มีเบนดาโซล
มีเบนดาโซล (Mebendazole) หรือที่รู้จักกันในชื่อทางการค้าว่า เบนด้า 500 (Benda 500), ฟูกาคาร์ (Fugacar) เป็นยาฆ่าพยาธิ/ถ่ายพยาธิชนิดต่าง ๆ เช่น พยาธิตัวกลม (พยาธิไส้เดือน, พยาธิปากขอ, พยาธิแส้ม้า, พยาธิเส้นด้าย/พยาธิเข็มหมุด), พยาธิตัวตืด/พยาธิตัวแบน, โรคทริคิโนซิส เป็นต้น
องค์การอนามัยโลกได้จัดให้ยามีเบนดาโซลเป็นยาจำเป็นสำหรับระบบสาธารณสุขขั้นมูลฐานของแต่ละประเทศ ส่วนในประเทศไทยนั้นได้บรรจุยานี้อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ และจัดให้อยู่ในหมวดยาอันตราย เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยาจึงควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้ง
ตัวอย่างยามีเบนดาโซล
ยามีเบนดาโซล (ชื่อสามัญ) มีชื่อทางการค้า เช่น อัลวอร์ม (Alworm), แอนตี้-วอร์ม (Anti-worm), บาซา 500 (Baza 500), เบนด้า 500 (Benda 500), เบนดาโซล (Bendazole), เบนเดโซล (Bendezole), เบนโดแซน (Bendosan), เบนฟู 500 (Benfu 500), เบนซากา (Bensaca), เบนวอร์ม (Benworm), บิก-เบน (Bic-ben), บิ๊ก-เบน 500 (Big-Ben 500), คาดาเทล (Cadatel), เคลียราซิต (Clearasit), โคดาโซล 500 (Codazole 500), ดาเมซ 500 (Damez 500), ไดมอส (Daimos), ไดรเวอร์ไมด์ (Drivermide), เอนดาโซล (Endazole), ฟอบ-มีเบน (Fob-meben), ฟูเบน 500 (Fuben 500), ฟูเบน 88 (Fuben 88), ฟูดา (Fuda), ฟูกาคาร์ (Fugacar), ฟูเคน (Fuken), ฟูวอร์ม (Fuworm), ฟูซาดา 500 (Fuzada 500), ฮอว์กเบน (Hawkben), ฮีโร-เบนสัน (Hero-Benson), เค.บี. เบนดาโซล (K.B. Bendazole), มาซาวอร์ม-1 (Masaworm-1), มีบา (Meba), มีเบน (Meben), มีเบนดา-พี (Mebenda-P), มีเบนดาโซล บี แอล ฮัว (Mebendazole B L Hua), มีเบนดาโซล คอมมูนิตี้ ฟาร์ม (Mebendazole Community Pharm), มีเบนดาโซล จีพีโอ (Mebendazole GPO), มีเบนดาโซล ยูโทเปียน (Mebendazole Utopian), มีเบนโซล-500 (Mebenzole-500), มีดา (Meda), มีดาโซล (Medazole), เมดซา (Medza), มีฟูกา (Mefuca), มีนาโซล (Menazole), เมนทิดา (Mentida), มิโซลา (Mizola), น็อกซ์วอร์ม (Noxworm), ควีม็อก (Quemox), ริด-โอ-วอร์ม (Rid-O-Worm), ซาร์-ซาร์ไมด์ (Sar-sarmide), ซูดาโซล (Sudazole), วากาคา (Vagaka), เวอร์มาตัน (Vermaton), วอมการ์ (Vomgar), วี.อาร์. 500 (V.r. 500), วาร์กา (Warca), วอร์มา (Worma), วอร์แมค (Wormac), วอร์มากา (Wormaca), วอร์มาดอน 500 (Wormadon 500), วอร์เม็กซ์ (Wormex), วอร์มิโซล 500 (Wormizole 500), วอร์ม็อกซ์ (Wormox) ฯลฯ
รูปแบบยามีเบนดาโซล
- ยาเม็ด ขนาดความแรง 100 และ 500 มิลลิกรัม/เม็ด
- ยาน้ำแขวนตะกอน ขนาดความแรง 100 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร (1 ช้อนชา)
สรรพคุณของยามีเบนดาโซล
ยานี้เป็นยารักษาโรคพยาธิ โดยสามารถออกฤทธิ์ฆ่าพยาธิ/ถ่ายพยาธิได้หลายชนิดภายในเวลาเดียวกัน เช่น
- พยาธิตัวกลม เช่น โรคพยาธิไส้เดือน (Ascariasis), โรคพยาธิปากขอ (Hookworm Infection), โรคพยาธิแส้ม้า (Whipworm Infection), โรคพยาธิเส้นด้าย หรือ พยาธิเข็มหมุด (Pinworm Infection), โรคพยาธิหอยโข่ง (Angiostrongylosis), โรคพยาธิแคพิลลาริเอซิส (Capillariasis), โรคพยาธิฟิลาเรีย หรือ โรคเท้าช้าง (Filariasis)
- โรคพยาธิตัวตืด หรือ พยาธิตัวแบน (Taeniasis) เช่น พยาธิตืดวัว (Tanenia saginata), พยาธิตืดหมู (Taenia solium)
- โรคพยาธิกีเนีย (Dracunculiasis)
- โรคทริคิโนซิส (Trichinosis)
กลไกการออกฤทธิ์ของยามีเบนดาโซล
ยามีเบนดาโซลจะออกฤทธิ์โดยเข้าไปทำลายการสร้างท่อลำเลียงอาหารภายในลำไส้ของหนอนพยาธิ ทำให้ปิดกั้นการดูดกลืนสารอาหารอื่น ๆ เช่น น้ำตาลกลูโคส (Glucose) ด้วยกลไกนี้จึงส่งผลให้พยาธิขาดสารอาหารและตายในที่สุด
สำหรับการดูดซึมของยา ยามีเบนดาโซลจะถูกดูดซึมได้ไม่ค่อยดีนักจากระบบทางเดินอาหาร ยาส่วนน้อยที่ถูกดูดซึมจะเข้าสู่กระแสเลือดและจับกับโปรตีน 95% จากนั้นจะถูกส่งไปที่ตับเพื่อเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมี ร่างกายจะต้องใช้เวลาประมาณ 3-6 ชั่วโมงในการขับยาปริมาณครึ่งหนึ่งออกมากับอุจจาระ และมีส่วนน้อยจะถูกขับออกมากับปัสสาวะ
ก่อนใช้ยามีเบนดาโซล
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยามีเบนดาโซล สิ่งที่ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบมีดังนี้
- ประวัติการแพ้ยามีเบนดาโซล (Mebendazole) หรือยาอื่น ๆ ทุกชนิด รวมทั้งอาการจากการแพ้ยา เช่น ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่น หายใจติดขัด/หายใจลำบาก เป็นต้น
- โรคประจำตัวต่าง ๆ ยาที่แพทย์สั่งจ่ายและยาที่ใช้เอง รวมถึงอาหารเสริม วิตามิน และยาสมุนไพรต่าง ๆ ที่กำลังใช้อยู่หรือกำลังจะใช้ เพราะยามีเบนดาโซลอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่น ๆ ที่รับประทานอยู่ก่อนได้ เช่น
- การใช้ยามีเบนดาโซลร่วมกับยากันชักบางตัว เช่น คาร์บามาซีปีน (Carbamazepine) และเฟนิโทอิน (Phenytoin) สามารถทำให้ระดับของยามีเบนดาโซลที่ถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดลดลง
- การใช้ยามีเบนดาโซลร่วมกับยาต้านเชื้อแบคทีเรียหรือยาปฏิชีวนะบางตัว เช่น เมโทรนิดาโซล (Metronidazole) อาจก่อให้เกิดอาการของโรคสตีเวนส์จอห์นสัน (Stevens-Johnson syndrome) ซึ่งผู้ป่วยจะมีผื่นคันเกิดขึ้นในบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า ในปาก
- หากเป็นหรือเคยเป็นโรคตับ หรือโรคกระเพาะอาหาร
- มีการตั้งครรภ์ วางแผนจะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายชนิดสามารถผ่านรกหรือผ่านเข้าสู่น้ำนมและเข้าสู่ทารก จนอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อทารกได้
ข้อห้าม/ข้อควรระวังในการใช้ยามีเบนดาโซล
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่เคยมีประวัติการแพ้ยามีเบนดาโซล
- ห้ามใช้ยากับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ปี
- ห้ามใช้ยากับหญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมบุตร
- ห้ามใช้ยาที่หมดอายุ
- ควรระมัดระวังในการใช้ยานี้ในผู้ที่เป็นโรคตับ
วิธีใช้ยามีเบนดาโซล
- สำหรับโรคพยาธิไส้เดือน (Ascariasis), โรคพยาธิปากขอ (Hookworm Infection), โรคพยาธิแส้ม้า (Whipworm Infection) และโรคพยาธิตัวตืด/พยาธิตัวแบน (Taeniasis) ในเด็กและผู้ใหญ่ให้รับประทานหลังอาหารเช้าและเย็น ครั้งละ 100 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น ติดต่อกัน 3 วัน (ควรเคี้ยวยาให้ละเอียดก่อนกลืน) แต่ถ้ายังไม่หาย ให้รับประทานยาซ้ำอีกหลังจากการรักษาไปแล้ว 3 สัปดาห์
- สำหรับโรคพยาธิเส้นด้าย/พยาธิเข็มหมุด (Pinworm Infection) ในผู้ใหญ่และเด็กอายุเท่ากับหรือมากกว่า 2 ปี ให้รับประทานครั้งแรก 100 มิลลิกรัม เพียงครั้งเดียวหลังอาหารเย็น หลังจากนั้นในอีก 2 สัปดาห์ต่อมา ให้รับประทานซ้ำอีก 1 ครั้ง ในขนาดเท่าเดิม
- สำหรับโรคพยาธิหอยโข่ง (Angiostrongylosis) ในผู้ใหญ่และเด็กอายุเท่ากับหรือมากกว่า 2 ปี ให้รับประทานครั้งละ 100 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น ติดต่อกันเป็นเวลา 5 วัน
- สำหรับโรคพยาธิแคพิลลาริเอซิส (Capillariasis) ในผู้ใหญ่และเด็กอายุเท่ากับหรือมากกว่า 2 ปี ให้รับประทานครั้งละ 200 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น ติดต่อกันเป็นเวลา 20 วัน
- สำหรับโรคพยาธิฟิลาเรีย/โรคเท้าช้าง (Filariasis) ในผู้ใหญ่และเด็กอายุเท่ากับหรือมากกว่า 2 ปี ให้รับประทานครั้งแรก 100 มิลลิกรัม เพียงครั้งเดียว หลังจากนั้นในอีก 2 สัปดาห์ต่อมา ให้รับประทานซ้ำอีก 1 ครั้ง ในขนาดเท่าเดิม (สำหรับโรคพยาธิฟิลาเรียที่เกิดจากพยาธิตัวกลมชนิด Mansonella perstans ให้รับประทานครั้งละ 100 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง ติดต่อกันเป็นเวลา 30 วัน)
- โรคพยาธิกีเนีย (Dracunculiasis) เฉพาะในผู้ใหญ่ให้รับประทานยานี้วันละ 400-800 มิลลิกรัม ติดต่อกันเป็นเวลา 6 วัน
- โรคทริคิโนซิส (Trichinosis) ในผู้ใหญ่และเด็กอายุเท่ากับหรือมากกว่า 2 ปี ให้รับประทานยานี้วันละ 200-400 มิลลิกรัม (แบ่งรับประทานยาเป็นวันละ 3 มื้อ) ติดต่อกันเป็นเวลา 3 วัน หลังจากนั้นให้เพิ่มขนาดยาที่รับประทานเป็นวันละ 400-500 มิลลิกรัม (แบ่งรับประทานยาเป็นวันละ 3 มื้อ) ติดต่อกันอีกเป็นเวลา 10 วัน
หมายเหตุ : สำหรับข้อมูลที่ระบุไว้บนเอกสารกำกับยาของยี่ห้อเบนด้า 500 ระบุให้รับประทานยานี้ครั้งละ 1 เม็ด (ขนาด 500 มิลลิกรัม) เพียงครั้งเดียว สำหรับใช้รักษาโรคพยาธิไส้เดือน โรคพยาธิปากขอ โรคพยาธิแส้ม้า และโรคพยาธิเส้นด้าย/พยาธิเข็มหมุด
คำแนะนำในการใช้ยามีเบนดาโซล
- ควรใช้ยานี้ตามวิธีที่ระบุไว้บนฉลากยา ห้ามใช้ยาน้อยกว่าหรือมากกว่าที่ระบุไว้ หากมีข้อสงสัยควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกร
- สำหรับยามีเบนดาโซลชนิดน้ำแขวนตะกอน (Mebendazole suspension) จะมีวิธีการ ขนาด และข้อควรระวังในการใช้เช่นเดียวกับยาเม็ดมีเบนดาโซล (ยาน้ำ 1 ช้อนชา เทียบเท่ายา 1 เม็ด)
- ถึงแม้ยานี้จะถูกดูดซึมได้น้อย แต่ก็ไม่ควรใช้ในผู้ป่วยที่เป็นโรคตับ หรือในหญิงตั้งครรภ์ (โดยเฉพาะในหญิงตั้งครรภ์ระยะ 3 เดือนแรก)
- ในผู้ป่วยที่ใช้ยานี้ในขนาดสูง ๆ ควรเฝ้าระวังระบบเลือดและตรวจสอบระบบการทำงานของตับอยู่เสมอ
การเก็บรักษายามีเบนดาโซล
- ควรเก็บยานี้ในภาชนะบรรจุเดิมที่บรรจุมา ปิดให้สนิท และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- ควรเก็บยานี้ที่อุณหภูมิระหว่าง 15-30 องศาเซลเซียส ไม่เก็บยาในบริเวณที่เปียกหรือชื้น (เช่น ในห้องน้ำ) และเก็บยาให้พ้นแสงแดด (เช่น ในรถยนต์)
- ให้ทิ้งยาเมื่อยาหมดอายุ
เมื่อลืมรับประทานยามีเบนดาโซล
หากลืมรับประทานยามีเบนดาโซล ให้รับประทานยาในทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่ถ้าเป็นเวลาที่ใกล้เคียงกับมื้อต่อไป ให้ข้ามไปรับประทานยามื้อต่อไปได้เลย โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า
ผลข้างเคียงของยามีเบนดาโซล
ถ้าใช้ยานี้ในขนาดปกติจะไม่ค่อยพบผลข้างเคียง เนื่องจากยาจะถูกดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารได้น้อย ยกเว้นในผู้ป่วยที่มีภาวะของโรคตับ สามารถพบผลข้างเคียงจากยาได้มากกว่าคนปกติ โดยผลข้างเคียงที่พบได้มีดังนี้
- อาจทำให้มีอาการปวดศีรษะ เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ปวดท้อง ท้องเดิน เกิดภาวะโลหิตจาง อ่อนแรง ง่วงนอน
- หากใช้ยาติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจก่อให้เกิดภาวะตับอักเสบชนิด Granulomatous hepatitis ได้
- การใช้ยานี้ในขนาดสูง อาจทำให้เกิดอาการแพ้ยา (ผื่นคัน ลมพิษ) ตับอักเสบ เม็ดเลือดขาวต่ำ หรือผมร่วงได้
- ผลข้างเคียงรุนแรงที่พบได้ คือ ผื่นคัน หน้าบวม ปากบวม ลิ้นบวม ไข้ หนาวสั่น เจ็บคอ หายใจลำบาก เหนื่อยหรืออ่อนเพลียผิดปกติ ชัก
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 1. “มีเบนดาโซล (Mebendazole)”. (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ). หน้า 262-263.
- ยากับคุณ (Ya & You), มูลนิธิเพื่อการวิจัยและพัฒนาระบบยา (วพย.). “MEBENDAZOLE”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.yaandyou.net. [25 ก.ย. 2016].
- หาหมอดอทคอม. “มีเบนดาโซล (Mebendazole)”. (ภก.อภัย ราษฎรวิจิตร). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : haamor.com. [25 ก.ย. 2016].
- มูลนิธิหมอชาวบ้าน. “มีเบนดาโซล”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.doctor.or.th. [26 ก.ย. 2016].
- Drugs.com. “Mebendazole”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.drugs.com. [26 ก.ย. 2016].
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)