ยาสูบ
ยาสูบ ชื่อสามัญ Tobacco[1]
ยาสูบ ชื่อวิทยาศาสตร์ Nicotiana tabacum L. จัดอยู่ในวงศ์มะเขือ (SOLANACEAE)[1]
สมุนไพรยาสูบ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ยาซูล่ะ (กะเหรี่ยงเชียงใหม่), ยาซุ (กะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอน), เกร๊อะหร่าเหมาะ (กะเหรี่ยงแดง), ยาออก (ลั้วะ), สะตู้ (ปะหล่อง), จะวั้ว (เขมร-สุรินทร์) เป็นต้น[1],[4]
ชนิดของยาสูบ
ยาสูบที่สำคัญแบ่งออกเป็น 2 ชนิด (species) ได้แก่
- ชนิด Nicotiana tabacum (ที่กล่าวถึงในบทความนี้) ชนิดนี้มีพื้นที่ปลูกถึงร้อยละ 90 ของพื้นที่ปลูกยาสูบทั่วโลก นิยมนำไปใช้ทำผลิตภัณฑ์ยาสูบทั้งหลาย[7]
- ชนิด Nicotiana rustica ชนิดนี้จะมีปริมาณของสารนิโคตินค่อนข้างสูง นำไปใช้ในการทำสารฆ่าแมลง ทำยาเคี้ยว และยาฉุน[7]
ลักษณะของต้นยาสูบ
- ต้นยาสูบ มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนของทวีปอเมริกา จัดเป็นไม้ล้มลุกที่มีอายุเพียงปีเดียว ลำต้นไม่แตกกิ่งก้านสาขา มีความสูงประมาณ 0.6-2 เมตร ตามลำต้นและยอดมีขนที่อ่อนนิ่มปกคลุมอยู่ และทุกส่วนของต้นมีต่อมน้ำยางเหนียว ต้นยาสูบเป็นพรรณไม้กลางแจ้งที่ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนซุยที่ต้องการความชื้นปานกลาง[1],[2],[3],[5]
- ใบยาสูบ ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามกันเป็นคู่ ๆ ไปตามข้อต้น ลักษณะของใบเป็นรูปไข่กลับหรือรูปไข่แกมขอบขนาน ปลายใบมน โคนใบแคบหรือสิบเรียวและแทบจะไม่มีก้านใบ ส่วนขอบใบเรียบและเป็นคลื่นเล็กน้อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 10-20 เซนติเมตรและยาวประมาณ 30-60 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นสีเขียวมีขนาดใหญ่และหนา ท้องใบและหลังใบมีขนอ่อน ๆ ปกคลุมอยู่[1],[2]
- ดอกยาสูบ ออกดอกเป็นช่อยาวขึ้นไป โดยจะออกตรงส่วนของปลายยอด โดยดอกจะบานจากส่วนล่างไปหาส่วนบนตามลำดับ ดอกย่อยเป็นสีชมพูอ่อนเกือบขาวหรือเป็นสีแดงเรื่อ ๆ มีกลีบดอก 5 กลีบ โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นรูประฆัง ปลายกลีบแหลม มีขนสีขาวปกคลุม ส่วนกลีบเลี้ยงดอกเป็นสีเขียว โคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็นแฉกแหลมและมีขน ดอกมีความสวยงามน่าชมมาก[1],[2]
- ผลยาสูบ ผลเป็นผลแห้งแบบแคปซูล ลักษณะของผลเป็นรูปขอบขนาน ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลและแตกออกได้ ภายในผลมีเมล็ดสีน้ำตาลขนาดเล็กอยู่เป็นจำนวนมาก[1],[2,[3]
ประเภทของยาสูบ
แบ่งตามกรรมวิธีการบ่มยาได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่ ใบยาบ่มไอร้อน (ได้แก่ ใบยาเวอร์จิเนีย), ใบยาบ่มแดด (ได้แก่ ใบยาเตอร์กิช), และใบยาบ่มอากาศ (ได้แก่ ใบยาเบอร์เลย์, ใบยาแมรี่แลนด์) โดยพันธุ์ยาสูบที่นิยมปลูกในประเทศไทยคือสายพันธุ์เวอร์จิเนียร์ (ชนิดบ่มไอร้อน) และสายพันธุ์เตอกิช (ชนิดบ่มแดด) และการนำมาผลิตจะใช้ใบยาเวอร์จิเนียมากที่สุดคือร้อยละ 68 ส่วนใบยาเบอร์เลย์และเตอร์กิชจะใช้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น[7],[8]
- ใบยาเวอร์จิเนีย (Virginia) – ลักษณะของใบยาจะแห้งเป็นสีเหลืองหรือส้ม มีปริมาณนิโคตินต่ำถึงปานกลาง มีน้ำตาลในใบยาแห้งสูง เป็นใบยาที่มีคุณภาพดีและมีกลิ่นหอมคล้ายน้ำผึ้ง แหล่งเพาะปลูก ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แพร่ น่าน หนองคาย และนครพนม[7]
- ใบยาเตอร์กิช (Turkish or Oriental) – ลักษณะของใบยาจะแห้งเป็นสีเหลืองหรือสีส้มอมน้ำตาล ใบมีขนาดเล็ก มีปริมาณนิโคตินน้อย มีน้ำตาลปานกลาง มีกลิ่นหอมเพราะมีน้ำมันหอมระเหยสูง แหล่งเพาะปลูก ได้แก่ จังหวัดขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด และนครพนม[7]
- ใบยาเบอร์เลย์ (Burley) – ลักษณะของใบยาจะเป็นสีน้ำตาลอ่อนถึงสีน้ำตาลแก่ มีปริมาณนิโคตินสูง มีน้ำตาลน้อยมาก เป็นใบยาที่มีคุณภาพดีมีกลิ่นหอมคล้ายโกโก้ มีน้ำหนักเบา คุณภาพในการบรรจุมวนดี โครงสร้างโปร่งดูดซึมน้ำหอมน้ำปรุงได้ดี แหล่งเพาะปลูก ได้แก่ จังหวัดเพชรบูรณ์ สุโขทัย หนองคาย และนครพนม[7]
สรรพคุณของยาสูบ
- ใบยาสูบมีรสเผ็ดร้อนเมาเบื่อฉุน เป็นยาระงับประสาท ทำให้นอนหลับ ทำให้ผอม เพราะมีสารสงบประสาทที่ไประงับความอยากอาหาร (ใบ)[6]
- ใบยาสูบใช้ทำเป็นยาเส้นผสมกับปูนแดงและใบเนียม ใช้ปรุงยานัตถุ์แก้หวัดคัดจมูก (ใบ)[2],[3]
- ช่วยแก้หอบหืด (ใบ)[6]
- ช่วยขับเสมหะ (ใบ)[4]
- ทำให้อาเจียน (ใบ)[6]
- ช่วยขับพยาธิในลำไส้ (ใบ)[4]
- ช่วยขับปัสสาวะ แก้นิ่ว (ใบ)[6],[8]
- ในการใช้ภายนอกจะใช้ใบยาสูบเป็นยาสมานบาดแผล (ใบ)[8]
- ชาวกะเหรี่ยงแดงจะใช้เป็นยาประคบเพื่อช่วยห้ามเลือด (ใบ)[4]
- ช่วยแก้พิษงู (ใบ)[8]
- ใช้เป็นยาถอนพิษ รักษาแผลน้ำร้อนลวก ด้วยการใช้ยาเส้นหรือยาตั้ง 1 หยิบมือ นำมาคลุกกับน้ำมันมะพร้าวปิดบริเวณที่ถูกน้ำร้อนลวก จะช่วยถอนพิษได้ (ยาเส้น)[3]
- รากและใบใช้เป็นยารักษาโรคผิวหนัง กลากเกลื้อน เรื้อนกวาง ผื่นคัน หิด (รากและใบ)[2] ส่วนอีกวิธีใช้ใช้ยางสีดำ ๆ ในกล้องสูบยาของจีน ใช้ใส่แต้มแผล แก้หิดได้ดีมาก หรือนำมาใช้เคี่ยวกับน้ำมันทารักษาโรคผิวหนังต่าง ๆ[3]
- ช่วยแก้ลมพิษ (ใบ)[4]
- ใช้รักษาเหา ให้ใช้ใบยาสูบแก่ที่ตากแห้งแล้ว 1 หยิบมือ นำมาผสมกับน้ำมันก๊าดประมาณ 3-4 ช้อนแกง แล้วใช้ชโลมทั้งน้ำและยาเส้นลงบนผมทิ้งไว้ประมาณ 1 ชั่วโมง แล้วสระออกให้สะอาด โดยให้ทำติดต่อกันประมาณ 3-4 วัน (ใบ)[3]
- ช่วยแก้ปวด ลดอาการบวม แก้ปวดข้อ ปวดศีรษะ ปวดฟัน (ใบ)[4],[8]
- ชาวอินเดียนพื้นเมืองจะใช้ยาสูบเป็นยาแก้ปวด โดยเฉพาะการปวดท้องคลอด ด้วยการนำมาสูบ กิน หรือใช้เป็นยานัตถุ์ (ใบ)[5]
- ในทางยานิโคตินถูกนำมาใช้เป็นยาแก้ไข้มาลาเรีย แก้โรคทางเดินปัสสาวะอักเสบ (นิโคติน)[8]
- แม้ว่าบุหรี่จะทำให้ร่างกายเป็นโรค แต่สารนิโคตินในบุหรี่ก็สามารถเป็นยาสำหรับบางคนได้ เพราะทำให้คนที่เป็นโรคพาร์กินสัน โรคจิตเภท โรคอัลไซเมอร์ ฯลฯ ทำงานดีขึ้น เพราะในคนที่เป็นโรคพาร์กินสันและอัลไซเมอร์นั้น สมองจะขาด Dopamine แต่สารนิโคตินนั้นสามารถไปกระตุ้นการหลั่ง Dopamine ได้ ทำให้คนที่เป็นอัลไซเมอร์มีความจำดีขึ้น ส่วนคนที่เป็นโรคพาร์กินสันร่างกายก็จะไม่กระตุกมาก เป็นต้น[8]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของยาสูบ
- ใบใบยาสูบพบสารอัลคาลอยด์ นิโคติน (Nicotine) C10 H14 N2 อยู่ประมาณ 0.6-9% ซึ่งสารอัลคาลอยด์พวก Pyridine นี้จะมีลักษณะเป็น oily, volatile liquid ทำให้ไม่มีสีแล้วกลายเป็นสีเหลือง ถ้าหากถูกอากาศจะเป็นสีน้ำตาล หากนำมาสูดดมเข้าไปจะไปกัดเนื้อเยื่อในจมูก มีกลิ่นเผ็ดร้อน แต่ก็ยังมีสารที่ทำให้มีกลิ่นหอมที่ชื่อว่า Nicrotranin หรือ Tabacco camphor โดยสารชนิดนี้จะเกิดก็ต่อเมื่อนำมาใบยามาบ่ม[1]
- จากรายงานของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ระบุว่า โดยเฉลี่ยแล้วในใบยาสูบทำบุหรี่จะมีปริมาณของสารนิโคตินอยู่ 20 มิลลิกรัม ยาเส้นใช้กล้องสูบมี 25 มิลลิกรัม และใบยาที่ทำให้ซิการ์จะมีนิโคตินอยู่ 100 มิลลิกรัม รวมไปถึงสารประกอบอื่น ๆ อีกด้วย[8]
ประโยชน์ของยาสูบ
- ใบอ่อนจะนำมาใช้มวนบุหรี่และใช้ทำซิการ์[1]
- ใบแก่จะนำมาทำเป็นยาเส้นยาตั้ง ยาฉุน และใช้มวนบุหรี่[1] ชาวกะเหรี่ยงจะใช้ใบแก่นำมาซอยให้เป็นฝอยแล้วตากแห้ง พันด้วยใบตองแห้งใช้เป็นยาสูบ หรือใช้เป็นไส้บุหรี่ขี้โย[4]
- ในส่วนของยาตั้งนั้นหากนำมาผสมกับน้ำมันก๊าดแล้วนำมาใส่ผมก็จะเป็นยาฆ่าเหาได้ โดยให้ใส่ทิ้งไว้ประมาณ 30 นาที ให้ทำวันละ 1 ครั้ง ติดต่อกันประมาณ 2-3 วัน เหาก็จะหาย แต่ต้องระวังอย่าให้ยาเข้าตาได้
- ใบมีสารนิโคตินอยู่ประมาณ 7% ละลายได้ง่ายในน้ำ แอลกอฮอล์ และอีเทอร์ ใช้ทำเป็นยาฉีดฆ่าแมลงและเพลี้ยต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี เพราะจัดเป็นสารพิษชนิดหนึ่ง (การผสมให้ใช้นิโคติน 1 ส่วน สบู่อ่อน 20 ส่วน ในน้ำ 2,000 ส่วน) ยานี้มีพิษแรง การนำมาใช้ต้องระมัดระวังไม่ให้ถูกผิวหนัง เพราะจะซึมเข้าไปและเป็นพิษมาก[1],[2],[3]
- ใบใช้ทาภายนอกเพื่อป้องกันทากและปลิงเกาะได้[6]
- ใบเอาไปใส่ไว้ในรังไก่ เพื่อช่วยไล่ไรไก่ หรือนำมาตำแล้วแช่ในน้ำ ใช้ฉีดพ่นไรไก่ (คนเมือง)[4]
- ใบนำมาคั้นเอาแต่น้ำใช้ทาผิวหนังวัวควายที่เป็นหนอง (กะเหรี่ยงแดง)[4]
- ชาวอินเดียนพื้นเมืองถือว่ายาสูบเป็นของศักดิ์สิทธิ์ มีการสูบยาเป็นประเพณีเพื่อแสดงความเป็นมิตร และใบยาสูบเป็นของที่มีราคาที่ใช้แทนเงินได้อีกด้วย[5]
- ยาสูบเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญมากอย่างหนึ่งของประเทศไทย เดิมจะใช้เฉพาะมวนบุหรี่สูบกันภายในประเทศ แต่ในปัจจุบันผลผลิตใบยาสูบเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญมากของไทย เพราะสามารถทำรายได้ให้กับประเทศถึงปีละ 2,500-3,000 ล้านบาท อีกทั้งผลผลิตของใบยาสูบยังมีความสำคัญต่อการดำรงชีพของเกษตรกร และมีความสำคัญต่อเนื่องถึงอุตสาหกรรมการผลิตบุหรี่ของโรงงานยาสูบ[7],[8]
ประเภทของของผลิตภัณฑ์ยาสูบ
ผลิตภัณฑ์ยาสูบสามารถจำแนกตามการใช้งานออกได้เป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาสูบชนิดมีควันและผลิตภัณฑ์ยาสูบชนิดไม่มีควัน ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
- ผลิตภัณฑ์ยาสูบชนิดมีควัน (Smoked tobacco) สามารถจำแนกออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ บุหรี่โรงงาน บุหรี่มวนเอง และผลิตภัณฑ์ยาสูบอื่น ๆ เช่น ซิการ์, ไปป์, ยาสูบที่สูบผ่านน้ำ, (ชิชา, ฮุกก้า, บารากู่) และอื่น ๆ เช่น บุหรี่ขี้โย (บุหรี่พื้นเมืองของชาวเหนือ), บุหรี่ชูรส (บุหรี่ที่มีรสชาติเลียนแบบผลไม้ รสหวาน สมุนไพร)[9]
- ผลิตภัณฑ์ยาสูบชนิดไม่มีควัน (Smokeless tobacco) ได้แก่ ยาเส้นหรือยาเส้นปรุง (ใช้สำหรับอมหรือจุกทางปาก เคี้ยวหรือใช้เป็นส่วนผสมของหมากพลู), ยานัตถุ์ และบุหรี่ไฟฟ้า[9]
โทษของยาสูบ
- สารนิโคตินในใบยาสูบเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้คนติดบุหรี่ โดยบุหรี่ที่วางขายตามท้องตลาดจะมีปริมาณของนิโคตินประมาณ 4-4.5% หากเข้าไปในร่างกายของคนสูบเพียงครั้งเดียว ก็สามารถทำให้คนสูบนั้นติดบุหรี่ได้ทันที ยิ่งถ้าเป็นผู้หญิงการติดบุหรี่ก็จะยิ่งง่ายกว่าผู้ชาย และยังเลิกได้ยากกว่าผู้ชายอีกด้วย เพราะปอดผู้หญิงมีขนาดเล็กกว่าผู้ชายนั่นเอง[8]
- ในสมัยก่อนเราจะใช้ยาสูบทำเป็นยาระงับประสาท ยาทำให้นอนหลับ ทำให้อาเจียน และขับเหงื่อ แต่ในปัจจุบันได้มีการค้นพบว่ามันมีสารที่เป็นพิษต่อร่างกายหลายชนิด การสูบบุหรี่ทำให้ไอและเจ็บคอ เนื่องจากลำคอและหลอดลมเกิดการอักเสบบวม ทำให้เกิดการเสพติด ทำให้ประสาทส่วนกลาง คือ หัวใจทำงานได้ไม่เต็มที่ หัวใจอ่อนและเต้นไม่สม่ำเสมอ ทำให้ความจำเสื่อม ความดันโลหิตต่ำ หายใจอ่อน เหงื่อออกมากผิดปกติ และมีอาการมือสั่น แต่ในคนที่สูบเป็นประจำ จะไม่มีอาการเหล่านี้ เพราะร่างกายสามารถออกซิไดซ์นิโคตินได้พอสมควร โดยคนที่สูบซิกาแรควันละ 25 มวน จะทำให้เสียสีของเม็ดเลือดแดงไปประมาณ 25% ในคราวหนึ่ง[1],[2],[3]
- นิโคตินในระดับต่ำจะไปกระตุ้น Nicrotinic receptor แต่ในขนาดสูงจะไปปิดกั้น Nicrotinic receptor อาการที่พบจะซับซ้อน อาจทำให้หัวใจเต้นเร็วหรือช้ากว่าปกติ กระตุ้นประสาทส่วนกลางทำให้เกิดอาการสั่นหรือชักได้ โดยปกติจะมีฤทธิ์ช่วยลดความเครียดและความวิตกกังวล และเพิ่มระดับความรู้สึกเจ็บปวด[8]
- ผู้ที่ติดบุหรี่มักจะมีอาการไอ มีอาการหอบแห้งในลำคอ ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งปอด และหลอดลมอักเสบ[1]
- บุหรี่เป็นสารเสพติดที่ติดได้ง่ายยิ่งกว่าแอลกอฮอล์ โดยจัดเป็นสารสงบประสาท ระงับความอยากอาหาร เพิ่มน้ำตาลในเลือดเล็กน้อย ทำให้ประสาทเกี่ยวกับการรับรสเสียไป ก่อให้เกิดโรคมะเร็งปอด และเป็นโทษต่อร่างกายนานับประการ เพราะถ้าทำการสกัดสารนิโคตินออกมาจากซิการ์เพียงมวนเดียว แล้วนำมาฉีดเข้าเส้นเลือดคน จะมีพิษถึงขนาดทำให้ตายได้เลย[8]
- ผลของนิโคตินจากการสูบบุหรี่จะเกิดผลกระทบต่อประสาทส่วนกลางภายใน 10 วินาที หากมีการเคี้ยวยาสูบจะมีผลของนิโคตินที่ทำให้เกิดเส้นเลือดตีบ เป็นโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง หากกินเป็นเวลา 3-5 นาที จะทำให้เกิดผลต่อระบบประสาท CNS นอกจากนี้นิโคตินยังมีผลทำให้เบื่ออาหารและเป็นโรคถุงลมโป่งพอง ประสาทรับรู้รสและกลิ่นเสียไป ปอดจะถูกทำลายหากสูบเป็นเวลานาน และจะเป็นสาเหตุของโรคปอด โรคหลอดเลือด โรคมะเร็ง และโรคหัวใจได้[8]
- ผลของนิโคตินหากเสพเป็นระยะเวลานานจะทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ หงุดหงิด มีอาการฉุนเฉียวง่าย ขาดสมาธิและนอนไม่หลับ[8]
- การสูบบุหรี่หรือผลิตภัณฑ์อื่น ๆ พบว่าในบริเวณที่ลุกไหม้ จำนวน 5% ของนิโคตินจะถูกเผาไหม้เป็นสารอินทรีย์และไม่มีพิษ จำนวน 30% เป็นควันกระจายออกไป จำนวน 25% ถูกสูบเข้าไปในปากและหลอดลม ทำให้นิโคตินจับอยู่บริเวณปากและบางส่วนก็เข้าไปทางเส้นเลือด และจากส่วนที่เข้าไปนั้น 95% จะเข้าไปที่ปอด ซึ่งนอกจากนิโคตินแล้วยังมีสารสำคัญอีกพวก คือ ทาร์ (Tars) ซึ่งจะปรากฏอยู่ในรูปต่าง ๆ หลายชนิด ในขณะที่เผาไหม้ใบยาสูบและกระดาษ ซึ่งสารที่สำคัญ คือ Benzopyrine (เชื่อว่าเป็นสารที่ทำให้เซลล์เปลี่ยนเป็นเซลล์มะเร็งได้)[8]
- ในควันบุรี่ตอนปลายที่เกิดการเผาไหม้และระเหย จะมีนิโคติน ทาร์ คาร์บอนไดออกไซด์ คาร์บอนมอนอกไซด์ แอมโมเนียม ไฮโดรเจนซัลไฟต์ ไฮโดรเจนไซยาไนด์ ล้วนเป็นสารที่ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อปอด ถุงลม เยื่อบุกระเพาะ นิโคตินทำให้หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูง การบีบตัวของหลอดเลือด ทำให้เกิดการอุดตันของหลอดเลือดได้ โดยเฉพาะทาร์ที่ทำให้เกิดมะเร็งปอด[8]
- ผู้ที่สูบบุหรี่มีโอกาสสูงที่จะเป็นโรคมะเร็งที่ปาก กล่องเสียง เต้านม กระเพาะ ลำไส้ใหญ่ หลอดอาหาร หลอดไต ตับอ่อน ไต มดลูก และเม็ดเลือดได้ และคนที่สูบบุหรี่จัดมักมีอายุสั้นเพราะป่วยด้วยโรคหลายโรค ส่วนผู้ป่วยที่เป็นโรคหอบหืด หากมีการสูบบุหรี่ด้วยก็จะยิ่งมีโอกาสสูงในการเสียชีวิตมากกว่าผู้ป่วยด้วยโรคเดียวกันนี้ถึง 3 เท่า ![8]
- นอกจากสารนิโคตินในบุหรี่ที่ทำให้คนติดกันอย่างงอมแงมแล้ว บุหรี่ยังมีสารเคมีที่เป็นพิษอีกมากมาย เช่น 4-aminobiphenyl (ทำให้เป็นมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ), Nitrosamines (ทำให้เกิดมะเร็งมากที่สุด), Hydrogen cyanide (ทำให้ปอดระคายเคือง), Carbon monoxide (ทำให้ระดับออกซิเจนในเลือดต่ำ) และในควันบุหรี่ยับพบสาร Benzo-a-pyrene, Benzene, Acrolein, Polonium และสารตะกั่ว ซึ่งสารเหล่านี้ล้วนเป็นสารพิษทั้งสิ้น ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าผู้สูงอายุที่สูบบุหรี่มักจะเป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดในสมองแตก ตาเป็นต้อ ผิวหนังเหี่ยวย่น และหากล้มกระดูกแตก แผลกระดูกก็จะสมานช้า[8]
- ควันบุหรี่ยังทำให้ผู้สูบเป็นโรคถุงลมปอดอักเสบ หลอดลมอักเสบเรื้อรัง ระบบภูมิคุ้มกันทำงานบกพร่อง และทารกที่คลอดจากสตรีที่สูบบุหรี่มักมีน้ำหนักตัวต่ำกว่าปกติ และแม่ที่สูบบุหรี่มักจะมีปัญหาในการตั้งครรภ์และการคลอดมากกว่าแม่ที่ไม่สูบบุหรี่เลย[8]
- ควันบุหรี่ใช่ว่าจะฆ่าเฉพาะคนที่สูบบุหรี่เท่านั้น เพราะการใกล้ชิดกับผู้สูบบุหรี่ก็สามารถทำให้ควันบุหรี่มีละอองพิษผ่านเข้าไปทำร้ายเยื่อหุ้มปอดและเนื้อเยื่อในปอดของคนใกล้ชิดได้ แม้ว่าควันพิษนั้นจะมีน้อยเพียง 1% ของคนที่สูบโดยตรงก็ตาม แต่จากสถิติการตายเพราะการสูดควันโดยทางอ้อมก็มีมากขึ้นเรื่อย ๆ ทุกปี[8]
- ในบุหรี่จะประกอบไปด้วยใบยาสูบหั่น น้ำมันดิน กระดาษสำหรับมวน ซึ่งจะมีก๊าซอยู่มากถึง 12 ชนิดด้วยกัน โดยชนิดนี้ร้ายแรงจะมีอยู่ 3 ชนิด คือ คาร์บอนมอนอกไซด์ (CO), ไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2), ไฮโดรไซอาไนด์ (CN) ส่วนนิโคตินเป็นสารที่มีอยู่ในใบยาสูบ น้ำมันดินที่มีอยู่ในบุหรี่ เมื่อสูบเข้าไปจะไปเกาะที่ผนังปอดและหลอดลม[1]
- การสูบบุหรี่ด้วยวิธีการเผาใบยาจะทำให้นิโคตินและอัลคาลอยด์ต่าง ๆ สลายตัว โดยวัตถุเหล่านี้จะทำให้เกิดเป็นพิษขึ้นในการสูบบุหรี่ และมีหลายคนแสดงว่าการสูบบุหรี่มีฤทธิ์ในการกล่อมประสาท แต่ไม่ใช่เป็นผลอันเนื่องมาจากฤทธิ์ของนิโคติน[3]
- คนที่ติดบุหรี่มากเมื่อไม่ได้รับนิโคติน จะเกิดอาการกระสับกระส่าย สมาธิสั้น นอนไม่หลับ 20 นาทีหลังจากการอดบุหรี่ ความดันโลหิตจะลดลง ชีพจรเต้นช้าลง และเมื่อผ่านไป 8 ชั่วโมง ระดับออกซิเจนในเลือดจะเพิ่มขึ้นจนถึงระดับปกติ แต่ในขณะเดียวกันระดับคาร์บอนมอนอกไซด์ก็จะลดลงด้วย และหลังจากหยุดสูบบุหรี่ 2 วัน ระบบความรู้สึก การรับรสและกลิ่นต่าง ๆ จะทำงานได้ดีขึ้น และเมื่อผ่านไป 3 เดือน การเคลื่อนไหวของร่างกาย การทำงานของปอดก็จะดีขึ้นด้วย ยิ่งถ้าหากหยุดไปได้นานถึง 10 ปี โอกาสที่จะเป็นโรคต่าง ๆ ก็ลดลงถึง 50% แต่การจะทำได้ในขนาดนี้คนที่ติดบุหรี่จะต้องมีความตั้งใจ ความอดทน และความพยายามสูง จึงจะชนะยาเสพติดชนิดนี้ได้[8]
- อย่างไรก็ตาม แม้ว่ายาสูบจะมีอันตรายและเป็นโทษต่อร่างกายสารพัด แต่ผลเหล่านี้จะเกิดช้า โดยอาจใช้ระยะเวลาเป็นสิบ ๆ ปี ทำให้หลาย ๆ คนไม่รู้สึกตระหนักถึงอันตรายของยาสูบ แต่ในปัจจุบันสังคมเริ่มเข้าใจเกี่ยวกับโทษของบุหรี่กันมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะมีการห้ามสูบในที่สาธารณะและห้ามเยาวชนสูบ รวมทั้งจำกัดการโฆษณาและให้พิมพ์คำเตือนถึงอันตรายบนซองบุหรี่ ฯลฯ[8]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. “ยาสูบ”. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). หน้า 658-660.
- หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. “ยาสูบ (Ya Sup)”. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). หน้า 253.
- สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “ยาสูบ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/herbs/. [23 พ.ค. 2014].
- โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “Tobacco”. อ้างอิงใน: หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์), หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย ฉยัยพิมพ์ครั้งที่ 6 (วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม), หนังสือสมุนไพรในสวนป่าสมุนไพรเขาหินซ้อน (พงษ์ศักดิ์ พลเสนา). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [23 พ.ค. 2014].
- กรีนไฮเปอร์มาร์ท สารานุกรมผลิตผลและผลิตภัณฑ์จากพืชในซุปเปอร์มาร์เก็ต ฉบับคอมพิวเตอร์, คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “ยาสูบ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.sc.mahidol.ac.th. [23 พ.ค. 2014].
- สวนพฤกษศาสตร์สายยาไทย. “ยาสูบ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.saiyathai.com. [23 พ.ค. 2014].
- ข้อมูลพืชชนิดต่าง ๆ, สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 6 กรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์. “ยาสูบ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.giswebr06.ldd.go.th/lddweb/knowledge/plant/. [23 พ.ค. 2014].
- เอกสารวิชาการ. (วิภาวรรณ กิติวัชระเจริญ นักวิชาการเกษตร). “ยาสูบพืชเศรษฐกิจของไทย”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: aglib.doa.go.th/lib/images/Downloads/2551/EB00010.pdf. [23 พ.ค. 2014].
- ดร.ศรัณญา เบญจกุล (สำนักควบคุมการบริโภคยาสูบ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข), ผศ.ดร.มณฑา เก่งการพานิช (คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “ประเภทของผลิตภัณฑ์ยาสูบ”.
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Forest and Kim Starr, naturgucker.de / enjoynature.net, madeinsheffield
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)