ยาฆ่าเชื้ออสุจิ : 13 ข้อดี-ข้อเสีย & ประสิทธิภาพของยาฆ่าอสุจิ !!

ยาฆ่าเชื้ออสุจิ

ยาฆ่าเชื้ออสุจิ หรือ ยาฆ่าอสุจิ (Spermicide) คือ การคุมกำเนิดแบบชั่วคราววิธีหนึ่ง ที่มีความปลอดภัย โอกาสเกิดผลข้างเคียงมีน้อย โดยเป็นการใส่ยาเข้าไปในช่องคลอดก่อนที่จะมีเพศสัมพันธ์ เพื่อให้ตัวยาทำลายหรือฆ่าเชื้ออสุจิหลังจากการมีเพศสัมพันธ์และมีการหลั่งน้ำอสุจิในช่องคลอด ตัวยาจะทำให้เชื้ออสุจิที่อยู่ในช่องคลอดตาย ทำให้ไม่สามารถเข้าสู่มดลูกไปผสมกับไข่ได้ เมื่อไม่มีการผสมกับไข่ จึงไม่ทำให้เกิดการตั้งครรภ์ ซึ่งยาฆ่าเชื้ออสุจิที่นำมาใช้กันในปัจจุบันก็มีอยู่หลากหลายรูปแบบด้วยกัน เช่น ยาเหน็บช่องคลอด ยาเม็ดฟองฟู่ ฟองอัดในกระป๋อง ครีม เยลลี่ เป็นต้น

รูปแบบของยาฆ่าเชื้ออสุจิ

สารที่นิยมนำมาใช้ทำเป็นยาฆ่าอสุจิมากที่สุด คือ Nonoxynol-9 (สารประกอบอินทรีย์ที่มีคุณสมบัติฆ่าเชื้ออสุจิได้) ซึ่งมีอยู่ในผลิตภัณฑ์หลายรูปแบบ เช่น ยาเม็ดฟองฟู่, ฟองอัดในกระป๋อง, ยาเหน็บช่องคลอด, แบบเยลลี่, แบบครีม, แบบโฟม (โดยการฉีดจากกระป๋อง), แบบแผ่นฟิล์มบาง ๆ เป็นต้น ซึ่งเมื่อสอดหรือใส่ยาเข้าไปในช่องคลอดของสตรีแล้ว ตัวยาจะเข้าไปเคลือบบริเวณปากมดลูกและคอยทำลายเชื้ออสุจิที่ผ่านเข้ามา เพื่อป้องกันไม่ให้อสุจิเข้าไปผสมกับไข่ได้

นอกจากรูปแบบดังที่กล่าวมาแล้ว ยาฆ่าเชื้ออสุจิยังมีอยู่ในรูปแบบอื่น ๆ อีกด้วย คือ การเคลือบยาฆ่าเชื้ออสุจิในถุงยางอนามัยของฝ่ายชาย และเคลือบยาฆ่าเชื้ออสุจิในฟองน้ำคุมกำเนิดสตรี (Contraceptive sponge ซึ่งเป็นสารสังเคราะห์ที่มีลักษณะเป็นก้อนกลมที่มีรูพรุนเล็ก ๆ จำนวนมากคล้ายฟองน้ำ และเคลือบไปด้วยสารฆ่าเชื้ออสุจิ เมื่อใส่เข้าไปในช่องคลอดโดยให้ไปคลุมอยู่ที่ปากมดลูกเพื่อช่วยคุมกำเนิด) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดให้ดียิ่งขึ้น

การออกฤทธิ์ของยาฆ่าเชื้ออสุจิ

สารฆ่าอสุจิจะไปทำให้ตัวอสุจิไม่เคลื่อนไหว ทำลายหรือฆ่าตัวอสุจิ ทำให้ตัวอสุจิไม่สามารถผ่านปากโพรงมดลูกเข้าไปผสมกับไข่ของฝ่ายหญิงได้

ประสิทธิภาพของยาฆ่าเชื้ออสุจิ

ตามหลักแล้วการใช้ยาฆ่าเชื้ออสุจิอย่างถูกต้อง (Perfect use) จะมีโอกาสล้มเหลวทำให้เกิดการตั้งครรภ์ได้ประมาณ 18% ซึ่งหมายความว่า จำนวนการตั้งครรภ์ต่อปี (first year of use) ของสตรีที่คุมกำเนิดด้วยการใช้ยาฆ่าเชื้ออสุจิจำนวน 100 คน จะมีโอกาสตั้งครรภ์ประมาณ 18 คน แต่โดยทั่วไปแล้วจากการใช้งานจริง (Typical use) กลับพบว่าอัตราการล้มเหลวทำให้เกิดการตั้งครรภ์จะเพิ่มสูงมากขึ้นเป็น 28% หรือคิดเป็นเกือบ 1 ใน 3 คน จากผู้ที่คุมกำเนิดด้วยวิธีนี้ (วิธีนี้เป็นวิธีที่มีโอกาสล้มเหลวสูงสุดของการคุมกำเนิดด้วยวิธีทางการแพทย์) ซึ่งสาเหตุก็น่าจะมาจากการใช้ยาที่ไม่ถูกต้อง สอดยาตื้นเกินไป หรือมีเพศสัมพันธ์ก่อนที่ตัวยาจะออกฤทธิ์อย่างเต็มที่ องค์การอนามัยโลกจึงมีคำแนะนำว่า ควรใช้ยาฆ่าเชื้ออสุจิร่วมกับวิธีการคุมกำเนิดอย่างอื่นอยู่เสมอ เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการคุมกำเนิดให้มีมากขึ้น เช่น การสวมถุงยางอนามัย, หมวกครอบปากมดลูก, การคุมกำเนิดด้วยวิธีธรรมชาติ เช่น การนับวัน การหลั่งนอก เป็นต้น ส่วนด้านล่างนี้เป็นตารางเปรียบเทียบระหว่างการคุมกำเนิดด้วยวิธีการใช้ยาฆ่าเชื้ออสุจิกับวิธีการคุมกำเนิดแบบอื่น ๆ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจครับ

วิธีคุมกำเนิด|การใช้แบบทั่วไป|การใช้อย่างถูกต้อง|ระดับความเสี่ยง
ยาฝังคุมกำเนิด|0.05 (1 ใน 2,000 คน)|0.05|ต่ำมาก
ทำหมันชาย|0.15 (1 ใน 666 คน)|0.1|ต่ำมาก
ห่วงอนามัยเคลือบฮอร์โมน|0.2 (1 ใน 500 คน)|0.2|ต่ำมาก
ยาฉีดคุมกำเนิด (ฮอร์โมนรวม)|0.2 (1 ใน 500 คน)|0.2|ต่ำมาก
ทำหมันหญิงแบบทั่วไป|0.5 (1 ใน 200 คน)|0.5|ต่ำมาก
ห่วงอนามัยหุ้มทองแดง|0.8 (1 ใน 125 คน)|0.6|ต่ำมาก
หมวกครอบปากมดลูกแบบ Lea’s Shield (สตรีที่ไม่มีบุตร)|5 (1 ใน 20 คน)|ไม่มีข้อมูล|ต่ำ
ยาฉีดคุมกำเนิด (ฮอร์โมนเดี่ยว)|6 (1 ใน 17 คน)|0.2|ปานกลาง
หมวกครอบปากมดลูกแบบ FemCap|7.6 (1 ใน 13 คน)|ไม่มีข้อมูล|ปานกลาง
หมวกครอบปากมดลูกแบบ Prentif (สตรีที่ไม่มีบุตร)|9 (1 ใน 11 คน)|16|ปานกลาง
แผ่นแปะคุมกำเนิด|9 (1 ใน 11 คน)|0.3|ปานกลาง
วงแหวนคุมกำเนิด (NuvaRing)|9 (1 ใน 11 คน)|0.3|ปานกลาง
ยาเม็ดคุมกำเนิด|9 (1 ใน 11 คน)|0.3|ปานกลาง
ฝาครอบปากมดลูก (Diaphragm)|12 (1 ใน 8 คน)|6|สูง
ฟองน้ำคุมกำเนิด (สตรีที่ไม่มีบุตร)|12 (1 ใน 8 คน)|19|สูง
หมวกครอบปากมดลูกแบบ Lea’s Shield (สตรีที่มีบุตร)|15 (1 ใน 6 คน)|ไม่มีข้อมูล|สูง
ถุงยางอนามัยชาย|18 (1 ใน 5 คน)|2|สูง
การหลั่งนอก|22 (1 ใน 4 คน)|4|สูงมาก
ฟองน้ำคุมกำเนิด (สตรีที่มีบุตร)|24 (1 ใน 4 คน)|20|สูงมาก
หมวกครอบปากมดลูกแบบ Prentif (สตรีที่มีบุตร)|26 (1 ใน 3 คน)|32|สูงมาก
ยาฆ่าเชื้ออสุจิ (Spermicidal)|28 (1 ใน 3 คน)|18|สูงมาก
การหลั่งใน (ไม่มีการป้องกัน)|85 (6 ใน 7 คน)|85|สูงมาก
หมายเหตุ : ตัวเลขที่แสดงเป็นจำนวนการตั้งครรภ์ต่อปี (first year of use) ของสตรีที่คุมกำเนิดด้วยวิธีดังกล่าวจำนวน 100 คน โดยกำหนดให้ สีฟ้า = ความเสี่ยงต่ำมาก / สีเขียว = ความเสี่ยงต่ำ / สีเหลือง = ความเสี่ยงปานกลาง / สีส้ม = ความเสี่ยงสูง / สีแดง = ความเสี่ยงสูงมาก (ข้อมูลจาก : www.contraceptivetechnology.org, Comparison of birth control methods – Wikipedia)

ผู้ที่เหมาะจะใช้ยาฆ่าเชื้ออสุจิ

  • คู่ที่นาน ๆ จะมีเพศสัมพันธ์กันสักครั้ง
  • คู่ที่ฝ่ายชายไม่ยอมใช้ถุงยางอนามัย แต่ฝ่ายหญิงต้องการที่จะคุมกำเนิด
  • ผู้ที่พร้อมจะยอมรับการตั้งครรภ์ หากการคุมกำเนิดด้วยวิธีนี้ล้มเหลว
  • ผู้ที่ไม่สะดวกเข้ารับบริการการวางแผนครอบครัวจากบุคลากรทางการแพทย์ได้ เช่น การฉีดยาคุมกำเนิด การฝังยาคุมกำเนิด การใส่ห่วงอนามัย เป็นต้น

ผู้ที่ไม่ควรใช้ยาฆ่าเชื้ออสุจิ

  • ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี (HIV) หรือโรคเอดส์ หรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ เช่น ผู้ที่มีคู่นอนหลายคน
  • ผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวีหรือมีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อยู่ก่อนแล้ว เนื่องจากยาฆ่าอสุจินี้อาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองทั้งในผนังช่องคลอดหรือที่อวัยวะเพศของฝ่ายชาย หรือทำให้เกิดรอยแผลหรือรอยถลอกได้ ซึ่งจะทำให้มีโอกาสแพร่เชื้อหรือติดเชื้อโรคต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
  • คู่ที่มีเพศสัมพันธ์กันบ่อย ๆ เพราะการคุมกำเนิดด้วยวิธีนี้มีโอกาสล้มเหลวได้สูง และยานี้ก็ต้องใช้ทุกครั้งก่อนการมีเพศสัมพันธ์ จึงอาจทำให้ไม่สะดวก

วิธีใช้ยาฆ่าเชื้ออสุจิ

การใช้ยาหรือสารฆ่าอสุจิจะต้องใส่เข้าไปในช่องคลอดก่อนการมีเพศสัมพันธ์เสมอ โดยทั่วไปแล้วจะต้องใส่ยาเข้าไปในช่องคลอดให้ลึกที่สุดจนถึงบริเวณปากมดลูกก่อนจะมีเพศสัมพันธ์ประมาณ 10-15 นาที เพื่อให้ยากระจายตัวได้ทั่วช่องคลอด ถ้าเป็นพวกฟองฟู่จะกระจายตัวได้เร็วกว่ายาแบบครีมและแบบเหน็บ โดยจะมีฤทธิ์ในการคุมกำเนิดได้ประมาณ 30-60 นาที การใส่ยาครั้งหนึ่งจะสามารถช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ได้สำหรับการร่วมเพศเพียง 1 ครั้งเท่านั้น เนื่องจากตัวยามีฤทธิ์อ่อนและต้องใช้เวลาในการฆ่าอสุจิ ถ้าหากมีการร่วมเพศซ้ำจะต้องใส่ยาอีกครั้ง และหลังจากร่วมเพศเสร็จใหม่ ๆ ไม่ควรรีบสวนล้างช่องคลอด เพราะน้ำจะไปละลายตัวยาออกมา ทำให้ประสิทธิภาพของยาลดลง ถ้าต้องการสวนล้างช่องคลอดก็ให้ทำภายหลังการร่วมเพศประมาณ 6-8 ชั่วโมงขึ้นไป นอกจากนี้หลังจากใส่ยาแล้วก็ไม่ควรจะลุก ยืน เดิน หรือไปนั่งถ่ายปัสสาวะ/อุจจาระ จนกว่าจะมีเพศสัมพันธ์เรียบร้อยแล้ว เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวยาไหลออกมา ดังนั้น ก่อนจะใส่ยาเข้าไปในช่องคลอดทุกครั้ง ก็ควรจะทำอะไรให้เรียบร้อยเสียก่อน

วิธีใช้ยาฆ่าเชื้ออสุจิ

โดยรูปแบบของยาฆ่าอสุจิก็มีอยู่หลายรูปแบบด้วยกัน ผู้ใช้ต้องปฏิบัติตามขั้นตอนต่าง ๆ ที่เขียนแนะนำไว้ในฉลากอย่างเคร่งครัด เพราะยาแต่ละรูปแบบจะมีวิธีการใช้ ขนาดของยาที่ใช้ และระยะเวลาที่ต้องใส่แตกต่างกันออกไป เช่น

  • ยาฆ่าเชื้ออสุจิชนิดเม็ด : วิธีการใช้จะเหมือนการใช้ยาสอดช่องคลอดทั่วไป โดยให้นั่งยอง ๆ หรือนอนชันเข่า แล้วใช้นิ้วชี้กับนิ้วโป้งจับยาสอดเข้าไปในช่องคลอด และใช้นิ้วชี้ดันเข้าไปในช่องคลอดให้ลึกมากที่สุด

ยาฆ่าตัวอสุจิ

  • ยาเม็ดฟองฟู่ฆ่าเชื้ออสุจิ (Foam Tablet) : มีลักษณะเป็นเม็ดกลม มีรูตรงกลาง มีขนาดเท่ายารับประทานทั่วไป ก่อนใช้ต้องนำไปจุ่มน้ำสะอาด ให้ยาเม็ดชุ่มน้ำพอสมควร แล้วจึงสอดเข้าไปในช่องคลอดให้ลึกที่สุด แล้วรอประมาณ 5-10 นาที เพื่อให้ยาละลายกลายเป็นฟองอยู่ในช่องคลอด ก่อนที่จะมีเพศสัมพันธ์
  • ยาฆ่าเชื้ออสุจิชนิดฟอง (Aerosol Foams) : มีลักษณะเป็นฟองอัดอยู่ในขวด เป็นยาฆ่าอสุจิที่มีการกระจายตัวในช่องคลอดได้ดี ตัวฟองสามารถกระจายไปคลุมช่องคลอดและปากมดลูกได้เร็วมาก แต่ต้องใช้ร่วมกับอุปกรณ์ประกอบคือหลอดฉีดฟอง (ลักษณะคล้ายหลอดฉีดยา) โดยใช้หลอดดูดฟองออกมาจากกระป๋องที่มีฟองบรรจุอยู่ จากนั้นสอดหลอดฉีดยาเข้าไปในช่องคลอดให้ลึกที่สุด แล้วขยับกลับมา 1 นิ้วฟุต ก่อนที่จะดันหลอดฉีดฟองอัดเข้าไปในช่องคลอด (ปกติท่าที่ใส่ยาได้ง่าย คือ ท่านอนหงาย หรือท่านั่งยอง ๆ) ซึ่งตัวยาจะเริ่มมีผลในการคุมกำเนิดได้ภายใน 2-3 นาทีหลังใส่ และป้องกันการคุมกำเนิดได้ประมาณ 1 ชั่วโมง

ยาฆ่าเชื้ออสุจิชนิดฟอง

  • ยาฆ่าเชื้ออสุจิในรูปแบบครีมหรือเยลลี่ (Cream and Jellies) : ยารูปแบบนี้จะมีแท่งพลาสติกที่ใช้บรรจุยา ใช้สำหรับสอดแท่งพลาสติกเข้าไปในช่องคลอด แล้วจึงดันยาออกจากหลอดให้มาอยู่ช่องคลอด แล้วรอประมาณ 10-15 นาที ก่อนที่จะมีเพศสัมพันธ์

ครีมฆ่าเชื้ออสุจิ

  • ฟองน้ำคุมกำเนิด (Contraceptive Sponge) : เป็นสารสังเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ที่มีลักษณะเป็นสารปรุพรุนและเคลือบไปด้วยน้ำยาฆ่าอสุจิ ตัวฟองน้ำจะมีลักษณะเป็นรูปกลม รูปรี หรือเป็นรูปคล้ายโดนัท ใช้สำหรับสอดใส่ในช่องคลอดให้ลึกที่สุดเพื่อช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ แต่การใช้จะต้องสอดเข้าไปในช่องคลอดให้ถูกวิธีก่อนที่จะมีเพศสัมพันธ์ สามารถใส่ไว้ในช่องคลอดได้ 1 วัน ในระหว่างนี้ถ้ามีการร่วมเพศหลายครั้งก็ไม่จำเป็นต้องใส่ยาเพิ่ม แต่การจะเอาฟองน้ำออกก็ต้องทิ้งไว้อย่างน้อย 6 ชั่วโมงขึ้นไปหลังจากมีเพศสัมพันธ์ เพื่อให้ตัวยาได้ทำลายอสุจิให้หมด แต่ฟองน้ำที่ว่านี้ในบ้านเรายังไม่มีขายนะครับ คงต้องรอไปก่อน และใช้วิธีคุมกำเนิดแบบอื่นแทน

ฟองน้ำคุมกำเนิด

  • ยาฆ่าเชื้ออสุจิชนิดแผ่นฟิล์ม (Contraceptive Film)

ยาฆ่าเชื้ออสุจิชนิดแผ่นฟิล์ม

ผลข้างเคียงของยาฆ่าเชื้ออสุจิ

  • อาจทำให้เกิดการแพ้ยาฆ่าเชื้ออสุจิได้ โดยอาจทำให้เกิดการระคายเคือง บวมแดง ทั้งต่อช่องคลอดของสตรีและต่ออวัยวะเพศชาย
  • หากเกิดเป็นแผลถลอกที่เกิดจากการระคายเคือง จะทำให้เกิดการติดเชื้อเอชไอวี (HIV) ได้ง่ายมากขึ้น
  • อาจทำให้เกิดการติดเชื้อยีสต์หรือเชื้อราในช่องคลอดได้ง่ายขึ้น
  • อาจทำให้เกิดการติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะได้ง่ายขึ้น
  • มีโอกาสเกิดช่องคลอดอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรียประจำถิ่น หรือที่เรียกว่าโรค Bacterial Vaginosis ได้มากขึ้น

ข้อดีของยาฆ่าเชื้ออสุจิ

  1. เป็นยาที่ใช้ได้ง่าย สามารถใช้ได้ด้วยตนเองหรือคู่นอน ไม่ต้องอาศัยความร่วมมือจากบุคลากรทางการแพทย์
  2. มีราคาไม่แพง หาซื้อได้ง่ายตามร้านขายยาทั่วไป โดยไม่จำเป็นต้องปรึกษาแพทย์
  3. ยานี้มีความปลอดภัยสูง โอกาสเกิดอาการแทรกซ้อนมีน้อย
  4. ไม่มีผลข้างเคียงจากการใช้ฮอร์โมนเหมือนการคุมกำเนิดแบบอื่น เช่น ยาเม็ดคุมกำเนิด ยาฉีดคุมกำเนิด ยาฝังคุมกำเนิด แผ่นแปะคุมกำเนิด เป็นต้น
  5. เหมาะสำหรับคู่สมรสที่ไม่ได้พบกันบ่อย เพราะจะใช้เฉพาะเวลาร่วมเพศเท่านั้น ถ้าใช้วิธีนี้ร่วมกับการป้องกันอย่างอื่น เช่น การนับวันปลอดภัย หลั่งภายนอก หรือสวมถุงยางอนามัย ก็จะช่วยให้ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดสูงขึ้นด้วย
  6. สามารถใช้ได้ในสตรีที่กำลังเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

ข้อเสียของยาฆ่าเชื้ออสุจิ

  1. ประสิทธิภาพในด้านการคุมกำเนิดยังไม่สูงนัก จะมีโอกาสตั้งครรภ์ได้มากถ้าใส่ยาเข้าไปไม่ลึกพอ หรือยายังไม่กระจายตัวดีพอ หรือใช้ยาไม่สม่ำเสมอ นอกจากนี้จะใส่ยาไว้รอก็ไม่ได้ จะต้องใส่ยาในช่วงเวลาที่จำกัดเท่านั้น (10-15 นาที) ซึ่งอาจทำให้ขัดต่อความรู้สึกและอารมณ์ของทั้งคู่ได้
  2. เนื่องจากการคุมกำเนิดด้วยวิธีนี้มีความเสี่ยงสูง การป้องกันการตั้งครรภ์จึงต้องใช้ร่วมกับวิธีการคุมกำเนิดแบบอื่นเสมอ เช่น การคุมกำเนิดแบบธรรมชาติ (เช่น การหลั่งนอก, นับวัน), การใช้ร่วมกับถุงยางอนามัย, หมวกครอบปากมดลูก (Cervical cap), แผ่นกั้นปากมดลูก (Diaphragm) เป็นต้น
  3. ในบางคู่จะไม่นิยมใช้วิธีคุมกำเนิดรูปแบบนี้กันมากนัก เพราะยาที่ใส่เข้าไปอาจทำให้รู้สึกเหนียว แฉะ เปื้อน หรือมีการหล่อลื่นในช่องคลอดมากเกินไป จนก่อให้เกิดความรำคาญได้
  4. ต้องใช้ทุกครั้งเมื่อจะมีเพศสัมพันธ์
  5. ต้องทำความสะอาดอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับการใช้ยาฆ่าเชื้ออสุจิทุกครั้ง เช่น หลอดฉีดโฟม หลอดฉีดของเหลวเข้าไปในช่องคลอด เป็นต้น
  6. ไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้
  7. ในรายที่แพ้ยา อาจทำให้เกิดอาการคัน ระคายเคือง บวมแดง หรือแสบได้
เอกสารอ้างอิง
  1. หาหมอดอทคอม.  “การคุมกำเนิดด้วยยาฆ่าอสุจิ Spermicidal contracep tion”.  (รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิง ประนอม บุพศิริ).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : haamor.com.  [13 ต.ค. 2015].
  2. สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว.  “การคุมกำเนิดแบบชั่วคราวที่ไม่ต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : kanchanapisek.or.th/kp6/.  [13 ต.ค. 2015].

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด