ยาคุมกําเนิด วิธีกินยาคุมกําเนิด & รีวิวยาคุมกำเนิด 32 ยี่ห้อ !

ยาคุมกำเนิด

ยาคุม หรือ ยาคุมกําเนิด หรือ ยาเม็ดคุมกำเนิด (Oral contraceptive pill หรือ Birth control pill) คือยาที่มีส่วนผสมของฮอร์โมนเพศหญิง (เอสโตรเจนและโปรเจสโตเจน) ที่มีคุณสมบัติช่วยป้องกันการตั้งครรภ์โดยยับยั้งการตกไข่ ทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกมีสภาพไม่พร้อมต่อการฝังตัวของตัวอ่อน และทำให้มูกที่ปากมดลูกมีความเหนียวข้นขึ้น จนเป็นอุปสรรคต่อการเคลื่อนตัวของอสุจิให้ไม่สามารถเข้าไปปฏิสนธิกับไข่ได้ ยาคุมกำเนิดนั้นมีการนำมาใช้นานกว่า 50 ปีมาแล้ว ยาคุมกำเนิดในสมัยแรกจะมีฮอร์โมนสูง ทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนมาก เช่น คลื่นไส้อาเจียน ปวดศีรษะ มีฝ้าขึ้น ฯลฯ แต่ในปัจจุบันได้มีการคิดค้นหายาใหม่ ๆ มากขึ้นที่มีฮอร์โมนน้อยลง ทำให้อาการข้างเคียงต่าง ๆ ลดน้อยลงหรือแทบจะไม่มีเลยก็ว่าได้

โปรดทราบว่า “ยาเม็ดคุมกำเนิดไม่สามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้เต็ม 100% ซึ่งการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดอย่างถูกต้องจะช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ได้ประมาณ 99.7% (มีโอกาสล้มเหลวได้ประมาณ 0.03%) แต่หากใช้อย่างไม่ถูกต้อง กินไม่ตรงเวลา ลืมกินยาคุมกำเนิด ฯลฯ อัตราการล้มเหลวทำให้เกิดการตั้งครรภ์จะเพิ่มสูงขึ้นเป็น 9%” โดยประเภทยาคุมกำเนิดที่ใช้กันในบ้านเราจะมีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิดคือ ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม และยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยว

ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม

ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม (Combined Oral Contraceptive – COC) เป็นยาคุมกำเนิดที่ประกอบด้วยฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสโตเจนรวมกันในเม็ดเดียว ซึ่งแยกออกเป็น 2 แบบ (3-4 ชนิด) คือ

  • แบบที่มีฮอร์โมนทั้งสองชนิดเท่ากันทุกเม็ด (Monophasic (one-phase) pills) เป็นชนิดที่ประกอบด้วยเอสโตรเจนและโปรเจสโตเจนในขนาดคงที่เท่ากันทุกเม็ด ใน 1 ชุดจะมี 21-22 เม็ด และมีสีเดียวกันทั้งหมด แต่บางชนิดอาจเพิ่มแป้งหรือยาบำรุงที่มีสีแตกต่างกันออกไปอีก 7 วัน (ทำไว้เพื่อกันลืมครับ ให้กินทุกวันโดยไม่ต้องหยุดยา) ในบ้านเรายาคุมรูปแบบนี้มีขายมากกว่า 10 ยี่ห้อ เข่น ยาสมิน (Yasmin), ยาส (Yaz), ไดแอน (Diane), แอนนา (Anna), เมอซิลอน (Mercilon), เมลลิแอน (Meliane), มาวีลอน (Marvelon), ไซเลส (Cilest), ไกเนร่า (Gynera) ฯลฯ
  • แบบที่ฮอร์โมนทั้งสองชนิดไม่เท่ากัน โดยต่างกันเป็น 2-3 ระยะใน 1 ชุด ชนิด 2 ระยะหรือยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดสองระยะ (Biphasic (two-phase) pills) จะประกอบด้วยเอสโตรเจนและโปรเจสโตเจนในปริมาณต่างกัน 2 แบบ เพื่อเลียนแบบการหลั่งฮอร์โมนของร่างกาย ในช่วงต้นรอบเดือนจะมีเอสโตรเจนสูงกว่าโปรเจสโตเจน ส่วนช่วงปลายรอบเดือนจะมีโปรเจสโตเจนมากกว่าเอสโตรเจน ซึ่งจะมี 2 สี คือ 7 เม็ด และ 15 เม็ด เช่น ออยเลซ (Oilezz) ส่วนชนิด 3 ระยะหรือยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดสามระยะ (Triphasic (three-phase) pills) จะประกอบด้วยเอสโตรเจนและโปรเจสโตเจนในปริมาณที่ต่างกัน 3 แบบ เพื่อเลียนแบบการหลั่งฮอร์โมนของร่างกายให้มากที่สุด โดยจะมีเอสโตรเจนต่ำอยู่ 2 ช่วง คือ ช่วงต้นและช่วงปลายรอบเดือน ส่วนกลางเดือนจะมีปริมาณเอสโตรเจนมากที่สุด ส่วนโปรเจสโตเจนจะมีปริมาณต่ำในช่วงต้นรอบเดือนและสูงสุดในช่วงปลายรอบเดือน จะมี 3 สี คือ 6 เม็ด 5 เม็ด และ 10 เม็ด รวมเป็น 21 เม็ด (อาจจะมีแป้งเพิ่มอีก 7 เม็ด รวมเป็น 28 เม็ดก็ได้) ทั้งนี้เพื่อลดขนาดของฮอร์โมนให้น้อยที่สุด แต่ยังมีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดได้ เช่น ไตรควีล่าร์ (Triquilar), ไตรนอร์ดิออล (trinordiol), ไตรไซเลส (Tricilest) เป็นต้น ส่วนยาเม็ดคุมกำเนิดชนิด 4 ระยะ (Quadraphasic (four-phase) pills) ก็มีครับ แต่มีขายที่อเมริกา

ข้อดี : มีประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์สูงมาก ผู้ที่กินแบบฮอร์โมนรวม (ถ้าใช้อย่างถูกต้องสม่ำเสมอ) จะมีโอกาสตั้งครรภ์ได้น้อยกว่าร้อยละ 0.5 ในเวลา 1 ปี แต่สำหรับชนิดที่มีโปรเจสโตเจนเพียงอย่างเดียวนั้นจะมีโอกาสตั้งครรภ์สูงกว่าคือร้อยละ 2 ในระยะเวลา 1 ปี ทำให้ประจำเดือนมาตรงเวลาและสม่ำเสมอ อาการปวดประจำเดือนอาจน้อยลงกว่าเดิมหรือไม่ปวดเลย มีเลือดประจำเดือนน้อยลง ช่วยลดการภาวะเลือดจางจากการขาดธาตุเหล็ก ผู้ที่ปวดประจำเดือนมากจนทนไม่ไหว หากไม่ใช่เกิดจากเนื้องอก แพทย์อาจลองให้ใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดในการรักษาอาการปวดก็ได้ นอกจากนี้ยังช่วยป้องกันการเกิดโรคได้ถึง 10 โรค หรือเป็นโรคที่พบได้น้อยในกลุ่มผู้กินยาคุมกำเนิด ได้แก่ โรคเลือดจางจากการขาดธาตุเหล็ก, มะเร็งเต้านม, มะเร็งรังไข่, มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก, ก้อนเนื้องอกที่เต้านม, เนื้องอกของมดลูกและเยื่อบุโพรงมดลูก, การอักเสบในอุ้งเชิงกราน, ถุงน้ำที่รังไข่, ข้ออักเสบ และการตั้งครรภ์นอกมดลูก แต่ไม่ได้หมายความถ้าเป็นโรคเหล่านี้แล้วการกินยาคุมกำเนิดจะช่วยรักษาได้นะครับ เพราะถ้าเป็นโรคบางอย่างเหล่านี้อยู่แล้วมากินยาคุมก็อาจยิ่งทำให้โรคลุกลามมากขึ้นก็ได้ เช่น เนื้องอกและมะเร็งเต้านม เนื้องอกของมดลูก เป็นต้น

ข้อเสีย : การกินยาต้องกินให้ตรงตามกำหนดเวลาเดิมและกินทุกวัน ทำให้บางรายอาจหลงลืมได้ และการกินยาเม็ดคุมกำเนิดก็อาจทำให้เกิดอาการข้างเคียงได้บ้างตามที่กล่าวมา

ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยว

ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยว (Progestrogen-only pills – POP, Mini pills) จะมีโปรเจสโตเจนเพียงอย่างเดียว เป็นยาคุมกำเนิดที่ทำออกมาเพื่อลดอาการข้างเคียงจากฮอร์โมนเอสโตรเจน มีกลไกการออกฤทธิ์ทำให้มูกบริเวณปากมดลูกเหนียวข้นมากขึ้น (อสุจิผ่านเข้าไปผสมกับไข่ได้ยาก) เยื่อบุโพรงมดลูกบางลงและฝ่อไปจนไม่เหมาะกับการฝังตัว ช่วยลดการเคลื่อนที่ของไข่ตามท่อนำไข่ และยับยั้งไม่ให้ไข่ตกโดยการควบคุมแบบย้อนกลับ และยับยั้งการหลั่งฮอร์โมน FSH และ LH ยาคุมชนิดนี้ในหนึ่งแผงจะมี 28 เม็ด กินได้ทุกวันโดยไม่ต้องหยุด เมื่อกินหมดแล้วก็กินแผงใหม่ต่อได้เลย ส่วนใหญ่กินแล้วจะไม่มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน (เพราะไม่มีเอสโตรเจน) แต่อาจมีประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอบ้าง หรือประจำเดือนอาจขาดโดยไม่ได้ตั้งครรภ์ก็ได้ ซึ่งเป็นผลมาจากยานั่นเอง ส่วนชนิดที่มีจำหน่ายก็คือ ซีราเซท (Cerazette) และเอ็กซ์ลูตอน (Exluton) โดยซีราเซทนั้นจะคุมกำเนิดได้ดีกว่าและมีประจำเดือนกะปริดกะปรอยน้อยกว่าครับ

ยาคุมซีราเซท
ยาคุมซีราเซท : ราคาแผงละประมาณ 230 บาท

ยาคุมเอกลูตรอน
ยาคุมเอ็กซ์ลูตอน : ราคาแผงละประมาณ 100 บาท

ข้อดี : ข้อดีของการใช้ยาคุมกำเนิดชนิดนี้ก็คือไม่ค่อยทำให้เป็นสิวเป็นฝ้า ช่วยลดการปวดท้องก่อนมีประจำเดือน ลดการเสียเลือดจากการเป็นประจำเดือน (จึงช่วยป้องกันการเกิดโรคโลหิตจางได้) เหมาะกับผู้ที่มีอายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป ผู้ที่สูบบุหรี่มาก (มากกว่า 15 มวนต่อวัน) ผู้ที่ไวต่อฮอร์โมเอสโตรเจน (ทำให้เกิดอาการข้างเคียงต่าง ๆ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ฯลฯ) และวัยรุ่นที่กลัวผลเสียของยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมที่มีเอสโตรเจน (แต่ก็ยังเสี่ยงตั้งครรภ์สูงอยู่ดี จึงไม่แนะนำให้ใช้ครับ) ไม่ลดปริมาณน้ำนมของคุณแม่ จึงเหมาะสำหรับผู้ที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ (สตรีหลังคลอดบุตรไม่กี่เดือน) เพราะโปรเจสโตเจนจะไม่ยับยั้งการหลั่งน้ำนม และไม่ทำให้คุณภาพของน้ำนมเสื่อมลง (เมื่อเลิกให้นมลูกแล้วจึงค่อยเปลี่ยนไปใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมแทนก็ได้) และเนื่องจากไม่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนเป็นส่วนประกอบจึงช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดอุดตันหรือโรคที่เกี่ยวกับหลอดเลือดหัวใจอื่น ๆ และยังไม่ถูกรบกวนจากการแปรสภาพยาจากการใช้ยาปฏิชีวนะแบบยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมที่มีเอสโตรเจนผสมอยู่

ข้อเสีย : มีความเสี่ยงในการตั้งครรภ์มากกว่าการใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม เพราะสามารถยับยั้งการตกไข่ได้เพียง 60% เท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่มีอายุน้อยอาจใช้ไม่ได้ผล (พบว่าทำให้เกิดการตั้งครรภ์ได้ถึง 8% หลังจากการใช้อย่างถูกต้องเป็นเวลา 1 ปี) หากใช้ยาไม่ถูกต้องหรือลืมกินยา จะทำให้มีความเสี่ยงตั้งครรภ์สูง และมีความเสี่ยงสูงที่จะทำให้เกิดการตั้งครรภ์นอกมดลูกด้วย นอกจากนี้ยังมีผลเสียในเรื่องของประจำเดือนที่ผิดปกติได้ง่าย เช่น ประจำเดือนอาจคลาดเคลื่อนหรือหายไปเลยก็ได้ หรืออาจมีเลือดออกกะปริดกะปรอยได้บ้าง เป็นต้น ด้วยเหตุนี้จึงทำให้คนทั่วไปไม่นิยมใช้กันครับ

ส่วนประกอบของยาคุมกำเนิด

  • เอสโตรเจน (Estrogens) ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันจะมีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิด คือ Ethinyl estradiol – EE (เอทธินิลเอสตราไดออล) ซึ่งสามารถออกฤทธิ์ได้ทันที และชนิด Mestranol (เมสตรานอล) ซึ่งจะถูกเปลี่ยนเป็น Ethinyl estradiol (EE) ที่ตับก่อนจึงจะสามารถออกฤทธิ์ได้ “โดย Mestranol 50 ไมโครกรัม จะเทียบเท่ากับ Ethinyl estradiol 35 ไมโครกรัม” แต่โดยทั่วไปแล้วยาคุมส่วนใหญ่จะใช้เอสโตรเจนชนิด Ethinyl estradiol (EE) กันอยู่แล้วครับ โดยมีขนาดตั้งแต่ 20-50 ไมโครกรัม (ปริมาณ EE มากจะทำให้เกิดอาการข้างเคียงได้ เช่น เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ถ้าหากมีปริมาณน้อยอาการข้างเคียงเหล้านี้ก็จะลดลงตามไปด้วย แต่อาจทำให้มีเลือดมากะปริดกะปรอยในช่วงที่ไม่ควรมาได้)
  • โปรเจสโตเจน (Progestogen) ที่ใช้กันอยู่จะมีด้วยกัน 3 รุ่น (หลายชนิด) คือ โปรเจสโตเจนรุ่น 1 ซึ่งมีฤทธิ์ต่ำ ต้องใช้ในปริมาณมาก จึงทำให้เกิดอาการข้างเคียงได้ เช่น หน้ามัน เป็นสิว ขนดก น้ำหนักตัวเพิ่ม และอาจมีผลต่อกระบวนการเผาผลาญไขมัน ซึ่งเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดและหัวใจได้ ทำให้ไม่นิยมใช้กันครับ ได้แก่ Ethynodiol diacetate, Lynestrenol, Norethisterone, Norethisterone acetate และ Norethynodrel ส่วนโปรเจสโตเจนรุ่น 2 ได้แก่ Levonorgestrel และ Norgestrel จะมีความแรงมากกว่ารุ่นแรก จึงสามารถใช้ในปริมาณที่น้อยลง ทำให้อาการข้างเคียงต่าง ๆ ลดลง แต่ยังคงมีผลต่อกระบวนการเผาผลาญไขมันอยู่ครับ และโปรเจสโตเจนรุ่น 3 ได้แก่ Cyproterone acetate, Desogestrel, Drospirenone, Gestodene, Medroxyprogesterone acetate, Norgestimate รุ่นนี้จะมีอาการข้างเคียงน้อยกว่าสองรุ่นแรก และบางตัวยังมีฤทธิ์ลดการสร้างไขมันที่ต่อมไขมัน สามารถช่วยรักษาสิวได้ ช่วยทำให้ไขมันดี (HDL) เพิ่มขึ้นและลดไขมันเลว (LDL) จึงช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดและหัวใจได้

การออกฤทธิ์ของยาเม็ดคุมกำเนิด

  1. ยับยั้งกระบวนการก่อนเกิดการปฏิสนธิ (fertilization) ทำให้ไม่มีการตกไข่
  2. มีผลทำให้มูกหรือเมือกที่ปากมดลูกมีความเหนียวข้นขึ้น จึงทำให้ตัวอสุจิผ่านเข้าไปได้ยาก
  3. มีการเคลื่อนไหวของท่อนำไข่มากผิดปกติ จึงทำให้ไข่ที่ถูกผสมไม่ทันฝังตัว
  4. ทำผนังมดลูกบางลงหรือทำให้ผนังมดลูกไม่เหมาะแก่การฝังตัวของตัวอ่อน

ประโยชน์ของยาคุมกำเนิด

สำหรับประโยชน์ของการกินยาเม็ดคุมกำเนิด (ชนิดฮอร์โมนรวม) มีดังนี้

  1. ช่วยทำให้ประจำเดือนมาสม่ำเสมอ ตรงเวลา บรรเทาอาการปวดประจำเดือน และช่วยลดปริมาณประจำเดือนที่มากผิดปกติ
  2. ช่วยลดสิว หน้ามัน ขนดก และลดการสูญเสียมวลกระดูก จึงช่วยป้องกันโรคกระดูกพรุน โรคกระดูกบางได้
  3. มีส่วนช่วยป้องกันการเกิดโรคโลหิตจาง
  4. ช่วยบรรเทาอาการเครียด หงุดหงิด อ่อนเพลีย ท้องอืด ปวดเมื่อยตามร่างกาย มือเท้าบวม ในช่วงก่อนหรือมีประจำเดือน
  5. ช่วยลดอาการปวดศีรษะและไมเกรน
  6. ช่วยลดอาการในกลุ่มอาการถุงน้ำรังไข่หลายใบ/กลุ่มอาการ PCOS (Polycystic ovarian syndrome) และอาการในกลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน/PMS (Premenstrual syndrome)
  7. ช่วยลดอุบัติการณ์การตั้งครรภ์นอกมดลูกและอุบัติการณ์การติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน
  8. อาจช่วยลดอุบัติการณ์ของโรคมะเร็งบางชนิดในผู้ป่วยบางรายได้ เช่น โรคมะเร็งรังไข่ มะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นต้น
  9. ยาคุมกำเนิดบางยี่ห้อช่วยทำให้ผิวพรรณเปล่งปลั่ง สดใส

ผู้ที่ห้ามใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด

ห้ามใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมหากท่านมีอาการใดอาการหนึ่งดังต่อไปนี้ เพราะตัวยาจะไปเพิ่มโอกาสการเกิดและเพิ่มความรุนแรงของโรคที่เป็นอยู่ หากมีอาการดังกล่าวโปรดแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนเริ่มใช้ แพทย์อาจแนะนำให้ใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดอื่นแทน หรือแนะนำให้เปลี่ยนไปใช้วิธีคุมกำเนิดแบบไม่ใช้ฮอร์โมน

  • ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์หรือสงสัยว่าตั้งครรภ์ แต่ถ้าไม่รู้ว่าตั้งครรภ์และกินยาไปบ้างแล้วก็ไม่เป็นไร แต่ต้องหยุดกินทันที และไม่ต้องไปกังวลว่าจะมีผลต่อลูกในครรภ์ เพราะโอกาสเกิดผลข้างเคียงมีน้อยมากหรือแทบไม่มีเลย
  • ห้ามใช้ในสตรีที่ยังไม่เริ่มมีประจำเดือน รวมถึงสตรีสูงอายุที่หมดประจำเดือนแล้วด้วย
  • ผู้ที่มีอายุเกิน 40 ปี วัยนี้อาจมีปัญหาในการกินยาคุมกำเนิดได้ เพราะมีโอกาสเกิดโรคระบบไหลเวียนของเลือดได้ง่าย เช่น ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ ฯลฯ ดังนั้น จึงควรหลีกเลี่ยงการคุมกำเนิดแล้วหันไปใช้วิธีอื่นแทน
  • ผู้ที่มีหรือเคยมีการแข็งตัวของเลือด ในหลอดเลือดที่ขา (ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน) ที่ปอด (ภาวะลิ่มเลือดอุดหลอดเลือดที่ปอด) หรือส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย รวมถึงผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการแข็งตัวตัวของเลือด เพราะการกินยาคุมกำเนิดจะทำให้เลือดแข็งตัวเร็วขึ้น จึงมีโอกาสที่เกิดเส้นเลือดอุดตันมากเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
  • ผู้ที่มีหรือเคยมีอาการหัวใจวาย หรือภาวะที่สมองขาดเลือดอย่างเฉียบพลัน (Stroke) (มีสาเหตุมาจากการแข็งตัวของเลือดหรือหลอดเลือดแตกในสมอง) รวมถึงผู้ที่มีหรือเคยมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดหัวใจวาย (เช่น อาการปวดเค้นหน้าอก) หรือภาวะที่สมองขาดเลือดอย่างเฉียบพลัน (เช่น ภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราวที่ไม่มีผลรุนแรงตามมา ที่เรียกว่า Transient ischaemic attack)
  • ผู้ที่โรคหัวใจบางชนิด เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคลิ้นหัวใจผิดปกติ
  • ผู้ที่เป็นหรือเคยเป็นไมเกรนชนิดรุนแรงหรือไมเกรนบางชนิดร่วมกับความผิดปกติเฉพาะที่ของระบบประสาท เช่น การมองเห็นผิดปกติ การพูดผิดปกติ มีอาการอ่อนเพลีย หรือชาบริเวณใดบริเวณหนึ่งของร่างกาย
  • ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานที่มีความผิดปกติของหลอดเลือด
  • ผู้ที่มีเลือดออกทางช่องคลอดโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • ผู้ที่เป็นเนื้องอกของอวัยวะสืบพันธุ์ ทั้งชนิดธรรมดาและชนิดร้ายแรงหรือมะเร็ง หากมีประจำเดือนครั้งละหลายวันหรือนานกว่าปกติ มีประจำเดือนเดือนละหลาย ๆ รอบ หรือหลังร่วมเพศแล้วมีเลือดออกมาจากช่องคลอด จะมีโอกาสที่เนื้องอกจะโตขึ้นด้วย
  • ผู้ที่เป็นหรือเคยเป็นโรคมะเร็งที่สัมพันธ์กับฮอร์โมนเพศ เพราะอาจมีส่วนทำให้เซลล์มะเร็งเจริญขึ้นได้ เช่น ที่อวัยวะสืบพันธุ์ หรือเต้านม
  • ผู้ที่เป็นโรคมะเร็งเต้านม เนื้องอกเต้านม ทั้งชนิดธรรมดาและร้ายแรง ซึ่งมักจะมีอาการเจ็บหน้าอกบ่อย ๆ มีก้อนหรือคลำก้อนได้ที่เต้านม และมีเลือดหรือน้ำเหลืองไหลออกมาจากหัวนม
  • ผู้ที่เป็นหรือเคยเป็นโรคตับ ซึ่งอาจมีอาการตัวเหลืองหรือมีอาการคันทั่วร่างกาย และตับยังคงทำงานผิดปกติ เพราะตามปกติแล้วยาคุมกำเนิดจะถูกทำลายที่ตับ เมื่อตับทำงานได้ไม่ดี ยาคุมก็ไม่ถูกทำลาย จึงเป็นอันตรายอย่างมากสำหรับผู้ที่เป็นโรคตับ
  • ผู้ที่เป็นโรคไต หรือมีภาวะการทำงานของไตบกพร่องอย่างรุนแรง หรือภาวะไตวายเฉียบพลัน
  • ผู้ที่เป็นหรือเคยเป็นเนื้องอกในตับชนิดไม่ร้ายแรงหรือชนิดร้ายแรง
  • ผู้ที่แพ้ต่อตัวยาสำคัญหรือส่วนประกอบอื่นในยาเม็ดคุมกำเนิด ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการคัน เป็นผื่น หรือบวมได้

หมายเหตุ : หากมีความผิดปกติในข้อหนึ่งข้อใดที่กล่าวมาข้างต้นซึ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในขณะกินยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม ให้หยุดยาทันทีและไปพบแพทย์

ผู้ที่ควรระวังในการใช้ยาคุมกำเนิด

ก่อนการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด คุณควรสังเกตตัวเองก่อนว่าในระยะ 12 เดือนที่ผ่าน หรือ 1 ปีก่อนการตั้งครรภ์ คุณเคยมีความรู้สึกหรือมีอาการเหล่านี้หรือไม่ ถ้าไม่มีอาการเหล่านี้ก็สามารถใช้ยาคุมกำเนิดได้อย่างปลอดภัย แต่หากมีอาการข้อใดข้อหนึ่งหรือหลายข้อรวมกันก็ไม่ได้ความว่าจะใช้ยาคุมกำเนิดไม่ได้นะครับ (ไม่ใช่ข้อห้าม) เพียงแต่ขอให้ระมัดระวังในการกินยามากขึ้น ถ้าจะใช้ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยดูว่าเป็นโรคหรือไม่ หรือหากใช้ยาไปแล้วและเกิดมามีอาการเหล่านี้ขึ้นภายหลัง ก็ควรจะไปพบแพทย์เพื่อตรวจและขอคำแนะนำเช่นกันว่าควรใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดต่อไปหรือไม่

  • มีน้ำหนักตัวมากเกินไป
  • ผู้ที่สูบบุหรี่ ทั้งบุหรี่ซองและบุหรี่พื้นเมือง (หากสูบบุหรี่พร้อมกับกินยาคุมกำเนิดจะมีโอกาสเกิดเส้นเลือดอุดตัน โรคหัวใจ และความดันโลหิตสูงได้ง่ายกว่าผู้ที่ไม่ได้กินยาคุมกำเนิด) ความเสี่ยงจะมีเพิ่มขึ้นตามปริมาณการสูบบุหรี่และอายุที่มากขึ้น โดยเฉพาะในสตรีที่มีอายุมากกว่า 35 ปี หากต้องการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด คุณควรงดสูบบุหรี่ในขณะที่ใช้
  • สตรีให้นมบุตร คุณควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยาคุมกำเนิด เพราะโดยปกติแล้วจะไม่แนะนำให้กินยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมในระหว่างการให้นมบุตร หากต้องการกินยาคุมกำเนิดในระหว่างให้นมบุตร คุณควรปรึกษาแพทย์
  • ผู้ที่มีอายุมาก
  • เมื่ออยู่ในภาวะที่เคลื่อนไหวไม่ได้ติดต่อกันนาน ๆ เช่น การเข้าเฝือกที่ขา, ได้รับการผ่าตัดใหญ่ ผ่าตัดที่ขา หรือมีบาดแผลใหญ่ ในกรณีเหล่านี้ควรหยุดกินยาคุมกำเนิด (หากต้องเข้ารับการผ่าตัด ควรหยุดกินยาก่อนการผ่าตัดอย่างน้อย 4 สัปดาห์) และจึงกลับมาเริ่มกินยาใหม่หลังจากที่สามารถเดินได้ปกติแล้ว 2 สัปดาห์
  • มีอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรงเป็นประจำหรือเป็นไมเกรน
  • มีปัญหาทางจิต เช่น เป็นโรคประสาท โรคซึมเศร้า
  • หายใจหอบ เหนื่อย ออกกำลังกายเพียงเล็กน้อยก็รู้สึกเหนื่อยมาก
  • ตาเหลือง ตัวเหลือง (อาการของโรคดีซ่าน)
  • มีอาการเจ็บหน้าอกบ่อย ๆ หรือมีก้อนหรือคลำก้อนได้ที่เต้านม
  • มีเลือดหรือน้ำเหลืองไหลออกจากหัวนม
  • มีประจำเดือนครั้งละหลายวันหรือนานกว่าปกติ หรือมีประจำเดือนเดือนละหลายครั้ง
  • หลังร่วมเพศแล้วมีเลือดออกมาจากช่องคลอด
  • มีอาการปวดและบวมที่น่อง
  • เป็นโรคเบาหวาน
  • เป็นโรคความดันโลหิตสูง (ปวดศีรษะอย่างรุนแรงบ่อย ๆ หายใจหอบหรือเหนื่อยได้ง่ายมาก)
  • ท่านหรือสมาชิกในครอบครัวเคยมีระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูงหรือเป็นโรคไขมันในเลือดสูง
  • สมาชิกในครอบครัวเคยมีเลือดแข็งตัว (ภาวะลิ่มเลือดอุดหลอดเลือดที่ชา ภาวะลิ่มเลือดอุดหลอดเลือดที่ปอด หรือบริเวณอื่น ๆ) เป็นโรคหัวใจวาย หรือมีภาวะที่สมองมีการขาดเลือดอย่างเฉียบพลัน (Stroke) ตั้งแต่อายุยังน้อย
  • มีความผิดปกติของลิ้นหัวใจหรือหัวใจเต้นผิดปกติ
  • มีอาการอักเสบของหลอดเลือดดำ
  • มีญาติที่ใกล้ชิดเป็นหรือเคยเป็นโรคมะเร็งเต้านม
  • เป็นโรคตับหรือโรคของถุงน้ำดี หรือเคยมีประวัติถุงน้ำดีอักเสบ
  • มีเส้นเลือดขอด เช่น ที่ขามีเส้นเลือดขอดเส้นโต ๆ
  • เป็นโรคลมชัก
  • มีระดับโพแทสเซียมในเลือดเพิ่มสูงขึ้น (เช่น เนื่องจากการทำงานของไตที่ไม่ปกติ) และมีการใช้ยาขับปัสสาวะที่อาจเพิ่มระดับโพแทสเซียมในเลือดร่วมด้วย ควรจะปรึกษาแพทย์หากท่านไม่แน่ใจ
  • มีหรือเคยมีปื้นสีน้ำตาลหรือฝ้าที่เรียกว่า Pregnancy patch โดยเฉพาะบริเวณใบหน้า ควรหลีกเลี่ยงการถูกแสงแดดโดยตรง
  • หากเกิดสภาวะบางอย่างเมื่อเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก หรือเคยมีอาการแย่ลงในระหว่างการตั้งครรภ์ หรือเมื่อเคยใช้ฮอร์โมนเพศ เช่น การได้ยินผิดปกติ โรคเกี่ยวกับกระบวนการเมแทบอลิซึมที่เรียกว่า porphyria, โรคทางระบบประสาทที่เรียกว่า Sydenham’s chorea, โรคผิวหนังที่เรียกว่า Herpes gestationis
  • เป็นโรค Angioedema ตั้งแต่กำเนิด ควรพบแพทย์ทันทีหากเกิดอาการที่แสดงถึงอาการของโรคนี้ เช่น หน้าบวม ลิ้นบวม คอบวม และ/หรือ มีอาการกลืนลำบาก หรือมีลมพิษเกิดขึ้นพร้อมกับการหายใจลำบาก ยาคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนอาจทำให้เกิดอาการของ Angioedema ได้ หรืออาจทำให้อาการแย่ลง
  • เป็นโรคดังต่อไปนี้ คือ โรคเลือดชนิด Sickle cell, โรค Hemolytic Uremic Syndrome – HUS (ความผิดปกติของการแข็งตัวของเลือด มีผลทำให้ไตวาย), โรค Systemic Lupus Erythematosus – SLE (โรคของระบบภูมิคุ้มกัน), โรค Crohn’s disease หรือ โรคลำไส้ใหญ่เป็นแผลอักเสบ (โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง)

การเลือกใช้ยาคุมกำเนิด

  1. ผู้ที่มีประจำเดือนมามากและนานกว่าปกติ รอบประจำเดือนสั้น ไม่มีสิวหรือขนตามตัว ขอแนะนำให้ใช้ยาคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมนโปรเจสโตเจนสูง ๆ
  2. ผู้ที่มีประจำเดือนมาน้อย รอบประจำเดือนยาว มีลักษณะคล้ายเพศชาย เช่น มีสิว ผิวมน และขนดก แนะนำให้ใช้ยาคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนสูง
  3. ผู้ที่มีประจำเดือนมาสม่ำเสมอ ปริมาณปานกลาง มีน้ำหนักตัวปกติ แนะนำให้ใช้ยาคุมกำเนิดที่มีความสมดุลกันระหว่างฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสโตเจน
  4. สำหรับสตรีให้นมบุตร วัยรุ่นที่กลัวผลเสียของยาคุมกำเนิดที่มีเอสโตรเจน และสตรีที่มีข้อห้ามในการใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจน ควรใช้ยาคุมกำเนิดชนิดที่มีฮอร์โมนโปรเจสโตเจนเพียงอย่างเดียว และควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ เมื่อเลิกให้นมบุตรแล้วจึงค่อยเปลี่ยนไปใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมแทน

คำแนะนำ : การเริ่มใช้ยาคุมกำเนิดควรทดลองใช้ไปก่อน 1 แผง ระหว่างทดลองให้สังเกตอาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นด้วย เช่น มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ เป็นฝ้า ฯลฯ หากมีอาการข้างเคียงควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเพื่อเปลี่ยนไปใช้ยาคุมกำเนิดตัวอื่นเพื่อลดปริมาณฮอร์โมนในตัวยา (การกินยาคุมกำเนิดก่อนนอนจะช่วยลดอาการคลื่นไส้อาเจียนได้)

รีวิวยาคุมกำเนิด

ยาคุมกำเนิดสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 รุ่น (การจะสรุปว่ายาคุมกำเนิดยี่ห้อไหนดีหรือไม่ดีอย่างไร ก็ควรจะลองใช้ไปอย่างน้อย 3-5 แผง) ดังนี้

  • ยาเม็ดคุมกำเนิดรุ่นแรก (First generation) เป็นรุ่นที่มีฮอร์โมนค่อนข้างสูง ใช้แล้วทำให้เกิดอาการข้างเคียงสูง เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ น้ำหนักตัวเพิ่ม และยังมีผลกับการเผาผลาญไขมันและคาร์โบไฮเดรตในร่างกายอีกด้วย จึงมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหรือภาวะแทรกซ้อนได้หากใช้เป็นนาน ๆ อย่างเช่นยี่ห้อ
    • Margaret (มากาเร็ต : 28 เม็ด) จะมี Norethisterone 1 mg. / Mestranol 0.05 mg.
    • One day (วันเดย์ : 28 เม็ด) จะมี Norethisterone 1 mg. / Mestranol 0.05 mg.

      ยาคุมกําเนิด
      ยาคุมมากาเร็ต

  • ยาเม็ดคุมกำเนิดรุ่นที่ 2 (Second generation) เป็นรุ่นปรับปรุงเพื่อลดอาการข้างเคียงให้น้อยลง โดยเลือกใช้โปรเจสโตเจนที่พัฒนาขึ้นใหม่ และเปลี่ยนเอสโตรเจนจาก Mestranol มาใช้ Ethinyl estradiol (EE) แทน จึงช่วยลดอาการข้างเคียงลงได้ แต่การที่ระดับ EE มีปริมาณลดลง อาจจะเพิ่มโอกาสการเกิดประจำเดือนกะปริดกะปรอยได้ แต่ก็ไม่ถึงกับเป็นอันตราย นอกจากนี้ยังพบปัญหาที่ทำให้อ้วนได้ และยังคงมีผลต่อกระบวนการเผาผลาญไขมันอยู่บ้างครับ รุ่นนี้มีอยู่หลายยี่ห้อด้วยกันครับ เช่น
    • Jeny – fmp (เจนนี่-เอฟเอ็มพี : 28 เม็ด) และ MARNON (มาร์นอน : 28 เม็ด) จะมี Norgestrel 0.5 mg. / EE 0.05 mg.

      ยาเม็ดคุมกำเนิด
      ยาคุมเจนนี่-เอฟเอ็มพี

    • Dior 21 (ดิออร์ : 21 เม็ด) และ Diora 28 (ดิออร์รา : 28 เม็ด) จะมี D-norgestrel 0.15 mg. / EE 0.03 mg.

      ยาคุม
      ยาคุมดิออร์รา : แผงละประมาณ 50 บาท

    • Anna (แอนนา : 28 เม็ด), Microgynon 30 ED (ไมโครไกนอน 30 อีดี : 28 เม็ด), Microgest ED (ไมโครเจสต์ อีดี : 28 เม็ด), Microlenyn ED (ไมโครเลนิน อีดี : 28 เม็ด), Rigevidon (ริเกวิดอน : 28 เม็ด) และ R-den (อาร์เดน : 28 เม็ด) จะมี Levonorgestrel 0.15 mg. / EE 0.03 mg.

      ยาคุม 28 เม็ด
      ยาคุมไมโครไกนอน : ราคาแผงละประมาณ 55 บาท

    • Triquilar ED (ไตรควีล่าร์ อีดี : 28 เม็ด) แบ่งเป็น 4 ส่วน คือ เม็ดสีน้ำตาลอ่อน 6 เม็ด (Levonorgestrel 0.05 mg. / EE 0.03 mg.), เม็ดสีขาว 5 เม็ด (Levonorgestrel 0.075 mg. / EE 0.04 mg.), เม็ดสีเหลือง 10 เม็ด (Levonorgestrel 0.125 mg. / EE 0.03 mg.) ส่วนเม็ดใหญ่สีขาวอีก 7 เม็ดที่เหลือจะเป็นเม็ดแป้ง

      ยาคุมกำเนิด
      ยาคุมไตรควีล่าร์ : ราคาแผงละประมาณ 55 บาท

  • ยาเม็ดคุมกำเนิดรุ่นที่ 3 (Third generation) รุ่นนี้อาการข้างเคียงจะน้อยกว่าสองรุ่นแรก บางตัวยังมีฤทธิ์ลดการสร้างไขมันที่ต่อมไขมัน ช่วยลดสิวที่เกิดจากฮอร์โมนได้ อีกทั้งยังช่วยเพิ่ม HDL และลด LDL ได้อีกด้วย จึงช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดและหัวใจได้ มีหลายยี่ห้อเช่นกันครับ ได้แก่
    • Yasmin (ยาสมิน : 21 เม็ด) มี Drospirenone 3 mg. / EE 0.03 mg. ส่วน Yaz (ยาส : 28 เม็ด มีฮอร์โมน 24 เม็ด) จะมี Drospirenone 3 mg. / EE 0.02 mg. โดยตัว Drospirenone (ดรอสไพรีโนน) จะมีความคล้ายคลึงธรรมชาติมาก มีฤทธิ์ต้านการคั่งของน้ำในร่างกาย เสมือนว่าเป็นยาขับปัสสาวะอ่อน จึงช่วยลดอาการบวมน้ำ ทำให้น้ำหนักตัวคงที่ไม่เพิ่มขึ้น เหมาะสำหรับสตรีร่างอวบที่ไม่อยากอ้วน (รวมถึงผู้ที่ไม่เคยกินยาคุมกำเนิดยี่ห้อใด ๆ เลย โดยเฉพาะตัว Yaz ที่มีระดับ EE น้อย) นอกจากนี้ยังช่วยลดอาการคัดตึงเต้านม ช่วยบรรเทาอาการก่อนมีประจำเดือน แถมยังมีฤทธิ์ต้านฮอร์โมนเพศชาย (แอนโดรเจน) ที่สามารถช่วยลดสิวที่เกิดจากฮอร์โมน ความมันของผิวหนังและเส้นผมได้ (ประสิทธิภาพในการรักษาสิวจัดว่าได้ผลดีครับ เหมาะสำหรับผู้ที่เป็นสิวปานกลาง) และยาชนิดนี้สามารถควบคุมประจำเดือนได้ดี พบอาการไม่พึงประสงค์น้อย เนื่องจากมีระดับ EE น้อย (โดยเฉพาะตัว Yaz) จึงช่วยบรรเทาอาการก่อนมีประจำเดือน (เช่น อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย เจ็บคัดเต้านม ท้องอืด ปวดท้องได้) และอาการปวดประจำเดือนได้ด้วย (Yaz จะมีปริมาณ EE น้อยกว่า Yasmin จึงมีผลข้างเคียงอย่างอาการปวดหัว คลื่นไส้ อาเจียน น้อยกว่าครับ)

      ยาคุม Yasmin
      ยาคุมยาสมิน : แผงละ 320 – 360 บาท (350 บาท*)

      ยาคุมยาส
      ยาคุมยาส : แผงละ 390 – 450 บาท (420 บาท*)

    • Diane-35 (ไดแอน-35 : 21 เม็ด), Dermooth (เดอมูท : 21 เม็ด), OC-35 (โอซี-35 : 21 เม็ด), PREME (พรีม : 21 เม็ด), Sucee (ซูซี่ : 21 เม็ด) และ Laura-35 (ลอร่า-35 (ชื่อเดิม เลดี้-35) : 21 เม็ด) จะมี Cyproterone acetate 2 mg. / EE 0.035 mg. ตัวนี้จะระดับเอสโตรเจนสูง (0.035 มิลลิกรัม) จึงทำให้ผิวดูมีน้ำมีนวล ส่วน Cyproterone acetate จะเป็นตัวที่ช่วยลดฮอร์โมนเพศชายในร่างกายได้ จึงช่วยลดอาการหน้ามัน ผมมัน ผมร่วง ขนดก และสิวจากฮอร์โมน (ใช้ในระยะยาวอาจทำให้ช่องคลอดแห้งกว่าปกติได้) ประสิทธิภาพในการรักษาสิวจากฮอร์โมนจัดว่าได้ผลดีครับ เหมาะสำหรับผู้ที่เป็นสิวเห่อรุนแรง โดยเฉพาะตัวไดแอน-35 ส่วนพรีมหรือซูซี่ก็อยู่ในระดับได้ว่าผลพอสมควรครับ แต่การมีระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนที่สูง ก็อาจทำให้เกิดอาการข้างเคียงได้มากขึ้นด้วย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียน ปวดศีรษะ คัดเต้านม เลือดออกกะปริดกะปรอยทางช่องคลอด และยังอาจมีอาการบวมน้ำได้ในบางราย (น้ำหนักเพิ่มขึ้น) สำหรับสาวเจ้าเนื้อไม่แนะนำให้ใช้ครับ เพราะอาจทำให้ดูอ้วนขึ้นได้ (สำหรับสาวสองอาจจะปลื้มเพราะทำให้ดูอึ๋มขึ้น)

      ยาคุมไดแอน
      ยาคุมไดแอน : แผงละ 150 – 200 บาท (160 บาท*)

      ยาคุมพรีม
      ยาคุมพรีม : แผงละ 110-130 (115 บาท*)

      ยาคุมซูซี่
      ยาคุมซูซี่ : แผงละ 100-180 บาท (100 บาท*)

    • Cilest (ไซเลส : 21 เม็ด) จะมี Norgestimate 0.25 mg. / EE 0.035 mg. ส่วน Marvelon 21 (มาร์วีลอน : 21 เม็ด), Marvelon 28 (มาร์วีลอน : 28 เม็ด) จะมี Desogestrel 0.15 mg. / EE 0.03 mg. และสำหรับ Mercilon (เมอร์ซิลอน : 21 & 28 เม็ด) จะมี Desogestrel 0.15 mg. / EE 0.02 mg. เหมาะสำหรับคนที่ไวต่อเอสโตรเจน เพราะช่วยลดอาการข้างเคียงจากฮอร์โมนได้ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียน ปวดศีรษะ คัดเต้านม ตัวบวม โดย Desogestrel จะช่วยยับยั้งการหลั่ง FSH และ LH ได้ดี จึงช่วยยับยั้งการตกไข่ในสตรี และช่วยทำให้มูกบริเวณมดลูกมีปริมาณลดลงและมีความเหนียวมากขึ้น จึงช่วยยับยั้งการเคลื่อนตัวของอสุจิที่จะผ่านไปยังมดลูกได้ และที่สำคัญยังมีฤทธิ์ในการรักษาผมมันและช่วยลดสิวให้น้อยลงได้อีกด้วย (แต่ไม่แนะนำให้กินตัวนี้เพื่อรักษาสิว เพราะไม่มีฤทธิ์ต้านฮอร์โมนเพศชาย) แต่ตัวยา Desogestrel จะออกฤทธิ์ทันทีไม่ได้ครับ ต้องใช้ตับในการเปลี่ยนให้เป็นรูปที่สามารถทำงานได้ก่อน จึงมีผลต่อตับโดยตรง ผู้ที่เป็นโรคตับควรหลีกเลี่ยงครับ

      ยาคุมเมอซิลอน
      ยาคุมเมอซิลอน : แผงละ 140 – 200 บาท

    • Gynera ED (ไกเนรา อีดี : 28 เม็ด) มี Gestodene 0.075 mg. / EE 0.03 mg. ส่วน Annylyn (แอนนี่ลินน์ : 21 เม็ด), Ciclomex-20 (ไซโคลเม็กซ์-20 : 21 เม็ด), Meliane (เมลลิแอน : 21 เม็ด), Meliane ED (เมลลิแอน อีดี: 28 เม็ด) จะมี Gestodene 0.075 mg. / EE 0.02 mg. และสำหรับ Minidoz (มินิดอซ : 28 เม็ด) จะมี Gestodene 0.06 mg. / EE 0.03 mg. ยาคุมกำเนิดกลุ่มนี้จะมีฮอร์โมน EE น้อย จึงช่วยลดอาการข้างเคียงต่าง ๆ ได้ดี รวมถึงผลข้างเคียงของการเกิดขนดก ผมร่วง และยังช่วยลดอาการปวดประจำเดือน ทำให้มีสิวลดลง และไม่ทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นมาก

      ยาคุมเมลลิแอน
      ยาคุมเมลลิแอน : ราคา 140 – 200 บาท (149 บาท*)

      ยาคุมมินิดอซ
      ยาคุมมินิดอซ : แผงละ 150 – 200 บาท (245 บาท*)

    • Oilezz (ออยเลซ : 22 เม็ด) แบ่งเป็น 2 ส่วน เม็ดสีฟ้า 7 เม็ด (Desogestrel 0.25 mg. / EE 0.04 mg.) และเม็ดสีขาว 15 เม็ด (Desogestrel 0.125 mg. / EE 0.03 mg.) เป็นยาคุมกำเนิดที่เลียนแบบการหลั่งของฮอร์โมนตามธรรมชาติ (2 ระยะ) ซึ่งทางบริษัทยาเคลมว่าสามารถใช้รักษาสิวจากฮอร์โมน ลดอาการหน้ามัน และลดขนดกได้ มีประสิทธิภาพในการรักษาสิวอยู่ในระดับปานกลาง เหมาะสำหรับผู้ที่เป็นสิวไม่มาก (ไม่เหมาะสำหรับผู้ที่เพิ่งกินยาคุมกำเนิด เนื่องจากมีระดับ EE ในเม็ดแรกสูง) และข้อดีอีกอย่างก็คือ ช่องคลอดไม่แห้งจนเกินไป อารมณ์ทางเพศก็แฮปปี้ แต่เนื่องจากออยเลซมีระดับเอสโตรเจนสูงถึง 0.04 มิลลิกรัม จึงทำให้อาการข้างเคียงจากมีมากขึ้น เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ ตัวบวม คัดเต้านม ในบางรายจึงอาจทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นได้

      ยาคุมออยเลส
      ยาคุมออยเลส : ราคา 370 – 450 บาท (380 บาท*)

    • TRICILEST (ไตรไซเลส : 28 เม็ด) ที่แบ่งเป็น 4 ส่วน (ส่วนละ 7 เม็ด) คือ เม็ดสีขาว (Norgestimate 0.13 mg. / EE 0.035 mg.), เม็ดสีฟ้าอ่อน (Norgestimate 0.215 mg. / EE 0.035 mg.), เม็ดสีฟ้าเข้ม (Norgestimate 0.25 mg. / EE 0.035 mg.) และเม็ดสีเขียวซึ่งเป็นเม็ดแป้ง

* หมายถึง : ราคายาคุมกำเนิดของร้านยาเอ็กซ์ต้าพลัส (ในเซเว่น) สำรวจราคา ณ วันที่ 29/10/2558

ข้อควรทราบ : สำหรับผู้ที่เริ่มกินยาคุมแผงแรก ในช่วงแรกอาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียนมากกว่าปกติ แต่อาการจะค่อย ๆ ลดลงเมื่อกินแผงต่อไป แต่สำหรับคนที่กลัวว่าจะเกิดผลข้างเคียงหรือทนอาการข้างเคียงไม่ไหว ก็ให้เลือกใช้ยาคุมกำเนิดที่มีปริมาณเอสโตรเจน (Ethinyl estradiol – EE) น้อย ๆ ก็ได้ครับ

สรุป ถ้าเน้นเรื่องลดสิว เคยกินยาคุมกำเนิดมาบ้างแล้ว และไม่แพ้ฮอร์โมนเอสโตรเจน ถ้าจะให้สิวหายเร็ว ๆ ช่วงแรกแนะนำให้ใช้ Diane-35 ไปก่อน และยาตัวนี้ยังเหมาะกับสาวประเภทสองด้วยครับ เพราะกินแล้วจะทำให้อึ๋ม ผิวพรรณเปล่งปลั่ง ดูมีน้ำมีนวลมากขึ้น ถ้าเป็นสาวโสดอยู่แนะนำให้กิน Diane-35 ต่อไปครับ แต่ถ้ามีสามีแฟนหรือมีสามีแล้ว จะลองเปลี่ยนมาใช้ Oilezz ดูก็ได้ครับ เพราะนอกจากจะช่วยลดสิวได้แล้ว ช่องคลอดก็ไม่แห้งจนเกินไปด้วย ส่วนผู้ที่กลัวอ้วนและอยากลดสิวไปด้วย Yasmin กับ Yazz ก็ถือเป็นทางเลือกที่ดีครับ แต่จะมีราคาแพงกว่าปกติครับ

วิธีการกินยาคุม

การเริ่มกินยาเม็ดแรก ให้เริ่มภายใน 5 วันแรกของรอบประจำเดือน เช่น ประจำเดือนมาวันที่ 1 ก็เริ่มกินได้ตั้งแต่วันที่ 1 เลย หรือมีเวลาอีก 4 วัน คือ วันที่ 2, 3, 4 และวันที่ 5 ส่วนคนกินยาคุมกำเนิดเฉพาะวันที่มีการร่วมเพศ แบบนั้นเสี่ยงมากครับ มีโอกาสตั้งครรภ์สูง เพราะยาจะไม่มีผล แถมยังอาจมีเลือดออกกะปริดกะปรอยบางเวลาได้ด้วย ส่วนการเริ่มกินยาหลัง 5 วันแรกของการมีประจำเดือนก็สามารถทำได้ครับ (ไม่แนะนำ) แต่ต้องใช้วิธีคุมกำเนิดอย่างอื่นร่วมด้วยเสมออย่างน้อย 7 วันหลังจากกินยาเม็ดแรก

โดยทั่วไปแล้วการกินอะไรก็ตามจะต้องกินตามวิธีใช้ของยาชนิดนั้น ๆ หากกินผิดวิธีหรือกินไม่ตรงตามที่กำหนด ก็อาจจะทำให้ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดลดน้อยลงหรือไม่ได้ผลได้ หรือบางชนิดก็อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้อีกด้วย สำหรับการกินยาคุมกำเนิดนั้นก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจและดูให้ดีก่อนว่า “แผงยาคุมมีวันกำกับไว้หรือไม่” เช่น อา. จ. อ. พ. พฤ. ศ. ส. หรือ Sun Mon Tue Wed Thu Fri Sat ซึ่งใช้แทนวันอาทิตย์ถึงวันเสาร์ แต่แผงยาบางยี่ห้อก็ไม่มีวันกำกับไว้ หรือมีแต่ตัวเลขตั้งแต่ 1-21 ซึ่งขึ้นอยู่กับบริษัทที่ผลิตยาออกมา โดยจะแบ่งออกเป็น 3 ชนิด ดังนี้

  • ยาคุมกำเนิดชนิด 21 เม็ดและมีวันกำกับ เป็นยาคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมนเท่ากันทุกเม็ด ใน 1 ชุด จะมีอยู่ 21 เม็ด (ไม่มีแป้งหรือยาหลอก) ใช้กินวันละ 1 เม็ด ตามลูกศรทุกวันจนยาหมดแผง และเว้นอีก 7 วันก่อนที่จะเริ่มกินแผงใหม่ โดยด้านหลังของแผนยาชนิดนี้จะเป็นสีเขียว มีวันเรียงกันครบ 3 สัปดาห์หรือ 21เม็ด สมมติว่าเริ่มกินยาวันจันทร์ เม็ดสุดท้ายจะตรงกับวันอาทิตย์ หลังจากนี้ก็เว้นไปอีก 7 วัน พอถึงวันจันทร์ถัดไปจึงเริ่มกินยาแผงใหม่ต่อทันที (ส่วนยาคุมกำเนิดชนิด 22 เม็ด เมื่อกินแผงแรกหมดแล้วให้หยุดกินไปอีก 6 วัน แล้วจึงค่อยเริ่มกินแผงใหม่)
  • ยาคุมกำเนิดชนิด 28 เม็ดและมีวันกำกับ ใน 1 แผง จะมีฮอร์โมนอยู่ 21 เม็ด และอีก 7 เม็ดจะเป็นแป้งเพื่อกินกันลืม ด้านหลังของแผงยาจะมี 2 สี ในแถบสีจะเป็นเม็ดแป้ง 7 เม็ด (บางบริษัทอาจทำเป็นแถบสีแดงหรือสีทอง) และส่วนที่เหลือจะเป็นเม็ดยาคุมกำเนิด เมื่อเริ่มกินยาเม็ดแรกจะต้องเริ่มกินจากส่วนที่เป็นแถบสีซึ่งมี 7 เม็ดเสมอ โดยให้เริ่มกินตั้งแต่วันแรกที่มีประจำเดือนมา ที่สำคัญจะต้องเริ่มให้ตรงกับวันในสัปดาห์ที่ระบุในแผงยานั้นด้วย เช่น ถ้าประจำเดือนมาวันแรกคือวันอังคาร ก็ให้เริ่มกินยาเม็ดแรกวันอังคารในแถบสีที่มี 7 เม็ด จากนั้นก็ให้กินยาตามลูกศรไปเรื่อย ๆ วันละ 1 เม็ด โดยกินในเวลาใกล้เคียงกันทุกวัน เช่น ถ้ากินก่อนนอนก็ให้กินก่อนนอนตลอดเพื่อจะได้ไม่สับสน พอกินแผงเก่าหมดแผงก็ให้เริ่มกินแผงใหม่ต่อได้เลยโดยไม่ต้องหยุด และไม่ต้องสนใจว่าประจำเดือนจะมาหรือไม่มา เช่น แผงเก่าเม็ดสุดท้ายกินวันจันทร์ แผงใหม่ก็ให้เริ่มกินวันอังคาร โดยประจำเดือนจะมาในขณะที่กินยาในส่วนที่เป็นแถบสี 7 เม็ดของแผงนั้น ๆ เสมอ
  • ยาชนิดที่ไม่มีวันกำกับหรือไม่มีตัวเลขกำกับ ซึ่งมีทั้งแบบ 21 และแบบ 28 เม็ด สำหรับชนิดที่มี 21 เม็ดนั้นให้เริ่มกินยาเม็ดแรกภายใน 5 วันแรกของรอบประจำเดือน โดยให้กินวันละ 1 เม็ดตามลูกศรจนครบ 21 เม็ด แล้วเว้นไปอีก 7 วัน จึงเริ่มกินแผงใหม่ ส่วนชนิด 28 เม็ด ก็ให้กินจนหมดแผงครบ 28 เม็ด แล้วเริ่มแผงใหม่ต่อได้เลยโดยไม่ต้องหยุดกินยา (7 เม็ดหลังจะเป็นแป้ง) หรือจะจดวันไว้บนแผงเลยก็ได้ครับ จะได้เหมือนกับ 2 ชนิดแรก

คำแนะนำในการกินยาคุมกำเนิด

  • ควรกินยาคุมกำเนิดในเวลาเดิมทุกวัน หากลืมกินยาให้ทำตามคำแนะนำข้างต้น
  • การใช้ยาคุมกำเนิดร่วมกับอาหารและเครื่องดื่ม คุณสามารถกินยาคุมกำเนิดได้ในขณะท้องว่างหรือกินพร้อมอาหารร่วมกับน้ำเล็กน้อยเลยก็ได้
  • ห้ามกินยาคุมกำเนิดหลังวันหมดอายุที่แจ้งไว้บนแผงยา
  • ควรจดบันทึกประจำเดือนทุกครั้ง ถ้าหากประจำเดือนขาด 1 ครั้งร่วมกับมีประวัติลืมกินยา หรือไม่ลืมกินยาแต่ประจำเดือนขาด 2 ครั้ง คุณควรจะตรวจให้แน่ใจเสียก่อนว่าไม่ตั้งครรภ์ ก่อนจะเริ่มกินยาคุมกำเนิดแผงใหม่ (ถ้าแน่ใจว่าไม่ลืมกินยา ก็ให้เริ่มกินแผงใหม่ได้ตามปกติ)
  • ในระหว่างการใช้ยาคุมกำเนิด หากมีอาการทางระบบทางเดินอาหาร เช่น ท้องเสีย ถ่ายเหลว อาเจียนมาก จะมีผลทำให้การดูดซึมของยาน้อยลง คุณควรใช้วิธีการคุมกำเนิดอื่น ๆ ร่วมด้วยอีก 7 วันหลังจากกินยาเม็ดแรก
  • เนื่องจากยาคุมกำเนิดมีฮอร์โมนที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคลิ่มเลือดอุดตัน ในระหว่างการใช้ยาคุมกำเนิดจึงควรงดการสูบบุหรี่ เพราะการสูบบุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ
  • หากมีอาการผิดปกติรุนแรง เช่น ตาพร่ามัว ปวดศีรษะมาก เจ็บแน่นหน้าอกหรือปวดบริเวณน่องมาก คุณควรหยุดใช้ยาคุมกำเนิดทันทีและรีบปรึกษาแพทย์โดยเร็ว เพราะเหล่านี้อาจเป็นอาการของลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดได้ แต่หากมีอาการผิดปกติอื่น ๆ เช่น มีฝ้าขึ้น ปวดศีรษะ มีเลือดออกทางช่องคลอดมาก ก็ควรปรึกษาแพทย์เพื่อเปลี่ยนชนิดของยาคุมที่กินอยู่หรือเปลี่ยนไปใช้วิธีการคุมกำเนิดแบบอื่นแทน
  • หากต้องเข้ารับการตรวจเลือดหรือตรวจทางห้องปฏิบัติการอื่น ๆ โปรดแจ้งให้แพทย์ทราบว่า คุณกำลังกินยาคุมกำเนิด เพราะยาคุมกำเนิดอาจมีผลต่อผลการตรวจบางอย่างได้
  • หากต้องเข้ารับการผ่าตัดทุกชนิด คุณควรแจ้งให้แพทย์ด้วยว่ากำลังกินยาคุมกำเนิด เพราะยาคุมกำเนิดมีความเสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือด
  • ควรตรวจภายในร่วมกับการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูกทุก ๆ 1-2 ปี
  • ยาบางชนิดอาจมีผลต่อประสิทธิภาพของยาคุมกำเนิดได้ เช่น ยาฆ่าเชื้อ ยาปฏิชีวนะ หรือยากันชักบางชนิด คุณไม่ควรซื้อยาเหล่านี้มากินเอง หากคุณมีโรคประจำตัวหรือต้องกินยาเหล่านี้เป็นประจำ คุณควรปรึกษาแพทย์ในการเลือกใช้วิธีคุมกำเนิดอื่น ๆ
  • ในกรณีที่ใช้ยาอื่นร่วมด้วย โปรดแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนว่า คุณกำลังใช้ยาหรือผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรชนิดใดอยู่ และแจ้งให้แพทย์ผู้สั่งยาอื่นหรือเภสัชกรที่จ่ายยาให้ทราบทุกครั้งว่าคุณกำลังกินยาคุมกำเนิดชนิดใดอยู่ เพราะยาบางชนิดอาจลดประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดของยาเม็ดคุมกำเนิด หรืออาจทำให้มีเลือดออกผิดปกติได้ ซึ่งยาเหล่านี้ได้แก่ ยาที่ใช้ในการรักษาโรคลมชัก (เช่น พริมิโดน, เฟนนายโทอิน, บาร์บิทูเรท ฯลฯ), โรควัณโรค (เช่น ไรแฟมปิซิน), โรคติดเชื้อเอชไอวี (เช่น ไรโทนาเวียร์, เนวิราพีน), โรคติดเชื้ออื่น ๆ (ยาปฏิชีวนะ เช่น เพนนิซิลลิน), ยาจากพืชสมุนไพรเซนต์จอห์น เวิร์ท เป็นต้น และยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมยังอาจมีผลต่อยาอื่น ๆ ได้ด้วย เช่น ลาโมไตรกีน, ไซโคสปอริน นอกจากนี้ในทางทฤษฎีแล้ว ระดับโพแทสเซียมในเลือดอาจสูงขึ้นด้วย หากกินยาคุมกำเนิดร่วมกับยาอื่นที่มีผลเพิ่มระดับโพแทสเซียมในเลือด
  • สำหรับการเก็บรักษายาคุมกำเนิด คุณควรเก็บให้พ้นมือและสายตาของเด็ก โดยเก็บในอุณหภูมิห้องปกติ

ลืมกินยาคุมกำเนิด

  • ปกติถ้าเรากินยาคุมกำเนิดหลังอาหารเย็น ถ้าลืมกินก็อาจไปกินก่อนนอนได้ไม่มีปัญหา แต่ถ้าก่อนเข้านอนแล้วยังลืมอีก เช้าวันรุ่งขึ้นก็ให้รีบกินยาเม็ดนั้นเสีย แต่ถ้ายังลืมอีกไปจนถึงอาหารเย็นของอีกวัน ขอแนะนำให้กินพร้อมกัน 2 เม็ดเลยครับ แม้บางรายอาจมีอาการคลื่นไส้ เวียนศีรษะมากหน่อย แต่หลังจากนั้นก็จะปกติเองครับ นี้คือในกรณีที่เราลืมกินยาไม่เกิน 1 วัน (การลืมกินยาบ่อย ๆ หลาย ๆ วันอาจทำให้มีเลือดออกกะปริดกะปรอย ทำให้ไข่ตกและตั้งครรภ์ได้ แต่ถ้าประจำเดือนมาตามกำหนดเวลาก็แปลว่าไม่ตั้งครรภ์ แต่ถ้าประจำเดือนไม่มาก็ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้แผงต่อไปครับ)
  • ถ้าลืมกินยาคุม 2 วันติดต่อกัน ให้กินยาเช้า-เย็น ติดต่อกัน 2 วัน แล้วจึงกินเม็ดต่อไปตามปกติ เช่น ลืมกินยา (ตอนเย็น) วันจันทร์และวันอังคาร วันพุธให้กินยาตอนเช้า 1 เม็ด ตอนเย็น 1 เม็ด ส่วนวันพฤหัสก็กินยาตอนเช้า 1 เม็ด และตอนเย็น 1 เม็ด แล้ววันต่อไปคือวันศุกร์ก็ให้กินตามปกติตามเวลาเดิมวันละ 1 เม็ด (วันศุกร์กินตอนเย็น 1 เม็ด) เรื่อยไปจนครบแผง
  • ถ้าลืมกินยาคุม 3 วัน แนะนำให้หยุดกินยา แล้วรอให้มีประจำเดือนมาก่อนแล้วจึงค่อยเริ่มกินแผงใหม่

ผลข้างเคียงของยาคุมกำเนิด

อาการข้างเคียงที่พบได้บ่อย หรือพบได้ประมาณ 1-10 คน ในผู้ใช้ยา 100 คน สำหรับยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม

  1. มีอาการคล้ายคนแพ้ท้อง ผู้ที่กินยาคุมกำเนิดแผงแรก ๆ อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียนศีรษะคล้ายคนแพ้ท้อง (โดยเฉพาะใน 3 แผงแรก) ทำให้บางคนคิดว่าแพ้ยาหรือตั้งครรภ์ ในกรณีนี้ไม่ต้องตกใจครับ ให้กินยาต่อไปจนครบแผง พอแผงต่อไปร่างกายจะเริ่มปรับตัวเข้ากับยาและมีอาการน้อยลงเรื่อย ๆ เอง
  2. อารมณ์เปลี่ยนแปลง (อารมณ์แปรปรวน) อาจมีอารมณ์ซึมเศร้าหรือมีอารมณ์ดีขึ้น หรือมีอารมณ์ทางเพศเปลี่ยนแปลงไป บางรายอาจรู้สึกดีขึ้นเนื่องจากหมดความกังวลเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ แต่บางรายก็อาจมีความรู้สึกทางเพศลดลง ซึ่งเป็นผลมาจากฮอร์โมนเพศชายลดลง หากเป็นมากก็ควรรีบไปพบแพทย์ แต่ก็ต้องหาสาเหตุด้วยนะครับว่าเกิดจากอะไร เพราะอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงอาจไม่ได้เกิดจากการใช้ยาคุมกำเนิดก็ได้
  3. เลือดออกกะปริดกะปรอยทางช่องคลอด ซึ่งมักจะเกิดขึ้นใน 1-3 สัปดาห์แรกของกาเริ่มกินยาคุมกำเนิด สาเหตุส่วนใหญ่มาจากการใช้ยาคุมที่มีฮอร์โมนต่ำเกินไป หรือกินยาไม่ตรงเวลา กินบ้างไม่กินบ้าง
  4. ประจำเดือนมาน้อย ยาคุมกำเนิดชนิดเม็ดฮอร์โมนรวมจะทำให้ประจำเดือนมาน้อยลง ซึ่งเป็นผลดีกับคนที่เลือดจางจากการขาดอาหารและธาตุเหล็ก เมื่อกินแล้วโอกาสที่เลือดจะจางก็น้อยลง
  5. เป็นฝ้า ยาคุมกำเนิดฮอร์โมนรวมบางชนิดกินแล้วทำให้เกิดฝ้า (ฮอร์โมนเป็นเพียงปัจจัยเสริมทำให้เกิดฝ้า) คุณควรหลีกเลี่ยงการถูกแสงแดดเป็นเวลานาน ๆ (แต่ยาคุมบางชนิดที่กินแล้วไม่เป็นฝ้าก็มีครับ แต่จะมีราคาค่อนข้างแพงกว่าปกติ) เมื่อหยุดใช้ยาแล้วฝ้าจะจางลงเอง
  6. อาการอื่น ๆ ที่อาจพบได้ เช่น ไมเกรน มีอาการปวดเต้านม รู้สึกบวมน้ำ ความรู้สึกทางเพศลดลงหรือหายไป มีเลือดออกที่มดลูกผิดปกติ (เลือดออกระหว่างรอบเดือน) เลือดออกทางช่องคลอด มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นในบางราย (เป็นผลมาจากการที่ร่างกายมีน้ำและเกลือแร่คั่งในชั้นไขมันใต้ผิวหนัง) ในกรณีนี้ก็ต้องระวังเรื่องอาหารการกินมากน้อย อย่ากินแป้งและไขมันมากเกินไป เพราะจะยิ่งทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น
  7. สำหรับอาการข้างเคียงของการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมที่พบได้น้อย (พบได้ 1-10 คน ในผู้ใช้ยา 10,000 คน) ได้แก่ ภาวะลิ่มเลือดหลุดอุดตันหลอดเลือดดำและหลอดเลือดแดง ส่วนอาการไม่พึงประสงค์ที่พบได้น้อยมาก ซึ่งถูกประเมินว่าเกี่ยวข้องกับยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม ได้แก่ เนื้องอก (ยังไม่แน่ชัดว่ามีความสัมพันธ์โดยตรงต่อการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดหรือไม่) มะเร็งตับ ฝ้า (ยาคุมกำเนิดบางชนิดกินแล้วอาจทำให้เกิดฝ้าได้ คุณควรหลีกเลี่ยงการถูกแสงแดดเป็นเวลานาน ๆ เมื่อหยุดใช้ยาแล้วฝ้าจะจางลงเอง ผิวหนังมีลักษณะเป็นก้อนกลมแดงนูนออกมา (Erythema nodosum) ความดันโลหิตสูง การทำงานของตับไม่ปกติ

คำแนะนำ : ในระหว่างการใช้ยาคุมกำเนิดหากคุณมีอาการเหล่านี้ คุณควรรีบไปพบแพทย์ เช่น มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน และปวดศีรษะมาก มีอารมณ์เปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง (ซึมเศร้ามาก) มีเลือดออกทางช่องคลอดในปริมาณมาก หรือมีอาการแน่นหน้าอก ปวดบริเวณน่อง หรือขาบวม 1 ข้าง หรือตรวจพบว่ามีการตั้งครรภ์ในขณะใช้ยาคุมกำเนิด

ประสิทธิภาพของยาคุมกำเนิด

วิธีคุมกำเนิด|การใช้แบบทั่วไป|การใช้อย่างถูกต้อง
ยาฝังคุมกำเนิด(Contraceptive implant) |0.05 (1 ใน 2,000 คน)|0.05
ทำหมันชาย (Male sterilization)|0.15 (1 ใน 666 คน)|0.1
ห่วงอนามัยเคลือบฮอร์โมน (IUD with progestogen)|0.2 (1 ใน 500 คน)|0.2
ยาฉีดคุมกำเนิด (ฮอร์โมนรวม)|0.2 (1 ใน 500 คน)|0.2
ทำหมันหญิงแบบทั่วไป (Tubal ligation)|0.5 (1 ใน 200 คน)|0.5
ห่วงอนามัยหุ้มทองแดง (IUD with copper)|0.8 (1 ใน 125 คน)|0.6
ยาฉีดคุมกำเนิด (ฮอร์โมนเดี่ยว)|6 (1 ใน 17 คน)|0.2
แผ่นแปะคุมกำเนิด (Contraceptive patch)|9 (1 ใน 11 คน)|0.3
วงแหวนคุมกำเนิด (NuvaRing)|9 (1 ใน 11 คน)|0.3
ยาเม็ดคุมกำเนิด (Contraception pill)|9 (1 ใน 11 คน)|0.3
ถุงยางอนามัยชาย (Male latex condom)|18 (1 ใน 5 คน)|2
การหลั่งนอก (Coitus interruptus)|22 (1 ใน 4 คน)|4
ยาฆ่าเชื้ออสุจิ (Spermicidal)|28 (1 ใน 3 คน)|18
การหลั่งใน (ไม่มีการป้องกัน)|85 (6 ใน 7 คน)|85

หมายเหตุ : ตัวเลขที่แสดงเป็นจำนวนการตั้งครรภ์ต่อปี (first year of use) ของสตรีที่คุมกำเนิดด้วยวิธีดังกล่าวจำนวน 100 คน โดยกำหนดให้ สีฟ้า = ความเสี่ยงต่ำมาก / สีเขียว = ความเสี่ยงต่ำ / สีเหลือง = ความเสี่ยงปานกลาง / สีส้ม = ความเสี่ยงสูง / สีแดง = ความเสี่ยงสูงมาก (ข้อมูลจาก : www.contraceptivetechnology.org, Comparison of birth control methods – Wikipedia)

คำถามที่พบบ่อย

Q : ซื้อยาคุมกำเนิดมากินเองได้หรือไม่ ?
A : หากไม่สะดวกไปพบแพทย์ก็สามารถซื้อยามากินเองได้ครับ แต่ต้องศึกษาให้รู้จริง หรือลองปรึกษาเภสัชกรในร้านยาใกล้บ้านก็ได้ครับ และเมื่อใช้ไปแล้วประมาณ 1 ปี ก็ควรจะไปพบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพดูสักครั้ง

Q : ยาคุมยี่ห้อไหนดีที่สุด ?
A : ไม่มียาคุมยี่ห้อไหนที่ดีที่สุดและเหมาะกับทุกคน เพราะร่างกายแต่ละคนไม่เหมือนกัน คงต้องเลือกที่เหมาะกับเรา “ยาคุมที่ดีที่สุดคือยาคุมที่เหมาะสมกับเรา

Q : กินยาจะทำให้อ้วนไหม ?
A : ขึ้นอยู่กับชนิดของยาและตัวบุคคลครับ ถ้าเป็นคนที่อ้วนง่ายหรือมีแนวโน้มจะอ้วนง่ายอยู่แล้ว กินไปก็จะเห็นผลทันตา แต่ถ้าเป็นคนผอม กินเข้าไปยังไงก็ไม่อ้วนครับ

Q : ยาคุม 21 เม็ด กับ 28 เม็ด แตกต่างกันอย่างไร ?
A : ไม่แตกต่างกัน เพราะยาคุมทั้งสองแบบต่างก็ฮอร์โมน 21 เม็ดเท่ากัน แต่ยาคุมแบบ 28 เม็ด จะมี 7 เม็ดที่ซึ่งเป็นแป้งเพิ่มเข้ามาไว้กินกันลืม หลาย ๆ คนมักเข้าใจผิดคิดว่าเมื่อกินยาคุมแบบ 28 เม็ด หมดแผงแล้วจะต้องเว้นไปอีก 7 วัน จึงค่อยเริ่มแผงใหม่ นั้นเป็นความเข้าใจที่ผิดนะครับ ขอย้ำนะครับว่าถ้ากินแบบ 21 เม็ด จะต้องเว้นไปอีก 7 วันก่อนเริ่มกินแผงใหม่ แต่ถ้ากินแบบ 28 เม็ด ไม่ต้องเว้น ให้กินแผงใหม่ต่อไปได้เลย หรือพูดง่าย ๆ คือ กินทุกวันครับ (ยาคุมกำเนิดรุ่นใหม่ ๆ อาจมีฮอร์โมน 24 เม็ด และแป้งหรือยาหลอกอีก 4 เม็ดก็ได้ แต่วิธีกินก็เหมือนกับยาชนิด 28 เม็ดทุกประการครับ)

Q : จะเริ่มกินยาคุมกำเนิดได้เมื่อไหร่ ?
A : การเริ่มกินยาเม็ดแรก ให้เริ่มภายใน 5 วันแรกของรอบประจำเดือน เช่น ประจำเดือนมาวันที่ 1 ก็เริ่มกินได้ตั้งแต่วันที่ 1 เลย หรือมีเวลาอีก 4 วัน คือ วันที่ 2, 3, 4 และวันที่ 5 (ในแผงแรกถ้ายาคุมกำเนิดที่ใช้มีฮอร์โมนต่ำ ควรเริ่มกินตั้งแต่วันแรกที่มีประจำเดือนครับ เพราะจะให้ผลดีกว่าวันหลัง ๆ ) ส่วนคนกินยาคุมกำเนิดเฉพาะวันที่มีการร่วมเพศ แบบนั้นเสี่ยงมากครับ มีโอกาสตั้งครรภ์สูง เพราะยาจะไม่มีผล แถมยังอาจมีเลือดออกกะปริดกะปรอยเวลาได้ด้วย

Q : กินยาคุมแผงแรกช้ากว่ากำหนด จะเป็นอย่างไร ?
A : การเริ่มกินยาหลัง 5 วันแรกของการมีประจำเดือนสามารถทำได้ครับ แต่ไม่แนะนำ เนื่องจากประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดจะไม่แน่นอน แต่ถ้ากินมาแล้วก็ให้กินต่อไปครับ และต้องใช้วิธีคุมกำเนิดอย่างอื่นร่วมด้วยอย่างน้อย 7 วันหลังจากกินยาเม็ดแรก

Q : กินยาคุมไม่ตรงเวลา แต่กินทุกวัน จะเป็นอะไรไหม & ต้องกินยาคุมตรงเวลาไหม ?
A : ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดจะลดน้อยลง แต่ถ้าเรากินตรงเวลาทุกวันจะมีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดเกิน 99%

Q : จำเป็นแค่ไหนที่ต้องกินยาคุมในเวลาเดียวกันทุกวัน ?
A : สำหรับยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมอาจจะไม่ต้องตรงเวลาเป๊ะมากก็ได้ครับ สามารถคลาดเคลื่อนจากเวลาที่กินเดิมได้ไม่เกิน 5-6 ชั่วโมง แต่ถ้าเป็นยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม ตัวนี้ต้องกินตามเวลาเดิมทุก ๆ วัน คลาดเคลื่อนได้ไม่เกิน 3 ชั่วโมง เพราะจะทำให้ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดลดลง

Q : ยาคุมกำเนิดจะเริ่มมีผลเมื่อไหร่ ?
A : เมื่อกินไปได้ประมาณ 4-5 เม็ด (ในแผงแรกถ้ากินภายใน 5 วันหลังจากประจำเดือนมาวันแรก ก็จะสามารถคุมกำเนิดได้ทันทีตั้งแต่กินเม็ดแรก)

Q : กินยาคุมแล้วมีเลือดออกกะปริดกะปรอยคล้ายประจำเดือน ในระหว่างที่กินยาคุมกำเนิดหรือหลังจากเริ่มกินยาคุมกำเนิด ผิดปกติหรือไม่ ?
A : ไม่ครับ เพราะเป็นอาการข้างเคียงที่พบได้บ่อย โดยเฉพาะในผู้ที่เพิ่งเริ่มกินยาคุม 1-3 แผงแรก โดยส่วนใหญ่แล้วอาการเลือดออกกะปริดกะปรอยจะหายไปเอง แต่ถ้าไม่หายภายใน 3 เดือน หรือกังวลใจมาก ๆ คุณควรปรึกษาแพทย์

Q : กินยาคุมกำเนิดแล้วเกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน จะทำอย่างไร ?
A : อาการดังกล่าวเกิดจากผลข้างเคียงของยา โดยเฉพาะยาคุมกำเนิดที่มีระดับฮอร์โมน EE สูง คุณควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร เพื่อเปลี่ยนมาใช้ยาคุมกำเนิดชนิดที่มีฮอร์โมนต่ำ เช่น Yaz

Q : หลังกินยาคุมกำเนิดแล้วอาเจียนออกมา จะทำอย่างไร ?
A : หากอาเจียนหรือมีอาการท้องเสียอย่างรุนแรงหลังจากกินยา ตัวยาสำคัญในยาเม็ดอาจไม่ถูกดูดซึมอย่างสมบูรณ์ ซึ่งจะมีผลคล้ายกับการลืมกินยา ดังนั้นหากคุณอาเจียนภายใน 3-4 ชั่วโมง หลังกินยาคุมกำเนิด ให้กินซ้ำอีก 1 เม็ด แต่ถ้าเกินกว่านี้ก็ต้องกินครับ เพราะตัวยาจะถูกดูดซึมหมดแล้ว

Q : ทำยาคุมกำเนิดหายไป 1 เม็ด ควรทำอย่างไร ?
A : ถ้าเป็นแบบ 21 เม็ด ก็ให้ซื้อมาใหม่อีกแผง แล้วแกะออกมา 1 เม็ด (เม็ดไหนก็ได้) แล้วเอามาเสริมเม็ดที่หายไป ส่วนแผงที่แกะแล้วให้เก็บไว้เป็นอะไหล่เผื่อหายเผื่ออาเจียนครับ ส่วนแบบ 28 เม็ด ถ้าเป็นเม็ดแป้งหายก็ให้เว้นไม่ต้องกินในวันของเม็ดที่หาย แต่ถ้าเม็ดที่หายเป็นตัว ก็ให้ทำแบบเดียวกับ 21 เม็ดครับ

Q : กินยาคุมกำเนิดแบบ 21 เม็ดจนครบแล้ว ช่วงที่หยุดยา 7 วัน จะยังคุมกำเนิดได้อยู่ไหม ?
A : ยังคุมกำเนิดได้อยู่ครับ ไม่ต้องห่วง

Q : จะเปลี่ยนจากแบบ 28 เม็ด ไปเป็น 21 เม็ด จะต้องทำอย่างไร ?
A : กินแผงเดิมครบ 28 เม็ด ก็เริ่มกินแผงใหม่ชนิด 21 เม็ดต่อได้ทันที ส่วนประสิทธิภาพยังเหมือนเดิม

Q : จะเปลี่ยนยาคุมจาก 21 เม็ด เป็น 28 เม็ด จะต้องทำอย่างไร ?
A : ควรกินแผงเดิมให้ครบ 21 ก่อน และเว้นไปอีก 7 วัน แล้วจึงเริ่มกินแผงใหม่ที่เป็น 28 เม็ดได้เลย

Q: ยาคุมแบบ 28 เม็ด เราจะไม่กิน 7 เม็ดสุดท้ายที่เป็นแป้งได้หรือไม่ ?
A : ได้ครับ ถ้าไม่กลัวลืม ไม่กลัวสับสน แต่ถ้าทำอย่างนั้นแนะนำว่าใช้แบบ 21 เม็ดไปเลยจะดีกว่าครับ

Q : ถ้ากินยาคุมกำเนิดแบบ 21 เม็ด แล้วเว้นระยะเกิน 7 วัน ก่อนที่จะกินแผงต่อไป จะทำได้ไหม ?
A : ในกรณีที่ลืมหรือเริ่มแผงต่อไปช้าเกิน 7 วัน จะทำให้ประสิทธิภาพของการคุมกำเนิดลดลง ในช่วงแรกจะต้องคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่นร่วมด้วย เช่น การสวมถุงยาง ในช่วง 7 วันแรกที่เริ่มแผงใหม่

Q : กินยาคุมแบบ 21 เม็ด แต่เว้นไม่ครบ 7 วัน (กินก่อนครบ 7 วัน) จะต้องทำอย่างไร ?
A : สามารถกินต่อไปได้เลยไม่มีปัญหา ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดก็ยังเหมือนเดิม

Q : มีความจำเป็นอยากเปลี่ยนวันกินยาคุมกำเนิด ต้องทำอย่างไร ?
A : สำหรับยาคุมแบบ 21 เม็ด แทนที่จะเว้นระยะในระหว่าง 7 วันแล้วค่อยกิน ก็ให้เปลี่ยนมาเริ่มกินแผงใหม่ได้เลยในวันที่ต้องการ สำหรับยาคุมแบบ 28 เม็ด ก็ให้เปลี่ยนมาเริ่มกินแผงใหม่ได้ตั้งแต่ในช่วงเม็ดที่ 22-28 ของแผงเดิม

Q : กินยาคุมแบบ 21 เม็ด อยากเลื่อนประจำเดือน ควรทำอย่างไร ?
A : ในกรณีที่กินยาหมดแผงครบ 21 เม็ดแล้ว และมีความจำเป็นจะเลื่อนประจำเดือนออกไปหรือไม่ต้องการให้มีประจำเดือนมาในช่วงที่จะต้องหยุดยา เช่น กรณีแฟนมาหา ก็ให้กินแผงใหม่ต่อจนครบ 42 เม็ดเลยครับ พอครบแล้วก็ค่อยเว้นไปอีก 7 วัน ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดยังมีเท่าเดิม ไม่ต้องห่วง (ถ้าเป็นแบบ 28 เม็ด ให้เด็ด 7 เม็ดสุดท้ายที่เป็นแป้งทิ้งไปเลย)

Q : ถ้าจะเปลี่ยนยี่ห้อยาคุมกำเนิด จะต้องทำอย่างไร ?
A : กินแผงเก่าให้ครบแล้วเปลี่ยนได้เลย ถ้าเป็นแบบ 21 วันเมื่อกินครบแผงแล้ว ก็เว้นไปอีก 7 วันแล้วกินยี่ห้อใหม่ได้เลย แต่ถ้าเป็นแบบ 28 เม็ดเมื่อกินครบแผงแล้วก็เริ่มแผงใหม่ได้ทันที แม้ว่ายี่ห้อใหม่จะมีปริมาณฮอร์โมนต่างกับยี่ห้อเดิมหรือไม่ก็ตาม

Q : กินยาคุมย้อนศร & กินยาคุมผิดวัน จะต้องทำอย่างไร ?
A : กรณีของยาคุม 21 เม็ด จะสลับกินเม็ดไหนก็ได้ แต่ที่ให้กินเรียงกันไปก็เพื่อความสะดวกและกันลืม เช่น ต้องกินเม็ดที่ 10 แต่กลับไปกินเม็ดที่ 20 ก็ไม่เป็นไรครับ พอวันที่ 11 ก็กินของวันที่ 11 ไปตามปกติ จนถึงวันที่ 20 ก็ให้กลับมากินของเม็ดที่ 10 ที่เราข้ามไป เนื่องจากทุกเม็ดมีตัวยาและขนาดยาเหมือนกัน แต่ในกรณีของยาคุมกำเนิดหลายระยะที่แต่ละเม็ดจะไม่เท่ากัน วันที่ 10 ก็ต้องกลับมากินเม็ดที่ 10 แล้วกินต่อไปเรื่อย ๆ ร่วมไปกับการใช้วิธีการคุมกำเนิดอื่น ๆ

Q : อายคนอื่นกลัวพ่อแม่เห็นที่พกยาคุม จะทำอย่างไร ?
A : แกะยาออกจากแผง แล้วนำยามาใส่ซองยาธรรมดาแทน

Q : 2-3 เดือนเจอกันครั้งหนึ่ง จะกินยาคุมอย่างไร ?
A : ถ้าแฟนจะมาวันไหน ก็ควรเริ่มกินยาคุมรอไว้เลย สมมติว่า แฟนจะมาเดือนหน้า จะเจอกันก่อนประจำเดือนรอบใหม่จะมา ถ้าเดือนนี้พอประจำเดือนมาก็เริ่มกินรอไว้เลย

Q : ไปต่างจังหวัด แต่ลืมยาคุมกำเนิด จะต้องทำอย่างไร ?
A : ควรซื้อยาคุมกําเนิด แผงใหม่ และหยิบเม็ดไหนก็ได้กินต่อไปเลย หลังจากกลับมาแล้วก็แกะแผงเก่าทิ้งเท่าจำนวนที่กินไป แล้วก็กินแผงเก่าต่อ ส่วนแผงใหม่นั้นก็เก็บไว้เป็นยาสำรอง

Q : หลังกินยาคุมประจําเดือนจะมาเมื่อไหร่ ?
A : ในช่วงเว้น 1 สัปดาห์หรือช่วงกินยาหลอก ประจำเดือนจะเริ่มมาหลังจากหยุดกินยาไปได้ประมาณ 2-4 วัน (อย่างกินเม็ดสุดท้ายหรือเม็ดที่ 21 ตอนเช้าวันที่ 30 กันยายน วันที่ 2 ตอนเช้า ถึงวันที่ 4 ตุลาคม ประจำเดือนก็จะเริ่มมาแล้วครับ)

Q : กินยาคุมแบบ 21 เม็ดจนครบแผง อีก 7 วัน ประจำเดือนยังไม่มา ควรทำอย่างไร ?
A : เริ่มกินแผงต่อไปทันที

Q : กินยาคุมกำเนิดแบบ 21 เม็ดจนครบแล้ว ต้องรอให้ประจำเดือนมาก่อนแล้วค่อยกินต่อใช่ไหม ?
A :ไม่ใช่ เมื่อครบ 7 วันแล้ว วันถัดมาให้กินแผงใหม่ได้เลย ไม่ว่าประจำเดือนจะมาหรือไม่ก็ตาม

Q : กินยาคุมแล้วประจําเดือนไม่มา & กินยาคุมแล้วท้อง จะต้องทำอย่างไร ?
A : หากกินยาคุมกำเนิดอย่างถูกต้องจนหมดแผง และไม่มีอาการอาเจียนหรืออาการท้องเสียอย่างรุนแรง และไม่ได้ใช้ยาชนิดอื่นร่วมด้วย ก็ไม่น่าจะมีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น กรณีนี้ให้กินยาคุมแผงต่อไปได้เลย แต่หากกินยาคุมกำเนิดไม่ถูกต้อง หรือหากกินอย่างถูกต้องแล้ว แต่ไม่มีเลือดประจำเดือนออกมา 2 เดือนติดต่อกัน อาจเกิดการตั้งครรภ์ได้ ควรรีบไปพบแพทย์และไม่ควรกินยาคุมกำเนิดแผงต่อไปจนกว่าจะแน่ใจแล้วว่าไม่ตั้งครรภ์ ในระหว่างนี้ก็ให้ใช้วิธีคุมกำเนิดที่ไม่ใช่ฮอร์โมนแบบอื่นไปก่อน

Q : การกินยาเม็ดคุมกำเนิด จะทำให้ตรวจการตั้งครรภ์ผิดพลาดได้หรือไม่ ?
A : ไม่ครับ

Q : เมื่อกินยาคุมกำเนิดต่อเนื่องไปนาน ๆ ควรพักการบ้างหรือไม่ ?
A : ไม่ต้องพักก็ได้

Q : สามารถกินยาคุมกำเนิดติดต่อกันได้นานแค่ไหน ?
A : ถ้าอายุยังน้อย ก็กินได้หลายปี 5-10 ปีก็ไม่เป็นอะไร

Q : กินยาเม็ดคุมกำเนิดแล้วยังมีโอกาสตั้งครรภ์อยู่หรือไม่ ?
A : การกินยาคุมกำเนิดพบว่ายังมีอัตราการตั้งครรภ์ได้ที่ 9% เนื่องจากมีปัจจัยหลายอย่าง เช่น ลืมกินยาคุมกำเนิด กินยาไม่ตรงเวลา หรือมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสียง หรือได้รับยาอื่น ๆ ที่ไปรบกวนการออกฤทธิ์ของยาคุมกำเนิด ซึ่งเหล่านี้สามารถป้องกันการตั้งครรภ์ให้มีโอกาสเกิดน้อยลงได้ คือ กินยาทุกวันให้ตรงเวลา หรือใช้วิธีคุมกำเนิดอย่างอื่นร่วมด้วยเมื่อมีอาการทางระบบทางเดินอาหาร (คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย) อย่างน้อย 7 วันหลังกินยาเม็ดแรก

Q : หากกินยาเม็ดคุมกำเนิดมากเกินไปจะเป็นอย่างไร ?
A : ยังไม่มีรายงานถึงผลเสียที่เป็นอันตรายร้ายแรงจากการกินยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมมากเกินไป แต่หากกินหลายเม็ดพร้อมกันในคราวเดียว อาจทำให้เกิดความรู้สึกไม่สบายตัวหรือคลื่นไส้ ในสตรีที่อายุน้อย อาจพบว่ามีเลือดออกทางช่องคลอด หากคุณกินมากเกินไปหรือพบว่าเด็กกินเข้าไป ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร

Q : กินยาคุมกำเนิดนาน ๆ อันตรายไหม ?
A : เป็นอีกหนึ่งคำถามที่พบบ่อย เพราะมีหลาย ๆ คนกินยาคุมกำเนิดมาเกินกว่า 5 ปีแล้ว ขอยืนยันว่าคุณไม่มีโรคประจำตัวใด ๆ การกินยาคุมกำเนิดไปนาน ๆ ก็ไม่มีผลเสียอะไร แต่อย่างไรก็ตาม คุณก็ควรจะไปตรวจสุขภาพทุกปีเพื่อตรวจดูว่ามีความผิดปกติหรือไม่ และต้องยึดหลักที่ว่า “ยาเม็ดคุมกำเนิดเป็นวิธีการคุมกำเนิดชั่วคราว ถ้ามีลูกพอแล้วก็ควรทำหมันจะดีกว่า

Q : กินยาคุมนาน ๆ จะทำให้มีบุตรยาก แท้งบุตรง่าย เด็กเกิดมาพิการ หรือปัญญาอ่อน จริงหรือไม่?
A : ไม่จริงแต่อย่างใด

Q : กินยาคุมกำเนิดเป็นเวลานาน จะทำให้มีลูกยากจริงไหม ?
A : จากการศึกษาเป็นเวลานานไม่พบว่าการกินยาคุมกำเนิดเป็นระยะเวลานาน ๆ จะทำให้มีลูกยากหรือเป็นหมัน แต่ถ้าหยุดยาแล้วยังไม่ตั้งครรภ์สักทีก็ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ

Q : ยาคุมกำเนิดทำให้น้ำนมลดจริงหรือ ?
A : การกินยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมหลังคลอดทันที อาจมีผลต่อการผลิตน้ำนมได้ ควรรอประมาณเดือนครึ่งแล้วจึงค่อยเริ่มกินยาคุมกำเนิด เพราะจะทำให้ปริมาณของน้ำนมไม่เปลี่ยนแปลงหรืออาจลดลงบ้างเพียงเล็กน้อย (ไม่มีผลต่อลูกน้อยแต่อย่างใด ให้ลูกกินนมแม่ได้ตามปกติ) สำหรับคุณแม่บางรายที่มีปริมาณน้ำนมน้อยอยู่แล้ว แพทย์จะจ่ายยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดที่มีฮอร์โมนโปรเจสโตเจนเพียงอย่างเดียวให้คุณแม่ในช่วงที่ให้นมลูก ซึ่งยาคุมกำเนิดชนิดนี้จะไม่ทำให้น้ำนมแม่ลดลงแต่อย่างใด

Q : กินยาคุมแล้วอารมณ์ทางเพศและน้ำหล่อลื่นลดลง จะทำอย่างไร ?
A : มีบางรายที่พบว่ากินแล้วมีอารมณ์ทางเพศน้อยลง หรือบางรายมีน้ำหล่อลื่นลดลง กรณีให้คุณลองเปลี่ยนไปใช้ยาคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมนน้อยลงก็จะช่วยได้ แต่ถ้ายังไม่ดีขึ้นก็คงต้องเปลี่ยนไปใช้วิธีการคุมกำเนิดแบบอื่นแทน

Q : ยาคุมยี่ห้อไหนกินแล้วไม่อ้วน (ยาคุมที่กินแล้วไม่อ้วน) & กินยาคุมแล้วอ้วน ทําไงดี ?
A : ลองเปลี่ยนมาใช้ยาคุมกำเนิดของ Yasmin หรือของ Yaz ดูครับ เพราะสองตัวนี้มีฤทธิ์ต้านการคั่งของน้ำในร่างกาย เสมือนว่าเป็นยาขับปัสสาวะอ่อน จึงช่วยลดอาการบวมน้ำ ทำให้น้ำหนักตัวคงที่ไม่เพิ่มขึ้น

Q : ยาคุมลดสิว & ยาคุมรักษาสิวที่ดีที่สุด คือยี่ห้อใด ?
A : Diane-35, Yasmin, Yaz ครับ แต่ต้องเลือกใช้เหมาะกับตัวเราด้วย

Q : อยากเปลี่ยนมากินยาคุมกำเนิดแทนการฉีดยาคุม จะเริ่มกินยาได้เมื่อไหร่ ?
A : เริ่มกินเม็ดแรกคือวันที่ครบกำหนดฉีดในครั้งต่อไป แม้ประจำเดือนจะมาหรือไม่ก็ตาม สามารถกินได้เลย ไม่ต้องรอ

Q : ถ้าไม่ต้องใช้ยาคุมกำเนิดแล้ว สามารถหยุดกินกลางคันได้ไหม ?
A : ควรกินต่อให้ครบแผงแล้วค่อยหยุด

Q : แฟนไม่อยู่หลายเดือน ควรหยุดกินยาคุมกำเนิดหรือไม่ ?
A : ไม่ควรครับ เพราะการที่กินยาคุมกำเนิดมาแล้วหลายแผง เมื่อหยุดยา ประจำเดือนอาจไม่มาหรือมาช้ากว่าปกติก็ได้ พอแฟนกลับมา จึงยังไม่ทันได้เริ่มกินยาคุมกำเนิด (เนื่องจากรอบเดือนยังไม่มา) ก็เลยไม่ได้คุมกำเนิด ดังนั้นถ้าจะหยุดกินชั่วคราวแค่ 1-2 เดือน ขอแนะนำว่าให้กินต่อเนื่องไปเลยจะดีกว่าครับ

Q : สามีไปทำงานต่างประเทศหลายเดือน จะหยุดกินยาคุมได้ไหม ?
A : หยุดกินได้ แต่ต้องกินให้หมดแผงแล้วค่อยหยุด ถ้าไปไม่ถึงเดือนก็ไม่ควรหยุดกิน

Q : หลังหยุดกินยาคุม สามารถเริ่มตั้งครรภ์ได้ทันทีหรือไม่ หรือต้องนานไหม ?
A : หลังจากหยุดกินยาคุมสามารถเริ่มตั้งครรภ์ได้ทันที โดยทั่วไปไข่จะตกหลังจากหยุดยาคุมไปแล้วประมาณ 2 สัปดาห์ และประจำเดือนจะเริ่มมาหลังจากหยุดยาคุมแล้วประมาณ 4-6 สัปดาห์

ภาพประกอบ : www.vitamin-care.com

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด