ม่านตาอักเสบ
ม่านตาอักเสบ (Iritis) เป็นโรคที่พบได้น้อย สามารถพบเกิดได้ในคนทุกวัย แต่จะพบได้มากในคนวัยหนุ่มสาว โดยเป็นการอักเสบของม่านตาที่เกิดได้จากหลายสาเหตุ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดตา เคืองตา น้ำตาไหล ตามัว ตาแดงในส่วนรอบ ๆ ตาดำ ถือเป็นภาวะอันตรายที่ต้องได้รับการรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสมและทันท่วงที เพราะอาจทำให้มีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงเกิดขึ้นตามมาได้
ในประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่ามีผู้ป่วยเป็นโรคนี้ปีละประมาณ 350,000 คน และเป็นสาเหตุที่ทำให้ตาบอดได้มากถึง 10% ของทั้งหมด จากการศึกษาทางระบาดวิทยาพบว่า โรคนี้มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นอย่างน้อย 3 เท่า
สาเหตุของโรคม่านตาอักเสบ
สาเหตุการอักเสบของม่านตาอาจมีได้หลายอย่าง เนื่องจากม่านตามีการติดต่อกับระบบอื่นของร่างกายโดยผ่านกระแสเลือด ดังนั้น โรคของระบบต่าง ๆ ที่เป็นอยู่บางโรคอาจทำม่านตาอักเสบไปด้วยได้ เช่น
- เกิดจากการลุกลามของโรคติดเชื้อภายนอกลูกตา เช่น เยื่อตาขาวอักเสบ กระจกตาอักเสบ แผลกระจกตา ตาแดงบางชนิด
- เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส เชื้อรา หรือเชื้อปรสิต (พยาธิ)
- เกิดจากโรคทางกายอื่น ๆ เช่น โรคสมองอักเสบ, โรคไซนัสอักเสบ, โพรงกระดูกอักเสบ, โรคไขข้ออักเสบ, วัณโรค, ซิฟิลิส, เริม, งูสวัด, หัดเยอรมัน, โรคเรื้อน, มะเร็ง, Ankylosing spondylitis, Reiter’s syndrome, Inflammatory bowel syndrome, Behcet’s, Synpathetic ophthalmia เป็นต้น
- เกิดจากปฏิกิริยาภูมิต้านตนเอง/โรคออโตอิมมูน (Autoimmune) เช่น โรคสะเก็ดเงิน, โรคลำไส้อักเสบไอบีดี, โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์, โรคกระดูกหลังแข็ง, Sarcoidosis
- เกิดจากการกระทบกระเทือน (อุบัติเหตุทางตา) เช่น การถูกกระแทกโดยของไม่มีคมที่บริเวณกระบอกตา
- การสูบบุหรี่
- ในบางรายโรคนี้อาจเกิดขึ้นได้โดยไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน
อาการของโรคม่านตาอักเสบ
- ผู้ป่วยจะมีอาการปวดตา (เนื่องจากเกิดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อม่านตา) ตามัว ตาสู้แสงไม่ได้ ตาแดงในส่วนรอบ ๆ ตาดำ เคืองตา น้ำตาไหล ซึ่งอาจมีอาการเพียงเล็กน้อยจนถึงปานกลาง อาการอาจเกิดขึ้นอย่างฉับพลันหรือเกิดขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไปก็ได้ และโดยมากมักจะเป็นกับตาเพียงข้างเดียว (ในกรณีที่เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน อาการมักจะเป็นอยู่ไม่นาน แต่ในรายที่เกิดเป็นโรคเรื้อรัง อาการมักจะกลับมาเป็นซ้ำ ๆ เป็น ๆ หาย ๆ)
- โรคม่านตาอักเสบนี้ในระยะแรกมักมาด้วยอาการตาแดงและมีอาการปวดตาโดยฉับพลัน หรืออาจมาด้วยอาการตามัวโดยที่ไม่มีอาการปวดตาเลยก็ได้
- ผู้ป่วยบางรายอาจรู้สึกปวดมากขึ้นเมื่ออยู่ในที่แจ้ง และอาการจะดีขึ้นเมื่ออยู่ในที่ร่ม บางรายอาจมีอาการเพียงเล็กน้อยจนไม่รู้สึกว่ามีอาการเลยก็ได้
- อาการของผู้ป่วยจะเป็นอยู่เพียงไม่กี่วันถึงหลายสัปดาห์ เมื่อหายแล้วอาจกำเริบขึ้นได้ใหม่ ส่วนในรายที่เป็นอย่างเรื้อรังอาจเป็นอยู่นานเป็นแรมเดือนแรมปีเลยก็ได้
ภาวะแทรกซ้อนของโรคม่านตาอักเสบ
- ในรายที่เป็นนาน ๆ อาจทำให้เป็นต้อกระจก (Cataract) ได้
- ในรายที่เป็นรุนแรง ถ้าไม่ได้รับการรักษา อาจทำให้มีเม็ดเลือดขาวที่เกิดจากการอักเสบไปอุดกั้นทางระบายของน้ำเลี้ยงลูกตา และทำให้กลายเป็นต้อหิน (Glaucoma) ได้ หรือไม่ก็อาจมีการยึดติดกันของม่านตากับแก้วตาทำให้เกิดต้อหินได้เช่นกัน
- อาจทำให้เกิดเส้นเลือดงอกใหม่ในลูกตา มีผลทำให้เกิดเลือดออกในตาได้
- อาจมีการทำลายจอประสาทตา หรือเกิดจอประสาทตาลอกได้
การวินิจฉัยโรคม่านตาอักเสบ
แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคนี้ได้จากประวัติอาการ ประวัติทางการแพทย์ต่าง ๆ (เช่น อุบัติเหตุ โรคประจำตัว) การตรวจร่างกาย การตรวจตา และการตรวจสืบค้นเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุหรือหาโรคต่าง ๆ ที่เป็นร่วมกับม่านตาอักเสบ เช่น การตรวจเลือด, การตรวจเอกซเรย์, การตรวจสอบทางผิวหนัง, การตรวจสารทางพันธุกรรมด้วยเทคนิค PCR (Polymerase chain reaction) และการตรวจอื่น ๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์และอาการของผู้ป่วย
ในผู้ป่วยม่านตาอักเสบแพทย์มักตรวจพบว่า บริเวณตาขาวที่อยู่ใกล้กับตาดำมีลักษณะแดงเรื่อ ๆ โดยที่ผู้ป่วยไม่มีขี้ตาหรือน้ำตาผิดปกติ ส่วนรูม่านตาอาจพบว่ามีขนาดเล็กกว่าตาข้างที่ปกติ หรือขอบไม่เรียบ และกระจกตา (ตาดำ) อาจมีลักษณะขุ่นเล็กน้อย
อาการปวดตาและตาแดง อาจเกิดจากสาเหตุที่ไม่รุนแรง เช่น เยื่อตาขาวอักเสบ หรือเกิดจากสาเหตุที่รุนแรงก็ได้ เช่น ต้อหิน แผลกระจกตา ม่านตาอักเสบ เป็นต้น ซึ่งแพทย์จะสามารถวินิจฉัยแยกกลุ่มโรคที่รุนแรงออกจากกลุ่มโรคที่ไม่รุนแรงได้ โดยกลุ่มโรคที่รุนแรงจะตรวจพบว่าผู้ป่วยมีอาการตามัว รูม่านตาทั้งสองข้างไม่เท่ากัน กระจกตาขุ่นหรือเป็นฝ้าขาว ผู้ป่วยมีอาการปวดศีรษะมาก เป็นต้น ซึ่งหากพบอาการอย่างใดอย่างหนึ่งดังกล่าว ควรรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลโดยด่วน
วิธีรักษาโรคม่านตาอักเสบ
- หากสงสัยว่าเป็นโรคนี้หรือเมื่อมีอาการปวดตา ตาแดง ตามัว ควรไปพบแพทย์/จักษุแพทย์ที่โรงพยาบาลทันทีเพื่อตรวจหาสาเหตุและรับการรักษาไปตามสาเหตุที่ตรวจพบ
- แพทย์จะให้ยาหยอดตาที่มีฤทธิ์ทำให้รูม่านตาขยาย เช่น ยาหยอดตาอะโทรปีน (Atropine eye drop) ชนิด 1% ใช้หยอดตาเพื่อช่วยลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อม่านตา (ทำให้ม่านตาได้พักบรรเทาอาการปวด) ทำให้อาการปวดตาน้อยลง ตาแดงน้อยลง และป้องกันการยึดติดระหว่างม่านตาที่อักเสบกับแก้วตาที่อยู่ข้างหลัง ซึ่งอาจมีผลทำให้เกิดต้อหินตามมาได้ (ยาหยอดตาชนิดนี้อาจทำให้เกิดอาการตาพร่ามัวได้ แต่จะหายไปได้เองหลังจากหยุดใช้ยาประมาณ 1-2 สัปดาห์ และที่สำคัญห้ามนำไปใช้กับคนที่เป็นโรคต้อหินหรือมีความดันในลูกตาสูง ควรใช้ยานี้กับผู้ป่วยเฉพาะตัวตามที่แพทย์สั่งเท่านั้น ห้ามนำไปใช้กับผู้อื่น)
- แพทย์อาจให้ใช้ยาหยอดตาสเตียรอยด์ (Steroid eye drops) ร่วมด้วยเพื่อช่วยลดอาการอักเสบของตา (ยาหยอดตาจะช่วยลดการอักเสบได้อย่างรวดเร็ว แต่ต้องระวังในกรณีที่มีสาเหตุการเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัส)
- ในกรณีที่ยาหยอดตาสเตียรอยด์ไม่สามารถช่วยควบคุมการอักเสบอย่างได้ผล แพทย์อาจใช้ยาสเตียรอยด์ชนิดฉีดแทน โดยการฉีดเข้าบริเวณข้าง ๆ ลูกตาในกระบอกตา และสามารถฉีดซ้ำได้เป็นระยะ ๆ ทุก 2-6 สัปดาห์ แล้วแต่ชนิดของยาฉีดและการอักเสบของตาว่าควบคุมได้ผลเพียงใด
- ในกรณีที่การหยอดตาและการฉีดยาสเตียรอยด์ไม่ได้ผล แพทย์อาจให้ยาสเตียรอยด์ชนิดรับประทาน หลังจากควบคุมการอักเสบได้แล้วจึงค่อย ๆ ลดปริมาณยาลงอย่างช้า ๆ ไม่ควรหยุดยาในทันที เพราะอาจทำให้โรคกำเริบขึ้นได้อีก
- นอกจากยากลุ่มสเตียรอยด์ทั้ง 3 รูปแบบแล้ว ถ้าใช้ยาสเตียรอยด์เหล่านี้ไม่ได้ผล แพทย์อาจให้ใช้ยากลุ่มที่กดระบบภูมิคุ้มกันในการรักษาโรคก็ได้ แต่ยากลุ่มนี้ก็อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงต่อระบบเลือด ตับ ไต และระบบน้ำเหลืองได้ จึงต้องใช้ยาด้วยความระมัดระวัง (ถ้าม่านตาอักเสบมีสาเหตุมาจากภูมิไวเกินหรือไม่ทราบสาเหตุ การรักษาด้วยยากลุ่มสเตียรอยด์ก็เพียงพอแล้ว แต่ถ้าเป็นจากโรคภูมิคุ้มกันไวเกินและมีอาการทั่วร่างกาย รวมถึงที่ตาด้วย ต้องรักษาด้วยยากดระบบภูมิคุ้มกัน)
- ในรายที่ม่านตาอักเสบที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย แพทย์จะให้ใช้ยาปฏิชีวนะร่วมด้วย
- รักษาโรคต่าง ๆ ที่เป็นสาเหตุหรือที่เกิดร่วมกับม่านตาอักเสบ เช่น การรักษาโรคซิฟิลิส เริม งูสวัด วัณโรค มะเร็งเม็ดเลือดขาว เป็นต้น
- คำแนะนำในการดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคม่านตาอักเสบ คือ
- ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
- รับประทานยาต่าง ๆ ตามที่แพทย์สั่งให้ถูกต้อง ครบถ้วน และไม่ขาดยา
- ควบคุมรักษาโรคที่เป็นหรืออาจเป็นสาเหตุอย่างจริงจัง
- ไปพบแพทย์ตามนัดเสมอ และไปพบแพทย์ก่อนนัดเมื่ออาการต่าง ๆ เลวลง รวมถึงอาการจากโรคต่าง ๆ และ/หรืออาการทางตา หรือมีอาการใหม่เกิดขึ้น หรือเมื่อมีความกังวลในอาการที่เป็นอยู่
คำแนะนำเกี่ยวกับโรคม่านตาอักเสบ
- โดยทั่วไปแพทย์จะเริ่มให้การรักษาโดยให้ใช้ยาหยอดตาสเตียรอยด์ร่วมกับยาขยายม่านตา ซึ่งควรจะเริ่มให้เร็วที่สุดตั้งแต่เริ่มมีอาการ ในระยะแรกการหยอดตาอาจต้องหยอดบ่อยมาก เช่น ทุกชั่วโมง เพื่อให้ได้ผลเร็วและช่วยป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ หลังจากนั้นจึงค่อย ๆ ลดยาลงจนสามารถหยุดยาได้
- โรคม่านตาอักเสบถ้าเป็นเพียงเล็กน้อย แม้ว่าจะไม่ได้รับการรักษาก็มักจะค่อย ๆ หายไปเองได้ แต่ในรายที่เป็นมากผู้ป่วยมีอาการอักเสบรุนแรง การรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ตามมาได้
- บางรายที่เป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรัง ในท้ายที่สุดก็มักจะหายขาดได้เป็นส่วนใหญ่
- ในรายที่ม่านตาอักเสบทั้ง 2 ข้าง หรือมีการกลับมาเป็นซ้ำบ่อย ๆ มักมีสาเหตุมาจากโรคทางกายเรื้อรังอื่นๆ และการพยากรณ์โรคมักไม่ค่อยดี
- ส่วนระยะเวลาการรักษานั้น อาจต้องใช้เวลารักษาเป็นสัปดาห์หรือนานเป็นเดือน ๆ จนกว่าอาการของผู้ป่วยจะทุเลาดีแล้ว
วิธีป้องกันโรคม่านตาอักเสบ
การป้องกันโรคนี้ที่สามารถทำได้คือ การปฏิบัติตามแนวทางการป้องกันการติดเชื้อเช่นเดียวกับโรคติดเชื้ออื่น ๆ ซึ่งที่สำคัญ คือ
- รักษาสุขอนามัยพื้นฐานให้ดีโดยการปฏิบัตตามหลักสุขบัญญัติแห่งชาติ
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบทั้ง 5 หมู่ในทุกวัน
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอตามควรแก่สุขภาพ
- ไปตรวจสุขภาพตากับจักษุแพทย์เป็นประจำ
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2. “ม่านตาอักเสบ (Iritis/Anterior uveitis)”. (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ). หน้า 962-963.
- ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ. “ม่านตาอักเสบ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.bangkokhealth.com. [18 ธ.ค. 2016].
- หาหมอดอทคอม. “ยูเวียอักเสบ การอักเสบของยูเวีย (Uveitis)”. (ศ.เกียรติคุณ พญ.สกาวรัตน์ คุณาวิศรุต). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : haamor.com. [18 ธ.ค. 2016].
- ศูนย์ตาธรรมศาสตร์. “โรคม่านตาอักเสบ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.tec.in.th. [19 ธ.ค. 2016].
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)