ยาทาแก้ปวดกล้ามเนื้อ…สูตรร้อน/เย็น เลือกใช้แบบไหน ยี่ห้อไหนดี ?

ยาทาแก้ปวดกล้ามเนื้อ…สูตรร้อน/เย็น เลือกใช้แบบไหน ยี่ห้อไหนดี ?

เคยเป็นไหม ? จะซื้อยาทาแก้ปวดกล้ามเนื้อแต่ละที ตาลายทุกที มีเป็นสิบสามสิบยี่ห้อ แถมยังมีทั้งสูตรเย็น สูตรร้อนอีก แล้วแบบนี้จะเลือกยังไง ? บทความนี้มีคำตอบ…

ยาทาแก้ปวดมีกี่แบบ มีตัวยาอะไรบ้าง ?

ในปัจจุบันยานวดยาทาแก้ปวดกล้ามเนื้อจะมีให้เลือกใช้หลากหลายแบบด้วยกัน ทั้งแบบเจล, แบบครีม, แบบน้ำ, แบบสเปรย์พ่น และแบบแผ่นแปะ ซึ่งส่วนผสมในยาทาแก้ปวดเหล่านี้ส่วนใหญ่ก็มักจะเป็น Menthol (สูตรเย็น), Methyl salicylate (สูตรร้อน) หรือแบบที่เป็นตัวยา NSAIDs (สูตรผสมตัวยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์) ซึ่งแต่ละแบบก็จะมีคำแนะนำในการใช้ที่แตกต่างกันไปดังที่กำลังจะกล่าวถึงในหัวข้อด้านล่างครับ

  • NSAIDs (เอ็นเสด) : ยาบรรเทาอาการอักเสบที่ไม่สเตียรอยด์ (non-steroidal anti-inflammatory drugs หรือ NSAIDs) มีฤทธิ์ลดอาการปวดและอักเสบ ตัวยาที่นิยมนำมาใช้ในยาทาแก้ปวดก็จะมี Diclofenac (ไดโคลฟีแนค), Diethylamine salicylate (ไดเอทิลลามีนซาลิไซเลต), Piroxicam (ไพร็อกซิแคม), Ibuprofen (ไอบูโพรเฟน), Ketoprofen (คีโตโพรเฟน), Indomethacin (อินโดเมทาซิน), Nimesulide (นิมีซูไลด์) เป็นต้น
  • Methyl salicylate (เมทิลซาลิไซเลต) : หลัก ๆ แล้วจะมีฤทธิ์ลดอาการปวด ให้ความรู้สึกร้อน ช่วยคลายอาการปวดได้ดี เพราะสามารถซึมผ่านผิวหนังได้อย่างอิสระและออกฤทธิ์ลดอาการปวดบริเวณที่มีอาการได้
  • Menthol (เมนทอล) : มีฤทธิ์ทำให้เส้นเลือดหดตัว ช่วยให้อาการปวด บวม แดงจะบรรเทาลง
  • อื่น ๆ เช่น
    • Aescin (เอสซิน) เป็นสารสกัดจากพืช Horse Chest Nut มีฤทธิ์ยับยั้งกระบวนการอักเสบ ลดอาการบวม (เมื่อมีการอักเสบเกิดขึ้นจะมีผลเพิ่มการผ่านของสารออกจากหลอดเลือด ซึ่ง Aescin จะมีฤทธิ์ยับยั้งการผ่านของสารจากหลอดเลือดเข้าสู่ช่องว่างของเนื้อเยื่อและเร่งการดูดกลับของสารน้ำที่ออกมา อันทำให้เกิดอาการบวม) และมีฤทธิ์เพิ่มความต้านทานของหลอดเลือดฝอย กำจัดอนุมูลอิสระ รวมถึงยับยั้งการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด
    • Camphor (การบูร) มีสรรพคุณช่วยแก้อาการปวด แก้เคล็ดบวม ขัดยอก แพลง อาการปวดข้อ ปวดเส้นประสาท รวมถึงรอยผิวหนังแห้งแตก

ยาทาในท้องตลาดช่วยรักษาอาการอะไรได้บ้าง ?

  • อาการตึงตัวของกล้ามเนื้อ
  • ปวดหลัง ปวดคอเนื่องจากนั่งทำงานหน้าคอมเป็นระยะเวลานาน
  • คอเคล็ด
  • การพลิก ขาพลิก หรือเคล็ด ขัดยอก
  • อาการฟกช้ำบวมจากการกระแทก
  • การบาดเจ็บระหว่างออกกำลังกาย
  • อาการปวดของกล้ามเนื้อ
  • ข้ออักเสบ

ควรใช้ยานวดสูตรร้อนหรือสูตรเย็น ​?

  1. ยาสูตรเย็น : เป็นยาที่มีส่วนผสมหลักเป็น Menthol เหมาะกับการบาดเจ็บแบบเฉียบพลัน เช่น เพิ่งเกิดอุบัติเหตุ เพิ่งเจ็บ ร่วมกับมีอาการปวดบวม แดง อักเสบ เพราะความเย็นจะช่วยให้เส้นเลือดหดตัว ทำให้เลือดออกน้อยลง และช่วยลดอาการปวดบวมแดงได้ โดยให้เริ่มใช้ภายใน 24-48 ชั่วโมง
  2. ยานวดสูตรร้อน : เป็นยาทาที่มีส่วนผสมหลักเป็น Methyl salicylate เหมาะกับอาการปวดแบบไม่กระทันหัน ซึ่งอาจเป็นอาการปวดเรื้อรัง ปวดตึงกล้ามเนื้อ ปวดเคล็ดขัดยอก ปวดเมื่อยเบา ๆ ที่ไม่เจ็บมากนัก แต่ยังไม่หายสักที เนื่องจากยานวดสูตรร้อนจะช่วยทำให้หลอดเลือดขยายตัว ทำให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น เวลาทานวดแล้วจะทำให้ผิวบริเวณนั้นรู้สึกร้อน ๆ จึงช่วยบรรเทาอาการปวดเมื่อยปวดตึงกล้ามเนื้อได้ โดยให้เริ่มใช้หลังจากมีอาการผ่านไปแล้ว 48 ชั่วโมง

การเลือกใช้ยาทาแก้ปวดให้ตรงกับอาการ

  • เจ็บปวดแบบกระทันหัน (บาดเจ็บแบบเฉียบพลัน) : ควรเลือกใช้ยาทาสูตรเย็นเพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดแบบฉับพลันเพื่อเป็นการปฐมพยาบาลเบื้องต้น หรือจะให้สะดวกรวดเร็วก็อาจเลือกใช้แบบสเปรย์เย็นกระป๋องสีเขียวก็ได้
  • ปวดและมีการอักเสบร่วมด้วย (เจ็บ บวม แดง) : ควรเลือกใช้ยาทาที่มีส่วนผสมหลักเป็นยา NSAIDs และตัวยา Diethylamine salicylate ที่สามารถช่วยบรรเทาอาการปวด ตึง กล้ามเนื้อ และอักเสบ ในระยะถัดมาหลังเกิดการบาดเจ็บเฉียบพลันได้
  • ปวดแต่ไม่มีการอักเสบ (ปวดแบบเมื่อย ๆ ไม่บวม แดง หรือเจ็บ) : ควรเลือกใช้ยานวดหลอดสีเขียวสูตรร้อนที่มีส่วนผสมหลักเป็น Methyl salicylate, Menthol และ Eugenol ซึ่งจะช่วยคลายอาการปวด และช่วยให้กล้ามเนื้อผ่อนคลายได้
คำแนะนำและข้อควรระวังอื่น ๆ
  1. ควรใช้ยาทานวดเบา ๆ บริเวณที่มีอาการปวดเมื่อยวันละ 3-4 ครั้ง เป็นระยะเวลา 1- 2 สัปดาห์ แต่หากใช้นานเกิน 2 สัปดาห์แล้วอาการยังไม่หายไป หรือใช้ไป 2-3 วันแล้วอาการยังไม่ดีขึ้นเลย คือยังรู้สึกเจ็บมากเหมือนเดิม มือหรือแขนยังไม่สามารถใช้งานได้หรือไม่สามารถเดินลงน้ำหนักได้หรือเดินได้ไม่ปกติ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุและรับการรักษาที่ถูกต้องต่อไป
  2. ไม่ควรทายานวดบริเวณที่มีบาดแผลเปิดหรือมีเลือดออกหรือบริเวณผิวหนังที่ระคายเคือง และควรระวังอย่าให้เข้าตาหรือทาบริเวณใกล้ดวงตา
  3. อย่าใช้ผ้าพันแน่นตรงบริเวณที่ทายา และอย่าใช้ความร้อนช่วย เช่น การประคบความร้อนตรงบริเวณที่ทายา เพราะสิ่งเหล่านี้จะเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดอาการข้างเคียงต่อผิวหนังรวมถึงอาจทำให้เกิดผิวหนังไหม้รุนแรงได้
  4. หากใช้แล้วเกิดปฏิกิริยาทางผิวหนังอย่างรุนแรง เช่น เกิดอาการปวด บวม หรือเกิดตุ่มพอง ให้หยุดใช้ยาในทันทีและรักษาความผิดปกติที่เกิดขึ้น
  5. การใช้ยาทาแก้ปวดกล้ามเนื้อทุกสูตรควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกร และควรปฏิบัติตามข้อแนะนำที่ระบุในเอกสารที่เป็นข้อมูลผลิตภัณฑ์ หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่ใช้ให้สอบถามแพทย์หรือเภสัชกร

ตัวอย่างยาทาแก้ปวด

  1. ยาทาแก้ปวดสูตรร้อน : ตัวอย่างครีมนวดสูตรร้อน ที่มีส่วนผสมของ Methyl salicylate, Menthol และ Eugenol
    ยาทาแก้ปวดสูตรร้อน
    IMAGE SOURCE : Medthai.com

  2. ยาแก้ปวดสูตรเย็น : ตัวอย่างสเปรย์สูตรเย็น ที่มีส่วนผสมหลักคือ Menthol และ D-Camphor
    ยาแก้ปวดสูตรเย็น
    IMAGE SOURCE : Medthai.com

  3. ยาทาแก้ปวดผสมตัวยา NSAIDs : ตัวอย่างเช่นเจลสูตรเย็น ที่มีส่วนผสมหลักเป็นยา Diethylamine salicylate (มีฤทธิ์ลดอาการปวดและอักเสบ สามารถซึมผ่านผิวหนังได้อย่างอิสระและออกฤทธิ์ลดอาการปวดที่บริเวณผิวหนังที่มีอาการ) และมี Aescin (มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ลดบวม) ที่ช่วยเสริมฤทธิ์ต้านการอักเสบซึ่งกันและกันได้เป็นอย่างดี
    ยาทาแก้ปวดผสมตัวยา NSAIDs
    IMAGE SOURCE : Medthai.com

สรุป ยาทาแก้ปวดกล้ามเนื้อมีอยู่ด้วยกันหลายแบบ หลัก ๆ ก็จะเป็นแบบครีม/เจล และที่สะดวกต่อการใช้งานหน่อยก็จะมีเป็นรูปแบบสเปรย์ ซึ่งแต่ละแบบก็จะมีตัวยาที่ใช้แตกต่างกันไปและยังมีแยกเป็นสูตรร้อนสูตรเย็นด้วย ผู้บริโภคจึงควรเลือกซื้อมาใช้ให้ตรงกับสถาการณ์และและตรงกับอาการที่เป็น แต่ไม่ว่าจะเป็นยาทารูปแบบไหน ก่อนใช้เราต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอครับ ทั้งนี้ก็เพื่อความปลอดภัยและเพื่อให้มั่นใจได้ว่ายาทาแก้ปวดกล้ามเนื้อที่ซื้อมาใช้นั้นตรงกับลักษณะอาการที่เป็นอยู่แล้วจริง ๆ หวังว่าบทความนี้จะมีประโยชน์ครับ

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด