ยาพ่นจมูก
ยาพ่นจมูก (Nasal spray) คือ ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของตัวยาที่ใช้สำหรับรักษาอาการที่เกิดจากโรคหวัดหรือภูมิแพ้ เช่น น้ำมูกไหล คัดจมูก จาม หรืออาจใช้รักษาโรคอื่น ๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์ โดยตัวผลิตภัณฑ์จะมาพร้อมกับหัวฉีดพ่นยา (Sprayer) ที่ใช้สำหรับพ่นเข้ารูจมูก พร้อมที่กดเพื่อช่วยบริหารยาให้อยู่ในรูปละอองฝอยที่มีขนาดยาแน่นอนต่อครั้งในการพ่น
ชนิดของยาพ่นจมูก
ยาพ่นจมูกจะมีทั้งชนิดที่สามารถซื้อได้เองหรือแบบที่ต้องให้แพทย์เป็นผู้สั่งจ่าย โดยจะมีอยู่ด้วยกันหลายกลุ่มยา แต่หลัก ๆ แล้วจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ
- ยาพ่นจมูกกลุ่มยาสเตียรอยด์ เป็นยาลดการอักเสบมาตรฐานที่ในการรักษาอาการของโรคภูมิแพ้ เช่น อาการบวมในจมูก น้ำมูกไหล คัดจมูก หรืออาจนำไปใช้รักษาโรคหรือภาวะอื่น ๆ เช่น โพรงจมูกอักเสบ ริดสีดวงจมูก ตัวอย่างยา เช่น บูดีโซนายด์ (Budesonide), ฟลูติคาโซน (Fluticasone), โมเมทาโซน (Mometasone)
- ยาพ่นจมูกกลุ่มยาแก้อาการคัดจมูก เป็นยาที่ออกฤทธิ์ช่วยให้หลอดเลือดบริเวณจมูกหดตัว ใช้ลดอาการบวมและคัดแน่นจมูกอันเนื่องมาจากหลอดเลือดขยายตัวจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น ภูมิแพ้ ไข้หวัดทั่วไปที่มีอาการคัดแน่นจมูก ไซนัสอักเสบ เป็นต้น ตัวอย่างยากลุ่มนี้ เช่น ออกซีเมตาโซลีน (Oxymetazoline), เอฟีดรีน (Ephedrine), ไซโลเมตาโซลีน (Xylometazoline)
นอกจาก 2 กลุ่มที่ว่ามาแล้วยังมียาพ่นจมูกกลุ่มอื่น ๆ อีก เพียงแต่จะไม่เป็นที่นิยมเท่า 2 ตัวแรกครับ ซึ่งได้แก่ ยาพ่นจมูกที่เป็นยาแก้แพ้ ที่ออกฤทธิ์ยับยั้งผลกระทบจากฮีสตามีนที่หลั่งออกมาเมื่อร่างกายได้รับสารก่อภูมิแพ้, ยาพ่นจมูกกลุ่มยาต้านโคลิเนอร์จิก (Anticholinergic) ที่ออกฤทธิ์ป้องกันการผลิตเมือกหรือมูกที่ออกมาจากต่อมภายในจมูกมากเกินไป และยาพ่นจมูกกลุ่มมาสต์เซลล์อินฮิบิเตอร์ (Mast Cell Inhibitor) ที่เป็นยาป้องกันการปลดปล่อยสารฮีสตามีนในร่างกาย ช่วยลดอาการที่เกิดจากโรคภูมิแพ้
คำแนะนำ/ข้อควรระวังในการใช้ยาพ่นจมูก
ยาพ่นจมูกแต่ละกลุ่มล้วนมีข้อบ่งชี้ ข้อควรระวัง และส่วนประกอบยาที่แตกต่างกันไป ดังนั้น ก่อนใช้ยานี้ผู้ป่วยควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบถึงอาการป่วยในปัจจุบัน ประวัติทางการแพทย์ และประวัติการแพ้ยาต่าง ๆ รวมถึงต้องศึกษาวิธีการใช้ยาและอ่านคำเตือนบนฉลาดยาให้ดีก่อนใช้เสมอเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ต่าง ๆ
- แจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบก่อนใช้ยานี้หากคุณเคยมีประวัติการแพ้ยา (โดยเฉพาะส่วนประกอบของยาพ่นจมูกชนิดใดก็ตามที่กล่าวไปข้างต้น รวมไปถึงยาชนิดอื่น ๆ อาหาร และสารใด ๆ), หากกำลังตั้งครรภ์ วางแผนจะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร (เพราะยาพ่นจมูกบางชนิดสามารถซึมผ่านน้ำนมไปยังทารกและอาจเป็นอันตรายต่อทารกได้), หากมีภาวะความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน ต้อหิน ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน ปัสสาวะลำบากจากต่อมลูกหมากโต, หากเคยมีอาการชัก เคยเป็นโรคต้อกระจก ต้อหิน โรคหืด หรือมีการติดเชื้อ เช่น โรคเริมที่ตา หัด วัณโรค อีสุกอีใส และ/หรือเคยเข้ารับการผ่าตัดหรือเกิดการบาดเจ็บที่จมูก หรือมีแผลที่จมูก
- แจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับโรคประจำตัวและยาทุกชนิดที่กำลังใช้อยู่ (เพราะยาประเภทนี้บางตัวอาจส่งผลต่ออาการป่วยหรือประสิทธิภาพของยาบางชนิด)
- ก่อนเข้ารับการรักษาใด ๆ ควรแจ้งให้แพทย์หรือพยาบาลทราบเสมอว่ากำลังใช้ยาพ่นจมูกชนิดใด ๆ อยู่
- ยากลุ่มนี้เป็นเพียงยาใช้บรรเทาอาการคัดจมูกเท่านั้น ไม่ได้ช่วยลดการอักเสบ หรือลดอาการแพ้ต่อสารก่อภูมิแพ้แต่อย่างใด ดังนั้นก่อนซื้อใช้ทุกครั้งต้องเข้าใจเสมอว่าตัวยาจะช่วยลดอาการคัดจมูกเท่านั้น
- ด้วยยาพ่นจมูกเป็นยาที่ออกฤทธิ์เร็ว ช่วยให้จมูกโล่งแทบจะในทันทีหรือภายใน 5 นาทีหลังการพ่น จึงทำให้มีหลายคนใช้ยาพ่นบ่อย ๆ ซึ่งสิ่งที่ต้องระวังในการใช้ยาพ่นจมูกทุกยี่ห้อก็คือ ไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน เพราะจะทำให้เกิดอาการคัดจมูกมากขึ้นหลังจากหยุดใช้ยา ดังนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะดังกล่าว จึงควรใช้ยาพ่นจมูกเมื่อมีอาการคัดจมูกมากเท่านั้น และไม่ควรใช้ติดต่อกันนานเกิน 5-7 วัน (ถ้าต้องใช้นานกว่านั้นแพทย์หรือเภสัชกรจะเป็นผู้ให้คำแนะนำเป็นกรณีเฉพาะในแต่ละบุคคล)
- หลังพ่นยาพยายามอย่าจามในทันทีหลังจากพ่นยา และไม่ควรสั่งจมูกหรือล้างจมูกเป็นเวลา 15 นาที เนื่องจากยาที่พ่นจะออกมาพร้อมกับน้ำมูก (หากมียาไหลลงคอให้กลืนได้หรือให้กลั้วคอด้วยน้ำสะอาด)
- ควรเก็บยาไว้ที่อุณหภูมิน้อยกว่าหรือเท่ากับ 25 องศาเซลเซียส และก่อนใช้ยาครั้งต่อไปให้นำออกมาไว้ที่อุณหภูมิห้องหรือกำขวดยาให้อุ่นก่อนใช้
ผลข้างเคียงจากการใช้ยาพ่นจมูก
ยาพ่นจมูกแต่ละชนิดล้วนมีส่วนประกอบที่แตกต่างกัน จึงอาจส่งผลให้มีอาการข้างเคียงแตกต่างกันไป ดังนั้น ก่อนใช้ยาพ่นจมูกผู้ป่วยจึงควรศึกษาข้อมูลยาจากฉลากอย่างละเอียดและใช้ยาอย่างถูกวิธี หากใช้แล้วมีอาการผิดปกติเกิดขึ้นควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร และไปพบแพทย์ทันทีหากอาการเหล่านั้นยังไม่ดีขึ้นหรือแย่ลง
ตัวอย่างผลข้างเคียงที่อาจพบได้จากการใช้ยาพ่นจมูก เช่น
- ยาพ่นจมูกกลุ่มยาสเตียรอยด์ ผลข้างเคียงที่อาจพบได้ คือ แสบจมูก จมูกแห้ง, ระคายเคืองคอ คอแห้ง, มีรสชาติไม่พึงประสงค์ในปาก, มีอาการบวม แดง และคันในจมูก, มีเลือดกำเดาไหล
- ยาพ่นจมูกกลุ่มยาแก้อาการคัดจมูก ผลข้างเคียงที่อาจพบได้ คือ น้ำมูกไหล, ระคายเคืองในจมูก, แสบหรือปวดจมูก
วิธีการใช้ยาพ่นจมูก
- ทำความสะอาดช่องจมูกด้วยการสั่งน้ำมูกออกหรือล้างจมูกด้วยน้ำเกลือก่อนให้เรียบร้อย แล้วล้างมือให้สะอาด
- เปิดฝาครอบขวดยาออก จับขวดยาในแนวตั้ง แล้วจับให้ถนัดมือ (วางนิ้วชี้และนิ้วกลางลงบริเวณไหล่ของขวดยา และใช้นิ้วหัวแม่มือวางอยู่ใต้ขวด)
- เขย่าขวดยาพ่นจมูกในแนวดิ่งทุกครั้งก่อนใช้ยา และในกรณีใช้ยาขวดใหม่ควรทดลองกดพ่นยาทิ้งสัก 2-3 ครั้ง เพื่อเป็นการไล่อากาศ
- สอดปลายหัวพ่นเข้ารูจมูก โดยให้ปลายหัวพ่นเฉียงไปทางด้านข้างเล็กน้อย คือชี้ไปทางหางตาข้างเดียวกับรูจมูกนั่นเอง (ไม่ควรพ่นยาเข้าหาผนังที่กั้นโพรงจมูก เพราะอาจทำให้เป็นแผลและมีเลือดกำเดาไหลได้)
- ก่อนพ่นยาให้นั่งตัวตรง ก้มหน้าเล็กน้อย แล้วจึงกดพ่นยาเข้าที่ช่องจมูกข้างละ 1-2 ครั้ง (ควรกดยาพ่นให้เร็วและแรงเพื่อช่วยให้ยากระจายตัวได้ดีในลักษณะเป็นละอองฝอย) และทำซ้ำขั้นตอนเดิมกับจมูกอีกข้าง
- เช็ดทำความสะอาดปลายหัวพ่นให้แห้งด้วยสำลีหรือทิชชู่สะอาด ปิดฝาให้เรียบร้อย และล้างมือให้สะอาด
ยาพ่นจมูกแต่ละยี่ห้อต่างกันอย่างไร ?
สำหรับยาพ่นจมูกกลุ่มยาแก้อาการคัดจมูกจะออกฤทธิ์เหมือน ๆ กัน แต่จะแตกต่างกันตรงตัวยาที่ใช้ ขนาดของยา และระยะเวลาการออกฤทธิ์ของยา ซึ่งตัวยาบางยี่ห้อก็สามารถออกฤทธิ์ได้ยาวนานถึง 12 ชั่วโมงต่อการพ่น 1 ครั้ง เช่น iliadin (ยาที่ออกฤทธิ์ยาวสามารถช่วยลดจำนวนการใช้ยาและลดโอกาสเกิดผลข้างเคียงจากยาให้น้อยลงได้) และ iliadin ก็มียาบรรเทาอาการคัดจมูกที่ใช้ในเด็กอายุ 1-6 ปีด้วย ซึ่งจะเป็นในรูปแบบของยาหยด
ตัวอย่างยาพ่นจมูก
ตัวอย่างยาพ่นจมูกที่ใช้ได้ผลดีและหาซื้อได้ง่ายตามร้านขายยาทั่วไป คือ อิลิอาดิน (iliadin) ยาพ่นจมูกที่มีส่วนผสมของตัวยาออกซีเมตาโซลีน ไฮโดรคลอไรด์ (Oxymetazoline hydrochloride) 0.05% ออกฤทธิ์ทำให้หลอดเลือดบริเวณจมูกหดตัว ตัวยาสามารถออกฤทธิ์ได้เร็วเฉพาะจุดและออกฤทธิ์อยู่ได้นาน 12 ชั่วโมง จึงช่วยให้หายใจได้สะดวก ตัวผลิตภัณฑ์ถูกออกแบบมาให้ใช้งานได้ง่ายและพกพาสะดวก จึงมักนิยมใช้แก้อาการคัดแน่นจมูกมากจากโรคหวัดทั่วไป
เอกสารอ้างอิง
- ฝ่ายเภสัชกรรม คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล. “ยาพ่นจมูก (Nasal spray)”. (ภก.วิชญ์ภัทร ธรานนท์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.rama.mahidol.ac.th. [05 ก.ย. 2020].
- พบแพทย์. “ยาพ่นจมูก”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.pobpad.com. [07 ก.ย. 2020].
- พบแพทย์. “Oxymetazoline (ออกซี่เมตาโซลีน)”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.pobpad.com. [09 ก.ย. 2020].
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)