ยาแก้ไอน้ำดำ (Brown Mixture) สรรพคุณ วิธีใช้ ผลข้างเคียง ฯลฯ

ยาแก้ไอน้ำดำ (Brown Mixture) สรรพคุณ วิธีใช้ ผลข้างเคียง ฯลฯ

ยาแก้ไอน้ำดำ

ยาแก้ไอน้ำดำ (ภาษาอังกฤษ : Brown mixture หรือ M.tussis) หรือที่คนทั่วไปรู้จักกันในชื่อทางการค้าว่า ยาแก้ไอน้ำดำตราเสือดาว และยาแก้ไอน้ำดำตรางู เป็นยาระงับอาการไอที่ใช้กันมานาน เหมาะสำหรับอาการไอแห้ง* โดยเป็นยาน้ำที่ประกอบไปด้วยตัวยาหลายชนิด มีตัวยาที่สำคัญ คือ ฝิ่นที่มีฤทธิ์ระงับการไอ ชะเอมที่มีฤทธิ์ขับเสมหะและช่วยทำให้ชุ่มคอ นิยมใช้จิบครั้งละ 1-2 ช้อนชาเมื่อมีอาการไอ

ยาแก้ไอน้ำดำจัดเป็นยาสามัญประจำบ้านที่มีราคาถูกและใช้ได้ดีพอสมควร แม้เด็กอาจจะไม่ชอบรสชาติของยานี้กันเท่าไรนัก แต่ในปัจจุบันได้มีการพัฒนาสูตรยาที่คล้ายกันแต่มีรสหวานที่เรียกว่า ยาแก้ไอน้ำเชื่อม (Cough syrup) ทั้งยาแก้ไอน้ำดำและยาแก้ไอน้ำเชื่อมจะมีคำเตือนห้ามใช้สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี คนชรา และหญิงตั้งครรภ์ เนื่องจากมีฝิ่นเป็นส่วนผสม เกรงว่าถ้าใช้ในขนาดที่มากเกินไปอาจจะก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้ (แต่ถ้าใช้ยาตามคำแนะนำในฉลากยาก็นับว่าปลอดภัยมาก)

ในปัจจุบันแพทย์รุ่นใหม่จะไม่นิยมสั่งยาแก้ไอน้ำดำให้คนไข้แล้ว เพราะคิดว่าสู้ยาระงับอาการไอใหม่ ๆ ไม่ได้ เช่น โคเดอีน (Codeine) และเดกซ์โทรเมทอร์แฟน (Dextromethorphan) อีกทั้งยังเป็นยาน้ำซึ่งไม่ค่อยสะดวกในการพกพาเท่ายาเม็ด

หมายเหตุ : อาการไอเป็นเพียงอาการแสดงของโรคซึ่งเกิดได้จากหลากหลายสาเหตุ โดยทั่วไปอาการไอจะแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ ไอแห้ง (ไอไม่มีเสมหะ อาจเกิดจากการแพ้ฝุ่น ควัน อากาศ เป็นหวัด หรือเกิดจากการใช้ยาบางประเภท) และไอเปียก (ไอมีเสมหะหรือเสลด ซึ่งมักจะออกมาจากหลอดลมหรือเนื้อปอด อาจเกิดโรคปอดอักเสบ หลอดลมอักเสบ หลอดลมพอง วัณโรคปอด เป็นต้น ซึ่งคนไข้กลุ่มนี้มักจะมีอาการอย่างอื่นร่วมด้วย เช่น มีไข้สูง หายใจหอบ เจ็บหน้าอก ไอเป็นเลือด เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลด) ดังนั้น ทุกครั้งที่มีอาการไอจะต้องสังเกตดูว่าเป็นอาการไอแบบใด เพื่อที่จะได้เลือกใช้ยาแก้ไอได้อย่างถูกต้อง เพราะยาแก้ไอจะมีอยู่ด้วยกัน 3 กลุ่มใหญ่ ๆ ได้แก่ กลุ่มยาระงับอาการไอ (Antitussives), กลุ่มยาขับเสมหะ (Expectorants) และกลุ่มยาละลายเสมหะ (Mucolytic agents) โดยแต่ละกลุ่มก็จะมียาย่อย ๆ อีกหลายชนิด ดังนั้น ผู้บริโภคจะต้องฝึกอ่านฉลากยาให้เป็น เพื่อจะได้เลือกใช้ยาแก้ไอได้อย่างถูกต้องกับลักษณะอาการไอ เพราะหากเลือกใช้ยาผิดไป บางครั้งก็อาจทำให้เป็นอันตรายได้ โดยหลักการง่าย ๆ ในการเลือกใช้ยาแก้ไอก็คือ ถ้าไอแห้ง ให้ใช้กลุ่มยาระงับอาการไอ แต่ถ้าไอเปียกให้หลีกเลี่ยงการใช้กลุ่มยาระงับอาการไอ เนื่องจากร่างกายต้องการจะขับเสมหะหรือเสลดที่มีเชื้อโรคที่เป็นต้นเหตุออกมา ยิ่งขับออกได้มากเท่าไรก็ยิ่งดี เพราะจะช่วยให้ทางเดินหายใจโล่งและโรคทุเลาเร็วขึ้น ถ้าไปกินยาระงับอาการไอเข้าไปก็อาจทำให้เสลดถูกกักอยู่ในปอดมากขึ้นจนอาจทำให้ปอดอักเสบหรือเสลดไปอุดตันอยู่ในหลอดลมแขนงฝอย ๆ ก็อาจทำให้เนื้อปอดที่อยู่ส่วนปลายแฟบได้ ทำให้สูญเสียหน้าที่ในการหายใจ จึงเกิดผลเสียมากกว่าผลดี นี่จึงเป็นเหตุผลที่ไม่ควรใช้ยาระงับอาการไอในผู้ป่วยที่มีอาการไอเปียก

ตัวอย่างยาแก้ไอน้ำดำ

ยาแก้ไอน้ำดำ มีชื่อทางการค้า เช่น ยาแก้ไอน้ำดำตราองค์การเภสัชกรรม (Brown mixture GPO), ยาแก้ไอน้ำดำตราเสือดาว (Leopard medical brand Brown mixture), ยาแก้ไอน้ำดำตรางู (Brown mixture TRA NGOO), ยาแก้ไอน้ำดำโอสถอินเตอร์แล็บ (Brown Mixture Osoth Interlab), ทัสซิส (ยาแก้ไอน้ำดำ) ตำรับศิริราช (Tussis) เป็นต้น

รูปแบบของยาแก้ไอน้ำดำ

  • ยาน้ำ ขนาด 60 และ 180 มิลลิลิตร* ใน 1 ช้อนชา (5 มิลลิลิตร) ประกอบด้วยตัวยา
    • ทิงเจอร์ฝิ่นการบูร (Camphorated opium tincture ) 0.6 มิลลิลิตร (มีฤทธิ์ระงับการไอ)
    • แอนติโมนี โพแทสเซียม ตาร์เตรท (Antimony potassium tartrate) 1.2-2.0 มิลลิกรัม (มีฤทธิ์ขับเสมหะ)
    • สารสกัดจากชะเอมเทศ / กลีเซอร์ไรซ่า ฟลูอิดเอ็กซ์แทรค (Glycyrrhiza fluidextract) 0.6 มิลลิกรัม (มีฤทธิ์ขับเสมหะและช่วยแต่งรส)

ยาแก้ไอน้ำดำตราเสือดาว
IMAGE SOURCE : Medthai.com (ยาแก้ไอน้ำดำตราเสือดาว ขนาด 60 มิลลิลิตร ราคาประมาณ 19-21 บาท)

ยาแก้ไอน้ำดำตรางู
IMAGE SOURCE : 24osod.com, www.siam-health.org (ยาแก้ไอน้ำดำตรางู ขนาด 120 มิลลิลิตร ราคาประมาณ 33-35 บาท)

ยาแก้ไอน้ำดำ
IMAGE SOURCE : www.weloveshopping.com, www.mims.com, www.nutritionthailand.or.th

หมายเหตุ : ยาแก้ไอน้ำดำขนาด 180 มิลลิลิตร จัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 3 แต่ขนาด 60 มิลลิลิตรไม่ใช่ ทั้งนี้เป็นเพราะปริมาณขนาดบรรจุหรือขนาดของยาที่ออกฤทธิ์ต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด

สรรพคุณของยาแก้ไอน้ำดำ

ใช้เป็นยาบรรเทาอาการไอ ช่วยขับเสมหะ และทำให้ชุ่มคอ โดยมีข้อบ่งใช้สำหรับรักษาอาการไอระคายคอ ไอแห้ง ๆ ที่ไม่มีเสมหะ เช่น อาการไอจากการระคายคอ การแพ้ฝุ่น แพ้ควันบุหรี่หรือควันไอเสียรถยนต์ แพ้อากาศ ไอจากหวัด วัณโรคระยะแรก หรือจากการใช้ยาบางประเภท เช่น ยาลดความดันโลหิตอีนาลาพริล (Enalapril) เป็นต้น

ก่อนใช้ยาแก้ไอน้ำดำ

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาแก้ไอน้ำดำ สิ่งที่ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบมีดังนี้

  • ประวัติการแพ้ยาแก้ไอน้ำดำ และยาอื่น ๆ ทุกชนิด รวมทั้งอาการจากการแพ้ยา เช่น รับประทานยาแล้วคลื่นไส้มาก หรือแน่น หายใจติดขัด/หายใจลำบาก เป็นต้น
  • โรคประจำตัวต่าง ๆ และยาที่แพทย์สั่งจ่ายหรือที่ใช้เอง รวมถึงอาหารเสริม วิตามิน และยาสมุนไพรต่าง ๆ ที่กำลังใช้อยู่หรือกำลังจะใช้ เพราะยาแก้ไอน้ำดำอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่น ๆ และ/หรืออาหารเสริมอื่น ๆ ที่รับประทานอยู่ก่อนได้ เช่น การใช้ยาแก้ไอน้ำดำร่วมกับยาแก้แพ้ ยากล่อมประสาท ยานอนหลับ ยาแก้ซึมเศร้า หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ อาจทำให้ง่วงนอนมากขึ้น เป็นต้น
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่ามีการตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายชนิดสามารถผ่านทางรกหรือน้ำนมและเข้าสู่ทารกจนอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อทารกได้

ข้อห้าม/ข้อควรระวังในการใช้ยาแก้ไอน้ำดำ

  • ห้ามใช้ยาแก้ไอน้ำดำในเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี คนชรา และหญิงตั้งครรภ์
  • ยานี้มีแอลกอฮอล์ผสม จึงควรใช้ยาอย่างระมัดระวัง
  • ควรระมัดระวังการใช้ยานี้ในผู้ที่ไอมีเสลดเหนียวหรือไอจากโรคของทางเดินหายใจส่วนล่าง เช่น ปอดอักเสบ หลอดลมอักเสบ เพราะตัวยาจะทำให้เสลดเหนียว โรคหายช้า หรือเกิดการอุดกั้นของทางเดินหายใจ และอาจทำให้ปอดแฟบเป็นอันตรายได้

วิธีใช้ยาแก้ไอน้ำดำ

  • ในผู้ใหญ่ ให้รับประทานยาแก้ไอน้ำดำครั้งละ 1-2 ช้อนชา (5-10 มิลลิลิตร) วันละ 3-4 ครั้ง
  • ในเด็กอายุ 6-12 ปี ให้รับประทานยาแก้ไอน้ำดำครั้งละ ½-1 ช้อนชา (2.5-5 มิลลิลิตร) วันละ 3-4 ครั้ง

คำแนะนำในการใช้ยาแก้ไอน้ำดำ

  • ให้เขย่าขวดก่อนใช้ยาทุกครั้ง
  • ห้ามใช้ยาแก้ไอน้ำดำติดต่อกันนานเกิน 3 วัน
  • ถ้ารับประทานยานี้แล้วทำให้ไอมากขึ้น ควรหยุดยาแล้วไปพบแพทย์
  • ยาที่เหมาะสำหรับอาการไอแห้ง (ไม่ควรใช้ในคนที่ไอมีเสมหะ) นอกจากยาแก้ไอน้ำดำแล้ว ยังมียาแก้ไอน้ำเชื่อม (ยาสามัญประจำบ้าน), ยาที่เข้าสารโคเดอีน (เป็นอนุพันธ์ของฝิ่น ถ้าใช้ไปนาน ๆ อาจทำให้เสพติด และถ้าใช้เกินขนาดมาก ๆ อาจกดการหายใจได้) และยาที่เข้าสารเดกซ์โทรเมทอร์แฟน (มีฤทธิ์ระงับอาการไอเทียบเท่าโคเดอีน มีผลข้างเคียงน้อย ไม่ทำให้เสพติด และไม่กดการหายใจ)
  • ยาระงับอาการไอเป็นเพียงยาบรรเทาอาการเพื่อลดความรำคาญเท่านั้น ไม่ใช่ยาที่ใช้รักษาโรคที่เป็นต้นเหตุของอาการไอ จึงไม่ใช่ยาที่จำเป็น (จะกินหรือไม่กินก็ได้ เพราะไม่มีผลต่อโรคที่เป็นอยู่ แต่ถ้าไอมากจนทำให้เจ็บหน้าอก เจ็บหลัง หรือนอนไม่หลับ ก็แนะนำให้รับประทานยาแก้ไอทันทีที่มีอาการ) การรักษาที่ถูกต้องจึงควรมุ่งไปแก้ที่ต้นเหตุเป็นหลัก เช่น ถ้าเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย (ไอมีเสมหะข้นเหลืองหรือเขียว เช่น ปอดอักเสบ หลอดลมอักเสบ) ก็ต้องรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ, ถ้าเกิดจากการแพ้ (เช่น ฝุ่น ควัน อาหารบางชนิด) ก็ต้องหลีกเลี่ยงสิ่งที่แพ้หรือรับประทานยาแก้แพ้ เป็นต้น เพราะหากรักษาที่ต้นเหตุได้ถูกต้อง อาการไอก็จะค่อย ๆ หายไปได้เอง โดยไม่ต้องอาศัยการรับประทานยาแก้ไอ
  • สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี แนะนำว่าให้ตรวจหาโรคที่เป็นต้นเหตุและให้การรักษาที่ตรงสาเหตุจากแพทย์ ผู้ป่วยกลุ่มนี้ไม่จำเป็นต้องใช้ยาแก้ไอ แต่ควรหันมาใช้วิธีธรรมชาติแทน ได้แก่ การดื่มน้ำอุ่นบ่อย ๆ หรือถ้าอยากใช้ยาแก้ไอ ขอแนะนำให้ใช้น้ำผึ้งผสมมะนาวแทน หรือไม่ก็อาจใช้ยาหอมที่มีตัวยาชะเอมเป็นส่วนประกอบ บีบมะนาวใส่ ใช้กวาดคอแก้ไอก็ได้ ส่วนเหตุผลที่ไม่ควรใช้ยาแก้ไอในเด็กนั้น ประการแรกก็คือ อาการไอมิใช่สาเหตุของโรค และประการสำคัญ คือ ยาแก้ไอหลายตัวอาจมีผลข้างเคียงต่อเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ เช่น ยาที่เข้าสารฝิ่นหรือโคเดอีน เพราะถ้าใช้ในขนาดมากเกินไปก็อาจไปกดการหายใจได้ หรือถ้าใช้ยาผิดก็อาจทำให้ปอดอักเสบหรือปอดแฟบได้ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น (ในแง่ปฏิบัติ ยาที่จำเป็นสำหรับเด็กที่เป็นไข้หวัดก็คือ ยาพาราเซตามอล ส่วนยาแก้แพ้หรือยาลดน้ำมูก เช่น คลอเฟนิรามีน ไม่ต้องใช้เพราะอาจทำให้เสลดเหนียวข้นและขากออกยาก ซึ่งโดยปกติน้ำมูกจะแห้งหายไปได้เองภายใน 2-3 วัน ถ้ามีน้ำมูกมากก็ให้ใช้กระดาษชำระ ผ้าเช็ด หรือใช้ลูกยางดูด ส่วนยาแก้ไอก็ให้จิบน้ำผึ้งผสมมะนาว)
  • สำหรับอาการไอ นอกจากการใช้ยาดังกล่าวแล้ว การปฏิบัติตนให้ถูกต้องก็มีส่วนช่วยในการบรรเทาอาการไอได้เป็นอย่างมากเช่นกัน เช่น การไม่ดื่มน้ำเย็น หลีกเลี่ยงอาหารที่ระคายคอ (เช่น อาหารมัน อาหารรสจัด) เป็นต้น

การเก็บรักษายาแก้ไอน้ำดำ

  • ควรเก็บยานี้ในภาชนะบรรจุเดิมที่บรรจุมา ปิดฝาให้สนิท และเก็บยาให้พ้นมือเด็กเสมอ
  • ควรเก็บยานี้ที่อุณหภูมิห้อง เก็บยาให้พ้นแสงแดด ไม่ให้อยู่ในที่ร้อนมากกว่า 30 องศาเซลเซียส (เช่น ในรถยนต์ บริเวณใกล้หน้าต่าง) และไม่เก็บยาในบริเวณที่เปียกหรือชื้น (เช่น ในห้องน้ำ ในช่องแช่แข็งของตู้เย็น)
  • ให้ทิ้งยาที่เสื่อมสภาพหรือหมดอายุแล้ว

ผลข้างเคียงของยาแก้ไอน้ำดำ

ยานี้ถ้าใช้ในขนาดปกติมักไม่ค่อยพบผลข้างเคียง แต่ผลข้างเคียงที่อาจพบได้ก็คือ อาการท้องผูก นอกจากนี้ยังอาจทำให้มีอาการมึนงง ปวดศีรษะ ง่วงซึม คลื่นไส้ อาเจียน มีอาการแพ้ยา (มีผื่นคัน) หรือกดการหายใจได้ (ในกรณีหลังนี้ต้องใช้ยาเกินขนาดมาก ๆ ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยมาก)

เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 1.  “ยาระงับการไอ (Antitussives)”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  หน้า 269.
  2. มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 246 คอลัมน์ : พูดจาภาษายา.  “ใช้ยาแก้ไอผิดเพิ่มโรคให้ตัวเอง”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.doctor.or.th.  [19 ต.ค. 2016].
  3. สำนักยา.  “ยาแก้ไอน้ำดำ”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : drug.fda.moph.go.th.  [19 ต.ค. 2016].

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด