์จำปา (MAGNOLIACEAE)[1]

สมุนไพรยี่หุบ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ยี่หุบหนู (กรุงเทพฯ), ยี่หุบน้อย (เชียงใหม่) เป็นต้น[1]

ลักษณะของยี่หุบ

  • ต้นยี่หุบ เป็นพรรณไม้ที่มีมากในประเทศอินเดีย มีถิ่นกำเนิดอยู่ทางตอนใต้ของประเทศจีน บ้างว่ามีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย อินเดีย และในหมู่เกาะสุมาตรา โดยจัดเป็นไม้พุ่มเตี้ยหรือไม้ยืนต้นขนาดเล็ก ที่มีความสูงของต้นประมาณ 2-4 เมตร แตกกิ่งก้านเป็นพุ่มแหลม แตกกิ่งและใบน้อย เปลือกต้นเกลี้ยงเรียบเป็นสีน้ำตาลปนสีเทา ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการตอนและวิธีการเพาะเมล็ด เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนซุย สามารถทนอยู่ได้ในสภาพดินแฉะ ต้นยี่หุบเป็นพรรณไม้ที่ไม่ชอบแสงแดด จึงเหมาะที่จะปลูกในที่มีแสงแดดแบบรำไร และการปลูกในพื้นที่สูง เช่น ภูเขาหรือบนดอย จะทำให้ออกดอกดก ดอกมีขนาดใหญ่และมีกลีบดอกที่หนากว่า[1],[2],[3],[4],[5]

ต้นยี่หุบ

  • ใบยี่หุบ ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปรีหรือรูปรีแกมใบหอก ปลายใบแหลม โคนใบแหลมหรือเป็นรูปลิ่ม ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 6-8 เซนติเมตรและยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร แผ่นใบสีเขียวสด เนื้อใบแข็งกระด้าง หลังใบเรียบเป็นมัน ท้องใบเรียบ ส่วนก้านใบยาวประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร[1],[2]

ใบยี่หุบ

  • ดอกยี่หุบ ออกเป็นดอกเดี่ยวหรือบางครั้งออกเป็นช่อสั้น ๆ ช่อละประมาณ 5-8 ดอก โดยจะออกตามซอกใบใกล้กับปลายกิ่ง ดอกเป็นสีขาวนวลหรือสีเหลืองอ่อนนวล ก้านดอกยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร กลีบดอกมีขนาดใหญ่ ลักษณะงองุ้มและแข็งหนา ดอกตูมโค้งลงเล็กน้อย ส่วนดอกบานจะมีลักษณะคล้ายโดม มีกลีบดอกประมาณ 6-12 กลีบ ลักษณะของกลีบดอกเป็นรูปไข่กลับ เรียงซ้อนเป็นชั้นประมาณ 2-4 ชั้น ชั้นละ 3 กลีบ แต่ละกลีบยาวประมาณ 3-5 เซนติเมตร กลีบดอกหนาและอวบน้ำ มักหลุดร่วงได้ง่าย และมีกาบหุ้มหรือกลีบรองดอกสีขาวนวลหรือสีเขียวนวล 3 กลีบ หนาและแข็ง เวลาบานเต็มที่จะคล้ายกลีบดอกชั้นนอก รูปทรงของดอกเป็นรูปทรงกลมเหมือนผอบ ดอกยาวประมาณ 3 เซนติเมตร และเมื่อดอกบานจะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 4-5 เซนติเมตร ดอกมีเกสรเพศผู้และเกสรเพศเมียจำนวนมาก[1],[2],[4]

ดอกยี่หุบ

  • ผลยี่หุบ ออกผลเป็นกลุ่ม ลักษณะของผลเป็นรูปรี มีขนาดกว้างประมาณ 1.5-2 เซนติเมตรและยาวประมาณ 3.5-4.5 เซนติเมตร ผิวผลขรุขระ เปลือกหนาและแข็ง และจะแตกออกเมื่อแก่ ภายในผลมีเมล็ดสีแดง[1]

ผลยี่หุบ

สรรพคุณของยี่หุบ

  • ดอกสดมีน้ำมันหอมระเหย ซึ่งทำให้มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว (ดอก)[1]

ประโยชน์ของยี่หุบ

  • ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับสวนทั่วไป เนื่องจากดอกมีขนาดใหญ่ มีกลิ่นหอมจัดในช่วงเวลาเย็นหรือช่วงพลบค่ำจนถึงเช้ามืด และจะทยอยออกดอกตลอดทั้งปี แต่ดอกจะบานในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ แล้วจะหุบ จึงถูกเรียกว่า “ยี่หุบ”[2]

ดอกยี่หุบ

ดอกยี่หุบตูบ

รูปยี่หุบ

ภาพยี่หุบ

รูปดอกยี่หุบ

ภารดอกยี่หุบ

ลักษณะดอกยี่หุบ

เกสรยีหุ่บ

เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1.  “ยี่หุบ (Yihup)”.  (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์).  หน้า 255.
  2. ทะเบียนพันธุ์ไม้ในโรงเรียน, โรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ.  “ยี่หุบ”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.wattano.ac.th.  [22 พ.ค. 2014].
  3. หนังสือพจนานุกรมไม้ดอกไม้ประดับในเมืองไทย.  “ยี่หุบ”.  (วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).
  4. หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 3.  “ยี่หุบ”.
  5. ฝ่ายเภสัชและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ, สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว). กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี.  “ยี่หุบ”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.tistr.or.th/pharma/.  [22 พ.ค. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Jacob Uluwehi Knecht, radhavall, Rise Liao, Prof Dr Kamarudin Mat-Salleh, Susan Ford Collins, 阿橋, 澎湖小雲雀), www.gotoknow.org (by หนูรี)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด