ยาฝังคุมกำเนิด
ยาฝังคุมกำเนิด หรือ ยาคุมกำเนิดแบบฝัง (Contraceptive implant หรือ Implantable contraception) คือ วิธีการคุมกำเนิดแบบชั่วคราวชนิดหนึ่ง โดยเป็นการใช้ฮอร์โมนชนิดเดียว คือ โปรเจสติน (Progestin) ที่บรรจุเอาไว้ในหลอดหรือแท่งพลาสติกเล็ก ๆ ขนาดเท่าไม้จิ้มฟันชนิดกลม นำมาฝังเข้าไปที่ใต้ผิวหนังบริเวณใต้ท้องแขนด้านที่ไม่ถนัด ซึ่งฮอร์โมนจะค่อย ๆ ซึมผ่านออกมาจากแท่งยาเข้าสู่ร่างกายและไปยับยั้งการเจริญเติบโตของฟองไข่ ส่งผลทำให้ไม่มีการตกไข่ตามมา จึงช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ได้
ในอดีตยาฝังคุมกำเนิดจะเป็นฮอร์โมนที่บรรจุอยู่ในแท่งพลาสติกขนาดเล็กจำนวน 6 แท่ง (แต่ละแท่งมีขนาด 3.4 x 0.24 เซนติเมตร) ใช้สำหรับฝังเข้าไปที่ใต้ผิวหนังใต้ท้องแขนทั้ง 6 แท่ง (ฝังเป็นรูปพัด) สามารถช่วยคุมกำเนิดได้นาน 5 ปี เช่น ยา Norplant® (นอร์แพลนท์) ก่อนฝังจะต้องฉีดยาชาก่อน แล้วหมอจะใช้เข็มขนาดใหญ่เป็นตัวนำ ขั้นตอนการทำนั้นไม่ยุ่งยากครับ แต่จะมีปัญหาในเรื่องการถอดออก เพราะจะใช้เวลาในการถอดนานพอสมควร จึงไม่ค่อยได้รับความนิยมมากนักในอดีต
แต่ในปัจจุบันยาฝังคุมกำเนิดแบบใหม่ได้มีการพัฒนาให้ใช้งานได้ง่ายและสะดวกมากยิ่งขึ้น โดยจะใช้เพียงแค่ 1 แท่ง ฝังเข้าที่ใต้ผิวหนังใต้ท้องแขน เช่น Implanon® (อิมพลานอน) ตัวแท่งมีขนาด 4.0 x 0.20 เซนติเมตร มีชุดฝังบรรจุเสร็จพร้อมใช้งาน ทำให้ฝังได้สะดวกขึ้นมาก แต่จะคุมกำเนิดได้น้อย เพียง 3 ปี เนื่องจากมีแค่หลอดเดียว เมื่อครบกำหนดก็สามารถถอดออกได้โดยง่าย ถ้าต้องการจะคุมกำเนิดด้วยวิธีนี้ต่อก็สามารถฝังแท่งใหม่เข้าไปได้เลย นอกจากชนิด 1 แท่ง คุมกำเนิดได้ 3 ปี แล้ว ยังมีอีกชนิดหนึ่งที่สามารถใช้คุมกำเนิดได้นานถึง 5 ปี คือ Jadelle® (จาเดลล์) ตัวแท่งมีขนาด 4.3 x 0.25 เซนติเมตร มีอยู่ด้วยกัน 2 แท่ง ด้วยเหตุนี้จึงทำให้วิธีการคุมกำเนิดแบบฝังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ ส่วนอาการข้างเคียงก็จะคล้าย ๆ กับการฉีดยาคุมกำเนิดครับ แต่จะดีกว่าตรงที่ไม่ทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น และมีการเปลี่ยนแปลงของประจำเดือนน้อยกว่า
การออกฤทธิ์ของยาฝังคุมกำเนิด
ยาฝังคุมกําเนิด ประกอบไปด้วยฮอร์โมนโปรเจสติน (Progestin) เพียงชนิดเดียว จึงทำให้ไม่มีผลข้างเคียงจากฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) เหมือนกับการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด (ฮอร์โมนรวม) โดยฮอร์โมนที่ปล่อยออกมาจากแท่งยาฝังคุมกำเนิดจะมีผลทำให้ฟองไข่ไม่พัฒนา จึงไม่สามารถโตต่อไปจนตกไข่ได้ เมื่อไม่มีไข่ที่จะรอผสมกับเชื้ออสุจิ จึงไม่ทำให้เกิดการตั้งครรภ์ได้ นอกจากนี้ ฮอร์โมนโปรเจสตินที่ปล่อยออกมายังทำให้มูกที่ปากมดลูกเหนียวข้น ส่งผลให้เชื้ออสุจิว่ายผ่านเข้าไปยาก จึงช่วยลดโอกาสเกิดการผสมกับไข่ได้อีกทางหนึ่ง โดยยาฝังคุมกำเนิดที่นิยมใช้กันมากในปัจจุบันจะมีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิด ดังนี้
- Implanon® (ฝัง 1 แท่ง คุมกำเนิด 3 ปี) จะเป็นฮอร์โมน Etonogestrel 68 มิลลิกรัม แท่งยาฝังจะค่อย ๆ ปล่อยฮอร์โมนออกมาวันละ 70-60 ไมโครกรัม
- Jadelle® (ฝัง 2 แท่ง คุมกำเนิด 5 ปี) จะเป็นฮอร์โมน Levonorgestrel 75 มิลลิกรัม ที่ปล่อยฮอร์โมนออกมาวันละ 100-40 ไมโครกรัม ซึ่งระดับฮอร์โมนที่ปล่อยออกมาจะสูงในช่วงแรก ๆ แล้วจะค่อย ๆ ลดลงจนคงที่ระยะเวลาต่อมา
ประสิทธิภาพของยาฝังคุมกำเนิด
ถ้าจะบอกว่า “ยาฝังคุมกำเนิดเป็นวิธีการคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์สูงสุด” ก็คงจะไม่ผิด เพราะมีโอกาสล้มเหลวทำให้เกิดการตั้งครรภ์ได้น้อยมากรองจาก “การไม่มีเพศสัมพันธ์” เท่านั้น !! โดยจะมีโอกาสล้มเหลวทำให้เกิดการตั้งครรภ์ได้เพียง 0.05% (1 ใน 2,000 คน) ถึงตรงนี้หลายคนคงสงสัยว่า แล้วการทำหมัน การฉีดยาคุมกำเนิด รับประทานยาเม็ดคุมกำเนิด การใส่ห่วงอนามัย รวมถึงการสวมถุงยางอนามัยล่ะ ไม่ใช่วิธีการคุมกำเนิดที่มีอัตราการล้มเหลวต่ำที่สุดหรือ ? ขอตอบเลยว่า “ยังไม่ใช่” ครับ
เนื่องจากการทำหมันชายยังมีโอกาสล้มเหลวทำให้เกิดการตั้งครรภ์ได้อยู่ คือ 0.1% (1 ใน 666 คน), ยาฉีดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม (Cyclofem®) และการใส่ห่วงอนามัยชนิดโปรเจสโตเจนจะมีโอกาสล้มเหลวได้เท่ากัน คือ 0.2% (1 ใน 500 คน), ยาฉีดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยว (Depo-Provera®) เท่ากับ 0.2% (อัตราทั่วไป 6%), ยาเม็ดคุมกำเนิด เท่ากับ 0.3% (อัตราทั่วไป 9% หรือ 1 ใน 11 คน), การทำหมันหญิงแบบผูกท่อนำไข่ (Tubal ligation) เท่ากับ 0.5% (1 ใน 384 คน), การใส่ห่วงอนามัยหุ้มทองแดง เท่ากับ 0.6% (อัตราทั่วไป 0.8% หรือ 1 ใน 125 คน) และการสวมถุงยางอนามัย เท่ากับ 2% (อัตราทั่วไป 18% ที่จะล้มเหลวทำให้เกิดการตั้งครรภ์) ฯลฯ จากข้อมูลเหล่านี้จึงอาจระบุได้ว่า “ยาฝังคุมกำเนิดเป็นวิธีการคุมกำเนิดที่มีอัตราการล้มเหลวน้อยที่สุดในโลก” เลยก็ว่าได้ !!
ส่วนด้านล่างนี้เป็นตารางเปรียบเทียบระหว่างการคุมกำเนิดด้วยการใช้ยาฝังคุมกำเนิดกับวิธีการคุมกำเนิดแบบอื่น ๆ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจครับ
ยาฝังคุมกำเนิด|0.05 (1 ใน 2,000 คน)|0.05|ต่ำมาก
ทำหมันชาย|0.15 (1 ใน 666 คน)|0.1|ต่ำมาก
ห่วงอนามัยเคลือบฮอร์โมน|0.2 (1 ใน 500 คน)|0.2|ต่ำมาก
ยาฉีดคุมกำเนิด (ฮอร์โมนรวม)|0.2 (1 ใน 500 คน)|0.2|ต่ำมาก
ทำหมันหญิงแบบทั่วไป|0.5 (1 ใน 200 คน)|0.5|ต่ำมาก
ห่วงอนามัยหุ้มทองแดง|0.8 (1 ใน 125 คน)|0.6|ต่ำมาก
ยาฉีดคุมกำเนิด (ฮอร์โมนเดี่ยว)|6 (1 ใน 17 คน)|0.2|ปานกลาง
แผ่นแปะคุมกำเนิด|9 (1 ใน 11 คน)|0.3|ปานกลาง
วงแหวนคุมกำเนิด (NuvaRing)|9 (1 ใน 11 คน)|0.3|ปานกลาง
ยาเม็ดคุมกำเนิด|9 (1 ใน 11 คน)|0.3|ปานกลาง
ถุงยางอนามัยชาย|18 (1 ใน 5 คน)|2|สูง
การหลั่งนอก|22 (1 ใน 4 คน)|4|สูงมาก
การหลั่งใน (ไม่มีการป้องกัน)|85 (6 ใน 7 คน)|85|สูงมาก
ผู้ที่เหมาะจะใช้ยาฝังคุมกำเนิด
- ผู้ที่ลืมรับประทานยาคุมกำเนิดบ่อย ๆ หรือเป็นคนขี้ลืม
- ต้องการวิธีการคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพสูงสุดและคุมกำเนิดได้ในระยะยาว (ต้องการคุมกำเนิดในระยะเวลา 3-5 ปีขึ้นไป)
- ผู้ที่มีข้อห้ามในการใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจนจากการคุมกำเนิดรูปแบบอื่น เช่น สตรีที่อยู่ในช่วงกำลังให้นมบุตร (สามารถใช้ได้ถ้าทารกอายุมากกว่า 6 สัปดาห์)
ผู้ที่ไม่ควรใช้ยาฝังคุมกำเนิด
- สงสัยว่าตั้งครรภ์หรือยังไม่แน่ใจว่าตั้งครรภ์หรือไม่
- ไม่ชอบการฉีดยาหรือไม่ต้องการให้สิ่งใดมาฝังอยู่ใต้ผิวหนัง หรือกังวลเรื่องการมีประจำเดือนผิดปกติ
- มีปฏิกิริยาไวต่อส่วนประกอบของแท่งบรรจุฮอร์โมน
- ผู้ที่มีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอดหรือตามอวัยวะเพศต่าง ๆ โดยไม่ทราบสาเหตุ เนื่องจากยาฝังคุมกำเนิดอาจกระตุ้นให้เลือดออกได้มากขึ้น
- มีภาวะเลือดออกง่ายและหยุดยาก เนื่องจากยาฝังคุมกำเนิดอาจไปรบกวนการทำงานของเกล็ดเลือดที่มีหน้าที่ช่วยทำให้เลือดแข็งตัวในภาวะเลือดออกได้
- ผู้ที่สงสัยหรือเป็นมะเร็งของอวัยวะสืบพันธุ์ เช่น มะเร็งเต้านม หรือมีประวัติเคยเป็นมะเร็งเต้านม เนื่องจากยาฝังคุมกำเนิดอาจไปกระตุ้นให้เซลล์มะเร็งลุกลามแพร่กระจายได้
- ผู้ที่เป็นโรคตับ เนื่องจากผลข้างเคียงของยาฝังอาจส่งผลทำให้เกิดตับอักเสบเพิ่มขึ้นได้
- มีข้อห้ามในการใช้ฮอร์โมนโปรเจสโตเจน หรือมีเนื้องอกที่สัมพันธ์กับการใช้โปรเจสโตเจน
- ส่วนข้อมูลจาก siamhealth.net ระบุว่า ผู้ที่เป็นโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคลมชัก โรคถุงน้ำดี ไม่ควรใช้ยาฝังคุมกำเนิด
หมายเหตุ : ควรขอคำแนะนำจากแพทย์จะดีที่สุด
วิธีการฝังยาคุมกำเนิด
เมื่อตัดสินใจได้แล้วว่า จะคุมกำเนิดโดยใช้ยาฝังคุมกำเนิด คุณสามารถไปขอรับบริการได้ที่โรงพยาบาลประจำอำเภอขนาดใหญ่หรือโรงพยาบาลประจำจังหวัด หรือสอบถามตามคลินิกสูตินรีเวชต่าง ๆ โดยการฝังยาสามารถทำได้ที่ห้องตรวจผู้ป่วยนอกได้เลย และไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาลแต่อย่างใด ซึ่งจะใช้เวลาไม่นาน แค่ประมาณ 10-20 นาทีก็เสร็จแล้วครับ (จริงแล้ว ๆ ใช้เวลาฝังเฉลี่ยเพียง 1-2 นาที เท่านั้นแหละครับ ไม่ทันรู้ตัวก็เสร็จแล้ว)
เวลาที่เหมาะสมในการฝังยาคุมกำเนิด : ควรรับการฝังยาคุมกำเนิดภายใน 5 วันแรกหลังมีประจำเดือน หรือภายหลังการแท้งบุตรไม่เกิน 1 สัปดาห์ หรือหลังการคลอดบุตรไม่เกิน 4-6 สัปดาห์
ค่าใช้จ่ายในการฝังยาคุมกำเนิด : ถ้าฝังยาคุมกำเนิดในโรงพยาบาลของรัฐจะมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ประมาณ 2,500-4,000 บาท แต่ถ้าเป็นโรงพยาบาลเอกชนหรือตามคลินิกค่าบริการจะเพิ่มขึ้นมาพอสมควรครับ อยู่ที่ประมาณ 5,000-7,000 บาท ซึ่งก็แล้วแต่สถานที่ครับ ส่วนในเด็กอายุน้อยกว่า 20 ปี ตอนนี้มีสวัสดิการฝังให้ฟรีนะครับ ถ้าใครสนใจก็ไปติดต่อขอรับบริการที่โรงพยาบาลใกล้บ้านได้เลย
ขั้นตอนการฝังยาคุมกำเนิด : เริ่มแรกแพทย์จะทำรอยขนาดเล็กไว้บนท้องแขนด้านในข้างที่ต้องการจะฝังยา ทำความสะอาดผิวหนังด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ แล้วทำการฉีดยาชาเฉพาะที่เข้าที่ใต้ท้องแขน ซึ่งอาจทำให้เจ็บบ้างเล็กน้อย แต่จะช่วยทำให้การฝังยาไม่รู้สึกเจ็บ (ขั้นตอนการทำไม่ต้องดมยาสลบแต่อย่างใด) จากนั้นแพทย์จะใช้เข็มนำเปิดแผลที่ท้องแขนขนาด 0.3 เซนติเมตร และทำการสอดใส่แท่งตัวนำหลอดยาที่มียาบรรจุอยู่เข้าไปในเข็มนำนี้ หลังจากหลอดยาเข้าไปเรียบร้อยแล้วก็จะถอนแท่งนำยาและเข็มนำออก แล้วทำการปิดแผล (โดยไม่ต้องเย็บแผล) ด้วยปลาสเตอร์เล็ก ๆ แล้วพันแผลด้วยผ้าพันแผลพันทับอีกชั้นหนึ่งก็เป็นอันเสร็จ และแพทย์จะให้ยาแก้ปวดกลับไปรับประทานหากมีอาการปวดแผล โดยผ้าพันแผลจะต้องพันทิ้งไว้ประมาณ 24 ชั่วโมง เพื่อป้องกันเลือดออกหรือหยุดจุดเลือดต่าง ๆ ในวันรุ่งขึ้นอาจพบว่า มีรอยฟกช้ำและเจ็บแขนเล็กน้อยบริเวณรอบ ๆ แท่งฮอร์โมนอยู่ประมาณ 1 สัปดาห์ แล้วรอยฟกช้ำจะค่อย ๆ หายไปเอง โดยรอยแผลจะเริ่มหายเป็นปกติภายใน 3-5 วัน หลังจากทำไปแล้วห้ามให้ถูกน้ำ 7 วัน เมื่อครบ 7 วัน แพทย์จะนัดมาดูแผลอีกครั้ง
ข้อปฏิบัติภายหลังการฝังยาคุมกำเนิด : หลังฝังยาคุมกำเนิด ควรปิดแผลไว้ประมาณ 3-5 วัน โดยไม่ให้แผลถูกน้ำ และควรมาตรวจหลังจากการฝังยา 7 วัน เพื่อดูความผิดปกติ ในระหว่างนี้ควรหลีกเลี่ยงการถูกกระทบกระแทกบริเวณที่ฝังยาคุมกำเนิด และต้องมาเปลี่ยนยาฝังคุมกำเนิดตามที่แพทย์นัด (ห้ามลืม) ถ้ามีอาการผิดปกติ เช่น มีอาการของการตั้งครรภ์ แผลมีเลือด มีน้ำเหลือง มีหนอง บวมแดง คุณควรรีบไปพบแพทย์ทันที
ภาพ 1 : ภาพด้านล่างคือก่อนและหลังทำเสร็จครับ ภาพแรกคือยาฝังคุมกำเนิด
ชนิด Implanon® (ภาพ : pantip.com by -jj-)
ภาพ 2 : หลังทำเสร็จ พันด้วยผ้าอีลาสติก
ภาพ 3 : เมื่อครบ 24 ชั่วโมง ก็ถอดผ้าอีลาสติกออก จะเห็นปลาสเตอร์กันน้ำเหมือนตอนผ่าคลอด (กันน้ำได้ 100%)
ภาพ 4 : เป็นภาพหลังจากฝังยาคุมกำเนิดไปแล้ว 1 สัปดาห์ โดยแกะปลาสเตอร์กันน้ำและผ้าปิดแผลออก จากภาพจะเห็นว่าแผลมีขนาดเล็กมาก จขกท. (-jj-) บอกว่าเมื่อลองคลำดูก็ไม่เจอแท่งยานะครับ
ขั้นตอนการถอดยาฝังคุมกำเนิด : หากต้องการมีลูกหรือเปลี่ยนยาฝังคุมกำเนิดเมื่อครบตามกำหนด (3 หรือ 5 ปี) คุณสามารถไปถอดยาฝังคุมกำเนิดออกได้ตามโรงพยาบาลทั่วไป ซึ่งการถอดยาฝังคุมกำเนิดก็ใช้เวลาไม่นานครับ พอ ๆ กับตอนใส่ คือ ประมาณ 10-20 นาที (จริง ๆ แล้วแค่ตอนถอด 3-4 นาทีก็เสร็จแล้ว) สามารถทำได้เลยที่ห้องตรวจผู้ป่วยนอก โดยไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล แต่แผลจากการถอดยาฝังนี้จะใหญ่กว่าตอนใส่เล็กน้อยครับ และอาจต้องเย็บแผลด้วยไหม 1 เข็ม ซึ่งแพทย์จะมีการฉีดยาชาเฉพาะที่เล็กน้อยข้างใต้ส่วนปลายของแท่งฮอร์โมน และกรีดแผลขนาดเล็กที่ผิวหนัง แล้วจึงดันหรือใช้อุปกรณ์ดึงแท่งฮอร์โมนออกมาตามรอยแผลที่กรีดไว้ เสร็จแล้วรัดแผลด้วยผ้าพันแผล ซึ่งต้องพันทิ้งไว้ประมาณ 24 ชั่วโมง ถ้าต้องการมีลูก หลังจากถอดยาฝังคุมกำเนิดออกแล้ว ผลการคุมกำเนิดจะลดลงอย่างรวดเร็วและภาวะเจริญพันธุ์จะสามารถกลับมาเป็นปกติ ผู้หญิงส่วนใหญ่จะเริ่มมีประจำเดือนได้ตามปกติภายใน 1-12 เดือน (โดยทั่วไปประมาณ 1-3 เดือน ผู้หญิงส่วนใหญ่ก็มีไข่ตกแล้วครับ) ขึ้นอยู่กับความแข็งแรงและอายุของสตรี รวมทั้งระยะเวลาในการคุมกำเนิดก่อนหน้านี้ด้วย ส่วนในกรณีที่ต้องการคุมกำเนิดต่อไปโดยใช้วิธีเดิม ก็สามารถเปลี่ยนและฝังแท่งฮอร์โมนอันใหม่ได้ทันทีที่เอาแท่งฮอร์โมนอันเดิมออก ส่วนภาพด้านล่างนี้คือขั้นตอนการถอดยาฝังคุมกำเนิดครับ
เมื่อไหร่ที่ต้องไปพบแพทย์ก่อนกำหนดนัด ? : เมื่อมีอาการปวดแขนข้างที่ฝังยาคุมกำเนิดแบบผิดปกติ หรือมีอาการอักเสบ เป็นแผลบวม แดงร้อน หรือเป็นหนอง, มีอาการปวดศีรษะมากผิดปกติ, หายใจลำบาก แน่นหน้าอก (อาการของการแพ้ยา), แขน ขา อ่อนแรง (อาจเป็นอาการของภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำหรือโรคทางสมอง)
ประโยชน์ของยาฝังคุมกำเนิด
- ช่วยลดอาการปวดประจำเดือน
- ช่วยลดโอกาสการเกิดอาการซีดจากการมีประจำเดือนมามากผิดปกติ ซึ่งเกิดจากการหนาตัวของเยื่อบุโพรงมดลูก
- ช่วยป้องกันการหนาตัวของเยื่อบุโพรงมดลูก จึงช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกได้
ผลข้างเคียงของการฝังยาคุมกำเนิด
- ในระยะเวลา 2-3 เดือนแรก ประจำเดือนอาจมาไม่สม่ำเสมอ ประจำเดือนมาแบบกะปริดกะปรอย หรือตกขาวมาก ซึ่งเป็นอาการพบได้มากที่สุด แต่ก็พบได้ไม่มากครับ หรือในบางรายประจำเดือนมามากติดต่อกันหลายวัน ไม่มีประจำเดือน หรือประจำเดือนขาดไปเลยก็มีครับ บางครั้งก็อาจจำเป็นต้องใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจน 0.05 มิลลิกรัม วันละ 1 เม็ด ประมาณ 7-10 วัน เพื่อช่วยลดอาการเลือดออกกะปริดกะปรอย
- บางรายอาจมีอาการปวดท้องน้อยและปวดประจำเดือนบ้างในระยะ 2-3 เดือนแรก
- ในระยะแรกอาจมีอาการปวดแขนบริเวณที่ฝังแท่งยาคุมกำเนิด
- แผลที่ฝังยาคุมกำเนิดอาจเกิดการอักเสบหรือมีรอยแผลเป็นได้
- มีอารมณ์แปรปรวน
- มีอาการปวดหรือเจ็บเต้านม
- บางรายอาจมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น (แต่ปัจจัยหลักคืออาหารครับ ถ้าควบคุมอาหารได้ก็ไม่มีปัญหาอะไร)
- อาจทำให้เกิดภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ
- หากเกิดการตั้งครรภ์ขึ้น จะมีโอกาสการตั้งครรภ์นอกมดลูกได้มากกว่าปกติ
- ส่วนข้อมูลจาก siamhealth.net ระบุว่า มีผลข้างเคียงทำให้เป็นสิว ขนดก และมีความต้องการทางเพศลดลง (ข้อมูลอื่นไม่ได้ระบุไว้)
ข้อดีของยาฝังคุมกำเนิด
- ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดสูงมาก (สูงที่สุดในโลก) รองจากการไม่มีเพศสัมพันธ์ ชนิดที่ว่ายาเม็ดคุมกำเนิดก็เทียบไม่ติด !!
- เป็นวิธีที่มีความสะดวก ฝังครั้งเดียวสามารถคุมกำเนิดได้นาน 3-5 ปี (แล้วแต่ชนิดของยา)
- ไม่ต้องรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดทุกวัน จึงช่วยลดโอกาสการลืมกินยา หรือลดโอกาสฉีดยาคุมคลาดเคลื่อนไม่ตรงกำหนด ที่ต้องไปฉีดยาทุก ๆ 1-3 เดือน
- เนื่องจากยาฉีดคุมกำเนิดมีฮอร์โมนโปรเจสตินเพียงอย่างเดียว จึงทำให้ไม่ได้รับผลข้างเคียงจากฮอร์โมนเอสโตรเจนเหมือนการคุมกำเนิดรูปแบบอื่น เช่น คลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียนศีรษะ เป็นฝ้า ฯลฯ
- สามารถเลิกใช้เมื่อใดก็ได้ เมื่อต้องการจะมีบุตรหรือเปลี่ยนเป็นใช้วิธีการคุมกำเนิดแบบอื่น
- ใช้ได้ดีในผู้ที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพราะไม่มีผลต่อการหลั่งของน้ำนม
- ไม่ทำให้การทำงานของตับเปลี่ยนแปลง
- หลังจากถอดออกจะสามารถมีลูกได้เร็วกว่าการฉีดยาคุมกำเนิด เนื่องจากฮอร์โมนกระจายออกในปริมาณน้อยและไม่มีการสะสมในร่างกาย
- มีผลพลอยได้จากการใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจน เช่น ทำให้อาการปวดประจำเดือนมีน้อยลง, ลดโอกาสการตั้งครรภ์นอกมดลูก, ป้องกันการเกิดมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก, ลดอุบัติการณ์ของภาวะโลหิตจาง ฯลฯ
ข้อเสียของยาฝังคุมกำเนิด
- การฝังและการถอดจะต้องทำโดยแพทย์ที่ได้รับการอบรมแล้ว (ไม่สามารถถอดหรือฝังโดยแพทย์ทั่วไปได้) จึงไม่สามารถใช้หรือถอดได้เอง
- ในบางรายสามารถคลำแท่งยาในบริเวณท้องแขนได้
- ประจำเดือนอาจมาแบบกะปริดกะปรอย จึงทำให้ต้องใส่ผ้าอนามัยอยู่เสมอ จะไม่ใส่ก็ไม่ได้ เพราะบางครั้งก็มาแบบไม่ทันตั้งตัว ซึ่งหลาย ๆ คน กังวลกับปัญหาเหล่านี้ (แต่เมื่อผ่านระยะหนึ่งปีขึ้นไปแล้ว ปัญหาเหล่านี้จะน้อยลง)
- อาจพบภาวะแทรกซ้อนหลังการฝังยาคุมกำเนิดได้ เช่น มีก้อนเลือดคั่งบริเวณที่กรีดผิวหนัง
- อาจพบว่าตำแหน่งของแท่งยาเคลื่อนไปจากตำแหน่งเดิม (พบได้น้อย)
เอกสารอ้างอิง
- สำนักส่งเสริมสุขภาพ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข. “ยาฝัง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : hp.anamai.moph.go.th. [08 ต.ค. 2015].
- FAMILY PLANNING NSW. “ยาคุมกำเนิดชนิดฝัง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.fpnsw.org.au. [09 ต.ค. 2015].
- หาหมอดอทคอม. “ยาฝังคุมกำเนิด”. (รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิง ประนอม บุพศิริ). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : haamor.com. [09 ต.ค. 2015].
- หน่วยงานวางแผนครอบครัว โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ จังหวัดนครสวรรค์. “ยาฝังคุมกำเนิด”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : health.spr.go.th. [09 ต.ค. 2015].
- Siamhealth. “การคุมกำเนิดโดยการฝังฮอร์โมน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.siamhealth.net. [09 ต.ค. 2015].
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)